Skip to main content

กำลังก้าว

 

ณัฐเอ่ยซ้ำไม่ต่ำกว่า 5-6 ครั้งตลอดการสนทนา ว่าเขาไม่เข้าใจจนบัดนี้ว่าทำไมแค่การส่งลิงก์ให้เพื่อนถึงเป็นความผิดในข้อหานี้ --ลิงก์จากเนื้อหาซึ่งเขาไม่ได้เป็นคนทำเอง และไม่ได้มีส่วนใดๆ กับมันเลย -- ความไม่เข้าใจและงุนงงกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตยังอยู่มาจนวันที่ผ่านการจำคุกเป็นเวลากว่า 2 ปี และพ้นโทษออกมาแล้วก็ตาม

ณัฐ ชายหนุ่มอายุ 29 ปี เป็นคนกรุงเทพฯ พ่อฆ่าตัวตายตอนเขาอายุ 2 ขวบ เนื่องจากธุรกิจที่ทำล้มเหลว แม่ก็มาเป็นมะเร็งเสียชีวิตตอนเขาอายุ 22 ปี เหลือคนในครอบครัวเพียงน้องชายคนเดียว อาม่าที่เลี้ยงดูมา และญาติห่างๆ อีกบางส่วน ณัฐเคยไปเรียนทางด้านการเงินการธนาคาร แต่เลิกกลางคันไม่จบการศึกษา เนื่องจากนิสัยไม่ชอบห้องเรียนมาตั้งแต่เด็ก หันมาเอาดีทางการทำธุรกิจในโลกออนไลน์ (E-Commerce) และเริ่มสนใจการเมืองหลังการรัฐประหาร 2549 เพราะอยากรู้เบื้องลึกเบื้องหลัง อันนำไปสู่การติดตามข่าวสารทางการเมืองจากแหล่งต่างๆ 

ไม่เคยไปร่วมชุมนุมที่ไหนหรือยุ่งกับพรรคการเมืองใดๆ หากณัฐติดตามข่าวสารด้วยความกระตือรือร้น โดยเฉพาะจากเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน แหล่งรวมความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญเว็บหนึ่งในโลกออนไลน์เวลานั้น  จนกลางปี 2552 หลังจากมีการเผยแพร่ลิงก์ของคลิปและภาพที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันในเว็บบอร์ด โดยไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ ณัฐได้ส่งลิงก์ดังกล่าวทางอีเมล์ไปให้เพื่อนชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ที่สเปน ซึ่งเขามีโอกาสรู้จักผ่านโลกอินเตอร์เน็ต 

ฝรั่งคนดังกล่าวซึ่งใช้นามแฝงว่า stoplesemajeste ได้นำคลิปดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อในเว็บไซต์ของตนเอง จนทางดีเอสไอและกระทรวงไอซีทีของไทยถึงกับส่งตำรวจติดตามไปสอบสวนฝรั่งคนนั้นถึงสเปน ด้วยนำสิ่งที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมขึ้นสู่ระบบ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เนื่องจากกฎหมายครอบคลุมไปไม่ถึงต่างประเทศ หากจากการสอบสวน ตำรวจก็ได้เข้าถึงอีเมล์ของฝรั่งคนนั้น จึงได้ติดตามมาถึงอีเมล์ของณัฐ ที่ส่งลิงค์มาจากเมืองไทย

13 ตุลาคม 2552 ดีเอสไอยกกำลังราว 10 คนมาจับเขาที่คอนโด โดยณัฐไม่ได้มีโอกาสรู้ล่วงหน้าว่าตนถูกกล่าวหาในเรื่องนี้ เขาเล่าฉากนั้นอย่างตื่นเต้นว่าบ่ายวันนั้น ได้ยินเสียงทุบประตูห้องตัวเอง ดังมากๆอย่างที่คนทั่วไปไม่น่าเคาะกัน เขาตอบรับ และเดินไปเปิดประตู ก็พบชายหญิงเป็น 10 คนยืนอยู่ข้างหน้า ในชุดแบบพนักงานออฟฟิศ หลังจากนั้นเขาก็อยู่ในอาการงุนงง เจ้าหน้าที่แสดงหมายอะไรสักอย่าง แล้วก็แจ้งว่าเขาได้ส่งคลิปที่มีเนื้อหาหมิ่นฯ และใช้คำเกี่ยวกับสถาบัน พอได้ฟังณัฐก็ตกใจ ก่อนที่จะถูกล็อคตัวแล้วใส่กุญแจมือ ตามด้วยการค้นห้องพักจนหมด พร้อมยึดเอกสาร ซีดี คอมพิวเตอร์ ไดอารี่ สมุดต่างๆ ไป

หลังจากถูกจับ เขาถูกนำตัวไปสอบสวนที่กรมสืบสวนคดีพิเศษ ตอนนั้นตำรวจแจ้งข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ --ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบหรือเผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะลามก -- เพียงเท่านั้น ณัฐถูกสอบสวนและคุมตัวอยู่ที่ดีเอสไอนานสองคืน ถูกซักจากเจ้าหน้าที่เป็นวันๆ ตั้งแต่เรื่องวิธีการเข้าเวบไซต์ วิธีการโพสต์ รวมทั้งต้องเปิดเผยการเข้าอีเมล์ของตนเองให้เจ้าหน้าที่ ก่อนถูกส่งตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นอนอยู่ที่นั่นอีก 12 คืน ก่อนได้ประกันตัวในปลายเดือนตุลาคมนั้นเอง ด้วยเงินสด 2 แสนบาทที่ญาตินำมาช่วยประกัน

หนึ่งเดือนต่อมาเรื่องไปไกลยิ่งกว่านั้น เขาถูกหมายเรียกไปที่กรมสืบสวนคดีพิเศษอีกครั้ง โดยไม่ทราบว่าเรียกไปทำอะไร เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติมจากข้อหาเดิม หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และอาฆาตมาดร้าย -- คดีเริ่มไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกต่อไป ณัฐรู้สึกอย่างนั้น กลับมาพร้อมความเครียดหลังทราบข้อกล่าวหาเพิ่ม และตระหนักในตอนนั้นเองว่าคงต้องติดคุกแน่ๆ

 

“ผมถูกมองว่ามีเจตนาหมิ่น แม้จะไม่ได้สร้างเวบ ไม่ได้ทำคลิปโดยตรง แต่ได้เอาอะไรที่ไม่บังควรไปเล่า ส่งต่อ จะหาว่าหมิ่นให้ได้ แต่คลิปนั้นมันมีในเวบมาแล้ว ผมไม่ได้ทำอะไรเลย เป็นคลิปที่ไม่ได้แต่ง มันเป็นของจริง มันอยู่ในอินเตอร์เนทเรียบร้อยแล้ว”

 

14 ธันวาคม 2552 ณัฐจำวันได้แม่นยำ มันเป็นวันที่เขารู้สึกแย่ที่สุดวันหนึ่งในชีวิต วันที่ศาลออกหมายนัดให้ไปรายงานตัว เขาไปคนเดียว ไม่มีทนาย ไม่มีเพื่อนแม้แต่คนเดียวไปด้วยเพราะไม่รู้จะติดต่อใครในคดีแบบนี้ เมื่อไปถึงเจ้าหน้าที่ศาลถามเขาว่าจะเอาอย่างไร จะรับสารภาพหรือไม่ ถ้ารับก็ตัดสินเลย


ณัฐบอกว่าตอนนั้นเขารู้สึกมืดมัวมาก ไม่รู้เลยว่าจะสู้อย่างไร ทำอะไรได้บ้าง เพราะตระหนักว่าที่ผ่านมาคดีแบบนี้แทบไม่มีใครชนะ หรือหากรับสารภาพไปแล้วจะมีโทษเท่าไร จะได้ลดโทษขนาดไหน สมองเขาเวลานั้นทำงานอย่างเคร่งเครียด


สุดท้ายเขาตัดสินใจรับสารภาพด้วยไม่รู้จะทำอะไรได้ ศาลจึงพิพากษาทันทีในวันนั้นเอง ตัวเลขของโทษคือจำคุก
9 ปี แต่เมื่อรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง จึงเหลือ 4 ปี กับอีก 6 เดือน “ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาสั้นๆ บอกว่าโทษของจำเลย 3 ปี 18 เดือน ผมอึ้งตกใจ ศาลต้องพูดซ้ำสองครั้ง เพราะเห็นผมเหมือนฟังไม่รู้เรื่อง ซีดและยืนนิ่งอยู่ คิดว่าต้องอยู่ในคุกเป็นปีๆ เลยหรือ เจ้าหน้าที่ศาลก็มาพาเข้าห้องขัง รู้สึกแย่และกลัว”  

หลังจากวันนั้น อิสรภาพของเขาก็หมดสิ้นลง 
 

ณัฐถูกจำแนกไปอยู่ในแดน 4 ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในช่วงครึ่งปีแรก เขาต้องไปใช้แรงงานปั่นถ้วย 5 กิโลกรัมต่อวัน เป็นเวลากว่าครึ่งปี เขาเล่าว่าผู้คุมคิดว่าให้นักโทษทำงานเพื่อไม่ให้เครียดจากการอยู่เฉยๆ แต่สำหรับเขากลับยิ่งเครียดมากขึ้นจากการทำงานเหล่านี้
 

จนกลางปี 2553 มีการประกาศรับสมัครคนงานฝ่ายการศึกษา โดยเปิดรับนักโทษที่มีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ให้มาสมัคร ณัฐไปกรอกใบสมัครไว้เพราะทนปั่นถ้วยไม่ไหว หลังจากนั้นก็ถูกเรียกไปทดสอบการพิมพ์ดีด การใช้โปรแกรมต่างๆ จนผ่านและได้รับการบรรจุในฝ่ายการศึกษา เข้าไปทำหน้าที่หานักโทษเข้ามาเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ และเป็นผู้ช่วยสอนการใช้คอมพิวเตอร์ ใช้โปรแกรมต่างๆ แกนักโทษในเรือนจำ ซึ่งทำให้งานในคุกของเขาเบาลง
 

ช่วงติดคุก เขารู้สึกว่าเป็นวันเวลาที่ตกต่ำที่สุดในชีวิต ณัฐยอมรับว่าตัวเองปรับตัวไม่ได้เลยตลอดเวลาที่อยู่ในคุก เนื่องจากนิสัยชอบอยู่คนเดียว มีโลกส่วนตัว แต่เรือนจำมิใช่สถานที่ที่มีพื้นที่แบบนั้น เขาบอกให้ลองนึกภาพการอยู่ในสถานที่แบบโรงเรียนรวมกับตลาดสด ในโรงเรียน เราถูกบังคับให้เข้าแถว นับยอดทุกๆ วัน ขณะตลาดก็เต็มไปด้วยผู้คนและเสียงจอแจหนวกหูอยู่ตลอดเวลา พร้อมๆ กับความแออัดยัดเหยียดของผู้คนในจำนวนที่ล้นปริมาณที่รับได้ของคุก จนแทบหาความสงบไม่ได้ มิหนำซ้ำยังเดินหนีไปไหนก็ไม่ได้เนื่องจากรั้วกรงล้อมทุกด้าน

 

“ตอนเข้าไปติดใหม่ๆ ผมคิดว่าจะตายในคุกด้วยซ้ำ ไม่คิดว่าจะอยู่ได้ แต่ก็อยู่มาได้แบบทุกข์ทรมาน ผมปรับตัวไม่ได้ตลอดเวลาที่อยู่ในคุก ผมจะเป็นโรคหดหู่ ซึมเซา สีหน้าจะแย่ตลอด หลายคนในคุกจะถามว่ามึงไหวหรือเปล่า” 

 

ท่าทางอาการเช่นนั้น ทำให้ณัฐถูกนักโทษร่วมคุกบางคนเรียกว่า “ไอ้รั่ว” อันเป็นคำที่ใช้เรียกคนที่ปรับตัวเข้ากับคุกไม่ได้ พวกอยู่ในคุก แต่ใจอยู่นอกคุก หรือจิตหลุดนิดหน่อย เช่น พวกถูกเมียที่อยู่ข้างนอกทิ้งหรือไม่มีใครมาเยี่ยม

สำหรับณัฐ ญาติรอบตัวไม่ค่อยได้มาเยี่ยม ไม่ค่อยได้ช่วยเหลือ อาจด้วยความไม่เข้าใจ คิดว่าไปว่าเขาไปหาเรื่อง ไปมีปัญหากับสถาบัน จึงมีแต่น้องชายและอาม่ามาเยี่ยมบ้างนานๆ ที ความโดดเดี่ยวและปรับตัวไม่ได้ทำให้เขายอมรับตรงๆ ว่าเคยคิดจะฆ่าตัวตายในคุกอยู่เหมือนกัน หากที่สุดเขาก็ทนอยู่มาโดยไม่เคยทำผิดอะไร จนได้สถานะเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม


จากตัวคนเดียว เขาเริ่มได้รู้จักนักโทษคดี
112 คนอื่นๆ เริ่มจากลุงวันชัย ที่อยู่ในแดนเดียวกันเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรมคนแรกที่เขาได้รู้จัก ตามด้วยสุชาติ นาคบางไทร ที่ถูกจำแนกเข้ามาในแดน 4 เช่นเดียวกันในช่วงต้นปี 2554 หลังจากนั้นก็ได้รู้จักกับหนุ่ม เรดนนท์ ที่คอยเป็นปากเป็นเสียงให้หลายคนในคุก หนุ่มได้แจ้งข่าวกับคนภายนอกคุกว่ายังมีณัฐและลุงวันชัยเป็นนักโทษคดี 112 อยู่ในคุกด้วย  ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2554 เป็นต้นมา จากที่ไม่ค่อยมีใครมาเยี่ยมนัก ก็มีคนเสื้อแดงหรือผู้สนใจคดีนี้ซึ่งกำลังเป็นกระแสสังคมไปเยี่ยมเขามากขึ้น ทำให้ณัฐเริ่มสบายใจขึ้น มีความหวังว่าคนข้างนอกจะไม่ทิ้งกัน
 

แต่ความเป็นนักโทษใน “คดีหมิ่น” ก็ไม่ใช่จะอยู่ได้ง่ายๆ แม้แต่ภายในคุกเอง แม้นักโทษคดีอื่นๆ หลายคนจะเข้าใจ มองว่าเรื่องนี้ถูกทำให้มีโทษหนักเกินไป ไม่เป็นธรรม แต่บางคนก็มองผู้ต้องหาคดีนี้ว่าเป็นพวก “จัญไร” มีการดูถูกและด่าว่าต่อหน้าจากนักโทษกันเองว่าเป็นพวกเลวร้ายและไม่มีค่าที่จะมีชีวิตอยู่  บางคนบอกว่า 112 เป็นสิ่งเลวร้ายกว่าการฆ่าข่มขืนเสียอีก ขณะเดียวกันผู้คุมบางคนก็พูดจาไม่ดีและหยาบคาย พูดขึ้น “มึง” ขึ้น “กู” ด้วย และปฏิบัติต่อนักโทษอย่างไม่ให้เกียรติ

 

“ผมต้องนั่งคุกเข่า เขาก็ยืน นักโทษกับเจ้าหน้าที่จะเหมือนชนชั้นวรรณะ ตอนนั่งทำประวัตินักโทษใหม่ๆ นักโทษนั่งกับพื้น เจ้าหน้าที่จะนั่งเก้าอี้...การนั่งกับพื้นต่อหน้าเจ้าหน้าที่ มันน่าสมเพชตัวเอง ประชาชนทั่วไปไปติดต่อราชการยังไม่ทำแบบนี้เลย แล้วเขาพูดจาดูถูกและหยาบคาย”

 

โทษทัณฑ์เช่นนี้ณัฐยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกว้าเหว่ เหมือน 112 เป็นข้อหาที่ไม่ค่อยเหมือนชาวบ้านชาวช่อง ทั้งโทษก็ไม่เหมือนชาวโลก เพราะขัดกับหลักสิทธิและมนุษยธรรม เขาบอกว่าพี่สมยศยังเคยล้อกันเล่นกับนักโทษคดีนี้ที่รวมกลุ่มกันในคุก ว่าน่าจะตั้งเป็นคณะ 112 ในเรือนจำเสียเลย

ถ้าวันที่ไปศาลเป็นวันที่แย่ที่สุดในชีวิต วันที่ 19 เมษายน 2555 ก็เป็นวันที่เขาดีใจที่สุดวันหนึ่งในชีวิต หลังจากชีวิต 2 ปี 4 เดือนในเรือนจำ ณัฐได้รับการลดโทษเนื่องจากความเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม และผ่านวาระสำคัญที่มีการอภัยโทษใหญ่สองครั้ง ณัฐจึงได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดในวันนั้น
 

หลังออกจากคุกมา ณัฐก็ยังต้องไปรายงานตัวที่ศาล เพื่อควบคุมความประพฤติตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา กระทั่งล่าสุด เขาเพิ่งได้รับ “ใบบริสุทธิ์” จากเรือนจำ อันเป็นใบแสดงว่าผู้ต้องขังพ้นโทษอย่างสมบูรณ์แล้ว เขาบอกว่าไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมใช้ชื่อนี้ แต่เป็นตลกร้ายเหมือนกันที่ “ความบริสุทธิ์” จะได้มาเมื่อการลงทัณฑ์สิ้นสุดแล้ว

ช่วงที่ผ่านมา ณัฐยังมีโอกาสได้ไปเยี่ยมเพื่อนนักโทษในเรือนจำ เขาบอกว่ารู้สึกแย่ ที่เพื่อนๆ ที่ร่วมทุกข์สุขกันมายังอยู่ในคุก ถ้าไม่ได้รู้จักเพื่อน 112 และคดีอื่นๆ มาเลย เขาอาจไม่เคลื่อนไหวอีกแล้ว แต่เพื่อนเหล่านั้นก็ให้กำลังใจกันมา จะทำเป็นไม่รู้จักกันเลยก็ไม่ได้ เลยยังอาลัยอาวรณ์อยู่
 

บทเรียนสำคัญในคุกที่ณัฐอยากบอกกับสังคม คือปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทยทั้งหมด คดีส่วนใหญ่ที่เขาได้พบในเรือนจำเป็นคดีคนจน คดีหลักทรัพย์โดยคนไม่มีกิน ไม่มีงานทำ ในคุกทำให้เห็นว่าระบบยุติธรรมของไทยเลวร้ายมาก เพราะเล่นงานแต่คนจน  มีคนที่จนมากๆ และไม่ได้ทำผิด แต่ติดคุก เพราะไม่มีเงินสู้คดี คนจนจึงติดคุกง่ายมาก ขณะที่คนรวยๆ ดูง่ายกว่าที่จะชนะคดี และมีโอกาสสู้คดีได้มากกว่า รวมทั้ง “เคลียร์” ตัวเองได้ง่ายกว่า เขาสรุปบทเรียนว่าระบบกฎหมายมันเอื้อให้เฉพาะกลุ่มคนมีเงินและมีอำนาจ

หรือแม้แต่นักโทษคดี 112 เท่าที่ได้สัมผัส เขาเชื่อว่าคนอย่างอากง หรือโจ กอร์ดอน ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย เพราะต่างไม่ได้เป็นคนส่งข้อความหรือคนแปลเอกสารตามที่ถูกกล่าวหา หากกลับต้องประสบชะตากรรมเช่นนั้น ณัฐบอกว่าตามความเข้าใจของเขา สื่อเป็นสิ่งที่ทรงอิทธิพลมาก การประโคมข่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับโฆษณาที่เปิดซ้ำๆ ทำให้คนเราสามารถไปเกลียดคนที่ก่อคดีต่างๆ โดยไม่เคยรู้จักกันมาก่อนได้

ที่สุดแล้ว เขาบอกว่าอยากให้สังคมคำนึงถึงความเป็นคนให้มากกว่านี้ เห็นค่าของความเป็นคนของทุกๆ คน อย่ามองคนเป็นแค่เศษฝุ่นหรือเศษอะไร...
 

หลังออกมาสูดกลิ่นอากาศภายนอก ณัฐยังฝันร้ายบ้างเป็นบางคืน อาการซึมเศร้ายังมีอยู่บ้าง ซึ่งคงต้องใช้เวลาเป็นเครื่องเยียวยาต่อไป หากแต่เขาก็ได้ตระหนักชัดถึงคำว่าอิสรภาพดีขึ้น ในเรือนจำนั้น ณัฐแทบไม่เคยนอนตื่นสายเลย ทุกๆ เช้า 6 โมง นักโทษทุกคนต้องตื่น และทำการเช็คยอดทุกวัน ก่อนลงมือปฏิบัติกิจซ้ำซากในแต่ละวัน หากเมื่อออกมาจากที่นั้นแล้ว ช่วงนี้ณัฐบอกว่าเขาสามารถนอนตื่นสายได้ ซึ่งไม่เคยทำมาก่อนตลอดเวลา 2 ปี 4 เดือน มันทำให้เขาตระหนักถึงส่วนหนึ่งของความหมายของอิสรภาพ
 

“รู้สึกเสียดายเวลา 2 ปีกว่าในคุก เวลาซื้อกลับคืนไม่ได้ ถ้าใครไม่ติดคุก ควรจะซาบซึ้งกับอิสรภาพ ไม่ต้องไปถูกกักขังเหมือนสัตว์ อย่างนักโทษในเรือนจำ”

 

 

 

บล็อกของ กำลังก้าว

กำลังก้าว
ขณะที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา เป็นวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีผลกำหนดอนาคตของประเทศ แต่ก็เป็นวันครบรอบ 1 ปี ของคำพิพากษาคดีๆ หนึ่งที่มีผลกำหนดอนาคตชีวิตของครอบครัวๆ หนึ่งอย่างมหาศาล
กำลังก้าว
ผ่านไปเกือบจะครบสองปีแล้ว ตั้งแต่เธอถูกจับกุมดำเนินคดี...แต่คดียังไม่ได้เริ่มสืบพยานโจทก์เลยแม้สักปากเดียวเสาวณี อินต๊ะหล่อ เคยทำงานเป็นแม่ครัวในร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน แต่บ้านที่เธออยู่อาศัยนั้นอยู่ที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
กำลังก้าว
1“เราจะไม่เป็นเราอีก”
กำลังก้าว
คืนนั้น หลังจากรู้ว่ามีชื่อตัวเองอยู่ในประกาศเรียกทางโทรทัศน์ แกโพสต์สเตตัสหนึ่งในเฟซบุ๊กไว้ว่า “โจนาธาน ลิฟวิ่งสตัน ซีกัล ผมจะเป็นนางนวลตัวนั้น”
กำลังก้าว
 การดิ้นรนครั้งสุดท้ายของไดโนเสาร์ยักษ์เกรี้ยวกราดสุดเรี่ยวแรงแห่งเผ่าพันธุ์ทำผืนดินสะเทือนเลือนลั่นต้นไม้ใบหญ้าล้มระเนระนาดสัตว์น้อยใหญ่หลบหนีชุลมุนวุ่นวายกระทั่งหลายชีวิตบาดเจ็บล้มตายเซ่นสังเวยการเคลื่อนตัวของสัตว์ยักษ์ 
กำลังก้าว
30 เม.ย.นี้ จะเป็นวันครบรอบ 3 ปีของการจับกุมคุมขังสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในคดีมาตรา 112 และเป็นเวลาครบรอบ 3 ปีแล้วที่ชายคนนี้ยืนยันนับตั้งแต่ถูกจับกุมว่า “ผมยอมสูญเสียอิสรภาพ แต่จะไม่ยอมสูญเสียความเป็นคน”
กำลังก้าว
ข้อเขียนนี้เป็นบันทึกเล็กๆ น้อยๆ จากการทำรายงานข่าวเรื่อง “เปิดใจ 'สปป.ล้านนา' สาขาสันกำแพงกับข้อกล่าวหาแยกประเทศ”%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%