Skip to main content

จำได้ว่าตั้งแต่เกิดมาเป็นตัวเป็นตน ภาพยนตร์ที่สร้างความเพลิดเพลินและความชื่นอกชื่นใจให้แก่ผมมากที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือหนังเรื่อง "มนตร์รักลูกทุ่ง" ของสยามประเทศนี่เอง เคยดูเป็นเวอร์ชั่นโรงใหญ่จากโทรทัศน์ก็ตอนเด็ก ๆ ความจำก็เลือนลางไป เมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เค้าเอามาทำเป็นละครโทรทัศน์ช่อง 7  มีศรันยูและณัฐริกาหรือคุณ น้ำผึ้งเป็นคู่พระคู่นางก็สร้างความสนุกสนานไม่น้อย (จำบรรยากาศได้ว่าดูโทรทัศน์รวมที่หอ ร่วมกับเด็กหอที่ติดกันงอมแงมฮากันลั่นหอ) แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้ระลึกความหลังเก่า ซื้อซีดีของเวอร์ชั่นเก่ามาดูอีกครั้งก็ฟังธงได้เลยว่าต่อให้มีการสร้างใหม่สักกี่ครั้งก็ไม่สามารถต่อกรกับเวอร์ชั่นที่มีคู่พระคู่นางคู่อมตะมหานิรันดร์กาลคือ มิตร ชัยบัญชา และเพชรา เชาวราษฎร์เป็นอันขาด 

หนังเรื่องนี้ เป็นฝีมือการกำกับของคุณ รังสี ทัศนพยัคฆ์ ถูกนำออกฉายใน พ.ศ.2513 แต่ผมดูในซีดีพบว่าภาพของหนังมี"ฝนตก"ทั้งเรื่องเลยทำให้ข้องใจคุณภาพของฟิล์มหนังสมัยนั้นว่าแตกต่างจากของฝรั่งเหลือเกิน เพราะของฝรั่งตั้งแต่ทศวรรษที่สี่สิบ เมื่อนำมาซ่อมหรือ restore ก็ดูคมชัดราวกับถ่ายทำเมื่อไม่นานมานี้ อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสนใจว่าปีนี้นี่เองมิตรจบชีวิตลงในขณะที่ถ่ายทำตอนจบของหนังเรื่องอินทรีย์ทองที่มิตรทั้งกำกับและแสดงเอง โดยเขาทนห้อยตัวบนเชือกที่ติดเฮลิคอปเตอร์ไม่ไหวเลยตกลงมาสู่พื้นเสียชีวิต (ข้อมูลจากไทยวิกิพีเดีย) การที่ผมชอบหนังเรื่องนี้เป็นพิเศษคือ "ความเป็นมีชีวิต"ของมัน เวลาที่เราเหงาและได้ดูหนังที่เต็มไปด้วยตัวละครหลายคนที่ตลกร่าเริง มีชีวิตชีวา ย่อมทำให้เราพลอยสนุก ชื่นอกชื่นใจไปด้วย ส่วนผู้กำกับต้องเก่งจริง ๆในการเฉลี่ยบทบาทของตัวละครเหล่านั้นให้เกิดความสมดุล เพื่อให้คนดูไม่รู้สึกค้างเติ่ง

มนตร์รักลูกทุ่งเป็นภาพยนตร์แบบ Romantic Comedy musical ที่มีสถานที่ของเรื่องคือชนบทแห่งหนึ่งที่ไม่ได้บอกว่าจังหวัดไหน แต่ถ้าจะให้เดาน่าจะเป็นแถวอยุธยาหรืออาจจะเป็นปทุมธานี (เพราะตัวละครสามารถพายเรือมาที่กรุงเทพได้ แสดงว่าไม่ไกลนัก)เป็นเรื่องความรักของไอ้หนุ่มคล้าว (มิตร ชัยบัญชา)กับทองกวาว (เพชรา เชาวราษฎร์) ลูกสาวของพ่อทองก้อน (สมควร กระจ่างศาสตร์)และแม่ทับทิม เศรษฐีผู้มีอันจะกินประจำหมู่บ้าน ความรักของคนทั้งคู่ที่สุดแสนจะแนบแน่นน่าจะสมหวังแต่ว่าไอ้คล้าวเป็นหนุ่มชาวนายากจนอาศัยอยู่กับแม่ 2 คน ที่นาก็ติดจำนองกับนายจอม เศรษฐีจอมอิทธิพลก็เลยทำให้นายทองก้อนรังเกียจไอ้คล้าวเป็นยิ่งนัก แต่โชคดีที่ไอ้คล้าวและแม่ได้รับการช่วยเหลือจากคนรอบข้างที่เป็นชาวบ้านผู้ยากไร้เช่นกันเช่นนายแว่น (เก่งกาจ ศรีใจพระ ปัจจุบันเป็นโหรชื่อดัง) ที่ตกหลุมรักบุปผาญาติสาวคนสนิทที่อาศัยอยู่กับทองกวาวแต่ก็ถูกนายทองก้อนกีดกันเหมือนกัน นายแว่นเป็นนักดนตรีอยู่วงดนตรีของลุงชื่น (ล้อต๊อก)ที่มีลูกน้องนักดนตรีซึ่งดูไม่น่าเชื่อถือนักเพราะเป็นจำอวดทั้งนั้น ในหนังไม่มีชื่อแต่จำได้ว่ามีอยู่คนหนึ่งมีชื่อจริงคือ สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม (ร่างเล็ก ผอมไว้หนวด) และตำรวจคือหมู่น้อย (ประจวบ ฤกษ์ยามดี)ซึ่งถูกเจ้านายสั่งขังอยู่บ่อยครั้ง เพราะหนีเวรมาซ้อมดนตรี แถมยังมีบุญเย็น (ไพวัลย์ ลูกเพชร) หนุ่มบ้านนอกที่ผันตัวไปร้องเพลงที่บางกอกมาช่วยสร้างสีสรรค์มาร้องเพลงเอกของหนังคือ "มนตร์รักลูกทุ่ง"ในตอนของเรื่องอีกด้วย





(ภาพจากเว็บ http://www.geocities.com/Hollywood/Hills/4039/ ของคุณมนตรี ทิพย์สร)

สิ่งที่เป็นเสน่ห์ของหนังเรื่องนี้ก็ความสนุกสนาน ยั่วล้อกันและมิตรภาพที่จริงใจระหว่างตัวละครแบบไทย ๆ (เหมือนกับเรื่อง "บุญชู" อะไรทำนองนั้น) คนที่ถือว่าเป็นผู้ดำเนินเรื่อง และศูนย์กลางของเรื่องในหลาย ๆ ฉากคือลุงชื่นหรือล้อต๊อกซึ่งถึงแม้จะดูเหลี่ยมจัดแต่ก็เหลี่ยมจัดแบบน่ารักด้วยความเป็นคนทรัพย์จางทำให้ต้องแอบรีดไถเงินหลานๆ อยู่บ่อยครั้ง ล้อต้อกนี่ถือได้ว่าเป็นตลกตาม พระได้อย่างยอดเยี่ยมแย่งบทบาทไปจากนายแว่น (หากเป็นเวอร์ชั่นใหม่ที่ไม่มีล้อต้อกก็ดันนายแว่นขึ้นแทน) เพราะมิตรต้องมีมาดพระเอก ทื่อ ๆ แต่ล้อต้อกสามารถทำให้เรื่องน่าติดตามได้เช่นนำพวกวงดนตรีตามไปช่วยคล้าวกับไอ้แว่นจีบสาวหรือแม้แต่พาพรรคพวกนั่งเรือไปตามทองกวาวกับบุปผาที่ถูกพ่อทองก้อนหลอกแกมบังคับให้ไปเรียนตัดเสื้อที่บางกอกเพื่อหนีไอ้คล้าว (มีหนุ่ม18 มงกุฏซึ่งเป็นหลานของป้ามาลีมาจีบทองกวาว คนนั้นแสดงโดย ชุมพร เทพพิทักษ์ คุณพ่อของศรรามนั่นเอง พวกเราจะคุ้นกับภาพของแกตอนแก่ ถ้าได้ดูหนังเรื่องนี้จะฮือฮายิ่งนักว่าแกหนุ่มฟ้อเลย) สรุปได้ว่าเป็นล้อต๊อกนี่เองได้ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นเพชรน้ำหนึ่งของหนังตลกทั้งปวง

อย่างไรก็ตาม ลุงชื่นยังต้องขับเคี่ยวกับจำอวดอีกคนก็คือนายทองก้อนซึ่งต้องแสดงมาดของพ่อหวงลูกและหลานได้อย่างถึงกึ๋นทำให้คนดูทั้งชังทั้งขัน แต่ทำให้เรื่องชวนติดตามว่าความรักของหนุ่มสาวสองคู่นี้จะสมหวังหรือไม่ เรื่องราวเป็นอย่างไรคงไม่ต้องเล่าให้มากความเพราะท่านก็คงจะทราบกันดีแล้ว ถึงแม้หนังจะดูหยิ่นเย้อเพราะต้องการโชว์เพลงมากจนเกินไป ส่วนการแต่งกายของผู้หญิงรุ่นแม่หรือยายของเราในทศวรรษที่ 10 (ถ้าเป็นอเมริกาก็ยุคซิกตี้หรือทศวรรษที่ 60)   เช่นไว้ผมทรงกระบังแต่งคิ้วซะเข้ม ขัดแย้งกับความเป็นจริงของผู้หญิงชนบทในยุคนั้นอย่างมาก แต่ก็ถือว่าภาพโดยรวมของหนังอยู่ในเกณฑ์ดีทีเดียว หากใครได้ดูหนังเรื่อง แหยม ยโสธร ก็จะรู้ว่าหนังของหม่ำลอกเลียนมนตร์รักลูกทุ่งด้วยความซื่อสัตย์เป็นยิ่งนัก ทว่าคุณภาพของหนังทั้งสองเรื่องไม่ต่างกับท้องฟ้าและก้นเหว

เสน่ห์ของหนังเรื่องนี้คือการนำเสนอชาวบ้านนอกตามรูปแบบทั่วไปนั่นคือเป็นคนซื่อๆ และจริงใจซื่อสัตย์ต่อกัน แต่ก็ยังสะท้อนความเป็นจริงว่าก็มีความเหลื่อมล้ำทางฐานะและชาวชนบทบางคนเช่นนายทองก้อนกับนายจอมก็เห็นแก่เงิน และนายจอมก็ทำทุกวิถีทางในการแย่งที่นาจากชาวบ้านโดยเฉพาะของนายคล้าวมา กระนั้นหากจะมองให้ลึกๆ แล้ว "มนตร์รักลูกทุ่ง" ก็คือชนบทในจินตนาการที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยคนกรุงเทพฯ นั้นเอง เพราะถ้าไม่นับเครื่องแต่งกายและการแต่งหน้าแล้วผมแน่ใจว่าคนอยุธยา (หรือภาคกลาง)ที่เป็นชาวบ้านจริง ๆเค้าคงไม่พูดภาษาสำเนียงเช่นนั้น (ยกเว้นล้อต้อกคนเดียว) ส่วนวิถีชีวิตจริง ๆในยุคนั้นคงจะดุเดือดกว่านี้ นายคล้าวหากมีตัวตนอยู่จริงคงจะพาทองกวาวหนีไปตั้งแต่ต้นเรื่องแล้ว 

อย่างไรก็ตามถ้าท่านเป็นคอลูกกรุงลูกทุ่ง ย่อมจะเต็มอิ่มกับหนังเรื่องนี้เป็นยิ่งนักเพราะมีแต่เพลงเด็ด ๆทั้งสิ้นไม่ว่าร้องคนเดียวหรือร้องคู่กันระหว่างหนุ่มสาว หรือร้องกันเป็นหมู่คณะ สำหรับผมแล้วฉากที่ยอดเยี่ยมที่สุดก็คือตอนที่ไอ้คล้าวกับพรรคพวกลงทุนมาสู่ขอทองกวาวด้วยทองหนักไม่ถึงบาทแต่ถูกนายทองก้อนตั้งเงื่อนไขสินสอดว่า เป็นเงินสิบหมื่น (คือแสนนั่นแหละ) พรรคพวกจึงล่าถอยออกจากบ้านพอประมาณเพื่อเล่นดนตรีโดยให้ มิตรเป็นคนร้องนำด้วย เพลง"สิบหมื่น"เพื่อแขวะพ่อทองก้อน ซึ่งยืนมองด้วยสายตาราวกับจะกินเลือดกินเนื้อในขณะที่ลูกน้องอดเต้นไปกับเค้าด้วยไม่ได้เลยถูกพ่อทองก้อนเบิร์ดกระโหลกเข้าให้ และอีกฉากที่สร้างความฮาให้กับผู้ชมใน พ.ศ. 2513 จนโรงแทบจะแตกคือตอนนายแว่นกับลุงชื่นแอบย่องไปกลางดึกเพื่อพาบุปผาหนีแต่นายทองก้อนรู้แกวก็ให้ลูกน้องร่างใหญ่ปลอมเป็นบุปผามาให้นายแว่นกอด ทำให้เกิดความอลม่านกันขึ้นมา แน่นอนว่าฉากนี้ย่อมถูกหนังไทยยุคหลังๆ ลอกเลียนแบบมาเสียมาก

มนตร์รักลูกทุ่งถ้าเทียบชั้นแล้วก็ถือได้ว่าเป็น Singing' in The Rain หรือไม่ก็ The Sound of Music ของเมืองไทยได้อย่างสบาย ๆ ที่น่าทึ่งคือหนังเรื่องนี้สามารถเข้าฉายในกรุงเทพฯ ติดต่อกันถึง 6 เดือน ชนิดไม่มีหนังเรื่องไหนในปัจจุบันทำได้อีกแล้ว แถมยัง โกยเงินไปได้ 6 ล้านบาทซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็นจำนวนเงินมหาศาลเลยทีเดียว

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เขียนงานเขียนในรูปแบบต่างๆ  คือนวนิยาย เรื่องสั้นหรือแม้แต่บทละครมานานก็เลยอยากจะชี้แจ้งให้ท่านผู้อ่านเข้าใจว่าเนื่องจากเป็นงานเขียนแบบงานดิเรกหรือแบบนักเขียนสมัครเล่นอย่างผม จึงต้องขออภัยที่มีจุดผิดพลาดอยู่ เพราะไม่มีคนมาตรวจให้ ถึงผมเองจะพยายามตรวจแล้วตรวจอีกก็ยังมีคำผิดและหลักไวยากรณ์อยู่
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The Spook Radio (part 2)ภาค 2 ของดีเจอ้นซึ่งเป็นดีเจรายการที่เปิดให้ทางบ้านมาเล่าเรื่องสยองขวัญหรือเรื่องเหนือธรรมชาติ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก The Shock และ The Ghost  (Facebook คนเขียนคือ Atthasit Muang-in)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
(เรื่องสั้นสยองขวัญภาษาอังกฤษเรื่องนี้ลอกมาจากเรื่องสั้นของราชาเรื่องสยองขวัญของเมืองไทย ครูเหม เวชากร ตัวเอกคือนายทองคำ เด็กกำพร้าอายุ 12 ขวบที่อาศัยอยู่กับยายและญาติในชนบทของไทยในช่วงเวลาประมาณ พ.ศ.2476)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The lingering sunlight from the dawn kissed my eyelids and I could hear faintly the flock of big birds, whose breed was unbeknownst to me, chirping merrily outside window ,as if to greet the exuberant face of a new day.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเกี่ยวกับนักเขียนวัยกลางคนที่มีความหลังอันดำมืดและความสัมพันธ์กับดาราสาวผู้มีพลังจิต 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของรปภ.หนุ่มผู้ค้นหาภูติผีปีศาจในตึกที่ลือกันว่าเฮี้ยนที่สุด  เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากรายการ The Ghost Radio(the altered version)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของผู้ชาย 3 คนที่ขับรถบรรทุกแล้วต้องเผชิญกับผีดูดเลือด 3 Friends and The Ghosts                                                (1)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
This short novel is about a guy who works as a DJ for the radio program 'The Spook Radio', famous for its allowing audience to share their thrilling experiences or tales about the superstitious stuffs, especially the ghosts, via telephones.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเรื่องนี้เกี่ยวกับคนไทยที่ใช้ชีวิตในเยอรมันช่วงพรรคนาซีเรืองอำนาจ  เขียนยังไม่จบและยังไม่มีการ proofreading แต่ประการใด                     Chapter 1  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้มาจาก facebook  Atthasit Muangin สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มหาศาสดาผู้ลี้ภัยอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ในฐานะเป็นเอตทัคคะหรือผู้เป็นเลิศในเรื่องเจ้า (The royal affairs expert)  พบกับการวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีอย่างมากมายจากบรรดาแฟนคลับหรือคนที่แวะเข้ามาในเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 (มีบทความอื่นอีกมากมายในเฟซบุ๊คของผมคือ Atthasit Muang-in) 1.สลิ่มไม่ชอบอเมริกาและตะวันตกซึ่งคว่ำบาตรและมักท้วงติงไทยหลังรัฐประหารปี 2557  ในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยพวกสลิ่มเห็นว่าทั้งสองฝ่ายเป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอกเช่นเคยบุกประเทศอื่น