The Ugly American: ชาวอเมริกันผู้น่าเกลียดและเมืองสารขัณฑ์

 สหรัฐอเมริกาต้นทศวรรษที่ 60 ถือได้ว่าอยู่ในช่วงสำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของสงครามเย็นนั้นคือวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missile Crisis) ที่รัฐบาลฟีเดล คาสโตรยินยอมให้สหภาพโซเวียตนำขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์มาตั้งไว้ในคิวบาเมื่อปี 1962 จนนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่าง 2 มหาอำนาจและเกือบทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3  สำหรับในปี 1963 นี้เองที่ภาพยนตร์เรื่อง The Ugly American ถูกนำออกมาให้ชาวโลกได้ยลโฉมก่อนประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนนาดีจะถูกลอบสังหารไม่กี่เดือน ที่น่าประหลาดใจก็คือถึงแม้ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นคำด่าว่า "ชาวอเมริกันผู้น่าเกลียด" แต่ภาพยนตร์ถูกสร้างโดยคนในวงการฮอลลีวูดเองซึ่งมักจะเยินยอรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่เป็นนิจในทศวรรษที่ 40 และ 50 ภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งมีผู้กำกับภาพยนตร์เป็นคนอเมริกันคือจอร์จ อิงลันด์ได้สร้างมาจากนิยายของนักเขียนอเมริกันคือ ยูจีน เบอร์ดิกและวิลเลียม เลเดอร์เรอร์ (ตีพิมพ์ออกมาในปี1958) และเป็นคนอเมริกันอีกเช่นกันที่แห่มาซื้อจนได้เป็น best seller หรือขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และชื่อเรื่องที่ด่าอเมริกันนี้หาใช่เป็นการตั้งชื่อแบบตรงกันข้ามแต่เนื้อเรื่องเชิดชูตัวเองไม่เพราะเป็นการวิพากษ์นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯแบบตรงไปตรงมาอันเป็นการสะท้อนว่า “ยุคเงียบ” ของสหรัฐฯ หรือยุคล่าแม่มดที่นำโดยวุฒิสมาชิกโจเซฟ แม็คคาร์ธี ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 50  กำลังหมดอิทธิพลไปพร้อมกับบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของพวกเสรีนิยมโดยเฉพาะพวกต่อต้านสงคราม อย่างไรก็ตามภาพยนตร์เรื่องนี้กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าไรนักเมื่อถูกนำออกฉาย

 

 

                             

 

                                  ภาพจาก  www.moviepostershop.com

 

 

     The Ugly American เป็นเรื่องของนักวิชาการหนุ่มนามว่าแฮร์ริสัน คาร์เตอร์ แม็คไวท์ (รับบทโดยมาร์ลอน แบรนโด)  ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศสารขัณฑ์หลังจากต้องต่อสู้อย่างหนักหน่วงขณะให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภา สำหรับสารขัณฑ์เป็นประเทศที่ถูกสมมติขึ้นว่าตั้งอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่อาศัยภาพลักษณ์ของไทยอย่างไม่เป็นทางการเพราะใช้ฉากในเมืองไทยและมีภาษาพูดหลักคือภาษาไทย แถมยังมีมารยาทคือการไหว้ทักทายกัน ในช่วงที่แม็คไวท์เดินทางมานั้นเป็นช่วงที่กระแสชาตินิยมของชาวสารขัณฑ์กำลังถึงจุดสูงสุดโดยมีเป้าหมายหลักคือต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกันถึงขั้นที่มีการก่อการร้ายสะกัดกั้นไม่ให้รัฐบาลร่วมทุนกับสหรัฐฯในการสร้างถนนมิตรภาพสำเร็จ ผู้นำขบวนการชาตินิยมมีนามว่าแดง (รับบทโดยนักแสดงญี่ปุ่น เออิจิ โอกาดา) ซึ่งเคยเป็นเพื่อนเก่ากับแม็คไวท์ในช่วงที่เป็นพวกใต้ดินต่อสู้กับญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และทางการสหรัฐฯกล่าวหาว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์แต่แม็คไวท์ไม่ปักเชื่อใจนัก

 

เมื่อแม็คไวท์กับภรรยาพร้อมคณะเดินทางมาถึงสนามบินของประเทศสารขัณฑ์ ชาวบ้านหลายพันคนก็ได้มาร่วมชุมนุมประท้วงการมาของเขาจนถึงขั้นจลาจล แต่พวกเขาก็ได้รับการช่วยเหลือจากทหารของรัฐบาลเสียก่อนจะถูกประชาทัณฑ์ หลังจากแม็คไวท์ได้เข้าพำนักในสถานทูตแล้วก็ได้แอบหนีภรรยามาพบกับแดงเพื่อนเก่าเพื่อเกลี่ยกล่อมผู้นำหัวรุนแรงให้ยอมประนีประนอมกับรัฐบาล แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็มาทะเลาะกันเพราะแดงมีเจตจำนงอันแรงกล้าในการขับไล่สหรัฐฯ ออกไปจากประเทศและโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ  กระนั้นที่น่าจะกล่าวถึงคือจุดศูนย์กลางแห่งความเกลียดชังของชาวสารขัณฑ์อย่างเช่นนายกรัฐมนตรี ขวัญ ไซ (การถอดชื่อภาษาไทยเป็นของผมเอง) และผู้มารับบทบาทนี้คือม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชซึ่งน่าจะเป็นคนไทยจริงๆ เพียงคนเดียวในเรื่องที่มีบทพูดเป็นกิจจะลักษณะที่สุด  ในที่สุดแดงซึ่งไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ก็ได้ไปขอความช่วยเหลือจากพวกคอมมิวนิสต์ในการนำประชาชนก่อการปฏิวัติโค่นล้มขวัญไซโดยหารู้ไม่ว่าเขากำลังเผชิญหน้ากับอันตรายอันใหญ่หลวง....เป็นที่น่าสนใจว่าภาพยนตร์มีการเอ่ยชื่อประเทศคอมมิวนิสต์อย่างชัดเจนไม่ว่าจีนแดงและโซเวียตและแสดงท่าทางประเทศเหล่านั้นว่าเป็นผู้ร้าย ดังนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้จึงไม่ได้เข้าข้างคอมมิวนิสต์และก็ไม่เข้าข้างสหรัฐฯ สาเหตุเป็นไปได้ว่าพวกอเมริกันหัวเสรีนิยมในยุคนั้นเองก็กลัวจะถูกโจมตีว่าเข้าข้างพวกคอมมิวนิสต์ อันจะนำพวกเขาไปสู่ปัญหากับทางการก็ได้ 

 

สำหรับคนที่เป็นพวก Nostalgia คือชอบระลึกความหลังเก่าน่าจะหาภาพยนตร์เรื่องนี้มาดูต่อเป็นอย่างยิ่งเพราะจะได้เห็นกรุงเทพมหานครในยุคเก่าๆ เช่นตลาดน้ำ และวัดพระแก้วที่ภาพยนตร์สมมติให้เป็นวังที่กษัตริย์ของสารขัณฑ์ทรงประทับอยู่ รวมไปถึงได้เห็นแบรนโดยกมือไหว้พร้อมกับกล่าวสวัสดีกับเด็กชาวสารขัณฑ์ตัวเล็ก ๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้โด่งดังในเมืองไทยมากจนทำให้สื่อมวลชนและบรรดานักเขียนในเมืองไทยมักใช้คำว่า “สารขัณฑ์” เป็นคำล้อเลียนกึ่งประชดประชันการเมืองของตัวเองจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามชื่อนี้ผมคิดว่าคงไม่ได้อยู่ในความทรงจำหรือความสนใจของชาวต่างประเทศเท่าไรนัก

 

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้ที่มีบทบาทการแสดงอันโดดเด่นก็คือมาร์ลอน แบรนโดนั่นเอง  แบรนโดก่อนหน้านี้มักได้รับบทบาทของหนุ่มห้าวผู้ขบถต่อสังคม ดังนั้นในเรื่องนี้บุคลิกของเขาจึงดูขัดอยู่บ้างสำหรับบทบาทของผู้มีตำแหน่งใหญ่โต แต่ด้วยความสามารถของการเป็นนักแสดงชายระดับแถวหน้าของฮอลลีวูดก็ได้ทำให้เขายังคงเป็นจุดศูนย์กลางของภาพยนตร์ได้จนจบ  เป็นที่น่าสนใจว่าแบรนโดน่าจะนำรูปแบบการแสดงเช่นนี้ไปใช้กับเรื่อง The Godfather ในอีก 10 ปีต่อมา ส่วนแดงนั้น ผมเกิดความสงสัยว่าภาพยนตร์ได้จำลองภาพมาจากผู้นำทางการเมืองคนใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ? ผู้ที่น่าจะใกล้เคียงมากที่สุดคือปรีดี พนมยงค์ซึ่งถึงแม้จะถูกสหรัฐฯ สงสัยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ว่าเป็นพวกคอมมิวนิสต์จนเป็นสาเหตุให้สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนคณะรัฐประหารซึ่งโค่นล้มรัฐบาลของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ผู้เป็นลูกน้องของปรีดีในปี 1947 (พ.ศ.2490)   กระนั้นปรีดีก็ไม่ได้อยู่ในเมืองไทยตั้งแต่การทำรัฐประหารในครั้งนั้น  อีกทั้งอดีตมันสมองของคณะราษฎรก็ไม่ได้มีบุคลิกเป็นพวกปลุกระดมมวลชนแบบแดงแต่ประการใด นอกจากนี้บรรยากาศทางการเมืองในประเทศสารขันฑ์ก็ไม่ได้สะท้อนภาพของสังคมไทยนักเพราะกระแสต้านอิทธิพลของสหรัฐฯ ของไทยก็ไม่ได้รุนแรงและเป็นรูปธรรมมากเท่าใดนักจนกว่าจะถึงช่วงปลายสงครามเวียดนามคือในช่วงทศวรรษที่ 70 ที่คนไทยจำนวนมากโดยเฉพาะนักศึกษาเริ่มสำนึกได้ว่าสหรัฐฯ เข้ามาละเมิดอธิปไตยของชาติตน สำหรับผู้นำทางการเมืองคนอื่นอย่างเช่นซูการ์โนแห่งอินโดนีเซียก็ไม่น่าจะใช่เพราะถึงแม้จะฝักใฝ่พรรคคอมมิวนิสต์ แต่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำของรัฐบาลคือประธานาธิบดี (ต่อมาซูการ์โนถูกโค่นโดยซูฮาร์โตในปี 1967 ด้วยสาเหตุแห่งการฝักใฝ่นี้เอง)  ส่วนโฮจีมินห์แห่งเวียดนามก็น่าจะมีส่วนอยู่บ้างแต่ในช่วงปลายทศวรรษที่ 50 เขาเป็นผู้นำของเวียดนามเหนือซึ่งอยู่แยกจากเวียดนามใต้ไปแล้วไม่ใช่ผู้นำที่อยู่ปะปนกับประชาชนในเมืองเหมือนกับเดียง  ผมจึงขอเดาว่า "แดง" น่าจะเป็นภาพผสมของใครหลายๆ คนที่เป็นผู้นำมวลชนฝ่ายซ้ายของประเทศโลกที่ 3  ดังนั้นเป็นไปได้ว่าผู้เขียนนวนิยายเรื่องนี้ก็อาจไปเอาข้อมูลมาจากผู้นำของประเทศในทวีปแอฟริกาและละตินอเมริกาอีกด้วยซึ่งคนเหล่านั้นอาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก

 

กระนั้นสารัตถะของภาพยนตร์ไม่ใช่การบอกว่าใครเป็นใคร เพราะภาพยนตร์ต้องการจะบอกว่าผู้นำมวลชนของประเทศในประเทศโลกที่ 3 มีเจตนาดีต่อประเทศชาติแต่ต้องตกเป็นเครื่องมือของประเทศมหาอำนาจคือสหรัฐฯ หรือสหภาพโซเวียต ดังเช่นสหรัฐฯเห็นว่าคนเหล่านั้นเป็นคอมมิวนิสต์จึงไม่ให้การช่วยเหลือ พวกเขาจึงต้องไปขอความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตหรือจีน[i] ทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้จึงมีชื่อว่า "ชาวอเมริกันผู้น่าเกลียด" ? ก็เพราะภาพยนตร์ต้องการประณามนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่มีต่อประเทศด้อยพัฒนาอย่างเช่นสารขัณฑ์ว่าเกิดจากความกร่างและหลงตัวเองแถมยังมุ่งเน้นไปที่ความฉาบฉวย ไม่เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของเจ้าประเทศ เช่นสนับสนุนให้รัฐบาลสร้างถนนและเน้นพิธีเปิดอย่างอลังการเพื่อทำให้ชาวสารขัณฑ์ประทับใจต่อตัวของรัฐบาลอเมริกัน ในขณะเดียวกันกลับไม่สนใจช่วยสร้างโรงพยาบาลซึ่งเป็นที่ต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงโดยมีคนอเมริกันพร้อมภรรยาเพียง 2 คนที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการช่วยเหลือชาวสารขัณฑ์เรื่องสาธารณสุขและมาขอความช่วยเหลือจากแม็คไวท์ แต่แม็คไวท์ซึ่งถูกแนวคิดแบบรัฐอเมริกันครอบงำกลับปฏิเสธไป  ดังนั้นภาพยนตร์จึงใช้ชื่อว่า "ชาวอเมริกันผู้น่าเกลียด" เพื่อการเสียดสีคนอเมริกันโดยเฉพาะรัฐบาลผู้คิดว่าตัวเองเป็น "American The Beautiful" อันมาจากชื่อเพลงมาร์ชปลุกใจอันแสนโด่งดัง ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเปรียบเสมือนกับคำพยากรณ์อันแม่นยำว่าสหรัฐฯ จะแพ้สงครามในอนาคตเพราะไม่สามารถเอาชนะ “hearts and minds”  หรือ จิตใจและความคิดของคนในพื้นที่ได้เลย อันสอดคล้องกับความจริงเมื่อสหรัฐฯ ต้องถอนฐานทัพออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 1975 หลังจากที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับภูมิภาคอินโดจีนตั้งแต่ปี 1965  เป็นเวลา 10 ปีกับชีวิตคนเวียดนามกว่า 2  ล้านคนที่หายไปจากโลก 10 ปีกับชีวิตทหารอเมริกัน 58,000 คนที่สาบสูญ พร้อมเงินละลายลงแม่น้ำอีกกว่าล้านล้านเหรียญ ซึ่งถือได้ว่าแพงอย่างมหาศาลกับคำว่าประชาธิปไตยของโลกที่สหรัฐฯ อ้างว่าต้องการปกป้องไว้ตามทฤษฎีโดมิโน ดังนั้นหากสหรัฐฯ ช่วยเหลือประชาชนของประเทศเหล่านั้นอย่างแท้จริงไม่ใช่การยึดครองผ่านรัฐบาลที่แสนฉ้อฉลเป็นที่เกลียดชังของประชาชน สงครามอาจจะไม่เกิดขึ้นหรือสหรัฐฯอาจจะชนะสงครามเวียดนามโดยไม่ต้องสูญเสียมากมายขนาดนี้จริง ๆ [ii]

 

ถึงแม้จะไม่ประสบความสำเร็จตั้งแต่ต้น ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็น่าจะดูทรงพลังไม่น้อยหากถูกฉายอีกครั้งในช่วงที่สหรัฐฯ กำลังถอนตัวออกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออัฟกานิสถานหรืออิรักเมื่อไม่กี่ปีมานี้ดังจะดูได้จากตอนที่ภาพยนตร์ต้องการโจมตีความอหังการของสหรัฐฯก็คือตอนจบที่ความวุ่นวายทางการเมืองของสารขัณฑ์อย่างรุนแรงทำให้พวกที่ทำงานในสถานทูตสหรัฐฯเตรียมจะหลบหนีกัน นักข่าวกรูมาสัมภาษณ์แม็คไวท์

      นักข่าว"ท่านครับ เรากำลังจะสูญเสียประเทศนี้ไปจริงๆ หรือครับ ?"

      แม็คไวท์ "เราไม่ได้สูญเสียเพราะเราไม่เคยครอบครองประเทศนี้มาก่อนเลย" 

 




 

[i] หากตัดรายละเอียดของ “แดง” ออกไป อีกตัวอย่างที่น่าจะเอาเทียบเคียงกันอีกอันหนึ่งก็คือฟีเดล คาสโตร แห่งคิวบา ในตอนแรกที่เขาโค่นประธานาธิบดีฟัลเจนเชีย บาติสต้าและตั้งรัฐบาลใหม่ในปี 1959 ก็ได้รับการยอมรับจากสหรัฐฯ แต่เมื่อเขาเริ่มนโยบายสังคมนิยม รัฐบาลสหรัฐฯ ก็เริ่มหวาดระแวงเขาถึงแม้ว่าประเทศที่มีนโยบายเช่นนี้อาจไม่ได้ความว่าจะอยู่ใต้อำนาจของกรุงมอสโคว์หรือกรุงปักกิ่งเสมอไปดังเช่นพม่าและยูโกสลาเวียในยุคนายพลติโต (แต่นี่ไม่ได้แสดงว่าสหรัฐฯ ยึดทุนนิยมแบบตายตัวคือให้ความสำคัญแก่เอกชนนักเพราะสหรัฐฯ ยังยอมรับระบบทุนนิยมที่ถูกชี้นำและควบคุมโดยรัฐซึ่งเป็นเผด็จการทหารดังเช่นไทยในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) ในปีเดียวกันนั้นคาสโตรได้รับเชิญให้ไปเยือนสหรัฐฯ ในช่วงรัฐบาลของดี ดี ไอเซนฮาวร์ แต่ได้รับการเมินเฉยจากกรุงวอชิงตัน อันน่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คาสโตรหันไปขอความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตภายใต้นิกิตา ครุซชอฟและประกาศตนอย่างชัดเจนว่ายึดถือในลัทธิมาร์กซ์ เลนินในปี 1961 ความสัมพันธ์ของทั้งคิวบาและสหรัฐฯ จึงเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนบริษัทข้ามชาติของสหรัฐฯ ได้ถูกรัฐบาลของคาสโตรเข้ายึดและแปรรูปให้เป็นของรัฐอันนำไปสู่ความพยายามของสำนักข่าวกรองของสหรัฐฯ ในการลอบสังหารคาสโตรด้วยวิธีต่างๆ นาๆ จนไปถึงการฝึกให้ชาวคิวบาพลัดถิ่นโค่นล้มคาสโตรแต่ก็ล้มเหลวในปี 1961 นั้นเอง เหตุการณ์นี้ก็นำไปสู่วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาดังที่ได้กล่าวมาข้างบนนั้นเอง

 

[ii]  กระนั้นการนำเสนอสารเช่นนี้ของภาพยนตร์ก็ถือได้ว่าสามารถถูกโต้แย้งได้หากพิจารณาถึงข้อเท็จจริงของการเข้าไปแทรกแซงของสหรัฐฯยังประเทศต่างๆ  ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะพบว่ารัฐบาลสหรัฐฯ เองก็ได้ให้การช่วยเหลือประเทศเหล่านั้นในด้านสาธารณสุข การศึกษาหรือโครงสร้างพื้นฐานเพราะตระหนักดีถึงการเอาชนะจิตใจของคนในท้องถิ่น แต่รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ต้องพบกับขีดจำกัดหลายประการเช่นความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ฝรั่งอย่างไรก็ไม่เข้าใจเอเชียแล้วรัฐบาลสหรัฐฯ ยังต้องพึ่งพิงรัฐบาลของประเทศนั้นซึ่งมักถูกปกครองโดยรัฐบาลทหารที่เป็นเผด็จการและเน้นไปที่ความมั่นคงเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด รัฐบาลสหรัฐฯ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมอบเงินช่วยเหลือทางทหารเป็นหลัก (ซึ่งก็ถูกรัฐบาลทหารโกงกินอย่างไม่คิดชีวิต) นอกจากนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ก็เหมือนกับมหาอำนาจอื่นๆ ที่ถือว่ากองทัพและอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นสิ่งที่ค้ำจุนความมั่นคงไว้ได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุดซึ่งกลับกลายเป็นดาบ 2 คม เพราะยิ่งสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนรัฐบาล ประชาชนซึ่งไม่ชอบรัฐบาลก็ยิ่งเกลียดสหรัฐฯ และหันไปเข้าข้างฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาลและสหรัฐฯ ยิ่งขึ้น

 

 

โฆษณา

 

บทความอื่นของผมในประชาไทย ซึ่งกำลังจะออกไปจากหน้าแรกของเว็บ

 

ความสำคัญของรัฐธรรมนูญต่อเผด็จการ

http://www.prachatai.com/journal/2015/09/61516

 

คลิปที่ผมให้สัมภาษณ์แก่คุณจอม เพชรประดับอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง

 

https://www.youtube.com/watch?v=VijnNVEub-w

 

 

The Raindrops

นวนิยายภาษาอังกฤษเกี่ยวกับนักเขียนวัยกลางคนที่มีความหลังอันดำมืดและความสัมพันธ์กับดาราสาวผู้มีพลังจิต

 

                                1

 

                    August 9, 1974 , New York City

 

เรื่องสั้นภาษาอังกฤษ The Security Guard and the Haunted Building

เรื่องของรปภ.หนุ่มผู้ค้นหาภูติผีปีศาจในตึกที่ลือกันว่าเฮี้ยนที่สุด  เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากรายการ The Ghost Radio

(the altered version)

                                                       1

                                      Bangkok, December 1995

เรื่องสั้นภาษาอังกฤษขนาดยาว 'สามเกลอปะทะผีร้าย'

เรื่องของผู้ชาย 3 คนที่ขับรถบรรทุกแล้วต้องเผชิญกับผีดูดเลือด

 

3 Friends and The Ghosts

                                                (1)