Skip to main content

 

ตอนที่ 1

    

                  สำหรับผม แว็คเนอร์ในบางครั้งเปรียบได้ดังเทพเจ้า ดนตรีของเขาคือศาสนาของผม”

                                                                                     ฮิตเลอร์

   

      ถือกันได้ว่าริชาร์ด แว็คเนอร์ (Richard Wagner) เป็นนักประพันธ์เพลงคือคีตกวีทรงอิทธิพลที่สุดสำหรับโลกในยุคศตวรรษที่ 19 ถึงปัจจุบันโดยเฉพาะด้านอุปรากร ในหลายแห่งจัดให้มหาอุปรากรของเขาคือ The Ring of the Nibelungen ยิ่งใหญ่และลุ่มลึกกว่าอุปรากรของ เวเบอร์ โมซาร์ท ปุชชินี   หรือแม้แต่คีตกวีซึ่งเป็นคู่แข่งคนสำคัญในการแต่งอุปรากรคือจูเซปเป เวอร์ดี ก็ยังยกย่องแว็คเนอร์ว่าเป็น “หนึ่งในอัจฉริยะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดผู้ได้ทิ้งคุณค่าอมตะเอาไว้เป็นมรดกโลก” สำหรับตอนท้ายของบทความนี้จะกล่าวถึงอิทธิพลของเขาที่มีต่อผู้นำเผด็จการนาซีคืออดอล์ฟ  ฮิตเลอร์ ซึ่งเชิดชูแว็คเนอร์ดุจดังเทพเจ้า ดนตรีของเขาจึงถูกใช้ในงานพิธีต่างๆ ของพวกนาซี เพื่อสร้างความอลังการอย่างที่หาพิธีไหนจะเสมอเหมือนในโลกนี้ แต่แว็คเนอร์ก็ถูกโจมตีจากคนรุ่นหลังเรื่องแนวคิดต่อต้านชาวยิวอันมีผลต่อแนวคิดของฮิตเลอร์อีกด้วย ดนตรีของเขาถึงกลับถูกห้ามไม่ให้แสดงในอิสราเอลตลอดกาล เขาเป็นใครกัน ?

 

                                                                     

                                                                              ภาพจาก www.dermeister.nl 

 

     แว็คเนอร์เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ปี  1813 ที่เมืองไลป์ซิก เยอรมัน พอเกิดมาได้ไม่นาน บิดาก็เสียชีวิต และมารดาก็ไปแต่งงานใหม่กับผู้ชายที่ลือกันว่าเป็นบิดาที่แท้จริงของเขา ด.ช.แว็คเนอร์ไปเรียนหนังสือที่เมืองเดรสเดน อายุได้ช่วง 15 ถึง16 ปี ก็สามารถแต่งบทละครและบทเพลงได้แล้ว จากนั้นเขาก็ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยไลป์ซิก เพื่อเรียนดนตรีกับ โทมัส คันเทอร์ และคริสเตียน ที ไวน์ลิก ในปี 1832 แว็คเนอร์ก็สามารถเขียนซิมโฟนีเสร็จและออกแสดงจนประสบความสำเร็จ แต่ในช่วงปี 1832 แว็คเนอร์เป็นคนควบคุมการร้องประสานเสียง ที่โรงละครวูเอิซเบิร์ก  ที่สนใจคืออิทธิพลทางดนตรีซึ่งเขาได้รับอย่างมหาศาลคือจากคีตกวีผู้บุกเบิกแนวดนตรีโรแมนติกอย่างลุดวิก ฟาน เบโธเฟน  แว็คเนอร์หมกมุ่นในดนตรีของเบโธเฟนอย่างมากจนถึงขั้นเขียนบทเรียงความเกี่ยวกับเบโธเฟนโดยเฉพาะเพื่อเป็นการยกย่องต่อท่านอาจารย์ที่เขาไม่เคยแม้แต่จะเห็นหน้า

      ในปี 1832 นั้นเองแว็คเนอร์ได้แต่งอุปรากรเป็นเรื่องแรกคือ Die Feen (เหล่านางฟ้า) แต่กลับไม่ถูกนำออกแสดงจวบจนเขาถึงแก่กรรม ที่น่าสนใจคือต้นฉบับของอุปรากรนี้ตกอยู่ใต้การครอบครองของกษัตริย์ ลุดวิก ที่ 2  ของแคว้นบาวาเรีย และต่อมาก็เปลี่ยนมือมาอยู่กับฮิตเลอร์ และมันก็ได้มอดไหม้ไปกับจอมเผด็จการขณะอยู่ในบังเกอร์ขณะตอนสิ้นสุดสงคราม ต่อมาในปี 1834 แว็คเนอร์ก็แต่ง Das Liebesverbot (รักต้องห้าม) ซึ่งเป็นอุปรากรหรรษา หรือ Comic Opera ที่ล้มเหลวของแว็คเนอร์จนทำให้เขาต้องสิ้นเนื้อประดาตัว  ปี 1836 เขาแต่งงานกับนักร้องหญิงนามว่ามินนา พลานเนอร์ แต่ชีวิตสมรสไม่มีความสุขนัก มินนาแอบหนีไปกับผู้ชายอีกคนหนึ่ง ซึ่งต่อมาหมอนั้นก็ไม่ใยดีทิ้งให้หล่อนสิ้นเนื้อประดาตัว แว็คเนอร์สวมบทเป็นพ่อพระอ้าแขนยินดีรับเธอกลับมา กระนั้นความรักของคนทั้งคู่ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในอีก 3 ปีต่อมา แว็คเนอร์และภรรยาก็เดินทางไปอังกฤษเพื่อหลบหนีเจ้าหนี้ ทั้งๆ ที่แว็คเนอร์พูดภาษาอังกฤษไม่เป็นสักคำ และเดินทางต่อไปยังกรุงปารีส แต่ในปี 1840 เขาก็กอบกู้ชื่อเสียงตัวเองโดยการแต่งอุปรากรชื่อ Rienzi ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง และเรื่อง Tannhaeuser (1845) ซึ่งก็โด่งดังไม่แพ้กัน

     สำหรับงานที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้อันขาดคือ อุปรากรเรื่อง Die fliegende Hollander หรือ Flying Dutchman (1841) ซึ่งมีแหล่งมาจากขณะแว็คเนอร์โดยสารทางเรือเพื่อหนีเจ้าหนี้ ต้องผจญกับพายุอันน่ากลัวไปพร้อมๆ กับการรับฟังตำนานของเรือปีศาจ ที่คนบนเรือตายไปหมด แต่ต้องล่องลอยไปเรื่อย ๆ  ชั่วกัปชั่วกัลป์ ทั้งหมดนี้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่แว็คเนอร์ในการแต่งอุปรากรเรื่องสำคัญของเขา แต่เขาดัดแปลงเนื้อหาเป็นเรื่องกัปตันเรือผู้ถูกปีศาจสาปให้ต้องแล่นเรือไปตลอดชีวิตแต่มีเงื่อนไขว่าเขาจะสามารถจอดเทียบฝั่งได้ทุกๆ 7  ปี และถ้าหาหญิงสาวที่รักเขาจริง เขาก็จะพ้นคำสาป ถึงแม้อุปรากรเรื่องนี้จะประสบความสำเร็จน้อยกว่า Rienzi แต่เป็นการพัฒนาไปอีกขั้นของแว็คเนอร์จากการเขียนอุปรากรแบบดาดๆ ไปยังอุปรากรที่เต็มไปด้วยความรู้สึกอันแรงกล้ารวมไปถึงความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ นอกจากนี้แนวคิดเรื่องการหลุดพ้นทางจิตวิญญาณด้วยความรักก็มักจะเป็นแกนเรื่องของอุปรากรเรื่องต่อมาของแว็คเนอร์เสมอ

 

                                                    

                                                            ภาพจาก www.amazon.com

 

    อย่างไรก็ตามในปี 1839 เกิดความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นและแว็คเนอร์ไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยไปเข้ากับพวกลัทธิชาตินิยมที่ต้องการแยกเยอรมันออกจากรัฐปรัสเซีย เช่นออกุสต์ ร็อคเกล นักหนังสือพิมพ์หัวรุนแรงและมิคาอิล บาคูนิน (เจ้าพ่อแนวคิด Anarchism หรืออรัฐนิยม) เกิดการจลาจลที่เมืองเดรสเดนและพวกเขาตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทำให้แว็คเนอร์ต้องหนีหัวซุกหัวซุนไปยังนครปารีสและต่อไปยังนครซูริค สวิสเซอร์แลนด์ ในขณะที่เพื่อนเจ้าของชื่อที่ได้กล่าวมาหนีไม่พ้นจึงต้องเศร้าเพราะติดคุกไปตามๆ กัน แต่สำหรับแว็คเนอร์ความรู้สึกก็เลวร้ายพอๆ กันเพราะเขาต้องจากบ้านเมืองมาอยู่ในต่างถิ่นที่ไม่ได้พูดภาษาเยอรมันเป็นหลัก 

    กระนั้นก่อนจะเกิดจลาจลที่เมืองเดรสเดน เขายังอุตสาห์เขียนอุปรากรเอกอีกเรื่องหนึ่งจนจบคือ Lohengrin เป็นเรื่องเกี่ยวกับอัศวินที่ขี่หงส์มาช่วยหญิงสาวผู้ถูกกล่าวหาว่าฆ่าน้องชายของตนผู้ซึ่งเป็นเจ้าครองแคว้น อัศวินลึกลับผู้นั้นก็ต่อสู้กับผู้สำเร็จราชการที่กล่าวหานางเอกจนได้ชัยชนะและได้แต่งงานกับหล่อน อุปรากรเรื่องนี้สร้างความประทับใจให้กับกษัตริย์ลุดวิกที่ 2 ผู้ที่จะเป็นองค์อุปถัมภ์ของแว็คเนอร์ในอีกหลายปีต่อมา พระองค์ถึงกลับทรงตั้งชื่อประสาทอันสวยงามของพระองค์ตามชื่อของหงส์สีขาวที่เป็นพาหนะของพระเอกของเรื่องว่านอยชวานสไตน์ (Neuschwanstein)  ที่น่ากล่าวถึงว่าในอุปรากรเรื่อง Lohengrin ฉากในองค์ที่ 3 ที่พระเอก กับนางเอกกำลังถูกนำเข้าห้องหอ ก็มีเสียงเพลงอันช้าเนิบนาบ พร้อมกับการร้องประสานเสียง ที่ชื่อว่า Bridal Chorus หรือ Here comes the bride (เจ้าสาวมาแล้ว) แปลในภาษาเยอรมันคือ “Treulich Gefuehrt” กลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาวโลก นั่นคือเพลงประกอบการแต่งงานในขณะที่เจ้าสาวกำลังเดินเคียงคู่กับบิดาเพื่อไปทำพิธีร่วมกับเจ้าบ่าวที่ยืนรออยู่กับบาทหลวง (อย่างที่เราเห็นในหนังนั่นเอง) เช่นเดียวกับเพลง Wedding March ของฟีลิกซ์ บาร์โธดี เมนเดลส์โซน ที่คนนิยมเหมือนกันแต่น้อยกว่า อุปรากรเรื่อง Lohengrin ถูกนำออกแสดงเป็นครั้งแรกในเมืองไวมาร์ ในปี 1850 แต่ผู้ควบคุมวงคือเพื่อนที่ทั้งรักทั้งชิงชังของแว็คเนอร์คือ ฟรานซ์ ลิซต์ นักดนตรีและนักประพันธ์ชื่อดัง ผู้ซึ่งให้ความช่วยเหลือทางการเงินและในอนาคตจะกลายเป็นพ่อตาของเขา

     ถึงแม้ชีวิตในนครซูริคจะเต็มไปด้วยเศร้า แต่แว็คเนอร์ยังสามารถแต่งอุปรากรที่ถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับตัวเขาและสำหรับโลก นั่นคือ Der Ring des Nibelungen หรือ The Ring of the Nibelungen เป็นเรื่องเกี่ยวกับเทพนิยาย ยักษ์หรือแม้แต่คนแคระ ที่เขาได้รับอิทธิพลจากตำนานของเยอรมันและประเทศแถบสแกนดิเนเวีย (ซึ่งก็มีอิทธิพลต่อ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน คนเขียนเรื่อง The Lord of the Rings เหมือนกัน)  มันเป็นอุปรากรที่แว็คเนอร์ใช้เวลาถึง 26 ปีในการเขียน คือช่วงระหว่างปี 1848-1874 ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่าความยาวของอุปรากรจะถึง 15 ชั่วโมง แบ่งเป็นอุปรากรย่อยๆ ถึง 4 เรื่องดังนี้

1.Das Rheingold

2.Die Walkuere (เพลงโหมโรงในองค์ที่ 3 ถูกใช้ใน Apocalypse Now ภาพยนตร์สงครามเวียดนามขณะที่เฮลิคอปเตอร์ของทหารอเมริกันกำลังโจมตีหมู่บ้านเวียดกง )

3.Siegfried (ชื่อของตัวเอกที่กลายเป็นชื่อป้อมปราการของเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 )

4.Goetterdaemmerung (รุ่งอรุณแห่งเทพ)

 

                                           

                                                 

                                                           ภาพจาก www.amazon.com

 

      แว็คเนอร์ยังเขียนอุปรากรชื่อดังอีกเรื่องคือ Tristan und Isode (1954) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากตำนานของกษัตริย์อาเธอร์ซึ่งได้ทรงพบว่าอัศวินโต๊ะกลมคนหนึ่งกำลังหลงรักกับว่าที่เจ้าสาวของพระองค์ สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจของเขาในการเขียนอุปรากรเรื่องนี้คือปรัชญาของอาเทอร์ โชเพนเฮาเออร์ซึ่งถือว่าดนตรีเป็นสุดยอดของศิลปะเพราะมันไม่เกี่ยวข้องกับโลกของวัตถุเลย นอกจากนี้ปรัชญาของโชเพนเฮาเออร์จะทำให้แว็คเนอร์มองสภาวะของความเป็นมนุษย์ในด้านร้ายนับแต่นั้นเป็นต้นมา แนวคิดเช่นนี้จะดูได้จากฮันส์ ซัค ตัวเองในอุปรากรเรื่อง Die Meistertsinger Von Nuernberg ที่เขาเขียนขึ้นหลังจากสามารถกลับไปยังปรัสเซียได้ในปี 1861

     แว็คเนอร์ยังได้รู้จักนักปรัชญาหนุ่มอีกคนหนึ่งนามว่าฟริกดิช นิตเช่ซึ่งก็ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของโชเพนเฮาเออร์เช่นกันในปี 1868  นิตเช่นั้นคลั่งไคล้ในตัวของแว็คเนอร์แต่สุดท้ายก็หันมาโจมตีเขาอย่างรุนแรงผ่านหนังสือรวมบทเรียงความที่ชื่อ Nietzsche Contra Wagner (เขียนในช่วงปี 1888-1889) กระนั้นนักปรัชญาหนุ่มก็อดยกย่องไม่ได้ว่าแว็คเนอร์เป็นผู้ทรงอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของเยอรมัน

      ในปี 1862 แว็คเนอร์ก็หย่ากับมินนา แต่ก็ยังช่วยเหลือส่งเสียทางการเงินให้แก่หล่อนจวบจนฝ่ายหลังเสียชีวิต แว็คเนอร์หันมาตกหลุมรักภรรยาของฮันส์ ฟอน บิวโลว์ วาทยากรและมิตรสหายของแว็คเนอร์คือโคสิมา ผู้เป็นลูกนอกสมรสของลิซต์ และเธออายุอ่อนกว่าเขาถึง 24 ปี ถึงแม้บิดาก็ไม่เห็นด้วย ในที่สุดเธอก็หย่ากับสามีและมาแต่งงานกับแว็คเนอร์ จนลิซต์โกรธและไม่ยอมพูดกับเพื่อนหรือลูกเขยเป็นปี ๆ

     แต่เรื่องสำคัญคือในปี 1864 กษัตริย์ลุดวิก ที่ 2  กษัตริย์ของแคว้นบาวาเรีย (ก่อนที่จะถูกรวมเข้ากับเยอรมัน) ทรงเชิญแว็คเนอร์ให้ไปเป็นคีตกวีประจำราชสำนัก และทรงช่วยเหลือทุกอย่างเช่นล้างหนี้ให้หมด พระเจ้าลุดวิกทรงหลงใหลคลั่งไคล้งานของแว็คเนอร์มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ มีข่าวลือว่าพระองค์ทรงเป็นพวกรักร่วมเพศ ด้วยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าลุดวิก แว็คเนอร์ก็มีเงินทุนในการการสร้างโรงละครที่เมืองไบรอยท์ (Bayreuth)  คือไบรอยท์เฟสต์สปีลเฮาส์ เพื่อเปิดแสดงอุปรากรของตัวเอง และมักจะมีการจัดเทศกาลดนตรีอยู่ทุกปี ว่ากันว่าโรงละครและเมืองๆ นี้เปรียบได้ดังมหาวิหารและนครศักดิ์สิทธิ์ ของพวกนาซี   ฮิตเลอร์และบรรดาผู้นำของพรรคจะมาเยือนที่เมืองนี้เพื่อฟังดนตรีของแว็คเนอร์อยู่บ่อยครั้ง

 

ตอนที่ 2

 

           "มีเพียงเบโธเฟน และริชาร์ด (แว็คเนอร์) ต่อจากนั้นก็ไม่มีใคร(เยี่ยมเท่านี้) อีกแล้ว"

                                                                                       กุสตาฟ มาห์เลอร์

           กษัตริย์ลุดวิกที่ 2  ทรงโปรดแว็คเนอร์ไปถึงระดับที่เกินคำว่าเพื่อนเสียแล้ว แต่ด้วยเงินจำนวนมากที่พระองค์ทรงประทานให้ แว็คเนอร์ต้องจำใจยอมแสดงมิตรภาพให้ เพราะที่จริงตอนนั้นเขากำลังติดพันอยู่กับโคสิมาอยู่  มีข่าวลือกันหนาหูว่าพระองค์และแว็คเนอร์เป็นคู่รักกัน ในที่สุดพวกขุนนางซึ่งเชื่อว่าแว็คเนอร์ล้ำเส้นมากเกินไปเลยกดดันให้กับองค์กษัตริย์ต้องทรงเชิญให้คีตกวีสุดสวาทไปพำนักอยู่ที่ทริบส์เคน นอกเมืองมิวนิคในปี 1866

      แต่แล้วก็เกิดเรื่องน่าสยดสยองขึ้นในวันเกิดของแว็คเนอร์ เมื่อพระเจ้าลุดวิกทรงแอบย่องมาอวยพรแว็คเนอร์อย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน พระองค์ทรงแต่งชุดเป็นวอลเตอร์ พระเอกของอุปรากรเรื่อง  Die Meistersinger Von Nuernberg แล้วตรัสแบบทีเล่นทีจริงว่า

      "สหายที่รัก ฉันจะสละราชสมบัติและมาอยู่กับท่านที่นี่"

      แน่นอนว่าคีตกวีของเราต้องปฏิเสธด้วยความรู้สึกที่บรรยายไม่ถูก และการที่โคสิมาได้หย่าจากบิวโรว์และมาแต่งงานกับแว็คเนอร์ในปี 1868 ย่อมแสดงให้เห็นว่าแว็คเนอร์ไม่ได้มีรสนิยมไปทางนั้นอย่างจริงๆ  

      ในปี 1874 แว็คเนอร์ย้ายไปอยู่ที่เมืองไบรอยท์และก่อตั้งหมู่บ้านที่ชื่อว่าวาห์นฟรีด อันหมายถึง สันติภาพหรือเสรีภาพจากความบ้า (ไม่ทราบว่าตั้งชื่อแบบอุดมคติหรือเสียดสีพระเจ้าลุดวิก) หลังจากนั้น 2 ปี เฟสต์สปีลเฮาส์ของแว็คเนอร์ก็สร้างเสร็จ เป็นที่น่าสนใจว่าโรงละครแห่งนี้ของแว็คเนอร์มีลักษณะเหมือนกับมหาวิหารของกรีก ที่นั่งถูกตีเป็นวงกว้างๆ ไม่มีการแบ่งชนิดของผู้เข้าชม เมื่อปิดไฟ ประตูก็จะถูกล็อคเพื่อป้องกันความวุ่นวาย วงออร์เคสตร้าทั้งวงจะถูกซ่อนไว้ข้างล่างเวที ดังนั้นข้างนอกเวทีจึงมืดมิดเมื่อเปิดการแสดง ซึ่งเป็นความตั้งใจของแว็คเนอร์ที่จะทำให้โรงละครของเขาเปรียบได้ดังวิหารของเทพเจ้าและทำให้คนดูรู้สึกมีอารมณ์ร่วมกับอุปรากรของเขา แต่ข้อด้อยคือนั่งยาก อากาศไม่ถ่ายเททำให้คนเป็นล้มเป็นแล้งกัน

      แว็คเนอร์ได้ประเดิมโรงละครโดยเปิดการแสดงเรื่อง The Ring of the Nibelungen ของเขา โดยมีแขกผู้มีเกียรติเป็นจำนวนมากเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็น พระเจ้าไกเซอร์ของเยอรมัน กษัตริย์จากบราซิล ขุนนางมากหน้าหลายตารวมไปถึงพระเจ้าลุดวิกที่เสด็จมาแบบลึกลับเพราะกลัวจะไปเจอพระเจ้าไกเซอร์เข้า แต่ที่น่าสนใจคือคีตกวีชื่อดังก็มากันพร้อมพรั่งไม่ว่าจะเป็นเอดเวิร์ด กริก ปีเตอร์ ไชคอฟสกี และฟรานซ์ ลิซต์  และอันโตน บรูกเนอร์ผู้ซึ่งถือว่าตนเป็นสาวกผู้ซือสัตย์ต่อแว็คเนอร์ บรูกเนอร์นั้นมีอิทธิพลต่อคตีกวีและวาทยากรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 คือกุสตาฟ มาห์เลอร์ จึงไม่น่าประหลาดใจว่าอิทธิพลของแว็คเนอร์จะมีอย่างมากมายในซิมโฟนีของมาห์เลอร์ซึ่งก็ได้กำกับอุปรากรหลายเรื่องของแว็คเนอร์ และตลกร้ายที่ว่ามาห์เลอร์นั้นเป็นยิว

    ผลที่เกิดขึ้นกับการแสดงน่าจะดี แต่ความจริงล้มเหลวอย่างมหาศาล ไชคอฟสกีเขียนบันทึกไว้ว่า

     "คนดูจะพูดกันถึงไข่เจียวและแผ่นเนื้อทอดกันสนุกสนานยิ่งกว่าดนตรีของแว็คเนอร์เสียอีก"

    ความล้มเหลวทำให้แว็คเนอร์ไม่กล้าเปิดการแสดงเป็นครั้งที่ 2  เลยเดินทางไปเปิดการแสดงดนตรีที่อังกฤษอยู่นานเพื่อหาเงินมาชดใช้หนี้

 

                                                    

                                              ภาพภายใน เฟสต์สปีลเฮาส์  (จาก theculturetraveler.org)  

 

      ในปี 1877 แว็คเนอร์ได้เขียนอุปรากรเรื่องสุดท้ายคือ Parsifal ใช้เวลาเขียนถึง 4 ปี เมื่อเปิดการแสดง เขาก็ล้มป่วย แต่แล้วเมื่อการแสดงผ่านไปถึงรอบที่ 16 ซึ่งเป็นรอบสุดท้าย เขาก็แอบย่องมาฉวยเอาไม้บาตองจากผู้กำกับวงและควบคุมวงด้วยตัวเอง ผู้กำกับคนนั้นคือเฮอร์มัน เลวิ ยิวที่แว็คเนอร์แสนจะเกลียดชัง แถมผู้กำกับเวทีและผู้จัดการก็เป็นยิว แต่แว็คเนอร์ทำอะไรไม่ได้เพราะเขาได้ถวายลิขสิทธิของอุปรากรแด่พระเจ้าลุดวิก ซึ่งบัดนี้ทรงหันมาตกหลุมรักกับนักแสดงหนุ่มชาวยิวเสียแล้ว

         ภายหลังจากการแสดงสิ้นสุดแล้ว เขาก็เดินทางไปพำนักที่เมืองเวนิส อิตาลี ในปี 1883 เช้าวันที่ 13 กุมภาพันธ์ แว็คเนอร์มีปากเสียงกับโคสิมาเกี่ยวกับสาวใช้บางคน ในบ่ายวันนั้น เขาก็เสียชีวิตจากโรคหัวใจล้มเหลว สิริรวมอายได้ 70 ปี  ศพของเขาได้ถูกบรรทุกโดยเรือซึ่งถูกพายข้ามคลองแกรนด์คาแนล  และถูกส่งกลับไปยังเยอรมันกับถูกฝังในสวนของหมู่บ้านวาห์นฟรีดที่เขาก่อตั้งมากับมือ

 

ตอนที่ 3

 

         "เมื่ออายุได้ 12 ขวบ ผมไปดูอุปรากรเป็นเรื่องแรกในชีวิตของผม นั่นคือ Lohengrin ในวินาทีนั้น ผมเกิดความลุ่มหลง ความคลั่งไคล้ในยามหนุ่มของผมที่มีต่อนายใหญ่แห่งไบรอยท์ (คือแว็คเนอร์) นั้นหาขอบเขตมิได้"

            (Mein Kampf เล่ม 1: อดอล์ฟ ฮิตเลอร์)

         ฮิตเลอร์นั้นไม่ทันได้พบหน้าแว็คเนอร์ คีตกวีเอกของเราเสียชีวิตในปี 1883 นั่นคือ 6 ปีก่อนจอมเผด็จการจะเกิด แต่ถ้าคำพูดที่ถูกยกมาเป็นจริงแสดงให้เห็นว่าฮิตเลอร์เป็นหนึ่งในสุดยอดสาวกของแว็คเนอร์

       ในช่วงทศวรรษที่ 1920 ขณะที่ฮิตเลอร์ยังเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองหัวรุนแรงเล็ก ๆ คือพรรค German Worker's Party (ต่อมาเมื่อฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจ ก็เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคเอนเอสดีเอพี (NSDAP หรือที่นิยมเรียกกันว่าพรรคนาซี) เขาเดินทางไปดูอุปรากรของแว็คเนอร์คือเรื่อง Rienzi ที่เมืองลินซ์บ้านเกิดของเขา ในออสเตรีย เขาพูดกับเพื่อนว่า "นี่คือจุดกำเนิดของทุกสิ่ง" ฮิตเลอร์ย่อมหมายถึง แผนการณ์ที่เขามีต่อชาติและประชาชนเยอรมัน เขากำลังวาดภาพของเยอรมันไม่ใช่ในฐานะประเทศหากเป็นอาณาจักรเยอรมันอันยิ่งใหญ่เหมือนดังอาณาจักรโรมันซึ่งเป็นฉากของอุปรากรเรื่องนี้

     อย่างไรก็ตามไม่น่าประหลาดใจว่าฮิตเลอร์จะเข้าชม Rienzi และ Lohengrin กันไม่ต่ำกว่า 20 -30 รอบจนเรียกได้ว่าฮิตเลอร์สามารถท่องบทพูดในอุปรากรทั้ง 2 เรื่องนี้จนขึ้นใจ ซึ่งก็เป็นอากัปกิริยาของคนที่คลั่งไคล้ในศิลปะมากกว่าเรื่องการเมือง และต่อมาเมื่อฮิตเลอร์เข้ามาเล่นการเมือง เขาก็นำเอาศิลปะเข้ามาผสมผสานกับการเมืองได้อย่างน่าทึ่ง เช่นสัญลักษณ์สวัสดิกะหรือชุดแต่งกายของทหาร รวมไปถึงดนตรีของแว็คเนอร์

      ในปี 1923 ฮิตเลอร์เดินทางไปเยือนวาห์นฟรีดของแว็คเนอร์เป็นครั้งแรก ภายหลังจากไปคารวะหลุมฝังศพของแว็คเนอร์และโคสิมา เขาก็กล่าวว่า "ถ้าหากผมประสบความสำเร็จในการมีอิทธิพลต่อโชคชะตาของชาวเยอรมัน ผมจะทำให้ Parsifal (อุปรากรเรื่องหนึ่งของแว็คเนอร์) กลับมาสู่ ไบรอยท์ อีกครั้ง" นั่นคือเขาต้องการจะสนับสนุนบรรดาสาวกลัทธิแว็คเนอร์ที่ต้องการให้มีกฎหมายจำกัด Parsifal ให้เล่นเฉพาะในเมืองไบรอยท์เท่านั้น  กระนั้นเมื่อมีอำนาจแล้ว ฮิตเลอร์กลับทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะกฏหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ของเยอรมันไม่ได้เอื้อเช่นนั้นอีกแล้ว

 

                                                             

                     เหล่านาซีเดินแถวไปยังการแสดงที่เฟสต์ปีลเฮาส์  ป้ายข้างบนอ่านว่า " เมืองของริชาร์ด แว็คเนอร์ยินดีต้อนรับแขกของท่านผู้นำ"

                                                          ภาพจาก  www.wagneroperas.com

 

      แว็คเนอร์ถึงแม้จะเขียนบทความทางปรัชญาหรือทางศิลปะมากมาย (ซึ่งจำนวนมากโจมตียิว) แต่มีการถกเถียงทางประวัติศาสตร์ว่าจริงๆ แล้ว ฮิตเลอร์ได้อ่านสิ่งเหล่านั้นหรือไม่ หรือว่าฮิตเลอร์เพียงได้รับแรงบันดาลใจทางอารมณ์ และเนื้อหาของอุปรากรจากแว็คเนอร์ แต่ที่แน่ๆ แว็คเนอร์อาจจะต้องรับผิดชอบในการเป็นแหล่งๆ หนึ่งที่ถ่ายทอดความเกลียดยิวให้กับฮิตเลอร์ผ่านอุปรากรของเขาซึ่งมีสัญลักษณ์ของความเกลียดยิวแฝงอยู่หลายแห่ง แต่ข้อแตกต่างระหว่างแว็คเนอร์และฮิตเลอร์ก็คือฝ่ายแรกยังไม่ถึงกลับต้องการจะทำลายพวกยิวให้หมดสิ้นไปจากโลกนี้

        ทำไมแว็คเนอร์ถึงเกลียดยิว ? ว่ากันว่าในตอนแว็คเนอร์เดินทางไปทำมาหากินในกรุงปารีส เขาได้พบกับนักแต่งอุปรากรเยอรมันเชื้อสายยิวคนหนึ่งที่โด่งดังเกือบที่สุดในยุโรปคือจักโคโม เมเยอร์เบียร์ ซึ่งให้ความช่วยเหลือแก่แว็คเนอร์อย่างดี แต่ว่าจะด้วยความอิจฉาหรืออะไรก็แล้วแต่ แว็คเนอร์ก็เพียรโจมตีเมเยอร์เบียร์ในฐานะที่เขาเป็นพวกยิว (เช่นเดียวกับฟีลิกซ์ บาร์โธดี เมนเดลส์โซนซึ่งแว็คเนอร์เคยชื่นชม) ซึ่งก็พอเหมาะกับกระแสต้านยิวซึ่งกำลังดังในปารีสและปรัชญาของโชเพนเฮาเออร์ที่แว็คเนอร์ชื่นชอบก็โจมตียิว ในอดีตแว็คเนอร์พยายามขอเข้าพบโชเพนเฮาเออร์หลายต่อหลายครั้งแต่นักปรัชญาท่านนี้พยายามหลบเลี่ยงตลอดโดยให้เหตุผลว่าชอบอุปรากรของรอสซินี มากกว่าของแว็คเนอร์

     อุปรากรของแว็คเนอร์ถูกพวกนาซีใช้ให้เป็นประโยชน์หลายๆ เรื่องเช่น Die Meistersinger Von Nuernberg เป็นเรื่องเกี่ยวกับนักร้องที่ต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงหญิงสาว ที่ในหลาย ๆ ฉาก มีประโยคพูดเรื่องการเมืองก็ได้กลายเป็นการแสดงย่อยๆในงานชุมนุมของพรรคนาซีที่เมืองนูเริมเบิร์ก  รวมไปถึงอุปรากรเรื่อง Die Walkuere (หนึ่งในอุปรากรย่อยของ The Ring of Nibelungen) ตอนที่วาลกีรีย์ส ธิดาของเทพโวตานเหาะทะลุเมฆออกมา ก็ถูกฮิตเลอร์ใช้ในภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อ ประกอบกับตอนที่เครื่องบินรบกำลังออกบิน หรือแม้แต่เรื่อง Parsifal ซึ่งเป็นเรื่องที่แว็คเนอร์ดัดแปลงจากตำนานอัศวินที่ปกป้องรักษาจอกศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซู ไปเป็นหอกศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์ มีการพูดถึงเรื่องชนเผ่าที่มีสายเลือดศักดิ์สิทธิ์ ที่ฮิตเลอร์ตีความเป็นสายเลือดของชนเผ่าอารยันหรือเยอรมันนั่นเอง แต่เป็นที่น่าประหลาดใจมากว่าทำไมอุปรากรเรื่องนี้ถึงถูกโยเซฟ เกบเบิลส์ สั่งห้ามไม่ให้แสดงในขณะที่พวกนาซีกลับผลิตโปสเตอร์เป็นรูปฮิตเลอร์ซึ่งทำท่าทางเหมือนอัศวิน Parsifal ที่กลับมาชำระล้างเลือดของชนเผ่าเยอรมันให้บริสุทธิ์และมีนกเขาสีขาวที่โฉบลงมาดังเช่นตอนจบของอุปรากรเรื่องนี้

      สายสัมพันธ์ทางกายกับฮิตเลอร์ที่มีกับตระกูลแว็คเนอร์คือ ความสนิทสนมกับลูกสะไภ้ของแว็คเนอร์ที่มีเชื้อสายอังกฤษนามว่าวินิเฟรด แว็คเนอร์ (ด้วยเหตุนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ฮิตเลอร์มองอังกฤษในด้านดีกระมัง) เธอแต่งงานกับซิกฟรีด ลูกชายของแว็คเนอร์และเข้ารับช่วงต่อกิจการของเฟสต์สปีลเฮาส์ ภายหลังจาก "นายหญิงใหญ่" โคสิมาภรรยาของแว็คเนอร์เสียชีวิตในปี 1930  วินิเฟรดช่วยเหลือฮิตเลอร์ตั้งแต่เขายังเป็นคนคลั่งไคล้แว็คเนอร์กระจอก ๆ คนหนึ่ง ให้ความอบอุ่นดุจดังครอบครัวแก่เขา เธอยังเป็นประจักษ์พยานเห็นการทำรัฐประหารที่ล้มเหลวของฮิตเลอร์ในปี 1926 (Munich Putsch) และกลายเป็นคนที่หลงใหลในนาซีเช่นเดียวกับลูกเขยของแว็คเนอร์อีกคนนามว่าฮุสตัน สจ๊วต แชมเบอร์เลน ซึ่งก็เป็นชาวอังกฤษเหมือนกัน ลูกๆ ของเธอถูกสอนให้เรียกฮิตเลอร์ตามชื่อเล่นว่า "คุณลุงหมาป่า" (Uncle Wolf)   แต่ภายหลังจากที่เยอรมันแพ้สงคราม ดนตรีของแว็คเนอร์ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรสั่งห้ามแสดง เมืองไบรอยท์ถูกปิดถึง 6  ปีเพื่อลบล้างความเป็นนาซี (Denazification)

      ฮิตเลอร์เสียชีวิตในบังเกอร์กลางกรุงเบอร์ลินวันที่ 30 เมษายน ปี 1945 บางทีก่อนตาย เขาอาจระลึกถึงแว็คเนอร์ผู้เปรียบได้ดังเทพเจ้าของตนรวมไปถึง อุปรากรของแว็คเนอร์ ที่เขาเคยไปดูนับครั้งไม่ถ้วน แล้วคงจะตระหนักว่า เขาช่างเหมือนกับกับ Rienzi พระเอกของเรื่องที่มีชื่อเดียวกันที่เห็นความพังพินาศในอำนาจของตนเมื่อประชาชนใต้การปกครองต่างก่อขบถท่ามกลางพระราชวังที่กำลังจะมอดไหม้จากเปลวไฟ ต่างกันก็เพียง Rienzi ถูกสังหารแต่ฮิตเลอร์เลือกที่จะฆ่าตัวตาย

 

                                         

                                                   

                                                       ฮิตเลอร์ของแว็คเนอร์ :ศาสดาและสาวกของเขา

                                                           (ภาพจาก  www.amazon.com)

 

บทความนี้ขออุทิศให้คุณสุรพงษ์ บุนนาค เจ้าของผลงานซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้เขียนบทความนี้อย่างเสมอมา

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
(เรื่องสั้นสยองขวัญภาษาอังกฤษเรื่องนี้ลอกมาจากเรื่องสั้นของราชาเรื่องสยองขวัญของเมืองไทย ครูเหม เวชากร ตัวเอกคือนายทองคำ เด็กกำพร้าอายุ 12 ขวบที่อาศัยอยู่กับยายและญาติในชนบทของไทยในช่วงเวลาประมาณ พ.ศ.2476)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The lingering sunlight from the dawn kissed my eyelids and I could hear faintly the flock of big birds, whose breed was unbeknownst to me, chirping merrily outside window ,as if to greet the exuberant face of a new day.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเกี่ยวกับนักเขียนวัยกลางคนที่มีความหลังอันดำมืดและความสัมพันธ์กับดาราสาวผู้มีพลังจิต 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของรปภ.หนุ่มผู้ค้นหาภูติผีปีศาจในตึกที่ลือกันว่าเฮี้ยนที่สุด  เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากรายการ The Ghost Radio(the altered version)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของผู้ชาย 3 คนที่ขับรถบรรทุกแล้วต้องเผชิญกับผีดูดเลือด 3 Friends and The Ghosts                                                (1)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
This short novel is about a guy who works as a DJ for the radio program 'The Spook Radio', famous for its allowing audience to share their thrilling experiences or tales about the superstitious stuffs, especially the ghosts, via telephones.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเรื่องนี้เกี่ยวกับคนไทยที่ใช้ชีวิตในเยอรมันช่วงพรรคนาซีเรืองอำนาจ  เขียนยังไม่จบและยังไม่มีการ proofreading แต่ประการใด                     Chapter 1  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้มาจาก facebook  Atthasit Muangin สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มหาศาสดาผู้ลี้ภัยอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ในฐานะเป็นเอตทัคคะหรือผู้เป็นเลิศในเรื่องเจ้า (The royal affairs expert)  พบกับการวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีอย่างมากมายจากบรรดาแฟนคลับหรือคนที่แวะเข้ามาในเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 (มีบทความอื่นอีกมากมายในเฟซบุ๊คของผมคือ Atthasit Muang-in) 1.สลิ่มไม่ชอบอเมริกาและตะวันตกซึ่งคว่ำบาตรและมักท้วงติงไทยหลังรัฐประหารปี 2557  ในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยพวกสลิ่มเห็นว่าทั้งสองฝ่ายเป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอกเช่นเคยบุกประเทศอื่น
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ตัวละครบางตัวได้แรงบันดาลใจมาจากอิ๊กคิวซัง เณรน้อยเจ้าปัญญา The Abbot and The Noble           (1) In our village , Abbot Akisada was enormously respected by most of our
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องความแค้นของผีตายทั้งกลม This (real) horror short story is partly inspired by the ghost tale told by the popular YouTuber like Ajarn Yod. Or it is in fact from the amateurish storytellers participating in Ghost Radio or The Shock more or less.