Skip to main content

จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 

<--break->

เกริ่น

พลังทะลุทะลวงนี้แทบจะไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หรือหากจะมี ก็ยังไม่เคยปรากฏพร้อมกันอย่างทรงพลัง กว้างขวาง อย่างที่เป็นมาแบบนี้มาก่อน หากจะเทียบกับขบวนการประชาชนในอดีต คงต้องเทียบกับพลังของ 

(1) การเปลี่ยนแปลงการปกครองทศวรรษ 2470-2480 

(2) การเคลื่อนไหวของขบวนการเสรีไทยในทศวรรษ 2480 

(3) การเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา ประชาชน ชาวไร่ชาวนากรรมกร ในทศวรรษ 2510 (ยุค 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519) 

(4) ขบวนการคอมมิวนิสต์ทศวรรษ 2510-2520 

(5) “ม็อบมือถือ” การเคลื่อนไหวของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ทศวรรษ 2530 

(6) สมัชชาคนจนและการเมืองบนท้องถนน ของเอ็นจีโอชนชั้นกลางและคนจน ชาวไร่ชาวนา ชนชั้นล่าง ในทศวรรษ 2530-40

(7) การเคลื่อนไหวของมวลชนคนเสื้อแดงในทศวรรษ 2540-2550 

การเคลื่อนไหวของคณะราษฎร 63 จึงนับได้ว่าเป็นทั้งการสานต่อและสร้างประวัติศาสตร์ประชาชนหน้าใหม่ให้แก่ประวัติศาสตร์ไทยอย่างสำคัญและทรงพลัง

ฝ่าทะลุ 5 กำแพง

คณะราษฎร 2563 ได้ส่องแสงทะลุกำแพงมาแล้วมากมาย สรุปรวมได้อย่างน้อย 5 กำแพงด้วยกัน แต่ละการทะลุทะลวง ได้สานต่อการเพิ่มอำนาจทางการเมืองของประชาชนอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากแต่ละยุคสมัย ให้ก้าวไปข้างหน้าเรื่อยๆ อย่างสร้างสรรค์และมีมิติใหม่ๆ ยิ่งขึ้น ดังนี้

1. กำแพงชนชั้น คณะราษฎร 63 เป็นการรวมตัวต่อสู้เพื่อสิทธิทางการเมืองที่ข้ามพรมแดนของชนชั้นมากที่สุดอีกครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย การที่ทนายอานนท์เป็นลูกชาวนา คุณไมค์เป็นลูกกรรมกร มาร่วมสู้กับลูกหลานชนชั้นกลางระดับบนและระดับล่างหลายกลุ่ม ตลอดจนโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างระดับการศึกษากัน ต่างช่วงชั้นทางสังคมกันมาร่วมมือกัน รวมทั้งการเชื่อมต่อกับชนชั้นกลางระดับล่างอย่างคนเสื้อแดง การประสานกันของมวลชนเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมต่อกันของขบวนการประชาชนในปัจจุบัน 

การเคลื่อนไหวครั้งนี้จึงเทียบเท่าได้กับการเคลื่อนไหวของขบวนการนิสิตนักศึกษาในทศวรรษ 2510 ก่อนหน้านั้นการขยายฐานอำนาจประชาชนในทศวรรษ 2470-2480 ยังคงเป็นการแสดงพลังของประชาชนชนชั้นนำและชนชั้นกลางระดับบนเป็นหลัก ส่วนการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนและคนเสื้อแดง โดยมากก็ยังคงเป็นพลังของชนชั้นกลางระดับล่าง คณะราษฎร 63 จึงนับได้ว่าสร้างการเชื่อมโยงของชนชั้นได้กว้างขวางไม่น้อยไปกว่าขบวนการนิสิตนักศึกษาในทศวรรษ 2510 

2. กำแพงพื้นที่การเมือง คณะราษฎร 63 สร้างความเชื่อมโยงข้ามพื้นที่ในสามลักษณะด้วยกัน 

ประการแรก ข้ามพื้นที่ทั่วประเทศไทย พื้นที่การเมืองไม่ใช่กรุงเทพฯ เพียงเท่านั้นอีกต่อไป ในอดีตมีสหพันธ์ชาวไร่ชาวนาในทศวรรษ 2510 ขบวนการคอมมิวนิสต์ในทศวรรษ 2510-2520 และขบวนการคนเสื้อแดงทศวรรษ 2550 ปัจจุบันมีขบวนการคณะราษฎร 63 ที่มีมวลชนเข้าร่วมครอบคลุมทั่วประเทศเช่นนี้

ประการที่สอง ข้ามประเทศ ในอดีต คณะราษฎร 2475 และเสรีไทยในทศวรรษ 2480 ได้เคยสร้างเครือข่ายข้ามประเทศในการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมยุโรปและญี่ปุ่น ในปัจจุบัน คณะราษฎร 2563 สร้างเครือข่ายข้ามประเทศผ่านเครือข่ายออนไลน์ เกิดการรวมตัวอย่างหลวมๆ เพื่อเกื้อหนุนกันสร้างกระแสประชาธิปไตยผ่าน #MilkTeaAlliance และการเชื่อมต่อออนไลน์ใน platform และรูปแบบต่างๆ แม้กระทั่งวรรณกรรมออนไลน์ใน แอพพลิเคชันอ่าน/เขียนวรรณกรรมอย่าง “จอยลดา”

ประการที่สาม ข้ามออนไลน์สู่ออฟไลน์ ด้วยเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและ online platforms ต่างๆ คณะราษฎร 63 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พวกเขาขยับและเชื่อมการเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์เข้ากับออฟไลน์อย่างชาญฉลาด พวกเขาพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นเพียงนักเลงคีย์บอร์ดที่กลัวแดดกลัวฝน ไม่อดทน และกลัวความเสี่ยง นี่แสดงให้เห็นว่า ปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้ใหญ่หลวงและใกล้ตัวของพวกเขาอย่างยิ่ง จนทำให้เขาตระหนักว่าลำพังการเคลื่อนไหวในโลกอินเทอร์เน็ตไม่เพียงพอต่อการสร้างผลสะเทือนแต่อย่างใด ทำให้เขาต้องลุกจากหน้าจอมาลงถนน 

3. กำแพงเพศสภาวะ การก้าวข้ามที่สำคัญของการเคลื่อนไหวทางการเมืองย่อมมีการทะลายกำแพงเพศภาวะอยู่เสมอ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น โดยมากแล้วกำแพงเพศภาวะที่ผ่านมายังคงอยู่ในกรอบของสังคมสองเพศ (binary gender) หากแต่การให้สิทธิหรือเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมทางเพศในปัจจุบันไปพ้นจากเพียงการเรียกร้องความเท่าเทียมกันระหว่างเพศชาย-เพศหญิงไปสู่ non-binary gender เป็นการเรียกร้องความเท่าเทียมกันของความหลากเพศภาวะ ทั้งในแง่ของผู้มีส่วนปลุกพลังและขับเคลื่อนมวลชนเอง และผู้เข้าร่วมคณะราษฎร 63 สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นได้ชัดทั้งในประเด็นเรียกร้องและการแสดงออกของอัตลักษณ์ทางเพศ สัญลักษณ์ทางเพศ การใช้ภาษา ทั้งหมดชี้ว่า คณะราษฎร 63 ไม่เพียงเปิดรับความหลากหลายทางเพศ แต่ยังทำให้เห็นว่าความหลากหลายทางเพศคือความปกติของสังคม หากแต่คนเหล่านี้ยังคงไม่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ อย่างทัดเทียมกับเพศทางการชาย-หญิง 

นอกจากนั้น ขบวนการนี้ยังสัมพันธ์กับการรื้อระบบ beauty privilege หรือการให้ค่าความงามของเรือนร่างเป็นพิเศษ ทำให้เกิดกระแสการต่อต้านและยกเลิกการประกวด “ดาว เดือน ดาวเทียม” ในหลายๆ มหาวิทยาลัย จนกระทั่งถึงประเด็นเรื่องการเรียกร้องสิทธิการใช้แรงงานทางเพศ กฎหมายการทำแท้ง การส่องแสงดาวทลายกำแพงเพศภาวะนี้นับว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่ก้าวหน้าไปไกลกว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีตอย่างชัดเจน

4. กำแพงการมองคนไม่เท่ากัน การไม่เคารพความเป็นคนเป็นกำแพงพื้นฐานของการเคลื่อนไหวของประชาชนตั้งแต่ไหนแต่ไรมา กล่าวได้ว่าทุกการเคลื่อนไหวของประชาชนคือการเรียกร้องสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมือง การตัดสินชะตาชีวิตตนเอง การเคารพประชาชนในฐานะคนเท่ากัน แต่ความโดดเด่นประการหนึ่งของคณะราษฏร 63 คือการทลายกำแพงระบบอาวุโส การท้าทายระบบอาวุโสพัฒนามาตั้งแต่การต่อต้านระบบ SOTUS ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย การตั้งคำถามกับระเบียบเครื่องแบบ ผมทรงนักเรียน การละเมิดสิทธินักเรียนในโรงเรียน ตลอดจนการแสดงออกทางการเมืองในโรงเรียนนับตั้งแต่ระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย การตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองและปกป้องสิทธินักเรียน เช่น กลุ่มนักเรียนเลว 

การเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำลายเส้นแบ่งระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ คือความเป็นผู้ใหญ่ก่อนวัยที่ผู้ใหญ่เดิมเข้าใจหรือถูกขีดเส้นไว้ได้ถูกทลายลง จนเกิดการมีส่วนร่วมของนักเรียน เยาวชนอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ทำให้กล่าวกันว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้มีเยาวชนที่อายุน้อยที่สุดเข้าร่วมมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย หรืออย่างน้อยก็อีกครั้งหนึ่งหลังจากขบวนการนิสิตนักศึกษาในทศวรรษ 2510

5. กำแพงสถาบันศักดิ์สิทธิ์ ทั้งสถาบันกษัตริย์และสถาบันตุลาการถูกเปิดเปลือยให้เห็นว่ากำลังเป็นสถาบันที่ก่อปัญหาแก่ระบอบประชาธิปไตย กลายเป็นสถาบันที่เป็นปฏิบักษ์ต่อสถาบันประชาชน กล่าวคือ  

ประการแรก คณะราษฎรเป็นมวลชนกลุ่มแรกๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริงหลังคณะราษฎร 2475 หลังขบวนการ 14 ตุลา 2516 เป็นต้นมา สถาบันกษัตริย์ขยายฐานอำนาจทั้งในเชิงสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ มาโดยลำดับ โดยขาดการทัดทานอย่างจริงจังของขบวนการการเมืองประชาชนใดๆ มาก่อน หากจะไม่นับขบวนการคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีต ขบวนการประชาชนต่างๆ ไม่เพียงไม่ทัดทานอำนาจสถาบันกษัตริย์ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนที่ผ่านมามักกลับเสริมอำนาจทางสังคมให้กับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งกลับกลายเป็นการขยายทุนทางการเมืองให้แก่สถาบันกษัตริย์มาอย่างต่อเนื่อง ตรงกันข้าม คณะราษฎร 63 ตั้งคำถามต่อบทบาทของสถาบันกษัษตริย์ตลอดจนเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์กลับมาเป็นสถาบันที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และเป็นสถาบันที่อยู่นอกและเหนือการเมืองอย่างแท้จริง เป็นที่เคารพเลื่อมใส เป็นศูนย์รวมอำนาจอธิปไตยของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 

ประการที่สอง ล่าสุด เมื่อรัฐบาลเผด็จการ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจรัฐในการปราบปรามการเคลื่อนไหวของคณะราษฎร 63 อย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ ทั้งโดยการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง การจับกุมอย่างไม่ยุติธรรม ตลอดจนการไม่เคารพสิทธิการประกันตัวของศาล และการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาทางความคิดของเรือนจำและกรมราชทัณฑ์ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไร้มนุษยธรรม ไร้หลักนิติธรรมมาอย่างต่อเนื่องอย่างไร แกนนำคณะราษฎรจึงกลายเป็นตัวแทนของเหยื่อความอยุติธรรมและไร้มนุษยธรรมของกระบวนการตุลาการและกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด นับเป็นปฏิบัติการเปิดเปลือย “ความอ-ยุติธรรมอำมหิต” ขนานใหญ่แบบที่แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย

ข้าม 4 ความมืดมน

ถึงแม้พลังนี้ได้ทะลุทะลวงกำแพงขวางกั้นความก้าวหน้าของสังคมไทยไปได้ไกลเพียงใด พวกเรายังจะต้องร่วมกันเป็นกระแสธารของดวงดาว จนก่อเกิดเป็นสายทางช้างเผือกของขบวนการประชาชน พวกเราจะยังต้องฝ่าทะลุกำแพงอีกมากมาย อย่างน้อยยังมีอีก 4 พรมแดนอันมืดมนที่ท้าทายการต่อสู้ต่อไป ดังนี้ 

1. ความมืดมนของกลุ่มคนเบี้ยล่าง (the subalterns) ประชาชนและคณะราษฎร 63 จะต้องเรียนรู้มิติของความเหลื่อมล้ำที่หลากหลายขึ้น ใช้แสงของสิทธิมนุษยชนนำทางให้ชัดขึ้น เข้าใจปัญหาผู้ทุพพลภาพทางกายและจิตใจ ปัญหาชาติพันธ์ุ ปัญหากรรมกร ปัญหาชาวไร่ชาวนา เรียนรู้ข้ามชนชาติ ข้ามพรมแดน ไปสู่แรงงานพลัดถิ่นข้ามชาติ เรียนรู้ให้มากขึ้นถึงปัญหาการรวมศูนย์อำนาจและการกัดกีนปิดกั้นอำนาจลักษณะต่างๆ ในแวดวงต่างๆ เช่น การรวมศูนย์อำนาจและการปิดกั้นสิทธิทางศาสนา (สำหรับชาวพุทธ พระถูกควบคุม ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง สำหรับชาวมลายูมุสลิม พวกเขาถูกปิดกั้นสิทธิทางอัตลักษณ์ การมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง ฯลฯ) 

2. ความมืดมนของกลไกอำนาจ คณะราษฎร 63 จะต้องร่วมกันแปลงพลังการเคลื่อนไหวของมวลชนในโลกออนไลน์และบนท้องถนน ให้กลายเป็นการเปลี่ยนแปลงในระบบ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถาบันทางการเมือง ให้เกิดวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตแบบประชาธิปไตยและเคารพในสิทธิมนุษยชน ให้การเห็นคนเท่ากันและการเคารพความเห็นต่างกลายเป็นวิถีชีวิตประจำวัน เป็นบรรทัดฐนของสังคม ต้องสร้างสะพานระหว่างพลังมวลชนกับกลไกของรัฐ หาวิธีเข้าสู่ระบบการเมือง สร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบ อาศัยกลไกต่างๆ เพื่อแก้/รื้อรัฐธรรมนูญ แก้กฎหมายตั้งแต่กฎหมายการชุมชน/ควบคุมฝูงชน ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ แก้กฎหมาย ม. 112 

3. ความมืดมนของวัฒนธรรมการเมือง ความมืดมนนี้มาจากความคิดทางการเมืองและวิถีชีวิตที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ความมืดมนนี้ก่อให้เกิดพรมแดน ระหว่างคนต่างรุ่น (generation gap) ระหว่างคนรุ่นเดียวกัน ระหว่างคนที่ยังเชื่อมั่นกับระบอบเผด็จการยังเชื่อในลัทธิคนดี กับคณะราษฎร 63 และมวลชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยและเชื่อมั่นในวัฒนธรรมอุดมการณ์สิทธิมนุษยชน เราต้องสื่อสารข้ามพรมแดนปิดกั้นคนเหล่านี้ สร้างแนวร่วมข้ามคนเหล่านี้ หรือกระทั่งต้องเรียกร้อง (call out) ผู้คนที่มีบทบาทในสังคม เรียกคนที่ยังอยู่ในชุมชนของความคิดที่ว่า “แค่ทำดี เป็นคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง ประเทศก็จะดีเอง” ให้ออกมาจากที่พักพิงปลอดภัย (comfort zone) นั้น เพราะที่ผ่านมาได้พิสูจน์มาไม่รู้กี่ครั้งแล้วว่า ไม่เพียงแต่ความดีจะมีหลายแบบ ลำพังความดีและคนดีไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้หากระบบไม่เอื้อให้เกิดความเท่าเทียมกัน การตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ การมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง และการเคารพในความเป็นมนุษย์ ต้องชี้ให้พวกเขาเห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยเองไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นเครื่องมือไปสู่เป้าหมายที่ประชาชนจะมีความสุขขึ้นกว่านี้ได้ ไม่มีทางลัดและไม่มีคนดีที่ไหนจะทำแทนเราได้

4. ความมืดมนของอนาคตแต่ละคน แม้ว่าในทุกวันนี้ พวกเราจะยังเชื่อมั่นต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมและประเทศชาติให้ดีขึ้นตามแนวทางของระบอบประชาธิปไตย หากแต่วันข้างหน้า ไม่มีทางรู้ได้ว่าพวกเราเองนั่นแหละที่จะกลับกลายไปเป็นนักอนุรักษนิยมอีกหรือไม่ ยามใดก็ตามที่พวกคุณเข้าสู่เวทีอำนาจ เข้าสู่ผลประโยชน์มหาศาล ต้องเฝ้าถามตนเอง ตรวจสอบตนเองอยู่เสมอว่า ขณะนี้คุณได้ถูกระบบกลืนกลายจนเป็นอีกคนหนึ่งที่ฝืนต้านการเปลี่ยนแปลงที่กำลังก้าวไปสู่สังคมประชาธิปไตยอยู่หรือไม่ อย่าเพิ่งเชื่อว่า “เวลาจะอยู่ข้างเรา” เพราะเมื่อเราเติบโต มีอำนาจวาสนา เราเองนั่นแหละที่อาจจะฝืนเวลาอยู่ อย่าเพิ่งเชื่อจนกว่าจะได้เห็นวันนั้นจริงๆ ว่า “อนาคตหลังจากนี้ไปประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” เมื่อผ่านไปอีก 10 ปี 20 ปี ทำอย่างไรอุดมการณ์จะยังคงอยู่ ทำอย่างไรที่พวกคุณเองจะไม่ถูกดูดกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบเดิมที่ตนเองต่อต้านอีก ทำอย่างไรจึงจะไม่กลายเป็นแบบ “คนเดือนตุลาเลี้ยวขวา” หรือ “คอมมิวนิสต์นิยมเจ้า” ไม่ต้องกลับไป “สู้ไปกราบไป” อีก นี่เป็นอีกความมืดมนที่ท้าทายแสงดาวของปัจจุบันอยู่ในอนาคตอันใกล้ คือตัวคุณเองที่เป็นอุปสรรครอตัวคุณอยู่

สรุป

ในระยะเพียงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ด้วยความกล้าหาญ ซื่อตรงต่อตนเองและประวัติศาสตร์ ยึดมั่นต่อหลักการที่ให้ความสำคัญแก่พลังสร้างสรรค์ ความเสมอหน้า และมนุษยธรรม คณะราษฎร 63 ได้ทำให้ขบวนการประชาชนก้าวไปไกลและสานต่อพลังของการเคลื่อนไหวจากยุคก่อนหน้า นับตั้งแต่ทศวรรษของการอภิวัติช่วง 2470-80 ทศวรรษของประชาธิปไตยเบ่งบานโดยนิสิตนักศึกษาช่วงปี 2510 ทศวรรษของชนชั้นกลางเก่าและใหม่ช่วงปี 2530-2550 จนทุกวันนี้เป็นทศวรรษของคณะราษฎร 2560 หวังว่าทศวรรษของคณะราษฎรจะได้รับการสานต่อไปข้างหน้า หวังว่าแสงดาวที่สาดสว่างอยู่ในวันนี้ จะยังฝ่าข้ามพรมแดนไปสาดส่องกลบลบความมืดมนในอีกหลายมิติทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ต่อไป

แม้วันนี้ดวงดาวของเราหลายดวงจะยังรอการปลดปล่อยจากการคุมขังที่ไม่ชอบธรรมและไร้มนุษยธรรม ผมและเพื่อนๆ ในที่นี้ต่างก็มั่นใจว่า แสงดาวของพวกเขาย่อมจะไม่อาจถูกกักขังจองจำได้ พวกเราจะต้องมั่นคงต่อตนเองว่าจะสู้เพื่อให้เขาได้รับอิสรภาพ และสานต่อการต่อสู่ของประชาชนโดยสันติ ไปจนกว่าวันที่ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินอย่างแท้จริง 

 

อ่าน บนเวที “เปิดไฟให้ดาว” จัดโดย People Go

ณ Skywalk ปทุมวัน กรุงเทพฯ 

10 พฤษภาคม 2564

 

ยุกติ มุกดาวิจิตร

คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้