Skip to main content

    เฮอร์มันน์ เฮสเส เป็นนักเขียนแนวจินตนิยม (Romanticism) และแนวอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ที่ประทับใจผมมาก เริ่มจากการถูกอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยบังคับให้อ่านหนังสือของเขาที่คนไทยรู้จักกันดีคือ สิทธารถะ จากนั้นเมื่อได้อ่านเรื่องอื่นๆ ที่คนไทยคืออาจารย์สดใสแปลไม่ว่า ปีเตอร์คาเมนซิน  เกอร์ทรูด รวมเรื่องสั้นขลุ่ยในฝัน  สเตเฟนวูล์ฟ ... ฯลฯ ผมก็พบว่าเขาเป็นนักเขียนที่ใช้ภาษาได้สวยงามดุจดังกวี และเปี่ยมด้วยความลึกซึ้งในเรื่องจิตวิญญาณอย่างแท้จริง กระนั้นผมคงเป็นสาวกที่ดีของเฮสเสไม่ได้ เพราะยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มสำคัญของเขาคือ Das Glasperlenspiel ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและตีพิมพ์แล้ว นอกจากนี้ในปัจจุบันผมก็ไม่ได้อ่านงานของเฮสเสนานมากแล้ว

    ต่อไปนี้เป็นบทแปล (และดัดแปลงเล็กน้อย) ชีวประวัติของเฮสเส ซึ่งผมจำไม่ได้เหมือนกันว่าไปเอามาจากไหน จะกลับไปค้นหาแหล่งและคนเขียนก็หาไม่เจอ จึงต้องอภัยและขอขอบคุณผู้เขียนท่านนั้นอย่างยิ่ง

     เฮอร์มันน์ เฮสเส (1877-1962)

     เฮสเส นักกวีและนักเขียนชาวเยอรมัน เจ้าของผลงานซึ่งศึกษาความเป็นทวิลักษณ์ระหว่างจิตกับธรรมชาติ และ การค้นหาทางจิตวิญญาณของปัจเจก อันโพ้นจากขอบเขตทั้งมวลของสังคมมนุษย์ เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1946 นวนิยายของเฮสเสหลายเรื่องได้ถึงบรรยายถึงการเดินทางของตัวเองไปสู่โลกภายใน การชี้แนะทางจิตวิญญาณได้ช่วยเหลือตัวเอกในการค้นหาการรู้แจ้งแห่งตนและนำทางไปสู่สิ่งที่อยู่เหนือจากโลกซึ่งเต็มไปด้วยเงิน ตัวเลขและเวลา

    "แม้แต่พิษร้ายที่ไร้เดียงสาที่สุดซึ่งมาพร้อมกับการพัฒนา จะต้องจำนนและยอมรับว่า ตัวหนังสือนั้นมีความเป็นอมตะ หลักในการใช้คำและแสดงพวกมันผ่านการเขียนไม่ได้เพียงเป็นตัวช่วยเหลือสำคัญในการสื่อสาร แต่ยังเป็นวิธีการเดียวที่มนุษยชาติสามารถมีประวัติศาสตร์และสำนึกแห่งตัวตนที่ดำเนินอยู่เรื่อยๆ" (เฮสเส ในหนังสืออ่านก่อนนอน เรียบเรียงโดย สตีเวน กิลบาร์ 1974)

 

 

                                                      

                                                                    ภาพจาก bookhaven.stanford.edu

 

      เฮสเสถือกำเนิดในครอบครัวมิชชันนารีที่เคร่งศาสนา และเจ้าของโรงพิมพ์หนังสือทางศาสนาในเมืองป่าดำแห่งคาล์ว ในรัฐ เวือร์ทเทมแบร์ก ของเยอรมัน  โยฮันเนส เฮสเส บิดาของเขาถือสัญชาติรัสเซียเพราะเกิดใน ไวเซนสไตน์ เอสโตเนีย แม่ของเฮสเส คือมารี กุนแดร์ท เกิดในตาลาเชอรี อินเดียและยังเป็นลูกสาวของ มิชชันนารี และนักภรตวิทยา คือ เฮอร์มันน์  กุนเดร์ท พ่อแม่ของเขาต้องการให้เขาเดินตามทางของครอบครัวนั่นคือศึกษาเทววิทยา จากการที่เคยเป็นมิชชันนารีทำงานในอินเดียมาก่อน เฮสเสได้เข้าเรียนในโรงเรียนของนิกายโปรเตสแตนต์ในมอลบรอนน์ ในปี 1891 แต่แล้วก็ถูกไล่ออกจากโรงเรียนเสียก่อน เมื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนธรรมดา เฮสเสก็ไม่ได้มีความสุขเท่าไรนัก เขาลาออกมาทำงานเป็นเสมียนประจำร้านหนังสือ และไปเป็นช่าง รวมไปถึงคนขายหนังสือในตือบิงเกน ซึ่งเขาได้เข้าร่วมกับชมรมชื่อเลอ เปอติท์ ซองเกอะ (Le petit Cenacle)  ในช่วงนั้น เขาได้อ่านหนังสือเป็นจำนวนมากและมุ่งมั่นในการเป็นนักเขียน ในปี 1899 เฮสเสก็ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มแรก

       เฮสเสได้กลายเป็นนักเขียนอิสระ ในปี 1904 ภายหลังจากนวนิยายของเขาคือ Peter Kamenzind ได้รับการตีพิมพ์ อิทธิพลจากแนวคิดจากรุสโซในเรื่องการ "การกลับสู่ธรรมชาติ"ได้ทำให้ตัวเอกของเขาทอดทิ้งเมืองใหญ่เพื่อใช้ชีวิตเยี่ยงนักบุญฟรานซิส แห่งอัสซีซี หนังสือประสบความสำเร็จอย่างสูง เฮสเสได้แต่งงานกับ มาเรียน เบอร์นูรี และมีบุตร 3 คนในเวลาต่อมา ถึงแม้การไปเยือนอินเดียในปี 1911 จะนำไปสู่การผิดหวัง แต่ก็เป็นแรงบันดาลใจทำให้    เฮสเสได้ศึกษาศาสนาตะวันออก อันนำไปสู่นวนิยายเรื่อง  Siddhartha หรือ สิทธารถะ  ซึ่งได้รับอิทธิพลจากชีวิตในช่วงแรก ๆของพระพุทธเจ้า เริ่มจากเด็กหนุ่มในวรรณะพราหมณ์ขบถต่อประเพณีและการสั่งสอนจากบิดา ในที่สุดเขาก็เข้าสู่การรู้แจ้งระดับปรมัตถ์ วัฒนธรรมฮินดูและจีนโบราณมีอิทธิพลต่องานของเฮสเสอย่างสูงมาก แต่เป็นเวลาหลายปีในกลางทศวรรษของช่วง 1910   เฮสเสได้เข้าบำบัดทางจิตโดยวิธีของสำนักจิตวิเคราะห์โดย ผู้ช่วยของ คาร์ล ยูง (สานุศิษย์คนสำคัญของซิกมันด์ ฟรอยด์ – ผู้แปล)  คือ เย.บี.ลาง

     ในปี 1912 เฮสเสและครอบครัวได้รับสัญชาติถาวรจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในนวนิยายเรื่อง Rosshalde (1914) เฮสเสได้ตั้งคำถามขึ้นมาว่า ศิลปินควรแต่งงานหรือไม่ แนวคิดที่แฝงมาของเขาเป็นไปในแง่ลบและสะท้อนให้เห็นถึงความยุ่งยากใจของตัวเอง ในช่วงนี้เอง ที่ภรรยาของเขา เริ่มมีปัญหาทางจิต และลุกชายของเขาป่วยหนัก เฮสเสใช้เวลาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในสวิสเซอร์แลนด์ โจมตี ความเฟื่องฟูของลัทธิทหารและลัทธิคลั่งชาติ เขายังกระตุ้นให้สาธารณชนสนใจความเป็นอยู่ของเชลยสงคราม เฮสเส ซึ่งมีความคิดคล้ายคลึงกับ อัลดัส ฮักซลีย์ต่อเรื่องความต้องการหยั่งรู้ทางจิตวิญญาณ ได้รับการประณามจากเพื่อนร่วมชาติว่า "เจ้าคนทรยศ"

     นวนิยายที่พัฒนาขึ้นไปของเฮสเส คือ Demian (1919) ได้รับการยกย่องจากโทมัส มันน์ ว่ามีความสำคัญระดับเดียวกับ Ulysses ของ เจมส์ จอยซ์ และ The Counterfeiter ของ อองเดร์ กิด นวนิยายเรื่องนี้สร้างความประทับใจให้แก่ทหารผ่านศึกจากสงครามโลกครั้งที่ 1 มาก มันยังได้สะท้อนให้เห็นถึง วิกฤตทางด้านจิตใจของตัวเฮสเสเองและความสนใจในแนวคิดจิตวิเคราะห์แบบยูง Demian ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกโดยเขาใช้นามปากกาว่า เอมิล ซินเเคลร์ แต่ต่อมาเฮสเสก็ได้ชื่อจริงตลอดมา มันเป็นนวนิยายที่ได้รับอิทธิพลจาก Faust (วรรณคดีชิ้นเอกของเกอเธ่ กวีชาวเยอรมันผู้ยิ่งใหญ่ –ผู้แปล) ตัวเอกมีความแตกแยกระหว่างชีวิตแบบชนชั้นกลางและ โลกแห่งความสุขทางเนื้อหนังอันวุ่นวาย เฮสเสยอมรับในภายหลังว่า Demian คือเรื่องของ "การเป็นปัจเจก" ตามแนวคิดของยูง เขายังได้ยกย่องต่อการศึกษาจิตวิเคราะห์ตามแบบของยูงเป็นอย่างมาก แต่แล้ว ในปี 1921 เขาก็ยุติความสนใจต่อแนวคิดนี้และกล่าวว่ายูงเป็นแค่ลูกศิษย์อันเก่งกาจของฟรอยด์

       ในปี 1919 เฮสเสทอดทิ้งครอบครัวตัวเอง แล้วย้ายไปยัง มอนทากโนลา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของสวิสเซอร์แลนด์ และลงมือเขียนสิทธารถะ ซึ่งเป็นงานที่ได้รับความนิยมอย่างมากที่สุด เมื่อได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในทศวรรษที่ 50 มันได้กลายเป็นผู้ชี้แนะทางจิตวิญญาณของกวีบีท (ภาษาอังกฤษคือ Beat อันหมายถึงพวกขบถต่อสังคมซึ่งกลายเป็นพวกฮิปปี้ในทศวรรษต่อมา- ผู้แปล)  จำนวนมากในอเมริกา การแต่งงานช่วงสั้น ๆ กับ รูท เวทเจอร์ ซึ่งเป็น ลูกสาวของ ลิสา เวทเชอร์ นักเขียนชาวสวิส หาได้ทำให้เฮสเสมีความสุขไม่ เขาพบกับรูทในปี 1919 และลงมือเขียนเทพนิยาย เรื่อง "Piktor’s Verwandlungen” เพื่อหล่อน มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิญญาณตนหนึ่งชื่อปีเตอร์ ได้กลายเป็นต้นไม้โบราณ และค้นพบวัยหนุ่มของตนอีกครั้งจากความรักที่มีต่อหญิงสาว

    เฮสเสได้หย่าขาดจาก มาเรีย เบอร์นูลี และแต่งงานกับ รูท แต่การแต่งงานได้ยุติลงในไม่กี่เดือนต่อมา แต่ในช่วงนั้นเองที่ เขาได้เขียนเรื่อง Der Steppenwolf (1927) ตัวเอกคือ แฮร์รี ฮัลเลอร์ ผู้เผชิญวิกฤตการณ์วัยกลางคนและต้องเลือกเอาระหว่างการชีวิตแห่งความจริงและความฝัน จุดเริ่มต้นของเขาอาจจะไม่ได้บังเอิญเหมือนคนเขียน

   "ความสามารถและพลังเพียงน้อยนิดซึ่งเกิดจากความเข้มแข็งอย่างกะทันหันได้ทำให้ผมหมกมุ่นอยู่กับมัน ผมวาดภาพตัวเองว่าเป็นบุคคลซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางบทกวี ดนตรีและปรัชญา ผู้คงแก่เรียนและเยี่ยมยอดที่สุด ดังนั้นผมจึงมีชีวิตอยู่โดยการทำให้ที่เหลือของมันคือความสับสนของศักยภาพ สัญชาติญาณและแรงจูงใจ ซึ่งผมพบว่ามันเป็นอุปสรรคและเป็นไปตามแบบของ สเตเฟน วูล์ฟ"

     ฮัลเลอร์ รู้สึกว่ามี 2 สิ่งอยู่ในตัวเขา และได้พบกับอัตตาซึ่งซ่อนเร้น นามว่า "เฮอร์มิน" หญิงผู้เกิดจากภาพมายาตนนี้ได้ชักจูงให้แฮร์รีดื่มเหล้า เต้นรำ ฟังเพลง มีเพศสัมพันธ์และทดลองยาเสพติด ในที่สุดบุคลิกของเขาก็แตกออกเป็นเสี่ยงๆ และกลับมารวมอีกครั้งใน "โรงหนังแห่งเวทมนต์" ซึ่งเป็นโรงหนังสำหรับคนบ้าเท่านั้น

     "ไม่มีความจริงใด ๆ นอกจากสิ่งซึ่งอยู่ภายในตัวเรา นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมคนมากมายถึงหนีเพื่อซ้อนอยู่ในชีวิตมายาเช่นนั้น พวกเขาคิดว่า ภาพภายนอกคือความเป็นจริงและไม่เคยปล่อยให้โลกภายในได้แสดงตนออกมา"

     ในช่วงสาธารณรัฐไวมาร์ (1919-1933) เฮสเส ได้ปลีกตนออกจากการเมือง สำหรับ Etrachtungen (1928) และ Krieg und Frieden (1946) คือ หนังสือรวมบทความซึ่งสะท้อนความเป็นปัจเจกและการต่อต้านกระแสเห่อของสังคม  สำหรับ Narcissus and Goldmund (1930) คือ นิยายที่จำลองยุคกลางของยุโรป ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้าอาวาสและลูกศิษย์ของเขาซึ่งใฝ่ใจในเรื่องทางโลก ทั้งคู่กำลังค้นหา "มารดาผู้ยิ่งใหญ่"

    ในปี 1931 เฮสเสได้แต่งานกับ นินอน ดอลบิน (1895-1966) หญิงสาวชาวยิว หล่อนได้เขียนจดหมายถึงเฮสเสในปี 1909 ในวัยเพียง 14 ปี และจากนั้นการโต้ตอบทางจดหมายก็เริ่มขึ้น ในปี 1926 เขาและหล่อนได้พบกันโดยบังเอิญ ขณะนั้นนินอนได้หย่าขาดจาก บี เอฟ บอล์ดิน นักวาดภาพ และวางแผนว่าจะเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลปะ เฮสเสได้ย้ายตามหล่อนไปที่ คาซา บอดเมอร์ จากนั้น ความสับสนวุ่นวายทางจิตของตนก็ได้บรรเทาลง หนังสือของเฮสเสยังคงได้รับการตีพิมพ์อยู่เรื่อยๆ ในเยอรมัน ช่วงที่นาซีขึ้นมามีอำนาจ และได้รับการปกป้องในชมรมลึกลับในปี 1937 โดยโจเซฟ เกิบเบลส์ (รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาชวนเชื่อของฮิตเลอร์- ผู้แปล) เมื่อเขาเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์แฟรงค์เฟิร์ตเตอร์ ไซตุง  ผู้ลี้ภัยชาวยิวในฝรั่งเศสกล่าวหาว่าเขาฝักใฝ่พวกนาซี แต่เฮสเสก็ไม่ได้โต้ตอบกลับไป อย่างไรก็ตาม เขาได้ช่วยผู้ลี้ภัยทางการเมือง เมื่อ Narcissus and Goldmund  ถูกตีพิมพ์ครั้งที่ 2 ในปี 1941 เขาปฏิเสธที่จะตัดส่วนที่สะท้อนภาพ การสังหารหมู่และการต่อต้านยิวออกไป ในปี 1943 ชื่อของเฮสเสก็ขึ้นบัญชีดำของนาซี

    "ความลับของเฮสเสคือ พลังอันสร้างสรรคของการอุปมาอุปมัยในบทกวี หรือใน "โรงหนังแห่งเวทย์มนต์" ของ ภาพอันอลังการของวิญญาณซึ่งเขาได้สร้างขึ้นต่อหน้าโลกใบนี้ มันแสดงให้เห็นถึง อัตลักษณ์ของแนวคิดและลักษณะภาพนอก อันแน่นอนว่า งานของเขา เหมือนกับงานทั่วไปที่ถูกเนรมิตโดยตัวมนุษย์ คือไม่อาจทำอย่างอื่นนอกจากในสิ่งที่ได้ชี้นำไป" ( อูโก บอลล์ ใน เฮอร์มันน์ เฮสเส 1947)

 

 

                                                        

                                                               ภาพจาก www.epubbooks.com

 

    ในปี 1931 เฮสเสได้เริ่มเขียนงานชิ้นสำคัญ คือ Das Glasperlenspiel (เกมลูกแก้ว) ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี 1931 ฉากของนวนิยายคือ โลกอนาคตในแคว้นที่ถูกจินตนาการขึ้นมาคือ คาสติลเลีย หรือชุมชนที่เต็มไปด้วยปัญญาชนและชนชั้นนำของสังคม ซึ่งอุทิศตนให้กับเลขคณิตและดนตรี ....ในปี 1942 เฮสเสได้ส่งต้นฉบับไปยังกรุงเบอร์ลินสำหรับการตีพิมพ์ แต่ถูกปฏิเสธโดยพวกนาซี งานเขียนของเขาจึงปรากฏตัวในนครซูริก สวิสเซอร์แลนด์

    "ความสิ้นหวังคือผลลัพธ์ของความพยายามอันกระตือรือร้นไปที่จะนำชีวิตไปตาม คุณธรรม ความยุติธรรมรวมไปถึงความเข้าใจ และเข้าสู่จุดสุดยอดของสิ่งเหล่านั้น เด็กๆ อาศัยอยู่ในอีกด้านหนึ่งของความสิ้นหวัง พวกเขาล้วนตระหนักรู้ในด้านอีกด้านหนึ่ง" (จาก "การเดินทางสู่ตะวันออก" 1932)

     หลังจากได้รับรางวัลโนเบล เฮสเส ไม่ได้ตีพิมพ์งานชิ้นสำคัญอีก ในช่วงปี 1945 และ ปี 1962 เขาเขียนบทกวี และบทวิจารณ์อีก 32 บท โดยมากลงในหนังสือพิมพ์สวิส เขาเสียชีวิตจากเส้นเลือดแตกในสมองขณะนอนหลับในปี 1962 ด้วยอายุ 85 ปี งานเขียนสำคัญ ๆ ของเฮสเสชิ้นอื่น ๆ  รวมไปถึง Sight of Chaos (1923) และรวมบทความต่างๆ  ในทศวรรษที่ 60 และ70 เขาได้กลายเป็นเจ้าลัทธิสำหรับนักอ่านวัยรุ่น และมาสร่างซาลงในทศวรรษที่ 80  ก่อนหน้านี้ในปี 1969 วงดนตรีแนวร็อคจากแคนาดาแคลิฟอร์เนีย คือ The Sparrows  ได้เปลี่ยนชื่อตามงานเขียนของเฮสเสคือ Steppenwolf และเขียนเพลง "Born to be wild" อย่างไรก็ดี งานเขียนของเฮสเสมีเสน่ห์ต่อคนที่อยู่ในขบวนการยุคใหม่ (New age movement) และเขายังเป็นนักเขียนที่ใช้ภาษาเยอรมันซึ่งหนังสือขายดีอันดับหนึ่งทั่วโลก

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เขียนงานเขียนในรูปแบบต่างๆ  คือนวนิยาย เรื่องสั้นหรือแม้แต่บทละครมานานก็เลยอยากจะชี้แจ้งให้ท่านผู้อ่านเข้าใจว่าเนื่องจากเป็นงานเขียนแบบงานดิเรกหรือแบบนักเขียนสมัครเล่นอย่างผม จึงต้องขออภัยที่มีจุดผิดพลาดอยู่ เพราะไม่มีคนมาตรวจให้ ถึงผมเองจะพยายามตรวจแล้วตรวจอีกก็ยังมีคำผิดและหลักไวยากรณ์อยู่
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The Spook Radio (part 2)ภาค 2 ของดีเจอ้นซึ่งเป็นดีเจรายการที่เปิดให้ทางบ้านมาเล่าเรื่องสยองขวัญหรือเรื่องเหนือธรรมชาติ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก The Shock และ The Ghost  (Facebook คนเขียนคือ Atthasit Muang-in)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
(เรื่องสั้นสยองขวัญภาษาอังกฤษเรื่องนี้ลอกมาจากเรื่องสั้นของราชาเรื่องสยองขวัญของเมืองไทย ครูเหม เวชากร ตัวเอกคือนายทองคำ เด็กกำพร้าอายุ 12 ขวบที่อาศัยอยู่กับยายและญาติในชนบทของไทยในช่วงเวลาประมาณ พ.ศ.2476)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The lingering sunlight from the dawn kissed my eyelids and I could hear faintly the flock of big birds, whose breed was unbeknownst to me, chirping merrily outside window ,as if to greet the exuberant face of a new day.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเกี่ยวกับนักเขียนวัยกลางคนที่มีความหลังอันดำมืดและความสัมพันธ์กับดาราสาวผู้มีพลังจิต 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของรปภ.หนุ่มผู้ค้นหาภูติผีปีศาจในตึกที่ลือกันว่าเฮี้ยนที่สุด  เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากรายการ The Ghost Radio(the altered version)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของผู้ชาย 3 คนที่ขับรถบรรทุกแล้วต้องเผชิญกับผีดูดเลือด 3 Friends and The Ghosts                                                (1)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
This short novel is about a guy who works as a DJ for the radio program 'The Spook Radio', famous for its allowing audience to share their thrilling experiences or tales about the superstitious stuffs, especially the ghosts, via telephones.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเรื่องนี้เกี่ยวกับคนไทยที่ใช้ชีวิตในเยอรมันช่วงพรรคนาซีเรืองอำนาจ  เขียนยังไม่จบและยังไม่มีการ proofreading แต่ประการใด                     Chapter 1  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้มาจาก facebook  Atthasit Muangin สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มหาศาสดาผู้ลี้ภัยอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ในฐานะเป็นเอตทัคคะหรือผู้เป็นเลิศในเรื่องเจ้า (The royal affairs expert)  พบกับการวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีอย่างมากมายจากบรรดาแฟนคลับหรือคนที่แวะเข้ามาในเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 (มีบทความอื่นอีกมากมายในเฟซบุ๊คของผมคือ Atthasit Muang-in) 1.สลิ่มไม่ชอบอเมริกาและตะวันตกซึ่งคว่ำบาตรและมักท้วงติงไทยหลังรัฐประหารปี 2557  ในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยพวกสลิ่มเห็นว่าทั้งสองฝ่ายเป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอกเช่นเคยบุกประเทศอื่น