เพิ่งได้อ่านหนังสือเรื่อง “‘ทัณฑะกาล’ ของจิตร ภูมิศักดิ์ และผู้ต้องขังการเมือง” ของวิลลา วิลัยทอง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชนจบลง ทำให้ชวนคิดต่อถึงการพิจารณาศึกษาผู้ต้องขังหรือนักโทษทางการเมืองในแง่มุมต่างๆ เพิ่มเติม
หนังสือเล่มนี้เป็นงานศึกษาถึงช่วงชีวิตขณะถูกจับกุมคุมขังของจิตร ภูมิศักดิ์ ภายในเรือนจำลาดยาว ในช่วงเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทศวรรษ 2500 อันเป็นช่วงชีวิตสำคัญของจิตร ที่เขาสามารถผลิตผลงานเขียนสำคัญจำนวนมากได้ในช่วงเวลานี้ แต่งานชิ้นนี้ไม่ได้ศึกษาเพียงเรื่องของจิตร หากยังให้ภาพรวมไปถึงชีวิตของผู้ต้องขังจากคดีทางการเมืองคนอื่นๆ เช่น อิศรา อมันตกุล, ทองใบ ทองเปาด์, เปลื้อง วรรณศรี, สุวัฒน์ วรดิลก, กรุณา กุศลาศัย, อุทธรณ์ พลกุล, ไขแสง สุกใส, เทพ โชตินุชิต, อุดม ศรีสุวรรณ เป็นต้น ผู้ล้วนถูกจองจำร่วมกันกับจิตรในคุกลาดยาวเวลานั้น โดยส่วนใหญ่ถูกกล่าวหาในข้อหาคอมมิวนิสต์
งานเล่มนี้รวบรวมข้อมูลของผู้ต้องขังในช่วงเวลานั้น ทั้งจากบันทึกความทรงจำ เอกสารของศาล เอกสารของราชทัณฑ์ บทสัมภาษณ์ งานวิชาการ หนังสือพิมพ์ต่างๆ เพื่อนำเสนอภาพชีวิตของนักโทษการเมืองในทศวรรษนั้นเป็นลำดับกระบวนการ ตั้งแต่การถูกจับกุม การถูกคุมขังที่กองปราบหรือคุกอื่นๆ ก่อนย้ายมาคุมขังรวมกันที่ลาดยาว การใช้ชีวิตภายในลาดยาว การไปขึ้นศาล ไปจนถึงการได้รับการปล่อยตัว
วิลลายืมคำว่า “ทัณฑะกาล” มาจาก ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์ และ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ นักโทษการเมืองคดีกบฏร.ศ. 130 ซึ่งใช้อธิบายระยะเวลา 12 ปี ที่พวกเขาถูกคุมขังในเรือนจำมหันตโทษ (พ.ศ.2455-2467) โดยงานชิ้นนี้นำคำนี้มาใช้อธิบายถึงช่วงเวลาแห่งโทษทัณฑ์ ทั้งในแง่ระยะเวลาต้องโทษที่รัฐเป็นผู้กำหนด และระยะเวลาต้องโทษในความนึกคิดของตัวผู้ต้องขังเอง โดยแม้ผู้ต้องขังจะได้รับการปล่อยตัวแล้ว ทัณฑะกาลก็อาจจะไม่ได้ไปจากพวกเขา และไม่ได้สิ้นสุดลงตามแนวทางของกฎหมาย
การอ่านหนังสือเล่มนี้ชวนให้หันมาลองพิจารณาถึงสภาพของผู้ต้องขังทางการเมืองในช่วงทศวรรษ 2500 ที่งานชิ้นนี้ได้ให้ภาพไว้ เปรียบเทียบกับผู้ต้องขังทางการเมืองในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน ซึ่งในเบื้องต้นก็เห็นได้ถึงความแตกต่างและคล้ายคลึงในหลายประการ
โดยในทั้งสองช่วงนั้น รัฐได้มีการแยกผู้ต้องขังในคดีการเมืองคุมขังต่างหากจากผู้ต้องขังข้อหาอื่นๆ เช่นเดียวกัน โดยผู้ต้องขังทางการเมืองยุคจอมพลสฤษดิ์ ถูกแยกมาขังรวมกันไว้เรือนจำชั่วคราวลาดยาว หรือ “ลาดยาวเล็ก” ขณะที่ผู้ต้องขังทางการเมืองในช่วงปัจจุบันถูกแยกมาคุมขังในเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ แต่ก็เพิ่งมีการย้ายผู้ต้องขังทางการเมืองมาขังรวมกันในช่วงปลายปี 2554 ภายหลังการเปลี่ยนมาเป็นรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยก่อนหน้านั้น ผู้ต้องขังคดีการเมืองถูกขังรวมกันกับผู้ต้องขังและนักโทษคดีอื่นๆ ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รวมถึงเรือนจำในจังหวัดต่างๆ
ขณะเดียวกัน ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองในช่วงปัจจุบันยังไม่ได้นับผู้ต้องขังจากคดีมาตรา 112 รวมไว้ในคดีการเมืองด้วย ตรงกันข้ามกับในช่วงทศวรรษ 2500 ที่ดูเหมือนในช่วงนั้นผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถูกนับเป็นส่วนหนึ่งในคดีทางการเมือง และมิได้แยกปฏิบัติอย่างชัดเจนจากคดีอื่นๆ มากนัก (อย่างน้อยในส่วนของการคุมขัง) เช่น กรณีสุวัฒน์ วรดิลก และเพ็ญศรี พุ่มชูศรี
ทั้งสองช่วงยังมีการรวมกลุ่มและการสร้างชุมชนในคุกของผู้ต้องขังจากคดีทางการเมืองคล้ายๆ กัน เช่น การรวมกลุ่มของผู้ต้องขังที่นอนในโรงอาหารในนาม “คิวบา” ที่มีอิศรา อมันตกุลเป็นหัวเรือใหญ่ โดยกลุ่มนี้เข้าไปมีบทบาทในการต่อรองเรื่องสิทธิผู้ต้องขังกับผู้คุมในเรื่องต่างๆ ซึ่งอาจเทียบได้กับการรวมกลุ่มของผู้ต้องขังและญาติๆ จากคดีมาตรา 112 ในช่วงปัจจุบัน เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องชี้ให้เห็นความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นจากกฎหมายมาตรานี้
ประเด็นที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ค่อนข้างชัด ระหว่างผู้ต้องขังทางการเมืองในช่วงนั้นกับช่วงปัจจุบัน คือผู้ต้องขังการเมืองช่วงทศวรรษ 2500 ถูกจับกุมคุมขังแบบไม่มีกำหนด โดยจากประกาศคณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ได้ให้อำนาจพนักงานสอบสวนในการคุมตัวผู้ต้องหาได้ตลอดเวลาที่ทำการสอบสวนในคดีเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกำหนดระยะเวลาการควบคุมดังที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญา รวมถึงการให้อำนาจศาลทหารในการพิจารณาคดี ทำให้ผู้ต้องขังทางการเมืองในช่วงนั้นถูกขังลืม โดยการดำเนินการทางคดีเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่ผู้ต้องหาคดีการเมืองในช่วงปัจจุบันดูเหมือนถูกดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติมากกว่า แต่ทั้งสองกรณีผู้ต้องขังก็มีแนวโน้มไม่ได้รับการประกันตัวเช่นกัน
กลุ่มผู้ต้องขังการเมืองในช่วงจอมพลสฤษดิ์ ยังมีแนวโน้มเป็นกลุ่มปัญญาชน สื่อมวลชน นักการเมือง นักคิดนักเขียน แม้จะมีกลุ่มชาวนา กรรมกร หรือกลุ่มคนจีนอยู่ด้วยเช่นกัน เมื่อเทียบกับช่วงปัจจุบันที่ผู้ถูกคุมขังจากคดีการเมืองมีแนวโน้มจะเป็นสามัญชนทั่วไป ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงมากนักเป็นส่วนใหญ่
ขณะเดียวกัน ผู้ต้องขังการเมืองในช่วงทศวรรษ 2500 ดูเหมือนจะสามารถใช้ชีวิตภายในเรือนจำได้อย่างค่อนข้างมีอิสระมากกว่า เช่น ผู้ต้องขังไม่ต้องใส่ชุดนักโทษ สามารถเลือกเครื่องแต่งกายตามแต่ฤดูกาล เมื่อออกไปภายนอกหรือไปขึ้นศาลก็ไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องพันธนาการ สามารถใส่สูทหรือเสื้อเชิ้ตไปในการพิจารณาของศาลได้
ผู้ต้องขังส่วนหนึ่งยังนำลูกของตนเข้ามาเลี้ยงดูในเรือนจำ เพื่อแบ่งเบาภาระของภรรยาภายนอก โดยมีเด็กๆ เข้าไปอยู่กับพ่อที่ถูกคุมขัง ทั้งในแบบถาวร และเข้ามาอยู่ชั่วคราวช่วงปิดภาคเรียนกว่า 10 คน
หรือผู้ต้องขังยังสามารถเลือกห้องคุมขังเอง เลือกห้องขังตามความสัมพันธ์ที่มีอยู่เดิม เลือกใช้บริเวณรอบห้องขังได้ค่อนข้างอิสระ สามารถต่อรองเรื่องสิทธิ ความเป็นอยู่ และชีวิตประจำวันต่างๆ กับเจ้าหน้าที่รัฐได้ค่อนข้างมาก เช่น การรวบรวมรายชื่อของผู้ต้องขังยื่นต่อราชทัณฑ์ เพื่อขอให้ผู้ต้องขังสามารถอ่านหนังสือพิมพ์ได้
ความหมายของการไปศาล ของผู้ต้องขังในช่วงนั้นยังดูเหมือนจะแตกต่างจากในปัจจุบัน โดยการไปศาลกลายเป็นการได้ออกไปสู่โลกภายนอก ได้พบครอบครัวและญาติ โดยผู้ต้องขังรายคนร้องขอให้ศาลเบิกตัวไปศาลทุกวัน เพื่อไปคัดหรือตรวจสำนวนบ้าง หรือให้ตำรวจคุมตัวไปพบผู้ใหญ่ในกระทรวงบ้าง โดยมีผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ ค่อนข้างมาก การไปศาลจึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวในช่วงนั้น เมื่อเทียบกับการเป็นจำเลยในศาล ณ ห้วงเวลาปัจจุบัน
นอกจากนั้น ศาลช่วงนั้นยังให้ประกันตัวผู้ต้องขังจากสาเหตุของความเจ็บป่วย โดยไม่ได้เห็นหรืออ้างถึงการไม่ให้ประกันเพราะเป็นคดีร้ายแรงหรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐแต่อย่างใด เช่น กรณีสงวน ตุลารักษ์ ที่ล้มป่วยจากโรคเส้นโลหิตในสมองตีบตัน หรือกรณีกรุณา กุศลาสัย ที่ล้มป่วยจากความเครียดทางสมองและแพทย์ให้การรับรอง ก็ล้วนได้รับการประกันตัวออกมารักษาตัวภายนอก
ผู้ต้องขังทางการเมืองในช่วงนั้นยังสามารถจัดการศึกษาแนวคิดทฤษฎีต่างๆ หรือการเรียนการสอนภาษาต่างๆ ร่วมกัน สามารถอ่านหนังสือคอมมิวนิสต์ที่ต้องห้ามได้ หรือสามารถจัดงานฉลองและงานรำลึกต่างๆ ได้ เช่น งานวันกรรมกร, วันรำลึกถึงสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
การเปิดโอกาสค่อนข้างมากนี้ ทำให้อดีตสันติบาลท่านหนึ่งถึงกับเล่าว่า “คนที่ถูกกวาดล้างมาจากทั่วทุกสารทิศ นับวัน...สอบครั้งแรกยังพูดไม่เป็น หรืองกๆ เงิ่นๆ หลังจากช่วงเวลาหกเดือน หรือหนึ่งปีผ่านไปแล้ว คนเหล่านี้แก่กล้าและมีลักษณะคล้ายถูกจัดตั้ง มีทฤษฎีการรับรู้ดีขึ้น คนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็อ่านออกเขียนได้ คนที่รู้ภาษาเดียวกันก็ได้ภาษาจีน ภาษาอังกฤษเพิ่มมาด้วย...เราก็มาสรุปกันว่า ถ้าอย่างนี้เหมือนกับเราได้เปิดมหาวิทยาลัยมาร์กซิสต์ปักกิ่ง กลางกรุงเทพมหานคร” (หน้า 116)
รวมทั้งถึงขนาดทำให้ผู้ต้องขังบางคนเห็นว่าการออกจากคุกจะปลอดภัยน้อยกว่าอยู่ภายใน และทำให้มีบทบาททางการเมืองได้มากกว่าออกไปนอกคุก (หน้า 124)
ดูเหมือนยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนนัก ว่าทำไมรัฐหรือรัฐบาลเผด็จการในช่วงนั้น จึงได้ “ปล่อย” หรือ “ผ่อนปรน” กับผู้ต้องขังทางการเมืองเป็นอย่างมาก โดยไม่เคร่งครัดต่อกฎระเบียบมากเท่ากับการควบคุมนักโทษคดีอื่นๆ เช่น คดียาเสพติดที่ถูกคุมขังในพื้นที่ลาดยาวเช่นกัน วิลลาได้อ้างถึงความเห็นของประจักษ์ ก้องกีรติสั้นๆ ว่า เพราะชีวิตนักโทษการเมืองอยู่ในเงื้อมมือของรัฐอยู่แล้ว รัฐจึงไมได้ควบคุมและตรวจตราอย่างเข้มงวดนัก (หน้า 30) แต่ก็ดูเหมือนเป็นคำอธิบายที่ยังไม่เพียงพอ ไม่ได้มีหลักฐานต่างๆ ในการอธิบายนัก ซึ่งอาจจำเป็นต้องมีคำอธิบายเพิ่มเติมในงานศึกษาเรื่องนี้ต่อๆ ไป
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ คือการพิจารณาความสืบเนื่องของวัฒนธรรมในหมู่ผู้ต้องขังทางการเมืองจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่ผู้ต้องขังจากกรณีกบฏ ร.ศ.130, นักโทษกรณีกบฏบวรเดช, ผู้ต้องขังคดีกบฏสันติภาพ พ.ศ. 2495 มาจนถึงผู้ต้องขังการเมืองในยุคจอมพลสฤษดิ์ โดยได้ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มผู้ต้องขังทางการเมืองในช่วงต่างๆ เหล่านี้มีวัฒนธรรมการใช้ชีวิตในเรือนจำที่คล้ายคลึงกันหลายประการ เช่น วัฒนธรรมการอ่านและเขียนหนังสือ การสอนและเรียนหนังสื่อในหมู่ผู้ต้องขัง วัฒนธรรมการเยี่ยมผู้ต้องขังที่ผู้หญิง (แม่ ภรรยา หรือลูกสาว) มักเป็นตัวกลางในการติดต่อระหว่างโลกภายนอกกับภายในเรือนจำ
การพิจารณาความคล้ายคลึงของผู้ต้องขังทางการเมืองในประวัติศาสตร์ช่วงต่างๆ ของงานชิ้นนี้นั้น ทำให้คิดต่อไปได้ถึงความเป็นไปได้ของการศึกษาประวัติศาสตร์นิพนธ์ของ “นักโทษการเมือง” ในสังคมไทย ซึ่งยังไม่เคยมีการศึกษาหรือทำความเข้าใจอย่างเป็นระบบมาก่อน
โดยในช่วงต่างๆ ตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทย ล้วนมีกลุ่มคนที่ถูกมองว่าเป็น “ภัยต่อความมั่นคง” ของรัฐ และถูกจับกุมคุมขังมาอย่างต่อเนื่อง อาจนับตั้งแต่ครั้งเทียนวรรณในสมัยรัชกาลที่ 5, กรณีกบฏ ร.ศ.130, ผู้ต้องขังจากกรณีกบฏบวรเดชภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง, ผู้ต้องขังจากกรณีกบฏสันติภาพ, ผู้ต้องขังในช่วงยุคเผด็จการจอมพลสฤษดิ์, ผู้ต้องขังจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, ผู้ต้องขังจากคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในช่วงต่างๆ, ผู้ต้องขังจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน และอาจรวมไปถึงผู้ต้องขังในความขัดแย้งที่จังหวัดชายแดนใต้ เป็นต้น
เราอาจศึกษาเปรียบเทียบความคล้ายคลึง หรือความแตกต่างในการจับกุมคุมขังผู้ต้องขังทางการเมืองในแต่ละช่วง อาจทำการจัดจำแนกกลุ่มประเภทผู้ต้องขัง ความคิดทางการเมือง ลักษณะข้อหา สภาพการคุมขัง วิธีการจัดการของรัฐ รวมไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ และการต่อสู้ของนักโทษทางการเมืองในช่วงต่างๆ
การศึกษาลักษณะนี้น่าจะช่วยเผยให้เห็นความอยุติธรรมของรัฐไทย ที่จับกุมพลเมืองจากเหตุของความคิดทางการเมืองและความมั่นคงมาอย่างต่อเนื่องในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ขณะเดียวกันก็อาจเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงในการทำงานของอำนาจรัฐที่กระทำต่อพลเมืองในระยะยาวได้
และบางทีถ้าลองมองว่า “ทัณฑะกาล” นั้น ไม่ได้หมายความถึงเพียงช่วงเวลาของการจองจำร่างกายของผู้ต้องขังจากคดีทางการเมือง แต่หมายรวมไปถึงห้วงเวลาที่ผู้คนในสังคมถูกจองจำทางความคิด ถูกคุมขังเสรีภาพในการพูด ถูกจำกัดอาณาบริเวณของการแสดงออก เป็นไปได้ว่าสังคมไทยในช่วงหลายปีทีผ่านมา ก็กำลังอยู่ใน “ทัณฑะกาล” ที่ยังไม่ได้รับการปลดปล่อยเช่นเดียวกัน