Skip to main content

นายยืนยง



ชื่อหนังสือ : คนซื้อฝัน

ผู้เขียน : ศุภร บุนนาค

ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 2 กรกฎาคม 2537

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย


ตามสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะอ่านหนังสือของนักเขียนไทยให้มากกว่าเดิม ฉันดำเนินการแล้วล่ะ

อ่านแล้ว อิ่มเอมกับอรรถรสแบบที่หาจากวรรณกรรมแปลไม่ได้ หาจากภาษาของนักเขียนไทยรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยจะได้ จนรู้สึกไปว่า คุณค่าของภาษาได้แกว่งไกวไปกับกาละด้วย

เป็นความรู้สึกที่เกิดจากการอ่านผลงานของนักเขียนรุ่นอาวุโสมาอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ และอ่านผลงานของนักเขียนรุ่นใหม่มาอย่างหยุมหยิม คือ ไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าเป็นนักเขียนท่านใด ขอให้เป็นเรื่องราวสำหรับอ่าน ฉันอัญเชิญมาเป็นผลงานทั้งสิ้น ไม่ต้องรวมเป็นเล่มก็ได้ อาศัยอ่านเป็นเรื่อง ๆ ตามนิตยสาร ถือเป็นผลงานโดยเท่าเทียม


ประวัติการอ่านแบบสะเปะสะปะเช่นนี้นั่นเองที่ทำให้ด่วนสรุปว่า นักเขียนบรรดาศักดิ์อาวุโสนั้นได้ให้ความสลักสำคัญในการใช้ภาษาไทยอย่างเข้มงวดขณะที่ท่านเหล่านั้นมีเจตนาในการบำรุงภาษาให้เจริญงอกงามเป็นสำนวน เป็นกลุ่มคำ เป็นแสลงใหม่ เพื่อถ่ายทอดไว้เป็นมรดกแก่อนุชนในภาคต่อไป ฉันจึงถือว่าบรรพบุรุษนักเขียนของเราได้เห็นคุณค่าของภาษาอย่างลึกซึ้ง ขณะทางฝ่ายนักเขียนรุ่นหลังหรือในยุคปัจจุบันก็มีความพยายามจะเห็นคุณค่าของภาษาเช่นเดียวกัน แต่ความงอกงามของแนวคิด เนื้อหาในเชิงปรัชญา หรือทัศนคติ นักเขียนอนุชนรุ่นนี้ก็ให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าภาษา และแน่นอนว่ามีหลายคนที่จัดลำดับเรื่องภาษาให้เป็นรองเนื้อหา ด้วยเห็นว่าภาษาเป็นของพัฒนากันได้ไม่เหลือบ่ากว่าแรง


จะถือเป็นนานาจิตตังก็ใช่ เป็น อัตวิสัย ก็ใช่อีก แต่ผลงานที่ได้จากจิตและวิสัยส่วนตนเช่นนั้นเป็นอรรถรสที่ก่อมรรคผลให้รูปทรงของวรรณกรรมไทยเป็นเช่นทุกวันนี้มิใช่หรือ เข้าทำนองท่านตวงด้วยทะนานใด ทะนานยี่ห้อนั้นก็เดินตรงมาเคาะประตูบ้านท่าน


ได้สรรหาผลงานของนักเขียนไทยอยู่พักหนึ่ง พอดีมีคนมาชี้โพรงให้ กระรอกอย่างฉันจึงเผ่นแนบลงรูที่เขาชี้ ได้นวนิยายเก่าแก่ขนาดที่แผ่นกระดาษเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นขนมแครกเกอร์เลยทีเดียว แถมมีกลิ่นชวนหม่ำเสียด้วย นั่นคือ นวนิยายเรื่อง แผ่นดินยังกว้าง เล่มขนาดหนา และที่ใหม่หน่อยคือรวมเรื่องสั้น คนซื้อฝัน ทั้งสองเป็นผลงานของนักเขียนนาม ศุภร บุนนาค


อาจารย์อวยพร ผู้ชี้โพรง ได้โฆษณาเสียจนเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ว่า ศุภร บุนนาค เป็นนักเขียนคนเดียวที่ครูอ่านแล้วต้องกราบเลยล่ะ (แกเรียกตัวเองว่า ครู กับฉันเสมอ) เขาเขียนได้หลายแบบ ถ้าอยากเขียนหนังสือให้คนอ่านติดล่ะก็ ต้องเขียนสำนวนให้ได้อย่างเขา นั่นไง คำว่าครูของแกยังดำรงอยู่ในตัวอย่างซื่อสัตย์ อาจารย์อวยพร เป็นครูมาตลอดชีวิต กระทั่งหมดวาระการทำงานตามอายุราชการ แกก็ยังเป็นครู แถมอีกตำแหน่งด้วยการเป็นบอกอหนังสือบ้านและสวน เพราะเป็นที่ชื่นอกชื่นใจนักหากวันไหนอยู่ติดบ้านแล้วได้จัดบ้าน แต่งสวน รื้อนั่น ยกนี่ ชุลมุนทั้งวัน บ้านแกจึงเก๋ไก๋น่าอยู่และสมสมัยไม่ตกยุค ฉันก็ชอบเสนอหน้าไปขออนุญาตแหวกม่านกาลเวลา ขอหยิบยืมหนังสือที่มักจะเก่ามาอ่านฟรี ๆ โดยมีข้อแม้ว่า ถ้าสมบัติของแกยับยู่ ขาด หรือหาย ฉันต้องตายสถานเดียว


ครูอวยพรของฉันจะกล่าวเกินจริงหรือไม่เชิญวิจารณญาณตามสะดวก ฉันจะเลือกมาเผยแพร่ให้อ่านกันตรงนี้ ก่อนอื่นเรามาอ่านประวัติของนักเขียนท่านนี้เสียก่อน ไม่แน่ใจว่า ชื่อของท่านจะแพร่หลายอย่างไรในสังคมการอ่านบ้านเรา


ศุภร บุนนาค เกิดเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ..2464 ที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ กรุงเทพฯ เป็นบุตรีของศาสตราจารย์พระวรเวทย์พิสิฐกับนางวรเวทย์พิสิฐ (ผึ่ง ศิวะศิริยานนท์) ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากคุณยายอิ่ม คงสถิต จนกระทั่งอายุย่างเก้าขวบจึงเข้าเรียนที่โรงเรียนเสาวภา สตรีวิทยา จบม.6ที่ราชินี ต่อเตรียมอุดมศึกษา เป็นนักเรียนเตรียมฯรุ่นที่ 1 มีอาจารย์ผู้ปกครองที่รักมาก คืออาจารย์หม่อมหลวงบุญเหลือเทพยสุวรรณ จบปริญญาตรีอักษรศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมรสกับวิศวกรเหมืองแร่ชื่อดำรง บุนนาค


เริ่มงานเขียนด้วยเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ ผ้าไหมผืนใหม่ ส่งไปลงใน โฆษณาสาร มีชอุ่ม ปัญจพรรค์เป็นบรรณาธิการ เรื่องยาวเรื่องแรกคือ ปาริชาติลวง ด้านบทร้อยกรองมีผลงานสำคัญชิ้นสุดท้ายชื่อ ผืนไผทนี้ล้ำ แหล่งคุณ ได้รับรางวัลวรรณกรรมไทยชั้นที่ 1 ของการจัดประกวดโดยธนาคารกรุงเทพ หลังจากถึงแก่กรรมไปแล้ว ศุภร บุนนาค ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ..2517 สิริอายุ 53 ปี


เรื่องสั้นในเล่มชื่อ
คนซื้อฝัน นี้ ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์คลังวิทยา เมื่อพ..2509 ซึ่งท่านน่าจะเขียนในระยะก่อนหน้านั้นไม่นานนัก ตัวละครและเหตุการณ์ในท้องเรื่องจึงเป็นภาพสังคมในยุคสมัยที่ล่วงมาแล้วเกือบ 50 ปี และแน่นอนว่าเรื่องราวเหล่านั้นย่อมพ้นไปจากความนิยมบ้างเป็นปกติ แต่ความเชยที่ใช้สมัยปัจจุบันเข้าไปเปรียบกลับส่องประกายเจิดจ้าให้เรามองเห็นคุณลักษณะของนักเขียนไทยในอดีตได้คมชัดขึ้น ข้อที่เด่นชัดน่ายกย่องคือเรื่องศิลปะการใช้ภาษา อย่างที่เกริ่นไว้แต่แรก บางคนไม่ได้ให้น้ำหนักกับภาษามากนัก ข้อเด่นนี้อาจพร่องลงไป ส่วนข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือทัศนียภาพที่นักเขียนมีต่อชีวิต


(
ข้อหลังนี้อาจเรียกแบบง่ายว่าทัศนคติของนักเขียนก็ได้ แต่ก็ไม่ครอบคลุมความรู้สึกที่มีอยู่ได้หมด จึงเลือกใช้คำว่าทัศนียภาพแทนทัศนคติ ด้วยเหตุผลที่ว่า ทัศนียภาพเป็นภาพทิวทัศน์ที่มองเห็น ส่วนทัศนคติหรือเขียนอีกอย่างว่า ทรรศนคติ คือความเห็น แสดงออกว่า ศุภร บุนนาค เขียนเรื่องในภาพกว้างเนื่องจากมุมมองในลักษณะเป็นมุมกว้าง ครอบคลุมไปถึงสภาพสังคมล้อมรอบตัวละคร ทำให้ชีวิตผุดขึ้น ส่วนทัศนคติโดยมากแล้วต้องอาศัยตัวละครของเรื่องเป็นคนสำแดงออก) เห็นได้ชัดจากเรื่องสั้นที่มีชื่อว่า คนซื้อฝัน ชื่อเดียวกับเล่ม เรื่อง แปดสาแหรกหนึ่งไม้คาน และตราชูธรรมชาติ


ทั้ง 3 เรื่องนี้เขียนเรื่องให้เป็นภาพกว้างที่มีนัยยะในตัวเอง ทำให้อำนาจในตัวเรื่องส่งถึงผู้อ่านโดยตรงเรียกว่าสะท้อนใจ เรื่องเช่นนี้จึงเรียกได้ว่ามีความแวววาวในตัวเอง ยกตัวอย่างเรื่องคนซื้อฝัน ที่หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณได้เขียนถึงไว้ใน “หัวเลี้ยวของวรรณคดีไทย” ว่า เรื่องคนซื้อฝันของ ศุภร บุนนาคเล่าถึงเด็กสาว ๆ ซึ่งมีรายได้น้อย โดยมากทำงานเป็นลูกจ้างตามบ้าน หรือในที่ทำงานเล็ก ๆ หญิงสาวเหล่านี้นิยมซื้อหนังสือและนิตยสารที่มีภาพของหญิงสาวแต่งตัวสวย ล้ำสมัย ไว้ทรงผมแบบต่าง ๆ หรืออ่านหนังสืออ่านเล่นที่แสดงชีวิตที่สดใสของคนชั้นที่มีฐานะดีกว่าตน และหาความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้จากการเที่ยวดูเสื้อผ้าตามร้านที่ขายของที่มีสีสันสดใส และจากการพูดเล่นเจรจา หัวเราะซิกซี้โดยไม่มีเหตุผลที่น่าหัวเราะนัก แต่การกระทำทั้งหลายเป็นวิธีหาความสุขอันไม่เป็นภัยต่อผู้ใด ทุกสิ่งทุกอย่างที่หญิงสาวเหล่านั้นกระทำก็เพื่อความสุขเท่าที่จะหาได้ในวันหนึ่ง ทำให้ชีวิตของเขาสดชื่น เป็นความฝันชนิดหนึ่ง เรื่องสั้นเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า คนโดยมากอยู่ด้วยความหวังอย่างใดอย่างหนึ่ง จะได้สมหวังหรือไม่ บางคนก็ไม่ติดใจจะคิด และผู้อ่านเรื่องสั้นนี้เองก็ได้ความคิดว่า ผู้อ่านก็เป็นคนซื้อฝันด้วยผู้หนึ่งจากการที่ได้อ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้


นี่เป็นเหตุที่ฉันจำแนกเรื่องสั้นที่แวววาวในตัวเองออกจากเรื่องสั้นอื่น ๆ เพราะผู้อ่านจะสามารถมองเห็นตัวเองอยู่ในทัศนียภาพของเรื่องและก่อให้เกิดอารมณ์ร่วม หรือสะเทือนใจตามไป (ทั้งที่เราอยู่ห่างจากยุคสมัยนั้นหลายสิบปีและไม่เคยเป็นคนรับใช้เลย แต่กลับรู้สึกร่วมไปกับเรื่องได้) นี่คือเรื่องสั้นที่แวววาวในความคิดของฉัน


เรื่องแปดสาแหรกหนึ่งไม้คาน กับ ตราชูธรรมชาติ ท่านเขียนให้เป็นงานเทศนาอย่างกลาย ๆ แต่ด้วยภาษาและภาพพจน์ของตัวละครเรื่องเหล่านี้จึงเฟื่องฟูขึ้นจากรูปแบบการเทศน์เป็นงานแสดงงานนิทรรศการ ซึ่งทำให้เรา “รู้” เช่นเดียวกันแต่เป็นคนละวิธีการนำเสนอ


แปดสาแหรกหนึ่งไม้คาน ให้คติในการเลี้ยงดูบุตรหลาน โดยบังขายทอดมันถั่วเหลืองใส่หาบเร่เป็นตัวละครผู้ถ่ายทอดข้อคิดเตือนใจนั้น บังมีลูกหลายคนที่ต้องเลี้ยงดู แกไม่มีวาทศิลป์จะอบรมลูก ๆ นอกจากจะแสดงด้วยของจริงคือการหาบของขาย หน้า 54 บังสนทนากับแม่ค้าว่า

มันเรื่องของเรา นายจ๋า เราเป็นพ่อเป็นแม่ เลี้ยงเขามาตั้งแต่เล็กจะปั้นเขาให้เป็นรูปยังไงก็ได้ ลูกฉัน ฉันก็สอนตั้งแต่ตัวแค่นี้น่ะนะนาย มันลืมตาขึ้นก็เห็นพ่อแม่นั่งโม่ถั่ว ทำของขายเลี้ยงมันมา ... ”


หน้า 55 – 56 สำหรับบัง ความจนไม่ใช่ความชั่ว มันเป็นเพียงโรคร้ายที่หายได้ถ้ารักษา ของแสลงของโรคนี้คือความเกียจคร้านงอมืองอตีนและความสำรวย หนักไม่เอาเบาไม่สู้ ... ส่วนลูกของแกนั้นไม่เคยมีเวลาว่างสำหรับจะใช้ไปในการเพาะปลูกความน้อยเนื้อต่ำใจ เมื่อไม่มีเวลารดน้ำพรวนดินมันเหมือนลูกชาวบ้านอื่น ๆ ในยุค จิตวิทยาเฟื่อง นี้แล้ว พืชแห่งความน้อยเนื้อต่ำใจก็ไม่มีโอกาสงอกงามขึ้นได้ ... วิธีปฏิบัติอันง่าย ๆ ตรงไปตรงมา แบบเลขหารลงตัวอยู่เช่นนี้ไม่เหลือเศษไว้ให้ขบคิดเป็นปัญหาหัวใจติดค้างในสันดานของลูก นี่ถือเป็นสำนวนที่น่าอ่านที่คัดมาให้อ่าน ทั้งยอกย้อน ช่างเปรียบเปรย และจริงใจ


ว่าไปแล้ว กลวิธีการเขียนเช่นนี้ไม่ถือว่าดีเด่นอีกแล้วในยุคนี้ แต่หากเป็นสมัยก่อนโน้นก็เป็นอีกอย่าง เช่นเดียวกับเรื่องการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่า ในเรื่อง
ตราชูธรรมชาติ ที่ท่านเขียนขึ้นในค่านิยมของคนส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นคุณค่าของทรัพยากรป่าจนกระทั่งมันจะหมดจากไปแล้วนั่นแหละจึงฮือฮากันขึ้น แล้วท่านเขียนให้เข้าลักษณะ ธรรมชาติทวงคืน ที่ทุกวันนี้ คราวเกิดโศกนาฏกรรมสึนามิ หลายคนก็เกิดบทสรุปว่า ธรรมชาติทวงคืน เช่นกับที่ท่านเขียนไว้เมื่อ 50 ปีก่อน


คราวนี้มาดูเรื่องสั้นแรกในชีวิตของท่านบ้าง นั่นคือ เรื่อง ผ้าไหมผืนใหม่ โศกนาฏกรรมของลูกที่พ่อแม่ไม่รักเรื่องนี้ นอกจากจะสะเทือนในเศร้าสลดแล้ว เราคงไม่ลืมว่านี่เป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกของท่าน ซึ่งเขียนโดยไม่ฟูมฟายให้รันทดเกินเหตุ ไม่น้ำท่วมทุ่ง และที่สำคัญไม่เขียนให้เป็นการจงใจจะสร้างโศกนาฏกรรมเรียกน้ำตา เนื่องจากคติของเรื่องได้ละลายอยู่ในตัวละครและบรรยากาศโดยรวม ไม่ใช่จำเพาะให้อยู่กับตัวละครใดเป็นสำคัญ เหมือนทุกคนมีส่วนร่วมไม่มากก็น้อยในเรื่องราวทั้งหมด ดังนั้นจึงไม่มีตัวการใหญ่ที่โดยข้อหาฉกรรจ์เหมือนงานเขียนแนวเพื่อชีวิต


สำหรับเรื่องสั้นอื่นอันได้แก่ พรหมลิขิตจากนิ้วป้อม ๆ ผลพลอยเสีย เงาหลังภาพ แม่เดือนดัดตน คุณย่ายังไหว เจ้าโข่ง ริปเล่ห์คงชอบ และ เจ้าหญิงผู้ทรงสุข ล้วนประกอบขึ้นด้วยสำนวนโวหารอันคมคายจนไม่ควรละเลยยกย่องชื่นชม จะว่าคล้ายคลึงกับสำนวนของฮิวเมอร์ริสต์ก็ไม่เชิง แต่เรียกว่าเขียนได้น่าอ่าน

ขอยกตัวอย่างจากเรื่อง คนซื้อฝัน


มะลิวรรณมีความฝันครึกครื้นอย่างนี้เสมอ แต่ความฝันของหล่อนแม้ว่าจะรุ่มร่ามและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย แต่ก็ไม่เป็นอันตรายแก่ใคร จะเป็นอันตรายบ้างก็แต่กับตัวหล่อนโดยเฉพาะเท่านั้น


หรือในตอนที่คุณนายมัณเจ้าของคฤหาสน์ นายจ้างของสาวรับใช้อย่างมะลิวรรณและพลพรรคสนทนากับเพื่อน หล่อนก็เจ้าสำบัดสำนวนไม่หยอก


ก็อย่าแก่ตะเพิดนักซีคะคุณพี่ก็” คุณมัณยิ้มตอบ “น้องน่ะหรือคะ ก๊อเข็นนังพวกนี้ละค่ะให้ทำงาน มันอยากจะผัดหน้าก็ให้มันผัด อยากจะดัดผม นุ่งกระโปรงอะไร ให้มันทำทั้งนั้น แต่อย่าทำเวลาทำงาน แล้วก็อย่ามาเดินกรีดกรายในบ้าน ถ้าเสียงานหรือมาเดินแฟชั่นโชว์อยู่ในบ้านก็นั่นแน่ะ ประตู เก็บของช้าห้านาทียังไม่ได้เลย เสร็จเวลางานแล้วแม่คนไหนจะสถาปนาตัวเองเป็นเทพีอะไรน้องไม่ขัดข้อง


ต่อไปข้างหน้ามีบ้านมีช่องมีร้านของตัวเองละก็ต้องใช้วิธีผูกคนไว้ด้วยน้ำใจ อย่าไปลิดรอนความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ของคนที่ไม่มีอะไรเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเองเลยสักอย่างเดียว นอกจากความฝัน ฉันรู้จักคนของฉันดี สามสี่สาวกำลังรวมกลุ่มกันอยู่หน้าแผงหนังสืออ่านเล่น เดี๋ยวก็คงเช่าเขาติดมือกันเข้าไปคนละเล่มสองเล่มหรอก แต่ละเรื่องอย่ากลัว ถ้าไม่เทพบุตรเสด็จมาก็น้ำตาตวงเป็นตุ่มทั้งนั้น


นี่เป็นบางส่วนของเรื่องคนซื้อฝัน ที่นอกจากใช้ภาษาอย่างรุ่มรวยอารมณ์แล้ว เจตคติยังแสดงให้เห็นคุณค่าของความฝัน แม้จะเป็นฝันของคนรับใช้ไร้ศักดินา ถือได้ว่าเป็นงานเขียนที่ปลุกปลอบสังคมไทยพร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดความเสมอภาคระหว่างชนชั้นอีกอย่างหนึ่ง แม้นโดยน้ำเสียงจะไม่คร่ำเคร่งต่อหลักการเชิงสังคมการเมืองใด ๆ เลยก็ตาม


นี่ก็บทสนทนาออกรสออกชาติที่นำมาฝากกัน จากเรื่อง แปดสาแหรกหนึ่งไม้คาน หน้า 57 ตอนบังขายทอดมันถั่วเหลือง หรือที่เรียก บาเยีย


เอ้า บาเยียร้อน ๆ จ้า ...” ชาวบ้านเห็นภาพนั้นจนชินตา บางวันก็ซื้อ เวลาจะซื้อก็พากย์บทเจรจาเสียหน่อย

ไอ้ลูก..ข้าวมีไม่กิน จะกินบาเยีย บังล่อเฮโรอีนลงไปด้วยหรือเปล่านะ”

เอ๋ ทำยังงั้นยังไงได้นะนาย บาปหนา บาปมาก ไม่มีอะไรนะไม่มี ไม่ต้องใส่นะ รสมือนะรสมือ ขายมาตั้งแต่ตัวเท่านี้ ๆ เดี๋ยวนี้ลูกมาหาบแทนแล้ว ไม่มี ไม่เคยถูกโปลิสจับ”

เออ เออ ดีละ เอามาบาทหนึ่ง ไอ้ลูก.. เอ้า ด... ซะ ” บริภาษลูกแล้วก็ซื้อให้แบบหุงข้าวประชดหมา บังสั่นศีรษะคล้ายจะห้ามแต่ไม่ออกวาจาว่ากระไร ในใจก็นึกแต่เพียงว่า

ด่าทำไมนะ ด่าลูกทำไม ด่าตัวเราดีกว่า เราไม่ดีลูกมันถึงไม่ดี”


ยังมีบทสนทนาที่เต็มรสเต็มชีวิตชีวาอีกเยอะแยะ จะยกมาอีกบทความก็จะยืดยาว มาดูการเปิดเรื่องกันบ้างดีกว่าไหม เปิดเรื่องอย่างไรชวนให้ผู้อ่านกระหายจะเสพต่อให้จบเรื่องโดยไม่รีรอ ยกเรื่อง ผลพลอยเสีย มาให้อ่านล่ะ


ทุกเวลาพลบชาวบ้านในซอยมหาวิบากซอยนั้นจะเดินขบวนกันทยอยเข้าบ้านด้วยลีลาการเดินคล้าย ๆ กัน กล่าวคือยั้งเท้าหน้าที่กำลังจะก้าวไว้นิดหนึ่งก่อน เก็งดูว่าจะใช้กำลังโดดแต่ละครั้งได้ไกลเท่าไร และจะโดดเฉียงไปตั้งมั่นอยู่ด้านใดของรั้วตรอกเสียก่อน พอตั้งมนสิการกำหนดกำลังและทิศทางดีแล้ว คนหน้าก็โดดปุ๊ป ถ้าเคราะห์ดีก็เผอิญยั้งได้สนิท ขึ้นไปยืนอยู่บนที่แห้งมีอาณาเขตความกว้างสักสองศอกเป็นอย่างมาก ทีนี้ก็ตั้งท่าโจนก้าวใหม่ต่อไป แต่ถ้าเคราะห์ร้ายแรงโดดไม่ไกลพอ เท้าพลาดลงไปตะแคงอยู่ในหลุมโคลนกลางตรอก คนที่ตามติดมาข้างหลังก็จะเฮฮาและช่วยกันเข้าพะยุพยุง ไม่มีใครโกรธกัน เพราะหัวอกอันเดียวกันทั้งนั้น


การบรรยายสภาพขรุขระของซอยเข้าบ้านของชนชั้นซึ่งแน่นอนว่าต้องหาเช้ากินค่ำ ไม่ได้มีความรันทดท้อหรือแสดงความลำบากลำบนให้เห็น แต่ท่านเขียนให้เป็นภาพชุบอารมณ์ขันเล็ก ๆ ที่ชวนให้ไม่อาฆาตสังคมฉันถือว่าเป็นมุมมองที่สะท้อนมาจากตัวตนของท่านผู้เขียนซึ่งเป็นอัตวิสัย โดยรวมแล้วเรื่องสั้นชุดนี้มีตัวละครเป็นชนชั้นล่าง ผู้ด้อยโอกาสอยู่มากมาย แต่ทำนองการเขียนกลับไม่ชวนโศกสลดดั่งวรรณกรรมเพื่อชีวิตชนิดพ่อตาย ควายหาย นาถูกยึด นายทุนหน้าเลือด


เรื่องสั้นอื่น ๆ ในชุดนี้ยังมีสำนวนภาษาชวนอ่าน คือค่อย ๆ ระบายภาพขึ้นในจินตนาการของผู้อ่านด้วยถ้อยภาษาแบบละมุนละม่อม เป็นลีลาที่ไม่โอ่อ่า ข่มเหมผู้อ่านในทางสติปัญญาแต่อย่างใด เท่าที่ยกตัวอย่างน้อยนิดมาให้อ่านกัน ถือเป็นส่วนย่อยเท่านั้น ยังมีนักเขียนไทยที่เป็นเจ้าในด้านสำนวนโวหารอยู่อีกมหาศาล และรอคอยให้คนรุ่นใหม่แหวกม่านเข้าไปอ่าน เชิญค้นหาได้ตามสารระบบตามสะดวก


ทั้งอิสรา อมันตกุล ที่ฝีไม้ลายมือเด็ดขาด หรือสุวรรณี สุคนธา อีกหลายนามท่านผู้ที่ล่วงลับไปแล้วและยังคงเขียนหนังสืออยู่ แต่หากใครเคยอ่านผลงานของ
ศุภร บุนนาค แล้วลงความเห็นว่า ไม่เห็นจะต้องกราบไหว้อย่างที่อาจารย์อวยพรของฉันสถาปนาไว้เลย ก็ไม่เป็นไร ยอมรับกันได้ แต่ถ้าใครยังไม่เคย ขออีกครั้ง ตามไปหามาอ่านเถิด โดยเฉพาะหนอนอย่างเรา ๆ .

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ถอดรหัสอ่านเร็ว HI-SPEED READING ผู้แต่ง : ลุงไอน์สไตน์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : สำนักพิมพ์บิสคิต ตุลาคม 2551
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ           :           824ผู้เขียน               :           งามพรรณ เวชชาชีวะประเภท              :           นวนิยาย  พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย        :      …
สวนหนังสือ
ป่านนี้แล้ว (พ.ศ. 2552) ใครไม่เคยได้ยินเสียงขู่ หรือคำร้องขอเชิงคุกคามให้ร่วมชุบชูจิตวิญญาณสีเขียว ให้ร่วมรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ให้ตระหนักในปัญหาวิกฤตอาหารถาวร โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ฉันว่าคุณคงมัวปลีกวิเวกนานเกินไปแล้ว
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : ลิงหลอกเจ้า ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา ผู้เขียน : เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผู้แปล : วีระ สมบูรณ์ และ พจนา จันทรสันติ จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม พ.ศ.2528   เวลานี้เราต้องยอมรับเสียแล้วละว่า หนังสือธรรมะ เป็นหนังสือแนวสาระที่ติดอันดับขายดิบขายดี และมีทีท่าว่าจะคงกระแสความแรงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย   เดี๋ยวนี้ ฉันเจอใครเข้า เขามักสนทนาประสาสะแบบปนธรรมะนิด ๆ มีบางคนเข้าขั้นหน่อย ก็เทศน์ได้ทุกสถานการณ์ อย่างนี้ก็มี ไม่แน่ว่าถ้าคนนิยมอ่านหนังสือธรรมะกันหนาตาเข้า สังคมไทยอาจแปรสภาพเป็นสังคมแห่งนักบวชนอกเครื่องแบบก็เป็นได้…
สวนหนังสือ
  เรียน คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ ช่อการะเกด ที่นับถือฉันผู้ใช้นามแฝงว่า นายยืนยง คนเขียนคอลัมน์ สวนหนังสือ ในเว็บไซต์ประชาไท ที่มีบทความชื่อ ช่อการะเกด 45 เวลาช่วยให้อะไร ๆ ดีขึ้นจริงหรือ? อยู่ในรายการของบทความทั้งหมด ได้อ่าน กถาบรรณาธิการ ใน ช่อการะเกด 47 ฉบับวางแผงปัจจุบันแล้ว ทราบว่าคุณสุชาติ บรรณาธิการนิตยสารเรื่องสั้นช่อการะเกดได้ให้ความสนใจต่อบทความนี้ ฉันในนามของนายยืนยงจึงเขียนจดหมายแล้วจัดพิมพ์ส่งตู้ ป.ณ. 1143 เพื่อเล่าถึงความเป็นมาคร่าว ๆ…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ :       เดอะซีเคร็ต ผู้เขียน :            รอนดา เบิร์นผู้แปล :             จิระนันท์ พิตรปรีชาพิมพ์ครั้งที่ 54 :  มีนาคม 2551จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์อมรินทร์
สวนหนังสือ
ใกล้เปิดภาคเรียนใหม่ ปีการศึกษา 2552 แล้ว ภายใต้นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ของรัฐบาลนี้ ถ้าใครได้ดูทีวีคงได้เห็นข่าวประชาสัมพันธ์ หรือได้เห็นสำนักข่าวไปสัมภาษณ์ผู้ปกครองที่ได้รับเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียนแล้วไปเลือกซื้อชุดนักเรียนให้ลูก ๆ เป็นที่น่าชื่นอกชื่นใจสำหรับคนเป็นพ่อแม่ที่มีโอกาสเป็นครั้งแรกในการได้รับ "ของฟรี" จากรัฐบาล แม้จะไม่สามารถซื้อได้ครบทั้งชุดก็ตาม เช่น นักเรียนประถม 5 ได้รับเงินเพื่อการนี้คนละ 360 บาทต่อปี คือ 2 ภาคเรียน ๆ ละ 180 บาท บางคนอาจจะได้กางเกงนักเรียน 1 ตัว และ ถุงเท้า 1 คู่ ก็ยังดีฟะ.. กำขี้ดีกว่ากำตดไม่ใช่เรอะ
สวนหนังสือ
นายยืนยง   นิตยสารรายเดือน             :           ควน ป่า นา เล  4 เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ปลายมีนาคมจนถึงวันนี้ 9 เมษายน ฉันอาศัยทีวีและหนังสือพิมพ์ อันเป็นสื่อกระแสหลักที่นำเสนอข่าวสารที่เป็นกระแสหลัก คือ ข่าวการเมือง เหมือนกับทุกครั้งที่อุณหภูมิการเมืองเดือดขึ้น ฉันดูข่าวเกินพิกัด อ่านหนังสือพิมพ์จนแว่นมัวหมอง ตื่นระทึกไปกับทุกจังหวะก้าวย่างของมวลชนเสื้อแดง มีอารมณ์ร่วมกับภาคการเมืองส่วนกลางในฐานะผู้เสพข่าวสารเท่านั้นเองจริง ๆ เท่านั้นเองไม่มากกว่านั้น …
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : เราติดอยู่ในแนวรบเสียแล้ว แม่มัน! วรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 6 จัดพิมพ์โดย : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พิมพ์ครั้งแรก : กันยายน 2551 ก่อนอื่นขอแจ้งข่าว เรื่องวรรณกรรมการเมือง รางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2552 นี้ สักเล็กน้อย งานนี้เป็นการจัดประกวดครั้งที่ 8 เปิดรับผลงานวรรณกรรมการเมือง 2 ประเภท คือ เรื่องสั้น และ บทกวี ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : เด็กเก็บว่าว The Kite Runner ผู้เขียน : ฮาเหล็ด โฮเซนี่ ผู้แปล : วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม พ.ศ.2548 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ The One Publishing เด็กเก็บว่าว นวนิยายสัญชาติอเมริกัน-อัฟกัน ขนาดสี่ร้อยกว่าหน้า ที่โปรยปก มหัศจรรย์แห่งนวนิยายที่สร้างปรากฏการณ์ปากต่อปากจนติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ เล่มนี้ กล่าวถึงเรื่องราวของอะไรหรือ ทำไมผู้คนจึงให้ความสนใจกับมันมากมายนัก ฉันถามตัวเองก่อนจะหยิบมันมาอ่าน
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง ผู้เขียน : ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ประเภท : วรรณกรรมวิจารณ์ พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2545 จัดพิมพ์โดย : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ การตีความนัยยะศัพท์แสงทางวรรณกรรมจะว่าเป็นศิลปะแห่งการเข้าข้างตัวเอง ก็ถูกส่วนหนึ่ง ความนี้น่าจะเชื่อมโยงกับเรื่อง “รสนิยมส่วนตัว” หรือ อัตวิสัย หากมองในแง่ดี เราจะถือเป็นบ่อเกิดของกระบวนการสร้างสรรค์ได้ด้วย มิใช่หรือ
สวนหนังสือ
นายยืนยงเมื่อการอ่านประวัติศาสตร์ อันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น ฉันว่าควรมีการเขียนหนังสือแนะนำ (How to) เป็นขั้นเป็นตอนเลยจะดีกว่าไหม เพราะมันนอกจากจะปวดเศียรเวียนเกล้ากับผู้แต่งแต่ละท่านแล้ว (ผู้แต่งบางท่านก็ชี้ชัดลงไปเลย เจตนาจะเข้าข้างฝ่ายไหน แต่บางท่านเน้นวิเคราะห์วิจารณ์ โดยที่หากผู้อ่านมีความรู้เชิงประวัติศาสตร์น้อยกว่าหางอึ่งอย่างฉัน ต้องกลับไปลงทะเบียนเรียนวิชานี้อีกหลายเล่ม) ยังทำให้ใช้เวลาอย่างมหาศาลไปกับหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกันอีกหลายเล่ม ไม่เป็นไร ๆ เราไม่ได้อ่านเพื่อพิพากษาใครเป็นถูกเป็นผิดมิใช่หรือ อ่านเพื่อได้อ่าน แบบกำปั้นทุบดินก็ไม่เสียหายอะไรนี่นา…