Skip to main content

‘นายยืนยง’

20080205 ภาพปกหนังสือคลื่นใต้ทะเล

ชื่อหนังสือ : คลื่นทะเลใต้
ประเภท : เรื่องสั้น    
จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาคร
พิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘  
ผู้เขียน : กนกพงศ์  สงสมพันธุ์, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพฑูรย์ ธัญญา, ประมวล มณีโรจน์, ขจรฤทธิ์ รักษา, ภิญโญ ศรีจำลอง, พนม นันทพฤกษ์, อัตถากร บำรุง

วรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการตลอดเวลาถึงปัจจุบัน ในยุคหนึ่งเรื่องสั้นเคยเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนสภาวะปัญหาสังคม สะท้อนภาพชนชั้นที่ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และยุคนั้นเราเคยรู้สึกว่าเรื่องสั้นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ซึ่งคุ้นเคยกันดีในนามวรรณกรรมแนวสังคมเพื่อชีวิต
        
คลื่นทะเลใต้ เป็นหนังสือรวม ๑๒ เรื่องสั้นของนักเขียนภาคใต้ โดยทุกเรื่องที่นำมารวมพิมพ์เป็นเล่มนี้ต่างก็มีดีกรีรางวัลรองรับทั้งสิ้น และมีถึง ๒ นักเขียนที่ได้รับรางวัลซีไรต์ คือ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ และไพฑูรย์ ธัญญา  ขณะที่คำจำกัดความของ “นักเขียนใต้” ดังกล่าว ได้บอกเราว่านักเขียนทุกคนที่มีผลงานอยู่ในเล่ม คลื่นทะเลใต้ นี้ เป็นคนใต้โดยถิ่นกำเนิด แต่หากเราจะพิจารณาโดยตัดเอา “ความเป็นใต้” ในความหมายนั้นออกไป และมองอย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น (แม้จะขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของคณะผู้จัดทำหรือบทความของ พิเชฐ แสงทอง ที่มุ่งให้ความรู้เชิงวิชาการในหัวข้อเรื่อง ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของนักเขียนใต้ เหล่านี้ออกไปเสีย )แล้วพิจารณาว่า คลื่นทะเลใต้ เป็นการรวบรวมเรื่องสั้นชั้นเลิศของยอดฝีมือเพื่อเป็นเกียรติยศแก่นักเขียนและผู้อ่าน จัดพิมพ์เพื่อเป็นกรณีให้ศึกษาด้านวรรณกรรม สังคม ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา ฯลฯ สามารถอ้างอิงได้นั้น เป็นเรื่องน่ายกย่องยินดียิ่ง ทั้งนี้ นอกเหนือจากความเป็นภาคพื้นถิ่นจำเพาะทั้งจากนักเขียน บรรยากาศ ทัศนคติ เหล่านั้น ล้วนเป็นองค์ประกอบที่จะนำไปสู่เนื้อหาอันเป็นสากล ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปนี้

เรื่องสั้นทั้ง ๑๒ เรื่องนั้น สามารถเรียกได้ว่าเป็นแนวเพื่อชีวิตดังที่เราคุ้นเคยทั้งสิ้น หากจะวกวนอยู่กับข้อจำกัดของวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตนั้น ออกจะเป็นการน่าเบื่อสักหน่อย เนื่องจากเราต่างก็รู้กันว่าวรรณกรรมแนวนี้มีข้อด้อยข้อเด่นอย่างไรบ้าง ดังนั้นจึงขอกล่าวถึงบางเรื่องที่น่าสนใจโดยพึ่งวิสัยอันเจ้ากี้เจ้าการของข้าพเจ้าสักนิด และหากบทความจะยาวเกินเวลาไปบ้าง จึงขออนุญาตแบ่งเป็น ๒ ตอน

๑. กรรมวิธีการปรุงสุนทรียภาพของนักเขียน
วรรณกรรมเป็นกิจกรรมสังคมอย่างหนึ่ง มีข้อยกเว้นอันเป็นเหตุบังเอิญอยู่เช่น สมุดบันทึกประจำวันซึ่งไม่ได้ตั้งใจจะให้ใครเอาไปพิมพ์เผยแพร่ แต่วรรณกรรมโดยทั่วไปนั้นตั้งใจเขียนให้คนอ่าน แม้แต่เสียงของกวีที่รำพึงกับตัวเอง ก็หมายให้คนอื่นได้ยินด้วย ดังนั้นวรรณกรรมทุกเรื่องจึงเขียนขึ้นสำหรับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อจุดมุ่งหมายหนึ่งใด ๆ

เราจะแสร้งละเลยเรื่องจำพวก วรรณกรรม “พูดเพื่อ” หรือ “พูดกับ” คนกลุ่มใด เพื่ออะไร เพราะแน่นอนว่าวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตนั้นมักจะพูดเพื่อเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมแก่ชนชั้นที่ถูกกล่าวถึง แต่เราจะมาตั้งข้อสังเกตร่วมกันว่า ทำไมเรื่องสั้นวรรณกรรมแต่ละเรื่อง จึงต้องมี “บางอย่าง” เช่น สัญลักษณ์  บรรยากาศ ตัวละครบางตัว หรือบทสนทนาบางคำ ที่บางครั้งก็อาจจะ “ดูเหมือน” ไม่จำเป็นต่อเอกภาพของเรื่องเลย

ขอยกเอาเรื่องสั้น สะพานขาด ที่ได้รับรางวัลช่อการะเกด ปี ๒๕๓๒ ของนักเขียนผู้ล่วงลับ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ มากล่าวถึงเป็นลำดับแรกในเล่ม คลื่นทะเลใต้

สะพานขาด พูดถึงสมรภูมิความขัดแย้งที่แทรกซึมอยู่ในทุกองค์ประกอบของสังคม เป็นเรื่องของชายสองพี่น้อง ที่คนพี่เติบโตเป็นทหารของรัฐ ส่วนคนน้องเป็นทหารของรัฐฝ่ายตรงข้าม เรื่องถูกเล่าผ่านกระแสสำนึกของพี่ชายขณะออกสู่สมรภูมิ โดยแต่ละเรื่องย่อยที่เกี่ยวร้อยเข้ากับแกนของเรื่องต่างถูกกระตุ้นจากกลิ่น เสียง บรรยากาศรอบข้างของจังหวัดชายแดนใต้

วิธีการของกนกพงศ์คือการเลือกหยิบเอาบรรยากาศและเงื่อนไขอื่นที่ลดหลั่นกันเข้ามาเชื่อมต่อ จัดเรียงเข้ากับวิธีการนำเสนอแบบจี้จุดไปที่ความขัดแย้งของ ๒ ขั้วตรงข้ามตลอดทั้งเรื่อง โดยเน้นสัญลักษณ์คือ สะพาน เพื่อเชื่อมโยง ๒ ขั้วต่างเข้าไว้ด้วยกัน แต่ในเรื่องสะพานขาดนั้นกลับไม่ได้ทำหน้าที่เชื่อมต่อ หากแต่ทำหน้าที่ตัดสายสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ขั้ว  ทั้งนี้ตลอดเรื่องกนกพงศ์พยายามใช้อุปมาโวหาร เปรียบเทียบอะไรก็ตามให้มองเห็นเป็น ๒ ขั้วจัดเจนมาก เพื่อสนองต่อนโยบายของความเป็นเอกภาพของเรื่อง ดังหน้า ๑๓๖

เราอยู่ในหมู่บ้านอันสงบ มีทุ่งนากว้างไกลจรดขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกสำหรับพระอาทิตย์ขึ้น และจรดเทือกเขายาวเหยียดด้านทิศตะวันตกสำหรับพระอาทิตย์ลง

นั่นก็ชัดเจน หรือการเปรียบเทียบกับเกมตำรวจจับผู้ร้าย นอกจากนี้ยังเลือกหยิบความทรงจำในวัยเด็กมาเล่าเพื่อเพิ่มแรงสะเทือนใจ เลือกการใช้กระแสสำนึกของคนเล่า (สรรพนามบุรุษที่ ๑ ) ทำให้เกิดสภาวะกึ่งจริงกึ่งฝันนิด ๆ อีกด้วย             

บรรยากาศของเรื่องมีรายละเอียดย่อยที่ลดหลั่นกันอีกมาก จึงอาจทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดกับจุดขัดแย้งในเรื่องที่ล้นเหลือ แม้กระทั่งผู้เขียนเองยังสารภาพออกมาตรง ๆ ว่า สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความขัดแย้ง  (จากหน้า ๑๔๐ )

องค์ประกอบย่อยเหล่านี้ดูหลากหลายและขัดแย้งกันจนพรุนไปหมด แต่หากขาดการจัดวางตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว อาจดูเรื่องสั้นที่หละหลวมและล่มไม่เป็นท่า แต่กนกพงศ์สามารถคิดสร้างอย่างละเอียดลออและเข้มข้นยิ่ง

สำหรับเรื่องสะพานขาดนี้เมื่อกนกพงศ์ปรุงและย่อยองค์ประกอบต่าง ๆ จนเสร็จสรรพแล้วป้อนเข้าปากผู้อ่านนั้น ผู้อ่านจึงแทบไม่ต้องเคี้ยวอีกเลย ก็เหมือนกับผู้อ่านเป็นผู้รับเสพแต่เพียงฝ่ายเดียว ขณะที่กนกพงศ์ได้ให้ความคาดหวังว่ารสสัมผัสจะยังติดตรึงอยู่กับผู้อ่านไปอีกนาน เพราะเขาไม่ได้ทำการพิพากษาเหตุการณ์ในเรื่องมากนักเพียงแต่ยกเอาเฉพาะเหตุการณ์มาให้ผู้อ่านทำหน้าที่พิพากษาเอง

เทียบเคียงกับเรื่อง โลกใบเล็กของซัลมาน  เรื่องสั้นรางวัลช่อการะเกด ๒๕๓๓  เป็นเรื่องสั้นที่เล่าอย่างนุ่มนวลมากขึ้นกว่า สะพานขาด โดยต้องยอมรับว่ากนกพงศ์ไม่ใช่นักเขียนที่จะมองผ่านแบบปราดเดียวแล้วสามารถมองเห็นวิธีคิดของเขาได้ปรุโปร่ง เนื่องจากเขารู้จักสิ่งผิดปกติของเรื่องสั้น สามารถจับคู่ขั้วความขัดแย้งได้อยู่มือ ทั้งเขายังตระหนักได้ถึงคำว่า ฉลาด ล้ำ การจงใจ เหตุผล ยัดเยียด  รุงรัง โง่ เขลา หรือการเสแสร้ง แกล้งโง่ อารมณ์ขัน ฝัน จริง ฯลฯ ทั้งมวลนี้ล้วนเป็นวิทยาการของการเขียนเรื่องสั้นของกนกพงศ์ทั้งสิ้น  เขารู้จักตัวเองและผลงานของตัวเองดีกว่านักเขียนหลายคน นั่นจึงทำให้เขารู้ว่าควรทำอย่างไร เพื่ออะไร และนั่นคือกนกพงศ์ นักเขียนผู้ล่วงลับ ผู้เคยกล่าวว่าสำหรับเขาวรรณกรรมเป็นศาสนา  ด้วยความนับถือยิ่ง

กับนักเขียนรางวัลซีไรต์อีกคน ไพฑูรย์ ธัญญา จากเรื่อง ปลาตะเพียน วรรณกรรมยกย่องประเภทเรื่องสั้น ปี ๒๕๓๔ จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย  

ไพฑูรย์ ธัญญา เป็นนักเขียนอีกคนที่รู้จักข้อดี ข้อเด่นของผลงานตัวเองและคนอื่น  เขารู้ว่าเรื่องสั้นจะแข้งกร้าว กระด้างไปอย่างไร และควรลด-เพิ่มอะไร ตรงไหน

ปลาตะเพียน เป็นเรื่องสั้นที่แบ่งขั้วขัดแย้งเป็น ๒ ฝ่ายชัดเจน คือฝ่ายขนบเก่าดั้งเดิมและฝ่ายโลกสมัยใหม่เน้นการอธิบายเชิงวิทยาศาสตร์ ปฏิเสธของเก่าอย่างไสยศาสตร์อย่างไร้เหตุผล ซึ่งโดยวิธีคิดแบบนี้ก็ขัดแย้งกับตัววิธีแบบเป็นเหตุเป็นผลอย่างวิทยาศาสตร์เองด้วย  ทั้ง ๒ ขั้วขัดแย้งนี้ยังอิงกับสัญลักษณ์จากตัวละคร คือยายช้อยและน้องสาว ซึ่งก็คือ ๒ ขั้วตรงข้ามกัน    

เนื้อหาของเรื่องเป็นการปะทะกันระหว่างแนวคิด ๒ ขั้วที่สุดท้ายกลับสมานกันได้ด้วยสภาวะหนึ่ง โดยอาศัยความจำยอม และผ่อนปรนของแต่ละฝ่าย ซึ่งในเรื่องใช้ ปลาตะเพียน สัญลักษณ์แทนความทรงจำอันอบอุ่น ความรัก เข้ามาเป็นสื่อกลาง เป็นทั้งตัวแทนปัญหาและตัวคลายปัญหา

ลักษณะแบบมนุษยนิยมในเรื่องสั้นนี้ เน้นให้เห็นถึงพัฒนาการของทัศนะคติของตัวละครไปสู่จุดคลี่คลายในตอนจบของเรื่อง ซึ่งวิธีการของไพฑูรย์นี้เองที่ได้เปิดประตูวรรณกรรมแนวเพื่อชีวิตไปสู่โลกใหม่กับเนื้อหาเชิงศีลธรรมที่ว่า การยอมรับในความเป็นอื่น ไม่ใช่การหักล้างซึ่งกันและกัน จะนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขโดยความต่างก็ยังคงดำรงอยู่  

ขณะที่เรื่อง แข่งหนังตะลุง ของ ภิญโญ ศรีจำลอง ที่แบ่งเป็น ๒ ขั้วขัดแย้งในลักษณะเดียวกัน แต่ต่างเหตุการณ์และบรรยากาศของเรื่อง โดยแข่งหนังตะลุงเป็นเรื่องของนายหนังสองคณะที่แสดงประชันกัน และนายหนังของสองคณะก็ต่างกันตรงที่คนแรกเป็นตัวแทนของนายหนังรุ่นเก่า ใจนักเลง มากเมีย และดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ตรงข้ามกันนายหนังหนุ่มรุ่นใหม่ แต่สุดท้ายทั้งคู่ต่างก็ยอมรับในความเป็นอื่นของกัน เช่นเดียวกับเรื่องปลาตะเพียน

กับเรื่อง คือชีวิต...และเลือดเนื้อ ของไพฑูรย์ เรื่องสั้นชนะเลิศในการประกวดเรื่องสั้นโครงการหอสมุดเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (ครูเทพ) ปี ๒๕๒๖

ที่พูดถึงการยอมรับในความเป็นอื่น แต่เรื่องนี้เน้นการสร้างบรรยากาศให้เข้ามามีอิทธิพลเหนือแนวคิดแบบเพื่อชีวิต และไม่แบ่งขั้วขัดแย้งชัดเจน แต่สร้างให้คู่ปฏิปักษ์ต่างตกอยู่ในสภาวะดุจเดียวกัน

เรื่องเล่าถึงแม่ผู้ท้องแก่กับลูกสาวตัวน้อยที่ต้องเผชิญชะตาลำพังในหนทางที่อัตคัดแสนเข็ญ เนื่องจากพ่อ,สามีทิ้งนางไปตั้งแต่เริ่มตั้งท้องใหม่ ๆ  หากจะนับว่าเป็นเรื่องโศกนาฏกรรมก็ถูกต้อง แต่เป็นโศกนาฏกรรมที่มีความอิ่มเอมใจอันงดงาม เพราะจุดพลิกผันของเรื่องอยู่ที่ มีนางหมาแก่ขี้เรื้อนเข้ามาขโมยไข่ไก่ที่นางเลี้ยงไว้เก็บไข่ให้ลูกสาวตัวน้อยกิน เรื่องดำเนินไปถึงจุดคลี่คลายที่สองฝ่ายต่างเห็นใจ เข้าใจซึ่งกันและกัน แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของตัวละครคือ แม่ผู้ท้องแก่นั้น เปลี่ยนจากความเกลียดชังคั่งแค้นหมายเอาชีวิตหมาแม่ลูกอ่อนมาเป็นการให้อภัยและนางก็พบสุขใจด้วย ดังในตอนจบของเรื่อง  หน้า ๘๔

นางหันไปสบตากับลูกน้อย ยิ้มอย่างมีความสุข รู้สึกอบอุ่นและมั่นใจอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน.

แม้จะฟังดูห้วนและง่ายเกินไป แต่อย่างน้อยผู้อ่านก็จะได้เห็นแววของความสุขและรอยยิ้มเป็นครั้งแรกของเรื่อง

ในรวมเรื่องสั้นคลื่นทะเลใต้เล่มนี้ แม้นจะรู้สึกได้ในแวบแรกว่าเป็นเรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิตทั้งสิ้น แต่ทุกเรื่องล้วนมีประตูบานหนึ่งที่จะผลักห้องของแนวเพื่อชีวิตออกไปสู่โลกภายนอก โลกเบื้องหน้าของประตูบานนี้จะแปลกตาเท่าที่เราคาดหวังหรือไม่ หากมีจังหวะเหมาะ ๆ ก็น่าจะหามาอ่าน

แต่อย่าลืมว่า- -ยังมีเรื่องสั้นของนักเขียนยอดฝีมืออีกหลายคนที่จะนำมาบอกเล่าให้เห็น... ในตอนที่ ๒

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
  นายยืนยงชื่อหนังสือ           :           พ.๒๗ สายลับพระปกเกล้าฯ ผู้เขียน               :           อ.ก. ร่งแสง (โพยม โรจนวิภาต)ประเภท              :           สารคดีประวัติศาสตร์          พิมพ์ครั้งที่ 2  พ.ศ.…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ฝรั่งคลั่งผี ผู้เขียน : ไมเคิล ไรท จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก : กรกฎาคม 2550 อ่าน ฝรั่งคลั่งผี ของ ไมเคิล ไรท จบ ฉันลิงโลดเป็นพิเศษ รีบนำมา “เล่าสู่กันฟัง” ทันที จะว่าร้อนวิชาเกินไปหรือก็ไม่ทราบ โปรดให้อภัยฉันเถิด ในเมื่อเขาเขียนดี จะตัดใจได้ลงคอเชียวหรือ
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : เด็กบินได้ ผู้เขียน : ศรีดาวเรือง ประเภท : นวนิยายขนาดสั้น พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2532 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์กำแพง มาอีกแล้ว วรรณกรรมเพื่อชีวิต เขียนถึงบ่อยเหลือเกิน ชื่นชม ตำหนิติเตียนกันไม่เว้นวาย นี่ฉันจะจมอยู่กับปลักเพื่อชีวิตไปอีกกี่ทศวรรษ อันที่จริง เพื่อชีวิต ไม่ใช่ “ปลัก” ในความหมายที่เราชอบกล่าวถึงในแง่ของการย่ำวนอยู่ที่เดิมแบบไร้วัฒนาการไม่ใช่หรือ เพื่อชีวิตเองก็เติบโตมาพร้อมพัฒนาการทางสังคม ปลิดขั้วมาจากวรรณกรรมศักดินาชน เรื่องรักฉันท์หนุ่มสาว เรื่องบันเทิงเริงรมย์…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : คนซื้อฝัน ผู้เขียน : ศุภร บุนนาค ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 2 กรกฎาคม 2537 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย ตามสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะอ่านหนังสือของนักเขียนไทยให้มากกว่าเดิม ฉันดำเนินการแล้วล่ะ อ่านแล้ว อิ่มเอมกับอรรถรสแบบที่หาจากวรรณกรรมแปลไม่ได้ หาจากภาษาของนักเขียนไทยรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยจะได้ จนรู้สึกไปว่า คุณค่าของภาษาได้แกว่งไกวไปกับกาละด้วย
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : เพลงกล่อมผี ผู้เขียน : นากิบ มาห์ฟูซ ผู้แปล : แคน สังคีต จาก Wedding Song ภาษาอังกฤษโดย โอลีฟ อี เคนนี ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2534 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์รวมทรรศน์ หนาวลมเหมันต์แห่งพุทธศักราช 2552 เยียบเย็นยิ่งกว่า ผ้าผวยดูไร้ตัวตนไปเลยเมื่อเจอะเข้ากับลมหนาวขณะมกราคมสั่นเทิ้มด้วยคน ฉันขดตัวอยู่ในห้องหลบลมลอดช่องตึกอันทารุณ อ่านหนังสือเก่า ๆ ที่อุดม ไรฝุ่นยั่วอาการภูมิแพ้ โรคประจำศตวรรษที่ใครก็มีประสบการณ์ร่วม อ่านเพลงกล่อมผีของนากิบ มาห์ฟูซ ที่แคน สังคีต ฝากสำนวนแปลไว้อย่างเฟื่องฟุ้งเลยทีเดียว…
สวนหนังสือ
นายยืนยง สวัสดีปี 2552 ขอสรรพสิ่งแห่งสุนทรียะจงจรรโลงหัวใจท่านผู้อ่านประดุจลมเช้าอันอ่อนหวานที่เชยผ่านเข้ามา คำพรคงไม่ล่าเกินไปใช่ไหม ตลอดเวลาที่เขียนบทความใน สวนหนังสือ แห่ง ประชาไท นี้ ความตื่นรู้ ตื่นต่อผัสสะทางวรรณกรรม ปลุกเร้าให้ฉันออกเสาะหาหนังสือที่มีแรงดึงดูดมาอ่าน และเขียนถึง ขณะเดียวกันหนังสืออันท้าทายเหล่านั้นได้สร้างแรงบันดาลใจให้วาวโรจน์ขึ้นกับหัวใจอันมักจะห่อเหี่ยวของฉัน
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : เงาสีขาวผู้เขียน : แดนอรัญ แสงทองประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่สอง ตุลาคม 2550จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์สามัญชน น้ำเน่าในคลองต่อให้เน่าเหม็นปานใดย่อมระเหยกลายเป็นไออยู่นั่นเอง แต่การระเหิด ไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนกับการระเหย  ระเหย คือ การกลายเป็นไอ จากสถานภาพของของเหลวเปลี่ยนสถานภาพกลายเป็นก๊าซระเหิด คือ การเปลี่ยนสถานภาพเป็นก๊าซโดยตรงจากของแข็งเป็นก๊าซ โดยไม่ต้องพักเปลี่ยนเป็นสถานภาพของเหลวก่อน ต่างจากการระเหย แต่เหมือนตรงที่ทั้งสองกระบวนการมีปลายทางอยู่ที่สถานภาพของก๊าซสอดคล้องกับความน่าเกลียดที่ระเหิดกลายเป็นไอแห่งความงามได้
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : เงาสีขาว ผู้เขียน : แดนอรัญ แสงทอง ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่สอง ตุลาคม 2550 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์สามัญชน ปกติฉันไม่นอนดึกหากไม่จำเป็น และหากจำเป็นก็เนื่องมาจากหนังสือบางเล่มที่อ่านค้างอยู่ มันเป็นเวรกรรมอย่างหนึ่งที่ดุนหลังฉันให้หยิบ เงาสีขาว ขึ้นมาอ่าน เวรกรรมแท้ ๆ เชียว เราไม่น่าพบกันอีกเลย คุณแดนอรัญ แสงทอง ฉันควรรู้จักเขาจาก เรื่องสั้นขนาดยาวนาม อสรพิษ และ นวนิยายสุดโรแมนติกในนามของ เจ้าการะเกด เท่านั้น แต่กับเงาสีขาว มันทำให้ซาบซึ้งว่า กระบือย่อมเป็นกระบืออยู่วันยังค่ำ (เขาชอบประโยคนี้นะ เพราะมันปรากฏอยู่ในหนังสือของเขาตั้งหลายครั้ง)…
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : นิทานประเทศ ผู้เขียน : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาคร
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : นิทานประเทศ ผู้เขียน : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาคร   ผลงานของนักเขียนไทยในแนวของเมจิกคัลเรียลลิสม์ หรือสัจนิยมมหัศจรรย์ หรือสัจนิยมมายา ที่ได้กล่าวถึงเมื่อตอนที่แล้ว ซึ่งจะนำมาเขียนถึงต่อไป เป็นการยกตัวอย่างให้เห็นถึงข้อเปรียบเทียบระหว่างงานที่แท้กับงานเสแสร้ง เผื่อว่าจะถึงคราวจำเป็นจะต้องเลือกที่รักมักที่ชัง แม้นรู้ดีว่าข้อเขียนนี้เป็นเพียงรสนิยมส่วนบุคคล แต่ฉันคิดว่าบางทีรสนิยมก็น่าจะได้รับคำอธิบายด้วยหลักการได้เช่นเดียวกัน…
สวนหนังสือ
เมจิกคัลเรียลลิสม์ หรือที่แปลเป็นไทยว่า สัจนิยมมายา หรือสัจนิยมมหัศจรรย์ เป็นแนวการเขียนที่นักเขียนไทยนำมาใช้ในงานเรื่องสั้น นวนิยายกันมากขึ้น ไม่เว้นในกวีนิพนธ์ โดยส่วนใหญ่จะได้แรงบันดาลใจมาจาก ผลงานของกาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ซึ่งมาเกซเองก็ได้แรงบันดาลใจมาจาก ฮวน รุลโฟ (ฆวน รุลโฟ) จากผลงานนวนิยายเรื่อง เปโดร ปาราโม อีกทอดหนึ่ง เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์วรรณกรรมแนวนี้ถูกตัดตอน ขอกล่าวถึงต้นธารของงานสกุลนี้สักเล็กน้อย กล่าวถึงฮวน รุลโฟ ซึ่งจริงๆ แล้วควรเขียนเป็นภาษาไทยว่า ฆวน รุลโฟ ทำให้หวนระลึกถึงผลงานแปลฉบับของ ราอูล ที่ฉันตกระกำลำบากในการอ่านอย่างแสนสาหัส…
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ประวัติย่อของแทรกเตอร์ฉบับยูเครนA SHORT HISTORY OF TRACTORS IN UKRAINIAN ผู้เขียน : MARINA LEWYCKA ผู้แปล : พรพิสุทธิ์ โอสถานนท์ ประเภท : นวนิยายแปล พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2550 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน และแล้วฉันก็ได้อ่านมัน ไอ้เจ้าแทรกเตอร์ฉบับยูเครน เมียงมองอยู่นานสองนานแล้วได้สมใจซะที ซึ่งก็สมใจจริงแท้แน่นอนเพราะได้อ่านรวดเดียวจบ (แบบต่อเนื่องยาวนาน) จบแบบสังขารบอบช้ำเมื่อต่อมขำทำงานหนัก ลามไปถึงปอดที่ถูกเขย่าครั้งแล้วครั้งเล่า ประวัติย่อของแทรกเตอร์ฉบับยูเครน เป็นนวนิยายสมัยใหม่ที่ใช้ภาษาง่าย ๆ แต่ดึงดูดแบบยุคทุนนิยมเสรี…