Skip to main content

นายยืนยง

"ความรู้รสในกวีนิพนธ์เป็นเรื่องเฉพาะตัว ตัวใครก็ตัวใคร จะมาเกณฑ์ให้มีความรู้สึกเรื่องรสของศิลปะเหมือนกันทีเดียวไม่ได้  ถ้าทุกคนรู้รสของศิลปะแห่งสิ่งใดเหมือนกันไปหมด สิ่งนั้นก็เป็นสามัญไม่ใช่มีค่าแห่งศิลปะที่สูง” ท่านเสฐียรโกเศศเขียนไว้ในหนังสือ รสวรรณคดี (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.๒๕๐๓) ครั้นแล้วความซาบซึ้งในรสของกวีนิพนธ์อันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของคุณผู้อ่านเล่าเป็นอย่างไรหนอ ในสถานการณ์ที่กระแสข่าวเน้นนำเสนอทางด้านเศรษฐกิจการเมือง ความเป็นอยู่ของกวีนิพนธ์จึงดูเหมือนจะซบเซาเหงาเงียบไป ทั้งที่เราต่างก็เติบโตมาท่ามกลางเบ้าหลอมแห่งศิลปะของกวีนิพนธ์ด้วยกัน ทั้งจากเพลงกล่อมเด็ก คำสอนของผู้หลักผู้ใหญ่ ครูอาจารย์ ... นอกจากว่า บางขณะเราอาจเผลอลืมไปเท่านั้น หากเมื่อกระแสสำนึกถูกปลุกกระตุ้น เราอาจนึกถึงขึ้นมาได้  

20080606 cover 1

เช่นฉันที่เมื่อรดน้ำต้นมะลิก็มักจะนึกถึงกวีนิพนธ์ของ อุชเชนี ที่เขียนไว้ในหนังสือ ขอบฟ้าขลิบทอง ซาบซึ้งต่อบทกวีที่ชื่อว่า “ มะลิ ”

สวนฉัน   สรรปลูก   แต่มะลิ    
ยามผลิ   ดอกบาน   หวานชื่น
เพลินตา   พาฝัน   วันคืน
ไม้อื่น   ไม่ปอง   ต้องชม  
            
ขาวสวย   รวยกลิ่น   ไกลใกล้
ยากไร้   ยังได้   แซมผม
ไร้หนาม   หยามใจ   ให้ระทม
นิยม   ชมไป   ไม่ลืม

การร้อยคำง่าย ๆ ในรูปแบบของกลอนหกของอุชเชนีนั้น งามอย่างไร ความตอบคือ งามอย่างหมดจด  เช่น  สวนฉัน  สรรปลูก  คำง่ายที่นำมาสอดร้อยต่อกันนั้น เป็นกลวิธีการผวนคำซึ่งแม้ดูไม่ฉูดฉาด แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อผวนคำแล้วได้ความหมาย ทั้งมีจังหวะชวนฟัง ผู้แต่งย่อมหนีไม่พ้นเป็นผู้ชำนาญ    

ใครเคยปลูกมะลิย่อมซาบซึ้งในรสของ “มะลิ” บทนี้แน่  ทั้งเนื้อหายังแฝงด้วยทัศนะเชิงชาตินิยมอีกด้วย  เพราะเมื่อเอ่ยถึงดอกไม้ที่มีหนาม ย่อมนึกถึงกุหลาบ  แม้จะงามเลิศเพียงไร แต่หนามของกุหลาบ ก็ย่อมไม่เป็นที่พึงปรารถนา ต่างกับมะลิ

นึกขึ้นคราวใดก็แว่วเสียงจากความทรงจำอยู่ร่ำไป  เป็นเสียงของอาจารย์วิชาภาษาไทย ที่อ่านกวีนิพนธ์บทนี้ให้เหล่านักเรียนฟังด้วยน้ำเสียงนิยมชมชอบ

กวีนิพนธ์ของอุชเชนีนั้น โดยรวมแล้วเป็นการแสดงออกถึงอารมณ์ ปฏิสันธานในเชิงบวกระหว่างมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ  อุชเชนีถนัดที่จะใช้บุคลาธิษฐานชุบชีวิตให้สิ่งรอบตัวมีลมหายใจขึ้นมาต่อหน้าผู้อ่าน  ดังบทคลื่นใต้น้ำ  ที่เปรียบประเทศไทย เป็นดั่งมหาสมุทร

สยามรัฐชัดเห็นเช่นสมุทร
โดยแรงรุดซัดสาดน่าหวาดเสียว
กระแทกรันกระทั้นแรงกลางแปลงเปรียว
เดี๋ยวหลีกเลี้ยวหลบล่อเดี๋ยวรอรา
    
แม้จะมีความจงใจแสดงออกถึงนัยยะทางสังคมการเมืองในยุคนั้น (พ.ศ.๒๔๙๓)  แต่การเปรียบอารมณ์รุนแรงของกลุ่มคนในสังคมกับกระแสคลื่นนั้น จากบทกลอนที่ใช้คำไม่กี่สิบคำ ก็สามารถอธิบายภาพกว้างและปลุกเร้าให้ผู้อ่านมองเห็นนัยยะได้อย่างคมคาย
    
เช่นนี้ฉันจึงไม่อาจปล่อยให้ตัวเองเผลอลืมกวีนิพนธ์ที่งดงามคมคายของอุชเชนีได้เลย  นอกจากนี้ใครก็ตามที่มีอุชเชนีในดวงใจ ย่อมไม่อาจหลงลืมรส คำหยาด ของเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ ไปได้

20080606 cover 2

คำหยาด เป็นหนังสือรวมกวีนิพนธ์เล่มแรกของเนาวรัตน์ จัดพิมพ์เมื่อพ.ศ.๒๕๑๒ สำนักพิมพ์กรุงสยาม  ซึ่งฉันถือเป็นศิลปะแห่งกวีนิพนธ์ที่จำนัลความงดงามซึ่งเร้นอยู่ภายในมอบแด่ผู้อ่านเนาวรัตน์ถือเป็นพรานกวีที่ออกล่า ตามหาความงามที่ซ่อนตัวอยู่ นำมาฝากผู้อ่านด้วยอารมณ์อ่อนหวาน พิสุทธิ์ ดั่งบท นพรัตน์ (หน้า ๑๔๔)

เพชรน้ำค้างพร่างหล่นบนใบไผ่
เจียระไนนพรัตน์จรัสแสง
ระบัดใบเบิกร่มบังลมแรง
ระวังแวงวรารุ่งรุ้งรวงดาว

กลอนบทนี้เขียนถึงน้ำค้างบนใบไผ่ที่ต้องแสงแดดแต่น้ำค้างนั้นมีความงามบริสุทธิ์วิเศษปานใด เนาวรัตน์เขียนบอกเราด้วยความงามดั่งเพลงสวรรค์ แน่นอนว่า เราย่อมเคยเห็นน้ำค้างว่าสวยเพียงไร แต่กวีอย่างเนาวรัตน์ทีเดียว ที่สานอารมณ์ความรู้สึกอันปะติปะต่อของเรา มาถักร้อยเป็นแพรพรรณวรรณศิลป์เช่นนี้ เราจึงได้ชื่นชมในมรรคผลของกวีนิพนธ์ตราบเท่าทุกวันนี้ หรือในบทเดียวกัน

แก้วโกเมนเขม้นเหมือนเจ้าเลือนหมาง
คลายระคางคืนเขษมยิ่งเอมอิ่ม
บุศราคัมรับกลีบทับทิม
เหมือนเมื่อชิมชื่นจากกลีบปากงาม

การเปรียบคนรักกับอัญมณี ในบทข้างต้น มีความลึกซึ้งยิ่ง ด้วยเหตุที่ว่าอัญมณีเป็นสัญลักษณ์แทนความงดงามสูงส่ง เป็นอมตะ แม้นผ่านร้อนหนาวกาลยาวนาน ความงามก็ไม่เสื่อมคลาย หากเปรียบเข้ากับคนรักแล้ว ใครเลยจะทำใจแข็งได้ลงคอ

หรือในบทชื่อ หวานคมเคียว (หน้า ๑๖๕) ที่บรรยายธรรมชาติให้เราจินตนาการตามได้ภาพแจ่มจรัสด้วยกลอนบทเดียว
    
เอนระนาบอาบน้ำค้างกลางแดดหนาว
ทอดรวงยาวยอดระย้าราน้ำใส
ละลานรอบขอบฟ้าคราพลิ้วใบ
เพียงพรมใหญ่ไหวระยาบทาบเปลวทอง

ด้วยมุมมอง ด้วยอารมณ์ ด้วยถ้อยคำที่เรียงร้อยของกวีนั้นเอง ที่นำพารสของกวีนิพนธ์เข้าประทับตรึงในดวงใจ ส่วนการใช้บุคลาธิษฐาน เปรียบให้สิ่งนั้นเป็นคน มีชีวิตจิตใจที่กวีมักนำมาใช้ในกวีนิพนธ์นั้น นอกจากให้ความรู้สึกแบบเหนือจริง มากกว่าความเป็นจริงในระดับที่มองเห็นด้วยตาแล้ว บุคลาธิษฐานยังมีพลังดึงดูดทำให้เรากระโจนเข้าสู่โลกเหนือจริง ซึ่งผิดแปลกแตกต่างไปจากความเป็นจริง แต่กลับกระตุ้นเร้าอารมณ์ได้อย่างเหลือเชื่อ  

อังคาร  กัลยาณพงศ์ เป็นหนึ่งในกวีจอมขมังที่เสกสรรค์โลกแห่งศิลปะ โลกแห่งกวีนิพนธ์ ที่ถั่งทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองมาสู่อารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่าน กวีนิพนธ์ของอังคารจึงเรียกได้ว่าใช้อารมณ์เป็นสื่อกลาง และนำพาผู้อ่านท่องโลกจินตนาการไปพร้อมกัน
จากหนังสือ กวีนิพนธ์ ของ อังคาร กัลยาณพงศ์  หน้า ๑๓๘ ในบท กาพย์กลอน

กาพย์กลอนอ่อนหวานปานน้ำผึ้ง    เจ้ารู้ซึ้งว่าคืออะไรไหม
ฤๅตามืดหูมิดไร้จิตรใจ        ไม่รู้รสทิพย์ฝันวรรณคดี  ฯ
เพชรพลอยแห่งถ้อยคำทิพย์    จิบดื่มดุจอำมฤตวิเศษศรี
พร้อมแง่ญาณปัญญาบารมี        ลำนำดนตรีเพริศพริ้งพราย  ฯ

จะมีมนุษย์ใดบ้างที่เขียนกวีนิพนธ์ได้เช่นท่านอังคาร จะมีมนุษย์ใดบ้างที่เคยรู้สึกว่ากวีนิพนธ์นั้น “จิบดื่ม” ได้ หรือ กวีนิพนธ์จะมีรสที่ “อ่อนหวานปานน้ำผึ้ง”
หรือในบทที่สั่นสะท้าน เศร้าโศกา ก็ทำเอาตะลึงพรึงเพริศไปกับอารมณ์แบบเหนือจริง จากบท  เสียเจ้า

เสียเจ้าราวร้าวมณีรุ้ง           มุ่งปรารถนาอะไรในหล้า
มิหวังกระทั่งฟากฟ้า            ซบหน้าติดดินกินทราย  ฯ
จะเจ็บจำไปถึงปรโลก          ฤๅรอยโศกรู้ร้างจางหาย
จะเกิดกี่ฟ้ามาตรมตาย          อย่าหมายว่าจะให้หัวใจ  ฯ

หรือบท ผีพุ่งไต้  ได้สร้างปรากฏการณ์ทางความรู้สึกต่อผู้อ่านได้เป็นที่ประจักษ์ เพราะใครเลยจะจินตนาการได้ว่า “เอาฟ้าเป็นผ้าห่ม” “เอาลมมากิน”

เราเอาฟ้าเป็นผ้าห่ม            เอาลมมากินสิ้นหวัง
ระหกระเหินเร่เซซัง            ไปถึงฝั่งโลกหน้าทิพารมณ์ฯ ฯลฯ
ป่านฉะนี้หัวอกข้า               กลายเป็นหินผาห้วยละหาน
วันหนึ่งหินนั้นจะร้าวราน       กระแสธารกัดเปื่อยเป็นดินฯ    

หรือในบท อยุธยา ที่เปรียบให้เห็นถึงสภาพปัจจุบันที่เหลือแต่ซากร้าว เป็นการใช้โวหารที่ทำให้ เนื้อหา, ความ ที่ต้องการจะสื่อเกิดความเข้มข้นขึ้น    สะท้านใจขึ้น                

โอ้อยุธยายิ่งฟ้า               มหาสฐาน
มาล่มหาทกล้าทหาญ      ล่าแล้ง
เสียแรงช่างเชี่ยวชาญ      นฤมิต
แสนสัตว์ป่ามาแกล้ง        ป่นเกลี้ยงมไหศวรรย์  ฯ


พระศรีสรรเพชญ์นิ่งกลิ้ง    กลางดิน
แร้งหมู่หมากากิน            ฟากฟ้า
ชลเนตรเจตภูตริน            เป็นเลือด
นองหลากไหลไล้หล้า     ล่มม้วยเมืองหาย  ฯ


นอกจากนี้แล้ว บทอยุธยา ยังเป็นการสืบทอดวรรณคดีเก่ามาสืบต่อให้เข้ากับสภาพการณ์ปัจจุบันอีกด้วย  ซึ่งหาได้เป็นการข่มครูแต่อย่างใด แต่ถือเป็นการแสดงถึงการยกย่องบูชาวรรณคดีไว้ไม่ให้สูญ เพราะจากโคลงกำศรวลศรีปราชญ์ก็ได้เขียนบท สรรเสริญอยุธยาไว้ ดังยกมานี้

อยุธยายศยิ่งฟ้า        ลงดิน  แลฤๅ
อำนาจบุญเพรงพระ    ก่อเกื้อ
เจดีย์ละอออินทร        ปราสาท
ในทาบทองแล้วเนื้อ    นอกโสม  ฯ


อยุธยาไพโรจน์ใต้       ตรีบูร
ทวารรุจีรยงหอ           สระหล้าย
อยุธยายิ่งแมนสูร        สุรโลก  ปานฤๅ
ถนดดดุจสรรค์คล้ายคล้าย    แก่ตา ฯ


การสืบต่อยอดวรรณคดีเก่ายังปรากฏในกวีนิพนธ์ของคมทวน คันธนู ด้วย ดังบท ตุลารำพึง โคลง ๔ สลับ จากหนังสือกวีนิพนธ์ นาฏกรรมบนลานกว้าง                      

พลิ้วพลิ้วใบไม้ร่วง        ลงดิน
ระดะลมหนาวพาน        พัดต้อง
หอบเมฆหอบฝูงทมิฬ    มามืด
บดแดดบังด้าวก้อง        กระหึ่มกระหาย

สายหยุดหยุดกลิ่นฟุ้ง     ยามสาย
สายบ่หยุดกระหน่ำหาย   ห่างเศร้า
กี่วันกี่คืนวาย                วางทวิ  เทวษเพื่อน
ถวิลทุกขวบค่ำเช้า         หยุดได้ใดเฉลย ฯลฯ

รอนรอนสุริยะโอ้            อัสดง
เรื่อยเรื่อยลับเมรุปลง      ศพเปลื้อง
รอนรอนเมื่อเสียงสงฆ์    สมณะ  สวดเอย
เรื่อยเรื่อยไฟแลบเรื้อง    โอบไล้โลงผวา  

กรุงเทพมหานครนี้        นามรบิล
เอาเลือดกรุงธนฯ ทา     ทาบสร้าง
แผ่นดินต่อแผ่นดิน        ผ่านอดีต
เลือดท่วมนองท้องช้าง  ชุ่มเนือง  ฯลฯ


กวีนิพนธ์ของคมทวนแตกยอดจากแนวคิดศิลปะเพื่อศิลปะมาเป็นศิลปะเพื่อประชาชนในยุคที่บ้านเมืองกำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการปกครอง  และเพื่อสื่อนัยยะร่วมทางสังคมการเมือง คมทวนก็ใช้บทกวีเป็นสายธารพลังความคิด ทัศนคติได้อย่างทรงพลัง  การที่นำเอาวรรณคดีเก่ามาสืบต่อของคมทวนดังบท ตุลารำพึง นั้น ไม่เพียงอนุรักษ์อย่างเดียว  แต่ยังสะท้อนนัยยะถึงสภาพการณ์ทางสังคมได้อย่างล้ำลึกด้วยภาพที่แสดงออกจากบทกวี ซึ่งอาจเปรียบได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ต่อประเทศชาติและบรรพบุรุษ

กวีนิพนธ์ในดวงใจใช่จะยกเอาของเก่ามาเล่าใหม่เพียงอย่างเดียว  หากแต่เป็นการย้อนรำลึกถึงความงดงามที่มีส่วนสร้างชีวิตต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน  หากกวีนิพนธ์ในดวงใจที่ยกกล่าวถึงจะเป็นเบ้าหลอมแห่งสุนทรียรสอันเป็นรสจำเพาะบุคคล ดังที่ท่านเสฐียรโกเศศว่าไว้ กวีนิพนธ์ในดวงใจของคุณเล่าเป็นเช่นไร.

บล็อกของ สวนหนังสือ

สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : ถอดรหัสอ่านเร็ว HI-SPEED READING ผู้แต่ง : ลุงไอน์สไตน์ พิมพ์ครั้งที่ 1 : สำนักพิมพ์บิสคิต ตุลาคม 2551
สวนหนังสือ
นายยืนยงชื่อหนังสือ           :           824ผู้เขียน               :           งามพรรณ เวชชาชีวะประเภท              :           นวนิยาย  พิมพ์ครั้งที่ 2 มีนาคม 2552จัดพิมพ์โดย        :      …
สวนหนังสือ
ป่านนี้แล้ว (พ.ศ. 2552) ใครไม่เคยได้ยินเสียงขู่ หรือคำร้องขอเชิงคุกคามให้ร่วมชุบชูจิตวิญญาณสีเขียว ให้ร่วมรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน ให้ตระหนักในปัญหาวิกฤตอาหารถาวร โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย ฉันว่าคุณคงมัวปลีกวิเวกนานเกินไปแล้ว
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : ลิงหลอกเจ้า ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา ผู้เขียน : เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผู้แปล : วีระ สมบูรณ์ และ พจนา จันทรสันติ จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง พิมพ์ครั้งแรก : ตุลาคม พ.ศ.2528   เวลานี้เราต้องยอมรับเสียแล้วละว่า หนังสือธรรมะ เป็นหนังสือแนวสาระที่ติดอันดับขายดิบขายดี และมีทีท่าว่าจะคงกระแสความแรงอย่างต่อเนื่องอีกด้วย   เดี๋ยวนี้ ฉันเจอใครเข้า เขามักสนทนาประสาสะแบบปนธรรมะนิด ๆ มีบางคนเข้าขั้นหน่อย ก็เทศน์ได้ทุกสถานการณ์ อย่างนี้ก็มี ไม่แน่ว่าถ้าคนนิยมอ่านหนังสือธรรมะกันหนาตาเข้า สังคมไทยอาจแปรสภาพเป็นสังคมแห่งนักบวชนอกเครื่องแบบก็เป็นได้…
สวนหนังสือ
  เรียน คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ ช่อการะเกด ที่นับถือฉันผู้ใช้นามแฝงว่า นายยืนยง คนเขียนคอลัมน์ สวนหนังสือ ในเว็บไซต์ประชาไท ที่มีบทความชื่อ ช่อการะเกด 45 เวลาช่วยให้อะไร ๆ ดีขึ้นจริงหรือ? อยู่ในรายการของบทความทั้งหมด ได้อ่าน กถาบรรณาธิการ ใน ช่อการะเกด 47 ฉบับวางแผงปัจจุบันแล้ว ทราบว่าคุณสุชาติ บรรณาธิการนิตยสารเรื่องสั้นช่อการะเกดได้ให้ความสนใจต่อบทความนี้ ฉันในนามของนายยืนยงจึงเขียนจดหมายแล้วจัดพิมพ์ส่งตู้ ป.ณ. 1143 เพื่อเล่าถึงความเป็นมาคร่าว ๆ…
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ :       เดอะซีเคร็ต ผู้เขียน :            รอนดา เบิร์นผู้แปล :             จิระนันท์ พิตรปรีชาพิมพ์ครั้งที่ 54 :  มีนาคม 2551จัดพิมพ์โดย :    สำนักพิมพ์อมรินทร์
สวนหนังสือ
ใกล้เปิดภาคเรียนใหม่ ปีการศึกษา 2552 แล้ว ภายใต้นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ของรัฐบาลนี้ ถ้าใครได้ดูทีวีคงได้เห็นข่าวประชาสัมพันธ์ หรือได้เห็นสำนักข่าวไปสัมภาษณ์ผู้ปกครองที่ได้รับเงินอุดหนุนค่าเครื่องแบบนักเรียนแล้วไปเลือกซื้อชุดนักเรียนให้ลูก ๆ เป็นที่น่าชื่นอกชื่นใจสำหรับคนเป็นพ่อแม่ที่มีโอกาสเป็นครั้งแรกในการได้รับ "ของฟรี" จากรัฐบาล แม้จะไม่สามารถซื้อได้ครบทั้งชุดก็ตาม เช่น นักเรียนประถม 5 ได้รับเงินเพื่อการนี้คนละ 360 บาทต่อปี คือ 2 ภาคเรียน ๆ ละ 180 บาท บางคนอาจจะได้กางเกงนักเรียน 1 ตัว และ ถุงเท้า 1 คู่ ก็ยังดีฟะ.. กำขี้ดีกว่ากำตดไม่ใช่เรอะ
สวนหนังสือ
นายยืนยง   นิตยสารรายเดือน             :           ควน ป่า นา เล  4 เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่ปลายมีนาคมจนถึงวันนี้ 9 เมษายน ฉันอาศัยทีวีและหนังสือพิมพ์ อันเป็นสื่อกระแสหลักที่นำเสนอข่าวสารที่เป็นกระแสหลัก คือ ข่าวการเมือง เหมือนกับทุกครั้งที่อุณหภูมิการเมืองเดือดขึ้น ฉันดูข่าวเกินพิกัด อ่านหนังสือพิมพ์จนแว่นมัวหมอง ตื่นระทึกไปกับทุกจังหวะก้าวย่างของมวลชนเสื้อแดง มีอารมณ์ร่วมกับภาคการเมืองส่วนกลางในฐานะผู้เสพข่าวสารเท่านั้นเองจริง ๆ เท่านั้นเองไม่มากกว่านั้น …
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : เราติดอยู่ในแนวรบเสียแล้ว แม่มัน! วรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 6 จัดพิมพ์โดย : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พิมพ์ครั้งแรก : กันยายน 2551 ก่อนอื่นขอแจ้งข่าว เรื่องวรรณกรรมการเมือง รางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2552 นี้ สักเล็กน้อย งานนี้เป็นการจัดประกวดครั้งที่ 8 เปิดรับผลงานวรรณกรรมการเมือง 2 ประเภท คือ เรื่องสั้น และ บทกวี ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ – 30 เมษายน 2552
สวนหนังสือ
นายยืนยง   ชื่อหนังสือ : เด็กเก็บว่าว The Kite Runner ผู้เขียน : ฮาเหล็ด โฮเซนี่ ผู้แปล : วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ ประเภท : นวนิยาย พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม พ.ศ.2548 จัดพิมพ์โดย : สำนักพิมพ์ The One Publishing เด็กเก็บว่าว นวนิยายสัญชาติอเมริกัน-อัฟกัน ขนาดสี่ร้อยกว่าหน้า ที่โปรยปก มหัศจรรย์แห่งนวนิยายที่สร้างปรากฏการณ์ปากต่อปากจนติดอันดับเบสต์เซลเลอร์ เล่มนี้ กล่าวถึงเรื่องราวของอะไรหรือ ทำไมผู้คนจึงให้ความสนใจกับมันมากมายนัก ฉันถามตัวเองก่อนจะหยิบมันมาอ่าน
สวนหนังสือ
นายยืนยง ชื่อหนังสือ : อ่าน (ไม่) เอาเรื่อง ผู้เขียน : ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ประเภท : วรรณกรรมวิจารณ์ พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม 2545 จัดพิมพ์โดย : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ การตีความนัยยะศัพท์แสงทางวรรณกรรมจะว่าเป็นศิลปะแห่งการเข้าข้างตัวเอง ก็ถูกส่วนหนึ่ง ความนี้น่าจะเชื่อมโยงกับเรื่อง “รสนิยมส่วนตัว” หรือ อัตวิสัย หากมองในแง่ดี เราจะถือเป็นบ่อเกิดของกระบวนการสร้างสรรค์ได้ด้วย มิใช่หรือ
สวนหนังสือ
นายยืนยงเมื่อการอ่านประวัติศาสตร์ อันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น ฉันว่าควรมีการเขียนหนังสือแนะนำ (How to) เป็นขั้นเป็นตอนเลยจะดีกว่าไหม เพราะมันนอกจากจะปวดเศียรเวียนเกล้ากับผู้แต่งแต่ละท่านแล้ว (ผู้แต่งบางท่านก็ชี้ชัดลงไปเลย เจตนาจะเข้าข้างฝ่ายไหน แต่บางท่านเน้นวิเคราะห์วิจารณ์ โดยที่หากผู้อ่านมีความรู้เชิงประวัติศาสตร์น้อยกว่าหางอึ่งอย่างฉัน ต้องกลับไปลงทะเบียนเรียนวิชานี้อีกหลายเล่ม) ยังทำให้ใช้เวลาอย่างมหาศาลไปกับหนังสือที่เกี่ยวเนื่องกันอีกหลายเล่ม ไม่เป็นไร ๆ เราไม่ได้อ่านเพื่อพิพากษาใครเป็นถูกเป็นผิดมิใช่หรือ อ่านเพื่อได้อ่าน แบบกำปั้นทุบดินก็ไม่เสียหายอะไรนี่นา…