Skip to main content

อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน

 

สิ่งหนึ่งที่รู้สึกได้เสมอ ทั้งจากคนเกาหลีที่เจอที่เกาหลีและที่ประเทศอื่นๆ คือ คนเกาหลีเป็นคนเปิดเผย คุยด้วยไม่เท่าไหร่ก็แลกเปลี่ยนความเห็นแสดงทัศนะได้อย่างสนิทสนม ข้อนี้แตกต่างจากคนเวียดนามเหนือ คนญี่ปุ่น และคนอเมริกันส่วนหนึ่ง แต่คล้ายกับคนไต้หวัน คนไทย คนกลุ่มน้อยในเวียดนาม และคนเวียดนามใต้ ผมไม่รู้ว่าบุคคลิกแบบนี้เกิดขึ้นมาจากอะไรได้อย่างไร เกี่ยวอะไรไหมกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ แต่โดยทั่วๆ ไป เท่าที่ผมได้รู้จักคนเหล่านี้ ก็รู้สึกอย่างนั้น

 

ความเป็นสังคมค่อนข้างเปิดของสังคมเกาหลีผมว่าน่าจะถูกสร้างขึ้นมาพอสมควร และน่าจะสร้างอย่างเป็นระบบด้วยโครงสร้างการเมืองที่เปิดต่อการแสดงออก การวิพากษ์วิจารณ์ หลังจากที่เกาหลีล้มระบอบเผด็จการและลัทธิทหารไปแล้ว อย่างน้อยตั้งแต่ทศวรรษ 1980 สิ่งหนึ่งที่ผมว่าเป็นตัวชี้วัดที่เห็นได้ชัดคือ การที่เกาหลีไม่บังคับให้มีเครื่องแบบนักเรียนและนักศึกษามหาวิทยาลัย เพื่อนเกาหลีบอกว่า โรงเรียนประถมส่วนใหญ่และมัธยมส่วนหนึ่งไม่บังคับให้นักเรียนต้องแต่งชุดนักเรียน บางโรงเรียนจะแต่งก็เป็นตามระเบียบของโรงเรียน ไม่ใช่ระเบียบของรัฐบาล ผมจึงเห็นเด็กนักเรียนประถมจำนวนหนึ่งย้อมผมไปเรียนได้ ทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย ไม่ต้องพูดถึงว่าพวกเขาจะแต่งตัวอย่างไรก็เรื่องของเด็กกับผู้ปกครอง

 

ในแง่ของชีวิตในเมืองใหญ่อย่างกรุงโซล โซลนั้นเหนือกรุงเทพฯ ในด้านของการสร้างพื้นที่ของการพักผ่อนหย่อนใจและย่านการค้า ผมไปเดินทั้งย่านการค้ารอบๆ Dongdaemun และอีกหลายย่าน เพื่อนเกาหลีอธิบายว่า ดงแดมุนแปลว่าประตูตะวันออกดง (เสียง ออกเสียงแบบมีลม ฟังดูคล้าย th แต่เป็น dh ซึ่งภาษาไทยไม่มี) แปลว่าตะวันออก เป็นย่านการค้าเก่าแก่ ปัจจุบันมีสวนสาธารณะกับอาคารพิลึกกึกกือขนาดใหญ่เรียก Dongdaemun Design Plaza ด้านนอกและด้านในมีกิจกรรมมากมายและมีร้านค้าจำนวนมาก วันที่ผมเดินผ่านมีการแสดงดนตรีของคณะดนตรีเล็กๆ แบบที่มักเจอในสวนสาธารณะของเมืองใหญ่

 

บริเวณรอบๆ นี้เป็นย่านการค้าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าเสื้อผ้าขายส่ง เพื่อนเกาหลีบอกว่าย่านนี้เหมือนประตูน้ำที่กรุงเทพฯ ผมเดาว่านี่น่าจะเป็นที่ที่แม่ค้าไทยเดินทางมาซื้อเสื้อผ้าเกาหลีกลับไปขายต่อที่เมืองไทยกัน ผมก็เลยสนใจอยากเดินดู อยากสำรวจร้านค้าส่ง เพราะผมก็เคยช่วยพี่สาวทั้งขายส่งและซื้อเสื้อผ้าค้าส่งที่ประตูน้ำอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อเดินๆ ไปสักพักในช่วงเย็นวันหนึ่ง ก็พบว่า ร้านส่วนใหญ่ยังไม่เปิด เขามักจะเปิดเวลากลางคืน จนถึงเช้ามืดของอีกวันหนึ่ง ซึ่งผมหมดแรงมาเดินต่อแล้ว ก็เลยได้แค่เดินรอบๆ ช่วงเย็นวันหนึ่ง บริเวณพอให้ได้เห็นบรรยากาศ

 

จากนั้นก็เดินในย่านนั้นเรื่อยมาจนถึงโรงแรมที่พัก ก็พบว่าบริเวณรอบๆ นั้นมีลักษณะเหมือนสำเพ็งปนๆ กับย่านเชียงกง มีทั้งร้านของใหม่และของเก่า ตั้งปะปนกันเต็มไปหมด แถมวันเสาร์ยังมีการจัดตลาดนัด มีคนเอาของมาขายแบกะดินเจ้าเล็กๆ คล้ายรอบๆ สนามหลวงและคลองหลอดเมื่อก่อน หากใครสนใจสำรวจตลาดพวกนี้ในโซลก็แนะนำว่าต้องไปเดินย่านนี้

 

อีกย่านที่เดินอย่างเพลิดเพลินเป็นย่านนักท่องเที่ยว ที่มีทั้งคนเกาหลีและคนต่างชาติเต็มพอสมควร ก็คือย่านเมืองเก่าใกล้ๆ พระราชวัง เป็นย่านการค้าฝั่งตะวันออกของพระราชวังกีอองบุ๊กคุง อยู่บริเวณถัดจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะขนาดใหญ่ ที่เพื่อนเกาหลีบอกว่าเป็นเหมือน MOMA ของเกาหลี ย่านนี้ชวนให้นึกถึงย่านร้านค้าตามรายทางเดินขึ้นวัดคิโยมิสึและกิอองของเกียวโตในญี่ปุ่น เพราะนอกจากร้านค้าเล็กๆ แล้ว ยังเป็นถนนเล็กๆ ที่มีอาคารบ้านเรือนโบราณ เป็นตรอกซอกซอยที่มีเค้ารางของเส้นทางเก่าๆ และมีร้านให้เช่าชุดประจำชาติเกาหลีทั้งชายและหญิง ก็เลยมีคนเช่าชุดมาใส่เดินถ่ยรูปเป็นจำนวนจำนวนมาก นอกจากนั้นบริเวณนี้ยังมีร้านอาหารมากมาย ผมเดินเล่นแถวนี้อย่างเพลิดเพลินแล้วก็นั่งจิบเครื่องดื่มร้านหนึ่งอยู่ยาวนาน หากกลับไปโซลอีกก็อยากจะกลับไปเดินย่านนี้อีก

 

อีกย่านที่มีโอกาสได้ไปเดินแม้จะเพียงสั้นๆ คือ ย่านประตูใต้หรือ Namdaemun ย่านนี้เป็นย่านช้อปปิ้ง ที่มีร้านค้ามากมาย ร้านเสื้อผ้าและร้านเครื่องสำอางจำนวนมากตั้งอยู่บริเวณนี้ เพื่อนเกาหลีบอกว่า ถ้าไม่ไปเดินที่คังนัม (Gangnam แปลว่า ด้านใต้ของแม่น้ำ เพราะตั้งอยู่ทางใต้ของแม้น้ำ Han ที่มีขนาดกว้างใหญ่) คนก็จะมาช้อปปิ้งที่นี่กัน ซึ่งราคาส่วนใหญ่ถูกกว่าที่คังนัม แต่เพื่อนก็ยังบอกว่า ปัจจุบันคนเกาหลีไม่ค่อยเดินย่านนี้กัน เพราะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินจับจ่ายกันจำนวนมาก จนทำให้ราคาสินค้าบางอย่างสูงขึ้นไปโดยไม่จำเป็น แต่เหตุที่ผมได้ไปเดินผ่านย่านนี้เพราะเดินทางไปเที่ยวที่เขานามซาน ซึ่งใกล้บริเวณนั้น แล้วเพื่อนพาเดินมาหาของกินที่ร้านซึ่งเพื่อนอยากแนะนำให้กิน ร้านตั้งอยู่ในย่านนี้พอดี

 

ย่านเดินเล่น กิน ดื่ม จับจ่ายของที่มีลักษณะเฉพาะตัว และเป็นย่านเกิดใหม่ไม่เกินสิบกว่าปีนี้ที่คนเกาหลีเองก็ชอบไปเดินไปออกเดทกันคือย่านนกซาปีออง (Noksapyeong) เพื่อนเกาหลีบอกว่า ย่านนี้มีคนต่างชาติอาศัยอยู่มาก จึงมาเดินจับจ่ายจำนวนมาก สังเกตดูก็เป็นอย่างนั้น แต่คนต่างชาติเหล่านี้เพื่อนบอกว่ามักไม่ใช่นักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวไม่ค่อยมาเดินย่านนี้กัน คนเกาหลีก็เลยชอบมาเดิน ย่านนี้คนละอารมณ์กับย่านรอบพระราชวังเลย เพราะหนุ่มสาวที่มาที่นี่แต่งตัวทันสมัยกัน เขามาหาของกินแปลกๆ ร้านรวงแถวนี้แข่งขันกันด้วยความเฉพาะตัว ด้วยฝีมือการทำอาหาร ด้วยสินค้าเฉพาะร้าน เสียดายที่มีเวลาน้อย จึงแทบไม่ได้เดินย่านนี้ นอกจากมาพักดื่มกาแฟหลังกลับจากเดินพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ย่านนี้อยู่ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ

 

ผู้คนที่เปิดเผย เป็นกันเอง กับการสร้างเมืองให้มีที่เดินเล่น จับจ่าย และแสดงออก เป็นบรรยากาศของสังคมเมืองที่น่าอยู่ทีเดียว เว้นแต่ว่าคนเกาหลีส่วนใหญ่ไม่สามารถอยู่ในเมืองโซลได้ ต้องๆ ไปๆ กลับๆ การเดินทางฝ่ารถติดแสนสาหัสบางเวลาบางช่วง และการขนส่งมวลชนก็ยังรองรับได้ไม่เต็มที่ ทำให้คนเกาหลีขับรถกันอย่างก้าวร้าว ยังดีที่แท็กซี่ราคาไม่สูงนัก

 

ชมภาพที่ https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=783827708422282&id=173987589406300

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้