Skip to main content
 
 
บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ  บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับการประกาศใช้มาตรา 44 ของคสช.ครบรอบ 17 วัน (ประกาศใช้วันที่ 1 เมษายน ปีนี้)
 
 
ในเดือนเมษายน ปี 1945 ฮิตเลอร์ได้ย้ายเข้าอยู่ในบังเกอร์ ซึ่งอยู่ใต้ตึกบัญชาการในกรุงเบอร์ลินลึกลงไปราว 50 ฟุต บังเกอร์ใต้ดินนี้มี 2 ชั้น ประกอบด้วยห้องเกือบ 30 ห้อง ฮิตเลอร์จะประชุมกับบรรดานายพลทุกวันพร้อมกับรับทราบรายงานการใกล้เข้ามาของกองทัพโซเวียตอันไม่หยุดยั้ง เขาออกคำสั่งที่ไร้สาระในการปกป้องกรุงเบอร์ลินด้วยกองทัพที่ถูกกวาดออกไปแล้วหรือกำลังล่าถอยอย่างเร่งรีบไปทางตะวันตกเพื่อยอมแพ้ต่อกองทัพอเมริกัน ในวันที่ 22 เมษายน ระหว่างการประชุมเป็นเวลา 3 ชั่วโมงในบังเกอร์ ฮิตเลอร์กรีดร้องด่ากองทัพอย่างบ้าคลั่งและประณามผู้ที่ทอดทิ้งเขาว่าเป็นพวกทรยศขั้นร้ายแรง ฉ้อฉล สับปลับ และล้มเหลว ฮิตเลอร์อุทานว่า วาระสุดท้ายมาถึงแล้ว อาณาจักรไรซ์ของเขาคือความล้มเหลวและบัดนี้ไม่มีอะไรเหลืออยู่สำหรับเขานอกจากจะอยู่ในกรุงเบอร์ลินและสู้จนลมหายใจเฮือกสุดท้าย
 
บรรดาลูกน้องพยายามเกลี่ยกล่อมให้ฮิตเลอร์หลบหนีไปอยู่ที่ภูเขาแถวเบรชเตสกาเดน เพื่อบัญชาการกองทัพที่ยังเหลืออยู่ซึ่งจะทำให้อาณาจักรไรซ์ยังอยู่ต่อไปได้ ทว่าล้มเหลว ฮิตเลอร์บอกกับคนเหล่านั้นว่าการตัดสินใจของตนนั้นเป็นที่แน่นอนแล้ว เขาถึงกลับพยายามจะให้มีการประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาชวนเชื่อ โจเซฟ เกบเบิลส์ ก็ได้พาครอบครัวของตนซึ่งประกอบด้วยลูกเล็ก ๆ ถึง 6 คนเข้ามาอยู่กับฮิตเลอร์ในบังเกอร์ ฮิตเลอร์เริ่มต้นค้นเอกสารของตนเพื่อเลือกว่าชิ้นไหนจะต้องถูกเผาทำลาย
 
คนรอบข้างได้รับอนุญาตจากฮิตเลอร์ให้ไปจากบังเกอร์ได้ เกือบทั้งหมดทำตามและมุ่งหน้าไปทางใต้ซึ่งเป็นพื้นที่รอบเบรชเตสกาเดน โดยอาศัยขบวนรถบรรทุกและเครื่องบิน มีเพียงลูกน้องจำนวนหนึ่งที่ยังอยู่ในบังเกอร์ เช่นลูกน้องคนสนิทของฮิตเลอร์คือมาร์ติน บอร์มันน์ ครอบครัวของเกบเบิลส์ องครักษ์จากกองทัพและจากหน่วยเอสเอส เลขานุการ 2 คนของฮิตเลอร์ รวมไปถึงเพื่อนสาวคนสนิทของฮิตเลอร์คือเอวา บราวน์ 
 
วันที่ 23 เมษายน เพื่อนของฮิตเลอร์และรัฐมนตรีกระทรวงยุทธภัณฑ์ [ผลิตอาวุธ]คือ อัลเบิร์ต สเปียร์(1) ได้มาขอพบกับฮิตเลอร์เป็นครั้งสุดท้าย และได้แจ้งให้ท่านผู้นำทราบอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาไม่ได้ทำตามคำสั่งของฮิตเลอร์ที่ให้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในเยอรมัน นั้นคือยังคงรักษาโรงงานต่างๆ และอุตสาหกรรมสำหรับเยอรมันในช่วงหลังสงคราม ฮิตเลอร์รับฟังด้วยความเงียบงัน ไม่มีการแสดงออกใด ๆ ทำให้สเปียร์ประหลาดใจมาก ในช่วงบ่ายวันนั้น ฮิตเลอร์ได้รับโทรเลขจากเกอริงผู้ซึ่งไปถึงเขตปลอดภัยในเบรชเตสกาเดนเรียบร้อยแล้ว ดังนี้
 
 
ท่านผู้นำ 
 
จากการตัดสินใจของท่านที่จะอยู่ในบังเกอร์ในกรุงเบอร์ลิน ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่ว่าข้าพเจ้าจะรับช่วงต่อความเป็นผู้นำของอาณาจักรไรซ์ต่อจากท่านพร้อมด้วยอำนาจเต็มที่ในการสั่งการใด ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศในฐานะรองของท่าน ตามกฏหมายของท่านที่ออกเองเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ปี 1941 หากว่าไม่ได้คำตอบจากท่านหลังเวลา 10 นาฬิกาของคืนนี้ ข้าพเจ้าจะขอถือว่าท่านได้สูญเสียอำนาจในการสั่งการและจะถือกฏหมายของท่านฉบับนั้นเป็นหลักและจะทำการใด ๆ เพื่อผลประโยชน์อันสูงสุดของประเทศและประชาชนของเรา ท่านก็ทราบดีว่าข้าพเจ้ารู้สึกอย่างไรต่อท่านในเวลาอันเลวร้ายที่สุดของชีวิตข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถสรรหาคำใด ๆ มาอธิบายความคิดข้าพเจ้าได้ ขอให้พระเจ้าทรงปกป้องท่านและดลบันดาลใจให้ท่านเดินทางมาที่นี่ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
 
ยังภักดีอยู่เสมอ
 
แฮร์มันน์ เกอริง
 
 
ฮิตเลอร์เดือดดาลเป็นยิ่งนักและได้รับการแนะนำจากบอร์มันน์ให้ส่งโทรเลขกลับไปหาจอมพลเกอร์ริงเพื่อจะบอกว่า เกอริงได้ทำการทรยศอย่างร้ายแรง แม้ว่าโทษของเขาจะถึงตายแต่เนื่องจากได้รับใช้ฮิตเลอร์มาแสนนาน ถ้าเกอริงจะลาออกจากทุกตำแหน่งก็จะได้รับการยกเว้นโทษ บอร์มานน์ได้ออกคำสั่งให้กับพวกเอสเอสที่อยู่ใกล้เบรชเตสกาเดน เพื่อจับกุมเกอริงและลูกน้อง ก่อนรุ่งสางของวันที่ 25 เกอร์ริงถูกจับขังไว้ (2)
 
วันต่อมาคือวันที่ 26 เมษายน บรรดาปืนใหญ่ของกองทัพโซเวียตได้ทำการโจมตีตึกบัญชาการโดยตรงเหนือบังเกอร์ของฮิตเลอร์ ในเย็นวันนั้นเครื่องบินขนาดเล็กที่ขับโดยนักบินฝึกหัดหญิงนามว่าฮันนา ไรตซ์และผู้โดยสารคือนายพลประจำกองทัพอากาศคือริตเตอร์ ฟอน ไกร์มได้ร่อนลงถนนใกล้ ๆ บังเกอร์อย่างอาจหาญ โดยท่านนายพลได้รับบาดเจ็บที่เท้าจากการระดมยิงภาคพื้นดินของของกองทัพโซเวียต ภายในบังเกอร์นั้นเอง นายพลไกร์มได้รับการแต่งตั้งจากฮิตเลอร์ให้สืบทอดตำแหน่งแทนเกอริง นั้นคือได้เลื่อนขั้นเป็นจอมพลที่บัญชาการกองทัพอากาศของเยอรมัน ถึงแม้ฮิตเลอร์จะสามารถแจ้งให้ไกร์มทราบทางโทรเลขก็ได้ ทว่าท่านผู้นำต้องการให้เขามาพบด้วยตัวเองเพื่อรับทราบภารกิจนี้ แต่เนื่องจากเท้าที่บาดเจ็บ ไกร์มกลับต้องนอนซมเป็นเวลา 3 วันในบังเกอร์(3)
 
ในคืนวันที่ 27 เมษายน พวกโซเวียตได้ระดมทิ้งระเบิดลงตึกกองบัญชาการอย่างหนักหน่วงที่สุดเท่าที่เคยมีมาก และมีจำนวนมากที่โดนตัวตึกอย่างจัง ฮิตเลอร์ได้ส่งโทรเลขที่ไร้สาระไปยังจอมพลไคเทล ให้เข้ามาปลดปล่อยกรุงเบอร์ลินด้วยกองทัพ (ที่บัดนี้ไม่มีตัวตนอยู่อีกแล้ว) และแล้วฟางเส้นสุดท้ายก็มาถึงเมื่อวันที่ 28 ฮิตเลอร์ได้รับทราบจากกระทรวงโฆษณาชวนเชื่อของเกบเบิลส์ว่า หน่วยข่าวของอังกฤษรายงานว่า ผู้บังคับบัญชาหน่วยเอสเอสคือไฮน์ริค ฮิมม์เลอร์ (4) ได้พยายามเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรและถึงกลับจะให้กองทัพเยอรมันยอมแพ้ต่อตะวันตกกับนายพลไอเซนฮาวร์
 
ตามคำของพยานที่อยู่ในบังเกอร์ ฮิตเลอร์ "โกรธจัดเหมือนคนบ้า" พร้อมด้วยอาการเดือดดาลที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน ฮิมม์เลอร์นั้นทำงานให้ฮิตเลอร์มาตั้งแต่เริ่มต้นจนได้ชื่อว่าเป็น "der treue Heinrich"(ไฮน์ริคผู้ซื่อสัตย์) ด้วยการรับคำสั่งในการเข่นฆ่าปรปักษ์อย่างโหดเหี้ยมเป็นเวลาหลายปีเพื่อท่านผู้นำซึ่งบัดนี้ได้ออกคำสั่งให้จับกุมเขาเสียแล้ว เพื่อการแก้แค้นโดยฉับพลัน ฮิตเลอร์ได้ออกคำสั่งให้จับกุมลูกน้องคนสนิทของฮิมม์เลอร์ที่อยู่ในบังเกอร์คือพลโทเฮอร์มันน์ เฟเกไลน์ ประจำหน่วยเอสเอสผู้เป็นสามีของน้องสาวอีวา บราวน์ และนำเขาขึ้นไปยังสวนของตึกบัญชาการเพื่อยิงทิ้ง
 
 
 
 
 
 
(ฮิตเลอร์ในช่วงใกล้วาระสุดท้ายขณะแสดงความชื่นชมต่อทหารเด็กที่ช่วยปกป้องกรุงเบอร์ลินจากการรุกรานของกองทัพโซเวียตอย่างกล้าหาญ)
 
ภาพจาก www.pinterest.com
 
 
 
บัดนี้เมื่อถูกทอดทิ้งจากทั้งเกอริงและฮิมม์เลอร์ รวมไปถึงการรุกรานของกองทัพโซเวียตจนมาถึงกรุงเบอร์ลินแล้ว ฮิตเลอร์ได้เตรียมพร้อมสำหรับวาระสุดท้ายของตน เย็นวันที่ 28 เขาได้เขียนพินัยกรรมเป็นครั้งสุดท้ายและยังเขียนคำสั่งเสียทางการเมืองซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน เพื่อบรรยายความรู้สึกที่เขาเคยเขียนลงในหนังสือ "การต่อสู้ของข้าพเจ้า" (Mein Kampf)  ในช่วงระหว่างปี 1923-1924 เขามุ่งที่จะโยนความผิดไปให้ชาวยิวสำหรับทุกสิ่งรวมไปถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขายังได้อ้างอิงไปถึงการคุกคามของเขาต่อชาวยิวในปี 1939 พร้อม กับบอกเป็นนัย ๆ ถึงห้องรมควันพิษที่เกิดจากการคุกคามนั้นและ ...
 
"นอกจากนี้ข้าพเจ้าจะสร้างความกระจ่างว่าเวลานี้ไม่ใช่เพียงแค่ลูกหลานของเผ่าอารยันเป็นล้าน ๆ จะตายเพราะความอดอยาก ไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่นับล้านจะทรมาณจากความตาย และไม่เพียงแค่ผู้หญิงและเด็กหลายแสนคนจะถูกเผาหรือตายจากระเบิดที่ทิ้งในเมือง โดยปราศจากอาชญากรที่จะรับโทษทัณฑ์นี้ แม้การฆ่าจะเป็นแบบมีอารยธรรมยิ่งกว่า"
 
 
ก่อนเที่ยงคืน ฮิตเลอร์แต่งงานกับเอวา บราวน์โดยมีพิธีแบบพลเรือนเพียงสั้น ๆ และก็มีการฉลองการแต่งงานนี้ในห้องของเขาเอง แชมเปญถูกนำมาแจกจ่าย ผู้ซึ่งอยู่ในบังเกอร์ก็รับฟังฮิตเลอร์รำพันถึงอดีตอันแสนหวาน ฮิตเลอร์สรุปว่าความตายจะช่วยปลดปล่อยเขาภายหลังที่ถูกทรยศโดยเพื่อนและผู้สนับสนุนเก่าแก่ บ่ายของวันที่ 29 เมษายน กองทัพโซเวียตได้คืบคลานห่างจากบังเกอร์ของฮิตเลอร์เพียงไมล์เดียว และคนในบังเกอร์ได้ทราบข่าวล่าสุดจากโลกภายนอกถึงความหายนะและความตายของมุสโสลินี ผู้ซึ่งถูกจับกุมตัว ยิงเป้าและถูกแขวนห้อยหัว ก่อนที่จะถูกทิ้งลงไปในท่อระบายน้ำโดยนักรบใต้ดินอิตาลี
 
ฮิตเลอร์บัดนี้เตรียมพร้อมแล้วสำหรับจุดจบโดยการทดลองยาพิษกับสุนัขตัวโปรดของเขาที่ชื่อบลอนดี เขายังมอบแคปซูลยาพิษให้กับเลขานุการหญิงของเขาและขอโทษว่าเขาไม่สามารถให้ของขวัญยามจากกันที่ดีกว่านี้ พวกเธอสามารถใช้มันได้หากพวกโซเวียตบุกเข้ามาในบังเกอร์ ประมาณ 2.30 น.ของเช้ามืดวันที่ 30 ฮิตเลอร์ได้ออกมาจากห้องมากล่าวคำอำลากับพวกลูกน้อง เขาจับมือกับคนเหล่านั้นด้วยคราบน้ำตาและความเงียบ เมื่อฮิตเลอร์จากไป ทุกคนก็ขบคิดถึงเหตุการณ์สำคัญที่พวกเขาเพิ่งประสบพบ ความตึงเครียดมหาศาลที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ได้จางหายไปเมื่อพวกเขารู้ว่าฮิตเลอร์ใกล้ถึงจุดจบแล้ว พวกเขาถอนหายใจและตามด้วยการแสดงความยินดีเช่นเต้นรำ
 
ตอนเที่ยง ฮิตเลอร์เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์ของการสู้รบเป็นครั้งสุดท้ายและได้ทราบว่ากองทัพโซเวียตอยู่ห่างออกไปแค่ช่วงตึกเดียวเท่านั้น เวลาบ่าย 2 ฮิตเลอร์นั่งรับประทานอาหารซึ่งเป็นมังสวิรัตเป็นมื้อสุดท้าย คนขับรถของเขารับคำสั่งให้ไปหาน้ำมันมา 200 ลิตรมายังสวนของตึกบัญชาการ ฮิตเลอร์และภรรยาคือเอวาได้กล่าวคำอำลากับบอร์มันน์ เกบเบิลส์ นายพลเกรบส์ และเบิร์กดอร์ฟ รวมไปถึงทหารองครักษ์และบรรดาลูกน้องเป็นครั้งสุดท้าย และฮิตเลอร์กับภรรยาก็ได้เข้าไปในห้องส่วนตัวในขณะที่บอร์มันน์และเกบเบิลส์ยืนอยู่เงียบ ๆ ข้างนอก สักครู่พวกเขาก็ได้ยินเสียงปืนพกแต่ต้องรออีกสักพัก จนเมื่อเวลา 15.30 น.ทั้งคู่ก็ได้เข้าไปและพบศพของฮิตเลอร์นอนเหยียดอยู่บนโซฟาชุ่มไปด้วยเลือดที่เกิดจากรอยกระสุนบนขมับด้านขวาของเขา ส่วนเอวา บราวน์ตายจากการกินยาพิษ ในขณะที่เสียงปืนใหญ่จากโซเวียตดังมาตกใกล้ ๆ ศพของคนทั้ง 2 ก็ถูกนำขึ้นไปยังสวนของตึกบัญชาการ ถูกราดด้วยน้ำมันและเผาไฟ ส่วนบอร์มันน์ (5)และเกบเบิลส์ยืนอยู่ใกล้ๆ แล้วทำความเคารพครั้งสุดท้ายแบบนาซี  3 ชั่วโมงต่อมาศพก็ถูกราดซ้ำด้วยน้ำมันเพื่อเผาอีก ซากที่เหลือก็ถูกโกยลงในผ้าใบและถูกนำไปฝังไว้ในหลุมที่เกิดจากกระสุนปืนใหญ่ เมื่อท่านผู้นำได้จากไปแล้ว ทุกคนในบังเกอร์ก็หันมาสูบบุหรี่ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ฮิตเลอร์สั่งห้ามทำเวลาอยู่ต่อหน้า พวกเขายังร่วมกันวางแผนอันอาจหาญ(แต่ไร้ผล) ที่จะหลบหนีออกจากกรุงเบอร์ลินเพื่อหลบหนีจากการจับกุมของพวกแดง 
 
วันต่อมาคือวันที่ 1 พฤษภาคม เกบเบิลส์และภรรยาก็ได้จัดการวางยาพิษลูกทั้ง 6 ของตนจนเสียชีวิตหมด จากนั้นพวกเขาก็ขึ้นไปยังสวนของตึกบัญชาการและขอร้องให้พวกเอสเอสยิงที่ท้ายทอยจนเสียชีวิตทั้งคู่ (6) และศพก็ถูกเผา ทว่าได้แค่บางส่วนเท่านั้นแถมยังไม่ทันได้ฝัง ซากที่ดำไหม้ของคนทั้งคู่ถูกค้นพบโดยทหารโซเวียตในวันต่อมา และถูกถ่ายเป็นภาพยนตร์ไว้ ซากศพของเกบเบิลส์จึงมักกลายเป็นสัญลักษณ์ที่เห็นกันบ่อยครั้งแทนมรดกของอาณาจักรไรซ์ของฮิตเลอร์
 
 
 
 
 
             
 
   
             (ข้างบนของบังเกอร์ฮิตเลอร์ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง)
 
 
 
 
....................................................................
 
หมายเหตุจากผู้แปล
 
 
(1) อัลเบิร์ต สเปียร์ต่อมาถูกจับขึ้นศาลนูเริมเบิร์กในฐานะอาชญากรสงครามและถูกพิพากษาให้ติดคุกสปานเดาในเยอรมันตะวันออกเป็นเวลา 20 ปี
 
(2) ฮิตเลอร์สั่งให้นายทหารเอสเอสยิงเกอริงทิ้งแต่โชคดีนายทหารคนนั้นไม่กระทำตาม เกอริงหนีไปมอบตัวกับฝ่ายสัมพันธมิตรและถูกจับขึ้นศาลนูเรมเบิร์กในฐานะอาชญากรสงครามได้รับการพิพากษาให้ประหารชีวิตโดยการแขวนคอ แต่เกอริงชิงฆ่าตัวตายโดยการกินยาพิษเสียก่อน 
 
(3) จอมพลริตเตอร์ ฟอน ไกร์มต่อมาตกเป็นนักโทษของฝ่ายสัมพันธมิตรแต่ทราบว่าสัมพันธมิตรอาจจะแลกเปลี่ยนนักโทษกับฝ่ายโซเวียตซึ่งใช้วิธีทรมาณนักโทษแบบทารุณเลยชิงฆ่าตัวตายเสียก่อน
 
(4) ฮิมม์เลอร์แอบปลอมตัวหนีออกไปจากกรุงเบอร์ลินแต่ถูกจับได้เลยชิงกินยาพิษฆ่าตัวตายเสียก่อนจะถูกสอบสวน แน่นอนว่าในอนาคตเขาต้องมีชะตากรรมเหมือนอาชญากรสงครามคนอื่น ๆ ที่ถูกจับแขวนคอ
 
(5) บอร์มันน์หนีออกจากบังเกอร์ในวันที่ 1 พฤษภาคม มีพยานบอกว่าเขาเสียชีวิตแล้วแต่ก็ยังมีรายงานและข่าวลือกันหนาหูว่าเขายังมีชีวิตอยู่ บางคนบอกว่าเขาแอบหนีไปใช้ชีวิตอย่างมีความสุขที่อเมริกาใต้
 
(6) บางแหล่งบอกว่าเกบเบิลส์เป็นคนลงมือเองนั้นคือใช้ปืนยิงภรรยาก่อนและยิงตัวตายตามอย่างเช่นในหนัง Der Untergang
        
 
 
 
 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เขียนงานเขียนในรูปแบบต่างๆ  คือนวนิยาย เรื่องสั้นหรือแม้แต่บทละครมานานก็เลยอยากจะชี้แจ้งให้ท่านผู้อ่านเข้าใจว่าเนื่องจากเป็นงานเขียนแบบงานดิเรกหรือแบบนักเขียนสมัครเล่นอย่างผม จึงต้องขออภัยที่มีจุดผิดพลาดอยู่ เพราะไม่มีคนมาตรวจให้ ถึงผมเองจะพยายามตรวจแล้วตรวจอีกก็ยังมีคำผิดและหลักไวยากรณ์อยู่
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The Spook Radio (part 2)ภาค 2 ของดีเจอ้นซึ่งเป็นดีเจรายการที่เปิดให้ทางบ้านมาเล่าเรื่องสยองขวัญหรือเรื่องเหนือธรรมชาติ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก The Shock และ The Ghost  (Facebook คนเขียนคือ Atthasit Muang-in)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
(เรื่องสั้นสยองขวัญภาษาอังกฤษเรื่องนี้ลอกมาจากเรื่องสั้นของราชาเรื่องสยองขวัญของเมืองไทย ครูเหม เวชากร ตัวเอกคือนายทองคำ เด็กกำพร้าอายุ 12 ขวบที่อาศัยอยู่กับยายและญาติในชนบทของไทยในช่วงเวลาประมาณ พ.ศ.2476)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The lingering sunlight from the dawn kissed my eyelids and I could hear faintly the flock of big birds, whose breed was unbeknownst to me, chirping merrily outside window ,as if to greet the exuberant face of a new day.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเกี่ยวกับนักเขียนวัยกลางคนที่มีความหลังอันดำมืดและความสัมพันธ์กับดาราสาวผู้มีพลังจิต 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของรปภ.หนุ่มผู้ค้นหาภูติผีปีศาจในตึกที่ลือกันว่าเฮี้ยนที่สุด  เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากรายการ The Ghost Radio(the altered version)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของผู้ชาย 3 คนที่ขับรถบรรทุกแล้วต้องเผชิญกับผีดูดเลือด 3 Friends and The Ghosts                                                (1)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
This short novel is about a guy who works as a DJ for the radio program 'The Spook Radio', famous for its allowing audience to share their thrilling experiences or tales about the superstitious stuffs, especially the ghosts, via telephones.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเรื่องนี้เกี่ยวกับคนไทยที่ใช้ชีวิตในเยอรมันช่วงพรรคนาซีเรืองอำนาจ  เขียนยังไม่จบและยังไม่มีการ proofreading แต่ประการใด                     Chapter 1  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้มาจาก facebook  Atthasit Muangin สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มหาศาสดาผู้ลี้ภัยอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ในฐานะเป็นเอตทัคคะหรือผู้เป็นเลิศในเรื่องเจ้า (The royal affairs expert)  พบกับการวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีอย่างมากมายจากบรรดาแฟนคลับหรือคนที่แวะเข้ามาในเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 (มีบทความอื่นอีกมากมายในเฟซบุ๊คของผมคือ Atthasit Muang-in) 1.สลิ่มไม่ชอบอเมริกาและตะวันตกซึ่งคว่ำบาตรและมักท้วงติงไทยหลังรัฐประหารปี 2557  ในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยพวกสลิ่มเห็นว่าทั้งสองฝ่ายเป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอกเช่นเคยบุกประเทศอื่น