Skip to main content

นายยืนยง



วันที่ 8 กรกฎาคม 2551 คณะกรรมการคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ได้พิจารณาคัดเลือกหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ส่งประกวด ประจำปี 2551 จำนวน 76 เล่ม มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เสนอหนังสือรวมเรื่องสั้น 9 เล่ม ดังนี้

 


1.ข่าวการหายไปของอาริญาและเรื่องราวอื่น ๆ ของ ศิริวร แก้วกาญจน์

2.เคหวัตถุ ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์

3.ตามหาชั่วชีวิต ของ เสาวรี

4.บริษัทไทยไม่จำกัด ของ สนั่น ชูสกุล

5.ปรารถนาแห่งแสงจันทร์ ของ เงาจันทร์

6.เราหลงลืมอะไรบางอย่าง ของ วัชระ สัจจะสารสิน

7.เรื่องบางเรื่องเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่า ของ จำลอง ฝั่งชลจิตร

8.วรรณกรรมตกสระ ของ ภาณุ ตรัยเวช

9.หมู่บ้านแอโรบิก ของ ทัศนาวดี

ส่วนรายชื่อกรรมการคัดเลือกได้แก่

1.รองศาสตราจารย์ ยุรฉัตร บุญสนิท (ประธานกรรมการคัดเลือก)

2.นายจรูญพร ปรปักษ์ประลัย กรรมการ

3.นายดำรงค์ บุตรดี กรรมการ

4.รองศาสตราจารย์ ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ กรรมการ

5.นายรักษ์มนัญญา สมเทพ กรรมการ

6.รองศาสตราจารย์ ดร.สรณัฐ ไตลังคะ กรรมการ

7.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สายวรุณ น้อยนิมิตร กรรมการ


ข้อมูลข้างต้นนั้น คัดลอกมาจากเว็บไซต์ของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย


ทั้งที่ผลงานเข้ารอบทั้ง 9 เล่ม ล้วนมีคุณภาพน่าสนใจ น่าหยิบจับมาอ่านอย่างปฏิเสธได้ยาก แต่กลับไม่มีเสียงตอบรับ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งแง่ลบหรือบวกใด ๆ เลย น่าเสียดายรูปโฉมที่กรรมการคัดเลือกเสกสรรปั้นแต่งมาให้นักอ่านได้ลิ้มลอง หรือจะเป็นเพราะสื่อวรรณกรรม (ขาใหญ่) ไม่พึงใจกระมัง จึงเลือกที่จะไม่พูดถึง เลือกที่จะทำให้เรื่องเข้าสู่ความเงียบ บอกตามตรงว่า เสียดาย ในฐานะคนอ่าน และอิหลักอิเหลื่อเต็มทนกับพฤติกรรมของสื่อที่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เสนอข่าวตามเป็นจริง พฤติกรรมแบบปากว่าตาขยิบของบรรดาสื่อวรรณกรรมที่เอาแต่อ้าปากด่าทีวี หนังสือพิมพ์ที่เสนอข่าวไม่เป็นกลาง เอนเอียงบ้าง อะไรบ้าง แต่ทีตัวเองก็แกล้งทำลืมไปเสียอย่างนั้น คนอ่านหนังสือในบ้านเมืองเราจึงถูกยัดเยียดพร้อมยัดไส้อยู่ร่ำไป อย่างนี้จะโทษใครได้ว่าคนไทยอ่านหนังสือวันละไม่กี่บรรทัด


ที่ว่าผลงานมีคุณภาพน่าสนใจนั้น จะเรียกว่าเป็นการชี้นำก็ยอม เพราะปีนี้เป็นรวมเรื่องสั้นที่น่าอ่านแทบทุกเล่ม หากจะให้เดาว่าใครจะชิงเก้าอี้ซีไรต์คงยาก ไม่อยากหาพาราเซตามอลกินแก้ปวด จึงลองหยิบมาพูดถึงเผื่อคนที่สนใจจะหามาอ่านหรือเก็บไว้อ่านบ้าง เลือกยกมาตามลำดับที่นึกขึ้นได้ ไม่ใช่ตามความนิยมอะไรหรอก


คงจะนึกออกว่า ในคอลัมน์นี้เคยวิจารณ์ผลงานของ ทัศนาวดี ในเล่มโลกใบเก่ายังเศร้าเหมือนเดิม ในตอนโลกใบเก่ากับคนเฝ้าสุสาน ว่าต้องผิดหวังกับกระบวนการที่ยังย่ำวนอยู่ในหลุมบ่อโศกนาฎกรรมของศตวรรษที่แล้ว พอมาเจอเล่มใหม่ของเขา ก็ต้องกลับคำทันที ในเรื่องหมู่บ้านแอโรบิกนั้น ทัศนาวดีเขียนเรื่องแนวเพื่อชีวิตได้สนุก มีชีวิตชีวา ขำแต่ขันไม่ออก น่าสังเกตว่าทัศนาวดีพัฒนาแนวทางการเขียนเรื่องสั้นได้ทันใจดีแท้ ขณะเดียวกันเนื้อหาของงานก็ยังคงจุดยืนของตัวเองไว้ ไม่พยายามจะเป็นตามกระแสปัจเจกนิยมจัดแต่อย่างใด แต่เขาหันกลับมาหา จุดเยือกแข็ง ในวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตเพื่อสลายให้เป็นสายธารชุ่มเย็นขึ้นมาได้ เล่มนี้ต้องบอกสั้น ๆ ว่า ใครที่ว่าเพื่อชีวิตเชย คงต้องลองเดินเข้าไปหามันอีกครั้งแล้วล่ะ


ทำไมวรรณกรรมเพื่อชีวิตยังคงดำรงอยู่ได้ในสภาพสังคมปัจจุบัน นี่เป็นคำถามหนึ่งที่คนทันสมัยหลายคนแคลงใจอยู่ ขณะที่บางคนก็มีคำตอบอยู่ในใจอันกว้างขวางของเขาแล้วใช่ไหม แน่นอนว่าสังคมยุคใหม่มีอะไรต่อมิอะไรเยอะ โลกหมุนเร็วเหมือนมีใบพัดอันใหญ่คอยเร่งกำลังส่ง แต่เราคงไม่ลืมสภาพสังคมไทยที่เส้นแบ่งระหว่างสังคมเมืองกับชนบทมีอยู่จริงและยิ่งชัดเจนขึ้น (ยิ่งชัดเมื่อกระแสทุนบริโภคกระโดดเข้าฮุบสังคมชนบท) บ่อยครั้งเราจะพบว่า คนจนหรือคนด้อยโอกาสกลุ่มใหญ่ยินดีที่จะถูกกระทำให้จนลง อ่อนแอลง จนเกือบจะเรียกได้ว่า โง่ลงจนถึงขั้นจนปัญญา ง่อยเปลี้ยเสียขาไปเลย วรรณกรรมเพื่อชีวิตยังพยายามสะกิดในแง่นี้ โดยหยิบเอามุมด้านเล็ก ๆ มานำเสนอ และไม่คาดคั้นคนอ่านหรือไม่ชี้ทางออก แต่เน้นให้คนอ่านรู้สึกรู้สากับสภาพสังคมตามแต่สะดวกจะรู้สึกได้


ขณะที่ทัศนาวดีเขียนหมู่บ้านแอโรบิกให้เป็นภาพสะท้อนสังคม จำลอง ฝั่งชลจิตรก็มีผลงานรวมเรื่องสั้นครบรอบ 30 ปีแห่งอาชีพนักเขียน ในเล่มชื่อยาวว่า เรื่องบางเรื่องเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่า แม้จะมีประเด็นเรื่องเส้นแบ่งระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่งเป็นแกนหลักตลอดทั้ง 15 เรื่องของเขา แต่เมื่อพิจารณาจากผลงานเล่มก่อน เช่น ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป เราจะพบว่าจำลองมีอารมณ์อย่างมนุษย์มากขึ้น ดูจะอ่อนโยนกับงานเขียนมากขึ้นด้วยซ้ำไป ใครก็ตามที่ติดตามผลงานของจำลองต้องยิ้มออกและอาจลืมอคติที่เคยมีไปได้เลย อย่างเรื่อง เป็นไข้ตัวร้อน หรือเรื่องบางเรื่องเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่า เพราะตลอดเวลาที่อ่านเรื่องสั้นของจำลอง เราก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า ดูเขาเอาจริงเอาจังเคี่ยวเค้น และคาดหวังกับตัวละครของเขาจนมากมายไปสักหน่อย แต่เล่มนี้ เราจะรู้สึกได้ถึงแววตาของนักเขียนที่มองตัวละครของเขาอย่างรักใคร่เอ็นดู เข้าอกเข้าใจมากขึ้น


ขอบข่ายของวรรณกรรมที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นแนวเพื่อชีวิตในซีไรต์รอบปีนี้ ยังมีผลงานบริษัทไทยไม่จำกัด ของ สนั่น ชูสกุล อยู่ด้วย คงเพราะประสบการณ์ที่ผู้เขียนย่ำอยู่กับปัญหา และระยะเวลาบ่มเพาะที่ยาวนาน ผลงานของเขาจึงออกมาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่างเรื่อง มดจัดตั้งในแปลงเกษตรที่ปล่อยไว้เฉย ๆ (ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ ช่อการะเกด ดีงามจริงลวง พ.. 2538) ในความยาวของเรื่องมีความต่อเนื่องที่ลงตัวและสมเหตุสมผล เขาเขียนเรื่องของสวนเกษตรที่เจ้าของไม่ได้ทำอะไรเลย แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้ามันจึงกลับกลายเป็นระบบนิเวศน์ที่ต้องตาเหล่านักวิชาการ ตลอดทั้งเรื่องมีน้ำเสียงเสียดเย้ย และตั้งคำถามกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเกษตร ชาวนา นักวิชาการ เอ็นจีโอ การเล่าเรื่องของสนั่นยิ่งน่าสนใจ เพราะเขาเล่าได้นิ่ง ต่างจากงานเขียนของเอ็นจีโอที่เราเคยอ่าน ไม่เท่านั้น ผู้อ่านยังจะได้เกร็ดความรู้ผสมเข้ามาด้วย เมื่อยังเป็นเด็กวัยประถม เราจะเล่นปีนต้นไม้แต่มันดันมีมดแดงท้าทายอยู่ตามกิ่งก้านอันเย้ายวนชวนปีนนั้น เพื่อนบอกให้ช่วยกันหามดดำมาเยอะ ๆ แล้วปล่อยไว้บนต้นไม้ มดดำจะไล่พวกมดแดงที่กัดเจ็บออกไปหมด เรื่องนี้ของสนั่นก็เช่นเดียวกัน อ่านแล้วให้ความรู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้นมาจริง ๆ


ข้อเขียนนี้ดูไปแล้วเห็นว่าจำเป็นต้องกล่าวถึงทุกเล่มเพื่อความเท่าเทียม และลดข้อครหาว่าเลือกที่รักมักที่ชัง ทั้งที่ใจจริงเราต่างก็มีคติส่วนตนว่าชอบ ชัง เล่มไหนเป็นพิเศษทั้งนั้น แต่คราวนี้ไม่นึกเชียร์ใครเลยเป็นที่ประหลาดใจตัวเองเหมือนกัน อาจเพราะวันเวลาที่ยาวนานขึ้น ทำให้เหนื่อยใจกับอะไรง่าย ๆ ไม่เอาล่ะ ต้องปลุกใจตัวเองให้สดชื่นขึ้นมา


เราหลงลืมอะไรบางอย่าง ผลงานของ วัชระ สัจจะสารสิน ก็น่าจะเข้าข่ายวรรณกรรมเพื่อชีวิตแต่มีกลิ่นไอของการเมืองเข้มข้นขึ้นมา น่าสนใจตรงที่ว่า วรรณกรรมแนวการเมืองชัดเจนอย่างนี้กลับกลายเป็นงานน่าสนใจขึ้นมาได้ (ไม่ใช่เพราะสถานการณ์) เพราะการเชื่อมโยงผลกระทบทั้งทางวัตถุและจิตใจเข้ามา สะท้อนถึงอารมณ์ผู้คนในสังคมว่ายังโหยหาสิ่งใดอยู่ กรรมการคัดเลือกเขาเกริ่นนำไว้ว่า


การตั้งชื่อชุดว่า เราหลงลืมอะไรบางอย่าง เป็นการชี้ชวนให้ผู้อ่านฉุกคิดว่าขณะที่เรามองชีวิตไปข้างหน้า และพร้อมจะก้าวไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือของโลกอย่างรวดเร็วนั้น เราหลงลืมอะไรบางอย่างหรือเปล่า เรากำลังละทิ้งความรู้สึกที่ครั้งหนึ่งเคยละเอียดอ่อนแล้ว ลุ่มหลงไปกับสื่อที่พัฒนาต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง เราละทิ้งความฝัน ความปรารถนาและจินตนาการที่คนรุ่นก่อนเคยให้ความสำคัญไปแล้วหรือ นับว่า เราหลงลืมอะไรบางอย่าง เป็นเรื่องสั้นชุดหนึ่งที่ท้าทายกับการตั้งคำถามเกี่ยวกับจิตสำนึกของคนในสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี


สำหรับเรื่องสั้นที่ก้าวออกจากแนวเพื่อชีวิต โดยมีวิธีการเล่าด้วยอารมณ์ละเอียดอ่อน มี 3 เล่ม คือ

1.ข่าวการหายไปของอาริญาและเรื่องราวอื่น ๆ ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ 2.ตามหาชั่วชีวิต ของ เสาวรี

3.ปรารถนาแห่งแสงจันทร์ ของ เงาจันทร์


ผลงานของศิริวร เขาเน้นคิดและรู้สึกให้ต่างไปจากเดิม ข้อดีของเขาอยู่ตรงนี้ การเล่าแบบเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่านของเขายังคงเป็นเสน่ห์ของเรื่องอยู่ อย่างเรื่องอีกฟากฝั่งของทะเลขี้ผึ้ง นั้นเป็นโศกนาฏกรรมที่นุ่มนวลมาก เป็นเรื่องของชีวิตที่อยู่กับความจริง ความฝันและความทรงจำ ตัวละครของเขามีส่วนผสมที่ทันสมัย ดังเช่นตัวละครของเงาจันทร์ ต่างแต่สำนวนของเงาจันทร์จะประณีตกว่า ชวนฝันมากกว่า แม้เราจะเคยรู้สึกว่า เงาจันทร์มีสไตล์การเขียนคล้ายแดนอรัญ แสงทอง นักเขียนผู้เป็นพี่ชายของเธอ แต่เงาจันทร์จะมีส่วนอื่นที่ลึกกว่า คือเธอจะไม่เน้นความสะเทือนอารมณ์ที่รุนแรงนัก ขณะที่เรื่องมีพลังลึกเทียบเท่ากัน เรื่องสั้นของเงาจันทร์ค่อนข้างเยิ่นเย้อก็จริง หากแต่ความผสานกลมกลืนและลื่นไหล ชวนให้อ่านจนจบ และดื่มด่ำไปกับอรรถรสของถ้อยคำ เป็นงานเขียนที่แท้จริงอีกเล่มหนึ่งที่ไม่ต้องอิงกระแสใดก็สามารถอยู่ในใจผู้อ่านได้ตลอด ขณะที่ตามหาชั่วชีวิต ของ เสาวรีนั้น มีแรงหน่วงที่หนักแน่น โครงเรื่องที่ชัดเจน และสำนวนแบบกระชับกว่า จึงได้อารมณ์แบบเด็ดขาด


ใน
2 เล่มสุดท้ายที่อยากจัดเข้าคู่กัน เพราะเน้นน้ำหนักไปในที่ทางของปัจเจก หากดูเพียงเปลือกนอก

คือ 1.เคหวัตถุ ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ 2.วรรณกรรมตกสระ ของ ภาณุ ตรัยเวช

 


แท้จริงแล้ว วรรณกรรมที่เปลือกนอกเป็นเพียงเสียงสะท้อนจากปัจเจกนั้น มีแง่มุมที่จะเชื่อมโยงสู่สังคมอยู่เยอะ บางทีอาจมากกว่าวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตสะท้อนสังคมบางเล่มอีกด้วยซ้ำไป แต่นี่ไม่ใช่คำแก้ต่างให้นักเขียนรุ่นใหม่ ที่ถูกกล่าวหาว่ามองไม่พ้นเล็บเท้าตัวเอง และไม่ยินดียินร้ายกับปัญหาสังคม เพราะหากอ่านให้ดี
(ตัดเอาคำว่า อ่านไม่รู้เรื่อง ออกไปเสีย) เราจะเห็นความจริงจังกับบริบททางสังคมอยู่ในนั้น ขณะเดียวกันเราจะเห็นความไร้เดียงสาผสมอยู่ด้วย โดยเฉพาะงานเขียนของภาณุ ตรัยเวช นักเขียนหนุ่มไฟแรง มากฝีมือและเป็นที่จับตา โดยเมื่อกลางเดือนนี้ มีบทวิจารณ์งานเขียนของเขาในนิตยสารขวัญเรือน ปักษ์หลังกรกฎาคม 2551 (ฉบับ880) ในคอลัมน์ ดวงใจวิจารณ์ โดยอุทิศ เหมะมูล หนึ่งในเจ้าของผลงานเรื่องสั้นที่ส่งประกวดซีไรต์ ในเล่ม ไม่ย้อนคืน เขาเขียนได้อย่างลึกละเอียด และยกย่องกันจนเกือบจะละเลยพูดถึงแง่ลบบ้าง


อุทิศ เหมะมูล เขียนวิจารณ์เรื่อง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้ตรอมตรม ของภาณุ ตรัยเวช แต่เชื่อมโยงถึงผลงานเล่มอื่นของภาณุด้วย ขณะเดียวกันบทวิจารณ์ของเขาก็วิพากษ์วงการวรรณกรรมไทยไปพร้อมกัน ขอยกมาให้อ่านกันตรงนี้


การเกิดของภาณุ ตรัยเวช ในฐานะนักเขียนหนุ่มเลือดใหม่ ถือเป็นปรากฏการณ์น่าตื่นใจในแวดวงวรรณกรรมไทยยุคปัจจุบัน ด้วยความสามารถมากหลายของเขาโดยเฉพาะชั้นเชิงทางวิทยาการความรู้ อันเป็นต้นทุนที่เขาได้ศึกษาเล่าเรียนมา ทำให้ แวดวง นึกนิยมความสามารถของเขาที่ถ่ายทอดมาในรูปวรรณกรรมสร้างสรรค์ได้อย่างสะอาดหมดจด มีชั้นเชิง และฉลาดเฉลียว จนเกือบทุกคนอยากฝากความหวังไว้กับเขา เรียกเขาว่า ดาวดวงใหม่ในวงการนักเขียนไทย


อุทิศยังเพิ่มเติมอีกว่า เรื่องสั้น ผู้ไร้เหย้า ของภาณุ ในช่อการะเกด 42 นั้นสร้างเสียงฮือฮาด้านความสามารถและชั้นเชิง และกลายเป็นตัวเต็งในบัดดลที่จะได้รับการประดับรางวัลช่อการะเกดในงานที่จะขึ้นช่วงสิ้นปีนี้


พิจารณาตามความคิดรวบยอด ซึ่งสรุปออกมาเป็นชื่อรวมเรื่องสั้น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้ตรอมตรม สังเกตได้ว่าตัวละครแต่ละเรื่องเป็นผู้ถือครองชุดความรู้หนึ่ง ๆ ซึ่งกำกับความคิดและพฤติกรรมของเขาและเธอ สังเกตได้อีกด้วยว่า ชุดความรู้ซึ่งกลายมาเป็นหลักคิดในการดำเนินชีวิตนั้นล้วนเป็นชุดความรู้ที่เป็นศาสตร์ เป็นวิทยาการ ฯลฯ ความรู้ความเข้าใจของตัวละครเป็นไปในลักษณะดังนี้ ตัวละครส่วนใหญ่จึงรู้เพียงรู้ จึงลุ่มหลงและตรอมตรมเพราะไม่สิ้นความสงสัยแคลงใจ


ความสงสัยเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความศรัทธาในการเข้าถึงแก่นของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่ความสงสัยก็เป็นเครื่องมือชั้นดีในการทำความเข้าใจชีวิตและโลก ภาวะขัดแย้งนี้เองที่เล่นล้ออยู่ในพฤติกรรมของตัวละครต่อเหตุปัจจัยของเรื่องราวที่นำเสนอ ฯลฯ


ตัดตอนมานิดหนึ่ง เพราะเขาเขียนยาวพอสมควร ซึ่งการอธิบายเหตุผลที่ชื่นชมผลงานเล่มนี้ชวนคิด และโลดโผนทีเดียว ขณะที่อุทิศเองก็เขียนเรื่องสั้นได้น่าอ่านมาก บางครั้งเรื่องสั้นของอุทิศยังมีข้อดีมากกว่าเรื่องสั้นมากด้วยวิทยาการของภาณุด้วยซ้ำ เพราะมันเต็มไปด้วยชีวิตและความรู้สึกที่แท้ แต่ข้อดีของภาณุนั้นไม่ใช่เกิดจาก ความรู้สึกถึงความขาดแคลนอะไรบางอย่างของแวดวงวรรณกรรมไทยเท่านั้น (วงวรรณกรรมไทยก็เป็นอย่างนี้ อย่างเมื่อก่อนนิยมแพทย์นักเขียน ต่อมาก็นิยมวิศวกรนักเขียน ต่อไปจะนิยมอะไรอีกก็ไม่รู้ได้) เพราะคุณค่าของศาสตร์ความรู้นั้นย่อมมีค่าในตัวมันเอง แต่ศิลป์เป็นงานที่งอกงามออกมาจากความรู้สึก แรกทีเดียวเมื่ออ่านงานของภาณุ เราก็ว่าดีเยี่ยม แต่หากย้อนกลับไปพินิจให้ดี นอกจากความไร้เดียงสาแล้ว เรายังจับได้ถึงความฉาบฉวยอีกจำนวนหนึ่ง นี่เองกระมังที่สังคมยังนิยมชมชอบคนที่เรียนสูงเพราะมีความรู้ดี สามารถจับแพะชนแกะได้อย่างแนบเนียน


แม้ไม่ได้กล่าวถึงวรรณกรรมตกสระ เล่มที่เข้ารอบซีไรต์ ไม่ใช่เพราะไม่นิยมภาณุ ความจริงก็ชื่นชมเขาอยู่มากที่สามารถก้าวออกมาจากบ่อวรรณกรรมที่ย่ำวนกันจนไม่มีที่ให้ย่ำแล้ว แต่เพราะอยากให้อ่านเล่มอื่นของเขาดูบ้าง เผื่อว่าจะมีอะไรให้คิดเล่นสนุก ๆ บ้าง และหากใครชอบเรื่องแบบตู้เย็นที่มีอะไรประหลาดมากกว่าจะเรียกได้ว่าตู้เย็นก็ควรหาเล่ม เคหวัตถุ ของอนุสรณ์ ติปยานนท์ มาอ่านเสีย เขามีสำนวนการเขียนที่ค่อนข้างจะยืดยาดอยู่สักนิด แต่ทันสมัยเหมือนชีวิตคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในเมืองใหญ่ งานเขียนของอนุสรณ์นั้น ค่อนข้างจะเป็นวิชาการตรงที่เขามีความพยายามอย่างหนึ่ง เพื่อจะสร้างเรื่องขึ้นมาให้สนองกับข้อคิด หลักปรัชญาตะวันตกที่เขานิยมชมชอบ แต่มีสองข้อที่อนุสรณ์กับภาณุคล้ายกันคือ บทสรุปของพฤติกรรมตัวละครในเรื่องที่ล้วนแตกตัวออกมาจากแนวคิดเรื่องแรงขับทางเพศที่สะท้อนเป็นบุคลิกภาพของซิกมุนด์ ฟรอยด์ ใครที่ไม่นิยมคุยฟุ้งเรื่องเพศหรือหัวโบราณอย่างเรา คงไม่ชอบใจ


โดยภาพรวมแล้ว 9 เล่มที่เข้ารอบสุดท้ายมาล้วนเป็นเรื่องสั้นที่น่าอ่าน ขณะเดียวกันเราก็ไม่ควรละเลยเล่มอื่นหรอกนะ ก็อย่างที่เคยเขียนไว้ แม้บางเล่มจะมีเรื่องดีเยี่ยมเพียงไม่กี่เรื่องก็ควรตำหนิหรือเสียอารมณ์ เพราะวงวรรณกรรมไทยยังนิยมพิมพ์งานแบบเดี่ยว ๆ อยู่ ที่สำคัญอย่ามัวให้สื่อวรรณกรรมที่คล้ายจะทรงอิทธิพลคอยชี้แนะชี้นำอะไรเลย เราเองต่างหากเป็นผู้เลือก ถ้าผู้อ่านเป็นผู้แสวงหาทางเลือกให้ตัวเองได้ อิทธิพลของสื่อที่กุมชะตากรรมยอดขายหนังสืออยู่ก็คงจะสิ้นฤทธิ์ไปได้บ้าง หวังว่าเราจะเป็นผู้ก้าวออกมาจากสถานภาพของผู้จำต้องเสพตามกระแสนิยมหรือกระแสไม่นิยม เลือกในสิ่งที่เรารักโดยแท้เถิด.


บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ถอดรหัสอ่านเร็ว HI-SPEED READING ผู้แต่ง : ลุงไอน์สไตน์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : สำนักพิมพ์บิสคิต ตุลาคม 2551
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ           :           824ผู้เขียน               :           งามพรรณ เวชชาชีวะประเภท              :           นวนิยาย  พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย        :      …
สวนหนังสือ
ป่านนี้แล้ว (พ.ศ. 2552) ใครไม่เคยได้ยินเสียงขู่ หรือคำร้องขอเชิงคุกคามให้ร่วมชุบชูจิตวิญญาณสีเขียว ให้ร่วมรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ให้ตระหนักในปัญหาวิกฤตอาหารถาวร โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ฉันว่าคุณคงมัวปลีกวิเวกนานเกินไปแล้ว
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : ลิงหลอกเจ้า ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา ผู้เขียน : เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผู้แปล : วีระ สมบูรณ์ และ พจนา จันทรสันติ จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม พ.ศ.2528   เวลานี้เราต้องยอมรับเสียแล้วละว่า หนังสือธรรมะ เป็นหนังสือแนวสาระที่ติดอันดับขายดิบขายดี และมีทีท่าว่าจะคงกระแสความแรงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย   เดี๋ยวนี้ ฉันเจอใครเข้า เขามักสนทนาประสาสะแบบปนธรรมะนิด ๆ มีบางคนเข้าขั้นหน่อย ก็เทศน์ได้ทุกสถานการณ์ อย่างนี้ก็มี ไม่แน่ว่าถ้าคนนิยมอ่านหนังสือธรรมะกันหนาตาเข้า สังคมไทยอาจแปรสภาพเป็นสังคมแห่งนักบวชนอกเครื่องแบบก็เป็นได้…
สวนหนังสือ
  เรียน คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ ช่อการะเกด ที่นับถือฉันผู้ใช้นามแฝงว่า นายยืนยง คนเขียนคอลัมน์ สวนหนังสือ ในเว็บไซต์ประชาไท ที่มีบทความชื่อ ช่อการะเกด 45 เวลาช่วยให้อะไร ๆ ดีขึ้นจริงหรือ? อยู่ในรายการของบทความทั้งหมด ได้อ่าน กถาบรรณาธิการ ใน ช่อการะเกด 47 ฉบับวางแผงปัจจุบันแล้ว ทราบว่าคุณสุชาติ บรรณาธิการนิตยสารเรื่องสั้นช่อการะเกดได้ให้ความสนใจต่อบทความนี้ ฉันในนามของนายยืนยงจึงเขียนจดหมายแล้วจัดพิมพ์ส่งตู้ ป.ณ. 1143 เพื่อเล่าถึงความเป็นมาคร่าว ๆ…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ :       เดอะซีเคร็ต ผู้เขียน :            รอนดา เบิร์นผู้แปล :             จิระนันท์ พิตรปรีชาพิมพ์ครั้งที่ 54 :  มีนาคม 2551จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์อมรินทร์
สวนหนังสือ
ใกล้เปิดภาคเรียนใหม่ ปีการศึกษา 2552 แล้ว ภายใต้นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ของรัฐบาลนี้ ถ้าใครได้ดูทีวีคงได้เห็นข่าวประชาสัมพันธ์ หรือได้เห็นสำนักข่าวไปสัมภาษณ์ผู้ปกครองที่ได้รับเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียนแล้วไปเลือกซื้อชุดนักเรียนให้ลูก ๆ เป็นที่น่าชื่นอกชื่นใจสำหรับคนเป็นพ่อแม่ที่มีโอกาสเป็นครั้งแรกในการได้รับ "ของฟรี" จากรัฐบาล แม้จะไม่สามารถซื้อได้ครบทั้งชุดก็ตาม เช่น นักเรียนประถม 5 ได้รับเงินเพื่อการนี้คนละ 360 บาทต่อปี คือ 2 ภาคเรียน ๆ ละ 180 บาท บางคนอาจจะได้กางเกงนักเรียน 1 ตัว และ ถุงเท้า 1 คู่ ก็ยังดีฟะ.. กำขี้ดีกว่ากำตดไม่ใช่เรอะ
สวนหนังสือ
นายยืนยง   นิตยสารรายเดือน             :           ควน ป่า นา เล  4 เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ปลายมีนาคมจนถึงวันนี้ 9 เมษายน ฉันอาศัยทีวีและหนังสือพิมพ์ อันเป็นสื่อกระแสหลักที่นำเสนอข่าวสารที่เป็นกระแสหลัก คือ ข่าวการเมือง เหมือนกับทุกครั้งที่อุณหภูมิการเมืองเดือดขึ้น ฉันดูข่าวเกินพิกัด อ่านหนังสือพิมพ์จนแว่นมัวหมอง ตื่นระทึกไปกับทุกจังหวะก้าวย่างของมวลชนเสื้อแดง มีอารมณ์ร่วมกับภาคการเมืองส่วนกลางในฐานะผู้เสพข่าวสารเท่านั้นเองจริง ๆ เท่านั้นเองไม่มากกว่านั้น …
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : เราติดอยู่ในแนวรบเสียแล้ว แม่มัน! วรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 6 จัดพิมพ์โดย : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พิมพ์ครั้งแรก : กันยายน 2551 ก่อนอื่นขอแจ้งข่าว เรื่องวรรณกรรมการเมือง รางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2552 นี้ สักเล็กน้อย งานนี้เป็นการจัดประกวดครั้งที่ 8 เปิดรับผลงานวรรณกรรมการเมือง 2 ประเภท คือ เรื่องสั้น และ บทกวี ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : เด็กเก็บว่าว The Kite Runner ผู้เขียน : ฮาเหล็ด โฮเซนี่ ผู้แปล : วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม พ.ศ.2548 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ The One Publishing เด็กเก็บว่าว นวนิยายสัญชาติอเมริกัน-อัฟกัน ขนาดสี่ร้อยกว่าหน้า ที่โปรยปก มหัศจรรย์แห่งนวนิยายที่สร้างปรากฏการณ์ปากต่อปากจนติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ เล่มนี้ กล่าวถึงเรื่องราวของอะไรหรือ ทำไมผู้คนจึงให้ความสนใจกับมันมากมายนัก ฉันถามตัวเองก่อนจะหยิบมันมาอ่าน
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง ผู้เขียน : ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ประเภท : วรรณกรรมวิจารณ์ พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2545 จัดพิมพ์โดย : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ การตีความนัยยะศัพท์แสงทางวรรณกรรมจะว่าเป็นศิลปะแห่งการเข้าข้างตัวเอง ก็ถูกส่วนหนึ่ง ความนี้น่าจะเชื่อมโยงกับเรื่อง “รสนิยมส่วนตัว” หรือ อัตวิสัย หากมองในแง่ดี เราจะถือเป็นบ่อเกิดของกระบวนการสร้างสรรค์ได้ด้วย มิใช่หรือ
สวนหนังสือ
นายยืนยงเมื่อการอ่านประวัติศาสตร์ อันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น ฉันว่าควรมีการเขียนหนังสือแนะนำ (How to) เป็นขั้นเป็นตอนเลยจะดีกว่าไหม เพราะมันนอกจากจะปวดเศียรเวียนเกล้ากับผู้แต่งแต่ละท่านแล้ว (ผู้แต่งบางท่านก็ชี้ชัดลงไปเลย เจตนาจะเข้าข้างฝ่ายไหน แต่บางท่านเน้นวิเคราะห์วิจารณ์ โดยที่หากผู้อ่านมีความรู้เชิงประวัติศาสตร์น้อยกว่าหางอึ่งอย่างฉัน ต้องกลับไปลงทะเบียนเรียนวิชานี้อีกหลายเล่ม) ยังทำให้ใช้เวลาอย่างมหาศาลไปกับหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกันอีกหลายเล่ม ไม่เป็นไร ๆ เราไม่ได้อ่านเพื่อพิพากษาใครเป็นถูกเป็นผิดมิใช่หรือ อ่านเพื่อได้อ่าน แบบกำปั้นทุบดินก็ไม่เสียหายอะไรนี่นา…