6
สุวัฒน์ วรดิลก อดีตนักโทษคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในช่วงปี 2500 และผ่านการถูกคุมขังอยู่ในคุกเกือบ 5 ปี เคยบันทึกความรู้สึกต่อคุก ขณะเขาถูกย้ายจากเรือนจำลหุโทษ ไปยังเรือนจำลาดยาว ที่คุมขังนักโทษการเมืองในช่วงนั้น ไว้ว่า
“2 ปีเศษที่เราร่วมชีวิตกันมา (หมายถึงคุกลหุโทษหรือเรือนจำคลองเปรมเดิม--ผู้เขียน) มันช่างช้านานราว 20 ปี ใครว่ากาลเวลารวดเร็ว ไม่จริงหรอก เวลาในคุกทุกแห่งเหมือนกันหมด แต่ละนาทีเหมือนแต่ละชั่วโมง แต่ละวันเหมือนแต่ละเดือน และแต่ละเดือนเหมือนแต่ละปี...” [หนังสือ“ใต้ดาวแดง-คนสองคุก” (2521) หน้า 227]
เกือบ 50 ปีผ่านไป คุณพ่อของอดีตนักโทษในคดีเดียวกันนี้คนหนึ่ง เคยบอกกับผู้เขียนเมื่อถูกถามว่า ที่ลูกติดคุกไปเกือบ 2 ปีแล้ว รู้สึกว่านานไหม แกให้คำตอบคล้ายๆ กันว่า
“2 ปี ทุกวันนี้ไม่นาน พวกอยู่ข้างในซินาน กว่าจะผ่านไปหนึ่งนาที กว่าจะหมดไปได้ชั่วโมงหนึ่ง พวกอยู่ข้างในนี่นานกว่าจะค่ำ กว่าจะเที่ยง กว่าจะสว่าง เป็น 6 โมงเช้า เพิ่งได้ 1 วัน กว่าจะได้ 5 วัน 7 วัน กว่าจะครบเดือน ถ้าคนยิ่งท้อแท้อีก ก็ยิ่งนาน แต่เราอยู่ข้างนอก 6 ชั่วโมงก็เป็นเงินเป็นทอง ซื้อกับข้าว ต้องหาเงิน”
แกคงรู้สึกได้ว่าเวลาข้างในกับข้างนอกเดินไปไม่พร้อมกัน...
5
เนลสัน แมนเดอล่า อดีตผู้นำผิวดำของแอฟริกาใต้ เคยเป็นนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในคุกยาวนานที่สุดคนหนึ่ง ช่วงแรก เขาเคยเลือกแนวทางการต่อสู้ด้วยความรุนแรงเพื่อปลดปล่อยคนผิวดำให้เป็นอิสระจากนโยบายการเหยียดผิวอย่างสุดโต่ง จนกระทั่งถูกจับกุมและถูกพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตในข้อหาก่อวินาศกรรมเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ แต่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในแอฟริกาใต้ก็ทำให้ในที่สุดตัวเลขปีที่เขาติดคุกหยุดอยู่ที่ 27 ปี
เช่นเดียวกัน, แมนเดลา รู้สึกไม่ต่างกันกับผู้ติดคุกคนเล็กๆ คนอื่น เมื่อเขาเคยบอกว่าขณะถูกแยกขังเดี่ยวในคุกที่แอฟริกาใต้นั้น เขารู้สึกราวกับว่า “ทุกๆ ชั่วโมงดูยาวนานเป็นปี”
นักออกแบบท่านหนึ่งได้ออกแบบกราฟฟิคที่เล่าเรื่องราวการคุมขังแมนเดอล่าในคุก โดยใช้ตัวเลขสัญลักษณ์ในโปสเตอร์ใบนั้น คือ 02.11.90 เป็นวันที่ที่แมนเดอล่าได้รับการปล่อยตัว ขีดแต่ละขีดในรูปใช้จำลองแทนจำนวนวันที่เขาถูกจำขัง หนึ่งขีดแทนหนึ่งวัน รวมจำนวนจริงๆ แล้วที่แมนเดอล่าถูกคุมขังคือกว่า 9,500 วัน แต่ในโปสเตอร์ใบเล็กๆ ดูจะไม่สามารถขีดจำนวนขนาดนั้นได้หมด ส่วนช่องว่างในแถวสุดท้ายแสดงการไม่ต้องขีดนับวัน และได้รับการปลดปล่อย
ที่มุมขวาบนมีประโยคหนึ่งที่แมนเดอล่าเคยกล่าวไว้ เขียนไว้ว่า "In prison, you come face to face with time. There is nothing more terrifying."
ออกแบบโดย Jennifer Greening
ลองนึกภาพแต่ละวันที่คนซึ่งอยู่ในคุกต้องขีดแต่ละขีด เพื่อรอเวลาได้รับการปล่อยตัว ต่อให้อยากขีดเพิ่มขึ้นจนไปถึงจำนวนที่ครบกำหนดเพียงไหน ก็ไม่อาจขีดลงไปได้ เมื่อวันเวลาเหล่านั้นยังเคลื่อนไปไม่ถึง และบางที...ยิ่งต้องการขีดให้ครบเท่าไร เวลากลับยิ่งดูยาวนานออกไปในความรู้สึก
ใช่, คงเป็นดั่งที่ผู้อาวุโสบอก ในคุกนั้น คุณกำลังเผชิญหน้าตัวต่อตัวกับวันเวลา
4
คำถามที่น่าสนใจคือคุกหรือการถูกคุมขังได้ทำอะไรกับความรู้สึกหรือการรับรู้ต่อเวลาของผู้ที่คุมขัง? และอะไรบ้างที่ทำให้เวลาของคนในคุกดูยืดยาวออกไป?
“เวลา” ในชีวิตคนเราไม่ได้มีแต่เวลาแบบที่อยู่บนเข็มนาฬิกา แต่ยังมีเวลาแบบที่คนเรารับรู้หรือรู้สึก เป็นเวลาที่เกิดจากภายในตัวของเราเอง เวลาแบบนี้อาจแตกต่างกันท่ามกลางสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ต่างๆ คล้ายคำเปรียบเปรยที่เราได้ยินบ่อยๆ จากคำของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งพูดถึงทฤษฎีสัมพันธภาพและการรับรู้เวลาของคนเราว่า “เมื่อนั่งข้างๆ สาวสวยสองชั่วโมง มันดูเหมือนแค่สองนาที แต่ถ้านั่งบนเตาร้อนๆ สองนาที จะดูเหมือนยาวนานสองชั่วโมง”
กล่าวง่ายๆ คือเวลาไม่ได้มีเพียงแบบที่เดินอยู่บนเข็มนาฬิกาตามธรรมชาติ แต่มีเวลาที่เดินอยู่ในการรับรู้ของเราแต่ละคนอยู่ด้วย
ในหนังสือ “เรื่องลับๆ ของเวลา” (Time: A User’s Guide โดย Stefan Klein แปลโดยมธุรพจน์ บุตรไวยวุฒิ) ได้อธิบายถึงสภาวะจิตใจของคนเราว่ามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อเวลา ไม่ว่าในแง่ของการทำให้มันหดสั้นลงหรือขยายออก โดยในกรณีที่เรารู้สึกว่าเวลาขยายออกเกิดขึ้นในห้วงขณะที่เราหมกหมุ่นอยู่กับเวลา ซึ่งจะยิ่งทำให้เรารู้สึกว่ามันขยายออกไปมากขึ้น เช่น เมื่อเราป่วย เราไม่อาจรอให้หายป่วยไปเองได้ เราจึงจดจ่ออยู่กับเวลาที่ผ่านไปช้าๆ หรือเวลาเรารอคอย เราก็จะจดจ่ออยู่กับเวลาที่ยังมาไม่ถึง (หน้า 76)
นอกจากนั้น หนังสือเล่มนี้ยังอธิบายว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เวลาดูยาวนานออกไปจากความเป็นจริงสำหรับคนเรา คือความวิตกกังวล ในช่วงเวลาที่มีความวิตกกังวลสูง แต่ละคนจะหันไปใส่ใจกับสิ่งที่บอกข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนผ่านไปของแต่ละนาที ทุกคนมักปรับตัวให้เข้ากับเวลาที่ตัวเองต้องการ พวกเขาไม่อยากอดทนกับประสบการณ์ที่ไม่ดี จึงรับรู้เวลาในแบบ Slow-motion เวลาจึงดูเหมือนขยายออกและเพี้ยนจากความเป็นจริง (หน้า 74)
สภาวะที่ทั้งหมกหมุ่นกับเวลาและเผชิญความวิตกกังวลสูงๆ อย่างเช่นในหมู่ผู้ต้องขังในคุก ที่ดูเหมือนช่วงเวลาถูกจำคุกจะยืดขยายออกยาวนานเหมือนไม่สิ้นสุด
3
จากประสบการณ์พูดคุยกับนักโทษการเมือง โดยไม่เคยติดคุกเอง,
ผู้เขียนพบว่าตัวเลขจำนวนวันเดือนปีของการคุมขังที่ผู้ต้องขังแต่ละคนได้รับโทษทัณฑ์นั้น มีความหมายมาก นักโทษเกือบทุกคนสามารถคำนวณได้เป็นฉากๆ ว่าถ้าครบปีนี้ ตัวเลขที่เหลืออยู่จะถูกลดไปเท่านั้นเท่านี้ ถ้าชั้นนักโทษของตัวเองเป็นเท่านี้ อัตราส่วนของการพักโทษจะเป็นเท่าไร หักแล้วจะได้ออกจากคุกเมื่อไร บางคนตอบได้แม่นยำว่าเขาเข้าไปคุกวันที่เท่าไร ติดไปกี่ปี กี่เดือน กี่วันแล้ว จนดูเหมือนคุกจะทำให้พวกเขาและเธอจำเป็นต้องหมกหมุ่นกับเวลาอย่างละเอียดลออ นับกันเป็นวัน กระทั่งนับเป็นชั่วโมง
ส่วนหนึ่งคงมาจากโครงสร้างของการลงโทษเอง ที่วางอยู่บนฐานความมากน้อยของระยะเวลาจำคุก และระบบการหักลดเวลาต้องโทษตามชั้นของนักโทษ แต่อีกส่วนหนึ่งก็มาจากความรู้สึกของตัวนักโทษเอง
ผู้เขียนคิดว่าโลกของเวลาในคุกอาจมองได้ในสองมิติ คือ เวลาช่วงสั้นในระหว่างชีวิตประจำวัน เวลาส่วนนี้ในคุกจะอยู่ในลักษณะวนซ้ำซาก อันเกิดจากการบังคับควบคุมในกิจกรรมของคนคุกตามตารางเวลาที่กำหนด การถูกบังคับให้ตื่นกี่โมง ทำงานกี่โมง พักผ่อนกี่โมง กินข้าวกี่โมง ดำเนินไปอย่างซ้ำๆ ทุกวันเหมือนๆ กันเป็นกิจวัตร
มิติที่สองคือเวลาในช่วงยาว เวลาแบบนี้สำหรับนักโทษ คือเวลาของการรอคอย สำหรับบางคนเป็นไปได้ว่าเมื่ออยู่ในคุกเสมือนว่าเวลาในชีวิตของตนได้หยุดลง เวลาของชีวิตปกติไม่ได้เดินไปข้างหน้าอีกต่อไป
ทุกๆ วันในนั้นคือการรอคอย ตั้งแต่รอคอยญาติมาเยี่ยมในแต่ละวันแต่ละสัปดาห์ รอคอยข่าวสารจากภายนอก รอคอยจดหมายที่คนข้างนอกส่งเข้าไป รอคอยคำตัดสินหรือคำสั่งศาล ไปจนถึงที่สุดของการรอคอย คือรอคอยการได้พ้นโทษออกจากคุก ยิ่งคนที่โทษมากก็ยิ่งเป็นการรอคอยที่ยาวนานเป็นปีๆ ราวไม่มีสิ้นสุด
เวลาในคุกจึงดูจะซ้ำซาก หยุดนิ่ง ยาวนาน และอยู่ในสภาวะรอคอยไม่สิ้นสุด เวลาแบบนี้เดินไปพร้อมๆ กับเวลาภายนอก และมีผลต่อการรับรู้ของผู้ต้องขังในแต่ละขณะ
ความรู้สึกแรกๆ ของหลายคนเมื่อเข้าไปในคุก เมื่อเห็นสภาพสถานที่ที่เขาต้องอยู่ตามโทษของตน คือเกิดคำถามกับตัวเองว่าจะสามารถ “ทนได้” ถึง 4 ปี หรือถึง 10 ปี (ตามจำนวนโทษที่ได้รับ) ได้หรือไม่ หลายคนถึงกับคิดฆ่าตัวตาย ในระหว่างยังปรับตัวกับสภาพในคุก และ “โลกของเวลาแบบใหม่” ในคุกไม่ได้
แน่ละ, ในเมื่อยังเป็นมนุษย์ ไม่ใช่พระอรหันต์ ไม่ใช่ทุกคนจะสงบจิตสงบใจ สงบนิ่ง ทำใจให้อยู่กับสภาพที่เป็นอยู่ได้ตลอดระยะเวลาในสถานการณ์ของการถูกคุมขัง โดยเฉพาะช่วงเข้าไปใหม่ๆ แม้ร่างกายจะอยู่ในคุก แต่ความรู้สึกของเขาและเธอ กลับลอยไปยังโลกข้างนอก ต้องใช้เวลาพักใหญ่ๆ กว่าจะชินหรือปรับตัวได้บ้างกับเวลาแบบในคุก
อดีตนักโทษคนหนึ่งเล่าให้ผู้เขียนฟังว่าช่วงแรกๆ ในคุก เมื่อนอนหลับแล้ว เขาไม่เคยอยากตื่นจากฝัน เพราะเขามักฝันว่าได้ออกจากคุกและได้รับอิสรภาพแล้ว หากแต่เมื่อตื่นขึ้นมา เขากลับพบว่าตัวเองยังคงอยู่ในคุก เขาเล่าว่าเขาร้องไห้ในเวลาแบบนั้น...
2
นอกจากนั้นเวลาของคนข้างในยังสัมพันธ์กับเวลาภายนอก โดยเฉพาะนักโทษการเมืองที่มี “ความผิด” มาจากมูลเหตุจูงใจทางการเมืองแล้ว หลายคนเมื่อเคยอยู่ในโลกภายนอก มักติดตามข่าวสาร ติดตามการเมือง ติดตามการเคลื่อนไหวของโลกอยู่สม่ำเสมอ เมื่อเข้าไปภายในกลับถูกจำกัดการรับรู้ลง
คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข เคยบ่นให้ผู้เขียนฟังว่าเขาตามข่าวสารภายนอกไม่ค่อยทัน การวิเคราะห์ทำความเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ อาจจะช้าลงไป ขณะที่นักโทษการเมืองหลายคนอยากอ่านความคิดเห็นที่มีต่อพวกเขาและข่าวสารทางการเมืองจากโลกออนไลน์ ซึ่งคนภายนอกรับรู้รวดเร็วจนเหมือนเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับคนข้างในจดหมายใส่ซองยังเป็นช่องทางสื่อสารสำคัญอยู่วันยังค่ำ
ในแง่ของเครือญาติของผู้ต้องขังที่อยู่ภายนอก พวกเขาและเธอก็คงรับรู้ได้ถึงเวลาของญาติมิตรที่ติดในคุก และเวลาของตัวเขาเอง ที่ทั้งต้องรอคอยการปลดปล่อยญาติพี่น้องจากคุก ขณะก็ต้องจัดการเวลาภายนอกของตน ทำมาหากินเลี้ยงชีพ มีชีวิตรอดอยู่ได้โดยไม่มีคนข้างใน และก็ต้องจัดสรรเวลามาเยี่ยมที่เรือนจำ เพื่อรักษาเวลาในการอยู่ใกล้ชิดกันของครอบครัวเอาไว้อยู่บ้าง
ถ้าเรามองว่าการคุมขังจำคุกคนโดยไม่เป็นธรรมนั้น โดยเฉพาะหลายคนที่ถูกคุมขังโดยคดียังไม่ถึงที่สุด ยังไม่มีโทษจำคุกด้วยซ้ำ แต่ไม่ได้รับการประกันตัว เป็นความรุนแรงแบบหนึ่ง ผลของความรุนแรงนี้นอกจากทำให้เวลาจริงๆ ในชีวิตของพวกเขาที่จะได้อยู่ในโลกภายนอก ทำนู้นทำนี่อย่างมีอิสระเสรีหายไปแล้ว มันยังทำให้เวลาในความรู้สึกของคนที่ถูกคุมขังหยุดชะงักลง เปลี่ยนเวลาในการรับรู้ของคนๆ นั้นให้เป็นเวลาของการรอคอยที่ยาวนาน เหมือนไม่มีจุดสิ้นสุด และยังส่งผลต่อการรับรู้ข่าวสาร ความเปลี่ยนแปลง และการเคลื่อนไปของโลกภายนอก
ทุกๆ นาทีที่คนภายนอกอย่างเรากิน เรานอน เราเล่น เรามีเวลาว่าง และมีโอกาส “ฆ่าเวลา” แต่เวลาในโลกภายนอกของคนในคุกก็ดูเหมือนจะล่วงผ่าน และ “ตาย” ไปอย่างช้าๆ
1
หากใครเคยฟัง ป้าอุ๊ ภรรยาของอากง พูดในเวทีเสวนาหรือพูดในทางสาธารณะหลายๆ ครั้งหลังจากสามีของเธอเสียชีวิต คงได้ยินเสียงเธอเน้นย้ำให้ “พวกเรา” ช่วยกัน “กระชับเวลา” ของคนที่ยังคงติดอยู่ในคุก
“ดิฉันขอวิงวอนว่าอย่าให้มีการติดอีกเลย อยากจะให้กระชับเวลาให้ได้ออกมาเร็วไวกว่านี้ วันเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญนะค่ะ วันเวลากับครอบครัว ในขณะที่ผู้ต้องหาอยู่ในคุกเนี่ย วันเวลากับครอบครัวทุกวินาทีมีค่าทั้งนั้น ดิฉันจึงอยากจะวิงวอนผู้ที่ให้ได้ ให้โอกาสพวกเขา อย่าให้เวลามาพรากพวกเขาไป อย่าให้นานเกินไป ขอวิงวอนเพื่อที่เขาจะได้กลับมา มาทำสิ่งที่ดีๆ กับครอบครัว แล้วก็ให้สมกับที่ครอบครัวรอคอย”
0
บางทีเราก็ไม่รู้หรอก, การนับถอยหลังและรอคอยวันเวลาของใครบางคนทั้งข้างในและข้างนอกจะสิ้นสุดเมื่อวันใด หรืออาจสะดุดหยุดลงก่อนจะถึงเลขศูนย์หรือไม่ ศูนย์...ในฐานะเป็นวันที่ไม่ต้องนับถอยหลัง และได้รับการปลดปล่อย
บางทีเราก็ไม่รู้ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ควรชักช้าจนเกินไป จนการสะดุดหยุดลงนั้นเกิดขึ้นอีก