Skip to main content

                               

   "เจ้าผู้ปกครองจะต้องเลียนแบบหมาจิ้งจอกและสิงห์โต ด้วยว่าสิงห์โตไม่อาจปกป้องตัวเองจากกับดัก และหมาจิ้งจอกไม่อาจป้องกันตัวเองจากหมาป่า ดังนั้นเราต้องเป็นหมาจิ้งจอกในการระแวดระวังกับดัก และเป็นสิงห์โตเพื่อที่จะทำให้หมาป่ากลัว"

                          Niccolo Machiavelli

    

     ที่ได้กล่าวเช่นนี้อาจจะดูเกินจริงไปเพราะคงมีนักการเมืองอีกค่อนโลกที่ไม่รู้จักเสียด้วยซ้ำว่าเขาเป็นใคร แต่เป็นที่แน่ชัดว่านักการเมืองไม่ว่าประเทศไหนไม่ว่าจะเป็นทรราชอย่างเช่น มุสโสลินี ฮิตเลอร์ สตาลิน เหมา เลนิน หรือรัฐบุรุษเช่น เชอร์ชิลล์ แท็ชเชอร์ หรือประธานาธิบดีสหรัฐฯเช่น รุสเวลส์จนไปถึงบุชพ่อลูก โอบามา ทรัมป์ คลินตัน เยลต์ซิน ปูติน จนไปถึงนักการเมืองของประเทศโลกที่ 3 อย่างตัน ฉ่วย   ซูฮาร์โต้ ทักษิณ หรือประยุทธ์ ฯลฯ ล้วนแต่ดำเนินตามทฤษฎีของเขาทั้งนั้นอาจจะโดยบังเอิญและอาจจะไม่ตรงเสียทีเดียวเพราะแต่ละคนจะต้องปรับกลยุทธ์ไปตามสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ของตน ทั้งสำเร็จบ้างไม่สำเร็จจนไปถึงล่มจมตามกรณีไป แถมไม่นับนักปรัชญาการเมืองชื่อดังของโลกที่ได้รับอิทธิพลจากเขาอย่างมหาศาลซึ่งเราจะยกไปกล่าวในตอนท้ายของบทความ สำหรับพวกเราที่รู้จักภาษาอังกฤษดีก็จะสะดุดตากับคำว่า Machiavellian ที่เป็นคำคุณศัพท์แปลว่า "รอบจัด" หรือ "เจ้าเล่ห์" (อาจจะแปลได้อีกคำคือ "สาวกของมาเคียเวลลี") ซึ่งก็บอกอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับตัวเขาคนนี้ได้ดี แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด ชายคนนี้ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งรัฐศาสตร์สมัยใหม่ (ส่วนสมัยเก่าคืออาริสโตเติล) และเป็นนักคิดคนสำคัญของทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เรียกว่าสัจนิยม  เขาคือ Niccolo Machiavelli (นิคโคโล มาเคียเวลลี)

 

                                                                      

                                                                          ภาพจาก  wikimedia.com

 

       มาเคียเวลลีเกิดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ปี 1469 ณ หมู่บ้าน ซาน คาสเชียโน่ อิน วาล ดิ เปซา ใกล้นครฟลอเรนซ์ แห่งอิตาลี ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่ได้เป็นประเทศอย่างที่เราเห็น หากแบ่งแยกเป็นนครรัฐ (City-State) หรือนครที่อยู่ร่วมกันอย่างหลวมๆ  บิดาของเขาเป็นนักกฎหมายซึ่งน่าจะมีฐานะดีจนสามารถส่งเขาไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฟลอเรนซ์และกับปราชญ์ชื่อดังจนมีความรู้อย่างดีในด้านภาษาละตินและปรัชญามนุษย์นิยม (Humanism)ที่เฟื่องฟูในยุคการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของยุโรป (Renaissance) อย่างมาก   2  แนวคิดนี้ถือได้ว่าเป็นรากฐานทางปรัชญาการเมืองของเขาเลยก็ว่าได้ ยุคที่มาเคียเวลลีเกิดมานี้แสนจะวุ่นวาย ถือได้ว่าเป็นยุคแห่งการล่มสลายของอาณาจักรโรมันศักดิ์สิทธิ์ อันเกิดจากสงครามระหว่างกรุงโรมศักดิ์สิทธิ์และพันธมิตรแห่งคอนยัคซึ่งประกอบด้วยนครรัฐของอิตาลีเช่น มิลาน เวนิส ฟลอเรนซ์ ฝรั่งเศส ฯลฯ บรรยากาศเหล่านี้ย่อมเป็นตัวกำหนดโลกทัศน์ของมาเคียเวลลีเกี่ยวธรรมชาติของมนุษย์ได้อย่างดี ในวัยหนุ่ม เขาเข้าทำงานเป็นเสมียน ได้เป็นเลขานุการและได้เป็นทูตตัวแทนของเมืองฟลอเรนซ์ไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับแคว้นต่างๆ และรับผิดชอบกองกำลังรักษารัฐ บางแหล่งว่าเขาได้เป็นถึงรัฐมนตรีของนครฟลอเรนซ์ ในช่วงที่มาเคียเวลลีกำลังดวงขึ้นอยู่ขณะนี้ ขอย้อนกลับไปว่า นครฟลอเรนซ์เมื่อก่อนนั้นเคยถูกปกครองโดยตระกูลเมดิชีอันทรงอิทธิพล แต่แล้วประชาชนก็พร้อมใจกันขับไล่ตระกูลนี้ออกไปในปี 1494 และเปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐ แต่แล้วในปี 1512 ตระกูลนี้ก็กลับมายึดนครฟลอเรนซ์ได้อีกครั้ง มาเคียเวลลีซึ่งเคยทำงานต่อต้านตระกูลนี้มาก่อนจึงถูกจับกุม ถูกกล่าวหาและถูกทรมานจนปางตายใน 1 ปีหลังจากนั้นว่ากันว่าผู้คุมไปลอกวิธีการเช่นนี้มาจากยุคกลางเช่นจับนักโทษมัดขาแล้วห้อยขึ้นสูงจากพื้นพอประมาณ ก่อนจะปล่อยลงอย่างแรงๆ  

     โชคชะตายังเมตตาเพราะเขาได้รับการปล่อยตัวออกมาจึงลี้ภัยไปอยู่ที่บ้านไร่ชายทุ่งนอกนครฟลอเรนซ์ซึ่งได้กลายเป็นเวลาอันเหมาะสมสำหรับผลิตงานทางวรรณกรรมถึงแม้ก่อนหน้านั้นเขาก็ได้เขียนงานออกมาแล้วมากมายไม่ว่างานวิชาการ ร้อยแก้วร้อยกรอง บทละคร ที่สำคัญคือ Discourses on Livy (ถูกเขียนในช่วงปี 1512-1517) งานชิ้นสำคัญที่สุดของเขาที่บ้านไร่ชายทุ่งคือ The Prince ถูกเขียนในปลายปี 1513 เขาผลิตหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อหวังจะได้กลับไปรับราชการอีกครั้งหลังจากที่พรรคพวกในรัฐบาลของสาธารณรัฐหลายคนได้รับโอกาสเช่นนี้จากตระกูลเมดิชีแต่จนแล้วจนเล่าก็ไม่ได้เสียที เขาเลยเขียนหนังสือออกมาเรื่อยๆ เช่น The Art of War (จนมีคนนำไปเปรียบเทียบกับแนวคิดของซุ่นจื้อ ปราชญ์ทางด้านสงครามชื่อดังของจีนที่มีชื่อหนังสือคล้ายกัน) จนเมื่อปี 1520 มาเคียเวลลีก็ได้รับคำบัญชาจากคาร์ดินัล กุยลิโอ เดอเมดิชีให้เขียนประวัติของนครฟลอเรนซ์ ใช้เวลา 5 ปี จากนั้นเขาก็เริ่มได้งานจากรัฐบาลของเมดิชี แต่ถึงแก่กรรมเสียก่อนในปี 1527

    หนังสือชิ้นสำคัญที่สุดของมาเคียเวลลีคือ The Prince เป็นหนังสือที่มาเคียเวลลีเร่งเขียนเพราะต้องการจะไปนำเสนอให้กับกุยลิโน เดอเมดิชี แต่เจ้าองค์นี้สิ้นพระชนม์เสียก่อน กว่าที่โลเรนโซ เดอ เมดิชี เจ้าคนใหม่ซึ่งเขาอุทิศให้จะได้อ่านงานชิ้นนี้ก็ปาเข้าไป 1516 หนังสือเล่มนี้ มาเคียเวียลลีต้องการเสนอแนะวิธีในการปกครองนครของเจ้า ซึ่งทำให้เขานั้นกลายเป็นบิดาแห่งบิดารัฐศาสตร์ยุคใหม่ นั้นคือในยุคก่อนหน้านั้นแนวคิดทางการเมืองอิงอยู่กับยุคกลาง (Medieval Age) ซึ่งให้คุณค่าแก่เรื่องคุณธรรม ศีลธรรม และอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า แต่ "เจ้าผู้ปกครอง" ของมาเคียเวลลีกลับเป็นการเน้นไปที่เรื่องของฆราวาสล้วนๆ นั้นคือ หนังสือเล่มนี้ถูกแปลเป็นภาษาไทยภายใต้ชื่อ"เจ้าผู้ปกครอง"โดย สมบัติ จันทรวงศ์ ดังนั้นคำว่า Prince ไม่ได้หมายถึง "เจ้าชาย"ตามความหมายทั่วไป หากหมายถึง ผู้ปกครองรัฐในสมัยนั้น จึงขอใช้ชื่อไทยเพราะมันตรงมากกว่า

 

 

                                                                    

                                                                   ภาพจากwww. amazon.com

 

ต่อไปนี้คือแนวคิดสำคัญบางส่วน

มาเคียเวลลีเห็นว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว โกหก หลอกลวง ทะเยอทะยาน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของตัวเอง ดังนั้นการที่เจ้าจะปกครองมวลชนได้ก็ต้องใช้อำนาจ แน่นอนว่ามาเคียเวลลีต้องการเอาใจพวกเมดิชี ดังนั้นเขาจึงยกย่องการปกครองแบบราชาธิปไตยอันมีการสืบต่อตำแหน่งทางสายเลือดไม่ใช่การแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง/คุณธรรมอันประเสริฐสุดไม่ใช่แบบตามแบบคริสตศาสนาในยุคกลางหากแต่หมายถึงรัฐที่มีเสถียรภาพและทรงเกียรติ เจ้าผู้ปกครองจึงต้องใช้ทุกวิถีทางในการปกป้องรัฐแม้ว่ามันจะโหดร้ายเพียงไหนก็ตาม แน่นอนมันย่อมหมายถึงเสถียรภาพของอำนาจตัวเองด้วย แต่เจ้าผู้ปกครองต้องไม่เป็นที่เกลียดชังเพราะจะทำให้ตนต้องล่มจม กระนั้นเจ้าผู้ปกครองต้องไม่ที่รักเพราะเปี่ยมด้วยความเมตตา เพราะความเมตตาจะนำปัญหามากมายมาสู่ภายหลัง เขาควรจะเป็นที่ได้รับความเกรงกลัวและเป็นที่รักจากการทำตัวให้ดูเป็นคนดี มีศีลธรรม มากกว่าเป็นคนดีจริงๆ เพราะสักวันเขาอาจจะทำอะไรบางอย่างที่ตรงข้ามกับความเป็นคนดีของตน แต่ท้ายสุดถ้าจะให้เลือกแล้วเขาควรที่จะถูกกลัวเสียมากกว่าถูกรัก  

       มาเคียเวลลีเองได้วิพากษ์ศาสนจักรซึ่งสุดแสนจะฉ้อฉลมาตั้งแต่ยุคกลางจนมาถึงยุคของเขานั้นคือยุคฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรม ดังนั้นศาสนาจึงไม่ใช่ความกลัวต่อพระเจ้าหากแต่เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวสำหรับประชาชนให้ประพฤติตัวดีมีศีลธรรม และยังมีความมุ่งมั่น พร้อมใจในการปกป้องนครจากศัตรู เจ้าผู้ปกครองควรที่จะสนับสนุนศาสนาเพื่อเป็นการดำรงไว้ซึ่งอำนาจของตัวเอง/เมื่อมนุษย์ (และรัฐ)  เต็มไปด้วมความชั่วร้าย แก่งแย่งชิงดีกัน มาเคียเวลลีจึงให้ความสำคัญแก่สงครามอย่างมาก สงครามเป็นสิ่งที่เจ้าผู้ปกครองต้องศึกษาไว้ให้ดี ต้องทำให้นครของตนมีกองทัพอันยิ่งใหญ่ หรืออย่างน้อยตัวนครต้องมีความแข็งแรง สามารถปกป้องและพึ่งพิงตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งทหารรับจ้างและทหารจากรัฐอื่น ซึ่งอาจทำให้อำนาจของเจ้าผู้ปกครองนครต้องสูญเสียไป /เจ้าผู้ปกครองควรจะมีที่ปรึกษาหลายคนเพราะคนเหล่านั้นย่อมให้ข้อเสนอแนะที่แตกต่างตามแต่สันดานและผลประโยชน์ของตน ดังนั้นเจ้าควรจะครุ่นคิดให้ถ่องแท้ /มาเคียเวลลีเห็นว่าเจ้าผู้ปกครองควรจะมีเจตจำนงอิสระในการตัดสินใจบริหารราชการด้วยตัวเอง ถึงเขาจะมีฝีมือความสามารถแต่ก็ยังต้องพึ่งลิขิตฟ้าที่หาความแน่นอนไม่ได้แต่เป็นตัวกำหนดชะตาของตนและรัฐเสียครึ่งหนึ่ง ดังนั้นเจ้าผู้ปกครองจึงควรที่จะปรับเปลี่ยนและหยิบฉวยลิขิตฟ้านั้นเพื่อเป็นประโยชน์แห่งตน ฯลฯ

     ด้วยแนวคิดที่ว่า "เจ้าผู้ปกครองจะต้องทำทุกวิธีทางในการทำรักษาอำนาจของตน"เลยเถิดกลายเป็นคาถาประจำใจของนักการเมืองไม่ว่ามาจากการเลือกตั้งหรือการทำรัฐประหารไปเสีย นั่นคือมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ของตน และอ่านดูให้ดีจะเห็นนักการเมืองเหล่านั้นก็มีพฤติกรรมอย่างที่เห็นข้างบนอยู่หลายข้อถึงแม้พวกเขาอาจจะไม่เคยอ่าน "เจ้าผู้ปกครอง" มาก่อน มาเคียเวลลีจึงถูกมองจากชาวโลกส่วนใหญ่ว่าเป็นนักปรัชญาที่แสนชั่วร้าย ปัจจุบันมีนักวิชาการมากมายออกมาแก้ต่างให้ว่าที่ความจริงแล้ว นักปรัชญาชาวอิตาลีผู้นี้มุ่งเน้นไปที่เรื่องของเสถียรภาพของรัฐหรือส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว เพียงแต่เขามองธรรมชาติของมนุษย์ในแง่ร้าย เย็นชาเท่านั้น นอกจากนี้ หนังสือของมาเคียเวลลีที่ชาวโลกมักจะหลงลืมคือ Discourses on Livy (ชื่อเต็มคือ Discourses on the First Ten Books of Titus Livy) ขนาด 3 เล่มใหญ่ ที่มาเคียเวลลีกลับไปศึกษาลักษณะการเมืองของอาณาจักรโรมัน เป็นสิ่งที่แสดงถึงความศรัทธาของเขาในเรื่องสาธารณรัฐ (Republic) ซึ่งมีรัฐบาลที่ขึ้นอยู่กับการยอมรับและการมีส่วนร่วมของประชาชนระดับรากหญ้าอันมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยอันแตกต่างกับ"เจ้าผู้ปกครอง" ที่เน้นการปกครองจากคน ๆ เดียว เขาจึงเป็นนักปรัชญาที่มี 2 แนวคิดคู่แฝดขนานกันไป สำหรับ Discourses on Livy เขากลั่นมันมาจากความคิดในเชิงอุดมคติ ส่วน "เจ้าผู้ปกครอง" เป็นหนังสือที่ทำให้เขากลายเป็นบิดาแห่งวิชารัฐศาสตร์ยุคใหม่เพราะทฤษฎีทั้งหลายในนั้นล้วนเกิดจากการสังเกตการณ์ล้วนๆ ในขณะที่แนวคิดทางการเมืองก่อนหน้านั้นใช้วิธีการนั่งคิดเอาเอง (เอาตามจริงก็ไม่เชิง แนวคิดเมื่อก่อนก็ใช้วิธีการสังเกตอยู่ไม่น้อย หากแต่เน้นเรื่องอุดมคติหรือสิ่งที่นามธรรมเสียมากเกินไป)

      นอกจากบรรดานักการเมืองแล้ว แนวคิดของมาเคียเวลลีโดยเฉพาะใน "เจ้าผู้ปกครอง" ได้มีอิทธิพลต่อนักคิดจำนวนมากในยุคหลังไม่ว่าโทมัส ฮอบส์ (ทั้งคู่จึงกลายเป็นนักปรัชญาที่ทรงอิทธิพลต่อทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ),ญอง-ญาค รุสโซ นักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศส, ฟริดริก นิชเช  นักปรัชญาชาวเยอรมันแนวคิดอัตถิภาวนิยมเจ้าของวลีอันโด่งดัง "พระเจ้าตายแล้ว"  ,นักปรัชญาลัทธิมาร์กซ์อย่างเช่น อันโตนีโอ  กรัมส์ชี  ,ลีโอ สเตราส์ นักปรัชญาอเมริกันผู้มีอิทธิพลต่อแนวคิดนวอนุรักษ์นิยมของอเมริกา รวมไปถึง เฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในสมัยของริชาร์ด นิกสัน ทั้ง 2 คนหลังนี้ทำให้เราได้รู้ว่า หากจะศึกษานโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ไม่ว่ายุคเก่ายุคใหม่ ก็ควรจะอ่าน "เจ้าผู้ปกครอง"เสียก่อน แต่ถ้าสนใจอิทธิพลของมาเคียเวลลีต่อการเมืองไทยก็ลองดูพฤติกรรมของคสช.ตอนนี้ก็ได้

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เขียนงานเขียนในรูปแบบต่างๆ  คือนวนิยาย เรื่องสั้นหรือแม้แต่บทละครมานานก็เลยอยากจะชี้แจ้งให้ท่านผู้อ่านเข้าใจว่าเนื่องจากเป็นงานเขียนแบบงานดิเรกหรือแบบนักเขียนสมัครเล่นอย่างผม จึงต้องขออภัยที่มีจุดผิดพลาดอยู่ เพราะไม่มีคนมาตรวจให้ ถึงผมเองจะพยายามตรวจแล้วตรวจอีกก็ยังมีคำผิดและหลักไวยากรณ์อยู่
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The Spook Radio (part 2)ภาค 2 ของดีเจอ้นซึ่งเป็นดีเจรายการที่เปิดให้ทางบ้านมาเล่าเรื่องสยองขวัญหรือเรื่องเหนือธรรมชาติ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก The Shock และ The Ghost  (Facebook คนเขียนคือ Atthasit Muang-in)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
(เรื่องสั้นสยองขวัญภาษาอังกฤษเรื่องนี้ลอกมาจากเรื่องสั้นของราชาเรื่องสยองขวัญของเมืองไทย ครูเหม เวชากร ตัวเอกคือนายทองคำ เด็กกำพร้าอายุ 12 ขวบที่อาศัยอยู่กับยายและญาติในชนบทของไทยในช่วงเวลาประมาณ พ.ศ.2476)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The lingering sunlight from the dawn kissed my eyelids and I could hear faintly the flock of big birds, whose breed was unbeknownst to me, chirping merrily outside window ,as if to greet the exuberant face of a new day.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเกี่ยวกับนักเขียนวัยกลางคนที่มีความหลังอันดำมืดและความสัมพันธ์กับดาราสาวผู้มีพลังจิต 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของรปภ.หนุ่มผู้ค้นหาภูติผีปีศาจในตึกที่ลือกันว่าเฮี้ยนที่สุด  เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากรายการ The Ghost Radio(the altered version)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของผู้ชาย 3 คนที่ขับรถบรรทุกแล้วต้องเผชิญกับผีดูดเลือด 3 Friends and The Ghosts                                                (1)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
This short novel is about a guy who works as a DJ for the radio program 'The Spook Radio', famous for its allowing audience to share their thrilling experiences or tales about the superstitious stuffs, especially the ghosts, via telephones.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเรื่องนี้เกี่ยวกับคนไทยที่ใช้ชีวิตในเยอรมันช่วงพรรคนาซีเรืองอำนาจ  เขียนยังไม่จบและยังไม่มีการ proofreading แต่ประการใด                     Chapter 1  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้มาจาก facebook  Atthasit Muangin สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มหาศาสดาผู้ลี้ภัยอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ในฐานะเป็นเอตทัคคะหรือผู้เป็นเลิศในเรื่องเจ้า (The royal affairs expert)  พบกับการวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีอย่างมากมายจากบรรดาแฟนคลับหรือคนที่แวะเข้ามาในเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 (มีบทความอื่นอีกมากมายในเฟซบุ๊คของผมคือ Atthasit Muang-in) 1.สลิ่มไม่ชอบอเมริกาและตะวันตกซึ่งคว่ำบาตรและมักท้วงติงไทยหลังรัฐประหารปี 2557  ในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยพวกสลิ่มเห็นว่าทั้งสองฝ่ายเป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอกเช่นเคยบุกประเทศอื่น