Skip to main content
ถ้าจะดูอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว La Dolce Vita (1960) ของเฟเดริโก เฟลลินี สุดยอดผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอิตาลี ไม่ได้ด้อยไปกว่าภาพยนตร์ในเรื่องต่อมาของเขาคือ 8 1/2 ในปี 1963 แม้แต่น้อยโดยเฉพาะการสื่อแนวคิดอันลุ่มลึกผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ เพียงแต่ภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นสัจนิยมนั้นคือไม่ยอมให้จินตนาการกับความทรงจำของตัวละครเข้ามาแทรกแซงพื้นที่ของความเป็นจริงมากเท่าเรื่องที่ 2 และเรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นตัวตนของเฟลลินี่ได้ชัดเจนกว่า  สำหรับ La Dolce Vita ยังเป็นผลงานชิ้นแรกที่เฟลลินีแยกตัวเองออกจากตระกูลลัทธินวสัจนิยม (Neo-realism) ซึ่งเคยยิ่งใหญ่ในอิตาลีในช่วงปลายและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยการเปลี่ยนจากชีวิตของชนรากหญ้ามาเป็นชนชั้นกลางแทน ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตในช่วง 7 วัน 7 คืนของมาร์เชลโล รูบินี (มาร์เชลโล มาสโตรเอนนี่) นักข่าวหนุ่มเจ้าสำราญซึ่งชีวิตวุ่นวายไปงานและกิจกรรมบันเทิงกับชนชั้นกลางใหม่ของอิตาลีที่เต็มไปด้วยคนนิสัยประหลาด ๆ (เฟลลินีให้สัมภาษณ์ว่าเกิดจากประสบการณ์การเดินทางที่ไปพบคนมากหน้าหลายตาของเขาเอง) แน่นอนว่ามาร์เชลโลต้องพาตัวเองไปพัวพันบรรดาสาวๆ ทั้งหลายที่มีตัวตนที่แตกต่างหลากหลาย แต่ปัญหาก็คือเขาไม่เคยพบตัวตนที่แท้จริงของตัวเองเลย ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลออสการ์เพียง 1 รางวัลในสาขาเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม (ภาพยนตร์ที่ชนะเลิศในปีนั้นคือ West Side Story) และชนะเลิศใบปาล์มทองคำที่เมืองคานส์รวมไปถึงเวทีอื่นๆ อีกมากมาย หากมีการจัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลของโลก ภาพยตร์เรื่องนี้ก็มักจะถูกรวมในลำดับต้นๆ อีกด้วย
 
 
 
                                      
 
                                        ภาพจาก  www.moviepostershop.com
 
 
โปรดระวัง บทความต่อไปนี้คือการแนะนำและการวิเคราะห์ภาพยนตร์ จึงมีการเปิดเผยใจความสำคัญทั้งหมด
 
La Dolce Vita ดูเหมือนจะมีเนื้อหาที่เรียบเงียบแต่ความจริงแฝงด้วยปรัชญาชีวิตและการวิพากษ์สังคมอิตาลีอันเน่าเฟะในยุคหลังสงครามโลกที่ทุนนิยมและลัทธิวัตถุนิยมเข้าครอบงำอย่างเจ็บแสบ กระนั้นก็สร้างปัญหาให้คนที่ไม่คุ้นเคยกับบริบทของสังคมอิตาลีและศาสนาคริสต์อยู่มากเอาการ (ดังนั้นการตีความผมก็ต้องอาศัยความคิดเห็นบางส่วนจากคนอื่นอีกที คงไม่ว่ากัน) ภาพยนตร์เปิดฉากมาก็สร้างความอื้อฉาวโดยให้เฮลิคอปเตอร์ใช้เส้นลวดยกรูปปั้นพระเยซูบินว่อนไปทั่วกรุงโรมเพื่อถวายองค์สันตะปะปาที่นครรัฐวาติกัน แต่สามารถตีความได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการที่สังคมอิตาลีตัดรากเหง้าของตนออกจากศาสนา และให้เฮลิคอปเตอร์อีกลำที่ติดตามนั้นมีนักข่าวอยู่ด้วย 2 คนซึ่งหนึ่งในนั้นคือมาร์เชลโลร่อนลงมาจีบพวกสาวๆ ที่ใส่ชุดบิกีนีอาบแดดอยู่บนดาดฟ้าราวกับจะบอกว่าภาพยนตร์ต่อไปนี้เป็นเรื่องทางเนื้อหนังมังสาเสียทั้งหมด (ถ้าลองเป็นเมืองไทยเช่นให้เฮลิคอปเตอร์บรรทุกพระพุทธรูปและตามด้วยภาพของสาว ๆ คงจะโดนแบนจนเสียหนังไปเลย) ซึ่งก็จริงเพราะเนื้อหาส่วนใหญ่ของภาพยนตร์จะนำเสนอการแสวงหาความสุขของหนุ่มสาวชนชั้นกลางจากการดื่มกินเต้นรำและเกมประหลาด ๆในงานเลี้ยงกลางคืนชนิดดื่มเมรัยแก้วต่อแก้ว บุหรี่มวนต่อมวน ไม่เช้าไม่เลิก (ภาพยนตร์เรื่องอื่นที่นำเสนอชีวิตแบบนี้ได้อย่างยอดเยี่ยมคือ La Notte ของมิคัลอันเจโล อันโตนีโอนี)
 
ฉากที่สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตที่น่าเบื่อ ไร้เป้าหมายของชนชั้นกลางอิตาลีก็คือมาร์เชลโลกับแม็ดดาเลนา(อานุก แอมเม่)ไฮโซสาว ที่ขับรถไปเรื่อยเปื่อยในกรุงโรมยามค่ำคืนได้ตีสนิทกับโสเภณีที่ขายตัวอยู่บริเวณนั้นเพื่อพาทั้งคู่ไปมีสัมพันธ์สวาทในบ้านโกโรโกโสของหล่อน แต่นั้นเป็นเพียงการแสวงหาความแสวงหาความสนุกตื่นเต้นของคนทั้งคู่ (หากเป็นภาพยนตร์ปัจจุบันก็คงจะแสดงถึงฉากร่วมรักพร้อมกัน 3 คนไปด้วย)  มาร์เชลโลยังไปตกหลุมรักกับซิลเวียดาราสาวเจ้าเสน่ห์ที่เดินทางมาโฆษณาตัวเองท่ามกลางการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ของสื่ออิตาลี แต่ดูเหมือนสาวเจ้าจะไม่ค่อยเล่นกับมาร์เชลโลด้วยเท่าไรนักอาจเพราะมีชายอื่นเข้ามาแห่แหนมากเกินไป แต่ฉากที่น่าประทับใจก็คือเขาและเธอเตร็ดเตร่ไปในกรุงโรมยามกลางคืนและเธอก็ได้โดดลงไปเล่นน้ำในสระที่มีน้ำพุอันเป็นภาพนิ่งที่สำคัญของภาพยนตร์ก็ว่าได้ (แต่เบื้องหลังการถ่ายทำถือว่าเป็นฉากที่ทำได้ยากเย็นที่สุด) กระนั้นมาร์เชลโลยังต้องเวียนหัวกับเอ็มม่าแฟนสาวที่เพียรจะจับเขาแต่งงานให้ได้ถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย ความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่เป็นสิ่งที่น่าสนใจเพราะทั้งคู่โกรธเคืองและทะเลาะกันแต่ก็คืนดีกันอย่างรวดเร็วเหมือนเด็ก มาร์เชลโลหลงรักและหลายครั้งตกอยู่ใต้อำนาจเอ็มม่าแต่ไม่อยากจะให้เธอผูกมัดจนเกินไป เมื่อเขาพยายามหนีสุดท้ายก็กลับมาหาเธอจนได้ 
 
สิ่งสำคัญหนึ่งที่ภาพยนตร์ต้องการโจมตีอย่างหนักหน่วงคือความไร้ศีลธรรมของสื่อโดยสะท้อนผ่านบรรดานักข่าวซึ่งเป็นเพื่อนของมาร์เชลโลซึ่งมุ่งเสนอการทำข่าวอย่างไม่สนใจต่อความเป็นส่วนตัวของคนอื่น ฉากตลกที่ขำไม่ออกก็คือมาร์เชลโลถูกดาราหนุ่มอเมริกันทำร้ายร่างกายด้วยความหึงหวงต่อซิลเวีย พวกช่างภาพก็กรูกันไปถ่ายภาพกันสนุกสนานแทนที่จะทำให้การช่วยเหลือพวกเดียวกัน นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังให้สื่อมวลชนกระล่อนไม่เลิกโดยการปั่นข่าวเด็ก 2 คนที่อ้างว่าได้พบกับมาดอนน่าหรือพระนางมาเรียนั้นเอง ทำให้ชาวอิตาลีจำนวนมากแห่กันไปสวดขอพรกันยกใหญ่ หลายคนพาคนแก่ป่วยหนักไปเพื่อจะได้พรให้หายแต่ก็สิ้นใจเสียก็มี อันนี้สื่อให้เห็นคล้ายคลึงกับ The Bicycle Thief ของผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอิตาลีอีกคนคือ วิคตอริโอ เดอ ซิก้าที่สื่อให้เห็นถึงความงมงายของชาวอิตาลีในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้มอบสมบัติอันล้ำค่าให้กับวัฒนธรรมแบบประชานิยมของโลกนั้นคือคือต้นกำเนิดของคำว่า ปาปารัสซี่หรือนักข่าวที่ชอบติดตามดาราเพื่อถ่ายรูปอย่างไม่คิดชีวิตนั้นคือเพื่อนนักข่าวของมาร์เชลโลคนหนึ่งมีชื่อว่า ปาปารัสโซ่ (paparazzo) โดยคำว่า paparazzi เป็นพหูพจน์ คำนี้คนเขียนบทได้มาจากชื่อของเจ้าของโรงแรมในงานเขียนสารคดีท่องเที่ยวในอิตาลีของนักเขียนชาวอังกฤษคนหนึ่ง
 
 
                                          
                                                ภาพจาก www.i.ytimg.com
 
La Dolce Vita คือภาษาอิตาลีแปลว่า The Sweet Life หรือ"ชีวิตอันแสนหวาน" ดูผิวเผินว่ามาร์เชลโลมีความสุขอยู่กับชีวิตแบบนี้ของเขาแต่ว่าลึก ๆแล้วเขากลับเบื่อหน่าย ระอากับชีวิตของเด็กที่ไม่รู้จักโตของตัวเอง ภาพยนตร์ยังชี้ให้เห็นว่าสาเหตุหนึ่งก็เพราะเขาไม่ได้ใกล้ชิดกับบิดามากนัก ภาพในอุดมคติของมาร์เชลโลจึงถ่ายโอนไปยังเพื่อนของเขาคนหนึ่งคือสไตเนอร์ นักดนตรีและปัญญาชน ที่มีครอบครัวอันอบอุ่น ภรรยาและลูกน่ารัก 2 คนคือภาพอันแสนสมบูรณ์แบบที่มาร์เชลโลอิจฉาและหลงไหล แต่แล้วภาพยนตร์ก็ได้ทำเขาตกใจสุดขีดโดยการให้สไตน์เนอร์สังหารลูกและตัวเขาเอง จึงไม่แปลกที่เฟลลินีจะให้สไตเนอร์คือตัวแทนของชนชั้นกลางอิตาลีที่มีชีวิตสมบูรณ์แบบ เป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่แสวงหาแต่สิ่งดีงาม แต่ลึกๆ แล้วกลับกลัวที่จะถูกขังภายในกรอบที่ตัวเองสร้างขึ้นมา แน่นอนว่าเมื่อขาดต้นแบบแล้วมาร์เชลโลย่อมสิ้นหลังและหันไปหมกมุ่นกับใช้ชีวิตอันแสนหวานของตนต่อไป นักวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าแท้ที่จริงสไตเนอร์ก็คืออีกมุมหนึ่งของตัวตนของมาร์เชลโลนั้นเอง นอกจากนี้เฟลลินีก็เสียดสีชนชั้นกลางที่ชอบทำตัวเหมือนกับเป็นปัญญาชนทั้งที่ไม่รู้เรื่องอะไรจริงๆ ผ่านแขกในงานของสไตเนอร์ที่มาเชลโลเข้าร่วมด้วย
 
ผู้หญิงอีกคนในชีวิตมาร์เชลโลที่น่ากล่าวถึงก็คือ เปาโล เด็กสาว 16 ปีที่มาร์เชลโลรู้จักเพราะไปทานอาหารในร้านที่เธอเป็นเด็กเสิร์ฟ ลักษณะอันงดงามใสซื่อบริสุทธิ์ของเธอถูกนักวิชาการตีความว่าเปรียบได้ดังนางฟ้าหรือความงดงามทางจิตวิญญาณของมนุษย์ (ลักษณะเช่นนี้ยังถูกพัฒนาไปเป็นคลอเดีย ดาราสาวในฝันของกุยโด้พระเอกในเรื่อง 8 1/2) ฉากสุดท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ถือได้ว่าทรงพลังและสื่อความหมายอย่างมากมาย บรรดาไฮโซทั้งหลายรวมทั้งมาร์เชลโลที่เมากันสุดเหวี่ยง ละเล่นกันสุดชีวิตทั้งคืนได้เดินทางไปเที่ยวที่ชาดหาดที่อยู่ไม่ไกลในยามเช้าตรู่ ณ ที่นั้นชาวประมงเหวี่ยงแหได้ปลาประหลาดที่ตายมาหลายวันได้ทำให้ชาวไฮโซแห่กันไปดู มาร์เชลโลได้พบกับเปาโลอีกครั้ง เธอได้พยายามย้ำเตือนอะไรบางอย่างให้แก่เขาแต่เพราะทั้งคู่อยู่ไกลกันทำให้เสียงคลื่นกลบเสียงของเธอ ทำให้คนดูได้คาดเดาจากอากัปกิริยาของเธอต่างๆ นาๆ มีคนตีความว่าเปาโลนั้นพยายามเตือนเขาให้กลับไปเขียนหนังสือหรือสร้างสรรค์ศิลปะอันจะเป็นตัวสร้างคุณค่าให้กับชีวิตมากกว่าจะอยู่แบบพวกสุขนิยมหรือ Hedonism อันมีซากปลาประหลาดอาจจะหมายถึงชีวิตอันเน่าเหม็นของชนชั้นกลาง ส่วนปฏิกิริยาของมาร์เชลโลหลังจากนั้นคือไม่ยอมเข้าใจเธอก่อนจะโบกมือลากลับไปรวมกลุ่มเพื่อนไฮโซเพื่อดื่มด่ำอยู่กับ "ชีวิตอันแสนหวาน"ต่อไป
 
 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เขียนงานเขียนในรูปแบบต่างๆ  คือนวนิยาย เรื่องสั้นหรือแม้แต่บทละครมานานก็เลยอยากจะชี้แจ้งให้ท่านผู้อ่านเข้าใจว่าเนื่องจากเป็นงานเขียนแบบงานดิเรกหรือแบบนักเขียนสมัครเล่นอย่างผม จึงต้องขออภัยที่มีจุดผิดพลาดอยู่ เพราะไม่มีคนมาตรวจให้ ถึงผมเองจะพยายามตรวจแล้วตรวจอีกก็ยังมีคำผิดและหลักไวยากรณ์อยู่
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The Spook Radio (part 2)ภาค 2 ของดีเจอ้นซึ่งเป็นดีเจรายการที่เปิดให้ทางบ้านมาเล่าเรื่องสยองขวัญหรือเรื่องเหนือธรรมชาติ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก The Shock และ The Ghost  (Facebook คนเขียนคือ Atthasit Muang-in)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
(เรื่องสั้นสยองขวัญภาษาอังกฤษเรื่องนี้ลอกมาจากเรื่องสั้นของราชาเรื่องสยองขวัญของเมืองไทย ครูเหม เวชากร ตัวเอกคือนายทองคำ เด็กกำพร้าอายุ 12 ขวบที่อาศัยอยู่กับยายและญาติในชนบทของไทยในช่วงเวลาประมาณ พ.ศ.2476)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The lingering sunlight from the dawn kissed my eyelids and I could hear faintly the flock of big birds, whose breed was unbeknownst to me, chirping merrily outside window ,as if to greet the exuberant face of a new day.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเกี่ยวกับนักเขียนวัยกลางคนที่มีความหลังอันดำมืดและความสัมพันธ์กับดาราสาวผู้มีพลังจิต 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของรปภ.หนุ่มผู้ค้นหาภูติผีปีศาจในตึกที่ลือกันว่าเฮี้ยนที่สุด  เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากรายการ The Ghost Radio(the altered version)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของผู้ชาย 3 คนที่ขับรถบรรทุกแล้วต้องเผชิญกับผีดูดเลือด 3 Friends and The Ghosts                                                (1)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
This short novel is about a guy who works as a DJ for the radio program 'The Spook Radio', famous for its allowing audience to share their thrilling experiences or tales about the superstitious stuffs, especially the ghosts, via telephones.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเรื่องนี้เกี่ยวกับคนไทยที่ใช้ชีวิตในเยอรมันช่วงพรรคนาซีเรืองอำนาจ  เขียนยังไม่จบและยังไม่มีการ proofreading แต่ประการใด                     Chapter 1  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้มาจาก facebook  Atthasit Muangin สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มหาศาสดาผู้ลี้ภัยอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ในฐานะเป็นเอตทัคคะหรือผู้เป็นเลิศในเรื่องเจ้า (The royal affairs expert)  พบกับการวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีอย่างมากมายจากบรรดาแฟนคลับหรือคนที่แวะเข้ามาในเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 (มีบทความอื่นอีกมากมายในเฟซบุ๊คของผมคือ Atthasit Muang-in) 1.สลิ่มไม่ชอบอเมริกาและตะวันตกซึ่งคว่ำบาตรและมักท้วงติงไทยหลังรัฐประหารปี 2557  ในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยพวกสลิ่มเห็นว่าทั้งสองฝ่ายเป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอกเช่นเคยบุกประเทศอื่น