Skip to main content

สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด

ผมไม่อยากดูหมิ่นสถาบันวิจัยของไทยเหล่านั้นมากไปกว่าที่เคยดูหมิ่นดูแคลนมาตลอดอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าประเทศไทยไม่มีคนเก่ง ไม่ใช่ว่าไม่มีคนในประเทศไทยที่เข้าใจโลกสากล เพียงแต่คนเหล่านั้นไม่มีประโยชน์ในสายตาของรัฐมากเท่าคนที่ประเทศไทยใช้งานอยู่ และยิ่งไม่มีประโยชน์ในสมัยที่การแสดงออกทางวิชาการถูกปืนปิดปากอยู่อย่างในทุกวันนี้ 

ที่จริงผมก็ไม่ได้อยากจะพูดเรืองผลการวิจัยเลอะเทอะอะไรนั่น ความรู้พื้นฐานมีความสำคัญอย่างไร แล้วยังมีส่วนในการสร้างชาติและโลกทั้งมวลอย่างไร พูดไปเท่าไหร่ก็ไม่เข้าหูคนที่คิดและเขียนงานแบบนั้นออกมาได้ เสียเวลาเปล่า ที่ผมอยากจะเล่ามากกว่าคือได้พบอะไรในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเกียวโตที่เพิ่งไปค้นคว้าเบื้องต้นมาวันนี้บ้าง แล้วมันบอกอะไรกับการลงทุนด้านการวิจัยพื้นฐานบ้าง บอกอะไรกับวิสัยทัศน์การลงทุนแบบนี้บ้าง 

วันนี้ (12 มกราคม 2559) ผมเริ่มไปค้นคว้าในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเกียวโต ที่จริงผู้รับทุนจากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหาวิทยาลัยเกียวโตส่วนใหญ่ก็จะค้นคว้าวิจัยในห้องสมุดของศูนย์ฯ ก็แทบจะเพียงพออยู่แล้ว เพราะเป็นห้องสมุดเก่าแก่ ใหญ่โต เก็บเอกสารหนังสือเก่า ๆ มากมายหลายภาษา มีทั้งสือทั้งภาษาอังกฤษและภาษาอื่น ๆ รวมทั้งภาษาญี่ปุ่น (ที่ก็น่าจะมีไม่น้อย) ในเรื่องเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้อย่างมหศาลอยู่แล้ว  

แต่เมื่อค้นหนังสือที่ต้องการใช้ดู ผมพบว่าหนังสือภาษาต่างประเทศจำนวนมากทีเดียว ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ญี่ปุน ถูกเก็บไว้ในห้องสมุดหลักของมหาวิทยาลัย วันนี้ผมก็เลยมีโอกาสได้ไปห้องสมุดกลาง เพราะมีหนังสือที่ผมต้องการอยู่ห้องสมุดหลักนั่น 

เอกสารที่ผมหาคือเอกสารเกี่ยวกับงานแปลนิทานคำกลอนและคติชน (folklore) ต่าง ๆ ของชนกลุ่มน้อยในเวียดนาม เรื่องที่ผมกำลังค้นคว้าอยู่คือนิทานคำกลอนเรื่องหนึ่ง ชื่อ "ส่งชู้สอนสาว" ของชาวไทในเวียดนาม นิทานเรื่องนี้ถูกแปลเป็นภาษาเวียดนามโดยคนเวียด แล้วพิมพ์เป็นภาษาเวียดนาม รวมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนอ่าน มีการวิเคราะห์วิจารณ์ไว้พอสมควร หากแต่หนังสือเกี่ยวกับการวิเคราะห์นิทานคำกลอนนี้หายาก ในประเทศเวียดนามก็หายากเต็มที เพราะเก่าแก่กว่า 40-50 ปีแล้ว 

เบื้องต้นผมพบหนังสือที่เกี่ยวข้องอยู่จำนวนไม่น้อยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือที่น่าจะเป็นหการพิมพ์ "ส่งชู้สอนสาว" ในภาษาเวียดนามครั้งแรกเมื่อปี 1977 และมีบทวิเคราะห์ที่ผมหามานานรวมอยู่ในหนังสือนั้นด้วย เมื่อพบว่าห้องสมุดมี ก็ต้องรีบไปหา ห้องสมุดกลางอยู่ห่างจากห้องทำงาน (อันโอ่อ่าใหญ่โตสะดวกสบาย) ไปสักหน่อย แต่ถีบจักรยานไปสัก 5 นาทีก็ถึง 

ที่น่าสนใจคือการจัดชั้นหนังสือของที่นี่ เขาไม่ได้จัดแบบห้องสมุดในประเทศไทยส่วนใหญ่ ที่หันมาใช้ระบบรัฐสภาอเมริกันกันแทบทุกที่แล้ว (อาจจะยังมีแต่ที่จุฬาฯ แต่สมัยนี้ไม่รู้เปลี่ยนหรือยัง) แต่ที่มหาวิทยาลัยเกียวโตใช้ระบบที่ปรับมาจากระบบดิวอี้ แล้วเขายังแยกหนังสือภาษาต่างประเทศ (คือที่ไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่น) ออกจากภาษาอังกฤษ ข้อนี้อาจจะไม่ต่างกับห้องสมุดในประเทศไทยส่วนใหญ่ แต่จะต่างกับในสหรัฐอเมริกา ที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัย (น่าจะส่วนใหญ่) จัดหนังสือทุกภาษาอยู่ในชั้นเดียวกันหมด การหาหนังสือที่นี่จึงซับซ้อนนิดหน่อย แต่เขาก็มีระบบที่ระบุค่อนข้างชัดเจนว่า หนังสือตามเลขเรียกแบบนี้จะเก็บไว้ที่ไหน 

เมื่อไปถึง ผมเงอะ ๆ งะ ๆ อยู่สักพัก ก็เข้าไปขอความช่วยเหลือจากบรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่เขาบริการบอกวิธีไปที่ชั้นหนังสือ ชี้ทางโดยไม่ใช้ภาษาอังกฤษ จนแทบจะจูงมือพาไปถึงชั้นหนังสือทีเดียว หนังสือภาษาเวียดนามเก็บรวมกับภาษาอื่น ๆ แต่ก็แยกแต่ละภาษาออกจากกันเด็ดขาด  

ที่น่าตื่นเต้นคือ สำหรับผมซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับเวียดนามมานาน การได้ยืนอยู่ต่อหน้าหนังสือภาษาเวียดนามอายุค่อนข้างเก่า (พิมพ์ช่วงปี 1960-1970) จำนวนค่อนข้างมาก เรียงรายอยู่ต่อหน้าบนชั้นอย่างนี้ เป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในประเทศเวียดนาม สมัยที่ผมไปค้นคว้าในห้องสมุดแห่งชาติและห้องสมุดสถาบันวิจัยมนุษยศาสตร์และสังคมศษสตร์ที่ฮานอย เขาจะไม่ให้ผู้อ่านไปหยิบหนังสือเอง จะต้องขอทีละ 3 เล่ม นั่งรอให้เจ้าหน้าที่ไปหยิบมา เมื่ออ่านเสร็จแล้วจึงจะอนุญาตให้ยืมเล่มต่อไป เดิมทียิ่งยากกว่านี้เพราะเขาจะไม่ให้ถ่ายเอกสาร หลัง ๆ มายังดีที่เขาให้ถ่ายเอกสาร ปัจจุบันเปลี่ยนไปหรือยังอย่างไรก็ไม่ทราบ 

การยืนอยู่หน้าชั้นหนังสือมีข้อดีตรงที่มีโอกาสที่เราจะได้เจอหนังสือที่ไม่ได้ตั้งใจมาหาโดยเฉพาะ เมื่อกวาดสายตาหาหนังสือที่ต้องการอยู่ ผมก็เจอเข้ากับหนังสือเล่มหนึ่ง ตามรูปที่ถ่ายมาให้ดู ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะมีหนังสือเล่มนี้ในโลก เป็นหนังสือแปลข้อเขียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทยที่เขียนโดยพระยาอนุมานราชธนออกเป็นภาษาเวียดนาม โดยสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของเวียดนาม ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิโตโยตา พิมพ์เมื่อปี 1988 ในโอกาส 100 ปีพระยาอนุมานฯ เดิมเขาพิมพ์แล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 80 ปีพระยาอนุมานฯ คือในปี 1968  

ส่วนหนังสือที่ผมต้องการ เมื่อเจอแล้วผมก็หยิบมาเพื่อจะสอบถามว่ายืมได้หรือเปล่า ไม่ทันต้องถาม เจ้าหน้าที่ก็ชี้ให้ไปแสกนที่เครื่องยืมคืนด้วยตนเอง ซึ่งเรียนรู้ไม่กี่นาทีก็ใช้เองได้ ที่ตื่นเต้นมากคือ ผมสามารถยืมหนังสือค่อนข้างเก่าที่สภาพดีมากมา 2 เล่ม (จะยืมมากกว่านี้ก็ได้ ไม่เกิน 30 เล่ม) หนังสืออายุเท่านี้ สภาพแบบนี้ บอกได้เลยว่าแม้แต่ห้องสมุดในฮานอยยังหาไม่ได้ เพราะที่เวียดนามมีทุนไม่พอที่จะเก็บรักษาหนังสือที่สมัยก่อนใช้กระดาษบาง ๆ พิมพ์ด้วยหมึกจาง ๆ ให้คงสภาพดีอยู่อย่างนี้ได้ 

ผมพรำ่บ่นมานานนับสิบ ๆ ปีว่า ประเทศไทยไม่มีห้องสมุดที่มีหนังสือของประเทศเพื่อนบ้าน หากใครจะค้นคว้าแม้แต่เรื่องเกี่ยวกับประเทศลาวในภาษาลาว ก็ต้องดั้นด้นไปที่ประเทศลาว ปัจจุบันห้องสมุดของบางมหาวิทยาลัยก็คงจะค่อย ๆ เริ่มสะสมมาบ้าง แต่นี่ก็เป็นการลงทุนระยะยาวที่ประเทศไทยคิดช้าเกินไปหน่อย ผมเคยเสนอให้บางสถาบันที่มีเงินทุนมากมาย ซึ่งมักใช้ไปกับการปรับปรุงห้องส้วมของผู้บริหารและการขึ้นเงินเดือนเพิ่มเบี้ยประชุมให้ผู้บริหารกันเอง หันมาเจียดเงินเก็บสะสมหนังสือจากประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มจากประเทศละ 100 เล่มก่อนก็ได้ แล้วค่อย ๆ เพิ่มไปโดยเลือกหนังสือตามความสนใจของสถาบันเอง สุดท้ายเขาก็ไม่ทำ ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่าไม่รู้จะ catalog หนังสืออย่างไร 

นี่คือตัวอย่างง่าย ๆ ของการลงทุนในระยะยาวเพื่อสร้างความรู้ ตั้งแต่หนังสือสองเล่มที่ผมยืมมาอ่านย่างเข้ามาในห้องสมุดแห่งนี้ คงจะเคยมีคนยืมหนังสือสองเล่มนี้ไปอ่านเพียงไม่กี่คน ถ้าจะมีน่ะนะครับ หรืออย่างหนังสือแปลขอพระยาอนุมานราชธนที่ผมเจอนั่น จะมีคนไทย คนสนใจประเทศไทย หรือคนศึกษาเวียดนามสักกี่คนที่สนใจดูว่ามีหนังสือเล่มนี้อยู่ในโลกไหม ที่อาจจะถูกเก็บให้ใช้อ่านได้ในห้องสมุดแห่งนี้  

หากมองไกล มองกว้าง มองแบบไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น การลงทุนเพื่อวิจัยพื้นฐานไม่จำเป็นว่าผลมันจะตกกับประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น หากแต่ผลมันน่าจะตกแก่ผู้คนในโลกทั้งมวล ที่แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีใครได้ประโยชน์นั้น แต่สักวันหนึ่ง จะมีใครสักคนหนึ่งมาพบมันแล้วใช้ทุนที่ลงไปนั้น แน่นอนว่านายทุนหน้าใหม่ที่มุ่งฉกฉวยโอกาสเฉพาะหน้าในบางประเทศคงยังมองไม่ออกว่าคุณค่าของการลงทุนมนุษย์แบบนี้เป็นอย่างไร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้