Skip to main content

นายยืนยง

20080520

บทวิจารณ์นวนิยาย:    สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ THE NAME OF THE ROSE
ผู้ประพันธ์    :    อุมแบร์โต เอโก  UMBERTO ECO
ผู้แปล         :    ภัควดี  วีระภาสพงษ์   จากฉบับแปลภาษาอังกฤษ ของ วิลเลียม วีเวอร์
บรรณาธิการ      :    วิกิจ  สุขสำราญ
สำนักพิมพ์      :     โครงการจัดพิมพ์คบไฟ  พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม พ.ศ. 2541

เรื่องราวของวันที่สองเริ่มขึ้นอย่างไม่รีรอ ด้วยความกระตือรือร้นอยากให้ท่านได้ติดตามต่อไป คงไม่ต้องเสียเวลาเกริ่นนำหรอก ผมเองก็ใจร้อน ใครกันจะเป็นฆาตกร หรือหากได้ตีความสัญลักษณ์เชิงปรัชญา หรือศาสนา บางที ผมหรือคุณก็อาจมีส่วนร่วมในฆาตกรรรมครั้งนี้ ต่างแต่ว่ามือเราจะเปื้อนเลือดหรือไม่ก็เท่านั้นเอง

วันที่สอง
ยามมาตินส์ ขณะปฏิบัติตามจริยาวัตร  ศพที่สองก็ปรากฎ เป็นเวนันเชียสผู้เชี่ยวชาญภาษากรีกและผลงานของอริสโตเติล ท่ามกลางหิมะขาวโพลน ร่างเขาจมอยู่ในไหเลือดหมูเป็นที่น่าสยดสยองยิ่ง เมื่อได้ชันสูตรศพร่วมกับเซเวรินัสพบว่าเขาไม่ได้จมเลือดตาย วิลเลียมจึงถามเรื่องยาสมุนไพรที่ออกฤทธิ์กับเซเวรินัส  ซึ่งผู้ถูกถามกลับบ่ายเบี่ยง
    
ในพิธีสวด วิลเลียมสังเกตเห็นสีหน้าของมาลาคี จอร์เก เบนโนแห่งอุปป์ซาลา และเบเรการ์ ซึ่งล้วนน่าสังสัยทั้งสิ้น และเมื่อสิ้นศาสนกิจ วิลเลียมและแอดโซก็ตามเบนโนไป  และไถ่ถามถึงการสนทนาระหว่างเบเรนการ์ เวนันเชียส มาลาคีและจอร์เก ที่อ้างถึงหนังสือ Poetics  ของอริสโตเติล ซึ่งยกตัวอย่างการใช้อุปมาโวหาร  หนังสือเล่มนี้แปลเป็นภาษา ละตินโดยนักบุญโธมัส อะไควนัส ได้ความว่า เวนัสเชียสผู้ตายได้กล่าวว่า อริสโตเติล เขียนหนังสือ Poetics เล่มสอง โดยเน้นหนักที่ประเด็นว่าด้วยการหัวร่อโดยเฉพาะ และเบนโนได้แนะนำให้ไปสอบเบเรนการ์  ซึ่งเขาสารภาพจนหมดสิ้น การสืบสวนเริ่มปรากฏเค้าความยุ่งยาก แต่ทั้งนี้ วิลเลียมและแอดโซก็เดินมาถูกทางแล้ว ที่แน่ ๆ คือ หอสมุดย่อมเป็นสถานที่ต้นเหตุ
    
ในยามคอมไพลน์ วิลเลียมและแอดโซได้แอบเข้าไปในมหาคาร และพบว่ามีคนได้เข้าไปก่อนแล้ว  เมื่อเข้ามาถึงหออาลักษณ์ พบว่าหนังสือต้องสงสัยเล่มภาษากรีกได้หายไปจากโต๊ะทำงานของเวนันเชียส  แต่ด้วยความรีบร้อนของหัวขโมย ใบบรรณว่างเปล่าหน้าหนึ่งยังตกอยู่บนพื้น เมื่อแอดโซส่องตะเกียงเข้าไปใกล้ ๆ ก็ปรากฏเป็นตัวอักษร พลันก็เสียงผิดสังเกต ทั้งสองก็วิ่งออกไปดู โดยคิดว่าผู้ทำเสียงนั้นต้องเป็นหัวขโมยตำราภาษากรีกเล่มนั้นแน่  แต่การณ์กลับว่าเป็นอุบายของฝ่ายตรงข้าม และความเร่งรีบทำให้วิลเลียมลืมแว่นตาไว้ มันถูกขโมยไปแล้ว
    
ยามราตรีทั้งสองได้ล่วงเข้าเขตหอสมุด  ซึ่งเป็นเขาวงกตอันซับซ้อน ต้องเผชิญกับภาพหลอนในกระจก กลิ่นหลอนประสาท และตำรามหาศาล จนกระทั่งหลงทาง แต่ในที่สุดก็ออกมาจนได้ ถึงยามมาตินส์ เจ้าอาวาสบอกว่า เบเรนการ์ไม่เข้าพิธีสวด ฉะนั้นแล้วหัวขโมยต้องเป็นเบเรนการ์แน่นอน
        
วันที่สาม
เบเรนการ์หายตัวไป โดยเจ้าอาวาสสั่งให้ทุกคนออกตามหา แต่กลับไม่พบ  ฝ่ายวิลเลียมที่เมื่อปราศจากแว่นตาแล้วไซร้ เขายิ่งออกอาการหงุดหงิด นี่อาจเป็นสัญญะในเบื้องถัดมา ที่ผู้เขียนใช้เพื่อปฏิสันฐานกับผู้ไปในทำนองว่า การที่จะมองให้เห็นปริศนาอันเป็นมูลเหตุของการตายนั้น อาจไม่ต้องอาศัยดวงตาที่มองเห็นวัตถุอย่างชัดเจนก็เป็นได้ หรือไม่ตัวฆาตกรต้นเหตุอาจเกี่ยวโยงกับการมองเห็น ซึ่งสุดแต่จะคิดไปได้ทั้งนั้น  ขณะเดียวกัน นิโคลาสช่างกระจกก็เตรียมประกอบแว่นตาใหม่ให้ด้วย เมื่อเหตุการณ์เริ่มตึงเครียดและยุ่งเหยิงมากขึ้น วิลเลียมจึงปรารภว่า “อารามนี้ที่แท้คืออนุจักรวาลจำลอง เมื่อไรเรามีคณะทูตของพระสันตะปาปากับภราดาไมเคิลมาอยู่พร้อมหน้าล่ะก็ เราจะมีมนุษย์ครบทุกประเภทเลยล่ะ ”  เรื่องดำเนินต่อไปอย่างชวนให้สับสน  ขณะเดียวกันตัวอักษรปริศนาที่พบในแผ่นกระดาษซึ่งได้จากโต๊ะทำงานของเวนันเชียส ก็กลายเป็นปริศนาข้อใหม่รอให้วิลเลียมและแอดโซไข  จากถ้อยความ “หัตถ์เหนือรูปฉายาจงกระทำแก่ที่หนึ่งและที่เจ็ดของสี่”

วิลเลียมรอแว่นตาใหม่จากนิโคลาส  พร้อมกับแอดโซช่วยกันพยายามเขียนแผนผังหอสมุดเขาวงกตรูปแปดเหลี่ยมโดยอาศัยการมองจากภายนอก  จากนั้นแอดโซไปพบอูเบอร์ติโนคุยเรื่อง ฟราดอลซิโน ซึ่งทำให้เลือดในกายเขาร้อนรุ่มอย่างประหลาด เขายังแอบเข้าไปในหอสมุดเพียงลำพัง โดยความรู้สึกประหลาดเกี่ยวกับฟราดอลซิโนและภาพของไมเคิลที่ถูกเผาทั้งเป็นยังตามหลอกหลอนไปตลอดด้วย ครั้นออกจากหอสมุด เดินมายังโรงครัว ขณะนั้นมีใครบางคนอยู่ในนั้น เมื่อเดินเข้าไปก็พบว่าเป็นหญิงสาวชาวบ้าน และดั่งห้วงภวังค์อันพิสดาร แอดโซได้ร่วมสังวาสกับหญิงสาวนั้น จนเผลอหลับไป วิลเลียมเป็นฝ่ายตามหาจนพบ และเป็นผู้รับฟังคำสารภาพบาปของแอดโซ
    
ตัวละครที่เพิ่มเข้ามามีบทบาท เช่น ซัลวาทอเร เฒ่าอลินาร์โด ซึ่งนักบวชผู้เฒ่าก็เพ้อรำพันถึงคำทำนายในพระธรรมบทของอัครสาวก กล่าวถึงเสียงแตรทั้งเจ็ด แตรที่สามเตือนให้รู้ว่าดวงดาราลุกเป็นไฟ จะพุ่งลงใส่นทีหนึ่งส่วนสาม อันมีแม่น้ำลำธาร และจงคอยระวังคนที่สี่   กระทั่งวิลเลียมนึกเอะใจ เขาตรงไปที่โรงวารีบำบัด และที่นั่น ก็พบศพเบเรนการ์ ในสภาพร่างกายเปล่าเปลือยจมอยู่ในอ่างอาบน้ำ  แต่ไม่พบหนังสือปริศนาที่เขาได้ขโมยมาจากหอสมุด

วันที่สี่
ข้อสมมุติฐานใหม่ที่ได้จากการชันสูตรศพเบเรนการ์ ซึ่งได้แก่ลิ้นสีดำ และปลายนิ้วทั้งสามที่มือขวามีรอยดำ เหมือนศพของเวนันเชียส  เซเวรินัสซึ่งร่วมชันสูตรได้ให้เบาะแสบางประการที่สำคัญยิ่ง เกี่ยวกับยาพิษร้ายแรงชนิดหนึ่งที่หายไปจากหิ้งโอสถ เมื่อครั้งเกิดพายุใหญ่หลายปีก่อน เมื่อออกจากโรงวารีบำบัด วิลเลียมถึงขั้นเตือนแอดโซให้ระวังอาหารการกิน
    
การที่แอดโซได้พบและทำผิดบาปกับหญิงสาวชาวบ้านคนนั้น ทำให้วิลเลียมเข้าสอบสวนซัลเวทอเรและพระคหบาล จนทั้งสองรับสารภาพ  จากนั้นเซเวรินัสก็นำแว่นตาของวิลเลียมที่พบในชุดพระของเบเรนการ์มาคืนให้ ขณะที่วิลเลียมดีอกดีใจนั่นเอง นิโคลาสก็ปรี่เข้ามาพร้อมแว่นตาที่เขาประดิษฐ์มันสำเร็จ  จากนั้นวิลเลียมได้ปลีกไปอ่านรหัสลับอยู่ลำพัง ส่วนแอดโซยังคงรวดร้าวด้วฤทธิ์พิศวาสอยู่ไม่วางวายกระทั่งวิลเลียมตามมาพบเข้า เพื่อบอกว่าเขาถอดรหัสได้แล้ว จากข้อความนั้น วิลเลียมนึกจินตนาการถึงเนื้อหาของหนังสือเล่มลึกลับนั้น และอนุมานถึงเจ้าตัวฆาตกร ว่า มันผู้นั้นย่อมอยากเก็บความลับของตำราไว้เพียงผู้เดียว  เขาต้องการรู้ให้ได้ว่า หนังสือเล่มปริศนานั้นเขียนถึงอะไรบ้าง จากข้อความเพียงไม่กี่ประโยค

“มีไม่น้อยเลยที่หนังสือกล่าวถึงหนังสือด้วยกันเอง ราวกับมันพูดถึงแต่เรื่องในหมู่หนังสือด้วยกัน เมื่อเกิดปัญญาประจักษ์กระจ่างแจ้งดังนี้ หอสมุดยิ่งดูเป็นสถานอาเพศไปใหญ่ ประหนึ่งว่ามันเป็นนิวาสของกระแสจำนรรจ์ปรัมปรานับศตวรรษมิถ้วน เป็นคำสนทนาลี้ลับระหว่างกระดาษหนังแผ่นหนึ่งกับอีกแผ่นหนึ่ง เป็นชีวิน เป็นที่สิงสู่ของสารพันพลังอำนาจซึ่งจิตมนุษย์คนหนึ่งคนใดมิอาจครอบครองได้ เป็นขุมความลับที่ดูดซับความรู้จากดวงความคิดหลากหลาย เป็นอมรพ้นความตายของนรชนผู้คิดค้นหรือถ่ายทอดความรู้ไว้ ”  ครั้นแอดโซโต้ไปว่า “แล้วเช่นนั้น ฤๅหอสมุดมิใช่สื่อกลางเพื่อเผยแพร่สัจจะ ทว่ากลับเป็นเครื่องมือไว้คอยหน่วงเหนี่ยวขัดขวางการปรากฎของสัจจะเอาไว้”
    
ในยามเซกสท์ (เที่ยง) คณะพระอนุนิกายก็เดินทางมาถึงอาราม นำโดยไมเคิลแห่งเซเซนา และร่วมหารือถึงจุดยืนร่วมเพื่อการประชุมกับคณะทูตานุทูตที่กำลังเดินทางมาถึง เป็นคณะของเบอร์นาร์ด กุย ผู้แทนจากอวีนยอง ข้างของพระสันตะปาปาจอห์นที่ 22
    
วิลเลียมและเอดซได้สนทนากับเฒ่าอลินาร์โดอีกครั้ง ตาเฒ่ายังย้ำถึงเสียงแตรครั้งที่สี่ หลังยามคอมไพลน์ ทั้งสองได้เข้าสู่หอสมุดเป็นครั้งที่สอง (สำหรับแอดโซเป็นครั้งที่สาม) ค้นหาทางเข้าห้องอันตแอฟริกา การเยือนครั้งนี้ทำให้รู้กลไกของหอสมุดกระจ่างขึ้น แต่เมื่อถึงประตูสู่อันตแอฟริกาก็ยังไม่สามารถเข้าสู่ห้องปริศนานั้นได้

ในยามราตรี ซัลวาทอเรถูกพลธนูของพวกเบอร์นาร์ด กุยจับได้ ขณะเตรียมทำเสน่ห์ยาแฝด พร้อมกับหญิงสาวชาวบ้าน ผู้ซึ่งแอดโซเพ้อพร่ำอาวรณ์ถึงตลอดเวลาก็ถูกจับข้อหาแม่มด จุดเปราะบางนี้เองที่เบอร์ดนาร์ด กุยใช้เป็นข้ออ้างที่จะกล่าวหาพระอนุนิกายว่าเป็นกลุ่มพวกนอกรีต     
    
วันที่ห้า
หลักใหญ่ใจความอยู่ในวันที่ห้านี่เอง  เป็นการกล่าวถึงวิวาทะในหมู่นักบวชหลายนิกาย หัวข้อความยากไร้ของพระเยซูเจ้า ซึ่งเปรียบเป็นการทำสงครามขนาดย่อยระหว่างฝ่ายพระสันตะปาปาจอห์นที่22 กับฝ่ายจักรวรรดิ
    
ยามไพร์ม เป็นเวลาที่ทั้งสองฝ่ายที่สนับสนุนพระวินัยของคณะฟรานซิสกันกับฝ่ายเบอร์นาร์ด กุย ซึ่งร้อนระอุราวกับไม่ใช่เวทีของผู้ทรงศีลเช่นนักบวชเลยทีเดียว  โดยวิลเลียมกล่าวแก่แอดโซว่า พระอนุนิกายคือเบี้ยในเกมที่พระจักรพรรดิงัดข้อกับพระสันตะปาปา แต่มาร์ซิเลียสกับเขาเห็นว่าเป็นเกมสองด้าน เขาต้องการให้ฝ่ายจักรวรรดิสนับสนุนอุดมทรรศน์ของเขา และดึงมาใช้ประโยชน์แก่แนวความคิดทางโลกนีติตามแบบของเขา  ระหว่างการประชุม เซเวรินัสก็มาบอกวิลเลียมถึงหนังสือประหลาดเล่มที่หายไป  แต่ขณะเดียวกัน ไมเคิลแห่งเซเซนาก็เรียกวิลเลียมเข้ามาในห้องประชุมอีก  ทำให้ทั้งวิลเลียมและแอดโซต้องพลาดนาทีสำคัญ ซึ่งเหตุการณ์ชุลมุนนั้นเอง เหตุร้ายก็เกิดแก่เซเวรินัส เขาถูกทุบศีรษะแตกสิ้นชีวิตอยู่ในห้องทดลองของเขาเป็นฝ่ายเบอร์ดนาร์ด กุยที่ได้เปรียบแล้ว เขาก้าวเข้ามาเป็นผู้สืบสวนคดีนี้เสียเอง  และได้ทำการพิพากษาดำเนินคดีเอากับพระคหบาลเรมิจิโอ ผู้พบศพเซเวรินัสเป็นคนแรก  ซัลวาทอเรและหญิงสาวชาวบ้านด้วย สืบเนื่องจากการสอบปากคำ รีดความจริงจากพระคหบาลนั้น เขาสารภาพว่าเคยเป็นสาวกของฟรา ดอลซิโน  โดย มาลาคี,ผู้เป็นบรรณารักษ์ก็ถูกโยงเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องการครอบครองจดหมายของฟรา ดอลซิโน และหนังสือปริศนาเล่มนั้น  เมื่อเบอร์นาร์ด กุยได้สรุปสำนวนคดี ยุติการไต่สวน คล้ายเป็นสัญญาณว่าฝ่ายเขาเป็นผู้นำชัย  ขณะเดียวกันเงื่อนงำอำมหิตกำลังถูกคลี่คลายด้วยข้อสันนิษฐานและการวิเคราะห์อย่างทรงภูมิปัญญาของวิลเลียม  ในคืนนั้น อูเบอร์ติโนได้หลบหนีจากอาราม ไปเป็นแนวร่วมกับวิลเลียมแห่งออคคัมที่ฝรั่งเศส รวมกับมาร์ซิเลียส หนีการไล่ล่าของพวกพลพระสันตะปาปา ไปถึงเมืองปิซา อาณาเขตของจักรวรรดิอิตาลี
    
ยามคอมไพล์น พิธีสวดนี้ เจ้าอาวาสมอบหมายให้จอร์เกแสดงธรรมเทศนาว่าด้วยการอุบัติของอันตคริสต์

วันที่หก
พิธีสวดยามมาตินส์ (2.30-3.00 น.)  เริ่มขึ้นโดยปราศจากมาลาคี ยังความกระวนกระวายใจแก่จอร์เกยิ่งนัก เวลานี้นักบวชทุกคนต้องฝึกซ้อมร้องเพลงสวดในงานฉลองพิธีมิซซาใหญ่ในวันคริสต์มาส  ครั้นเวลาผ่านไป มาลาคีก็เดินเข้ามานั่งประจำที่ม้านั่งของเขา แต่ชั่วพริบตา ร่างเขาก็ทรุดฮวบในอ้อมประคองของวิลเลียม เขาอ้าปากพะงาบทำให้วิลเลียมมองเห็นลิ้นดำปี๋กระดกอยู่ในปากซีดนั้น  ก่อนสิ้นใจเขาเปล่งคำพูดแผ่วเบาอย่างเป็นบทสรุปของปริศนาในใจวิลเลียมว่า  “เขาบอกข้า.. จริงแท้.. มันมีฤทธิ์ร้ายประดุจแมลงป่องนับพัน ” แน่นอนว่าศพของมาลาคี,บรรณารักษ์ มีรอยเปื้อนดำตรงปลายนิ้วด้วย
        
เบนโนแห่งอุปป์ซาลาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ นิโคลาสเป็นพระคหบาล แต่เจ้าอาวาสอาโบไม่บอกถึงทางลับเข้าสู่มหาคารแด่เบนโน   ครั้นวิลเลียมนึกถึงสัญญาณเสียงแตรครั้งที่หก – ประกาศิตทัพอาชาที่เศียรเป็นสิงโต ปากพ่นไฟ ควันคลุ้งและกำมะถัน เขานึกถึงเจ้าอาวาสที่ดูเหมือนจะเป็นเหยื่อรายต่อไป  
        
ฝ่ายแอดโซก็ฝันประหลาด เมื่อเล่าให้วิลเลียมฟัง เขาก็พยายามตีความรหัสลับจากภาพฝันของแอดโซ ขณะปริศนาในตัวฆาตกรกำลังจะคลี่คลายนั่นเอง เจ้าอาวาสก็บอกให้วิลเลียมและแอดโซกลับไปได้แล้ว ไม่อยากให้มีการสืบคดีอีกต่อไป  ระหว่างช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนั่นเอง ความโกลาหลในหมู่นักบวชก็ป่วนขึ้น วิลเลียมได้ทราบถึงปัญหาบางประการที่เกี่ยวกับการสืบทอดตำแหน่งบรรณารักษ์จากนักบวชบางคน  ฝ่ายอลินาร์โดกับจอร์เจ สองนักบวชผู้อาวุโสหายไปไม่เข้าร่วมพิธีสวด  ความลึกลับยิ่งทำให้วิลเลียมและแอดโซต้องเข้าสู่หอสมุดอีกครั้ง คราวนี้เขาถอดรหัสความ “ที่หนึ่งและที่เจ็ดของสี่” ได้สำเร็จโดยความบังเอิญ ขณะเดินผ่านอุโมงค์สู่มหาคาร ทั้งสองได้ยินเสียงประหลาดดังมาจากกำแพง ราวกับมีใครติดอยู่ในนั้นและในที่สุด วิลเลียมและแอดโซก็เปิดกลไลลึกลับทางเข้าสู่อันตแอฟริกาได้สำเร็จในรัตติกาลที่กำลังล่วงเข้าสู่วันที่เจ็ด

วันที่เจ็ด
ที่นั่นเขาได้พบใครบางคนรออยู่แล้ว และได้พบกับตำราประหลาดปริศนาที่หลุดมือเขาไประหว่างการตายของเซเวรินัสที่เรือนเวชกรรม  ผู้อยู่ในเงามืดที่รอคอยเขาอยู่ยื่นหนังสือเล่มนั้นให้วิลเลียมได้เปิดดู เป็นต้นฉบับภาษาอาหรับว่าด้วยคำคมของคนโง่

เล่มที่สองเป็นภาษาซีเรียแอค เป็นตำราเล่นแร่แปรธาตุของชาวอียิปต์ เล่มที่สามเป็นตำราภาษากรีก ซึ่งรจนาโดยอริสโตเติล  “เราจะได้สาธกให้เห็นว่า ความตลกขบขันของพฤติกรรมเกิดจากการเปรียบเทียบสิ่งที่ดีที่สุดกับสิ่งที่แย่ที่สุด ” ฯลฯ   ระหว่างการสนทนากับผู้มารออยู่ก่อนแล้วกับวิลเลียมนั้น วิลเลียมถึงกับกล่าวว่า “อันตคริสต์สามารถอุบัติขึ้นจากความศรัทธานั่นเอง”  “จากความรักในพระผู้เป็นเจ้าหรือความรักในสัจจะจนเกินเหตุ” ฯลฯ   ซึ่งตำราเล่มที่สองของอริสโตเติลนั่นเอง ที่ทำให้ผู้บงการวาระแห่งมรณกรรมของนักบวชจอมสอดรู้ จำต้องซุกซ่อนมันไว้จากกิเลสแห่งอวิชชา  ตำราเล่มนั้นน่าจะกล่าวถึงการบิดเบือนโฉมหน้าของสารพันสัจจะ เพื่อที่เราจักไม่ตกเป็นทาสของภูตผีในตัวเราเอง
        
เรื่องจบตรงที่หอสมุดอันรโหฐาน บรรจุไว้ด้วยตำราสารพันศาสตร์ที่โลกพึงมีไว้ ศาสตร์ซึ่งเร้ากิเลสผู้โหยหาสรรพวิชา  ทั้งตัวมหาคารสุดยอดสถาปัตยกรรมอันลึกลับ สง่างาม ได้มอดไหม้กับเปลวเพลิง เหลือเพียงเถ้าถ่าน คงไม่ต้องเล่าถึงว่าใครเป็นต้นเหตุการตายของเหล่านักบวช เพราะต้องไปหาอ่านเอาเอง
        
โดยเนื้อความที่ถ่ายทอดผ่านตัวอักษรนั้น เต็มไปด้วยเล่ห์รสทางวรรณศิลป์ โวหารอันเปี่ยมล้นด้วยข้อปรัชญา น่าสนใจยิ่งสำหรับนักอ่านผู้มานะทั้งหลาย โดยเฉพาะกับการตั้งชื่อเรื่อง สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ ที่ยิ่งชวนให้คิดถึงเหตุของการตั้งชื่อเรื่องเช่นนี้
        
นอกเหนือจากอรรถรสของเรื่องแต่งแล้ว  ผู้อ่านยังได้ข้อความรู้ใหม่ ซึ่งมาจากเชิงอรรถที่ไม่อาจละเลยได้ ทั้งยังชี้ชวนให้ต้องขวนขวายหาความกระจ่ายให้แก่ตัวผู้อ่านเอง ด้วยแรงปรารถนาที่มีต่อสรรพวิชา ไม่ว่าจะเป็นด้านเทววิทยา ปรัชญา หรือด้านอักษรศาสตร์และสำหรับนักวรรณกรรม สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ ของอุมแบร์โต เอโก ยังตระหง่านอยู่ได้ท่ามกลางทัศนะเรื่องความสั้น-ยาวของนวนิยาย  และล่วงพ้นจากข้อจำกัดอื่นใดโดยสิ้นเชิง
        
แม้น สมัญญาแห่งดอกกุหลาบจะเป็นเรื่องโศกนาฏกรรม แต่ก็รุ่มรวยด้วยอารมณ์อย่างสุขนาฏกรรมด้วย มีทั้งความพิกลของตัวละคร ความประจวบบังเอิญ เช่นตอนที่แว่นตาของวิลเลียมถูกขโมยไปตอนสำคัญเพื่อไขปริศนาสืบหาตัวฆาตกร ทำให้เราเผลอคิดไปว่า บางทีไม่ต้องอาศัยดวงตาที่มองเห็นวัตถุอย่างชัดเจนก็ได้ หรือไม่ตัวฆาตกรต้นเหตุอาจเกี่ยวโยงกับการมองเห็น ซึ่งสุดแต่จะคิดไปได้ทั้งนั้น    

หากจะว่าไปแล้ว ถ้านำวิลเลียมกับแอดโซ มาเปรียบกัน วิลเลียมเป็นตัวแทนนักปราชญ์ผู้ลำพองงมงายในภูมิปัญญา ถูกชักนำด้วยความกระหายใคร่รู้และชัยชนะ ขณะแอดโซเป็นตัวแทนความสดชื่น ไร้เดียงสา ช่างฝันและอ่อนโยน ทั้ง ๒ ลักษณะนี้เกื้อกูลกัน และนำมาซึ่งกุญแจไขปริศนาตั้งแต่ต้นจนจบ ตัวอย่างเช่น ตอนที่แอดโซบังเอิญปล่อยตัวเองไปในรสพิศวาสกับหญิงสาวชาวบ้านที่ถูกล่อลวงด้วยเศษเนื้อก้อนเดียว วิลเลียมก็ได้หลักฐานเชื่อมโยงในการไขปริศนาหาตัวฆาตกรจากเหตุการณ์นั้น
        
ส่วนหนังสืออาถรรพ์ดังกล่าวนั้น ประกอบด้วยตำราภาษาอาหรับ ว่าด้วยคำคมของคนโง่ , ตำราเล่นแร่แปรธาตุของอียิปต์ ภาษาซีเรียแอค และเล่มสำคัญคือ หนังสือ Poetics ของอริสโตเติล ที่อ้างว่าไม่เคยมีอยู่จริง กล่าวถึง สาระของการหัวเราะ โดยเนื้อหาแล้วได้สอนให้มนุษย์เข้มแข็งด้วยศักยภาพจำเพาะซึ่งมีแต่มนุษย์เท่านั้นที่หัวเราะ  จอร์เกพูดในตอนท้ายว่า “เพราะพระองค์ทรงทราบว่าข้ากระทำเพื่อพระกิตติคุณของพระองค์ หน้าที่ของข้าคือ อารักขาหอสมุด ” วิลเลียมถามต่อว่า “ไฉนหนังสือ Poetics เล่ม ๒ ของอริสโตเติล ท่านจึงยอมปกป้องมันไว้ด้วยความตายของตัวเอง ”  เขาตอบว่า “เพราะมันรจนาโดยมหาปราชญ์ ”
    
เมื่อไม่มีสิ่งใดคุ้มครองหอสมุดที่เกรียงไกรจากเปลวเพลิงได้ วิลเลียมถึงกับปรารภว่า บัดนี้อันตคริสต์ตั้งเค้าขึ้นแล้วอย่างแท้จริง เหตุเพราะไม่มีวิชาความรู้มาสกัดขวางมันอีกต่อไป ...ฯลฯ ...

จอร์เกคือผู้ที่ข้าหมายถึง ใบหน้าที่บิดเบี้ยวด้วยความเกลียดชังต่อปรัชญา นี่เป็นคำรบแรกที่ข้าได้ยลเห็นภาพเหมือนของอันตคริสต์ผู้มิได้มาจากเผ่าพันธุ์ของจูดาสอย่างที่ขุนทัพกองหน้าของมันว่าไว้ หรือมาจากแดนแคว้นไกลที่ใด อันตคริสต์สามารถอุบัติขึ้นจากความศรัทธานั่นเอง จากความรักในพระผู้เป็นเจ้าหรือความรักในสัจจะจนเกินเหตุ ...ฯลฯ... จอร์เกก่อบาปกรรมเพราะเขารักสัจจะอย่างต่ำช้าจนยอมถวายหัวทุกอย่างเพื่อทำลายความเท็จ จอร์เกกริ่งเกรงตำราเล่มที่สองของอริสโตเติลเพราะมันคงสอนให้รู้จริง ๆ ว่าจะบิดเบือนโฉมหน้าของสารพันสัจจะได้เยี่ยงไร เพื่อที่เราจักไม่ตกเป็นทาสของภูตผีในตัวเราเอง  บางทีภารกิจของผู้รักมนุษยชาติคือจงกระทำให้ประชาชนหัวร่อต่อสัจจะ กระทำให้สัจจะหัวร่อ  เพราะเอกสัจจะอยู่ในการเรียนรู้ที่จะปลดปล่อยตัวเราเองจากความคลั่งไคล้งมงายในสัจจะ ... จากหน้า ๖๙๓

นั่นเป็นเพียงบางส่วนที่นำมากล่าวถึง แต่ในตัวหนังสือราวเจ็ดร้อยกว่านั้น ยังได้ฉายภาพให้ได้ครุ่นคิดอีกนับไม่ถ้วน เรียกว่าเมื่อใดที่หยิบมาอ่าน นอกจากความขบขัน สะเทือนใจ ลุ้นระทึกแล้ว เราต้องฉุกคิดใหม่อีกครั้งเสมอ ราวกับ สมัญญาแห่งดอกกุหลาบเป็นนวนิยายขนาดยาวที่อ่านเท่าใดก็ไม่รู้จบ แม้กระทั่งในภาพความฝันอันแสนพิสดารของแอดโซที่ช่วยให้วิลเลียมไขปริศนาหาทางเข้าห้องลับในหอสมุดได้  แม้กระทั่งผู้แปลเองยังเขียนไว้ว่า เป็นตอนที่เศร้าสะเทือนใจทุกครั้งไป เมื่อเหล่าบรรพชนในพระคัมภีร์เข้ารุมทึ้งดรุณีผู้ถูกข้อหาเป็นแม่มด...
    
หากข้อเขียนอันจำกัดนี้จะไม่เป็นเพียงความเรียงปะติด-ต่ออันเปล่าดาย ก็ด้วย สมัญญาแห่งดอกกุหลาบสุดยอดนวนิยาย ถูกคุณหยิบขึ้นมาอ่าน.
            

หนังสืออ้างอิง
(1)  จำนง ทองประเสริฐ . ปรัชญาตะวันตก สมัยกลาง . พิมพ์ครั้งที่ 3 . กรุงเทพมหานคร:แพร่วิทยา ,
พ.ศ.2519
(2) จอร์จ เฟอร์กูสัน เขียน กุลวดี มกราภิรมย์ แปล . เครื่องหมายและสัญลักษณ์ในคริสต์ศิลป์ . สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(3) บานไม่รู้โรย ปีที่ 3 ฉบับที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2530
(4) สานแสงอรุณ ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 มีนาคม –เมษายน พ.ศ.2549    
(5) เนชั่นสุดสัปดาห์  ปีที่ 15 ฉบับที่ 739 วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2549

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
  นายยืนยงชื่อหนังสือ           :           พ.๒๗ สายลับพระปกเกล้าฯ ผู้เขียน               :           อ.ก. ร่งแสง (โพยม โรจนวิภาต)ประเภท              :           สารคดีประวัติศาสตร์          พิมพ์ครั้งที่ 2  พ.ศ.…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ฝรั่งคลั่งผี ผู้เขียน : ไมเคิล ไรท จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก : กรกฎาคม 2550 อ่าน ฝรั่งคลั่งผี ของ ไมเคิล ไรท จบ ฉันลิงโลดเป็นพิเศษ รีบนำมา “เล่าสู่กันฟัง” ทันที จะว่าร้อนวิชาเกินไปหรือก็ไม่ทราบ โปรดให้อภัยฉันเถิด ในเมื่อเขาเขียนดี จะตัดใจได้ลงคอเชียวหรือ
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : เด็กบินได้ ผู้เขียน : ศรีดาวเรือง ประเภท : นวนิยายขนาดสั้น พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2532 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์กำแพง มาอีกแล้ว วรรณกรรมเพื่อชีวิต เขียนถึงบ่อยเหลือเกิน ชื่นชม ตำหนิติเตียนกันไม่เว้นวาย นี่ฉันจะจมอยู่กับปลักเพื่อชีวิตไปอีกกี่ทศวรรษ อันที่จริง เพื่อชีวิต ไม่ใช่ “ปลัก” ในความหมายที่เราชอบกล่าวถึงในแง่ของการย่ำวนอยู่ที่เดิมแบบไร้วัฒนาการไม่ใช่หรือ เพื่อชีวิตเองก็เติบโตมาพร้อมพัฒนาการทางสังคม ปลิดขั้วมาจากวรรณกรรมศักดินาชน เรื่องรักฉันท์หนุ่มสาว เรื่องบันเทิงเริงรมย์…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : คนซื้อฝัน ผู้เขียน : ศุภร บุนนาค ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 2 กรกฎาคม 2537 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์เคล็ดไทย ตามสัญญาที่ให้ไว้ว่าจะอ่านหนังสือของนักเขียนไทยให้มากกว่าเดิม ฉันดำเนินการแล้วล่ะ อ่านแล้ว อิ่มเอมกับอรรถรสแบบที่หาจากวรรณกรรมแปลไม่ได้ หาจากภาษาของนักเขียนไทยรุ่นใหม่ก็ไม่ค่อยจะได้ จนรู้สึกไปว่า คุณค่าของภาษาได้แกว่งไกวไปกับกาละด้วย
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : เพลงกล่อมผี ผู้เขียน : นากิบ มาห์ฟูซ ผู้แปล : แคน สังคีต จาก Wedding Song ภาษาอังกฤษโดย โอลีฟ อี เคนนี ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2534 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์รวมทรรศน์ หนาวลมเหมันต์แห่งพุทธศักราช 2552 เยียบเย็นยิ่งกว่า ผ้าผวยดูไร้ตัวตนไปเลยเมื่อเจอะเข้ากับลมหนาวขณะมกราคมสั่นเทิ้มด้วยคน ฉันขดตัวอยู่ในห้องหลบลมลอดช่องตึกอันทารุณ อ่านหนังสือเก่า ๆ ที่อุดม ไรฝุ่นยั่วอาการภูมิแพ้ โรคประจำศตวรรษที่ใครก็มีประสบการณ์ร่วม อ่านเพลงกล่อมผีของนากิบ มาห์ฟูซ ที่แคน สังคีต ฝากสำนวนแปลไว้อย่างเฟื่องฟุ้งเลยทีเดียว…
สวนหนังสือ
นายยืนยง สวัสดีปี 2552 ขอสรรพสิ่งแห่งสุนทรียะจงจรรโลงหัวใจท่านผู้อ่านประดุจลมเช้าอันอ่อนหวานที่เชยผ่านเข้ามา คำพรคงไม่ล่าเกินไปใช่ไหม ตลอดเวลาที่เขียนบทความใน สวนหนังสือ แห่ง ประชาไท นี้ ความตื่นรู้ ตื่นต่อผัสสะทางวรรณกรรม ปลุกเร้าให้ฉันออกเสาะหาหนังสือที่มีแรงดึงดูดมาอ่าน และเขียนถึง ขณะเดียวกันหนังสืออันท้าทายเหล่านั้นได้สร้างแรงบันดาลใจให้วาวโรจน์ขึ้นกับหัวใจอันมักจะห่อเหี่ยวของฉัน
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : เงาสีขาวผู้เขียน : แดนอรัญ แสงทองประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่สอง ตุลาคม 2550จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์สามัญชน น้ำเน่าในคลองต่อให้เน่าเหม็นปานใดย่อมระเหยกลายเป็นไออยู่นั่นเอง แต่การระเหิด ไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนกับการระเหย  ระเหย คือ การกลายเป็นไอ จากสถานภาพของของเหลวเปลี่ยนสถานภาพกลายเป็นก๊าซระเหิด คือ การเปลี่ยนสถานภาพเป็นก๊าซโดยตรงจากของแข็งเป็นก๊าซ โดยไม่ต้องพักเปลี่ยนเป็นสถานภาพของเหลวก่อน ต่างจากการระเหย แต่เหมือนตรงที่ทั้งสองกระบวนการมีปลายทางอยู่ที่สถานภาพของก๊าซสอดคล้องกับความน่าเกลียดที่ระเหิดกลายเป็นไอแห่งความงามได้
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : เงาสีขาว ผู้เขียน : แดนอรัญ แสงทอง ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งที่สอง ตุลาคม 2550 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์สามัญชน ปกติฉันไม่นอนดึกหากไม่จำเป็น และหากจำเป็นก็เนื่องมาจากหนังสือบางเล่มที่อ่านค้างอยู่ มันเป็นเวรกรรมอย่างหนึ่งที่ดุนหลังฉันให้หยิบ เงาสีขาว ขึ้นมาอ่าน เวรกรรมแท้ ๆ เชียว เราไม่น่าพบกันอีกเลย คุณแดนอรัญ แสงทอง ฉันควรรู้จักเขาจาก เรื่องสั้นขนาดยาวนาม อสรพิษ และ นวนิยายสุดโรแมนติกในนามของ เจ้าการะเกด เท่านั้น แต่กับเงาสีขาว มันทำให้ซาบซึ้งว่า กระบือย่อมเป็นกระบืออยู่วันยังค่ำ (เขาชอบประโยคนี้นะ เพราะมันปรากฏอยู่ในหนังสือของเขาตั้งหลายครั้ง)…
สวนหนังสือ
ชื่อหนังสือ : นิทานประเทศ ผู้เขียน : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาคร
สวนหนังสือ
นายยืนยง    ชื่อหนังสือ : นิทานประเทศ ผู้เขียน : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ประเภท : รวมเรื่องสั้น พิมพ์ครั้งที่ 1 กันยายน 2549 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์นาคร   ผลงานของนักเขียนไทยในแนวของเมจิกคัลเรียลลิสม์ หรือสัจนิยมมหัศจรรย์ หรือสัจนิยมมายา ที่ได้กล่าวถึงเมื่อตอนที่แล้ว ซึ่งจะนำมาเขียนถึงต่อไป เป็นการยกตัวอย่างให้เห็นถึงข้อเปรียบเทียบระหว่างงานที่แท้กับงานเสแสร้ง เผื่อว่าจะถึงคราวจำเป็นจะต้องเลือกที่รักมักที่ชัง แม้นรู้ดีว่าข้อเขียนนี้เป็นเพียงรสนิยมส่วนบุคคล แต่ฉันคิดว่าบางทีรสนิยมก็น่าจะได้รับคำอธิบายด้วยหลักการได้เช่นเดียวกัน…
สวนหนังสือ
เมจิกคัลเรียลลิสม์ หรือที่แปลเป็นไทยว่า สัจนิยมมายา หรือสัจนิยมมหัศจรรย์ เป็นแนวการเขียนที่นักเขียนไทยนำมาใช้ในงานเรื่องสั้น นวนิยายกันมากขึ้น ไม่เว้นในกวีนิพนธ์ โดยส่วนใหญ่จะได้แรงบันดาลใจมาจาก ผลงานของกาเบรียล การ์เซีย มาเกซ ซึ่งมาเกซเองก็ได้แรงบันดาลใจมาจาก ฮวน รุลโฟ (ฆวน รุลโฟ) จากผลงานนวนิยายเรื่อง เปโดร ปาราโม อีกทอดหนึ่ง เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์วรรณกรรมแนวนี้ถูกตัดตอน ขอกล่าวถึงต้นธารของงานสกุลนี้สักเล็กน้อย กล่าวถึงฮวน รุลโฟ ซึ่งจริงๆ แล้วควรเขียนเป็นภาษาไทยว่า ฆวน รุลโฟ ทำให้หวนระลึกถึงผลงานแปลฉบับของ ราอูล ที่ฉันตกระกำลำบากในการอ่านอย่างแสนสาหัส…
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ : ประวัติย่อของแทรกเตอร์ฉบับยูเครนA SHORT HISTORY OF TRACTORS IN UKRAINIAN ผู้เขียน : MARINA LEWYCKA ผู้แปล : พรพิสุทธิ์ โอสถานนท์ ประเภท : นวนิยายแปล พิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2550 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มติชน และแล้วฉันก็ได้อ่านมัน ไอ้เจ้าแทรกเตอร์ฉบับยูเครน เมียงมองอยู่นานสองนานแล้วได้สมใจซะที ซึ่งก็สมใจจริงแท้แน่นอนเพราะได้อ่านรวดเดียวจบ (แบบต่อเนื่องยาวนาน) จบแบบสังขารบอบช้ำเมื่อต่อมขำทำงานหนัก ลามไปถึงปอดที่ถูกเขย่าครั้งแล้วครั้งเล่า ประวัติย่อของแทรกเตอร์ฉบับยูเครน เป็นนวนิยายสมัยใหม่ที่ใช้ภาษาง่าย ๆ แต่ดึงดูดแบบยุคทุนนิยมเสรี…