Skip to main content

เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว

ที่จริงมีหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ผมชอบมากเช่นกันคือบทวิเคราะห์ภาพเขียนฝาผนังถ้ำลาสโก ว่าด้วยกำเนิดศิลปะ ซึ่งเป็นเล่มที่มีที่ห้องสมุดของคณะสังคมวิทยาฯ เสียดายที่ผมไม่ได่สั่งมาเก็บไว้เองคงเพราะเมื่อยี่สิบปีก่อนนั้นผมว่ามันราคาแพงอยู่

ขอเล่าถึงงานบาไตล์สั้นๆ จากความทรงจำเร็วๆ ไว้ตรงนี้ครับ ตามคำชวนของพี่แป๊ด ร้านหนังสือก็องดิก

จอร์จ บาไตล์ (Georges Bataille) เป็นนักเรียนของเอมิล เดอร์ไคม์ (Émile Durkheim) เป็นคนที่พัฒนาด้านที่เป็นเซอร์เรียลลิสม์ของเดอร์ไคม์ ขณะที่ด้านที่เป็นค้านเที่ยน (Kantian) แถมค่อนข้างจะสุภาพแล้วจรรโลงกฎระเบียบของเดอร์ไคม์นั้น เป็นงานของหลานเดอร์ไคม์คือมาร์เซล โมสส์ (Marcel Mauss)

ผมเจองานบาไตล์จากการไล่อ่านหนังสือกลุ่มมานุษยวิทยาศาสนาตั้งแต่เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ไล่มาตั้งแต่เดอร์ไคม์ (The Elementary Forms of the Religious Life, 1912) ซึ่งอธิบายว่ากำเนิดศาสนาคือกำเนิดสังคม สัญลักษณ์ในศาสนาอย่างโทเทม คือภาพแทนสังคม

แล้วผมก็ไปอ่านงานของเมอร์เซ อีเลียด (Mircea Eliade) (The Sacred and the Profane, 1957) ซึ่งอ้างอิงงานศึกษาความศักดิ์สิทธิ์ (the holy) ย้อนไปถึงงานของรูดอล์ฟ ออตโต (Rudolf Otto) ซึ่งแยกความศักดิ์สิทธิ์ออกจากสาธารณ์ ความศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งนอกเหนือต่างหากจากสาธารณ์ คนที่เชื่อจะไม่เอามาปนกัน

จากนั้นผมไปอ่านงานของลูกศิษย์เดอร์ไคม์อีกคนคือ โคเช ไกลัว (Roger Caillois หนังสือ Man and the Sacred, 1939) ที่เสนออะไรคล้ายๆ เอเลียดและเดอร์ไคม์ปนๆ กัน แต่ผมว่ามันเป็นระบบลงตัวไปหน่อย อ่านแล้วเบื่อ จนมาเจองานของบาไตล์ที่ร่วมรุ่นกับไกลัว แต่พิลึกพิลั่นกว่ามาก ผมเลยตามอ่านมายืดยาวหลายเล่ม

บาไตล์พยายามเข้าใจความเป็น ความตาย กามารมณ์ สังคม ศาสนา เศรษฐกิจ ศิลปะ กระทั่งพลังสร้างสรรค์และทำลายล้างของจักรวาล งานเขาจึงเป็นระบบปรัชญาขนาดใหญ่ ที่อธิบายแทบทุกเรื่อง  

บาไตล์ถอดรื้อระบบคิดแบบตะวันตกเรื่องความเป็นเหตุเป็นผล การมีอยู่และการสูญสลาย กฎเกณฑ์และการฝ่ากฎเกณฑ์ งานเขาจึงมีอิทธิพลต่อฌาค แดร์ริดา (Jacques Derrida) มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) และชอง โบริยาร์ด (Jean Baudrillard) ในแง่ของการวิพากษ์เหตุผล วิพากษ์ความเป็นระบบ วิพากษ์เศรษฐกิจแบบทุนนิยมและมาร์กซิสม์ที่วางอยู่บนความสมเหตุสมผล  

นั่นเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมสนใจบาไตล์ เพราะเขาให้แนวทางการเดินออกมาจากระบบคิดแบบกำไร-ขาดทุนที่ผมเบื่อมากจากเรียนปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์  

เช่นว่า ข้อเสนอเรื่อง general economy ของบาไตล์ เสนอให้มองว่าการแลกเปลี่ยนของมนุษย์นั้นเป็นมากกว่า restricted economy ที่แค่คิดคำนวณถึงผลได้ผลเสียอย่างสมดุลกันในเชิงวัตถุเท่านั้น หรือคิดแต่จะได้อย่างคิดคำนวนได้ หากแต่ยังมีการแลกเปลี่ยนที่วางอยู่บนการทิ้ง ความสูญเสีย การทำลายล้าง มากกว่าการคิดถึงผลได้อย่างแคบแบบนักคิดสายทุนนิยม รวมทั้งมาร์กซิสม์อย่างแคบคิด  

การทุ่มเท การเสียสละ การ sacrifice ที่หมายถึงทั้งการสละและการบูชายัญ จึงเป็นมิติทางเศรษฐกิจแบบเศรษฐกิจทั่วไป และถึงที่สุดแล้ว บาไตล์เสนอว่า พลังจักรวาล ความตาย และกามารมณ์ คือเศรษฐกิจทั่วไปที่ห้อมล้อมเศรษฐกิจอย่างแคบ และสร้างสรรค์ความเป็นไปทั้งมวลอยู่

อีโรติก จึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจอันมหึมานี้ ในหนังสือ Erotism บาไตล์เสนอว่า ภาวะคนใกล้ตายกับภาวะ orgasm หรือภาวะสุขสมทางเพศ เป็นอารมณ์เดียวกัน คือทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งเจ็บปวดและรื่นรมย์ กึ่งเป็นกึ่งตาย เป็นภาวะก่อนเป็นและไม่เป็นอะไร หรือเชื่อมต่อระหว่างความเป็นและไม่เป็นต่างๆ  

ภาพหน้าปกหนังสือเล่มหนึ่งจึงเป็นภาพนักบุญเทเรซ่า ซึ่งกำลังจะตาย แต่แสดงภาวะอารมณ์เดียวกับการถึงจุดสุขสมทางเพศ

สำหรับบาไตล์ ศาสนายุคใหม่ อย่างศาสนาคริสต์ จึงไม่ต่างจากเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและมาร์กซิสม์ ที่เสนอให้จำกัดควบคุมการสูญเสีย หรือลดละภาวะสุขสมทางเพศ เพื่อเพ่งเล็งไปยังการผลิตที่เล็งผลได้ที่คิดคำนวณได้เท่านั้น  

นั่นต่างจากศาสนาและสังคมก่อนสมัยใหม่ที่ความตาย การทำลาย (อย่างพิธี potlatch ของชาวอินเดียน) ความรุนแรง ความสุขทางเพศที่ไม่สามารถคิดคำนวณผลได้ชัดเจน เป็นรากฐานสำคัญของสังคมที่วางอยู่บนเศรษฐกิจอย่างกว้าง  

งานบาไตล์อ่านสนุก ชวนให้คิดเชื่อมโยงอะไรได้หลายอย่างอย่างเป็นระบบ แม้ไม่ช่วยให้สามารถนำไปปบใช้ทำวิจัยได้อย่างง่ายๆ ก็ช่วยให้เข้าใจระบบคิดที่แตกต่างออกไปได้ ช่วยให้อ่านงานหลังโครงสร้างนิยมได้ดีขึ้น ช่วยเชื่อมต่อปรัชญากับมานุษยวิทยาได้อีกวิธีหนึ่ง  

แต่ก็แปลกใจที่ทำไมคนเขียนบทซีรีส์บางคนถึงสนใจหยิบงานบาไตล์มาอ่านและใส่เข้าไปในบทละคร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้