Skip to main content

เห็นท่านผู้นำไม่นิยมผู้หญิง เพราะในคณะรัฐบาลท่านมีผู้หญิงเพียง 2 คน ผมก็เลยขอแนะนำท่านว่า ผู้หญิงทำงานความคิดเก่งๆ มีมากมาย ไม่ใช่ให้ลูกน้องเอาผู้หญิงมาเต้นโป๊เปลือยดูกันในค่ายทหารเท่านั้น แต่ก็เอาล่ะ ขอแนะนำนักมานุษยวิทยาสตรีที่ผมชื่นชอบสัก 10 คนก็แล้วกัน

1. Margaret Mead (1901-1978) คนนี้เป็นยอดหญิงมานุษยวิทยาอเมริกันเลย เป็นลูกศิษย์ Franz Boas บิดามานุษยวิทยาอเมริกัน เป็นแฟนเขียนจดหมายกันหวานแหวกับ Ruth Benedict นักมานุษยวิทยาหญิงคนสำคัญอีกคนหนึ่ง มิ้ดเขียนหนังสืออ่านสนุก ท้าทายความคิดฟรอยด์ที่บอกว่าเด็กมีปมฆ่าพ่อหลงรักแม่กันทุกคน มิ้ดไปศึกษาในซามัว แล้วแย้งว่า ไม่จริง เพราะการเลี้ยงดูในสังคมอื่นต่างกัน เด็กที่เติบโตมาในซามัวไม่ได้เกลียดพ่อเหมือนเด็กฝรั่ง งานของมิ้ดโด่งดังมากหลายเล่ม ทำวิจัยหลายพื้นที่ มักเอาสังคมอื่นๆ ทั่วโลกมาวิจารณ์สังคมอเมริกัน คนทั่วไปรู้จักมิ้ดมาก แต่อาภัพไม่เคยได้ตำแหน่งในมหาวิทยาลัย

2. Mary Douglas (1921-2007) เป็นยอดหญิงของฝั่งอังกฤษ เขียนหนังสือหลายเล่มวนเวียนอยู่กับการศึกษาระบบสัญลักษณ์ในสังคมต่างๆ ดักลาสสร้างข้อสรุปสากลว่าด้วยความสะอาดและความสกปรกในทางวัฒนธรรม ว่าไม่ได้มีที่มาจากความสะอาดในทางกายภาพของสิ่งของหรอก แต่มาจากระบบคิดของคนเราเอง ความสะอาดกับความสกปรกยังเกี่ยวข้องกับอำนาจ ยิ่งสกปรกหรือยิ่งผิดจากภาวะปกติ ก็ยิ่งน่ากลัวยิ่งมีอำนาจ ดักลาสนับเป็นนักมานุษยวิทยาอังกฤษผู้หญิงคนแรกๆ ที่ได้รับการยอมรับสูงมาก เมื่อเทียบกับว่าในสมัยเดียวกันและก่อนหน้านั้นแทบไม่มีนักมานุษยวิทยาหญิงในอังกฤษเลย 

3. Emiko Ohnuki-Tierney (1934--) นักมานุษยวิทยาหญิงญี่ปุ่นที่มาสอนหนังสืออยู่ที่อเมริกานานหลายปี มีผลงานต่อเนื่องมากมาย เริ่มจากการวิจัยชาวไอนุ ภายหลังมาเขียนงานเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาตลอด เป็นผู้ที่ใช้การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ ใช้เอกสาร แต่วิธีการศึกษาอดีตของโอนูกิ-เทียร์นีย์แตกต่างจากนักประวัติศาสตร์ตรงที่เธออาศัยการวิเคราะห์สัญลักษณ์เป็นหลัก อย่างข้าวบ้าง ลิงบ้าง ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่น เมื่อสองวันก่อนเพิ่งสนทนากับเธอ เธอเริ่มสนใจว่าข้าวในสังคมอื่นอย่างในไทยเป็นอย่างไรบ้าง โอนูกิ-เทียร์นี่ย์น่าจะเป็นนักมานุษยวิทยาหญิงที่ไม่ใช่ชาวอังกฤษและอเมริกันคนแรกๆ ที่ได้รับการยอมรับสูงมากจนกระทั่งปัจจุบัน 

4. Barbara Myerhoff (1935-1985) มายเยอร์ฮอฟเป็นนักมานุษยวิทยาที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก เพราะเธออายุสั้น เสียชีวิตไปด้วยโรคมะเร็งอย่างรวดเร็ว งานของมายเยอร์ฮอฟชิ้นสำคัญคือ Numer Our Days (1976) ที่เขียนถึงสังคมคนชราในที่พักคนชราชาวยิวที่แคลิฟอร์เนียนั้น โด่งดังอ่านกันอยู่จนทุกวันนี้ และยังถือว่าเป็นงานเขียนแนวทดลองที่ลองใช้วิธีการเล่าแบบปลกๆ เช่น มีการจินตนาการถึงบทสนทนาระหว่างนักมานุษยวิทยากับคนที่ตายไปแล้ว และมีการเล่าให้เห็นลักษณะเฉพาะตัวของคนในสังคมอย่างเด่นชัดแตกต่างกันในสังคมเดียวกัน มายเยอร์ฮอฟยังนับเป็นผู้บุกเบิกภาพยนตร์ชาติพันธ์ุวรรณนา ก่อนเสียชีวิตเธอทำภาพยนตร์เกี่ยวกับความเจ็บป่วยกับความเชื่อทางศาสนาของตัวเธอเอง 

5. Sherry Ortner (1941--) ออร์ตเนอร์เป็นนักมานุษยวิทยาหญิงอเมริกันที่ถือได้ว่าร้อนแรงที่สุดคนหนึ่งทีเดียว แม้ว่าจะมีคนหลายๆ คนสร้างแนวคิดที่เธอเรียกว่า "ทฤษฎีปฏิบัติการ" แล้ว ต้องเรียกว่าออร์ตเนอร์นี่แหละที่เป็นคนปลุกปั้นกระแสการศึกษาแนวนี้ขึ้นมา ถ้าจะถามว่ามานุษยวิทยาหลังการวิพากษ์ของพวกโพสต์โมเดิร์นแล้วทำอะไรกัน แนวทางที่เป็นหลักเป็นฐานแน่นหนาที่สุดก็คือแนวทางที่ออร์ตเนอร์สร้างขึ้นมานี่แหละ ออร์ตเนอร์ทำวิจัยสังคมชาวเชอร์ปา ที่ทิเบต ปัจจุบันหันมาศึกษาสังคมอเมริกันมากขึ้น และยังผลิตงานต่อเนื่อง 

6. Aihwa Ong (195?--) อองนับเป็นนักมานุษยวิทยาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือจากมาเลเซีย คนแรกๆ ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับโลก งานที่โด่งดังของอองเริ่มจากการศึกษาสาวโรงงานในโรงงานญี่ปุ่นที่ตั้งในประเทศมาเลเซีย คนงานเป็นหญิงมุสลิมที่ย้ายถิ่นจากชนบทมาอยู่ในเมือง เมืองมาแล้วก็พบตัวตนใหม่ๆ ของตนเอง พร้อมๆ กันกับต้องตกอยู่ใตการควบคุมในฐานะตัวตนใหม่ระบบโรงงานอุตสาหกรรม หลังจากนั้นอองก็ผลิตงานที่โด่งดังอีกหลายชิ้น ที่สำคัญคือที่ว่าด้วยคนจีนย้ายถิ่นที่มาอาศัยในอเมริกา งานนี้เป็นการสะท้อนตัวเธอเองที่เป็นคนจีนจากปีนังด้วย อองเป็นนักมานุษยวิทยาที่เขียนหนังสือน่าอ่าน ผสมทฤษฎีกับรายละเอียดชีวิตคนได้ดี งานเธอเป็นตัวอย่างของการเขียนงานสมัยนี้ได้ดีมาก 

7. Ruth Behar (1956--) เบฮาร์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันเชื้อสายคิวบัน พ่อแม่อพยพมาจากคิวบา เบฮาร์โด่งดังมาจากการศึกษาผู้หญิงชาวแม็กซิกัน ที่ย้ายถิ่นข้ามไปมาระหว่างสหรัฐอมเริกากับแม็กซิโก งานของเธอนับเป็นการบุกเบิกการศึกษาข้ามพรมแดน และยังบุกเบิกงานแนวอัตชาติพันธ์ุนิพนธ์ คือเขียนวิเคราะห์ชีวิตของนักมานุษยวิทยาเองเข้าไปในการวิเคราะห์ชีวิตผู้คนที่ศึกษา งานของเบฮาร์มีลีลาการเขียนที่ชวนอ่านมาก บทสัมภาษณ์ที่ถ่ายทอดมาเป็นงานเขียนของเธอมีทั้งอารมณ์ขัน ความเศร้า และรายละเอียดที่ทำให้อ่านแล้วเห็นใจชีวิตผู้คน เบฮาร์เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญร่วมกับอีกหลายคนในการเปิดศักราชของงานเขียนของนักมานุษยวิทยาหญิงสืบต่อจากรุ่นที่ Michelle Rosaldo, Louise Lamphere และ Sherry Ortner เคยบุกเบิกไว้ 

8. Kirin Narayan (1959--) นารายันคือนักมานุษยวิทยาเชื้อสายอินเดียที่มาเติบโตทางวิชาการในอเมริกา นารายันอยู่ในแนวหน้าของการเขียนงานทางมานุษยวิทยาในปัจจุบัน งานของเธอตั้งแต่ชิ้นแรกที่ว่าด้วยการเทศนาของนักบวชอินเดีย นารายันได้นำเอาแนวทางใหม่ของการเขียนที่ให้ความหมายและเสียงที่หลากหลายแสดงตัวออกมาในการใช้นิทานเพื่อเทศนา นี่จึงเป็นการศึกษานิทานจากภาคสนามที่ไม่จำกัดความหมายตายตัวของนิทานไปด้วยในตัว นารายันเป็นคนหนึ่งที่นำเอาประวัติชีวิตครอบครัวตนเองมาวิเคราะห์แล้วเขียนเป็นนิยายทางชาติพันธ์ุวรรณนา นอกจากงานวิชาการแล้ว เธอยังเขียนนิยายอย่างจริงจังด้วย ล่าสุดเธออกหนังสือว่าด้วยการเขียนงานทางมานุษยวิทยา

 

9. Saba Mahmood (1962--) มาฮ์มุดถือเป็นดาวรุ่งคนสำคัญคนหนึ่งในวงการมานุษยวิทยาปัจจุบัน เธอเป็นมุสลิมชาวปากีสถาน ปัจจุบันมาทำงานที่อเมริกา งานที่โด่งดังของเธอชื่อ Politics of Peity (2004) ศึกษาบทบาททางศาสนาของผู้หญิงมุสลิมอียิปต์ ประเด็นสำคัญคือการเข้ารีตและมีศรัทธาอย่างแรงกล้าต่อศาสนานั้น หาใช่การจำยอมและสูญเสียอำนาจไม่ หากแต่เป็นการช่วยให้ผูหญิงเหล่านี้มีที่ยืนอย่างมีอำนาจในสังคมมุสลิมอย่างทัดเทียมหรืออาจเหนือกว่าชาย  

10.ที่จริงถ้านับ Nancy Scheper-Hughes ที่ได้แนะนำไปแล้วในลิสต์ก่อนหน้า (ดูที่นี่) ก็ครบสิบแล้ว แต่จะขอแนะนำชุดงานมานุษยวิทยาที่ศึกษาประเทศไทยสักหน่อย แนะนำรวมๆ กันทีเดียวหลายๆ คนเลยก็แล้วกัน นักมานุษยวิทยาที่ได้อ่านงานมาแล้วชอบๆ ก็ได้แก่ Katherine Bowie ไม่ใช่เพราะเธอเป็นอาจารย์ผม แต่เพราะงานของเธอให้ความเข้าใจสังคมไทยจากข้อมูลหลักฐานได้ชัดเจนดีมาก ข้อมูลและการตีความของเธอตั้งแต่เรื่องทาสในสยาม เศรษฐกิจการค้าและการเกษตรในศตวรรษที่ 19 เรื่องการสร้างมวลชนลูกเสือชาวบ้านยุค 6 ตุลาคม 1976 จนถึงเรื่องการเลือกตั้ง และล่าสุดกำลังจะออกหนังสือเรื่องพระเวสสันดร ล้วนเสนอภาพสังคมไทยที่หลากหลายและแตกต่างไปจากที่คนไทยถูกสอนม

 

วงการไทยศึกษายังมีนักมานุษยวิทยาหญิงที่สำคัญๆ อีกหลายคน เช่น Penny Van Esterik ที่บุกเบิกสตรีศึกษาในไทย เป็นผู้ชี้ว่าผู้หญิงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสถานภาพสูงเป็นพิเศษ Mary Beth Mills ที่ศึกษาสาวโรงงานไทยคนแรกๆ Deborah Wong ศึกษาละครและดนตรีไทย ภายหลังทำงานในสหรัฐอเมริกา ศึกษาการแสดงและดนตรีของชาวเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ในอเมริกา Yoko Hayami ศึกษาชาวกะเหรี่ยงทั้งในไทยและพม่า ส่วนนักมานุษยวิทยาหญิงสัญชาติไทย ที่จริงผมก็ประทับในผลงานของหลายๆ ท่าน แต่ขอไม่เอ่ยถึง เพราะไม่อยากตกหล่นใครไป 

ร่ายมาเสียยาว คงพอให้ท่านผู้นำพอเห็นได้บ้างว่าทำไมจึงควรมีผู้หญิงในคณะรัฐมนตรีให้มากขึ้น จะรอดูว่าปรับครม.คราวหน้าแล้วท่านจะให้ที่นั่งผู้หญิงมากขึ้นหรือเปล่า ถ้าท่านยังไม่ถูกประชาชนไล่ออกไปก่อนน่ะนะ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้