Skip to main content

 

ข้อเสนอว่าด้วยการปฏิวัติประชาชนของอาจารย์ธีรยุทธไม่ได้วางอยู่บนข้อเท็จจริงของสังคมไทยปัจจุบัน การปฏิวัติประชาชนตามข้ออ้างจากประวัติศาสตร์ประเทศต่างๆ ของอาจารย์ ล้วนแสดงให้เห็นถึงการปฏิวัติของประชาชนเพื่อโค่นล้มผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเพราะผูกขาดอำนาจเป็นของตนเอง ตลอดจนเป็นการโค่นอำนาจรัฐที่ไม่เหมาะสมกับยุคสมัยที่ประชาชนเป็นใหญ่มากขึ้น หากแต่เราจะถือว่า “มวลมหาประชาชน” หนึ่งล้านห้าแสนคน หรือต่อให้สองล้านคนในมวลชนนกหวีดเป็น “ประชาชน” ในความหมายนั้นได้หรือไม่ 

<--break->สังคมไทยปัจจุบันมีประชาชนหลายกลุ่ม ที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือประชาชนที่เป็นชนชั้นกลางรุ่นเก่า ที่เติบโตขึ้นมาจากดอกผลของการพัฒนาเศรษฐกิจในสมัยสงครามเย็นและสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ ใต้ร่มเงาของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ทศวรรษ 2500 คนเหล่านี้ในที่สุดลุกขึ้นมาต่อสู้กับเผด็จการทหาร โดยการนำของนักศึกษา ที่อาจารย์ธีรยุทธเองมีคุณูปการอยู่มาก ในทศวรรษ 2510 หากแต่หลังจากนั้น เมื่อคนเหล่านี้กลับเข้ามาสู่ระบบ พวกเขากลับกลายเป็นคนมีฐานะทางสังคม ได้รับส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจอย่างมาก จนเติบโตมีอำนาจทางการเมืองขึ้นมา คนเหล่านี้คือคนส่วนใหญ่ของมวลชนนกหวีด ที่ไม่ได้เพิ่งก่อตัว "เริ่มขึ้นเล็กๆ จากคปท." อย่างที่อาจารย์กล่าว แต่เป็นกลุ่มมวลชนที่สืบเนื่องมาตั้งแต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ตั้งแต่ปี 2548

หากแต่ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดการกระจายรายได้ การกระจายอำนาจ และเกิดการปฏิรูปการเมืองให้พรรคการเมืองเข้มแข็งขึ้น หลังทศวรรษ 2530 ก็เกิดประชาชนชั้นกลางรุ่นใหม่ขึ้นมา พวกเขาคือผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทย คือผู้สนับสนุนทักษิณ หากการแสดงออกทางการเมืองบนท้องถนนของมวลชนนกหวีดในขณะนี้คือการปฏวิติประชาชนล่ะก็ แล้วการแสดงออกบนท้องถนนของมวลชนคนเสื้อแดงในปี 2552-2553 ล่ะ อาจารย์จะเรียกว่าอะไร พวกเขาไม่ใช่ประชาชนหรืออย่างไร

ที่สำคัญคือ ความขัดแย้งในขณะนี้ไม่ใช่เพียงความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐแบบที่อาจารย์เคยต่อสู้ด้วยเมื่อ 40 ปีก่อน หากแต่เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนสองกลุ่มใหญ่ ที่ต่างฝ่ายต่างหนุนหลัง ต่างฝ่ายต่างมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับชนชั้นนำสองกลุ่ม ทั้งประชาชนและชนชั้นนำสองกลุ่มนี้ยังไม่สามารถเอาชนะกันได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จะว่าเสียงข้างมากชนะเด็ดขาดก็ยัง เพราะไม่อย่างนั้นเสียงข้างมากจะถอยกราวรูดจนสุดซอยเมื่อเสนออะไรที่สังคมรับไม่ได้อย่างยิ่งออกมาหรือ จะว่าเสียงข้างน้อยชอบธรรมกว่าก็ไม่ถูก เพราะประชาชนที่สนับสนุนทักษิณเขาก็ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้งตามกติกาที่ชนชั้นนำอีกฝ่ายหนึ่งสร้างขึ้นมาหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เช่นกัน 

ที่ผ่านมา เมื่อฝ่ายหนึ่งครองอำนาจรัฐ อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ยอมรับ เพียงแต่ฝ่ายหนึ่งนั้นใช้อำนาจผ่านการเลือกตั้ง ผ่านระบอบประชาธิปไตย แต่อีกฝ่ายหนึ่งนั้นใช้อำนาจนอกระบบ ผ่านการรัฐประหารและการตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร มาคราวนี้ฝ่ายหนึ่งก็กำลังจะเล่นนอกกติกาประชาธิปไตยอีก ด้วยการใช้การยึดอำนาจโดยมวลชน รอการสนับสนุนจากกองกำลังทหาร เพื่อขึ้นสู่อำนาจทางลัดอีก

เมื่ออาจารย์ตั้งต้นการวิเคราะห์ผิด มีสมมุติฐานว่าใครคือประชาชนที่ผิดฝาผิดตัว ปัญหาของประเทศที่อาจารย์มองเห็นจึงผิดตามไปด้วย ดังจะเห็นได้ว่าอาจารย์จะให้น้ำหนักกับปัญหาคอร์รัปชั่นของนักการเมืองว่าเป็นปัญหาหลักของประเทศ ทั้งๆ ที่ปัญหานี้เป็นเพียงปัญหาหนึ่งในอีกหลายๆ ปัญหาที่สำคัญในสังคมไทย แต่ถึงที่สุดแล้ว ผมก็ยังไม่เห็นอาจารย์เสนอกลไกอะไรในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ที่ผ่านมาอาจารย์เคยเสนอเรื่องตุลาการภิวัฒน์ แต่เราอยู่กับตุลาการภิวัฒน์มานาน 7 ปีแล้วก็ยังไม่เห็นแก้อะไรได้ 

รัฐบาลที่อาจารย์ดูจะมีความหวังให้ คือรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลลานนท์ ซึ่งก็มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่ก็ยังไม่เห็นจะแก้ปัญหาอะไรได้ ซ้ำร้ายรัฐบาลนั้นเองก็มีเรื่องราวการคอร์รัปชั่นเช่นกัน แถมสังคมไทยยังเริ่มสงสัยกับกลไกตุลาการภิวัฒน์มากยิ่งขึ้นทุกวัน แล้วคราวนี้อาจารย์ยังจะสนับสนุนให้มวลชนนกหวีดกับ กปปส. เข้ามาแก้ไข คนเหล่านี้ไม่ได้เป็นนักการเมืองมาก่อนหรอกหรือ พวกเขาไม่ใช่ตัวปัญหาในการวิเคราะห์ของอาจารย์อยู่ก่อนแล้วหรอกหรือ พวกเขาจะกลับตัวกลับใจได้ชั่วข้ามคืนหรอกหรือ

แทนที่จะทดลองเดินทางลัดที่เพิ่งพาสังคมไทยลงเหวมาแล้วอีก สู้เราลองหาทางสร้างกลไกอื่นๆ กันขึ้นมาใหม่ในระบอบที่เป็นประชาธิปไตยอยู่แล้วดีไหม เช่น แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นด้วยการสร้างช่องทางให้อำนาจยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น ปรับองค์กรอิสระให้ถูกตรวจสอบถ่วงดุลง่ายขึ้นและไม่มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายองค์กรที่ได้อำนาจจากประชาชนโดยตรง ปรับวิธีการเลือกตั้ง เช่น ข้อเสนอว่าด้วยไพรแมรีโหวต (primary vote) สร้างกลไกควบคุมการทุจริตแบบใหม่ๆ เช่น การไม่อนุญาตให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็นกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง และเป็นนายกสภา ประธานกรรมการบริหารองค์กรราชการ และกรรมการรัฐวิสาหกิจหลายๆ แห่ง เพื่อกันการสร้างอำนาจอุปถัมภ์ในหมู่ชนชั้นนำ และทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่พ้นไปจากการเมืองด้วยการแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นต้น

ท้ายที่สุด ผมหวังว่าจะเข้าใจอาจารย์ผิดไปหากจะสรุปว่า ข้อเสนอของอาจารย์แฝงนัยดูถูกประชาชนหลายประการด้วยกัน หนึ่ง ดูถูกโดยมองข้ามหัวประชาชนจำนวนมากที่สนับสนุนทักษิณและยิ่งลักษณ์อยู่ สอง ดูถูกว่าพวกเขาแค่เป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางการเมืองด้วยการหว่านเงินและนโยบายแจกเศษเงินของนักการเมือง สาม ดูถูกว่าการเลือกตั้งของประชาชนไม่มีความหมาย

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้