Skip to main content

   

    บทความต่อไปนี้เป็นการเขียนวิเคราะห์หนังตลกโรแมนติก (หรือเปล่าหว่า ?) ที่เน้นมุขไปทางเรื่องใต้สะดือเหมือน American pie เนื่องจากผมเคยดูหนังเรื่อง American pie เพียงครั้งเดียวและนานมาแล้วเลยบอกไม่ได้มีแนวคิดอะไรแฝงอยู่ในนั้นบ้าง (หรือว่าไม่มีอะไรเลย ?) แต่ในหนังเรื่องนี้ถือได้มีอะไรหลายอย่างเพียงพอสำหรับเขียนถึงและเพียงพอสำหรับการเสียเวลาของท่านในการอ่าน หนังเรื่องนี้กำกับโดยจัดด์ อาพัดโทว์ ผู้ที่เคยฝากฝีมือกับการเป็นผู้ผลิตหนังเรื่อง Anchorman: The Legend of Ron Burgundy (2004)เกี่ยวกับโฆษกโทรทัศน์ของอเมริกาในทศวรรษที่ 70  ซึ่งก็ตลกบ้างไม่ตลกบ้าง ชะรอยว่าคงไม่ค่อยเข้าตาคนไทยก็เลยไม่เคยดังเท่าไรนัก สำหรับเรื่อง 40 Year -Old -Virgin เป็นเรื่องแรกที่เขากำกับและประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล ได้ทั้งเงินและกล่อง สำหรับกล่องคือนักวิจารณ์หนังชื่อดังเช่นริชาร์ด โรเปอร์ คู่หูของโรเจอร์ อีเบิร์ต จัดให้เป็นหนังหนึ่งยอดเยี่ยมอันดับที่สิบของปี 2005

 

                                 

                                                ภาพจาก Amazon.com

 

 

     ภาพยนตร์เรื่องนี้ตั้งชื่อได้เหมาะกับแนวคิดหลักของเรื่องเป็นยิ่งนักนั้นคือพระเอกของเรื่องนามว่าแอนดี้ สไตท์เซอร์ (แสดงโดยสตีฟ คาเรลล์) คนที่เราคุ้นหน้ากันดีจากบทของพิธีกรทีวีคู่แข่งของจิม แคร์รีย์ ในหนังเรื่อง Bruce Almighty ที่สร้างเสียงฮาโดยการตกเป็นเหยื่อของพระเอกตอนรายงานข่าว เขาช่างมีใบหน้าและบุคลิกเหมือนกับดาราดังอีกคนคือเบน สตีลเลอร์ และรูปแบบการแสดงก็เหมือนกันด้วย แอนดี้ทำงานเป็นเสมียนอยู่ในร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งหนึ่ง เขาอายุ 40 ปี ที่สำคัญนอกจากโสดแล้วเขายังบริสุทธิ์ด้วยต่างหาก !! เหตุการณ์นี้สามารถมาตั้งเป็นกระทู้ในพันทิปห้องปัญหาชีวิต ได้ว่า

     "มีด้วยหรือสำหรับผู้ชายอายุ 40 ปีแล้วยังไม่เสียความบริสุทธิ์ให้กับหญิงใดเลย?"

     ชีวิตของแอนดี้นั้นแน่นอนว่าย่อมเป็นไปตามความคาดหมายของเราคือเป็นคนขี้อาย เงียบ ๆ เรียบร้อย บุคลิกค่อนข้างจะออกไปทาง Regressive คือวัยทดถอยเหมือนกับเด็กไม่ว่าชอบเล่นเกม ชอบทาสีตุ๊กตา ขับรถไม่เป็น ขี่แต่จักรยาน และเมื่อจอดจักรยานแล้วก็จะถอดเอาล้อมาด้วยกันไม่ให้คนขโมยได้ แถมยังหิ้วล้อนั้นเข้ามาในร้าน อันสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนดูอย่างมาก ในร้านนี้เขามีเพื่อนซึ่งอยู่ในวัยใกล้ๆ กันอีก 3 คนซึ่งแต่ละคนค่อนข้างจะช่ำชองเรื่องผู้หญิงเป็นยิ่งนัก แต่แล้วโชคชะตาของแอนดี้ก็เปลี่ยนไปเมื่อทั้ง 3 คนล่วงรู้ว่าเขาเป็นชายบริสุทธิ์ทั้งแท่ง ทั้ง 3 คนจึงวางแผนให้แอนดี้เสียความบริสุทธิ์ให้กับหญิงใดหญิงหนึ่งให้จงได้ แต่แล้ว แอนดี้ก็ไปตกหลุมรักกับทรีช พรีรดมอนท์ (แสดงโดยคาธอริน คีนเนอร์) แม่ม่ายลูกติด แถมเธอยังเป็นย่าคนในวัยที่ยังไม่มากอีกด้วย เรื่องราวจะเป็นอย่างไร กรุณาติดตามหาดูเอาเอง

    สำหรับแนวคิดแฝงในเรื่องนี้เราพบครั้งแรกในชื่อเรื่องนั้นแหละ นั่นคือ คนบริสุทธิ์ที่อายุ 40 ปี (40-year-Old Virgin) สมมติว่าคนที่ว่านี้เป็นผู้หญิงก็ย่อมทำให้หนังลดความน่าสนใจไปมากกว่าครึ่ง เพราะปัจจุบันเป็นเรื่องธรรมดาเสียแล้วสำหรับผู้หญิงในการอยู่เป็นโสดตลอดชีวิตด้วยเหตุผลอันหลากหลาย แต่ถ้าเป็นผู้ชายย่อมทำให้คนสนใจกันมากเหมือนกับตั้งชื่อหนังว่า "แมวที่พูดได้" (The Cat who can Talk) อะไรทำนองนี้ ที่ขบขันเพราะว่าแนวคิดเรื่องความบริสุทธิ์ (Virgin) นั้นถึงแม้ตัวศัพท์เองจะสามารถใช้ได้ทั้ง 2 เพศ แต่สมัยก่อนเราจะใช้กับเพศหญิงเท่านั้นและกลายเป็นประเด็นสำคัญสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิงดังจะตั้งลงในห้องปัญหาชีวิตได้ว่า

        "ทำไมผู้ชายถึงชอบผู้หญิงบริสุทธิ์ ?" หรือ "สมองผู้ชายมีแต่ให้ความสำคัญกับเยื้อบางๆ ของผู้หญิงเท่านั้นหรือ ?"

       แน่นอนว่าแนวคิดนิยมผู้หญิงที่บริสุทธิ์ย่อมอยู่ในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ (Male dominance) นั้นคือมองผู้หญิงเป็นเหมือนกับสิ่งของอันล้ำค่าที่จะต้องบริสุทธิ์จนกว่าจะถึงวัยอันควรนั้นคือตกเป็นของผู้ชายที่สมควรกันหรือมีอำนาจและบารมีเหนือกว่า คนไทยสมัยก่อนจะรับไม่ได้เลยกับหนังที่นางเอกตกเป็นของคนอื่นก่อนได้กับพระเอก แต่สำหรับพระเอกแล้วการได้กับผู้หญิงคนอื่นก่อนนางเอกย่อมถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของชายชาตรี จนเลยไปถึงแนวคิดที่ว่ายิ่งมากยิ่งดี (อันสะท้อนถึงแนวคิดผัวเดียวเมียหลายคนในอดีต แม้ว่าปัจจุบันแนวคิดเรื่องผู้ชายรักเดียวใจเดียวหรือรักครอบครัวจะมาแรง แต่แนวคิดเก่าๆ แบนี้ก็ยังแฝงมากับละครหรือภาพยนตร์อยู่ไม่น้อย)  ในทางกลับกัน การที่ผู้หญิงหวงแหนพรหมจารีจนอายุเกินวัยอันควรโดยที่เธอเองไม่ใช่นักบวชหรือแม่ชี  สังคมทุกที่ย่อมมองในด้านไม่ดี จึงมักจะมีทฤษฎีตีตราทางสังคมดังภาษาอังกฤษเรียกว่า spinster หรือสาวขึ้นคาน * ถึงแม้ปัจจุบันสังคมจะยอมรับการเป็นโสดของผู้หญิงมากขึ้นแต่แนวคิดเช่นนี้ก็ยังทรงพลังอยู่ ดังจะดูได้จากนิตยสารสำหรับผู้หญิงหลายเล่มที่มุ่งเน้นให้ผู้หญิงจับผู้ชายหรือหาสามีให้จงได้ หนังตลก โรแมนติกหลายเรื่องจึงเน้นความพยายามของนางเอกในการดิ้นรนออกจากความเป็นโสดนั้นไม่ว่าเรื่อง Bridget Jones's Diary แนวคิดที่ต่อต้านความนิยมนี้ย่อมถือว่าเป็นแนวคิดแบบสตรีนิยมหรือ Feminism อย่างไม่มีปัญหาที่จะประณามสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่และใจแคบ แต่สำหรับผู้ชายที่ยังบริสุทธิ์ในวัยที่มากแล้วล่ะ ? ในหนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความแปลกแยกของแอนดี้ต่อการล้อเลียนภายหลังจากที่เพื่อนร่วมงานในร้านทุกคนรู้ว่าเขายังไม่เคยมีอะไรกับสาวคนไหนเลย แน่นอนว่าสังคมที่เราอยู่อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น แต่เท่าที่ผมเห็นมาหากใครรู้ว่าหมอนั้นยังบริสุทธิ์อยู่ก็จะมองด้วยสายตาที่แตกต่างออกไป ไม่เหมือนกับผู้ชายที่ผ่านผู้หญิงมากมายย่อมคุยโวโอ้อวด ดีไม่ดีจะบรรยายกิจกรรมบนเตียงทุกอิริยาบถด้วยความภูมิใจ เท่านี้ก็พอจะวิเคราะห์ได้ว่า แนวคิดในเรื่องผู้ชายเป็นใหญ่นี้ย่อมทำให้เหยื่อไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น หากผู้ชายก็สามารถเป็นเหยื่อได้เช่นกัน

     หากมองตามทฤษฎีสังคมวิทยาของการจัดแบ่งชนชายขอบ (หรือชนกลุ่มน้อย) ย่อมจะมีการกันให้คนที่ไม่เข้าประเภทออกไปคนที่อยู่ตรงกลางจึงเป็น ผู้ชายรักต่างเพศ-ที่เคยผ่านผู้หญิงมาแล้วอย่างน้อยก็ภรรยา-ฐานะชนชั้นกลางถึงรวย-ฯลฯ (ถ้าข้ามประเทศก็จะรวมถึงผู้ชายผิวขาว)  แนวคิดที่ว่ายิ่งนอนกับผู้หญิงมากยิ่งดีนั้นก็ได้แก่พระเอกในภาพยนตร์ต่อสู้หลายเรื่องเช่น James Bond    ส่วนพวกที่อยู่ออกขอบ ๆ ก็ได้แก่ผู้หญิง พวกรักร่วมเพศ ชนสีผิว ผู้พิการ ผู้ติดเชื้อ ฯลฯ สำหรับชายโสดเช่นแอนดี้ย่อมถูกจัดให้เป็นพวกที่เบี่ยงเบนจากตรงกลางหน่อย เพียงเพราะไม่เคยนอนกับผู้หญิงเท่านั้น และเขาก็ไม่ใช่เกย์เพราะในหนังย้อนกลับไปตอนที่เขายังวัยรุ่นแสดงให้เห็นว่าเขาได้พยายามมีอะไรกับผู้หญิงมา 3 ครั้งแต่เกิดอุบัติเหตุ (ที่น่าตลก)เสียก่อนทำให้ขาดความเชื่อมั่นกลายเป็นโรคจิตที่เรียกว่า Love-shyness หรือโรคกลัวมีความสัมพันธ์กับเพศตรงกันข้าม นั้นเป็นสิ่งที่แอนดี้จะต้องต่อสู้ตลอดทั้งเรื่องเพื่อให้กลับไปสู่จุดศูนย์กลางของการยอมรับของสังคม

    ในสายตาของผู้ชาย (หรือผู้หญิง)ที่ตกอยู่ในวาทกรรมแบบ Sexism (แนวคิดที่เชื่อว่าผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิง) และ Machismo (ผู้ชายที่ดีต้องเป็นผู้ชายจ๋า) การมีเพศสัมพันธ์ย่อมแสดงให้เห็นว่าผู้ชายคนนั้นได้ย่อมได้มีอำนาจเหนือผู้หญิงแล้ว การไม่เคยมีอะไรกับผู้หญิงเลยถือว่าเป็นวิกฤตการณ์ท้าทายความเป็นลูกผู้ชายเป็นยิ่งนัก แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องอะไรสักอย่างของผู้ชายคนนั้น ในขณะเดียวกันหนังก็ไม่ได้สร้างภาพความสัมพันธ์ระหว่างชายกับหญิงในด้านที่สมบูรณ์แบบเมื่อเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มคือเดวิดเกิดช้ำใจเพราะพบแฟนเก่าเลยละความตั้งใจในการหาเรื่องจีบผู้หญิง เพื่อนอีกคนหนึ่งคือคาลซึ่งเห็นใจก็พยายามกระตุ้นทุกวิถีทางให้เขากลับมาสืบทอดอุดมการณ์ "ผู้ชายเป็นใหญ่"อีกครั้ง คล้าย ๆ กับหนังเรื่อง Fight Club แต่ Fight Club เน้นเรื่องการใช้กำลังต่อสู้ ส่วน 40 Year -Old -Virgin นั้นเน้นการมีเพศสัมพันธ์ หรือมีบางฉากที่ 4 สหายแข่งกันปัสสาวะข้างตึกว่าใครสามารถไปไกลกว่ากัน (เน้นความแผลง ๆ แบบลูกผู้ชาย) หรือตอนมารวมกลุ่มพูดคุยกันก็ขวางหลอดไฟยาว ๆ ใส่พื้น (เน้นความรุนแรงนิดๆ)

     หนังยังมีสิ่งผลักดันคือถึงความท้าทายของผู้หญิงที่มีต่อสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ นั้นคือให้หัวหน้างานในร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นผู้หญิงท่าทางจืดชืดคนหนึ่ง(ที่ไม่บริสุทธิ์แต่ไม่แต่งงาน)และยังสร้างกฎเกณฑ์อะไรที่ทำให้ผู้ชายซึ่งเป็นลูกน้องอึดอัดเช่นบังคับให้โทรทัศน์ที่แสดงสำหรับลูกค้าเปิดแต่คอนเสิร์ตของไมเคิล แม็คโดนัล ซ้ำซาก เพื่อนๆ ของแอนดี้จึงรวมกลุ่มกันในการหมกมุ่นแต่เรื่องใต้สะดือเช่น เข้าร่วมงานจับคู่ หรือการไปเที่ยวผับเพื่อจับสาวถือได้ว่าเป็นการระบายออกในการแสวงหาอำนาจจากผู้หญิงคนอื่น และมีตอนหนึ่งที่หนังแสดงให้เห็นถึงความเคลือบแคลงใจของผู้ชายที่กลัวต่อการตกอยู่ใต้อำนาจของผู้หญิงอย่างชัดเจน นั้นหัวหน้างานหญิงคนนั้นได้เสนอตัวขอนอนกับแอนดี้ (ไปพร้อม ๆ กับแนวคิดเรื่อง Free Love หรือรักเสรีดังเช่นคำว่า F-ck Buddy หรือเพื่อนที่นอนด้วยกันเท่านั้น)แต่แอนดี้ปฏิเสธ อันเป็นการทำลายทฤษฎีความเชื่อแรกที่ผมนำเสนอมาเองว่า การมีเพศสัมพันธ์ไม่จำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่า ผู้ชายต้องมีอำนาจเหนือผู้หญิงเสมอไปไม่ ผู้ชายอาจจะโดนผู้หญิงมีอำนาจเหนือกว่าก็ได้ อันนำไปสู่ข้อเท็จจริงที่ว่า กรณี Sexual Harassment หรือการคุกคามทางเพศเช่นในที่ทำงานอาจจะไม่ใช่แค่เจ้านายที่เป็นชายกับลูกน้องที่เป็นหญิงเท่านั้น อาจจะรวมถึงเจ้านายที่เป็นหญิงกับลูกน้องที่เป็นชายก็ได้ (ตัวอย่างที่แปลก ๆก็ได้แก่รายงานของเชลยศึกอิรักที่ถูกทารุณกรรมทางเพศโดยผู้คุมที่เป็นทหารหญิง) การปฏิเสธของแอนดี้ถือว่าเป็นการนำตัวเองออกไปจากการครอบงำของผู้หญิงอีกครั้งหนึ่ง

 

                                         

 

                                                             ภาพจาก fanart.tv

 

    ประเด็นเรื่องรักร่วมเพศเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับหนังเรื่องนี้ที่จัดได้ว่าเป็นหนังแบบ Homophobic หรือการเกลียดพวกรักร่วมเพศ อันนำไปสู่การจัดพวกรักร่วมเพศให้เป็นชนชายขอบได้อย่างชัดเจน อย่างเช่นตอนที่พรรคพวกรู้ว่าแอนดี้บริสุทธิ์ตอนที่เล่นไพ่กัน เพื่อนคนหนึ่งคือเจย์บอกว่า "ฉันก็รู้จักพวกเกย์ดี พวกที่ติดคุกน่ะ" (แสดงว่าเกย์คือพวกที่ติดคุกเท่านั้น) หรือแม้แต่ตอนที่ดาวิดและคาลขณะเล่นเกมด้วยกันและคาลพูดแบบทีเล่นทีจริงกับดาวิด (ตอนคิดจะเลิกจีบสาวเพราะช้ำใจ) ว่าเขารู้ว่าเดวิดกำลังจะเป็นเกย์ เมื่อเดวิดปฏิเสธ คาลก็ถามย้อนกลับไป “นายรู้ไหมว่าฉันรู้ว่านายเป็นเกย์อย่างไร” (You know how I know you're gay?) จากเขาก็บรรยายว่าเกย์ชอบอย่างโน้นอย่างนี้ คล้ายๆ กับที่มีคนในเว็บไซต์พันทิป ตั้งข้อสังเกตว่าพวกรักร่วมเพศจะชอบทำนิ้วแปลกๆ หรือชอบเข้าสถานออกกำลังกายบ่อย ๆ นั้นคือหนังมีการตีตรา จำแนกพวกรักร่วมเพศนั่นเอง เช่นเดียวกับชาวหญิงรักหญิงที่แอนดี้ไปพบในงานหาคู่ซึ่งบอกว่าเธอต้องการลองผู้ชายดูบ้าง ซึ่งหนังต้องการจะบอกว่า เธอซึ่งมีความเป็นผู้ชายสูงน่าจะเหมาะกับแอนดี้ซึ่ง (น่าจะ) มีความเป็นผู้หญิงสูงเหมือนกัน แต่สารที่มากับหนังอาจจะต้องการบอกว่าผู้หญิงถึงแม้จะออกนอกกรอบมาตรฐานทางเพศ (เป็นทอม) แค่ไหนสุดท้ายก็ต้องกลับมาหาผู้ชายอยู่นั้นแหละ

    ท้ายที่สุด ถึงแม้จะหวุดหวิดกับการเสียหนุ่มหลายครั้ง แต่แอนดี้ก็ได้ตกล่องปล่องชิ้นกับทริช ที่ไม่ได้มีลักษณะแบบผู้หญิงร้ายๆ ที่ทรงอำนาจเหมือนเจ้านายที่ทำงาน เลยหากมีความเป็นแม่สูงจนสามารถประคบประงอมแอนดี้จนกลายเป็นคู่รักที่แสนหวานได้** (จะว่าไปพวกสตรีนิยมก็ยังมองว่า "ความเป็นแม่"ของผู้หญิงก็ถูกสร้างโดยผู้ชายอีกนั้นแหละ) ท้ายสุดฉากบนเตียงที่แอนดี้สามารถประกอบกิจกรรมได้จนผู้หญิงที่ผ่านโลกมามากเช่นทริชต้องยอมแพ้ แสดงให้เห็นถึงชัยชนะของผู้ชายที่เคยถูกมองว่าตกขอบของศูนย์กลางมาแล้ว เหมือนหนังต่อสู้ที่พระเอกซึ่งตกกระป๋องกลับมาชนะผู้ร้าย สุดท้ายหนังเรื่องนี้ก็อำพรางความพยายามในการสืบทอดวาทกรรม "ผู้ชายเป็นใหญ่"โดยมีตลกลามกอำพรางนั้นเอง

......................................................................

 

*กระนั้นเองผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับศาสนาย่อมแตกต่างออกไปอย่างเช่นพระนางมาเรียซึ่งเป็นพระมารดาของพระเยซูก็เป็นหญิงบริสุทธิ์ตลอดชีวิต ทว่าถ้ามองแบบแนวคิดสตรีนิยม ก็จะโจมตีว่าเรื่องราวความบริสุทธิ์ของพระนางถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้ความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าและพระเยซู ซึ่งเป็นผู้ชาย

 

**ที่จะไม่กล่าวถึงเป็นไม่ได้คือฉากที่เน้นความแปลกแยกของ "ผู้ชายบริสุทธิ์"อีกฉากหนึ่งคือตอนที่แอนดี้พาลูกสาวของทริชไปเข้าคลินิกที่ปรึกษาทางเพศ และเขาพาซื่อบอกความจริงว่าเขายังบริสุทธิ์ ทำให้คนไข้คนอื่นที่ได้ยินเยาะเย้ย ถากถาง

 

 

 

     

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เขียนงานเขียนในรูปแบบต่างๆ  คือนวนิยาย เรื่องสั้นหรือแม้แต่บทละครมานานก็เลยอยากจะชี้แจ้งให้ท่านผู้อ่านเข้าใจว่าเนื่องจากเป็นงานเขียนแบบงานดิเรกหรือแบบนักเขียนสมัครเล่นอย่างผม จึงต้องขออภัยที่มีจุดผิดพลาดอยู่ เพราะไม่มีคนมาตรวจให้ ถึงผมเองจะพยายามตรวจแล้วตรวจอีกก็ยังมีคำผิดและหลักไวยากรณ์อยู่
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The Spook Radio (part 2)ภาค 2 ของดีเจอ้นซึ่งเป็นดีเจรายการที่เปิดให้ทางบ้านมาเล่าเรื่องสยองขวัญหรือเรื่องเหนือธรรมชาติ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก The Shock และ The Ghost  (Facebook คนเขียนคือ Atthasit Muang-in)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
(เรื่องสั้นสยองขวัญภาษาอังกฤษเรื่องนี้ลอกมาจากเรื่องสั้นของราชาเรื่องสยองขวัญของเมืองไทย ครูเหม เวชากร ตัวเอกคือนายทองคำ เด็กกำพร้าอายุ 12 ขวบที่อาศัยอยู่กับยายและญาติในชนบทของไทยในช่วงเวลาประมาณ พ.ศ.2476)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The lingering sunlight from the dawn kissed my eyelids and I could hear faintly the flock of big birds, whose breed was unbeknownst to me, chirping merrily outside window ,as if to greet the exuberant face of a new day.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเกี่ยวกับนักเขียนวัยกลางคนที่มีความหลังอันดำมืดและความสัมพันธ์กับดาราสาวผู้มีพลังจิต 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของรปภ.หนุ่มผู้ค้นหาภูติผีปีศาจในตึกที่ลือกันว่าเฮี้ยนที่สุด  เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากรายการ The Ghost Radio(the altered version)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของผู้ชาย 3 คนที่ขับรถบรรทุกแล้วต้องเผชิญกับผีดูดเลือด 3 Friends and The Ghosts                                                (1)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
This short novel is about a guy who works as a DJ for the radio program 'The Spook Radio', famous for its allowing audience to share their thrilling experiences or tales about the superstitious stuffs, especially the ghosts, via telephones.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเรื่องนี้เกี่ยวกับคนไทยที่ใช้ชีวิตในเยอรมันช่วงพรรคนาซีเรืองอำนาจ  เขียนยังไม่จบและยังไม่มีการ proofreading แต่ประการใด                     Chapter 1  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้มาจาก facebook  Atthasit Muangin สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มหาศาสดาผู้ลี้ภัยอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ในฐานะเป็นเอตทัคคะหรือผู้เป็นเลิศในเรื่องเจ้า (The royal affairs expert)  พบกับการวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีอย่างมากมายจากบรรดาแฟนคลับหรือคนที่แวะเข้ามาในเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 (มีบทความอื่นอีกมากมายในเฟซบุ๊คของผมคือ Atthasit Muang-in) 1.สลิ่มไม่ชอบอเมริกาและตะวันตกซึ่งคว่ำบาตรและมักท้วงติงไทยหลังรัฐประหารปี 2557  ในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยพวกสลิ่มเห็นว่าทั้งสองฝ่ายเป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอกเช่นเคยบุกประเทศอื่น