Skip to main content

     เคยมีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้ สังคมไทยเกิดคำฮิตกับเพศชายคือคำว่าเมโทรเซ็กซัล (Metrosexual) หรือเรียกสั้นๆ ว่าเมโทร กระนั้นก็ทำให้คนเข้าใจไปเป็นคำ ๆ เดียวหรือใกล้เคียงกับ  คำว่า Homosexual หรือ พวกรักร่วมเพศ จึงกลายเป็นมองว่าคนพวกนี้เป็นเกย์ทั้งนั้น  ตามความจริงแล้ว คำว่า Metrosexual มีนิยามเหมือนกับคำขวัญของโฆษณาที่ว่า “ผู้ชายก็รักหน้าสวยเหมือนกัน” นั่นคือ ผู้ชายที่รักสวยรักงาม เช่นมีเครื่องสำอางมาประทินโฉม หรือ พิถีพิถันในเรื่องการแต่งกายมากกว่าชายปกติทั่วไป เป็นคำที่ถูกค้นคิดโดยนายมาร์ก  ซิมสัน นักเขียนประจำสำนักข่าวอินดิเพนเดนท์ ของอังกฤษในปี 1994 จากหนังสือของเขาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของเพศชายในยุคปัจจุบัน มีชื่อเต็ม ๆ ว่า The Male Impersonator : Men Performing Masculinity  กล่าวสั้นๆ ว่าพวกเมโทรเป็นผู้ชายที่หมกมุ่นกับหน้าตาและภาพลักษณ์ของตัวเองอย่างมหาศาล

    ซิมสันยังใช้แนวคิดแบบซิกมันด์ ฟรอยด์ ศาสดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์คือ Narcissism นั่นคือ คนเป็นเมโทรจะหลงรักตัวเองโดยการต้องการให้ภาพลักษณ์อันสวยงามของตนไปปรากฏตัวบนนิตยสารหรือหนังสือต่าง ๆ ไม่ว่าจะใช้เงินไปมากน้อยแค่ไหน  คำว่า Narcissim นี่มาจาก ชื่อจากเทพบุตรรูปงามนามว่านาซีซัส ในเทพนิยายกรีกที่มีนางไม้ไปหลงรัก แต่เขาไม่สนใจ เลยมีพรรคพวกของนางไม้มาช่วยล้างแค้นแปลงร่างเป็นแม่น้ำ เมื่อนาซีซัสเดินข้ามเห็นเงาตัวเองก็เกิดหลงรักตัวเองจนหัวใจสลายตาย สิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นความเป็นเมโทรก็คือ ระบบทุนนิยมที่ต้องการขายภาพความสวยความงามของผู้ชาย เช่นโฆษณาเครื่องสำอางสำหรับท่านชาย และ พวกรักร่วมเพศซึ่งเป็นเจ้าตำรับแห่งการรักสวยรักงามมาแต่ไหนแต่ไร อาจเพราะเห็นว่ามีโอกาสได้กำไรอยู่มากหากก้าวพ้นจากการมุ่งแต่กลุ่มผู้หญิงซึ่งเป็นผู้บริโภคเครื่องสำอางส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบัน ผู้ชายที่ไม่ใช่พวกรักร่วมเพศก็สามารถเป็นเมโทรได้ โดยเฉพาะผู้ชายชนชั้นกลางที่อยู่ในเมืองใหญ่ ๆ มากกว่าแถวชนบทอาจนอกจากจะมีรายได้มากกว่าแล้วยังเปิดรับต่อระบบบริโภคนิยมจนมีแนวโน้มที่จะทำตามการกำหนดของแฟชั่นมากกว่า จะว่าตามจริงแล้วระบบทุนนิยมเป็นการสร้างมายาคติให้ผู้บริโภคหมกมุ่นกับตัวเอง แบบ Narcissism ทั้งนั้น ดังสังเกตได้ว่า โฆษณาทีวีมันจะพูดแต่ว่า "คุณๆๆ" ทั้งนั้น แน่นอนในหัวของผู้บริโภคท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมก็มีแต่ "ฉันๆๆ" ด้วยในเมืองใหญ่ ๆ ความเป็นปัจเจกประเภท "เรื่องของฉัน"ย่อมมีมากว่าชนบทที่ยังอิงอยู่กับสังคมแบบเก่าอยู่มาก จะว่าอย่างนี้ก็ไม่เชิง เพราะปัจจุบัน ระบบทุนนิยมและการสื่อสารเช่นทีวี อินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ มันทันสมัย ไปได้ถึงที่ ชาวบ้านก็หมกมุ่นกับ "เรื่องของฉัน" ไม่แพ้กัน อันเป็นการทำให้พรมแดนระหว่างเมืองกับชนบทหรือ ชนชั้นกลางกับชนชั้นรากหญ้ามีความไม่ชัดเจนนัก

      หากมองไปในเชิงการศึกษาด้านเพศสภาพ (Gender study) พวกเมโทรได้เปลี่ยนแปลง Gender role หรือบทบาททางเพศเสียใหม่จากเดิมที่สังคมมองว่าผู้ชายแท้ไม่จำเป็นต้องรักสวยรักงาม พวกเมโทรคือพวกผู้ชายที่กล้าแสดงออกว่าตัวเองสามารถสัมผัสกับด้านที่เป็นผู้หญิงของตัวเอง โดยที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับรสนิยมทางเพศเลย เพราะยังคงเป็นพวกรักต่างเพศ หรือ Heterosexual ยังเนียวแน่น กระนั้นหากมีใครลามไปแต่งกายเป็นผู้หญิง ก็จะกลายเป็นดังคำศัพท์ทางจิตวิทยาที่ว่า Transvestism คือพวกที่ชอบแต่งกายเป็นเพศตรงกันข้าม คนแบบนี้ใช่ว่าจะเป็นเกย์นะครับ ผู้ชายรักต่างเพศก็มีอยู่ไม่น้อย ที่เมืองนอกถึงกลับประท้วงขอสิทธิในการใส่กระโปรง (ในเมื่อผู้หญิงใส่กางเกงได้ ทำไมผู้ชายถึงใส่กระโปรงไม่ได้ ?)  อันนี้คงคล้าย ๆ กับภาพยนตร์ Tootsie (1982)  ที่ดัสติน ฮอฟฟ์แมนแสดงเป็นดาราหนังตกกระป๋องจนต้องปลอมตัวเป็นดาราหญิงและประสบความสำเร็จ ทั้งที่เขายังคงเป็นผู้ชายธรรมดา แต่ไปๆ มาๆ เขาก็ชอบการแต่งกายแบบผู้หญิงไปแม้ได้ตกล่องปล่องชิ้นกับนางเอกในตอนจบก็ตาม

      แน่นอนว่าพวกเมโทรที่เป็นดาราจะใช้ภาพพจน์เช่นนี้เป็นจุดขายให้พวกคนดูสาวๆ ติดกันมากขึ้น ปัจจุบันกระแสวายหรือคู่จิ้นเริ่มมาแรงแม้จะเป็นแค่หนังหรือเรื่องสมมติก็ตาม วงการบันเทิงเริ่มนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องรักร่วมเพศมากขึ้นโดยเลื่อนพวกรักร่วมเพศจากตัวประกอบหรือตัวตลกหรือตัวร้ายมาเป็นตัวเอก ผู้ชายแบบเมโทรหลายคนก็ไม่แคร์สังคมอาจจะแสดงหนัง รับบทบาทเป็นเกย์ในบางเรื่อง นัยว่าเพื่อสร้างกระแสความสนใจหรือปรับปรุงฝีมือการแสดง อันนี้ก็แล้วแต่กรณี ภาพที่จะทำให้คนตกตะลึงได้ก็คือการจูบปากเพศเดียวกันไม่ว่าหญิงกับหญิงหรือชายกับชาย ถึงแม้จะเป็นแค่การโพสท่า คนโดยมากจะเข้าใจว่าเป็นแค่เรื่องสมมติ (ถึงแม้จะสงสัยรสนิยมของคน ๆนั้นอยู่บ้าง) ทว่ายิ่งสร้างความชอบให้กับสาวๆ ที่นิยมหนังเกย์มากขึ้น

    กระนั้นแนวคิดที่ว่า "ชายแท้ย่อมไม่รักสวยรักงาม" นี้ไม่ทราบว่ามาจากไหนหรือว่าเป็นคติที่ได้จากตะวันตกเมื่อหลายสิบปีก่อน เพราะตามความจริงแล้วในสังคมหลาย ๆ สังคมหรือหลายยุคในอดีต ผู้ชายกับความงามเป็นของคู่กัน ดังการแสดงละครของชาติต่างๆ เช่นของญี่ปุ่นที่ไม่ให้ผู้หญิงขึ้นเวทีก็เน้นการแต่งหน้าและการแต่งตัวของผู้ชาย การแสดงละครเวทีหรืออุปรากรของยุโรปในสมัยก่อนก็ไม่ให้ผู้หญิงขึ้นเวทีก็ให้เด็กหนุ่มที่ถูกตอนอวัยวะเพศให้มาแสดงเป็นผู้หญิง (Castrato) เพราะมีเสียงที่แหลม เช่นเดียวกับสังคมหลายยุคเช่นพุทธกาล ผู้ชายก็นิยมไว้ผมยาว แต่ปัจจุบันเรากลับคิดว่าผู้ชายมีแต่ไว้ผมสั้นอย่างเดียว (หรือคิดว่าผู้หญิงไว้แต่ผมยาว ความจริงผู้หญิงยุคก่อนอย่างน้อยๆ ก็ยุคต้นรัตนโกสินทร์ก็ไว้ผมสั้นกัน) หรือแม้แต่บ้านเรา พวกเมโทรยุคแรก ๆ ก็ได้แก่พระเอกลิเก ที่เอวบางร่างน้อยเหมือนคนสูบฝิ่น ออกโรงทีไร พวกแม่ยกที่อยู่ข้างล่างเวทีก็แทบจะลมจับเพราะพิษสิเน่หา ดังนั้น พวกเมโทรจึงไม่ใช่ของใหม่เพียงแต่เปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างเป็น “ลิเกหลงโรง”เท่านั้น หรืออย่าง นวนิยายเรื่อง พล นิกร กิมหงวน ที่ ป. อินทรปาลิตให้ พล กับนิกร รูปอ้อนแอ่น ชอบแต่งตัวหล่อ ทำให้สาวติดกันกรอโดยเฉพาะพล (ส่วนกิมหงวน เป็นแค่ตลกตามพระ) กระนั้น คุณ ป. ยังมีการแบ่งบทบาททางเพศอย่างชัดเจน เช่นเห็นว่างานบ้านงานเรือนยังเหมาะสำหรับผู้หญิงเท่านั้น ส่วนผู้ชายก็เหมาะกับการกินเหล้า จึงถือได้ว่า พลเป็นหนุ่มเมโทรยุคจอมพล ป.พิบูลสงครามเลยล่ะ   นอกจากนี้พวกเมโทรก็สามารถเป็นชายธรรมดาที่บึกบึนแต่ชอบแต่งหล่อได้เหมือนกัน หากเรามองไปที่นักรบของชนเผ่าต่างๆ ที่ไม่ใช่ตะวันตก เช่นชนเผ่าอินเดียนแดงที่เน้นการแต่งหน้าของชายชาตรี มีเครื่องประดับกันดังที่พวกเราดูในหนังคาวบอย ดูงามสง่ายิ่งกว่าผู้หญิงเสียอีก หรือปัจจุบันเดวิด เบคแคม หรือแบรด พิตต์ ดาราหนังที่แสดงบทบาทเป็นชายจ๋าในหนังบู๊ในอดีตก็เป็นตัวอย่างของชายห้าวที่ชอบแต่งหล่อ

        สำหรับงานอดิเรกนอกจากการแต่งตัว แต่งหน้า ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าพวกเมโทรจะชอบอะไรเพราะตัวเองอยู่ห่างไกลไปหลายชั่วโคตร จะชอบไปตีกอล์ฟ เล่นเทนนิส เล่นรถราคาแพง ฯลฯ เหมือนกับพวกยัปปี สิ่งเหล่านี้คงจะเป็นแล้วแต่คน พวกเมโทรที่เป็นดาราหรือไฮโซมักจะมีงานอดิเรกที่เอาจากฝรั่งที่คนไทยทั่วไปไม่นิยม ก่อนจะออกทีวีเพื่อสร้างภาพ ส่วนหนังสือสำหรับพวกเมโทร ตลาดปัจจุบันก็จะมีนิตยสารแบบนี้มากขึ้นคือเรื่องของความสำอางเช่น เสื้อผ้า ของใช้ราคาแพง ของผู้ชาย บางเล่มก็จะเน้นนำเสนอรูปผู้หญิงนุ่งน้อยห่มน้อย (แต่ไม่โป๊มาก) ส่วนคนที่นิยมอ่านหนังสือประเภท แพรว ดิฉันหรือคอสโมโปลิแทนของไทย (ที่เพิ่งปิดตัวไปในเวลาเดียวกับนิตยสารอิมเมจ) นั้นจะถือว่าเป็นเมโทรหรือไม่ ก็ไปหาคำตอบกันเอาเอง ที่สำคัญพวกเมโทรน่าจะเป็น ladies' man ก็คือผู้ชายที่สาวๆ กรี๊ดและมักจะตัวติดอยู่กับแต่แฟนสาวหรือกิ๊ก พวกชายเมโทรโดยมากน่าจะมีกิ๊กมาก ๆ เพื่อเป็นการยืนยันต่อเสน่ห์ของเขาที่มีต่อเพศตรงกันข้าม

      เมโทรเหมาะกับแนวโน้มปัจจุบันของผู้ชายตามความนิยมของผู้หญิง ดังจะดูได้จากหนังที่ยุคก่อน หญิงจะกรี๊ดกับหนุ่มแมน ๆ แบบ สมบัติ เมทะนี สรพงษ์ ชาตรี กรุง ศรีวิไล ฯล ฯ ที่มีวิถีชีวิตแบบหนุ่มมั่น คือ ทั้งกินเหล้า เคล้านารี แต่ปัจจุบัน ผู้ชายที่พึงปรารถนา คือ Family Man รักลูกรักเมีย ทำกับข้าว เลี้ยงลูกก็ได้ บางทีอาจจะร้องไห้ได้บ้าง (แต่ไม่น่าจะถึงกับบ่อยนัก) เคยอ่านเจอจดหมายจากผู้หญิงคนหนึ่งที่เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่เธอกับคู่รักหนุ่มมีอะไรกันแล้ว เขาก็มาช่วยเธอแต่งตัว ทำให้เธอรู้สึกชื่นชมเขามาก อันแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงน่าจะชอบผู้ชายที่สามารถเข้าถึงความเป็นหญิงได้ กระนั้นเราจะไปเหมาไปว่าพวกเมโทรถ้าแต่งงานจะเป็น Family man ก็คงจะไม่ถูกต้องนัก เพราะเขาคงนิยมเป็นโสดแบบไม่สดนั่นคืออยู่กับหญิงที่รักแบบไม่แต่งงานไม่มีพันธะมาก หากแต่งงานมีลูก จะเอาเวลาไหนมาแต่งหล่อกัน (แต่อย่างเบ็คแคมหรือแบรด พิตต์ คงเป็นกรณียกเว้น เพราะเป็นคนดัง ฐานะร่ำรวย มีพี่เลี้ยงช่วยลูกได้ แถมเอาเมียกับลูกมาช่วยเสริมสร้างภาพได้อีกด้วย) ดังนั้นอายุของการเป็นหนุ่มเมโทรน่าจะมีจำกัดอย่างน้อยก็ช่วงชีวิตหนึ่ง พออายุมากเข้าและยังไม่แต่งงานก็จะกลายเป็นเพลย์บอยเฒ่าๆ ที่เลี้ยงเด็กสาวๆ ไว้หรือไม่ก็เสรีชนที่นิยมอยู่กับผู้หญิงแบบไม่แต่งงานเหมือนกับนักปรัชญาชื่อดังของฝรั่งเศสเช่นญอง ปอล ซาร์ตร์ กับเจ้าแม่แห่งลัทธิสตรีนิยมคือซีโมน เดอ โบวัว

      ทั้งหมดนี้คงสอดคล้องกับแนวคิดทางสังคมวิทยาโดยเฉพาะแบบโพสโมเดิร์นที่ว่า “ความเป็นเพศ” มันไม่ได้ถูกกำหนดโดยลักษณะทางกายภาพโดยเฉพาะอวัยะเพศอย่างเดียว หากยังขึ้นอยู่กับบริบททางวัฒนธรรมอันเปลี่ยนแปลง เลื่อนไหล จนอันหาตัวตนที่แน่นอนไม่ได้อีกด้วย

 

                               

                            

 

                                                                   ภาพจาก  havaspr.com

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เขียนงานเขียนในรูปแบบต่างๆ  คือนวนิยาย เรื่องสั้นหรือแม้แต่บทละครมานานก็เลยอยากจะชี้แจ้งให้ท่านผู้อ่านเข้าใจว่าเนื่องจากเป็นงานเขียนแบบงานดิเรกหรือแบบนักเขียนสมัครเล่นอย่างผม จึงต้องขออภัยที่มีจุดผิดพลาดอยู่ เพราะไม่มีคนมาตรวจให้ ถึงผมเองจะพยายามตรวจแล้วตรวจอีกก็ยังมีคำผิดและหลักไวยากรณ์อยู่
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The Spook Radio (part 2)ภาค 2 ของดีเจอ้นซึ่งเป็นดีเจรายการที่เปิดให้ทางบ้านมาเล่าเรื่องสยองขวัญหรือเรื่องเหนือธรรมชาติ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก The Shock และ The Ghost  (Facebook คนเขียนคือ Atthasit Muang-in)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
(เรื่องสั้นสยองขวัญภาษาอังกฤษเรื่องนี้ลอกมาจากเรื่องสั้นของราชาเรื่องสยองขวัญของเมืองไทย ครูเหม เวชากร ตัวเอกคือนายทองคำ เด็กกำพร้าอายุ 12 ขวบที่อาศัยอยู่กับยายและญาติในชนบทของไทยในช่วงเวลาประมาณ พ.ศ.2476)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The lingering sunlight from the dawn kissed my eyelids and I could hear faintly the flock of big birds, whose breed was unbeknownst to me, chirping merrily outside window ,as if to greet the exuberant face of a new day.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเกี่ยวกับนักเขียนวัยกลางคนที่มีความหลังอันดำมืดและความสัมพันธ์กับดาราสาวผู้มีพลังจิต 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของรปภ.หนุ่มผู้ค้นหาภูติผีปีศาจในตึกที่ลือกันว่าเฮี้ยนที่สุด  เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากรายการ The Ghost Radio(the altered version)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของผู้ชาย 3 คนที่ขับรถบรรทุกแล้วต้องเผชิญกับผีดูดเลือด 3 Friends and The Ghosts                                                (1)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
This short novel is about a guy who works as a DJ for the radio program 'The Spook Radio', famous for its allowing audience to share their thrilling experiences or tales about the superstitious stuffs, especially the ghosts, via telephones.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเรื่องนี้เกี่ยวกับคนไทยที่ใช้ชีวิตในเยอรมันช่วงพรรคนาซีเรืองอำนาจ  เขียนยังไม่จบและยังไม่มีการ proofreading แต่ประการใด                     Chapter 1  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้มาจาก facebook  Atthasit Muangin สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มหาศาสดาผู้ลี้ภัยอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ในฐานะเป็นเอตทัคคะหรือผู้เป็นเลิศในเรื่องเจ้า (The royal affairs expert)  พบกับการวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีอย่างมากมายจากบรรดาแฟนคลับหรือคนที่แวะเข้ามาในเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 (มีบทความอื่นอีกมากมายในเฟซบุ๊คของผมคือ Atthasit Muang-in) 1.สลิ่มไม่ชอบอเมริกาและตะวันตกซึ่งคว่ำบาตรและมักท้วงติงไทยหลังรัฐประหารปี 2557  ในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยพวกสลิ่มเห็นว่าทั้งสองฝ่ายเป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอกเช่นเคยบุกประเทศอื่น