นักประพันธ์เพลงหรือคีตกวีชาวรัสเซียที่มีชื่อเสียงเสียงระดับเดียวกับดมิทรี โชสตาโควิคและเกิดยุคใกล้กันเพื่อพบกับโชคชะตาคล้าย ๆ กัน ในประเทศเดียวกัน แต่คงไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยเท่าไร ในขณะที่ทั่วโลกต่างชื่นชอบงานของเขาเช่นเพลงประกอบนิทานเรื่อง Peter and The Wolf ซิมโฟนีหมายเลข 1 รวมไปถึงอุปรากรเรื่อง The Love for Three Oranges เขาผู้นั้นก็คือเซอร์กีย์ โปรโกเฟียฟ (Sergei Prokofiev) คีตกวีแนวอาวองการ์ด (Avant-garde) คำว่าอาวองการ์ด ในที่นี้เป็นคำที่เรียกกับบรรดาศิลปินที่ชอบทดลองผลิตงานศิลปะแปลก ๆ ใหม่ ๆ ออกมา ซึ่งทำให้โปรโกเฟียฟได้รับการยกย่องให้หนึ่งในคีตกวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20
โปรโกเฟียฟเกิดเมื่อประมาณวันที่ 23 (หรืออาจจะ 27) เมษายน ปี 1891 เมืองซอนต์ซอฟกา ในยูเครนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย เขาได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัวอย่างประคบประหงมแต่เข้มงวด พ่อเป็นวิศวกรฐานะค่อนข้างดี ส่วนแม่เป็นผู้มีทักษะด้านเปียโนอย่างดีเลิศ เธอยังมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อเขาทางดนตรี ถึงแม้เมืองบ้านเกิดจะห่างไกลจากศูนย์กลางวัฒนธรรมเช่นกรุงมอสโคว์และนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โปรโกเฟียฟก็หาได้ห่างไกลจากดนตรีไม่ ดังบันทึกที่เขาเขียนไว้เมื่อวัยเด็ก
"เมื่อแม่พาผมเข้านอน ผมไม่เคยอยากจะหลับเลยสักที ได้แต่นิ่งฟังเสียงเพลงโซนาตาของเบโธเฟนซึ่งแว่วมาจากสักที่ ประมาณหลายห้องถัดจากที่นี้ ที่สำคัญแม่ของผมบรรเลงเพลงเปียโนโซนาตาหมายเลข 1
ต่อมาเธอก็เล่นแนวดนตรีพรีลูดส์ มาเซอร์กาส์ และวอลต์เซสของโชแปง บางครั้งก็เป็นเพลงของฟรานซ์ ลิสซต์ซึ่งไม่ยากนักสำหรับการเล่น คีตกวีที่แม่ชอบก็ได้แก่ปีเตอร์ ไชคอฟสกี และรูบินสไตน์ รูบินสไตน์ตอนนั้นกำลังมีชื่อเสียงถึงจุดสุดยอด แม่ของผมเชื่อว่าเขาเป็นคีตกวีที่ดังยิ่งกว่าไชคอฟสกี รูปของรูบินสไตน์แขวนอยู่เหนือเปียโนขนาดใหญ่"
คุณแม่ยังให้เด็กชายโปรโกเฟียฟหัดเปียโนตอนอายุ 3 ขวบจนเล่นได้อย่างคล่องแคล่วในอีก 2 ปีต่อมา แถมยังแต่งเพลงได้อีกด้วย ต่อมาด้วยอายุ 10 ขวบเขาก็แต่งเนื้อร้องของเพลงอุปรากรได้แล้ว ในวัยเด็กเขายังชอบอ่านเทพนิยายซึ่งแน่นอนว่าจะมีอิทธิพลต่อเพลงของเขาในอนาคต ต่อมาแม่พาตัวเขาไปเล่นเปียโนต่อหน้าครูสอนดนตรีที่มีชื่อคนหนึ่ง ครูผู้นั้นเกิดประทับใจจึงชักชวนครูดนตรีอื่นๆ ให้ไปสอนพิเศษที่บ้านของโปรโกเฟียฟในปี 1902 อีก 2 ปีต่อมาก็เป็นแม่อีกนั้นแหละที่พาเขาไปเรียนดนตรีที่นครเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยทิ้งพ่อไว้อยู่เบื้องหลัง เขาเข้าเรียนโรงเรียนสอนดนตรีเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์ก และได้เป็นลูกศิษย์ของครูดนตรีชื่อดังหลายท่าน เช่นริมสกี คอร์ซาคอฟ ลียาดอฟและทเชอเรพนิน และหนึ่งในนั้นได้แนะนำให้ เขารู้จักดนตรีของคีตกวีชื่อดังของต่างประเทศไม่ว่า คลอด เดบูสซีย์ หรือโยฮันน์ สเตราส์ จูเนียร์ ตัวโปรโกเฟียฟออกแสดงเดี่ยวเปียโนเป็นครั้งแรกในปี 1908 นี่เป็นจุดเริ่มต้นของชื่ออันโด่งดังของเขาในนาม "เด็กเฮี้ยวอัจฉริยะ" (l'enfant terrible) แต่ผลงานกลับได้รับการยอมรับอย่างดี ในปี 1909 โปรโกเฟียฟจบการศึกษาแต่คะแนนกลับออกมาไม่ค่อยสวย ก็เลยอยู่เรียนต่อและเน้นไปที่การเล่นเปียโนและการกำกับวงดนตรี อีก 1 ปีต่อมาบิดาของเขาเสียชีวิตทำให้จังหวะชีวิตของเขาสะดุดไปบ้าง แต่ดีที่ โปรโกเฟียฟเริ่มทำมาหากินโดยการเป็นวาทยกร จวบจนจบการศึกษาในปี 1914 เขาก็เดินทางไปยังกรุงลอนดอน อังกฤษเพื่อเข้าชมการแสดงของอีกอร์ สตราวินสกี และได้ร่วมงานกับเซอร์กีย์ เดียกิเลฟ
ภาพจาก deeprootmag.org
จวบจนปี 1917 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 โปรโกเฟียฟกลับไปที่บ้านเกิดอีกครั้งเพื่อเรียนการเล่นออร์แกนและได้แต่งอุปรากรที่สร้างมาจากนวนิยายเรื่อง "นักพนัน" (The Gambler) ของนักเขียนรัสเซียชื่อดังคือฟีออดอร์ ดอสโตเยฟสกี อุปรากรเรื่องนี้จะเน้นความหมกมุ่นและความมืดดำในจิตใจของมนุษย์ได้อย่างลุ่มลึก แต่นอกจากการซ้อมที่เต็มไปด้วยอุปสรรคแล้วยังไม่ทันจะออกแสดงก็ต้องพับไปเพราะการปฏิวัติรัสเซียระลอกแรกในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน (อีกครั้งเดือนตุลาคม) เขาจึงแต่งบทเพลงที่แสนจะโด่งดังของเขาคือซิมโฟนีหมายเลข 1 ที่มีชื่อว่า The Classical รวมไปถึงเปียโนโซนาตาบางบท และแล้วในปี 1918 โปรโกเฟียฟออกเดินทางไปอยู่ที่สหรัฐฯ เพียงชั่วคราว ด้วยเหตุผลที่ว่าการเมืองในรัสเซียมีแต่ความวุ่นวายสับสน เขาเดินทางไปแสดงดนตรีที่นครซานฟรานซิสโกและกรุงนิวยอร์ก ภายใต้แรงกดดันจากการเปรียบเทียบระหว่างตัวเขากับคีตกวีรัสเซียที่สร้างชื่อก่อนหน้านี้คือเซอร์กีย์ แรคามานีนอฟ การออกแสดงเปียโนของเขาเป็นไปด้วยดี ทว่าอุปรากรเรื่องที่ 2 ซึ่งเขาแต่งขณะอยู่ในอเมริกาคือ The Love for Three Oranges ก็ประสบปัญหาจนไม่ได้ออกแสดงและยังทำให้เขาเสียเวลาที่ทุ่มเทไปโดยเปล่าประโยชน์จนเกิดปัญหาเรื่องการเงิน
ปี 1920 โปรโกเฟียฟก็เดินทางไปที่อยู่ที่ปารีสแทนและได้งานทำอย่างดี เช่นแต่งเพลงให้กับคณะบัลเลต์ ของเดียกิเลฟและกับ สตราวินสกี ต่อมาเขาได้พยายามนำอุปรากร The Love for Three Oranges ออกแสดงอีกครั้งที่ชิคาโก แต่ได้รับการต้อนรับอย่างเย็นชาจากคนอเมริกันทำให้เขาแทบจะตัดญาติขาดมิตรกับอเมริกาเลยก็ว่าได้ และ โปรโกเฟียฟก็พบว่าอีกหลายปีต่อมางานของเขากลับถูกนำไปแสดงที่รัสเซียบ้านเกิดมากขึ้นจนได้ไปออกแสดงในหลายๆ เมือง จนอุปากรเรื่องที่ 2 ประสบความสำเร็จในเมืองเลนินกราด นอกจากนี้เขายังได้ผลิตผลงานอีกหลายชิ้นไม่ว่าเปียโนคอนแชร์โต หมายเลข 4 และ 5 และเป็นเรื่องน่าชื่นใจว่าเขาประสบความสำเร็จในการออกแสดงทั่วยุโรปจนกลับไปสหรัฐฯ อีกครั้งและได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ในต้นทศวรรษที่ 30 ระหว่างตระเวนออกแสดงในรัสเซีย โปรโกเฟียฟยังได้ผลิตผลงานที่จะทำให้เขาเป็นอมตะต่อไปคือ Lieutenant Kijé Suite เพื่อประกอบกับภาพยนตร์ของรัสเซียและเพลงประกอบบัลเลย์คือRomeo and Juliet จนในที่สุดปี 1934 เขาก็ได้กลับไปตั้งรกรากที่รัสเซียเป็นการถาวร
จะว่าเป็นการตัดสินใจผิดพลาดครั้งร้ายแรงของเขาก็ว่าได้ เพราะทางการโซเวียตภายใต้การนำของ สตาลินได้เข้ามาบีบบังคับศิลปินทั้งหลายให้เป็นไปตามอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ผ่านสหภาพนักแต่งเพลง ทำให้ศิลปินทั้งหลายของโซเวียตต้องตัดขาดจากโลกภายนอกเสียเป็นส่วนใหญ่ ในช่วงนั้น โปรโกเฟียฟได้แต่งเพลงประกอบนิทานสำหรับเด็กที่แสนจะโด่งดังคือ Peter and The Wolf ในปี 1936 ซึ่งต่อมาเป็นที่ประทับใจของค่ายวอลต์ ดิสนีย์มากจนถึงกลับสร้างภาพยนตร์การ์ตูนเพื่อประกอบกับเพลงนี้โดยเฉพาะ ในช่วงนี้เองบรรดาผู้ร่วมงานของเขาต่างพบกับความหายนะที่เกิดจากการเมืองดังเช่นวเซวอล์ด เมเยอร์มันโฮลด์ ผู้อำนวยการโรงละครและผู้อำนวยการสร้างอุปรากรของโปรโกเฟียฟ เมเยอร์มันโฮลด์เคยต่อต้านอย่างหัวชนฝาต่อแนวคิดสัจนิยมสังคมนิยม (Socialist Realism) ที่สตาลินยกย่อง จนในที่สุด พรรคคอมมิวนิสต์สั่งปิดโรงละครของเขา ตัวผู้อำนวยการได้ถูกจับไปทรมานให้สารภาพความผิดและถูกยิงทิ้ง ส่วนโปรโกเฟียฟต้องพยายามแสดงว่าตัวเองได้ยอมรับแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์อย่างเต็มที่โดยการแต่งเพลง Cantata for the 20th Anniversary of the October Revolution ซึ่งเป็นเพลงฉลองครบรอบ 20 ปีการปฏิบัติรัสเซียและ Zdravitsa Cantata for Chorus and Orchestra, Op 85 ซึ่งถึงแม้จะเป็นเพลงยกย่องสตาลินแต่ก็ถูกตีตราว่าเป็นพวกยุคใหม่ หรือModernist และไม่เคยได้รับอนุญาตให้แสดงตลอดชีวิตของเขาเลย
ภาพจาก www.musicroom.com
กระนั้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่อุบัติขึ้นดูเหมือนช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของทางการโซเวียตต่อตัวของโปรโกเฟียฟไปได้มาก แต่คีตกวีของเราพบว่าการที่โซเวียตไปเป็นพันธมิตรของเยอรมันในปี 1939 ปิดกั้นโอกาสให้เขาออกไปแสดงต่างประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นศัตรูกับเยอรมันเลย แต่โปรโกเฟียฟก็ยังผลิตผลงานออกมาเรื่อยๆ ไม่ว่าอุปรากรเรื่อง War and Peace และเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Evan the Terrible ของผู้กำกับอัจฉริยะที่ชื่อเซอร์กีย์ ไอนเซนสไตน์ (เจ้าของภาพยนตร์ที่กลายเป็นมรดกโลกคือ Battleship Potemkin) รวมไปถึงงานหลายๆ ชิ้นที่โปรโกเฟียฟได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลาม จนหลังสงคราม คณะกรรมการของรัฐบาลภายใต้การนำของอังเดร ซดานอฟได้ตัดสินให้งานของโปรโกเฟียฟเป็นงานแบบ Formalism นั่นคือเลิศหรูเกินไปจนไม่สามารถสื่ออุดมการณ์ของสังคมนิยมได้ และเป็นอันตรายของประชาชนชาวโซเวียต เช่นเดียวกับงานของคีตกวีคนอื่นคือโชสตาโควิคและคาทชาทูเรียน งานส่วนใหญ่ของเขาจึงถูกสั่งห้ามออกแสดง ประจวบกับสุขภาพอันย่ำแย่ทำให้คีตกวีของเราต้องผลิตผลงานในยุคหลังมาแบบซังกะตาย แต่ยังดีที่ว่าไม่ถูกนำไปค่ายกักกันหรือถูกฆ่าตายเสียก่อน งานชิ้นสุดท้ายของโปรโกเฟียฟที่ถูกนำออกแสดงคือซิมโฟนี หมายเลข 7 ซึ่งทำให้เขาได้รับเหรียญรางวัลเลนิน ในปี 1957 คือ 4 ปีหลังจากที่เขาเสียชีวิตแล้ว
เรื่องที่น่ากล่าวถึงอีกเรื่องคือช่วงหลังสงครามรัฐบาลโซเวียตได้ออกกฏหมายห้ามไม่ให้ชาวรัสเซียแต่งงานกับชาวต่างชาติ เป็นผลให้การแต่งงานระหว่างโปรโกเฟียฟกับลินา ลูเบอรา ภรรยาชาวสเปนของเขาที่มีมาตั้งแต่อยู่ปารีสต้องเป็นโมฆะไป เกือบ 1 ปีหลังจากนั้นเขาได้แต่งงานกับ มิรา เมนเดลสัน อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์หนึ่งที่แสดงถึงความหวาดระแวงอย่างไร้ขอบเขตของรัฐบาลของโซเวียตคือ ลินาถูกจับข้อหาก่อวินาศกรรมทั้งที่เธอเพียงพยายามลักลอบส่งเงินไปหามารดาที่สเปนผ่านสถานทูต เธอถูกส่งเข้าค่ายกักกันถึง 8 ปีและถูกปล่อยเมื่อสตาลินเสียชีวิต
โปรโกเฟียฟเสียชีวิตในวันที่ 5 มีนาคม 1953 จากเส้นเลือดในสมองแตก น่าตลกแบบหัวเราะไม่ออกนั่นคือเขาเสียชีวิตก่อนจอมโหดสตาลินเพียงชั่วโมงเดียว จนสาธารณชนไม่สนใจความตายของเขาเลยแม้แต่น้อย มีแขกเพียง 40 คนที่เข้าร่วมงานศพของโปรโกเฟียฟที่จัดในสุสานแห่งหนึ่งของกรุงมอสโคว์ ถือได้ว่าเขาเป็นเหยื่อคนสุดท้ายของสตาลิน หลังจากจอมเผด็จการได้ทำให้คนรัสเซียต้องล้มตายไปสามสิบล้านคนตลอดยุคของตน