หากเข้าใจเปรียบเทียบ Psycho นั้นเปรียบดังดาวซึ่งจรัสแสงที่สุดเท่าที่ฮอลลีวู้ดจะมีไว้ประดับท้องฟ้าแห่งวงการภาพยนตร์โลกประเภทตื่นเต้นสยองขวัญ แน่นอนว่าผู้สร้างสรรค์ภาพยนตร์ซึ่งทำให้คนดูเหงื่อทะลักเกือบทั้งเรื่องทั้งที่มีเครื่องปรับอากาศย่อมไม่ใช่ใครอื่นนอกจากราชาแห่งภาพยนตร์ตื่นเต้น/สยองขวัญ/สืบสวนสอบสวน/อาชญากรรม อย่างเช่นอัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ก่อนหน้านี้เขาได้โกยเงินโกยทองจากภาพยนตร์ตื่นเต้นสืบสวนสอบสวนแต่ไม่สยองขวัญอย่างเช่น North by Northwest (1959) ซึ่งมีเนื้อหาสนุกได้ลุ้นทุกฉากแต่ขาดแนวคิดทางจิตวิทยา ด้วยการที่ฮิตช์ค็อกขาดทุนมาจากภาพยนตร์ที่มีแนวคิดเช่นนี้จาก Vertigo (1958) Psycho จึงเป็นภาพยนตร์ที่ฮิตช์ค็อกจึงหันมาซ้ำรอยตามรูปแบบถนัดของตนแต่มีความซับซ้อนยิ่งตามแนวคิดจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ที่ฮิตช์ค็อกเคยใช้กับหลายเรื่องเช่นเรื่อง Spellbound (1945) ซึ่งมีการระบุถึงอย่างละเอียดละออเหมือนกับการเล็กเชอร์ในห้องเรียน และ Marnie (1964) ซึ่งเป็นปมระหว่างลูกสาวกับแม่ แต่เรื่องใหม่ที่ว่านี้จะเน้นความสยองขวัญมากขึ้น อันเกิดจากความประทับใจของฮิตช์ค็อกที่ได้ดูภาพยนตร์แนวนี้ซึ่งเป็นภาพยนตร์เกรดบีในทศวรรษที่ 50 อย่างเช่น House on the Haunted Hill (1959)
(ภาพจาก www.doctormacro.com)
ยอดผู้กำกับชาวอังกฤษสร้าง Psycho มาจากนวนิยายของโรเบิร์ต บลอชซึ่งได้รับบันดาลใจมาจากชีวิตของนักฆ่าต่อเนื่องอภิมหาโรคจิตซึ่งมีตัวตนอยู่จริง ๆ คือเอ็ด ไกน์ (ซึ่งก็เป็นแรงบันดาลใจสำหรับตัวละครที่ชื่อ บิล ฆาตกรถลกหนังคนใน The Silence of The Lambs อีกด้วย) ภาพยนตร์เริ่มต้นก็ท้าทายแผนกเซ็นเซอร์โดยให้มีฉากกอดจูบกันบนเตียงระหว่างมาเรียน เครน (เจเนต์ ลีห์) กับแซม ลูมีส์ (จอห์น กาวิน) จากบทสนทนาของคนทั้งคู่แสดงว่าฝ่ายหญิงอยากจะแต่งงานกับฝ่ายชาย แต่ว่ามีอุปสรรคคือฝ่ายชายฐานะไม่ดีเป็นหนี้เป็นสินแถมยังต้องหาเงินเป็นค่าเลี้ยงดูภรรยาเก่าซึ่งเพิ่งหย่าร้างกัน เครนนั้นเป็นเลขานุการในบริษัทแห่งหนึ่งที่บังเอิญว่าวันหนึ่งเจ้านายนำเงินจำนวนสี่หมื่นเหรียญสหรัฐฯมอบให้เธอไปฝากธนาคาร เธอจึงตัดสินใจเชิดเงินหนีไป จากนั้นก็ขับรถข้ามรัฐคือจากอาริโซนาไปแคลิฟอร์เนียซึ่งชู้รักของเธอเปิดกิจการร้านค้าอยู่ เมื่อตกเย็น ฝนที่กระหน่ำลงมาทำให้เธอขับรถหลงไปยังถนนอีกเส้นหนึ่งและได้เข้าพักกับโรงแรมขนาดเล็ก 12 ห้องที่ไร้แขกเข้าพักชื่อว่า เบทส์ โมเต็ล และยังมีบ้านไม้หลังใหญ่ตั้งอยู่บนเนินใกล้ ๆ เจ้าของเป็นชายหนุ่มแนะนำตัวเองว่านอร์แมน เบทส์ (แอนโทนี เพอร์กินส์) ทั้งคู่โอภาปราศรัยกันอย่างดีและมาเรียนก็ได้ทราบว่าเขามีแม่ที่ชราพักอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้านไม้แห่งนั้น เธอขอตัวเข้าพักในห้องหมายเลข 1 ขณะกำลังมีความสุขกับการอาบน้ำฝักบัวอยู่นั้น ก็มีผู้หญิงลึกลับเข้ามาใช้มีดจ้วงแทงมาเรียนแบบไม่ยั้งจนเสียชีวิตและฆาตกรก็หนีไปโดยไม่แตะต้องเงินแม้แต่น้อย อย่างไรก็ตามบริษัทของเธอก็ได้ส่งนักสืบมาติดต่อกับน้องสาวของมาเรียนคือไลล่า แครน (วีรา ไมล์)และแซมเพื่อตามหามาเรียน และนักสืบเป็นคนแรกที่ตามจนพบร่องรอยของมาเรียนในโรงแรมของเบทส์ ทว่าขณะที่เขาเข้าไปในบ้านไม้หลังนั้นเขาก็ถูกฆาตกรคนเดิม ใช้มีดอันเดิมแทงจนตกบันไดเสียชีวิต ไลลาและแซมไม่ได้รับการติดต่อจากนักสืบตามที่นัดหมายไว้ทางโทรศัพท์จึงตัดสินใจไปค้นหามาเรียนและก็ได้พบความลับอันน่ากลัวในโรงแรมและบ้านแห่งนั้น...
ภาพจาก www.fogsmoviereviews.com
ฮิตช์ค็อกตัดสินใจให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นขาวดำทั้งที่ภาพยนตร์ในปลายทศวรรษที่ 50 และ 60 เริ่มกลายเป็นสีกันไปเกือบหมดก็เพราะไม่ต้องการให้ภาพยนตร์สยดสยองจนเกินไปและเป็นการประหยัดค่าทำภาพยนตร์ไปในตัวทว่ากลับทำให้ภาพยนตร์ดูลึกลับน่ากลัวด้วยท่านเซอร์เก่งกาจในการสร้างบรรยากาศให้คนดูรู้สึกกดดันไม่ว่าบ้านไม้ 3 ชั้นของเบทส์ซึ่งถูกสร้างมาเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ซึ่งเป็นเงาตะคุ่มๆ ดูไม่น่าไว้ใจ หรือแสงเงาต่างๆ จากเครื่องประดับภายในโรงแรมเช่นนกที่ถูกสตาฟฟ์ไว้ดูเหมือนกำลังโผเข้าคุกคามมนุษย์ (ซึ่งฮิตช์ค็อกได้พัฒนาเป็นเรื่อง The Birds ในปี 1963) คนที่ชอบดูภาพยนตร์ไทยก็จะบอกได้ว่าคนทำเรื่องเดอะชัตเตอร์ได้รับแรงบันดาลใจจากฮิตช์ค็อกในการสร้างบรรยากาศหลอน ๆ ได้อย่างไม่ปิดบัง (การที่แม่เก็บศพของแสงดาวไว้ก็คือมรดกของฮิตช์ค็อกนั้นเอง) สิ่งหนึ่งที่ทำให้ภาพยนตร์ดูน่ากลัวเป็นทวีคูณก็คือเสียงสีไวโอลินที่ดังถี่ขึ้นขณะที่ภาพยนตร์เข้าถึงจุดสุดยอดทางอารมณ์ อันนี้เป็นผลงานของเบอร์นาร์ด แฮร์มันน์ นักแต่งเพลงคู่บุญของฮิตช์ค็อกที่แต่งเพลงให้ภาพยนตร์ของเขาหลายเรื่อง
นอกจากนี้ลักษณะเด่นประการหนึ่งของฮิตช์ค็อกซึ่งสะท้อนมาในเรื่องนี้คือให้ผู้ร้ายเป็นคนดูดีมีเสน่ห์ อย่างเช่น Shadow of Doubt ,Rope, Strangers on a Train อย่าง Psycho ภาคหนังสือนั้น นอร์แมน เบทส์ที่จริงเป็นชายร่างอ้วนฉุอายุประมาณเกือบ 40 ท่าทางเหมือนคนปัญญานิ่ม (ดังนั้น Psychoในเวอร์ชั่นใหม่ของกัส แวนแซนท์เมื่อปี 1998 จึงซื่อสัตย์ต่อนวนิยายมากกว่าแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เพราะคนยังติดภาพของเบทส์ตามแบบฮิตช์ค็อก) แต่ในภาคภาพยนตร์ ฮิตช์ค็อกกลับให้เบทส์เป็นชายหนุ่มอายุประมาณ 20 ต้นๆ ผอมสูงหน้าตาหล่อคม พูดจาฉะฉาน แต่เราต้องยกย่องเพอร์กินส์ ผู้รับบทเบทส์ที่สามารถเปล่งประกายของความผิดปกติทางจิตออกมาได้ เช่นชอบกินลูกกวาดไปด้วยคุยไปด้วย ซึ่งนิสัยเช่นนี้เพอร์กินส์คิดขึ้นมาเองไม่ใช่คนเขียนบท รวมไปถึงมาเรียนซึ่งเป็นหัวขโมยก็เป็นคนสวยและมีเสน่ห์ทางเพศ ในขณะที่ตำรวจในเกือบทุกเรื่องของฮิตช์ค็อกดูลึกลับไม่น่าไว้ใจอย่างเช่นตอนที่มาเรียน จอดรถและนอนหลับในรถตอนกลางวัน เนื่องจากขับรถอย่างยาวนานในช่วงกลางคืน ฮิตช์ค็อกได้สร้างความตื่นเต้นให้กับคนดู ซึ่งเผลอเอาใจช่วยมาเรียนโดยการให้ตำรวจทางหลวงมาสะกิดให้เธอตื่น ถึงแม้จะไม่มีการจับกุม แต่ตำรวจซึ่งใส่แว่นดำท่าทางไม่น่าไว้ใจคนนั้นก็ตามมาเรียนไปด้วยความสงสัยว่าทำไมเธอจึงลุกลี้ลุกลนเช่นนั้น แต่เขาก็หยุดตามเมื่อมาเรียนเอารถของเธอไปขายแลกกับรถเก่าที่เต้นท์รถและขับรถต่อไป สิ่งนี้ย่อมทำให้ภาพยนตร์ของฮิตช์ค็อกมีเสน่ห์กว่าภาพยนตร์ทั่วไปเพราะจะทำให้เกิดการได้ลุ้นของคนดูระหว่างฝ่ายคนชั่วที่ชาญฉลาดและฝ่ายคนดีที่มีลักษณะแบบพื้นๆ แต่ลักษณะหนึ่งของภาพยนตร์กระแสหลักที่ฮิตช์ค็อกไม่สามารถฝืนได้ก็คือ ผู้ร้ายตอนจบต้องติดคุกหรือตาย และตำรวจก็จะมาสะสางคลายปมในตอนจบ และที่แน่ๆ ฮิตช์ค็อกแทบไม่ให้พระเอกของเขาเป็นตำรวจเท่าไรนัก
Psycho ประสบความสำเร็จสูงสุดทั้งเงินและกล่อง ทำให้ฮิตช์ค็อกกลายเป็นมหาเศรษฐีไปในพริบตา ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับการจัดอันดับจากหลายสถาบันให้เป็นภาพนตร์สยองขวัญที่ดีที่สุดตลอดกาลแม้แต่ The Silence of The Lambs (1991) ขวัญใจของใครหลายคน ก็มิอาจเอาชนะได้ และฉากหลายฉากเช่นการฆ่ามาเรียนในห้องน้ำกลายเป็นตำนานหนึ่งของวัฒนธรรมประชานิยมแบบอเมริกัน ภาพยนตร์แนวฆาตกรรมยังลอกเลียนแบบกลยุทธ์เช่นนี้มาใช้กันจนถึงทุกวัน แม้ Psycho จะถูกเสนอเข้าชิงรางวัลออสการ์แค่ 4 สาขาและพลาดหมดได้ก็ยังมีคนทำภาคต่ออีก 3 ภาคซึ่งได้รับการโจมตีว่าด้อยกว่าภาคแรกทั้งสิ้น Psycho ภาคแรกยังมีอิทธิพลต่อภาพยนตร์หลายเรื่องที่คนรุ่นใหม่จะรู้จักกันดีก็ได้แก่เรื่อง Identity , Secret Window หรือ Vacancy ทั้งในทศวรรษที่ 80 เมื่อไม่นานมานี้ก็มีการสร้างเป็นภาพยนตร์ทางโทรทัศน์อย่าง Bates Motel ซึ่งบรรยายชีวิตของเบทส์และแม่ในช่วงเหตุการณ์ก่อนภาพยนตร์ Psycho ที่สำคัญ ภาพยนตร์แนวสยองขวัญที่แอบอิงแนวคิดของท่านเซอร์ก็จะมีมาอีกเรื่อยๆ ในอนาคต แม้ว่าผู้ชมจะสามารถพอเดาจุดจบของเรื่องได้บ้างก็ตาม
ภาพยนตร์ของฮิชต์ค็อกยังเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนล้าของระบบเซ็นเซอร์ภาพยนตร์อเมริกันซึ่งเคยเข้มงวดอย่างมากในทศวรรษที่ 40 และ 50 ภาพการฆ่าอย่างโหดเหี้ยมเห็นเลือดหรืออวัยวะบางส่วนของผู้หญิงโดยเฉพาะของมาเรียนตอนถูกมีดแทงขณะอาบน้ำ (ที่จริงไม่มีการสัมผัสกันระหว่างมีดกับเนื้อตัวของผู้แสดงแต่ด้วยความสามารถในการจัดมุมกล้องและการตัดต่อทำให้ดูสมจริง) ซึ่งทำให้คนดูถึงกลับลมจับในโรงภาพยนตร์ แน่นอนว่าย่อมถูกประณามก่นด่าโดยกลุ่มเคร่งศาสนา หรือรวมไปถึงพวกต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในปลายทศวรรษที่ 60 ด้วยว่าเป็นการแสดงออกถึงการเกลียดผู้หญิงแบบสุดโต่งของฮิตช์ค็อก เช่นเดียวกับบุคลิกด้านลบของผู้หญิงในเรื่องนี้ที่นอกจากมาเรียนซึ่งเป็นคนละโมบ ขี้ขโมย แล้วยังรวมถึงแม่ของนอร์แมน เบทส์ซึ่งแม้จะไม่มีภาพของเธอเลยแต่ก็แสดงถึงความเป็นแม่ที่รักและครอบงำลูกมากเกินไป
แต่ Psycho กลับถูกออกฉายจนเป็นภาพยนตร์สุดคลาสสิกและยังเป็นเหมือนกับตัวจุดประกายให้ฮอลลีวู้ดกล้าสร้างภาพยนตร์ประเภทเลือดกระฉูด เนื้อกระจาย มากขึ้นและในปลายทศวรรษที่ 60 สถาบันภาพยนตร์อเมริกันก็นำระบบจัดเรตติ้งให้กับผู้ชม อันนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของแผนกเซ็นเซอร์ไทยที่ใช้กรรไกรตัดแหลกหรือสร้างภาพเบลอแม้แต่แค่ตอนปืนจ่อหัวหรือมีดโกนปาดคอจนกลายเป็นการทำลายตัวภาพยนตร์ไป
โปรดระวัง ประโยคต่อไปนี้คือการเปิดเผยปมและเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์
แนวคิดสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งมาเฉลยในตอนจบของเรื่องโดยจิตแพทย์ (ดูน่าเบื่อเหมือนการบรรยายวิชาการ) ซึ่งทำให้ตัวละครในภาพยนตร์และทุกคนในโรงภาพยนตร์อึ้งกันทั่วหน้าก็คือทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ที่ว่าด้วยปมโอดิปุส (Oedipus complex) นั้นคือปมที่ลูกชายในวัยเด็กเกิดความรักและความปรารถนาจะครอบครองผู้เป็นแม่ ส่วนพ่อนั้นเป็นคู่แข่งที่เขาต้องพยายามเลียนแบบเพื่อเอาชนะ แต่เมื่อเด็กชายโตขึ้นก็จะสามารถคลี่คลายความรู้สึกเช่นนี้ไปให้กับคนอื่นแทน อย่างเช่นกรณีของเบทส์นั้น พ่อของเขาเสียชีวิต แม่ของเขาจึงรักและทะนุถนอมเขาแบบไข่ในหิน ในโลกของเบทส์ที่มีแค่เขาและแม่ (หากอยากจะเห็นเป็นรูปเป็นร่าง ลองไปหา Psycho 4: The Beginning มาดูได้) แต่แล้วโลกของเขาก็มีผู้รุกรานนั้นคือแฟนใหม่ของแม่ทำให้เบทส์รับไม่ได้จึงใช้ยาพิษฆ่าแม่และแฟนเสีย ด้วยความเสียใจ จิตของเบทส์จึงมีการแบ่งตัวตนออกเป็น 2 ส่วนโดยส่วนหนึ่งคือภาพจำลองของแม่เขาขึ้นมา ในความคิดของเบทส์ แม่ของเขายังคงอยู่ เขาจึงเก็บศพของแม่ไว้อันเป็นส่วนหนึ่งของจุดไคล์แม็กซ์ที่ทำให้คนดูตกตะลึงกันทั้งโรงและจิตส่วนของแม่ก็ได้เข้ามาลุกล้ำจิตของเขาในบางครั้ง ทั้งคู่มีการสนทนากัน ในภาพยนตร์ซึ่งมีเสียงของแม่แทรกมานั้นแท้ที่จริงคือเสียงที่ดัดของเบทส์เอง
เมื่อเบทส์ได้พบกับมาเรียนชายหนุ่มเกิดความต้องการทางเพศกับหล่อน ทำให้จิตส่วนของแม่เกิดความอิจฉาเลยบงการให้ร่างของเบทส์ ไปฆ่ามาเรียนและฆ่าทุกคนที่ลุกล้ำเข้าในโลกของเขาและเธอ ภาพยนตร์จึงหลอกคนดูได้ตั้งแต่ต้นคือมาเรียนตอนมาเข้าพักในโรงแรมได้ยินเสียงของหญิงชรากำลังทะเลาะกับเบทส์ ทุกคนจึงเข้าใจว่าเขาอาศัยอยู่กับแม่และแอบเอาใจช่วยเบทส์และมาเรียนให้พ้นจากหญิงชราผู้ชั่วร้าย ฆาตกรที่ใส่ชุดผู้หญิงทำให้ทุกคนเข้าใจว่าเป็นแม่ของเบทส์ทั้งที่เป็นเบทส์ที่เอาชุดของแม่มาใส่ และเมื่อเบทส์มาพบศพของมาเรียนเข้าจึงทำการกลบเกลื่อนหลักฐานโดยการเอาศพใส่รถของเธอและนำไปทิ้งลงน้ำเสีย คนจึงเข้าใจว่าเขาช่วยเหลือแม่ของตัวเอง การที่เบทส์ผูกพันกับแม่จนเกินเหตุ (อันเป็นนัยบ่งบอกว่าเหมือนรักร่วมสายเลือดหรือ Incest) แต่เกิดความรู้สึกทางเพศกับมาเรียนย่อมแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ใช่พวกรักร่วมเพศ และก็ไม่ใช่พวกที่มีความสุขที่ได้แต่งตัวเป็นผู้หญิงหรือ Tranvestism เพราะตัวตนของเขาไม่ได้รู้เรื่องหรือสัมผัสตัวตนของแม่เขาแม้แต่น้อย ในที่สุดหลังจากเบทส์ถูกจับขัง จิตของแม่ก็เข้าครอบงำจิตส่วนของเขาอย่างสิ้นเชิง
ผู้เขียนไม่ประทับใจเล็กน้อยที่ว่าแทนที่ภาพยนตร์จะขึ้น The End หลังจากใบหน้าของเบทส์ที่ถูกทับซ้อนโดยแม่ หายไปแต่กลับรอให้มีภาพของโซ่ที่ดึงรถของมาเรียนออกจากบึง ทำให้ภาพยนตร์ดูเชยๆ อย่างไรก็ไม่ทราบ แต่นั้นเป็นภาพยนตร์ในปี 1960 พอดีไม่ใช่ปี 2008 อาจเป็นความตั้งใจของฮิตช์ค็อกที่จะบอกว่าปมต่างๆ ของภาพยนตร์ได้คลี่คลายแล้วอย่างสมบูรณ์แล้ว ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม Psycho ก็ยังยิ่งใหญ่ว่าภาพยนตร์ปัจจุบันที่เฟ้อไปด้วยเทคนิคคอมพิวเตอร์และเลือดเนื้อที่กระฉูดมากกว่าและคิดว่าในอนาคตคงจะหาภาพยนตร์ที่เทียบเท่ากับ Psycho ได้ยากเย็นนัก
ภาพจาก pininterest.com