หนังสือ 3 เล่ม ในห้วงเวลา 3 ปี แห่งการจองจำสมยศ

30 เม.ย.นี้ จะเป็นวันครบรอบ 3 ปีของการจับกุมคุมขังสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในคดีมาตรา 112 และเป็นเวลาครบรอบ 3 ปีแล้วที่ชายคนนี้ยืนยันนับตั้งแต่ถูกจับกุมว่า “ผมยอมสูญเสียอิสรภาพ แต่จะไม่ยอมสูญเสียความเป็นคน”

ในโอกาสนี้ นอกจากวงเสวนาต่างๆ กิจกรรมร่วมกันไปเยี่ยมสมยศและนักโทษการเมืองคนอื่นๆ แล้ว องค์กรที่ติดตามปัญหามาตรา 112 มาอย่างต่อเนื่อง ยังได้จัดพิมพ์หนังสือและวารสารเกี่ยวกับกรณีสมยศและกฎหมายมาตรานี้ออกมาหลายเล่มพร้อมๆ กัน

1

“สู้เพื่อเสรีภาพ” เป็นบันทึกการสังเกตการณ์การสืบพยานทั้งหมดในคดีสมยศ ที่มีขึ้นในช่วงปี 2554-55 ก่อนจบลงด้วยคำพิพากษาจำคุกรวม 11 ปี ของศาลชั้นต้นในช่วงต้นปี 2556

คำเบิกความของพยานโจทก์ 22 ปาก และพยานจำเลย 7 ปาก ถูกบันทึกออกมาจากห้องพิจารณาคดีโดยทีมงานและอาสาสมัครหลายคนของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ilaw) ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปบันทึกปากคำเหล่านั้นออกมา

การจดบันทึกเหล่านี้แตกต่างอย่างชัดเจนจากเอกสารคำเบิกความเป็นทางการที่ศาลเป็นผู้บันทึก ด้วยบันทึกการสังเกตการณ์นี้ทำโดยประชาชนที่นั่งอยู่ในฐานะผู้ร่วมสังเกตการณ์คดี การจดเป็นไปอย่างละเอียด คำถาม-คำตอบของฝ่ายต่างๆ ทั้งอัยการ ทนายความ และฝ่ายพยาน การให้พูดหรือไม่ให้พูดของศาล ระยะเวลาการสืบพยาน บรรยากาศ และบางรายละเอียดที่น่าสนใจในห้องพิจารณาคดี ล้วนถูกให้ความสำคัญบันทึกไว้เป็นข้อมูลของคดี

ก่อนรวมพิมพ์เป็นเล่ม บันทึกคดีขนาดยาวนี้เคยลงในเว็บไซต์ฐานข้อมูลในคดีเสรีภาพ (http://freedom.ilaw.or.th/case/61) การตีพิมพ์เป็นเล่มนอกจากจะทำให้อ่านได้ง่ายมากขึ้นกว่าในเว็บไซต์แล้ว ยังน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เมื่อคิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะได้เดินทางเข้าไปอยู่ในห้องสมุดของสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ

ก่อนหน้านี้ในคดีที่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ถูกฟ้องร้องในข้อหามาตรา 112 เมื่อปี 2534 ก็เคยมีการจัดพิมพ์รวบรวมเอกสารการดำเนินคดีนี้ในชั้นศาล ในชื่อ “พิพากษาสังคมไทย พิพากษาส.ศิวรักษ์: คู่มือศึกษาการดำเนินคดีอาญา” บันทึกคดีเล่มนั้นยังคงเป็นหลักไมล์หนึ่งในการศึกษาทำความเข้าใจคดีมาตรา 112 กระบวนการยุติธรรม รวมทั้งการทำความเข้าใจการเมืองไทยในช่วงเวลานั้น

เมื่อเวลาผ่านไป “สู้เพื่อเสรีภาพ” จึงน่าจะเป็นหนังสือเล่มสำคัญ ที่ช่วยในการศึกษาวิจัย ค้นคว้าทำความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ในกรณีสมยศ กระบวนการยุติธรรม และเรื่องราวของมาตรา 112 ในความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน

2

“คดี 112 บางแง่มุม” เป็นหนังสือทำมือเล่มที่รวบรวมข้อเขียนและบทบันทึกหลายชิ้นของ “นายกรุ้มกริ่ม” ที่เคยเขียนลงในบล็อกกาซีนของเว็บไซต์ประชาไท และบางชิ้นลงในเว็บไซต์ไอลอว์

ข้อเขียนเหล่านี้เป็นบันทึกเก็บตกจากการติดตามคดีในศาล ทั้งกรณีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาอย่างต่อเนื่องหลายคดี ทั้งคดีอากง, คดีหุ้นตกของคธา, คดีพี่ฟ้องน้องชาย, คดีบัณฑิต อานียา, คดีคุณลุงขายหนังสือกงจักรปีศาจ และคดีหนุ่ม เรดนนท์  

หาก “สู้เพื่อเสรีภาพ” เป็นบันทึกข้อเท็จจริงล้วนๆ ของการสืบพยานในคดีสมยศ หนังสือทำมือ “คดี 112 บางแง่มุม” เล่มนี้ ก็เป็นบันทึกเรื่องราวในศาลและห้องพิจารณาในคดีมาตรา 112 อย่างมีอารมณ์ความรู้สึกและความเป็นมนุษย์ ผ่านมุมมองของนักกฎหมายที่ทำประเด็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นคนหนึ่ง

ในท่ามกลางภาษากฎหมายฟังเข้าใจยาก กระบวนการยุติธรรมอันแห้งแล้งเย็นชาต่อผู้คน บทบันทึกเหล่านี้กลับพยายามที่จะบอกเล่าถึง “ความเป็นคน” ของจำเลยในคดีมาตรา 112 อาจเป็นได้ว่าข้อเขียนเหล่านี้คือการพยายามส่งคืนหัวจิตหัวใจของผู้คนเหล่านี้ ที่กระบวนการทางการกฎหมายและทัศนคติการเมืองกวาดกลบบดบังมันไว้ ให้ลุกขึ้นมาเต้นมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

และในอีกบางแง่ การลุกขึ้นมาทำหนังสือทำมือเล่มหนึ่งในท่ามกลางภาระหน้าที่การงานและสถานการณ์บ้านเมืองอันน่าวิตกของเพื่อนคนนี้ ก็ชวนให้ระลึกนึกถึงหัวจิตหัวใจในวัยวันสมัยยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย ที่หนึ่งในการเติบโตของพวกเรา เริ่มต้นขึ้นมาจากหนังสือทำมือเล็กๆ แบบนั้น

3

3 ปี สมยศ พิราบขาวในกรง” เป็นวารสารรายสะดวกฉบับที่ 2 ของกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย โดยในเล่มนี้รวบรวมข้อเขียน บทกวี และบทสัมภาษณ์ของหลายๆ คนที่เขียนถึงสมยศและประเด็นมาตรา 112

ตัวสมยศเองเขียนบทบันทึกจากเรือนจำ “3 ปีแล้วพ่อไม่ได้กลับบ้าน” ขณะที่ลูกชาย ไท ปณิธาน เขียนเรื่อง “พ่อของฉัน” บอกเล่าเรื่องราวของพ่อจากโลกภายนอก ด้าน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, วัฒน์ วรรลยางกูร, ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์, เพียงคำ ประดับความ, พิภพ อุดมอิทธิพงศ์, ปรวย Salty Head และจะเด็จ เชาวน์วิไล เขียนหลากหลายความคิด-ความรู้สึกต่อกรณีของสมยศ

ส่วน ตุลา คำลาวเขียนเรื่องสั้น “พิราบขาวในกรง” ธนาพล อิ๋วสกุล และวาด รวี เขียนวิจารณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดี ยังมีบทสัมภาษณ์สั้นๆ ของวรเจตน์ ภาคีรัตน์ และสุนัย ผาสุก รวมทั้งยังมีบทกวีใหม่ๆ ของกวีหลายคน แทรกอยู่เป็นระยะตลอดเล่ม

กล่าวได้ว่าวารสารเล่มนี้เป็นการร่วมแรงร่วมใจกันเขียน และบอกกล่าวเล่าเรื่องผู้ชายในกรงขังคนหนึ่ง ในโอกาสที่เขาต่อสู้ภายในนั้นมาครบ 3 ปี และกำลังรอคอยคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์อยู่ บางทีนี่คงเป็นหนึ่งในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่พอจะร่วมแรงร่วมใจกันทำได้ เพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของผู้ชายในกรงขังคนนั้น

4

3 ปีผ่านไป สมยศ พฤกษาเกษมสุข ยังคงสูญเสียอิสรภาพ หากเขายังเลือกจะยืนยันในความเป็นคนของตน โดยต่อสู้คดีและการจองจำต่อไปอย่างเข้มแข็ง

3 ปีผ่านไป ปรากฏหนังสือ ข้อเขียน บทสัมภาษณ์ หรือการเคลื่อนไหวจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ พูดถึงกรณีสมยศ และปัญหาในแง่มุมต่างๆ ของกฎหมายมาตรา 112 แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย  มิหนำซ้ำ ยังคล้ายกับว่าการข่มขู่คุกคามทางสังคมต่อผู้คนที่พูดเรื่องราวเหล่านี้ยังเพิ่มมากขึ้นด้วย กระนั้นก็ตามความตระหนักรู้ในปัญหาและความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ก็น่าจะเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยหนังสือเล็กๆ 3 เล่มนี้คงช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความตระหนักรู้นี้ได้บ้าง

3 ปีผ่านไปแล้ว...

 

ป.ล. ในวันพุธที่ 30 เม.ย.จะมีกิจกรรม 3 ปีของการจองจำสมยศ โดยการเข้าเยี่ยมสมยศพร้อมกัน ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เวลา 11.00 น. และการเปิดตัวหนังสือในโอกาสครบรอบ 3 ปีนี้ ที่โรงแรมโกลเด้นดรากอล (ตรงข้ามเดอะมอลล์งามวงศ์วาน) เวลา 13.00 น. สามารถหาซื้อหนังสือทั้งสามเล่มได้ในงานนี้

ศศิพิมล: “วันแม่” ปีที่สองที่แม่ยังอยู่ในคุก

ขณะที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา เป็นวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีผลกำหนดอนาคตของประเทศ แต่ก็เป็นวันครบรอบ 1 ปี ของคำพิพากษาคดีๆ หนึ่งที่มีผลกำหนดอนาคตชีวิตของครอบครัวๆ หนึ่งอย่างมหาศาล

“ลำบากน่ะ ลำบากมาก”: เสียงจากอดีตแม่ครัว จำเลยคดีครอบครองอาวุธในศาลทหาร

ผ่านไปเกือบจะครบสองปีแล้ว ตั้งแต่เธอถูกจับกุมดำเนินคดี...แต่คดียังไม่ได้เริ่มสืบพยานโจทก์เลยแม้สักปากเดียว

เสาวณี อินต๊ะหล่อ เคยทำงานเป็นแม่ครัวในร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน แต่บ้านที่เธออยู่อาศัยนั้นอยู่ที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่