Skip to main content

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ทรัมป์ได้สร้างความฮือฮาให้กับคนไทยเพราะเผลอไปเรียก Thailand เป็น Thighland หรือดินแดนแห่ง "ต้นขา" โดยคนไทยทั่วไปไม่ซีเรียส เห็นว่าเป็นเรื่องสนุกสนานไป เพราะรู้มานานว่าทรัมป์เป็นคนไม่ค่อยเต็มบาท แต่ในทางกลับกันถ้าเป็นผู้นำของประเทศอื่นๆ อย่างประธานาธิบดีของจีนคือสี จิ้นผิงผู้มีบุคลิกราวนักปราชญ์หรือคนดังๆ อย่างเช่นบิล เกตแห่งไมโครซอฟท์หรือมาร์ก ซักเกอร์เบิร์กแห่งเฟซบุ๊คพูดผิดอย่างนี้บ้าง อารมณ์ของคนไทยอาจตรงกันข้าม ไม่ว่าอย่างไรก็ตามผมเห็นว่าความคิดและความรู้สึกเช่นนี้ของคนไทยน่าจะเป็น Ethnocentrism หรือการเอาเชื้อชาติของตนมาเป็นจุดศูนย์กลางบนแนวคิดชาตินิยม เราจึงมักคิดไปว่าประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางของโลก ท่ามกลางประเทศน้อยใหญ่ 195 ประเทศ และคาดหวังว่าทุกคนโดยเฉพาะชาติใหญ่ๆ ที่มีแต่คนมีการศึกษาต้องรู้จักเราดีหรืออย่างน้อยต้องพูดชื่อเราถูก แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติเพราะคนทุกชาติมักคิดเช่นนี้ เพราะมีเลนมองผ่านชาตินิยมทั้งนั้น (และบทความนี้ใช่ว่ามุ่งจะตำหนิคนทั่วไปที่คิดแบบนี้ หากมุ่งอธิบายตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น) ไม่ใช่ทรัมป์คนแรกที่พูดชื่อประเทศไทยผิด ผมเคยอ่านเจอประสบการณ์ของคนไทยกับคนต่างชาติโดยเฉพาะอเมริกันมาหลายครั้งแล้ว เช่นครั้งหนึ่งนิตยสารสตาร์พิกส์ไปสัมภาษณ์ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังของฮอลลีวูดคือสไปค์ ลี ซึ่งดูท่าทางไม่สบายก็พูดชื่อประเทศไทยคล้ายๆ กับทรัมป์ คนไทยในต่างแดนยังบ่นหลายครั้งว่าเพื่อนต่างชาติไม่รู้ว่าประเทศไทยอยู่ตรงไหน และยังสับสนระหว่างประเทศไทยกับไต้หวัน ถ้าให้เปรียบเทียบกัน ก็เหมือนพวกเราได้ยินชื่อประเทศ lesotho หรือ Guyana เป็นครั้งแรก

เท่าที่เห็นว่าองค์กรรอบตัวเราไม่ว่ารัฐบาล สถานศึกษาและสื่อมวลชนก็ล้วนแต่ทำให้เราหลงเข้าใจผิดหรือ misleading ดังข้างบนผ่านลัทธิชาตินิยม ทั้งนั้น รัฐบาลเชิดชูจุดยืนหรือความเป็นไทยในเวทีโลกเพื่อประกาศความสำเร็จในเรื่องนโยบายต่างประเทศที่ไม่เคยเห็นเป็นรูปธรรมจริงๆ อย่าว่าแต่กลยุทธ์ขนาดใหญ่หรือ Grand Strategy เลย ที่เห็นว่าเกินจริงคือประชาคมอาเซียนที่ไป ๆ มาๆ ไม่มีอะไรนอกจากผลประโยชน์ทางการค้า เล่นเอาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยที่ปรับเวลาตามแบบอาเซี่ยนต้องมาเปลี่ยนเวลาให้เหมือนเดิมแทบไม่ทัน ส่วนสถานศึกษาเช่นโรงเรียนซึ่งฝักใฝ่ชาตินิยมมาเป็นร้อยๆ ปีก็รับลูกต่อจากนั้นในการปลูกฝังความรู้เพื่อให้นักเรียนคิดว่าชาติเราต้องมีความพิเศษอะไรสักอย่างเช่นอาหารไทย การไหว้ การนวด ฯลฯ ทำให้เราเป็นที่สนใจและเป็นนิยมทั่วโลก กระนั้นแค่คำว่าโลกหรือ world ก็ผิดแล้วเพราะทั่วโลกหมายถึงคนเกือบ 8 พันล้านคนจากทุกทวีปคิดเช่นนี้เหมือนกัน แล้วเราจะมั่นใจอย่างไรว่าพวกเขาจะมองเราต่างจากประเทศเพื่อนบ้านเช่นลาวและกัมพูชาซึ่งมีวัฒนธรรมและประเพณีคล้ายกับไทยมาก เช่นเดียวกับสื่อมวลชนที่ชอบเสนอภาพของชาวต่างชาติไม่กี่คนมาซาบซึ้งและหลงไหลในความเป็นไทย รวมไปถึงการประจบรัฐบาลเช่นตอนที่ไทยทำรัฐประหารเมื่อปี 2014 ก็ประกาศนโยบายเอียงข้างเข้าหาจีน สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งซึ่งสนับสนุนรัฐบาลก็รับลูกเสียยกใหญ่เช่นสำนักพิมพ์ผู้จัดการเขียนการ์ตูนเป็นรูปครุฑแนบชิดกับหมีและมังกรในการเซลฟี่เพื่ออวดอินทรีย์คือสหรัฐฯ เพื่อสะท้อนว่าเรานั้นรักและสามัคคีกับจีนรวมไปถึงรัสเซีย ซึ่งความจริงแล้วสี จิ้นผิงยังไม่เคยมาเมืองไทย ส่วนปูตินมาเยือนเมืองไทยอย่างเป็นทางการครั้งสุดท้ายคือปี 2003 หรือตอนที่นายกรัฐมนตรีไปพูดที่องค์การสหประชาชาติ ผู้ประกาศข่าวและผู้วิเคราะห์ข่าวก็ชอบบอกว่าตอนนี้ทั่วโลกกำลังจับจ้องผู้นำไทย ทั้งที่ในภาพตัดมาคือนายกรัฐมนตรีกำลังพูดอยู่ท่ามกลางคนเข้าฟังจำนวนโหรงเหรงเหมือนคนดูในโรงหนังตอนโควิด -19 กำลังระบาด (ผมว่าถึงยิ่งลักษณ์กับทักษิณไปพูดบ้าง จำนวนคนฟังก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไร)

สิ่งอื่นที่ทำให้คนไทยหลงคิดไปก็คือท่าทีทางการทูตของต่างประเทศนั่นเอง เราจึงมักคิดว่าคำพูดหรือการแสดงออกของต่างประเทศมาจากความรู้สึกจริงๆ แน่นอนว่าศิลปะทางการทูตย่อมรวมถึงการพูดอ่อนหวาน ป้อยอหรือยกย่องประเทศอีกฝ่ายเพื่อความร่วมมือ (อันทำให้วงวิชาการไม่ถือว่าการทูตหรือ diplomacy เป็นวิทยาศาสตร์) เช่นเดียวกับไปรื้อความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ชาติมาตั้งแต่ยุคไหนต่อไหนเพื่อทำให้เกิดความประทับใจต่อกัน และไทยก็นำมาโฆษณาชวนเชื่อเสียยกใหญ่ อย่างเช่นมีทั้งคนไทยและคนอิหร่านบอกว่าไทยกับอิหร่านมีความสัมพันธ์กันมายาวนานจากการอ้างถึงคนเปอร์เซียที่มาตั้งรกรากในอาณาจักรอยุธยาอันกลายเป็นต้นตระกูลบุนนาค ซึ่งเป็นคำอ้างที่ไม่สมเหตุสมผลเพราะมีแค่ตัวอย่างเดียวและเป็นตัวบุคคล แต่ไม่ได้พูดว่าอิหร่านช่วงปฏิวัติอิสลามปี 1979 หรือสงครามระหว่างอิรักและอิหร่านต่อจากนั้น ไทยมีจุดยืนหรือส่วนร่วมอย่างไร หรือสหรัฐฯ ยกย่องไทยว่าเป็นมหามิตรมาร้อยกว่าปี ทั้งที่ความเป็นมหามิตรนี้ขึ้นๆ ลงๆ ตามสถานการณ์ เช่นไปนับตั้งแต่เทาน์เซนต์ แฮริสเดินทางมาสยามช่วงรัชกาลที่ 4 แต่การมาเป็นความสัมพันธ์แนบแน่นคือช่วงตั้งแต่ปี 2490 และยุคสฤษดิ์ ธนรัชต์ ที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนรัฐบาลขุนศึกเพื่อเป็นป้อมปราการสู้กับคอมมิวนิสต์และไทยก็เป็นที่ตั้งของฐานทัพอเมริกันในช่วงจอมพลถนอม กิติขจร ซึ่งไทยในยุคนั้นดูเหมือนกึ่งอาณานิคมของสหรัฐ ฯ เสียมากกว่า หลังสงครามสหรัฐฯ ก็ถอนฐานทัพจากภูมิภาคนี้ไป และความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยก็ปกติไม่ต่างจากสหรัฐฯ กับอินโดนีเซีียหรือฟิลิปปินส์

ผมจำได้ว่าสมัยจอร์จ ดับเบิลยู บุช ไทยถูกจีบให้เป็นพันธมิตรสำหรับสงครามต่อต้านการก่อการร้าย เช่นเดียวกับประเทศอื่นอีกมากมาย ตอนบุชเสนอชื่อให้ไทยเป็นพันธมิตรหลักนอกองค์การนาโต หรือ Major non-NATO ally สื่อไทยที่เชียร์ทักษิณก็กระพือข่าวกันใหญ่ จนคนไทยยุคนั้น (ตัวอย่างคือผมเป็นต้น) รู้สึกตัวพองว่าเป็นมิตรสำคัญของสหรัฐฯ แต่ถ้าไปหาข้อมูลดีๆ จะพบว่ามีประเทศอื่นๆ ที่ถูกประธานาธิบดีไม่เฉพาะบุชสนับสนุนให้เป็นพันธมิตรดังกล่าวเกือบ 20 ประเทศ นอกจากนี้ยิ่งผู้นำของไทยไปเยือนต่างชาติและได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและยิ่งใหญ่ เราก็ยิ่งมั่นใจว่าประเทศเราเป็นที่รักของประเทศต่างๆ หรือรู้จักอย่างแพร่หลายโดยชาวต่างชาติ ทั้งที่การต้อนรับนั้นอาจถูกจัดตั้งขึ้นมาและยังถูกกลั่นกรองผ่านภาพและภาพเคลื่อนไหวในมุมอันจำกัดก่อนจะนำเผยแพร่โดยรัฐบาลผู้ต้อนรับ ดังนั้นจะให้เป็นวิทยาศาสตร์จริงๆ ก็ต้องมีการสำรวจเหมือนการลงประชามติทั่วประเทศนั้นๆ ว่ารู้จักประเทศไทยหรือไม่ มากน้อยเพียงใด ไม่ใช่แค่โพลซึ่งมีความเบี่ยงเบนสูงมาก แต่ก็คงไม่มีใครเสียสติทำเช่นนั้น พวกเราจึงมักหลงอยู่ในภาพที่ถูกสร้างขึ้นผ่านวาทกรรมชาตินิยมและการทูตที่เลื่อนไหลไปตามผลประโยชน์มากกว่าความจริง

อย่างไรก็ตามบางคนอาจเห็นว่าทรัมป์เป็นถึงประธานาธิบดีและเคยเชิญลุงตู่ไปนั่งจับมือกันด้วยท่าทางอันสนิทสนมในทำเนียบขาว ทรัมป์จึงไม่น่าจะจำชื่อประเทศไทยผิดเหมือนคนอเมริกันทั่วไป แถมพลเอกอภิรัชต์ยังยอมให้ทหารอเมริกันมาซ้อมรบในไทยถึงแม้สหรัฐฯ จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด -19 สูงที่สุดในโลก ที่จริงแล้วการเป็นมหามิตรตามมุมมองสหรัฐฯ คือการมองว่าประเทศนั้นจะเป็นประโยชน์ทางการเมือง การทหารและเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด จนกลายเป็นลำดับขั้น เพราะสหรัฐฯ เป็นประเทศใหญ่ ต้องการมีมิตรจำนวนมากเพื่อตอบสนองอำนาจนำ (Hegemony) ในระดับโลก เช่นเดียวกับจีนซึ่งตอนนี้กำลังสร้าง soft power หรือความน่าเชื่อถือเหนือประเทศต่างๆ ทั่วโลกอย่างเช่นไทยซึ่งก็หลงตัวอีกว่าจีนกำลังให้ความสำคัญกับตัวเองมาก แต่มาโป๊ะแตกเมื่อเกิดการระบาดไวรัสที่เมืองอู๋ฮั่น แต่จีนไม่ยอมให้ทางการไทยบินไปเอาคนไทยกลับมาอย่างรวดเร็วดังที่หวังไว้

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างทรัมป์ในฐานะเป็นมนุษย์ที่ชราภาพแล้ว ความจำก็เลอะเลือนย่อมไม่อาจจำชื่อประเทศได้ทั้งหมด ทรัมป์ย่อมจำชื่อไทยแลนด์ได้ดีไม่เท่าซาอุดิอาระเบีย อินเดียและญี่ปุ่นซึ่งมีความสำคัญต่อสหรัฐฯ ยิ่งกว่าไทยมาก แม้ชื่อจะยาวกว่าหรือพอๆ กัน ผู้นำของชาติเหล่านั้นไปพบทรัมป์บ่อยครั้งกว่าประยุทธ์และมีจำนวนทหารสหรัฐไปซ้อมรบและประจำการยิ่งกว่าไทยไม่รู้จักกี่เท่า แม้นานมาแล้วสื่อมวลชนหลายสำนักจะชอบอ้างว่าไทยเป็นประเทศสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการที่สหรัฐฯ จะนำไปถ่วงดุลอำนาจกับจีน เราก็บอกไม่ได้อย่างชัดเจนว่าไทยแตกต่างจากประเทศอื่นซึ่งเหยียบเรือสองแคมเหมือนเราอย่างเวียดนาม พม่า มาเลเซียและสิงคโปร์อย่างไร ซ้ำร้ายนโยบายของทรัมป์เกี่ยวกับเอเชียคือ Indo-Pacific ในการถ่วงดุลอำนาจกับจีนซึ่งรวมถึงประเทศสำคัญๆ อย่างเช่นอินเดียและออสเตรเลีย ก็น่าจะลดความสำคัญของไทยให้น้อยไปอีกจากยุคของโอบามาเสียมาก ผมคิดว่าแม้ประธานาธิบดีจะอายุน้อยกว่าทรัมป์อย่างบุชหรือโอบามาอาจพูดชื่อประเทศไทยถูกเพราะเคยมาเมืองไทย แต่ข้อมูลของประเทศไทยในหัวอาจแทบไม่มีด้วยพวกเขาจดจำไทยในฐานะหมากเล็กๆ ตัวหนึ่งในการเล่นเกมกับมหาอำนาจประเทศอื่นเสียมากกว่า

บทความนี้สอนให้รู้ว่าชังชาติบ้างก็ดี เพราะจะทำให้เราได้รู้ถึงตำแหน่งแห่งที่จริงๆของไทยเพื่อกำหนดและปรับกลยุทธ์บนเวทีโลกอันเหมาะสม ดีกว่าหลงชาติไปกับภาพที่เราไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เขียนงานเขียนในรูปแบบต่างๆ  คือนวนิยาย เรื่องสั้นหรือแม้แต่บทละครมานานก็เลยอยากจะชี้แจ้งให้ท่านผู้อ่านเข้าใจว่าเนื่องจากเป็นงานเขียนแบบงานดิเรกหรือแบบนักเขียนสมัครเล่นอย่างผม จึงต้องขออภัยที่มีจุดผิดพลาดอยู่ เพราะไม่มีคนมาตรวจให้ ถึงผมเองจะพยายามตรวจแล้วตรวจอีกก็ยังมีคำผิดและหลักไวยากรณ์อยู่
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The Spook Radio (part 2)ภาค 2 ของดีเจอ้นซึ่งเป็นดีเจรายการที่เปิดให้ทางบ้านมาเล่าเรื่องสยองขวัญหรือเรื่องเหนือธรรมชาติ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก The Shock และ The Ghost  (Facebook คนเขียนคือ Atthasit Muang-in)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
(เรื่องสั้นสยองขวัญภาษาอังกฤษเรื่องนี้ลอกมาจากเรื่องสั้นของราชาเรื่องสยองขวัญของเมืองไทย ครูเหม เวชากร ตัวเอกคือนายทองคำ เด็กกำพร้าอายุ 12 ขวบที่อาศัยอยู่กับยายและญาติในชนบทของไทยในช่วงเวลาประมาณ พ.ศ.2476)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
The lingering sunlight from the dawn kissed my eyelids and I could hear faintly the flock of big birds, whose breed was unbeknownst to me, chirping merrily outside window ,as if to greet the exuberant face of a new day.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเกี่ยวกับนักเขียนวัยกลางคนที่มีความหลังอันดำมืดและความสัมพันธ์กับดาราสาวผู้มีพลังจิต 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของรปภ.หนุ่มผู้ค้นหาภูติผีปีศาจในตึกที่ลือกันว่าเฮี้ยนที่สุด  เรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากรายการ The Ghost Radio(the altered version)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เรื่องของผู้ชาย 3 คนที่ขับรถบรรทุกแล้วต้องเผชิญกับผีดูดเลือด 3 Friends and The Ghosts                                                (1)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
This short novel is about a guy who works as a DJ for the radio program 'The Spook Radio', famous for its allowing audience to share their thrilling experiences or tales about the superstitious stuffs, especially the ghosts, via telephones.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
นวนิยายภาษาอังกฤษเรื่องนี้เกี่ยวกับคนไทยที่ใช้ชีวิตในเยอรมันช่วงพรรคนาซีเรืองอำนาจ  เขียนยังไม่จบและยังไม่มีการ proofreading แต่ประการใด                     Chapter 1  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้มาจาก facebook  Atthasit Muangin สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มหาศาสดาผู้ลี้ภัยอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ในฐานะเป็นเอตทัคคะหรือผู้เป็นเลิศในเรื่องเจ้า (The royal affairs expert)  พบกับการวิพากษ์วิจารณ์และโจมตีอย่างมากมายจากบรรดาแฟนคลับหรือคนที่แวะเข้ามาในเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 (มีบทความอื่นอีกมากมายในเฟซบุ๊คของผมคือ Atthasit Muang-in) 1.สลิ่มไม่ชอบอเมริกาและตะวันตกซึ่งคว่ำบาตรและมักท้วงติงไทยหลังรัฐประหารปี 2557  ในเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยพวกสลิ่มเห็นว่าทั้งสองฝ่ายเป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอกเช่นเคยบุกประเทศอื่น