Skip to main content

ปัญหาสิ่งแวดล้อมมักสร้างผลกระทบในระยะยาว ไม่ได้เกิดการบาดเจ็บ เสียหาย ทันทีทันใด   ดังนั้นเราจึงต้องมีวิธีการพิสูจน์ว่าความเจ็บป่วย เสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีผลมาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมจริง   สิ่งที่เราต้องทำคือการเก็บหลักฐานอย่างต่อเนื่องและชัดเจนเพื่อนำไปใช้เป็นพยานหลักฐาน   ซึ่งการเก็บพยานหลักฐานเพื่อเรียกร้องสิทธิมีข้อแนะนำดังต่อไปนี้


1. เมื่อรู้สึกหรือพบเห็นการรั่วไหล ปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมจากโรงงาน ฟาร์มหรือแหล่งมลพิษใด   ต้องจดบันทึกเวลาสถานที่ซึ่งพบปัญหาไว้อย่างชัดเจน
2. เราสามารถทำให้พยานหลักฐานเกี่ยวกับเวลาสถานที่หนักแน่นขึ้นได้ ด้วยการแจ้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง หรือไปแจ้งความที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ปกครองด้วยก็ได้    เนื่องจากถือเป็นคดีอาญา
3. การพบน้ำเสีย บ่อขยะ หรือควันพิษ   ต้องมีการถ่ายภาพหรือวีดีโอเก็บไว้ให้เห็นอย่างชัดแจ้งประกอบกับการถ่ายให้เห็นถึงสถานที่ปนเปื้อนมลพิษ หรือถ้าเป็นการปล่อยออกจากโรงงานก็ถ่ายให้เห็นว่าออกมาจากโรงงานใด
4. การเก็บตัวอย่างน้ำเสีย ขยะ  หรืออากาศพิษ    อาจทำให้มีน้ำหนักมากขึ้นด้วยการเรียกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจเก็บตัวอย่างไป   เนื่องจากวิธีตักเก็บตัวอย่างบางชนิดต้องอาศัยวิธีการที่ถูกหลัก
5. ประชาชนควรติดต่อไปยังหน่วยงานในพื้นที่ซึ่งมีอุปกรณ์เก็บตรวจตัวอย่างก่อน เช่น เทศบาล กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงาน ฯลฯ
6. การบาดเจ็บล้มป่วยควรจะเก็บหลักฐานการรักษาพยาบาลไว้อย่างละเอียด   ถ้าเป็นไปได้ควรจดบันทึกพร้อมเก็บบิลค่าใช้จ่าย และถ่ายสำเนาการวินิจฉัยของแพทย์ ใบรับรองแพทย์เก็บไว้ประกอบด้วย
7. คนที่ได้รับการเจ็บป่วยจากการทำงานก็ควรจดบันทึกวันเวลาสถานที่ทำงานควบคู่ไปกับหลักฐานการรักษาพยาบาลประกอบกัน   ถ้าเป็นไปได้ควรไปพบแพทย์ชีวอนามัยให้ทำความเห็นประกอบด้วย
8. หากมีพยานหลักฐานจากภายในสถานประกอบการให้เก็บรักษาไว้อย่างดี เนื่องจากมีความสำคัญในการชี้ชัดว่าผู้ประกอบการละเมิด ต้องชดใช้ค่าเสียหาย
9. การแจ้งหน่วยงานของภาครัฐให้แก้ไขปัญหาต้องมีการเก็บสำนวนคำร้อง และติดตามว่าหน่วยงานเพิกเฉย ละเลย หรือปฏิบัติงานล่าช้าหรือไม่   ถ้าใช่อาจต้องมีการร้องเรียนไปยังผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือฟ้องร้องไปยังศาลปกครองได้
10. เราสามารถร้องเรียนไปยัง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนให้เข้ามาตรวจดูการละเมิดสิทธิของผู้ประกอบการได้   และช่วยรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อนำไปฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายที่ศาลยุติธรรมได้

อย่างไรก็ดีการเก็บพยานหลักฐานจากการปล่อยสารพิษในเขตนิคมอุตสาหกรรมกลับเป็นไปได้ยาก เนื่องจากมีอุปสรรคทั้งทางกายภาพและทางกฎหมาย   กล่าวคือ การที่บุคคลธรรมดาจะเข้าไปในเขตนิคมอุตสาหกรรมได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องหรือทำงานอยู่ในนิคม ถ้าเป็นบุคคลภายนอกก็จะเข้าไปได้ยากหรือต้องตรวจค้นหรือแลกบัตรทั้งขาเข้าและขาออกจากการนิคมฯ  


ส่วนอุปสรรคทางกฎหมายก็เกิดขึ้นได้เนื่องจากพื้นที่ของเขตนิคมอุตสาหกรรมอยู่ภายใต้เขตอำนาจของการนิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมาย   การจะเข้าไปตรวจค้นเก็บพยานหลักฐานไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐอื่นหรือบุคคลภายนอกจะต้องประสานไปที่การนิคมอุตสาหกรรมเสียก่อนจึงจะเข้าไปกระทำการเก็บพยานหลักฐานได้   ซึ่งในทางปฏิบัติก็เป็นอุปสรรคมากเนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นหากทิ้งระยะไปเพียงไม่กี่ชั่วโมงความเข้มข้นของมลพิษก็อาจลดลงจนแทบตรวจเก็บไม่ได้เลยทีเดียว     

อนึ่งการหาพยานบุคคลมาให้ข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการกล่าวหาโรงงานเพื่อเรียกร้องสิทธิก็ทำได้ยากเช่นกันเนื่องจากมีอุปสรรคอยู่หลายประการ อาทิ บุคคลที่จะมาเป็นพยานมักต้องเป็นคนในทั้งที่เป็นพนักงานของโรงงานต่าง ๆ มักไม่สะดวกใจที่จะให้ข้อมูลในทางลบต่อโรงงานของตนหรือโรงงานอื่นที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง    หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ภายในการนิคมอุตสาหกรรมก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ภายใต้สายการบังคับบัญชาซึ่งมีนโยบายระดับชาติคอยกำกับอยู่อีกต่อหนึ่งเสมอ   


ความเป็นไปได้ในการเก็บพยานหลักฐานของโรงงานที่กระทำผิดกฎหมายจึงต้องอาศัยการดำเนินการในลักษณะเรียกร้องมโนสำนึกของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (มีคนในเอาข้อมูลออกมาให้หรือยอมมาเป็นพยานให้ในชั้นศาลหรือชั้นองค์กรอิสระ)   ในทางปฏิบัติพบว่ามีบางกรณีที่พนักงานโรงงานที่เป็นคนท้องถิ่นหรือมีจิตสำนึกทางสังคมสูง เมื่อได้ออกจากสถานภาพพนักงานของโรงงานแล้วจึงจะสามารถนำข้อมูลพยานหลักฐานมาให้กับสังคมภายนอกนิคมฯรับทราบ
ในทางกลับกันหากข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ อยู่ในมือภาครัฐ มักเกิดปัญหาที่ขึ้นกับการเก็บพยานหลักฐานเรื่องสิ่งแวดล้อมก็คือ “ความจริงที่เข้าไม่ถึง” กล่าวคือ ข้อมูลหลักฐานมักถูกเก็บงำ และเราไม่ได้เห็นข้อมูลหลักฐานที่แท้จริง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม   กฎหมายก็ยื่นเครื่องมือมาช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 41 ได้รับรองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับสาธารณะและโครงการใดที่อาจมีผลกระทบกับประชาชนก็สามารถขอข้อมูลมาประกอบและยื่นข้อเสนอต่อหน่วยรัฐได้ตามมาตรา 43 ด้วย และอาศัยกลไกตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการในการเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น

ข้อมูลที่เข้าถึงยากที่สุดตั้งแต่ดำเนินการเก็บข้อมูลเพื่อการดำเนินคดีด้านสิ่งแวดล้อม ก็คือ ข้อมูลในเขตนิคมอุตสาหกรรมฯ   เนื่องจากการติดต่อเข้าพบบุคลากรภายในการนิคมฯอาจต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของสายบังคับบัญชาที่มีการเฝ้าระวังจากผู้มีอำนาจเหนือกว่าขึ้นไป   จึงเป็นการยากที่บุคคลภายนอกจะเข้าถึงข้อมูลได้

อุปสรรคที่สำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกประการ คือ “เจ้าหน้าที่มีน้อย เราต้องหมั่นคอยเฝ้าระวัง” ดังนั้น ชุมชนและภาคประชาสังคมพึงสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมภายในระดับพื้นที่ทั้งในชุมชนเอง และการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมระหว่างชุมชน  แล้วยกระดับขึ้นเป็นการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมระหว่างภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาครัฐ ไปจนถึงการดึงภาคอุตสาหกรรมที่คำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม เข้ามาเป็นภาคีเครือข่าย


เขตนิคมอุตสาหกรรม เปรียบเสมือนดินแดนสนธยาที่บุคคลภายนอกไม่อาจเข้าถึงทั้งในแง่อุปสรรคทางกายภาพและกฎหมาย   เนื่องจากการทำเครือข่ายกับผู้ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรือเจ้าพนักงานนิคมอุตสาหกรรมทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติเป็นไปได้ยาก   เนื่องจากแนวนโยบายและทิศทางการทำงานของนิคมอุตสาหกรรม   อาจไม่ตรงกับแนวทางของเครือข่ายเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อม   ดังนั้นอาจต้องปรับแนวนโยบายและทัศนคติของการนิคมอุตสาหกรรมในระดับชาติจึงจะปรับเปลี่ยนแนวทางการทำงานให้เป็นคุณกับเครือข่ายสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับปรัชญาของการนิคมที่ต้องการให้มีการ “พัฒนาอย่างยั่งยืน” ตามที่รัฐบาลและบรรษัททั้งหลายได้ประกาศไว้ในเวทีประชาคมโลก และนำมาใช้โฆษณาประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองกันอย่างเอิกเกริก

บล็อกของ ทศพล ทรรศนพรรณ

ทศพล ทรรศนพรรณ
เรื่องแรกที่ต้องนำมาพูดกันก่อนเลยเห็นจะไม่พ้นว่า กฎหมายคืออะไร เพราะไม่งั้นคงไปต่อไม่ได้ และที่จริงเรื่องนี้ก็เป็นปัญหามากในความเป็นจริง  เนื่องจากหลายครั้งเรามีปัญหากับคนอื่น หรือสังคมมีความขัดแย้งเถียงกันไม่จบไม่สิ้นก็ไม่รู้ว่า เรื่องนี้ควรจะจบลงอย่างไร ชีวิตจะเดินต่อไปแบบไหน   ซ
ทศพล ทรรศนพรรณ
เรื่องแรกนี่เกิดขึ้นกับผู้คนมากมายครับ เนื่องจากมันเป็นชีวิตของเพื่อนผมเองที่บ้านเกิดอยู่ต่างจังหวัดแต่เค้าเข้ามาทำงานกรุงเทพฯ แล้วเช่าหอพักอยู่รอบนอกกรุงเทพฯเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายเนื่องจากที่ทำงานอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ ถ้าไปเช่าหออยู่ใกล้ๆ สงสัยจะไม่เหลืออะไรให้เก็บให้ใช้เลย จนเธอต้องมาบ่นให้ฟังเรื่
ทศพล ทรรศนพรรณ
เมื่อกฎหมายเข้ามาใกล้ชีวิตคนธรรมดาอย่างเรามากขึ้น จึงเป็นการยากที่จะไม่สนใจอีกต่อไป   พอเกิดปัญหาขึ้นมากับตัวเอง ทางหนึ่งที่คนส่วนใหญ่พอจะทำได้ คือ ปรึกษากับคนใกล้ตัวที่ร่ำเรียนมาทางกฎหมาย เพราะจะให้ไปปรึกษากับทนาย หรือนักกฎหมายที่ไหนก็ยังไม่กล้า เพราะกลัวว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมาย ไหนควา