Skip to main content

 

 

เรียน คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ ช่อการะเกด ที่นับถือ

ฉันผู้ใช้นามแฝงว่า นายยืนยง คนเขียนคอลัมน์ สวนหนังสือ ในเว็บไซต์ประชาไท
ที่มีบทความชื่อ ช่อการะเกด 45 เวลาช่วยให้อะไร ๆ ดีขึ้นจริงหรือ? อยู่ในรายการของบทความทั้งหมด ได้อ่าน กถาบรรณาธิการ ใน ช่อการะเกด 47 ฉบับวางแผงปัจจุบันแล้ว ทราบว่าคุณสุชาติ บรรณาธิการนิตยสารเรื่องสั้นช่อการะเกดได้ให้ความสนใจต่อบทความนี้


ฉันในนามของนายยืนยงจึงเขียนจดหมายแล้วจัดพิมพ์ส่งตู้ ป.ณ. 1143 เพื่อเล่าถึงความเป็นมาคร่าว ๆ และเพื่อแถลงเจตนาในอารมณ์ที่มีต่อโครงการเรื่องสั้นช่อการะเกดเท่าที่ได้สัมผัสมาทั้งโดยตรงและอ้อมอย่างไม่อ้อมค้อมแต่อาจพร่องในหลักวิชาวรรณกรรมศาสตร์ ทั้งนี้ขอให้ทราบเถิดว่าไม่มีเจตนาหรือประสงค์ต่อร้ายใคร ๆ เลย นอกเสียจากได้สนองความมุ่งหวังที่คาดคะเนไปต่าง ๆ นานาว่า วรรณกรรมไทยเรานี้จะก้าวต่อเนื่องไปด้วยคุณภาพ ประกอบพลังสติปัญญาของศิลปชนคนวรรณกรรม ทั้งบรรณาธิการ นักเขียน นักวิจารณ์ และนักอ่าน รวมถึงผู้จัดพิมพ์ในนามสำนักพิมพ์ การณ์นี้หากเห็นข้อบกพร่องของกันและกันแล้วยังปล่อยให้ชะตากรรมในมือของกลยุทธ์ตลาดหนังสือหารือกันเองในมูลค่าทางธุรกิจ โดยไม่เปล่งเสียงทักท้วงกันบ้าง ฉันลงความเห็นว่าพฤติกรรมเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เช่นนี้ ถือเป็นภัยเงียบอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจก่อเป็นเชื้อเป็นผลให้ลุกลามเกิดพิบัติใหญ่หลวงต่อวรรณกรรมไทยของเรา โดยเฉพาะภาคของเรื่องสั้น ทั้งนี้ข้อหนึ่งที่ตระหนักเสมอ คือ หนังสือเป็นสินค้าชนิดหนึ่ง มีราคาค่างวดอันงอกมาจากต้นทุนในการผลิตและประกอบการ แม้นหนังสือจะทรงคุณค่าในตัวเอง มีหัวใจเป็นอรรถประโยชน์ต่อผู้เสพสารอักษร แต่เราย่อมหลีกเลี่ยงอักขระที่เป็นตัวเลขไม่ได้ นอกเสียจากจะจัดพิมพ์เพื่อเป็นธรรมทาน

เมื่อราวสิงหาคม 2550 ฉันเขียนบทความวิจารณ์หนังสือเสนอไปยังผู้คัดสรรบทกวีของเว็บไซต์ประชาไท ผู้เปิดประตูต้อนรับนายยืนยงเข้าสู่โลกของการเขียนบล็อก เขา, ดอร์แมนในคราบกวีหนุ่มก็สนับสนุน โดยส่งต่อไปยังผู้จัดการเว็บไซต์ จนได้บรรจุบทความดังกล่าวลงในบล็อกที่มีชื่ออยู่แล้วว่า สวนหนังสือ จากนั้นฉันก็เขียนเรื่อยมาภายใต้ความดูแล คัดกรองเนื้อหาของผู้จัดการเว็บไซต์ ซึ่งเขาอนุมัติให้มีค่าตอบแทนบทความชิ้นละ 300 บาท ส่วนของนามแฝง นายยืนยง ดังปรากฏนั้น หากจะให้เฉลยว่าเป็นใคร และใครในที่นี้อาจหมายถึง ชื่อ-สกุลตามบัตรประชาชน ฉันประเมินว่าเป็นการปอกเปลือกตัวเองที่ล่อนจ้อนจนเกินงาม และชื่อ-สกุลที่บุพการีขนานนามให้อาจไม่ส่งผลอะไรให้งอกเงยเลย จึงขอขยักไว้ให้อุ่นใจตัวเองก่อน โดยขอให้คุณสุชาติทราบว่านายยืนยงคือชื่อจริงของบิดาผู้ล่วงลับไปแล้ว พ่อแท้ ๆ ของฉันเลยเชียว ถ้าเอ่ยนามสกุลอาจจะพอนึกขึ้นได้ นายยืนยง อ่างกระโทก แฟนคอลัมน์สิงห์สนามหลวงสนทนาในเนชั่นสุดสัปดาห์ ผู้เคยจดหมายมาสนทนาประสาพ่อพิมพ์ของชาติรุ่นราวคราวเดียวกับสิงห์ฯคนนั้นจดหมายของฉันเคลื่อนมาสู่ทางตันเสียแล้ว เพราะไม่เห็นความสำคัญที่จะเสนอตัวตนออกมาจนหมด เนื่องจากนึกสังหรณ์ใจอยู่บ้างว่า ไม่แน่ท่านบรรณาธิการอาจได้ทราบล่วงหน้าแล้ว ใครเป็นใครในแวดวงวรรณกรรมไทยนี้ ยิ่งถามหาก็เหมือนวิ่งชนกันเอง ฉันคิดเอาเองในทำนอง เราก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล ไม่เชื่อลองถาม "คนดายหญ้า" ของคุณศรีดาวเรืองดูก็ได้

 

เข้าสู่ข้อหากึ่ง ๆ ฉกรรจ์อันเป็นผลให้คุณสุชาติบรรณาธิการที่เคารพและนับถือของฉันและสานุศิษย์ทั้งหลาย คิดกับเรื่อง "เวลา" ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของช่อการะเกด


เวลาไม่ช่วยให้อะไร ๆ ดีขึ้นจริงหรือ
? ครึ่งหนึ่งเป็นคำถามของคนที่คร่ำครวญอยู่กับความหวัง ส่วนที่เหลือกึ่งหนึ่งนั้นเป็นคำโฆษณาสรรพคุณของบทความ แต่ไม่เป็นการชวนเชื่ออะไรมากมาย เนื่องจากมันประกอบเข้ากับเครื่องหมายปรัศนี ขณะนี้ฉันเห็นตัวเองกำลังเดินตัวบรรจงก้าวไปสู่หลุมพรางของบรรณาธิการผู้เจนจัด ใช่หรือไม่หนอที่กถาบรรณาธิการในเล่ม 47 มีเจตนาจะขุดบ่อล่อปลา
ไม่เป็นไร รู้เขาล่อแต่ก็ยอมให้หลอก แกล้งปลอบใจตัวเองไปงั้น อย่างน้อยก็ช่วยประวิงเวลา เวลากับรสนิยมส่วนตัวอันน่าหมั้นไส้ตรงคำว่า ส่วนตัว ใช่หรือเปล่า คุณสุชาติจะรู้ไหมว่า ยามนักเขียนตั้งต้นจะบรรเลง short story เพื่อบรรณาการแด่บรรณาธิการชื่อสุชาติ สวัสดิ์ศรี นั้น

เราจินตนาการไว้ 3 บรรทัด จนเกือบจะลงล็อคเดียวกันไว้ว่าอย่างไร ลองถาม ๆ ดูเป็นไร

 

นั่นแหละ ฉะนั้นแล้ว เรื่องสั้นในรายไตรมาสของช่อการะเกดจึงวนอยู่กับอิมเมจ 3 บรรทัดนั้น ๆ ครั้นมีเนื้อหนังคล้ายคลึงกันอยู่เต็มกระจาด บรรณาธิการจะไม่ดูดำดูดีก็กระไรอยู่

 

นี่เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวที่กระเดียดไปทางจำเพาะเจาะจง อาจจะทื่อมะลื่อไปบ้าง แต่ด้วยเชื่อว่ายังมีนักเขียนที่จริงใจ สร้างสรรค์เรื่องสั้นตามครรลองของตน โดยเฉพาะคุณเดือนวาด พิมวนา คุณภานุ ตรัยเวช และอีกหลายนามที่ประกาศความชัดเจนไว้ว่าจะเขียนไม่ซ้ำแบบใคร เขียนให้งอกงามขึ้นเนื้อเดิม กระบวนการนี้เรียกว่าสร้างสรรค์ได้เต็มคำ ถือเป็นกิ่งก้านที่สะพรั่งพราวขึ้นเป็นช่อการะเกด ดอกผลในดินที่อุดมไปด้วยธาตุรสนิยมส่วนตัวของบรรณาธิการนามสุชาติ สวัสดิ์ศรี นี่คือเนื้อแท้ความหวังในแบบของฉัน แต่เมื่อต้องพบกับความผิดหวังในช่อการะเกด ย่อมบันดาลโทสะเป็นธรรมดา งานนี้จะโยนผิดไปให้นักเขียนก็ว่าได้แต่ไม่เต็มปากเต็มคำแน่ ไม่ว่าเขาหรือเธอจะเป็นมือกระบี่ มือใหม่หรือ ที่ผ่านกันเข้ามาหลายครั้ง เพราะถือว่าพวกเขาได้ "ใส่" พลังกันเต็มที่ในขอบเขตอันจำกัดของตัวเอง และฉันไม่ใช่ผู้พิพากษานั่งบัลลังก์ตัดสินว่าเรื่องไหนควรผ่าน อำนาจนั้นเป็นของคุณต่างหาก ฉะนั้นแล้วบรรณาธิการต้องรับบทพระเอกซีนะ หรือว่าผู้ร้ายล่ะ

 

ขอโทษด้วย ฉันนับถือคุณแทบแย่ แต่ก็อดไม่ได้

 

อาจจะจริงที่เข้าใจรสนิยมส่วนตัวของคุณไม่กระจ่างชัดนัก อาจจริงที่ฉันออกจะสับสน แต่ขอออกตัวไว้ก่อน ตัวเองไม่ใช่จะใจคอคับแคบ แม้เรื่องสั้นบางเรื่องจะไม่อยู่ในขอบเขตความชื่นชอบด้วยเหตุผลบางอย่าง ฉันจะไม่ตัดทิ้ง ไม่ด่วนตำหนิ หรือสรุปจนมากมาย ไม่เป็นไร ย้อนไปอ่านซ้ำอีก

 

"ผมอยากเห็นการเขียนเรื่องสั้นเป็นงานศิลปะที่มีความสง่างามในตัวของมันเอง เมื่อมีเสรีภาพก็ขอให้ใช้เสรีภาพอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเกรงใจว่าจะถูกจัดระเบียบหรือถูกติดเรตใด ๆ จากที่นี่ ขออย่างเดียว คือขอให้สร้างงานศิลปะอย่างมีคุณภาพ"

 

จากกถาบรรณาธิการที่ยกมานี้ ถือเป็นคำเชิญชวนที่ท้าทายยิ่งสำหรับนักเขียน ผู้คาดหวังอย่างฉันยิ่งร้อนเร่า ปรารถนาจะลิ้มรสเรื่องสั้นชั้นยอด เรื่องสั้นไทยของเรา เขากลับมาแล้ว เพราะฉันเติบโตมาพร้อมกับวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตอย่างที่เรียกขานกัน ชอบอ่านเรื่องสั้นช่อการะเกดแม้จะได้กลิ่นสนิมล้าสมัยอยู่บ้าง แต่จะหงุดหงิดปิ๊ดป๊าดทันทีถ้าใครมาเรียกฉันเป็นพวกเพื่อชีวิต

 

ก่อนจะขยายความที่เป็นบ่อเกิดความผิดหวังส่วนตัว ฉันขออนุญาตเชิญคำว่า "ศิลปะ" มาใช้ในการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสั้นช่อการะเกดของพ.ศ.2550-2551 นี้ ในฐานะผู้อ่านที่คาดหวังความงดงามล้ำลึกจากเรื่องสั้นในแง่ของศิลปะ ซึ่งอาจไม่ลึกซึ้งเท่าคุณสุชาติ จึงต้องอัญเชิญทัศนะวิจารณ์ของหม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ มาเป็นหลักการใหญ่ ๆ ท่านเคยเขียนไว้ในหนังสือของท่านว่า วรรณกรรมที่ดีย่อมถ่ายทอดผ่านมุมมองอันละเอียดอ่อน ด้วยอารมณ์ประณีตของผู้ประพันธ์ ฉันจึงมีความเห็นว่าเรื่องสั้นที่ด่วนสรุปหรือเขียนอย่างเป็นการกำหนดกฎเกณฑ์ให้ภาพพจน์ (วิธีการใช้ภาพแสดงความหมาย) ที่แสดงออกในเรื่องก้าวมา "รับใช้" ปรัชญาข้อใดข้อหนึ่งอย่างโดด ๆ นั้น (ยิ่งที่พูดกันเกร่อว่า เขียนแบบให้คนอ่านคิดเอาเอง คล้ายจะเป็นการเลือกใช้คำง่ายเกินและไม่ประณีตอีกด้วย) เป็นเรื่องที่กระด้างเกินไป ทำไมเราไม่ค่อยได้อ่านเรื่องสั้นไทยที่สังสรรค์ระหว่างหลายศาสตร์บ้างล่ะ หรือเน้นเขียนให้ไร้ทางออก ซึ่งดูไม่ต่างจากการที่นักเขียนเปิดประตูบานเดียวต้อนผู้อ่านเข้าไปขังไว้แล้วล็อคกุญแจซะ

นี่เป็นเพียงการมองมุมกว้างไม่ได้เจาะจงเป็นประเด็นชัดเจน ซึ่งเป็นสาเหตุแรก ๆ ที่ทำให้ผู้อ่านอย่างฉันไม่สมหวัง

 

มาดูข้อที่สอง

การเลือกใช้ตัวละคร ส่วนใหญ่ค่อนข้างจำเจ บางครั้งดูฝันเฟื่อง "หลุด" แต่ถ้าจะฝันเฟื่องก็น่าจะอยู่บนพื้นฐานที่จะสื่อกับคนอ่านได้ให้สมใจนักเขียนเอง ข้อนี้ออกจะเป็นส่วนตัวมากเกินไป ไม่น่าเขียนถึงด้วยซ้ำไป

 

ข้อสาม ภาษา

แม้ตระหนักว่า "ท่านไม่ควรอ่านพระคัมภีร์เพื่อดูภาษา" (W.H. Auden) เพียงไร แต่ภาษาก็ถือเป็นหัวใจของวรรณกรรม ทั้งนี้ไม่ได้มองภาษาเป็นโครงสร้างของคำเท่านั้น แต่มองในภาพรวมของผลงานนั้น ๆ น่าจับตาเป็นพิเศษในเรื่องภาวะตีบตันทางภาษา ลองกลับไปอ่านดูก็ได้ ยกตัวอย่าง การเลือกใช้สรรพนาม ไม่ว่า เขา เธอ หล่อน ฉัน ผม เด็กหญิง เด็กชาย หญิงหม้าย ชายหนุ่ม ผู้เฒ่า หญิงชรา ฯลฯ ถ้าลองได้ใช้คำสรรพนามใดแล้ว นักเขียนจะไม่ยอมสร้างภาพพจน์ให้งอกเงยขึ้นมาจากคำเดิมเลย เช่น ถ้าใช้ "เขา" ไอ้ "เขา" นี่แหละจะไม่เจริญเป็นภาพอื่นเลย เขา จะเป็น เขา ไปตลอดชีพ มนุษย์มีภาพเดียวหรือ เมื่อสำนวนใหม่ไม่ขยับ สำนวนเก่าก็ถูกเก็บเข้ากรุ แหม นี่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางวรรณกรรมหรือเปล่า ทั้งนี้ภาษาของนักเขียนไม่ได้มีไว้เพื่อสื่อสารอย่างเดียว แต่ยังใช้เพื่อสื่อ "ความ" อีกด้วย และ "ความ" ในที่นี้ไม่ได้ขึ้นต่อภาษาอย่างเดียว แต่ขมวดรวมไว้กับเอกภาพอันสอดคล้องกับองค์ประกอบอื่นของเรื่องด้วย

 

ข้อ 4 กลวิธีการเขียน หรือเทคนิค แน่นอนว่า หากให้น้ำหนักกับเทคนิคในเชิงโครงสร้างเป็นความซับซ้อนของโครงเรื่อง ย่อมเป็นกระบวนการสร้างสรรค์อันหนึ่ง ฉะนั้นการวิจารณ์วรรณกรรมนั้น ๆ ต้องมองให้กระจ่างชัดถึงเจตนารมณ์ของนักเขียน แต่ถ้าเขาหรือเธอยังหลงอยู่ใน "ทาง" ของตัวเอง ผู้อ่านจะมีสภาพเป็นเช่นไร จะทดลองเพื่อก้าวออกจากความซ้ำซากก็เชิญตามสบาย เรื่องนี้สามารถวิเคราะห์ได้เพราะถือเป็นกระบวนการทำงานของจิตใต้สำนึกที่ทำหน้าที่กำหนดรูปแบบโครงสร้างโดยอัตโนมัติ ถึงอย่างไรองค์ประกอบนี้ก็ไม่ใช่แค่ผิวนอกแต่อย่างเดียว การจะวิจารณ์เทคนิคว่าเป็นเรื่องเปลือกนั้นจึงไม่สมควรยิ่ง ฉันจะเตือนตัวเองในเรื่องนี้เสมอ

 

เหล่านี้ท่านบรรณาธิการย่อมซาบซึ้งดีกว่าฉันเป็นล้านเท่า และน่าจะรับรู้ว่าวรรณกรรมในแนวสร้างสรรค์ หรือบางคนเรียก วรรณกรรมสายสุชาตินั้น เข้าข่ายอ่านยาก ไม่ก็เรียกปีนบันไดอ่าน "เนื่องจากวรรณคดีเป็นกิจกรรมสังคม มีข้อยกเว้นอันเป็นเหตุบังเอิญอยู่เพียงสองกรณีเท่านั้น เช่น สมุดบันทึกประจำวันซึ่งไม่ตั้งใจจะให้ใครเอาไปพิมพ์ แต่วรรณคดีโดยทั่วไปนั้น ตั้งใจเขียนให้คนอ่าน สิ่งที่ข้าพเจ้าอ่านคนที่เขียนก็ตั้งใจให้ข้าพเจ้าอ่านอยู่แล้ว และไม่ใช่แต่เพียงข้าพเจ้าหากแต่ต้องการให้คนอื่น ๆ อ่านด้วย แม้แต่ ‘ เสียงของกวีที่รำพึงกับตัวเอง ' ก็หมายให้คนอื่นได้ยินด้วย และแม้วรรณคดีที่เขียนขึ้นให้เข้าใจในวงแคบที่สุด ก็ยังหวังว่าคนที่มีความคิดจิตใจคล้ายคลึงกันจะได้อ่าน" ข้อความในเครื่องหมายอัญประกาศนี้คัดมาจากหนังสือว่าด้วยหลักวรรณคดีวิจารณ์ ในบทที่ห้า ทฤษฎีศีลธรรมและทฤษฎีสังคม แปลจาก An Essay on Criticism โดย Graham Hough โดย นฤมล กาญจนทัต และอุบลวรรณ โชติวิสิทธิ์ ร่วมกันแปล (ไม่ได้เป็นการยกตำรามาป้องกันตัวแต่อย่างใด แต่เพราะฉันเป็นผู้หนึ่งที่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย จึงหาโอกาสอ่านในสิ่งที่อยากจะรู้เท่านั้นเอง) เมื่อวรรณกรรมอย่างที่เราคาดหวังหรือกำลังอภิปลาย หรือสร้างสรรค์ขึ้นมานี้ เป็นสื่อเฉพาะกลุ่มอย่างหนึ่ง ปัญหาจึงตกอยู่ที่เหตุใดคนกลุ่มเฉพาะดังกล่าวจึงมีเพียงกระหยิบมือเดียว และแน่นอนย่อมไปผูกอยู่กับเรื่องยอดขายหนังสือด้วย ฉันจึงได้คิดสะเปะสะปะไปตามใจตัวถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอันเป็นเหตุให้กลุ่มคนที่ถูกคาดหวังจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ หรือปัญญาชนไม่นิยมวรรณกรรมเท่าที่ควร อาจมีต้นตอมาจากหลายแขนง แขนงหนึ่งที่สรุปให้แคบเข้ามาคือการตัดตอนของระบบการศึกษาไทย ถ้าพูดกันวันนี้อีกสามปีคงไม่จบ

 

หากคำว่า "กลไก" ที่คุณเคยพูดถึงหมายความว่า กระบวนการสร้างเรื่องราวขึ้นมาจากหลักการ แนวคิด ข้อปรัชญาของนักคิดนักเขียน เพื่อตอบสนองต่อหลักการนั้น ๆ ออกมาเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ข้อนี้ฉันถือว่าเป็นการตัดตอนอีกอย่างด้วย เพราะเป็นไปได้หรือ จะมีปรัชญาเพียงข้อเดียวที่สามารถอธิบายมนุษย์ได้หมดจดหรือหมดจดในแง่มุมใด ๆ นี่เป็นแขนงหนึ่ง

 

สาม เราต้องไม่ลืม การเผยแพร่วรรณคดีไปสู่นานาประเทศโดยผ่านการแปลจากภาษาอื่นนั้นซึมแผ่ได้รวดเร็วไม่ต่างจากสินค้าอุตสาหกรรม นักเขียนไทยเราได้อ่านวรรณคดีแปลอย่างมากมาย ต้องขอขอบพระคุณคณะผู้จัดพิมพ์ นักแปล และผู้ร่วมสร้างสรรค์ทุกท่านที่ช่วยเปิดหูเปิดตาให้ได้รับรู้ความเป็นมนุษย์ในวัฒนธรรมอื่น ๆ ทั่วโลก เมื่อได้รู้จักความเป็นอื่นผ่านวรรณคดี ซึ่งแต่ละประเทศย่อมมีลักษณะโดดเด่นเป็นเฉพาะ ไม่ว่าจากประเทศที่วรรณคดีก้าวล้ำกว่าไทยไปหลายขั้นหรือล้าหลังกว่า ผู้อ่านย่อมซึมซับเอาข้อคิดและความเห็นจากวรรณคดีเหล่านั้น ครั้นจะลงมือเขียนหรืออ่าน หรือดำเนินกิจกรรมในมุมของวรรณกรรม วรรณคดีไทย ก็ไม่อาจเลี่ยงอิทธิพลทัศนะของประเทศอื่น โดยมากจะเป็นชาติตะวันตก ฉันเองก็คนหนึ่งล่ะที่เป็นจำเลยข้อหานี้

 

มาถึงนักเขียนบ้าง จะไม่ขอใช้คำว่า "เลียนแบบ" แต่จะใช้ "แรงบันดาลใจ" หรือ "ความรู้สึกร่วม" หากนักเขียนจะริเริ่มเขียนเรื่องให้โดดเด่นขึ้นมาจากทะเลวรรณกรรมไทย เขาหรือเธอจะหันหน้าหนีแรงบันดาลใจเหล่านั้นได้หรือ ยกตัวอย่างเรื่อง มนุษย์เราก็เป็นบางที ของคุณวยากร พึ่งเงิน จากช่อการะเกด 44 ที่นักเขียนพยายามอภิปลายปรัชญาความว่างเปล่าต่อสังคมไทยซึ่งยังไม่ถนัดจะส่งสำเนียงหรือรู้สึกรู้สากับความว่างเปล่านัก โดยอาศัยตัวแปรไม่กี่ตัวเพื่อผลักดัน "ผม" มนุษย์นักบริโภค นักปรารถนาตัวยง มายุติตัวเองในปล่องที่มีชื่อเรียกขานว่าความว่างเปล่า และถ้ายิ่งนำความไม่คุ้นเคยข้อนี้ไปผูกกับผู้อ่าน โดยเฉพาะกลุ่มปัญญาชน ชนชั้นกลางซึ่งหลากหลายรูปแบบมากขึ้นตามนโยบายเศรษฐกิจแห่งชาติ (อันนี้ไม่ได้จำกัดความหมายที่คับแคบนะ) ดูน่าจะมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่มาก แน่นอนว่าการเข้าถึงงานศิลปะมีระดับชั้นของมัน และเป็นเรื่องจำเพาะบุคคล ซึ่งมีคำอธิบายอันแยบคายอยู่แล้ว ฉันไม่จำเป็นต้องยืดยาดอีก ดังนั้น พอจะกล่าวได้ไหม ขุมกำลังในนามผู้อ่านของประเทศนี้ ไม่ได้เติบโตขึ้นพร้อมกับนักเขียน บรรณาธิการผู้นิยมงานศิลปะในแนวสร้างสรรค์ จะว่าผลงานไม่อาจเข้าถึงหัวใจผู้อ่านได้ หรือผู้อ่านมีหัวใจคับแคบเกินไป ก็ย่อมได้ทั้งสองทาง และคงไม่ต้องพูดกันตรงนี้ใช่ไหมว่าทำไมคนรากหญ้าไม่ค่อยอ่านหนังสือ บางทีบทความ เวลาช่วยให้อะไร ๆ ดีขึ้นจริงหรือ? นี้อาจเกิดจากความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์กับการ

ตัดตอนของวรรณกรรมไทยร่วมสมัยตามที่ได้กล่าวมาก็เป็นได้ โดยเฉพาะในยุคหลังของวรรณกรรมเพื่อชีวิต

 

ฉันเป็นคนหนึ่งที่เติบโตมาในยุคตัดตอนดังกล่าว และยอมรับว่าตัวเองนั้นคับแคบและด่วนสรุปเกินไปอย่างที่คุณตำหนิ ยิ่งเรื่องที่กล่าวหาว่ามีนักเขียนอยากเอาใจบรรณาธิการจึงเขียนเรื่องสนองให้นั้น ฉันขอโทษ ขออภัยทั้งฝ่ายบรรณาธิการและนักเขียน คุณอุเทน พรมแดง และผู้อ่านทุกท่าน มา ณ ที่นี้ ถือเป็นความประมาทอย่างยิ่งที่จับแพะมาชนแกะ บาปมันก็ตกที่ตัวเราเท่านั้นเอง


คราวนี้มาดูการตัดตอนอีกข้อหนึ่ง

แขนงที่สี่คือการตัดตอนรากเหง้าของตัวเอง ตอนี้มีขนาดมหึมา เนื่องจากไม่ได้เกิดเฉพาะกับวงวรรณกรรมอย่างเดียว แต่ระบาดไปทั่ว  เคยสังเกตไหม รากเหง้าที่ถูกกล่าวถึงในวรรณกรรมไทยสืบไปได้ถึงระดับไหน ขอยกวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตยุคแรก ๆ ของลาว คำหอม จากเรื่องกระดานแผ่นเดียว (ขออภัยหากชื่อเรื่องผิดพลาดไป) (ที่จริงคือเรื่องสั้นชื่อ กระดานไฟ ไม่ใช่ เรื่องกระดานแผ่นเดียว เป็นความผิดพลาดของผู้เขียนเอง ทั้งนี้บรรณาธิการได้หมายเหตุไว้ท้ายจดหมายแล้ว ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้) จากรวมเรื่องสั้น ฟ้าบ่กั้น ซึ่งเปราะหนึ่งถือได้ว่าเป็นการประกาศชัยชนะของมนุษย์ในนามปัจเจกชน ผู้เจริญแล้ว หลุดพ้นแล้วซึ่งไสยศาสตร์ หมอผี ความเชื่อของบรรพบุรุษ โดยตัวละคนเป็นชายผู้ต้องเผชิญอุปสรรคใหญ่หลวงเมื่อตอนเมียจวนจะคลอดลูก แต่เขายังหาไม้กระดานศักดิ์สิทธิ์มาประกอบพิธีกรรมคลอดทารกให้หมอตำแยไม่ได้ เรื่องจบลงที่ผู้กำลังจะเป็นพ่อในอีกไม่กี่นาทีได้ไปคว้าเอาไม้กระดานสามัญธรรมดามาใช้แทน ได้เป็นพ่อสมใจโดยไม่ต้องพึ่งอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ใด ๆ เลย อีกเปราะหนึ่งคือเป็นการถือกำเนิดใหม่ของชีวิต เหมือนได้ประกาศอิสรภาพให้ตัวเองไปพร้อมกัน แสดงให้เห็นถึงรากเหง้าที่ตัวละครได้ตัดทิ้งเสียเพื่อไปสู่ชีวิตที่ เจริญกว่า รากดังกล่าวนั้นคือความเชื่อแบบไสยศาสตร์

 

มาสู่วรรณกรรมเพื่อชีวิตยุคที่สอง ซึ่งพัฒนามาจากขั้วคู่ปฏิปักษ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับไสยศาสตร์แบบยุคแรก เป็นคู่ของผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ แน่นอนผู้ถูกกระทำย่ำยีคือประชาชนตาดำ ๆ และอีกฝ่ายย่อมหนีไม่พ้น รัฐบาล นายทุน ข้าราชการที่ล้วนชั่วช้าสามานย์ตลอดกาล โดยยุคที่สองนี้ก็ไม่ได้ตัดขาดซึ่งขั่วคู่ปฏิปักษ์ของยุคแรกเสียทีเดียว ดังปรากฏในเรื่องสั้นของ ไพฑูรย์ ธัญญา จากเรื่อง ปลาตะเพียน จากเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าไพฑูรย์เป็นนักเขียนอีกคนคิดต่อยอดให้กับผลงานวรรณกรรมเพื่อชีวิตคนหนึ่ง โดยได้แบ่งขั้วขัดแย้งเป็นสองฝ่ายชัดเจน คือฝ่ายขนบเก่าดั้งเดิมกับฝ่ายโลกสมัยใหม่เน้นการอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์และปฏิเสธไสยศาสตร์อย่างไร้เหตุผล (ซึ่งโดยวิธีคิดแบบนี้ก็ขัดแย้งกับตัววิธีแบบเป็นเหตุเป็นผลอย่างวิทยาศาสตร์เองด้วย) ทั้งสองขั้วขัดแย้งนี้อาศัยตัวละครเป็นตัวแสดงคือยายช้อยและน้องสาว โดยเนื้อหาของเรื่องเป็นการปะทะกันระหว่างแนวคิดสองขั้วที่สุดท้ายกลับสมานกันได้ด้วยสภาวะหนึ่ง โดยอาศัยความจำยอม และผ่อนปรนของแต่ละฝ่าย เห็นได้ว่าไม่จำเป็นต้องมีผู้ชนะและผู้พ่ายเหมือนเรื่องของลาว คำหอม ในยุคก่อน ซึ่งวิธีการถือเป็นการเปิดประตูวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตออกไปสู่โลกใหม่กับเนื้อหาเชิงศีลธรรมที่ว่า การยอมรับในความเป็นอื่น ไม่ใช่การหักล้างซึ่งกันและกัน จะนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข สังเกตได้ชัดว่า รากเหง้าคือไสยศาสตร์ย้อนกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง

 

ครั้นถึงคราวที่เพื่อชีวิตสิ้นฤทธิ์ลงไปบ้าง โดยมีวรรณกรรมที่เน้นกลวิธีการเขียนหรือที่เรียกกว่ารูปแบบทดลองอย่างคุณวินทร์ เลียววารินทร์ มาแทน ซึ่งชัดเจนว่ากลวิธีการเขียนของเขาไม่ได้ขึ้นต่อแบบแผนอย่างเดียว แต่สร้างกระแสฮือฮาให้นักเขียนพากันทดลองยกใหญ่ ขณะเดียวกันงานเขียนในหลายรูปแบบหลายสำนักก็ปรากฏขึ้นอย่างท่วมท้น โดยส่วนใหญ่เป็นแรงบันดาลใจมากจากวรรณกรรมแปล หรือไม่ใช่ เมื่อรูปแบบทดลองเริ่มซางานเขียนแนวจิตวิทยาก็กลับมาเฟื่อง อีกครั้งหรือเปล่าไม่ทราบ เพราะยุคก่อนเพื่อชีวิตเมื่อราว ๆ พ.ศ.2500 นักเขียนหญิงอย่างคุณศุภร บุนนาค ได้เกริ่นถึงยุคนั้นว่าเป็นยุคจิตวิทยาเฟื่อง (จากรวมเรื่องสั้น คนซื้อฝัน พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์คลังวิทยา พ.ศ.2509) อย่างไรก็ตามจิตวิทยาในพ.ศ.นี้ก็ไม่ได้หมายถึงทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของบิดาแห่งจิตวิทยาอย่างซิกมุนด์ ฟรอยด์อย่างเดียว แต่หมายความถึงจิตวิญญาณของมนุษย์ด้วย และอาจหมายรวมถึงจิตวิญญาณที่ฝังในอยู่รากเหง้าซึ่งดึกดำบรรพ์กว่าไสยศาสตร์แบบไทยพุทธในยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยมาในรูปของแนวเขียนแบบสัจจะนิยมมายา ซึ่งฉันเคยหวังจะได้อ่านจากช่อการะเกดเหมือนกัน แต่ยังไม่ปรากฏ ส่วนใหญ่เห็นแต่นักเขียนจิตวิเคราะห์ที่คำว่าจิตของเขาหรือเธอมีความหมายเพียงความรู้สึก ความนึก และความคิดของตัวกู อย่างที่นักเขียนบางคนพยายามอธิบายความโดดเดี่ยวว้าเหว่ราวกับอยู่ลำพังในเอกภพให้ออกมาในรูปของปรัชญาว่าด้วยความว่างเปล่ากระนั้นหรือ (นี่ไม่ได้เจาะจงคุณวยากร พึ่งเงิน คนเดียวนะ เพราะรายการนี้มีอยู่หลาย ตามนิตยสารต่าง ๆ ) พัฒนาการเช่นนี้ไม่ทราบคุณสุชาติเห็นว่าเป็นการตัดตอนหรือไม่ สำหรับฉันย่อมแน่นอน เพราะถึงแม้โลกจะไร้พรมแดนกระทั่งสามารถสั่งซื้อแนวคิดกันได้ทางอินเทอร์เน็ต สภาพสังคมไทยก็ยังเป็นอยู่เช่นทุกวันนี้ หากนักเขียนคิดจะสร้างสรรค์อยู่บนฐานของแรงบันดาลใจจากโลกภายนอกจนเป็นบรรทัดฐานของคำว่าศิลปะสร้างสรรค์แล้ว จะมีพื้นที่อีกสักกี่ฝ่ามือให้โลกภายในได้แตกหน่อขึ้นมา การศึกษาวัฒนธรรมต่างชาตินั้นสำคัญ แต่อย่าให้ถึงขั้นตัดส้นเท้าของตัวเองเลย

 

จดหมายฉบับนี้ก็ได้ตัดตอนแบบด้นถอยหลังตามประสาของฉัน แม้นามนายยืนยงจะปรากฏอยู่ในบล็อกเท่านั้น แต่คอมพิวเตอร์ที่บ้านก็ไม่ได้เชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต อาศัยบริการเน็ตคาเฟ่หน้าปากซอยเป็นการสะดวกและคุ้มค่ากว่า ในเมื่อไม่ได้พิสมัยจอภาพมากไปกว่าหนังสือเหตุไฉนต้องทรมานตัวเองด้วย

 

จวนจบแล้ว ขอสารภาพเลยปะไร ทั้งรู้ว่ามารยาทการวิจารณ์หนังสือนั้น อนุญาตให้เขียนถึงข้อดีโดยให้เหตุผลประกอบ ส่วนข้อไม่ดีนั้นควรระงับไว้ให้ผู้อ่านอื่น ๆ ตัดสินกันเอง ดังนั้นการวิจารณ์ช่อการะเกดในเชิงตำหนินั้น ถือเป็นการผิดมารยาทอย่างร้ายกาจ แม้กระทั่งเครื่องหมายปรัศนีที่ต่อท้ายบทความซ้ำไว้ ทั้งที่มีความหมายเป็นคำถามสมบูรณ์ในตัวอยู่แล้ว ฉันก็ยังเร่อร่าใช้เสียจนฟุ่มเฟือย ขอบคุณท่านบรรณาธิการที่กรุณาชี้แนะ จะระมัดระวังให้จงหนัก เขียนวิพากษ์วิจารณ์นักเขียนเสียมากแล้ว ย่อมไม่พ้นข้อหา ถนัดแต่ติ ไม่มาเขียนเองบ้างล่ะ ดีแต่ซุ่มอยู่ในเงามืด แล้วยังมาร้องแร่แห่กระเชอ (ที่ถูกต้องเป็นสำนวน ร้องแรกแหกกระเชอ และบรรณาธิการได้กรุณาหมายเหตุไว้ให้ท้ายจดหมายด้วย)


เออ ก็จริงอย่างว่า คุณสุชาติที่เคารพ ถ้าฉันจะเขียนเรื่องสั้นส่งช่อการะเกดควรทำอย่างไรบ้าง กรุณาตอบมากกว่าคำว่า ก็เขียนสิครับ

 

สุดท้ายนี้ ขอความกรุณาคุณสุชาติอ่านจดหมายของฉันโดยจินตนาการไว้สักบรรทัดหนึ่งว่าเป็นความคิดของคนคับแคบและด่วนสรุป ส่วนคุณจะจินตนาการต่อหรือไม่ อย่างไรฉันจะจินตนาการเอาเอง.

 

ด้วยความนับถือเสมอ

หมายเหตุ จดหมายฉบับนี้ตีพิมพ์อยู่ในนิตยสาร ช่อการะเกด 48 แต่นำมาเผยแพร่ที่นี่อีกครั้ง

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
  นายยืนยงชื่อหนังสือ           :           พ.๒๗ สายลับพระปกเกล้าฯ ผู้เขียน               :           อ.ก. ร่งแสง (โพยม โรจนวิภาต)ประเภท              :           สารคดีประวัติศาสตร์          พิมพ์ครั้งที่ 2  พ.ศ.…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ฝรั่งคลั่งผี ผู้เขียน : ไมเคิล ไรท จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก : กรกฎาคม 2550 อ่าน ฝรั่งคลั่งผี ของ ไมเคิล ไรท จบ ฉันลิงโลดเป็นพิเศษ รีบนำมา “เล่าสู่กันฟัง” ทันที จะว่าร้อนวิชาเกินไปหรือก็ไม่ทราบ โปรดให้อภัยฉันเถิด ในเมื่อเขาเขียนดี จะตัดใจได้ลงคอเชียวหรือ
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : เด็กบินได้ ผู้เขียน : ศรีดาวเรือง ประเภท : นวนิยายขนาดสั้น พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2532 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์กำแพง มาอีกแล้ว วรรณกรรมเพื่อชีวิต เขียนถึงบ่อยเหลือเกิน ชื่นชม ตำหนิติเตียนกันไม่เว้นวาย นี่ฉันจะจมอยู่กับปลักเพื่อชีวิตไปอีกกี่ทศวรรษ อันที่จริง เพื่อชีวิต ไม่ใช่ “ปลัก” ในความหมายที่เราชอบกล่าวถึงในแง่ของการย่ำวนอยู่ที่เดิมแบบไร้วัฒนาการไม่ใช่หรือ เพื่อชีวิตเองก็เติบโตมาพร้อมพัฒนาการทางสังคม ปลิดขั้วมาจากวรรณกรรมศักดินาชน เรื่องรักฉันท์หนุ่มสาว เรื่องบันเทิงเริงรมย์…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : คนซื้อฝัน ผู้เขียน : ศุภร บุนนาค ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 2 กรกฎาคม 2537 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย ตามสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะอ่านหนังสือของนักเขียนไทยให้มากกว่าเดิม ฉันดำเนินการแล้วล่ะ อ่านแล้ว อิ่มเอมกับอรรถรสแบบที่หาจากวรรณกรรมแปลไม่ได้ หาจากภาษาของนักเขียนไทยรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยจะได้ จนรู้สึกไปว่า คุณค่าของภาษาได้แกว่งไกวไปกับกาละด้วย
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : เพลงกล่อมผี ผู้เขียน : นากิบ มาห์ฟูซ ผู้แปล : แคน สังคีต จาก Wedding Song ภาษาอังกฤษโดย โอลีฟ อี เคนนี ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2534 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์รวมทรรศน์ หนาวลมเหมันต์แห่งพุทธศักราช 2552 เยียบเย็นยิ่งกว่า ผ้าผวยดูไร้ตัวตนไปเลยเมื่อเจอะเข้ากับลมหนาวขณะมกราคมสั่นเทิ้มด้วยคน ฉันขดตัวอยู่ในห้องหลบลมลอดช่องตึกอันทารุณ อ่านหนังสือเก่า ๆ ที่อุดม ไรฝุ่นยั่วอาการภูมิแพ้ โรคประจำศตวรรษที่ใครก็มีประสบการณ์ร่วม อ่านเพลงกล่อมผีของนากิบ มาห์ฟูซ ที่แคน สังคีต ฝากสำนวนแปลไว้อย่างเฟื่องฟุ้งเลยทีเดียว…
สวนหนังสือ
นายยืนยง สวัสดีปี 2552 ขอสรรพสิ่งแห่งสุนทรียะจงจรรโลงหัวใจท่านผู้อ่านประดุจลมเช้าอันอ่อนหวานที่เชยผ่านเข้ามา คำพรคงไม่ล่าเกินไปใช่ไหม ตลอดเวลาที่เขียนบทความใน สวนหนังสือ แห่ง ประชาไท นี้ ความตื่นรู้ ตื่นต่อผัสสะทางวรรณกรรม ปลุกเร้าให้ฉันออกเสาะหาหนังสือที่มีแรงดึงดูดมาอ่าน และเขียนถึง ขณะเดียวกันหนังสืออันท้าทายเหล่านั้นได้สร้างแรงบันดาลใจให้วาวโรจน์ขึ้นกับหัวใจอันมักจะห่อเหี่ยวของฉัน
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : เงาสีขาวผู้เขียน : แดนอรัญ แสงทองประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่สอง ตุลาคม 2550จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์สามัญชน น้ำเน่าในคลองต่อให้เน่าเหม็นปานใดย่อมระเหยกลายเป็นไออยู่นั่นเอง แต่การระเหิด ไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนกับการระเหย  ระเหย คือ การกลายเป็นไอ จากสถานภาพของของเหลวเปลี่ยนสถานภาพกลายเป็นก๊าซระเหิด คือ การเปลี่ยนสถานภาพเป็นก๊าซโดยตรงจากของแข็งเป็นก๊าซ โดยไม่ต้องพักเปลี่ยนเป็นสถานภาพของเหลวก่อน ต่างจากการระเหย แต่เหมือนตรงที่ทั้งสองกระบวนการมีปลายทางอยู่ที่สถานภาพของก๊าซสอดคล้องกับความน่าเกลียดที่ระเหิดกลายเป็นไอแห่งความงามได้
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : เงาสีขาว ผู้เขียน : แดนอรัญ แสงทอง ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่สอง ตุลาคม 2550 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์สามัญชน ปกติฉันไม่นอนดึกหากไม่จำเป็น และหากจำเป็นก็เนื่องมาจากหนังสือบางเล่มที่อ่านค้างอยู่ มันเป็นเวรกรรมอย่างหนึ่งที่ดุนหลังฉันให้หยิบ เงาสีขาว ขึ้นมาอ่าน เวรกรรมแท้ ๆ เชียว เราไม่น่าพบกันอีกเลย คุณแดนอรัญ แสงทอง ฉันควรรู้จักเขาจาก เรื่องสั้นขนาดยาวนาม อสรพิษ และ นวนิยายสุดโรแมนติกในนามของ เจ้าการะเกด เท่านั้น แต่กับเงาสีขาว มันทำให้ซาบซึ้งว่า กระบือย่อมเป็นกระบืออยู่วันยังค่ำ (เขาชอบประโยคนี้นะ เพราะมันปรากฏอยู่ในหนังสือของเขาตั้งหลายครั้ง)…
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : นิทานประเทศ ผู้เขียน : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาคร
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : นิทานประเทศ ผู้เขียน : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาคร   ผลงานของนักเขียนไทยในแนวของเมจิกคัลเรียลลิสม์ หรือสัจนิยมมหัศจรรย์ หรือสัจนิยมมายา ที่ได้กล่าวถึงเมื่อตอนที่แล้ว ซึ่งจะนำมาเขียนถึงต่อไป เป็นการยกตัวอย่างให้เห็นถึงข้อเปรียบเทียบระหว่างงานที่แท้กับงานเสแสร้ง เผื่อว่าจะถึงคราวจำเป็นจะต้องเลือกที่รักมักที่ชัง แม้นรู้ดีว่าข้อเขียนนี้เป็นเพียงรสนิยมส่วนบุคคล แต่ฉันคิดว่าบางทีรสนิยมก็น่าจะได้รับคำอธิบายด้วยหลักการได้เช่นเดียวกัน…
สวนหนังสือ
เมจิกคัลเรียลลิสม์ หรือที่แปลเป็นไทยว่า สัจนิยมมายา หรือสัจนิยมมหัศจรรย์ เป็นแนวการเขียนที่นักเขียนไทยนำมาใช้ในงานเรื่องสั้น นวนิยายกันมากขึ้น ไม่เว้นในกวีนิพนธ์ โดยส่วนใหญ่จะได้แรงบันดาลใจมาจาก ผลงานของกาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ซึ่งมาเกซเองก็ได้แรงบันดาลใจมาจาก ฮวน รุลโฟ (ฆวน รุลโฟ) จากผลงานนวนิยายเรื่อง เปโดร ปาราโม อีกทอดหนึ่ง เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์วรรณกรรมแนวนี้ถูกตัดตอน ขอกล่าวถึงต้นธารของงานสกุลนี้สักเล็กน้อย กล่าวถึงฮวน รุลโฟ ซึ่งจริงๆ แล้วควรเขียนเป็นภาษาไทยว่า ฆวน รุลโฟ ทำให้หวนระลึกถึงผลงานแปลฉบับของ ราอูล ที่ฉันตกระกำลำบากในการอ่านอย่างแสนสาหัส…
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ประวัติย่อของแทรกเตอร์ฉบับยูเครนA SHORT HISTORY OF TRACTORS IN UKRAINIAN ผู้เขียน : MARINA LEWYCKA ผู้แปล : พรพิสุทธิ์ โอสถานนท์ ประเภท : นวนิยายแปล พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2550 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน และแล้วฉันก็ได้อ่านมัน ไอ้เจ้าแทรกเตอร์ฉบับยูเครน เมียงมองอยู่นานสองนานแล้วได้สมใจซะที ซึ่งก็สมใจจริงแท้แน่นอนเพราะได้อ่านรวดเดียวจบ (แบบต่อเนื่องยาวนาน) จบแบบสังขารบอบช้ำเมื่อต่อมขำทำงานหนัก ลามไปถึงปอดที่ถูกเขย่าครั้งแล้วครั้งเล่า ประวัติย่อของแทรกเตอร์ฉบับยูเครน เป็นนวนิยายสมัยใหม่ที่ใช้ภาษาง่าย ๆ แต่ดึงดูดแบบยุคทุนนิยมเสรี…