Skip to main content
 

นายยืนยง

ชื่อหนังสือ : ประเทศใต้

ผู้เขียน : ชาคริต โภชะเรือง

ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่ 1 มีนาคม 2552

จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ก๊วนปาร์ตี้

 

ข้อเด่นอย่างแรกที่เห็นได้ชัดจากนวนิยายเรื่องประเทศใต้ หนึ่งในผลงานที่เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้ คือ วิธีการดำเนินเรื่องที่กระโดดข้าม สลับกลับไปมา อย่างไม่อาจระบุว่าใช้รูปแบบความสัมพันธ์ใด ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง หรืออย่างที่สกุล บุณยทัต เรียกในบทวิจารณ์ว่า "ไร้ระเบียบ" แต่อย่าลืมว่านวนิยายเรื่องนี้ได้เริ่มต้นที่ "ชื่อ" ของนวนิยาย ซึ่งในบทนำได้บอกไว้ว่า "ผม" ได้รับต้นฉบับนวนิยายเรื่องหนึ่งจาก "เขา" ในฐานะที่เป็นคนรู้จักกัน มันมีชื่อเรื่องว่า "ชายผู้ตามหามโนห์รา" และเรื่องก็จบลงตรงที่ "พระสุธนใช้เวลา 7 ปี 7 เดือน 7 วัน ตามหามโนห์รา ผมใช้เวลาตามหามโนห์รา 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แล้วเราก็จากกัน"


นี่แสดงให้เห็น ประเทศใต้ เขียนขึ้นโดยใช้เงื่อนเวลาที่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบตามแบบแผนอย่างนวนิยายทั่วไป แต่การลำดับเหตุการณ์ภายในเรื่องเป็นไปอย่างสลับกลับไปมา ฉะนั้นจึงไม่อาจตัดสินได้ว่า ประเทศใต้ เป็นนวนิยายที่เขียนอย่างแหวกขนบ ซึ่งโดยโครงสร้างของเรื่องแล้ว การสลับกลับไปมาของเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นความจงใจของผู้แต่งที่จะแปรคุณค่าของ "เวลา" ให้ก้าวพ้น "เวลา" อย่างที่เราเคยชินกัน อย่างตอนเริ่มเรื่องในตอน 1 ที่เขียนไว้ว่า

"ผมมีอายุครบ 39 ปี เมื่อสิ้นปี พ..2552

เช้าของวันใหม่ปี 2553 ผมลืมตาขึ้นมาดูโลกท่ามกลางแรงเหวี่ยงสีดำอันแปลกประหลาด"

 

นอกจากนี้ ในเรื่องยังมีการบรรยายถึงห้วงเวลาที่อดีต ปัจจุบัน เหลื่อมล้ำกันอยู่เป็นระยะ ๆ อย่างให้ความสลักสำคัญด้วย ฉะนั้นแล้ว เราจะมองเห็นชัดอีกครั้งว่า ผู้แต่งต้องการสื่อเรื่องราวที่อยู่เหนือกาลเวลา หรือเรื่องที่เป็น อกาลิโก เพราะโดยโครงสร้างแล้ว มีการจัดองค์ประกอบให้สอดรับกันอยู่ตลอดเรื่อง

 

ดูเหมือนว่า โครงสร้างของประเทศใต้มีกลไกที่สอดรับต่อกันอย่างสมเหตุสมผลในทุกกรณีและแทบทุกบทตอนเลยทีเดียว เช่นนี้แล้ว เราจะนับว่าเป็นวรรณกรรมที่ "ลงตัว" ในเชิงเป็นเหตุเป็นผลกันได้ถนัด แต่จะถือข้อดีแห่งความลงตัวเหล่านี้เป็นเครื่องประเมินคุณค่าวรรณกรรมเสียทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าย่อมมีคุณสมบัติพิเศษอื่นที่มากกว่าความเป็นกลไกที่สอดรับกันอย่างแน่นอน หรือหากใครจะประเมินค่ากันตรงนี้ ฉันจะขอยกตัวอย่างข้อดีมาให้ชื่นชมกัน และขณะเดียวกันก็จะกล่าวถึงนัยยะเชิงคุณค่าของ "ปรัชญา" ที่เป็นน้ำหล่อเลี้ยงกลไกนั้นด้วย

 

"ผม" หรือ "สุธน" ร่วมเดินธรรมยาตรา เพื่อแสวงหาความสุขสงบหรือความหมายที่แท้จริงของชีวิต และขณะร่วมขบวนธรรมนั้น สุธนก็เฝ้าคิดถึงแต่มโนห์รา และค่อย ๆ บอกเล่าเรื่องราวการตามหามโนห์ราหลายครั้งครา ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวันที่รักเลิกร้างอย่างยอมจำนน

 

มโนห์รา ในเล่มนี้มีการอธิบายคำโดยนิรุกติกำกับมาให้ด้วย ซึ่งคัดมาจากผลงานเขียนของเขมานันทะ

มโนห์รา หมายถึง การนำมาซึ่งใจ (มโน-ใจ, หร-นำมา)

จึงสรุปได้ชัดเจนอีกว่า การเดินเพื่อแสวงหาความหมายที่แท้จริงของชีวิต ที่สุธนใช้ธรรมยาตราเป็นตัวตั้งต้นนั้น แท้แล้วคือ "การเดินทางภายในใจ" นั่นเอง อีกข้อหนึ่ง สุธน กับ มโนห์รานั้น เป็นคนคนเดียวกัน อีกด้วย

 

นี่คือ "สาร" ที่ได้จากการอ่านประเทศใต้ ซึ่งผู้แต่งใช้วิธีบอกเล่าผ่านการเล่าแบบไม่ยึดอึงกับกรอบของเวลา หรือเรียกว่าเป็นการเล่าแบบไม่ยึดกรอบ จนบางครั้งคล้ายเป็นงานทดลอง แต่ก็ไม่ใช่เพราะนวนิยายเรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นและจุดจบตามแบบแผนของนวนิยายอย่างลงตัว ฉะนั้น รูปแบบการเล่าที่ดูหวือหวา หรือไม่ว่าจะเป็นความลงตัวที่สอดรับ สมเหตุสมผล ยังไงก็ไม่ใช่ "ของใหม่" อยู่นั่นเอง

 

ยกตัวอย่างอีกตอนหนึ่ง เป็นตอนที่มโนห์ราในวัยเด็กถูกจับตัวไป เป็นการครั้งแรกที่สุธนรู้สึกว่าต้องออกตามหาหล่อน ตอนนั้น คนที่ตามหามโนห์ราพบเป็นคนแรก คือ ชายบ้า และชายบ้าก็คือสัญลักษณ์ของดวงตาที่มองเห็นธรรม อย่างไม่อาจเป็นอื่นได้ หรือใครจะว่านี่เป็น "ของใหม่"

 

นอกจากนั้น ความเป็นนิทานพื้นบ้านของเรื่องพระสุธนมโนห์ราก็เทียบเคียงได้กับชาดกที่สอดรับกับพุทธประวัติ และเน้นว่าเขมานันทะก็ได้เปรียบเทียบเข้ากับหลักพุทธธรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย ไม่เท่านั้น สุธนกับมโนห์ราก็คือ คนเดียวกัน เพราะสิ่งที่สุธนตามหานั้น แท้แล้วไม่ใช่มโนห์รา แต่เป็นความสุขสงบภายในใจอย่างที่ค้นหาได้จากพุทธธรรมนั่นเอง


ข้อนี้ก็เป็นหนึ่งในกลไกของเรื่องที่ผู้แต่งเน้นย้ำเป็นพิเศษ ถึงกับกล่าวผ่าน "เสียง" ของตัวละคร (พ่อ) อยู่หลายครั้งว่า "เป็นพระสุธนมันต้องตามหามโนห์ราอยู่วันยังค่ำแหละวะ" และในตอน 62 ผู้แต่งยังใช้เสียงของตัวเองกล่าวย้ำว่า

"ฉันบอกแกว่า ความรัก! - มันไม่ใช่แค่สองคนมาอยู่ด้วยกัน หากแต่เป็นการประสานความรู้สึกส่วนที่ลึกที่สุดในใจของมนุษย์ซึ่งไม่อาจหาสิ่งใดมาทดแทนได้ เพราะนั่นคือการเชื่อมประสานของจิตวิญญาณ..."

 

และในตอนที่สุธนกับมโนห์รานอนด้วยกัน หน้า 90 เขียนไว้ว่า "หล่อนนำทางผมไป" นี่ก็สอดรับกับเรื่อง "จิตนำกาย" อย่างพุทธธรรมอีกด้วย หนำซ้ำยังแถมท้ายฉากรักด้วยว่า

"เราเป็นคน ๆ เดียวกันแล้วนะ" หล่อนพูด

ซึ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำ ความเป็นคนเดียวกันของสุธนกับมโนห์รา  แล้วใครจะปฏิเสธได้ว่า นี่ไม่ใช่ความประสานกลมกลืน ความสอดรับอย่างสมเหตุสมผลอันชื่นชมอีกเล่า

 

แต่โปรดสังเกตนิดหนึ่ง โดยเฉพาะฉากรักดังกล่าวนี้ เนื่องจากมันมี "พิธีกรรม" อย่างหนึ่งด้วย

"ผมบรรจงสวมแหวนให้หล่อน สัญญาว่าจะรักและดูแลหล่อนตลอดไป.. "

เป็นพิธีกรรมก่อนการร่วมรัก กระทั่งได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในขั้นตอนของพิธีกรรมนี้เองที่ขัดแย้งกับโครงสร้างของเรื่องที่ผู้แต่งมีพยายามก้าวข้ามไปให้พ้นจากขนบของนวนิยายแบบเดิม แต่กลับ "ก้าวไม่พ้น" เพราะพิธีกรรมก็คือขนบ หนำซ้ำ พิธีกรรมยังเป็นจุดสำคัญอันจะนำพาผู้อ่านไปสู่แก่นเรื่องอีกด้วย

 

นี่อาจเป็นความขัดแย้งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจลดทอนเจตนารมของวรรณกรรมที่พยายามจะก้าวไปข้างหน้าเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องใหญ่เลยสักนิดเดียว แต่มันก็ชำแรกลงมาได้อย่างไม่น่าให้อภัย

 

ซึ่งหากเรานำมันมาต่อเข้ากับ "ข้อมูลดิบที่แปรรูปมาอย่างดี ที่ปรากฏเป็นฉากเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ของการเดินธรรมยาตรา ข้อมูลดิบดังกล่าวนั้นได้แก่ ปมปัญหาอันรวมถึงต้นสายปลายเหตุของปัญหาที่ดำรงอยู่ในทุกย่างก้าวของชีวิต เช่นปัญหาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ป่าและรุกล้ำเขตป่าสงวนของชาวบ้าน ปัญหาความรุนแรงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งปัญหาระหว่างชาวบ้านกับรัฐ กับนายทุน เรื่องการกดทับเอกลักษณ์ประเพณีวัฒนธรรมของคนใต้ การบิดเบือนซ่อนเร้นข้อเท็จจริงกรณีถังแดง หรือเรื่องคอมมิวนิสต์บนขุนเขา รวมเป็นความขัดแย้งที่ฝังลึกถึงขั้นจิตวิญญาณและคอยหลอกหลอนมนุษย์เช่นเดียวกับความอลวนของป่าหิมพานต์ ที่เป็นฉากท้องเรื่องของพระสุธนมโนห์รา ข้อมูลดิบเหล่านั้นถูกแปรสภาพมาให้กระชับรัดกุม รวมทั้งเสนอทางออกของปัญหาไปในตัวบท มีการสรุปใจความสำคัญให้เสร็จสรรพด้วย

 

ช่างเป็นการแปรรูปที่น่าทึ่ง เป็นการสรุปปมปัญหาที่อย่างชัดถ้อยชัดคำเหลือเกิน ไม่ต่างจากวรรณกรรมสัจนิยมหรืออัตถนิยมที่มุ่งเน้นจะฉายภาพความเป็นจริงในสังคมโดยเฉพาะส่วนที่เป็นปัญหา แต่เมื่อรวมทั้งสองข้อนี้แล้วก็ยังไม่เห็นว่า วรรณกรรมเล่มนี้จะก้าวไปข้างหน้าแต่อย่างใด

 

หากผู้แต่งไม่มีเจตนาจะก้าวข้าวหรือก้าวไปข้างหน้าอย่างที่ "ตัวบท" วรรณกรรมบอกกล่าวแก่เราแล้ว

เหตุใดผู้แต่งจึงจงใจ "โละ" ความสำคัญของเงื่อนเวลาลง หรือจะเพื่อให้มันสอดรับกับความเป็นอกาลิโกเพียงข้อเดียว หรือจะเพื่อขยายขอบเขตของการแสวงหา "ความจริง" เพราะ "ความจริง" ที่กล่าวก็เป็นอกาลิโกด้วยเหมือนกัน

 

อย่างไรก็ตาม ใครที่อยากเห็นว่าประเทศใต้เล่มนี้ มีลักษณะ "ภูมิประเทศ" แบบใด สมควรอย่างยิ่งที่จะอ่านอย่างไม่ควรปฏิเสธแต่แรก เนื่องจากเป็นนวนิยายขนาดทันใจ กะทัดรัดมากที่สุด สั้นอย่างน่าทึ่งว่าผู้แต่งสามารถบรรจุข้อมูลอย่างนักวิชาการหลายร้อยเล่มเกวียนลงไปได้อย่างไร และสำคัญว่า ข้อมูลมหาศาลเหล่านั้นต่างอย่างสิ้นเชิงกับข้อมูลดิบแบบนักวิชาการริมาเขียนวรรณกรรม ที่ถนัดจะแปรสภาพ "ข้อเท็จจริง" ให้เป็น "ความจริง" โดยผ่านกรรมวิธีอย่าง "เรื่องอ่านเล่น" หรือนวนิยายนั่นเอง ซึ่งนอกจากจะไร้เสน่ห์แล้ว ยังรู้สึกอึดอัดเหมือนถูกยัดเยียดให้รับรู้ปัญหาไปด้วย

 

คราวนี้มาประเมินค่า "สาร" ที่มาในรูปปรัชญาซึ่งก็คือ พุทธปรัชญา อันนี้ไม่ต้องประเมินก็ไม่ผิด เพราะใครก็รู้ซึ้งในพุทธปรัชญา แต่ปัญหาอยู่ที่เป็นความรู้ซึ้งในระดับใด  ขณะที่ประเทศใต้เทศนาธรรมด้วยภาษาทางโลกนั้น รสธรรมที่ถ่ายทอดนั้นยังเป็นรสแห่งสมัยนิยมอีกด้วย เนื่องจากเป็นธรรมที่พยายามลงลึกถึงขั้นจิตวิญญาณ ไม่ใช่พุทธปรัชญาประยุกต์ผสมควอนตัม ไม่ใช่พุทธธรรมส่งเดชที่เน้นการตลาดที่เราเห็นกันเกร่อบนแผงหนังสือขณะนี้ แต่มีกลิ่นอายของมหายานหรือวัชระยานผสานเข้ามาด้วย ฉะนั้นจึงถือว่า "สาร" ที่แฝงอยู่เป็นเรื่องพอดีสมัย ไม่ล้าและไม่ล้ำสมัย


สุดท้ายนี้ หากเรียกประเทศใต้ว่าเป็นนวนิยายที่ใช้กลไกอย่างขนบของนวนิยายมาแปรรูปข้อเท็จจริงในสังคมกับหลักการของพุทธธรรม ให้เป็นวรรณกรรม (เรื่องอ่านเล่น) แล้ว ผลผลิตที่ได้จากการแปรรูปนี้อาจเรียกว่า ผลิตภัณฑ์ ได้หรือไม่ หรือจะเรียกวรรณกรรมสำเร็จรูป หากเป็นเช่นนั้น ผู้แต่งจะดำรงอยู่ในฐานะอะไรได้อีก หากไม่ใช่ "เครื่องจักรวรรณกรรม" และหากผลิตภัณฑ์นี้ไม่ติดตลาด มีความเป็นไปได้ไหมว่าผู้ผลิตจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเอง และจะพัฒนาไปทางใด

 

ท้ายจริง ๆ

ผู้แต่งที่ทำงานอย่างหนัก แม้นสมควรจะได้รับผลตอบแทนที่ดีสมค่าเหนื่อย แต่หากผู้แต่งทำงานหนักแล้ว ยังขาดซึ่งเสน่ห์อย่างปุถุชนแล้ว คงถามหาผลตอบแทนได้ไม่ง่ายนัก อย่างไรก็ตาม ขอให้ผู้แต่งประเทศใต้จงภาคภูมิใจกับผลของการทำงานหนักเฉกเช่นปุถุชนธรรมดามากกว่าผลตอบแทนในฐานะ "เครื่องจักรวรรณกรรม" เหมือนอย่างที่หลายคนก้มหน้าก้มตาเพียรรออยู่.

 

 

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ถอดรหัสอ่านเร็ว HI-SPEED READING ผู้แต่ง : ลุงไอน์สไตน์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : สำนักพิมพ์บิสคิต ตุลาคม 2551
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ           :           824ผู้เขียน               :           งามพรรณ เวชชาชีวะประเภท              :           นวนิยาย  พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย        :      …
สวนหนังสือ
ป่านนี้แล้ว (พ.ศ. 2552) ใครไม่เคยได้ยินเสียงขู่ หรือคำร้องขอเชิงคุกคามให้ร่วมชุบชูจิตวิญญาณสีเขียว ให้ร่วมรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ให้ตระหนักในปัญหาวิกฤตอาหารถาวร โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ฉันว่าคุณคงมัวปลีกวิเวกนานเกินไปแล้ว
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : ลิงหลอกเจ้า ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา ผู้เขียน : เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผู้แปล : วีระ สมบูรณ์ และ พจนา จันทรสันติ จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม พ.ศ.2528   เวลานี้เราต้องยอมรับเสียแล้วละว่า หนังสือธรรมะ เป็นหนังสือแนวสาระที่ติดอันดับขายดิบขายดี และมีทีท่าว่าจะคงกระแสความแรงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย   เดี๋ยวนี้ ฉันเจอใครเข้า เขามักสนทนาประสาสะแบบปนธรรมะนิด ๆ มีบางคนเข้าขั้นหน่อย ก็เทศน์ได้ทุกสถานการณ์ อย่างนี้ก็มี ไม่แน่ว่าถ้าคนนิยมอ่านหนังสือธรรมะกันหนาตาเข้า สังคมไทยอาจแปรสภาพเป็นสังคมแห่งนักบวชนอกเครื่องแบบก็เป็นได้…
สวนหนังสือ
  เรียน คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ ช่อการะเกด ที่นับถือฉันผู้ใช้นามแฝงว่า นายยืนยง คนเขียนคอลัมน์ สวนหนังสือ ในเว็บไซต์ประชาไท ที่มีบทความชื่อ ช่อการะเกด 45 เวลาช่วยให้อะไร ๆ ดีขึ้นจริงหรือ? อยู่ในรายการของบทความทั้งหมด ได้อ่าน กถาบรรณาธิการ ใน ช่อการะเกด 47 ฉบับวางแผงปัจจุบันแล้ว ทราบว่าคุณสุชาติ บรรณาธิการนิตยสารเรื่องสั้นช่อการะเกดได้ให้ความสนใจต่อบทความนี้ ฉันในนามของนายยืนยงจึงเขียนจดหมายแล้วจัดพิมพ์ส่งตู้ ป.ณ. 1143 เพื่อเล่าถึงความเป็นมาคร่าว ๆ…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ :       เดอะซีเคร็ต ผู้เขียน :            รอนดา เบิร์นผู้แปล :             จิระนันท์ พิตรปรีชาพิมพ์ครั้งที่ 54 :  มีนาคม 2551จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์อมรินทร์
สวนหนังสือ
ใกล้เปิดภาคเรียนใหม่ ปีการศึกษา 2552 แล้ว ภายใต้นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ของรัฐบาลนี้ ถ้าใครได้ดูทีวีคงได้เห็นข่าวประชาสัมพันธ์ หรือได้เห็นสำนักข่าวไปสัมภาษณ์ผู้ปกครองที่ได้รับเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียนแล้วไปเลือกซื้อชุดนักเรียนให้ลูก ๆ เป็นที่น่าชื่นอกชื่นใจสำหรับคนเป็นพ่อแม่ที่มีโอกาสเป็นครั้งแรกในการได้รับ "ของฟรี" จากรัฐบาล แม้จะไม่สามารถซื้อได้ครบทั้งชุดก็ตาม เช่น นักเรียนประถม 5 ได้รับเงินเพื่อการนี้คนละ 360 บาทต่อปี คือ 2 ภาคเรียน ๆ ละ 180 บาท บางคนอาจจะได้กางเกงนักเรียน 1 ตัว และ ถุงเท้า 1 คู่ ก็ยังดีฟะ.. กำขี้ดีกว่ากำตดไม่ใช่เรอะ
สวนหนังสือ
นายยืนยง   นิตยสารรายเดือน             :           ควน ป่า นา เล  4 เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ปลายมีนาคมจนถึงวันนี้ 9 เมษายน ฉันอาศัยทีวีและหนังสือพิมพ์ อันเป็นสื่อกระแสหลักที่นำเสนอข่าวสารที่เป็นกระแสหลัก คือ ข่าวการเมือง เหมือนกับทุกครั้งที่อุณหภูมิการเมืองเดือดขึ้น ฉันดูข่าวเกินพิกัด อ่านหนังสือพิมพ์จนแว่นมัวหมอง ตื่นระทึกไปกับทุกจังหวะก้าวย่างของมวลชนเสื้อแดง มีอารมณ์ร่วมกับภาคการเมืองส่วนกลางในฐานะผู้เสพข่าวสารเท่านั้นเองจริง ๆ เท่านั้นเองไม่มากกว่านั้น …
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : เราติดอยู่ในแนวรบเสียแล้ว แม่มัน! วรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 6 จัดพิมพ์โดย : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พิมพ์ครั้งแรก : กันยายน 2551 ก่อนอื่นขอแจ้งข่าว เรื่องวรรณกรรมการเมือง รางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2552 นี้ สักเล็กน้อย งานนี้เป็นการจัดประกวดครั้งที่ 8 เปิดรับผลงานวรรณกรรมการเมือง 2 ประเภท คือ เรื่องสั้น และ บทกวี ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : เด็กเก็บว่าว The Kite Runner ผู้เขียน : ฮาเหล็ด โฮเซนี่ ผู้แปล : วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม พ.ศ.2548 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ The One Publishing เด็กเก็บว่าว นวนิยายสัญชาติอเมริกัน-อัฟกัน ขนาดสี่ร้อยกว่าหน้า ที่โปรยปก มหัศจรรย์แห่งนวนิยายที่สร้างปรากฏการณ์ปากต่อปากจนติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ เล่มนี้ กล่าวถึงเรื่องราวของอะไรหรือ ทำไมผู้คนจึงให้ความสนใจกับมันมากมายนัก ฉันถามตัวเองก่อนจะหยิบมันมาอ่าน
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง ผู้เขียน : ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ประเภท : วรรณกรรมวิจารณ์ พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2545 จัดพิมพ์โดย : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ การตีความนัยยะศัพท์แสงทางวรรณกรรมจะว่าเป็นศิลปะแห่งการเข้าข้างตัวเอง ก็ถูกส่วนหนึ่ง ความนี้น่าจะเชื่อมโยงกับเรื่อง “รสนิยมส่วนตัว” หรือ อัตวิสัย หากมองในแง่ดี เราจะถือเป็นบ่อเกิดของกระบวนการสร้างสรรค์ได้ด้วย มิใช่หรือ
สวนหนังสือ
นายยืนยงเมื่อการอ่านประวัติศาสตร์ อันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น ฉันว่าควรมีการเขียนหนังสือแนะนำ (How to) เป็นขั้นเป็นตอนเลยจะดีกว่าไหม เพราะมันนอกจากจะปวดเศียรเวียนเกล้ากับผู้แต่งแต่ละท่านแล้ว (ผู้แต่งบางท่านก็ชี้ชัดลงไปเลย เจตนาจะเข้าข้างฝ่ายไหน แต่บางท่านเน้นวิเคราะห์วิจารณ์ โดยที่หากผู้อ่านมีความรู้เชิงประวัติศาสตร์น้อยกว่าหางอึ่งอย่างฉัน ต้องกลับไปลงทะเบียนเรียนวิชานี้อีกหลายเล่ม) ยังทำให้ใช้เวลาอย่างมหาศาลไปกับหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกันอีกหลายเล่ม ไม่เป็นไร ๆ เราไม่ได้อ่านเพื่อพิพากษาใครเป็นถูกเป็นผิดมิใช่หรือ อ่านเพื่อได้อ่าน แบบกำปั้นทุบดินก็ไม่เสียหายอะไรนี่นา…