Skip to main content

นายยืนยง




ผู้เขียน
:
เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์

ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 1 สิงหาคม 2551

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ในดวงใจ



ชวนอ่านเรื่องสั้นมหัศจรรย์


ปลายกันยายนจนถึงต้นเดือนตุลาคมปีนี้ ข่าวสารที่ได้รับค่อนไปทางรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตสถาบันการเงินของสหรัฐที่ส่อเค้าว่าจะลุกลามไปทั่วโลก ทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน หุ้นร่วงรูดเป็นประวัติการณ์ ชวนให้บรรดานักเก็งกำไรอกสั่นขวัญแขวน ไม่กี่วันจากนั้น รัฐบาลที่นำโดย นายกรัฐมนตรี นายสมชาย วงค์สวัสดิ์ ซึ่งนั่งอยู่ในตำแหน่งได้ไม่กี่วัน ก็ได้ใช้อำนาจทำร้ายประชาชนอย่างไร้ยางอาย ตลอดวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ภาพเหตุการณ์ในจอโทรทัศน์ทำให้เกิดความรู้สึกว่าประเทศนี้เป็นดินแดนอนารยะเต็มขั้น แต่คนที่ติดตามข่าวสารชนิดเสพติดอาจหลงลืมไปว่า ปลายฤดูฝนที่มาพร้อมมรสุมติดต่อกันไม่หยุดหย่อนเช่นนี้ เกษตรกร ชาวไร่ชาวนา เขามีชีวิตความเป็นอยู่เช่นไร


การทำกำแพงกั้นน้ำไม่ให้ทะลักเข้านาข้าวที่กำลังชูยอดใบไสวเป็นหน้าที่สำคัญไม่ย่อหย่อนกว่าการประกาศตัวว่าเป็นคนรักชาติ อย่างน้อยที่สุด อาหารมื้อต่อไปก็รออยู่ตรงหน้า เพราะไม่ว่านโยบายอุ้มสถาบันการเงินสหรัฐจะชอบธรรมหรือไม่ ไม่ว่าตำรวจจะสวมวิญญาณข้าราชการผู้จงรักภักดีประทุษร้ายประชาชนด้วยข้ออ้างสูงส่งปานใด ต่อให้รัฐบาลนายสมชายจะหน้าบางแสดงความรับผิดชอบโดยการลาออกหรือไม่ ถั่วฝักยาวก็ยังทอดตัวรอให้เก็บไปเป็นมื้ออาหาร ปูปลาที่เริงรื่นกับน้ำที่มาใหม่ก็ยังเป็นความสามัญของหม้อแกง ประเทศเกษตรกรรมจะมั่นคงอยู่ได้ก็ด้วยสิ่งเหล่านี้ สอดรับกับอมตะวาจาที่ว่า เงินทองคือมายา ข้าวปลาคือของจริง นั่น นอกเสียจากว่า ผืนนาจะไม่ใช่ของคนไทยเท่านั้นเอง

เมื่อสัปดาห์ก่อนที่ได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งแล้วรู้สึกอยากนำมาเล่าต่อตรงนี้เช่นเคย ทั้งที่มีความตั้งใจล้นเหลือที่จะสาธยายว่า หนังสือเล่มนี้ดีอย่างไรบ้าง แต่กลับทำเขียนไม่ได้สักตัวเดียว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร จะเกี่ยวกับข่าวสารหรือไม่ ฉันก็ได้ตัดสินใจหอบตัวเองไปอยู่บ้านสวนที่ไม่มีหนังสือติดตัวไปสักเล่ม มีแต่กระดาษ ปากกา กะว่าจะหาที่โล่ง ๆ ให้โปร่งเบาใจขึ้น แล้วค่อยเขียนอะไร ๆ แต่กลับกลายเป็นว่าสนุกไปกับการกางตาข่ายดักปลา หาผักหญ้ามาเป็นมื้ออาหาร ลืมเรื่องข่าวสารประจำวัน ไม่มีวิทยุ โทรทัศน์ เพราะที่นั่นไม่มีไฟฟ้าใช้


ได้ตื่นตั้งแต่ตีสี่ตีห้าเพราะเสียงปลาใหญ่ดำผุดอยู่ในสระ ผืนดินชุ่มฝนที่พรำอยู่ตลอดคืน กลิ่นควันไฟที่ติดด้วยฟืนชื้นเพื่อเตรียมต้มน้ำชงกาแฟ แสงแรกมาเยือนพร้อมดอกเสาวรสที่สวยประหลาด หลายสิ่งหลายอย่างที่นี่ฉุดรั้งฉันไว้ไม่ให้กลับไปเผชิญหน้ากับความจริงในที่ซึ่งได้จากมา จึงตัดสินใจอยู่ต่ออีกสักหน่อย เมื่อกลับถึงบ้านพร้อมฝนที่โปรยลงอีกระลอก หน้าจอโทรทัศน์ก็รายงานภาพเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม อย่างไม่ไยดีว่า ฉันเพิ่งกลับมาถึงและอยากนั่งพักให้หายเหนื่อยบ้าง และเสียงจากคลื่นเอเอสทีวีก็ยิ่งซ้ำเติมราวกับฉันผิดเหลือเกินที่มัวแสวงหาความสุขส่วนตัว โดยไม่ไยดีต่อชาติบ้านเมือง ไม่ไยดีแม้กระทั่งชีวิตเลือดเนื้อของเพื่อนร่วมชาติผู้กล้าหาญที่ออกมาเรียกร้องเพื่อยุติความชั่วช้าสามานย์ทั้งมวลที่มาพร้อมกับรัฐบาลนอมินีของทักษิณ พวกเขาเรียกร้องให้เกิดสิ่งที่ดีงามสำหรับพวกเราชาวไทยทุกคน อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และเราใช้มันอย่างคุ้มค่าเสียจนอำนาจนั้นกำลังเติบโตจนแทบจะกลายเป็นอำนาจอื่น


หลายสิ่งในสังคมปัจจุบันที่เราอาจพบปะ เผชิญอยู่ กำลังกลายสภาพ จากสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่ง เหล่านี้เคยเป็นวิถีทางที่นักเขียนได้บอกเราผ่านวรรณกรรม จิตรกรได้บอกเราผ่านภาพเขียนอันแสนประหลาดพิสดาร บ่อยครั้ง มันเป็นแค่เรื่องชวนหัว แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราอาจขำไม่ออก เช่นเดียวกับเรื่องสั้นของเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เล่มล่าสุดนี้


แม้เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ จะมีชื่อชั้นทางกวีนิพนธ์ จากผลงานเรื่อง แม่น้ำรำลึก ที่ได้รางวัลซีไรต์ปี 2547 กระนั้น กวีหนุ่มคนนี้ยังมีฝีมือทางเรื่องสั้นจนเป็นที่กล่าวขานไม่ย่อหย่อนด้วย ทั้งจากรวมเรื่องสั้น

ชีวิตสำมะหาอันใด ที่เข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ และได้รางวัลดีเด่นเซเว่นบุ๊คอะวอร์ด ปี 2547 และล่าสุดกับผลงานรวมเรื่องสั้นในชื่อ เหมือนว่าเมื่อวานนี้เอง เหล่านี้อาจเป็นเพียงคำโฆษณาชวนเชื่อ แต่ลองมาดูเนื้อหาของเรื่องสั้นที่บรรเลงอยู่ภายในทั้ง 12 เรื่องกันเถอะว่ามันเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับ ปรากฎการณ์การกลายเป็นอื่นเช่นที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันอย่างไร


ภาพรวมเราจะเห็นตัวละครในเรื่องที่ดิ้นรนอยู่ในพันธนาการ โดยเฉพาะกับบาดแผลของวัยเด็ก ซึ่งเปรียบเสมือนแรงผลักดัน บีบคั้น ที่คอยสะกดให้วัยผู้ใหญ่คิดเห็น กระทำ เป็นไป อย่างนั้นอย่างนี้

โดยเรวัตร์เองได้สารภาพออกมาในหน้า 92 จากเรื่อง คอยถ้อยคำ เป็นคำให้สัมภาษณ์ของสรรค์พจี ที่ตอบคำถามถึงแรงขับดันอะไรในชีวิตที่ทำให้เขากลายเป็นคนเขียนบทกวี เขาตอบว่า “ผมคิดว่าคือความทุกข์ในวัยเยาว์นะครับ” และบาดแผลในวัยเยาว์ที่ปรากฏขึ้นชัดเจนมีอยู่แทบทุกเรื่อง โดยเฉพาะจากเรื่อง คอยถ้อยคำ ที่ผู้เป็นพ่อได้สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้แก่แม่และลูกชาย ลูกสาว เราจะเห็นความชิงชังรังเกียจที่ลูกมีต่อพ่อเพราะการกระทำของผู้เป็นพ่อเอง หรือจากเรื่อง เสียงร้องของจระเข้ ที่เด็กชายร่างบอบบาง อมโรคถูกกระทำจากระบบการศึกษา จากสังคม สร้างบาดแผลเรื้อรังให้เขาเมื่อยามเติบโตขึ้นมาเป็นนักแปลวรรณกรรมที่ย้ายตัวเองมาอยู่ห่างไกลจากผู้คน จริง ๆ แล้วบาดแผลในวัยเยาว์ปรากฏอยู่แทบทุกเรื่อง ราวกับเป็นเรื่องที่เราปฏิเสธไม่ได้


นั่นเองที่เรวัตร์ได้ผูกปมเป็นขั้นแรกไว้กับ ความทุกข์ในวัยเยาว์ เพื่อสะท้อนถึงจุดขัดแย้งสำคัญเมื่อตัวละครนั้น ๆ ต้องตัดสินใจ ก้าวต่อไป หรือเปลี่ยนแปลงชีวิตในห้วงเวลาวิกฤต ซึ่งเต็มไปด้วยบรรยากาศอันหม่นมัว เหมือนถูกห่อหุ้มด้วยฝุ่นละอองทึมเทา แต่แปลกที่ไม่ชวนให้อึดอัดขัดข้องอะไร ขณะเดียวกัน

เรวัตร์สามารถสร้างเรื่องราวได้อย่างลื่นไหลจนน่าทึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ฤดูนกกวัก เสียงร้องของจระเข้ ปลาใต้สำนึก คอยถ้อยคำ มาร์เกซ-ช่างซ่อมรองเท้า โลกในขวดแก้ว กลายเป็นแมว หญิงร้อยดอกไม้

การเดินทางของบทกวี เพื่อชีวิตสำมะเลเทเมา เหมือนฝนจะตก ดอกบัวของวินเซนต์ แวนโกะห์ ซึ่งแทบทุกเรื่องเราอาจเปรยกับตัวเองว่า เรวัตร์เป็นกวีที่เก็บรายละเอียดของชีวิตมาเขียนเป็นเรื่องสั้นได้อย่างมีชีวิตชีวา เช่นเดียวกับกวีนิพนธ์ของเขาอย่างน่าชื่นชม


ปมต่อไปของเรื่องสั้นชุดนี้คือ ความเปลี่ยนแปลง ที่เรวัตร์บรรจุไว้แทบทุกเรื่องอีกเช่นกัน เริ่มตั้งแต่เรื่องแรก ฤดูนกกวัก ที่กวีผู้ผิดหวังในชีวิตรักครอบครัว ต้องคลุ้มคลั่งขนาดหนัก “กวีเมามายหนักหน่วง เขาเมาแล้วคลานไปทั่วท้องทุ่งเห่าหอนโหยหวนจนดาวบางดวงสั่นไหว” แม่ได้ผละออกมาจากแนวแถวตัวหนังสือสีดำของกวี “เมื่อถึงฤดูนกกวัก ชีวิตของฉันจะเปลี่ยนไป” (จากหน้า 24)


หากต้องตีความต่อถึงสัญลักษณ์บางอย่างในเรื่องนี้ เราอาจพบว่า เรวัตร์กำลังวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์กวีไทยในปัจจุบันก็เป็นได้ เพราะตลอดทุกเรื่องอีกเช่นกัน ที่กวีนาม สรรค์พจี ได้ผ่านเข้ามา ได้ปรากฏกาย โฉบฉายอยู่ เหมือนพยายามส่งสัญญาณบางอย่าง ผ่านหลายมุมมอง ทั้งจากยายของวารี ลูกสาวกวี

สรรค์พจีเอง ที่แดกดันว่า “กวีมันทำมาหากินอะไรกันนะ” หรือแม่ของวารีที่มักจะพูดว่า “พ่อของแก ปีกหักกับทุกเรื่องนั่นแหละ ทุกเรื่องในโลกนี้”


การยกเอา “ความเปลี่ยนแปลง” มาเป็นเค้าโครงสำคัญของเรื่อง ยังปรากฏชัดในเรื่อง เสียงร้องของจระเข้ ด้วย


เสียงร้องของจระเข้ เป็นเรื่องราวของ บูรพา นักแปลวรรณกรรม ที่ “วัน ๆ แทบไม่ได้ลงสู่เบื้องพื้น ในสวนสี่สิบไร่อันรกครึ้ม ระงมอยู่ด้วยสรรพเสียงของเหล่านก” หรือ ผู้ที่กำลังคิดว่า“การงานเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างแช่มช้า และเมื่อตระหนักว่าการงานคือชีวิต ดังนั้นชีวิตจึงเชื่องช้าลงเช่นกัน งานเขียนเก่าแก่ของเหล่านักเขียนผู้มีชีวิตอยู่เมื่อร้อยปีก่อน ในยุคสมัยแห่งปัจจุบันซึ่งเคลื่อนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว อา..เมื่อคิดมาถึงตรงนี้ เขาก็แทบจะมองเห็นตนเองกำลังเข็นครกขึ้นสู่ยอดเขากระนั้น ” และเขาเบื่อหน่ายถึงขั้นหนึ่ง ดังในหน้า 39 ที่เขาตระหนักว่า ใช่แล้ว,เขาปรารถนาการเกิดใหม่อีกสักครั้ง


เรื่องนี้ดำเนินผ่านกระแสสำนึกของบูรพา ที่สัญจรลึกไปถึงวัยเยาว์ ไปถึงเรื่องราวของหนังสือ นักเขียน (หน้า 43) เขาคิดถึงเรื่องราวที่เขาแปล -- ชายหนุ่มตื่นขึ้นมาในรุ่งเช้า แล้วพบว่าตัวของเขาได้กลายเป็นแมลงขนาดยักษ์ อา,กลายเป็นแมลงยักษ์หรือ? บูรพารู้สึกมหัศจรรย์ใจกับแนวแถวตัวหนังสือเบื้องหน้า เพียงเพราะความปวดร้าวเปลี่ยวเหงาต่อชีวิตเท่านั้นเองหรอกหรือ ที่ทำให้ชีวิตทั้งทางกายภาพและนามธรรมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดไม่ถึง และแน่นอนว่า เรื่องราวของกวีนาม สรรค์พจี “เขานึกขัน เมื่อเห็นภาพของกวีกลายร่างเป็นแมลงขนาดยักษ์ กำลังคลานงุ่มง่ามอยู่ในท้องทุ่งที่ไหนสักแห่ง และอาจเป็นไปได้ว่า แมลงกวีได้ถูกชาวบ้านรุมล้อมจับตัวไว้ เพื่อกราบไหว้ขอเลขหวย..ถึงตรงนี้, บูรพารู้สึกถึงความขมขื่นแล่นขึ้นจุกคอหอย” เขาคิดต่อว่า เมื่อใดกันนะที่ชีวิตจะเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร? ในท้ายที่สุด เขาได้กลายเป็นจระเข้


ในเรื่อง โลกในขวดแก้ว หรือ เรื่อง ปลาใต้สำนึก ก็แสดงออกถึงภาวะที่ต้องตัดสินใจไปสู่สิ่งใหม่อีกเรื่องหนึ่งเช่นกัน


นอกจากเค้าโครงเรื่องที่เรวัตร์ ได้ปูพื้นให้เรื่องดำเนินไปสู่การที่ตัวละครต้อง ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงแล้ว ในเรื่อง เสียงร้องของจระเข้ ยังมีเรื่องของสัญลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ และชวนให้ตีความ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สุดแท้แต่ใครจะตีความไปอย่างไร แต่เรื่องของการ “กลายเป็นอื่น” นี้สิน่าสนใจ เพราะได้ปรากฏอยู่ในหลายเรื่อง จนเกือบจะเป็นใจความสำคัญอย่างหนึ่งในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ เพราะการที่บูรพาได้กลายเป็นจระเข้ ในตอนจบเรื่องนั้น ได้ไปปรากฏเป็นความฝันของตัวละครอีกตัวหนึ่ง คือ ถาวร ในเรื่อง ปลาใต้สำนึก


(หน้า 47) ถาวรฝันเห็น บูรพา หลายเป็นจระเข้ ได้ยินเสียงการเดินทางของคลื่นน้ำ ฯลฯ เขายังนอนลืมตาอยู่ในเตียง รู้สึกตื่นใจกับภาพฝันก่อนตื่น ทั้งรู้สึกชวนหัวยที่คนแปล The Metamorphosis ของ ฟรันซ์ คาฟคา กลายเป็นจระเข้ (หนอนหนังสือที่คลุกวงใจอาจไม่ต้องคาดเดาให้เมื่อยว่า ถาวร คือ ใคร?)


การกลายเป็นอื่นที่ปรากฏในเรื่องสั้นชุดนี้ยังปรากฏอยู่ในหลายเรื่องด้วย เช่น เรื่อง คอยถ้อยคำ ที่พ่อผู้ซึ่งได้สร้างบาดแผลในวัยเยาว์แก่ลูกชาย ได้กลายเป็นเด็กชายที่ร้องหาขนมเมื่อลูกชายในวัยหนุ่มผู้หนีหายจากบ้านไปหลายปีกลับมาเยี่ยมบ้านเป็นครั้งแรก แต่กับเรื่องนี้ การกลายเป็นอื่น ไม่เข้มข้นเท่าเรื่อง เสียงร้องของจระเข้ เนื่องจากน่าจะเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงขั้วเป็นคู่ปฏิปักษ์มากกว่า คือ พ่อกลายเป็นลูก


ที่ได้กล่าวมาแต่เพียงเล็กน้อยนั้น ยังมีเรื่องสำคัญหนึ่งที่ไม่ควรละเลยคือ บรรยากาศแบบกึ่งจริงกึ่งฝัน ที่ปรากฎอยู่ในงานเขียนแนวที่เรารู้จักในนาม เมจิคัลเรียลริสต์ หรือ สัจจะนิยมมหัศจรรย์ อย่างที่ กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ นักเขียนผู้เป็นหัวขบวนของงานสกุลนี้ เคยได้สร้างความประทับใจให้นักอ่านทั่วโลก (อันที่จริง งานสกุลนี้ยังมีอีกหลาย เช่น ฮวล รุลโฟ เจ้าของผลงานเรื่อง เปโดร ปาราโม) ความมหัศจรรย์แบบเมจิคัลเรียลริสต์นี้เองที่ดำรงอยู่ในเรื่องสั้นชุดนี้ของเรวัตร์ ทำให้เรื่องสั้นไทยมีกลิ่นไอตลบอบอวลอย่างหลอกหลอน กดดัน บีบคั้น รุนแรงและมีอิทธิพลเหนือตัวละคร เหนือความรู้สึกด้านใน


มีคำถามว่า ทำไมเรวัตร์ จึงหยิบจับมาเกซและคาฟคา มา “เล่นงาน” สังคมไทย ถึงเวลาแล้วหรือที่สังคมไทยจะก้าวไปถึงจุดนั้น ขอบอกก่อนว่า อาจไม่ใช่เรื่องของเวลา แต่เป็นเรื่องของการผสมผสาน  การหยิบจับเอารูปแบบความรู้สึก นึก คิด มาสวมเข้ากับทัศนคติของสังคมแบบไทย ๆ ที่ทุกวันนี้การกลายเป็นอื่น” ได้เริ่มปรากฏชัดเจนในงานวรรณกรรม และชีวิตจริง ทั้งจากสถานการณ์ข่าวสารในจอโทรทัศน์ ที่ใคร ๆ ก็กลายเป็นคนอื่น หรือ อะไร ๆ ก็กลายเป็นทุนสามานย์ได้อย่างไม่ต้องสงสัยเพราะมันอยู่กับมือของเรานี่เอง และเมื่อรวมเข้ากับอารมณ์แบบทีเล่นทีจริง หรืออย่างที่ดลสิทธิ์ บางคมบาง เขียนถึงตอนท้ายเล่ม เป็นจดหมายถึงเรวัตร์เมื่อได้อ่านต้นฉบับเล่มนี้ว่า อารมณ์ขี้อำ จึงทำให้เรื่องมีเสน่ห์ไปอีกแบบหนึ่ง


นับว่า เหมือนว่าเมื่อวานนี้เอง เล่มนี้ของเรวัตร์ เป็นเรื่องสั้นที่อ่านสนุก มีอรรถรส ท้าทายนักวิจารณ์ผู้มากฝีมือ ชวนให้หลักวิชาการวิจารณ์ได้ครึ้กครื้นท่ามกลางสถานการณ์เรื่องสั้นไทยที่รอคอยแต่รางวัลซีไรต์ซึ่งนับวันมีแต่จะเงียบหงอย ฉันนำมาบอกเล่ากันได้เพียงเท่านี้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว มีประเด็น หรือ จุดเด่นพิเศษ ๆ อีกมากมาย อยากเชิญชวนให้หามาอ่านดูกัน ส่วนคอวรรณกรรม อาจสนุกไปกับการคาดเดาว่า ตัวละครในเรื่องจะเป็นใครในโลกของความจริง




บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ถอดรหัสอ่านเร็ว HI-SPEED READING ผู้แต่ง : ลุงไอน์สไตน์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : สำนักพิมพ์บิสคิต ตุลาคม 2551
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ           :           824ผู้เขียน               :           งามพรรณ เวชชาชีวะประเภท              :           นวนิยาย  พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย        :      …
สวนหนังสือ
ป่านนี้แล้ว (พ.ศ. 2552) ใครไม่เคยได้ยินเสียงขู่ หรือคำร้องขอเชิงคุกคามให้ร่วมชุบชูจิตวิญญาณสีเขียว ให้ร่วมรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ให้ตระหนักในปัญหาวิกฤตอาหารถาวร โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ฉันว่าคุณคงมัวปลีกวิเวกนานเกินไปแล้ว
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : ลิงหลอกเจ้า ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา ผู้เขียน : เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผู้แปล : วีระ สมบูรณ์ และ พจนา จันทรสันติ จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม พ.ศ.2528   เวลานี้เราต้องยอมรับเสียแล้วละว่า หนังสือธรรมะ เป็นหนังสือแนวสาระที่ติดอันดับขายดิบขายดี และมีทีท่าว่าจะคงกระแสความแรงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย   เดี๋ยวนี้ ฉันเจอใครเข้า เขามักสนทนาประสาสะแบบปนธรรมะนิด ๆ มีบางคนเข้าขั้นหน่อย ก็เทศน์ได้ทุกสถานการณ์ อย่างนี้ก็มี ไม่แน่ว่าถ้าคนนิยมอ่านหนังสือธรรมะกันหนาตาเข้า สังคมไทยอาจแปรสภาพเป็นสังคมแห่งนักบวชนอกเครื่องแบบก็เป็นได้…
สวนหนังสือ
  เรียน คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ ช่อการะเกด ที่นับถือฉันผู้ใช้นามแฝงว่า นายยืนยง คนเขียนคอลัมน์ สวนหนังสือ ในเว็บไซต์ประชาไท ที่มีบทความชื่อ ช่อการะเกด 45 เวลาช่วยให้อะไร ๆ ดีขึ้นจริงหรือ? อยู่ในรายการของบทความทั้งหมด ได้อ่าน กถาบรรณาธิการ ใน ช่อการะเกด 47 ฉบับวางแผงปัจจุบันแล้ว ทราบว่าคุณสุชาติ บรรณาธิการนิตยสารเรื่องสั้นช่อการะเกดได้ให้ความสนใจต่อบทความนี้ ฉันในนามของนายยืนยงจึงเขียนจดหมายแล้วจัดพิมพ์ส่งตู้ ป.ณ. 1143 เพื่อเล่าถึงความเป็นมาคร่าว ๆ…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ :       เดอะซีเคร็ต ผู้เขียน :            รอนดา เบิร์นผู้แปล :             จิระนันท์ พิตรปรีชาพิมพ์ครั้งที่ 54 :  มีนาคม 2551จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์อมรินทร์
สวนหนังสือ
ใกล้เปิดภาคเรียนใหม่ ปีการศึกษา 2552 แล้ว ภายใต้นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ของรัฐบาลนี้ ถ้าใครได้ดูทีวีคงได้เห็นข่าวประชาสัมพันธ์ หรือได้เห็นสำนักข่าวไปสัมภาษณ์ผู้ปกครองที่ได้รับเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียนแล้วไปเลือกซื้อชุดนักเรียนให้ลูก ๆ เป็นที่น่าชื่นอกชื่นใจสำหรับคนเป็นพ่อแม่ที่มีโอกาสเป็นครั้งแรกในการได้รับ "ของฟรี" จากรัฐบาล แม้จะไม่สามารถซื้อได้ครบทั้งชุดก็ตาม เช่น นักเรียนประถม 5 ได้รับเงินเพื่อการนี้คนละ 360 บาทต่อปี คือ 2 ภาคเรียน ๆ ละ 180 บาท บางคนอาจจะได้กางเกงนักเรียน 1 ตัว และ ถุงเท้า 1 คู่ ก็ยังดีฟะ.. กำขี้ดีกว่ากำตดไม่ใช่เรอะ
สวนหนังสือ
นายยืนยง   นิตยสารรายเดือน             :           ควน ป่า นา เล  4 เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ปลายมีนาคมจนถึงวันนี้ 9 เมษายน ฉันอาศัยทีวีและหนังสือพิมพ์ อันเป็นสื่อกระแสหลักที่นำเสนอข่าวสารที่เป็นกระแสหลัก คือ ข่าวการเมือง เหมือนกับทุกครั้งที่อุณหภูมิการเมืองเดือดขึ้น ฉันดูข่าวเกินพิกัด อ่านหนังสือพิมพ์จนแว่นมัวหมอง ตื่นระทึกไปกับทุกจังหวะก้าวย่างของมวลชนเสื้อแดง มีอารมณ์ร่วมกับภาคการเมืองส่วนกลางในฐานะผู้เสพข่าวสารเท่านั้นเองจริง ๆ เท่านั้นเองไม่มากกว่านั้น …
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : เราติดอยู่ในแนวรบเสียแล้ว แม่มัน! วรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 6 จัดพิมพ์โดย : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พิมพ์ครั้งแรก : กันยายน 2551 ก่อนอื่นขอแจ้งข่าว เรื่องวรรณกรรมการเมือง รางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2552 นี้ สักเล็กน้อย งานนี้เป็นการจัดประกวดครั้งที่ 8 เปิดรับผลงานวรรณกรรมการเมือง 2 ประเภท คือ เรื่องสั้น และ บทกวี ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : เด็กเก็บว่าว The Kite Runner ผู้เขียน : ฮาเหล็ด โฮเซนี่ ผู้แปล : วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม พ.ศ.2548 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ The One Publishing เด็กเก็บว่าว นวนิยายสัญชาติอเมริกัน-อัฟกัน ขนาดสี่ร้อยกว่าหน้า ที่โปรยปก มหัศจรรย์แห่งนวนิยายที่สร้างปรากฏการณ์ปากต่อปากจนติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ เล่มนี้ กล่าวถึงเรื่องราวของอะไรหรือ ทำไมผู้คนจึงให้ความสนใจกับมันมากมายนัก ฉันถามตัวเองก่อนจะหยิบมันมาอ่าน
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง ผู้เขียน : ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ประเภท : วรรณกรรมวิจารณ์ พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2545 จัดพิมพ์โดย : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ การตีความนัยยะศัพท์แสงทางวรรณกรรมจะว่าเป็นศิลปะแห่งการเข้าข้างตัวเอง ก็ถูกส่วนหนึ่ง ความนี้น่าจะเชื่อมโยงกับเรื่อง “รสนิยมส่วนตัว” หรือ อัตวิสัย หากมองในแง่ดี เราจะถือเป็นบ่อเกิดของกระบวนการสร้างสรรค์ได้ด้วย มิใช่หรือ
สวนหนังสือ
นายยืนยงเมื่อการอ่านประวัติศาสตร์ อันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น ฉันว่าควรมีการเขียนหนังสือแนะนำ (How to) เป็นขั้นเป็นตอนเลยจะดีกว่าไหม เพราะมันนอกจากจะปวดเศียรเวียนเกล้ากับผู้แต่งแต่ละท่านแล้ว (ผู้แต่งบางท่านก็ชี้ชัดลงไปเลย เจตนาจะเข้าข้างฝ่ายไหน แต่บางท่านเน้นวิเคราะห์วิจารณ์ โดยที่หากผู้อ่านมีความรู้เชิงประวัติศาสตร์น้อยกว่าหางอึ่งอย่างฉัน ต้องกลับไปลงทะเบียนเรียนวิชานี้อีกหลายเล่ม) ยังทำให้ใช้เวลาอย่างมหาศาลไปกับหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกันอีกหลายเล่ม ไม่เป็นไร ๆ เราไม่ได้อ่านเพื่อพิพากษาใครเป็นถูกเป็นผิดมิใช่หรือ อ่านเพื่อได้อ่าน แบบกำปั้นทุบดินก็ไม่เสียหายอะไรนี่นา…