Skip to main content

David Loy เขียน
วิจักขณ์ พานิช กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร แปล


ภาพประกอบจาก http://www.ibtimes.com/articles/228475/20111010/occupy-wall-street-protests-protestors-paid-hired-jobs-volunteer-chicago-hispanic.htm


ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งที่สะท้อนทัศนะพุทธศาสนาต่อประเด็น Occupy Wall Street (#OWS)  ไมเคิล สโตนได้ยกคำกล่าวของนักปรัชญา สลาวอย ชิเช็ค ผู้ปราศรัยต่อหน้าผู้ชุมนุม #OWS ที่สวนสาธารณะซัคกอตติ ในรัฐนิวยอร์ค เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๔ ไว้ดังต่อไปนี้

”พวกเขาบอกว่าเรามันก็แค่พวกเพ้อฝัน นักฝันที่แท้จริงคือพวกที่คิดว่าสิ่งทั้งหลายจะดำเนินอย่างที่มันเป็นต่อไปเรื่อยๆ   ดังนั้นเราจึงไม่ใช่นักฝัน  แต่เราคือผู้ตื่นจากฝันที่กำลังจะกลายเป็นฝันร้าย  เราไม่ได้กำลังทำลายสิ่งใด เราแค่กำลังเป็นสักขีพยานต่อระบบที่กำลังทำลายตัวมันเอง  เราต่างก็รู้ดีถึงฉากคลาสสิคจากหนังการ์ตูนทอมแอนด์เจอรี่ เจ้าแมวเดินมาถึงหน้าผา แต่กลับเดินต่อไปไม่รู้ไม่ชี้ เพิกเฉยราวกับไม่มีอะไรอยู่เบื้องล่าง  แต่แล้วเมื่อมันมองลงไปและเริ่มสังเกต มันก็ร่วงตกเหว  นี่คือสิ่งที่เรากำลังทำกันอยู่ที่นี่  เรากำลังบอกผู้คนในวอลล์ สตรีท ... เฮ้ย! มองข้างล่าง!”

ดังที่สลาวอยกล่าวและไมเคิลเน้นย้ำ  เรากำลังเริ่มตื่นขึ้นจากความฝันนั้น  นั่นถือเป็นวิธีอธิบายที่น่าสนใจ เพราะพระพุทธเจ้าก็ตื่นขึ้นจากฝันเช่นเดียวกัน  พุทธะ หมายถึง “ผู้ตื่น”  เขาตื่นขึ้นจากความฝันอันใดกัน  และความฝันนั้นสัมพันธ์กับฝันร้ายในยุคสมัยของเราหรือไม่?

ตั้งแต่แรกเริ่ม #OWS ถูกวิจารณ์ในความไม่ชัดเจนของข้อเรียกร้อง แม้จะชัดเจนว่า ต่อต้าน ระบบปัจจุบัน แต่ก็ไม่ชัดเจนนักว่าข้อเรียกร้องนั้นมีขึ้นเพื่ออะไร  จากนั้นดูเหมือนว่าการระดมความคิดและข้อมูลจะพัฒนาขึ้น  ผู้ประท้วงหลายคนเรียกร้องให้มีการเก็บภาษีคนรวยให้สูงขึ้น เสนอให้มีการเสียภาษีการค้า (Tax on Trades) ที่เรียกว่า “โรบินฮู้ด” (โทบิน) และการปฏิรูประบบการเงิน เพื่อแยกธนกิจเพื่อการพาณิชย์กับธนกิจเพื่อการลงทุนออกจากกัน  ประเด็นเหล่านี้เป็นเป้าประสงค์ที่มีคุณค่า แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่จะสรุปว่าข้อเสนอเหล่านั้นในตัวมันเองจะแก้ไขปัญหาพื้นฐานได้ทั้งหมด   เราต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกไม่พอใจอันไม่เฉพาะเจาะจงไปยังเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ผู้คนจำนวนมากรู้สึก เพราะมันสะท้อนถึงการตระหนักรู้ทั่วไปอันไม่เฉพาะเจาะจง  การตระหนักรู้ที่ว่า...รากของวิกฤตนั้นหยั่งลึกมาก และเราต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงราก (ตรงตามตัว) 

วอลล์ สตรีท คือส่วนที่มองเห็นและเข้มข้นที่สุดของฝันร้ายที่ใหญ่กว่านั้นมาก อันได้แก่ มายาคติแบบรวมหมู่ที่ว่า ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันทั้งในแง่โลกาภิวัฒน์ บริโภคนิยม และทุนนิยมบรรษัท ไม่ใช่แค่ระบบที่ดีที่สุด แต่เป็นระบบเดียวที่เป็นไปได้ ดังคำกล่าวอันลือลั่นของมากาเร็ต แท็ตเชอร์ที่ว่า “มันไม่มีทางอื่น”  ทว่าหลายเหตุการณ์ในรอบสองสามปีที่ที่ผ่านมาได้สั่นคลอนความมั่นใจที่ว่านั้น  และเหตุการณ์ในสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมา คือปฏิกิริยาสะท้อนการตระหนักรู้ที่ลุกลามออกไป ว่าระบบเศรษฐกิจของเรานั้นเอื้อประโยชน์ให้แก่คนมีอันจะกิน (พวก ๑ %) ในค่าใช้จ่ายที่คนชั้นกลาง (ลดเร็ว) และคนจน (เพิ่มเร็ว) ต้องเสีย  และแน่นอนว่ายังรวมถึงหายนะของระบบนิเวศทั้งหลาย ซึ่งจะส่งผลไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน  สิ่งที่เรากำลังตื่นขึ้นคือข้อเท็จจริงที่ว่าระบบอันอยุติธรรมนั้นกำลังพังครืนลง และมัน “สมควร” แล้วที่จะพัง เพื่อว่าทางเลือกอื่นจะสามารถพัฒนาขึ้นได้

ไม่เพียงแค่ระบบเศรษฐกิจเท่านั้นที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงราก เพราะในความเป็นจริง หาได้มีเส้นแบ่งระหว่างเศรษฐกิจกับการเมืองไม่  ด้วยคำตัดสินของศาลสูงสุดต่อกรณี ”Citizens United” เมื่อปีที่แล้วที่ได้ยกเลิกเพดานเงินสนับสนุนที่บรรษัทข้ามชาติสามารถสนับสนุนพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง อำนาจของบรรษัทยักษ์ใหญ่จึงสามารถเข้ามาควบคุมองค์กรส่วนกลางและหน่วยงานรัฐชั้นสูงทั้งหมด รวมถึงทำเนียบประธานาธิบดีด้วย (โอบาม่าได้รับเงินสนับสนุนการหาเสียงเลือกตั้งจากวอลล์ สตรีทมากกว่าประธานาธิบดีคนอื่นๆ ทั้งหมดตั้งแต่ปี ๑๙๙๑ เป็นต้นมา ซึ่งช่วยอธิบายทางเลือกที่น่าผิดหวังของที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของเขา)  วันนี้ปัญญาชนสามารถสลับหมวกไปมาได้อย่างง่ายดาย จากซีอีโอไปสู่ตำแหน่งในคณะรัฐบาล และอื่นๆ  เพราะว่าทั้งสองด้านต่างก็ยึดโลกทัศน์แบบเดียวกัน นั่นคือทางแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจ  และแน่นอนว่าพวกเขาก็คือกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากวิสัยทัศน์แบบเกี๊ยะเซี๊ยะนี้มากที่สุด ซึ่งนั่นหมายถึงความท้าทายของพวกเราที่เหลือ ที่ต้องตระหนักว่ากลุ่มคนที่ควบคุมระบบการเมืองและเศรษฐกิจทั้งหมด แทบไม่มีความมุ่งมั่นใดๆ ต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากให้เกิดขึ้นได้เลย

แม้ว่าพรรคเดโมแครตจะไม่ได้กลายเป็นตัวตลกแบบเดียวกับพรรครีพับลิกัน ทว่าในขั้นพื้นฐานนี้ก็แทบไม่มีข้อแตกต่างอะไรระหว่างพรรคการเมืองทั้งสอง  แดน แฮมเบิร์ก วุฒิสภาพรรคเดโมแคร็ตจากรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวข้อสรุปจากหลายปีในการดำรงตำแหน่งวุฒิสภาสหรัฐฯ ว่า “รัฐบาลตัวจริงของประเทศเรา คือระบบเศรษฐกิจที่ถูกครอบงำโดยบรรษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งทำทุกวิถีทางให้รัฐต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของพวกเขา สร้างบรรยากาศและความมั่นใจต่อการลงทุน ที่บรรษัทเหล่านั้นและผู้ลงทุนสามารถแสวงหาผลกำไรเป็นตัวเลขมหาศาล อันเป็นเป้าหมายของทั้งสองพรรคใหญ่”  นอกจากนั้นเรายังมีรัฐสภาที่ดีที่สุดที่เงินสามารถซื้อได้  ดังที่วิล โรเจอร์ส ตั้งข้อสังเกตไว้ตั้งแต่ยุค ๑๙๒๐

จากทัศนะของพุทธศาสนา ประเด็นคือระบบทั้งหมดนี้ไม่สอดคล้องกับคำสอนพุทธศาสนา เพราะมันเป็นระบบที่ส่งเสริมความโลภและความหลง อันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์  แก่นของวิกฤติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือบทบาททางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของบรรษัทข้ามชาติทั้งหลาย อันดำรงอยู่ได้อย่างเป็นเอกเทศโดยตัวมันเอง และกระทำการเพื่อเป้าหมายแอบแฝงของตัวเองอีกด้วย  นอกเหนือจากการประชาสัมพันธ์และโฆษณาชวนเชื่อต่อสาธารณะที่พวกเราต่างรู้กันดี  สิ่งที่บรรษัทเหล่านั้นสนใจที่สุดแตกต่างไปจากสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพวกเรา  บางครั้งเราจะได้ยินเกี่ยวกับ “บรรษัทรู้แจ้ง” ทว่าอุปมาอุปมัยนั้นหลอกลวงและไม่มีอะไรเหมือนกันระหว่าง “การรู้แจ้ง”แบบนั้น กับการรู้แจ้งที่สอนกันในพุทธศาสนา

อำนาจที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ของบรรษัทยักษ์ใหญ่ ค่อยๆ พัฒนาสู่ความเป็นสถาบันในปี ๑๘๘๖  เมื่อศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ได้ออกกฏหมายให้บรรษัทเอกชนกลายเป็น “บุคคลโดยธรรมชาติ” ภายใต้รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ และได้รับการปกป้องภายใต้รัฐบัญญัติสิทธิ (Bill of Rights) ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น  นี่แสดงให้เห็นชัดถึงปัญหาอันน่าขัน ดังที่โปสเตอร์ของผู้ประท้วงหลายชิ้นได้อ้างถึง  บรรษัททั้งหลายไม่ใช่คน เพราะว่ามันคือการผลิตสร้างทางสังคม และที่แน่ๆ คำว่าการรวมตัวกันเป็นบริษัท (incorporations: from the Latin corpus, corporis “ร่างกาย”) ไม่ได้หมายความถึงการมีร่างกาย  บรรษัททั้งหลายเป็นเพียงนวนิยายทางกฏหมายที่สร้างขึ้นโดยหน่วยงานของรัฐ ซึ่งหมายความว่าโดยธรรมชาติภายใน พวกมันเพิกเฉยต่อหน้าที่ความรับผิดชอบที่ผู้คนสัมผัสได้  บรรษัทไม่สามารถหัวเราะหรือร้องไห้  มันไม่สามารถรื่นรมย์กับโลกหรือมีความทุกข์กับโลก  มันไม่รู้สึกเสียใจต่อสิ่งที่มันทำ (บางโอกาสมันอาจขอโทษ แต่นั่นเป็นเพียงความสัมพันธ์ที่มีต่อสาธารณะเท่านั้น)

ที่สำคัญที่สุด บรรษัทข้ามชาตินั้นไม่สามารถรักใครได้  ความรักคือการตระหนักถึงความเชื่อมสัมพันธ์กับคนอื่น และใช้ชีวิตเพื่อประโยชน์สุขของพวกเขา  ความรักไม่ใช่อารมณ์ชั่ววูบแต่เป็นการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้อื่น ซึ่งรวมถึงความรับผิดชอบต่อผู้คน ความรับผิดชอบที่ข้ามพ้นความสนใจแต่เรื่องของตัวเอง  บรรษัทข้ามชาติทั้งหลายไม่สามารถสัมผัสกับความรัก หรือกระทำการใดๆ ตามอำนาจของความรัก  ซีอีโอคนใดก็ตามที่พยายามจะบริหารกำไรของบริษัทด้วยความรักที่มีต่อโลกใบนี้ จะถูกไล่ออกจากตำแหน่งทันที เพราะพวกเขากำลังเพิกเฉยต่อการเติมเต็มเป้าหมายหลัก นั่นคือการแสวงหาผลกำไรสูงสุด อันเป็นความรับผิดชอบที่พวกเขาต้องมีต่อเจ้าของและผู้ถือหุ้นทั้งหลาย

การรู้แจ้งในทางพุทธ โดยนัยหนึ่ง คือการตระหนักว่า สัญชาตญาณของการมีชีวิตอยู่ในแง่ตัวตนที่แยกขาดจากโลกนั้นเป็นมายาคติที่ก่อให้เกิดความทุกข์ทั้งสองทาง (ทั้งต่อโลกและต่อตัวฉัน)   การตระหนักว่าฉัน เป็น โลกใบนี้  และตระหนักว่า “ฉัน” เป็นหนึ่งในหลายหนทางที่โลกใบนี้เผยแสดง -- ถือเป็นด้านแห่งการรับรู้ความรักอันเป็นสากล ซึ่งอริยบุคคลผู้รู้แจ้งรู้สึกต่อโลกใบนี้และสรรพชีวิตที่อาศัยอยู่  การรู้แจ้ง(ปัญญาญาณ) และความรัก (กรุณา) คือสองด้านของเหรียญเดียวกัน ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมธรรมาจารย์ในพุทธศาสนาจึงเน้นย้ำอยู่บ่อยๆว่ า การตื่นรู้อย่างแท้จริงจะมาพร้อมกับความรักต่อสรรพชีวิตบนโลกใบนี้

บรรษัทถูก “เติมเชื้อ” พร้อม ๆ ไปกับการเสริมสร้างลักษณะความเป็นมนุษย์ในแบบที่แตกต่างจากทั่วๆไป ระบบเศรษฐกิจที่ครอบงำโดยบรรษัทข้ามชาติต้องอาศัยความโลภในอย่างน้อยสองทางด้วยกัน คือ หนึ่ง ความปรารถนาที่จะแสวงหาผลกำไรแบบไม่บันยะบันยัง และนั่นคือเครื่องจักรของกระบวนการทางเศรษฐกิจ และสอง การจะรักษาผลเติบโตทางเศรษฐกิจให้พุ่งสูงยิ่งขึ้น จะต้องมีการสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าเกิดความต้องการมากขึ้นอยู่เสมอ

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับความโลภได้กลายเป็นเรื่องแย่หนักขึ้นไปอีก เมื่อถูกทำให้กลายเป็นสถาบันในรูปของโครงสร้างอันถูกต้องตามกฏหมายที่ได้ยึดครองอภิสิทธิ์อย่างเป็นอิสระจากคุณค่าในตัวมันเองและแรงจูงใจของผู้คนที่ถูกใช้โดยมัน  ยกตัวอย่างเช่น ตลาดหุ้น  โดยนัยหนึ่ง นักลงทุนต้องการเพิ่มรายได้ในรูปของโบนัสและราคาหุ้นที่สูงขึ้น และอีกนัยหนึ่งความคาดหวังอันไม่ระบุนามนี้ได้แปรไปสู่แรงกดดันอันต่อเนื่องต่อผลกำไรและการเติบโตทางธุรกิจในระยะสั้น  ส่วนสิ่งอื่นๆ รวมถึงสิ่งแวดล้อม การจ้างงาน และคุณภาพชีวิต ได้กลายเป็น “สิ่งนอกตัว” ภายใต้ความต้องการอันไม่ระบุนาม ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ไม่มีทางจะเติมเต็มได้  เราต่างมีส่วนร่วมในกระบวนการที่ว่านี้ ในฐานะคนงาน ลูกจ้าง ผู้บริโภค และนักลงทุน  ซึ่งมีความรู้สึกรับผิดชอบทางศีลธรรมเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย เพราะการตระหนักรู้เช่นนั้นได้สูญหายไปภายใต้ความไม่เป็นบุคคลของระบบทั้งหมด

แต่เราอาจแย้งว่า บรรษัทบางแห่ง (ซึ่งมักเป็นบริษัทขนาดเล็กหรือบริหารงานกันในครอบครัว) ให้การดูแลลูกจ้างของพวกเขาเป็นอย่างดี และยังห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ  ข้อโต้แย้งลักษณะนี้เป็นข้อโต้แย้งเดียวกับเรื่องทาส ที่ว่านายทาสบางคนดูแลลูกทาสของพวกเขาอย่างดี แต่นี่ไม่อาจหักล้างข้อเท็จจริงที่ว่าสถาบันทาสนั้นมาถึงจุดที่สุดจะทานทน เช่นเดียวกับที่ทุกวันนี้ เป็นเรื่องที่ไม่อาจทนได้อีกต่อไปที่คุณภาพชีวิตรวมถึงวิธีการจัดสรร “ทรัพยากร” อันจำกัดของโลกใบนี้กำลังเป็นไปเพื่อผลกำไรสูงสุดของบรรษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย

โดยย่อ เรากำลังตื่นขึ้นมาสู่ความจริงที่ว่า แม้บรรษัทข้ามชาติทั้งหลายอาจทำกำไรได้มากมายในทางเศรษฐกิจ ทว่าพวกมันก็ถูกสร้างขึ้นในหนทางที่ทำให้ตัวมันเองมีข้อบกพร่องในทางสังคม  เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่พวกมันสร้างขึ้นอยู่ตลอด ด้วยการชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นปัญหาในทุก ๆ ครั้ง (มอร์แกน สแตนลีย์, แบงก์ออฟอเมริกา) เพราะว่ามันคือตัวสถาบันเองต่างหากที่เป็นปัญหา  เมื่อได้รับอำนาจอันยิ่งใหญ่เหนือกระบวนการทางการเมือง การท้าทายบทบาทของมันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่าพวกมันมีสายสะดืออันใหญ่ นั่นคือ ข้อตกลงของบรรษัทสามารถถูกเขียนขึ้นใหม่โดยเพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม  กลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายก้าวหน้าทางจิตวิญญาณ (Network of Spiritual Progressives) ได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดชอบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม Environmental and Social Responsibility Amendment (ESRA) ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐเพื่อให้มีผลบังคับใช้  หากโชคชะตาของเรา คือการอยู่ในอุ้งมือของบรรษัทต่อไป บรรษัทเหล่านั้นจะต้องมีความรับผิดชอบต่อชุมชนที่บรรษัทนั้นตั้งอยู่ ไม่ใช่ต่อกลุ่มนักลงทุนซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร บางที #OWS คือจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวซึ่งจะทำให้สิ่งนี้ประสบผลสำเร็จก็เป็นได้

ทว่า เพียงเท่านี้อาจไม่เพียงพอ  มีสิ่งที่สำคัญและเป็นพื้นฐานยิ่งกว่า นั่นคือโลกทัศน์ที่ส่งเสริมและให้เหตุผลต่อฝันร้ายทางเศรษฐกิจที่เรากำลังจะตื่นขึ้นมาจากมัน  ในพุทธศาสนา ปัญหาไม่ใช่อยู่แค่ความโลภ แต่ยังรวมถึงอวิชชา  ทฤษฎีที่ใช้กันบ่อยที่สุดเพื่อแก้ต่างให้กับทุนนิยมก็คือ “มือที่มองไม่เห็น” ของอดัม สมิทธิ์ ที่พยายามบอกเราว่าความสนใจของเราแต่ละคนนั่นเองที่ทำหน้าที่สร้างกำไรต่อสังคมส่วนรวมทั้งหมด  อย่างไรก็ดี ฉันยังสงสัยว่า บ่อยครั้งที่ซีอีโอทั้งหลายถูกจูงใจโดยบางสิ่งที่ดูน่าสนใจน้อยกว่า  มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่อิทธิพลของบรรษัทข้ามชาติเพิ่มสูงขึ้นพร้อมๆ กับการเป็นที่นิยมของทฤษฎีสังคมแบบดาร์วิน อันเป็นอุดมการณ์ที่ใช้ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินอย่างผิดๆ ต่อชีวิตทางสังคมและทางเศรษฐกิจ  “สังคมคือป่าทึบ และคนที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นที่จะมีชีวิตรอด” หากเธอไม่เอาเปรียบคนอื่น คนอื่นก็จะเอาเปรียบเธอ วิวัฒนาการแบบดาร์วินได้กำจัดความต้องการการมีอยู่ของ “ผู้สร้าง” และความต้องการที่จะปฏิบัติตามพระประสงค์ของท่าน มาถึงตอนนี้มันคือการต่อสู้เพื่อจะยืนด้วยลำแข้งตัวเองของคนทุกคน

ทฤษฎีทางสังคมแบบดาร์วินสร้างวงจรป้อนกลับ (feedback loop) ขึ้นมา ยิ่งมีคนศรัทธาและปฏิบัติตามมากเท่าไร สังคมก็ยิ่งกลายเป็นผืนป่าทางสังคมแบบดาร์วินมากเท่านั้น  นี่คือตัวอย่างคลาสสิคของวิธีการที่เราร่วมกันสร้างโลกที่เราอยู่ขึ้นมา และนี่อาจเป็นที่ที่พุทธศาสนามีคุณูปการมากที่สุด เพราะว่าพุทธศาสนาได้ให้โลกทัศน์ทางเลือก อันตั้งอยู่บนความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ที่ลึกซึ้งยิ่งกว่า ซึ่งมุ่งอธิบายว่าทำไมเราจึงไม่มีความสุขและทำอย่างไรที่เราจะมีความสุขยิ่งขึ้น  งานวิจัยล่าสุดทางจิตวิทยาและทางเศรษฐศาสตร์ยืนยันถึงบทบาททำลายล้างของความโลภ และความสำคัญของสายสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับคำสอนในพุทธศาสนาเรื่องการแบ่งปัน และการเอื้ออิงอาศัยกัน

อีกนัยหนึ่ง ไม่ใช่แค่ระบบเศรษฐกิจและระบบการเมืองเท่านั้นที่เป็นปัญหา แต่ยังรวมถึงโลกทัศน์ผิดๆ ที่ส่งเสริมความเห็นแก่ตัวและการแก่งแย่งแข่งขัน แทนที่การอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน และความปรองดองกันฉันท์มิตร  ในสังคมตะวันตกได้เกิดรอยแยกระหว่างความเชื่อเทวนิยมที่ค่อยๆ กลายเป็นสิ่งที่ยากที่จะเชื่อ และอุดมการณ์แบบหมากินหมา ซึ่งได้ทำให้ชีวิตย่ำแย่หนักเข้าไปอีกสำหรับทุกคน  โชคดีที่ ณ ปัจจุบันนี้เรามีทางเลือกอื่นๆ 

พุทธศาสนายังมีสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้จาก #OWS นั่นคือ การจะมุ่งเน้นไปที่การตื่นจากความฝันของเราแต่ละคนในแง่ปัจเจกเท่านั้นยังไม่พอ  ถึงเวลาที่เราต้องตื่นขึ้นจากฝันร้ายแบบรวมหมู่ไปด้วยกัน  แล้วนี่ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือที่จะนำเอาการปฏิบัติภาวนาออกมาสู่ท้องถนน?

"หากเรายังคงทำร้ายโลกในหนทางเช่นนี้ ก็ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าความเจริญรุ่งเรืองของมนุษยชาติกำลังจะพินาศในท้ายที่สุด  การหมุนกลับนี้ต้องอาศัยการตื่น หรือการรู้แจ้ง  พระพุทธะบรรลุถึงการรู้แจ้งเชิงปัจเจก  แต่ในตอนนี้ เราต้องการการรู้แจ้งร่วมกันเพื่อหยุดยั้งวิถีทางแห่งการทำลายล้าง  ความเจริญรุ่งเรืองกำลังเดินทางมาถึงจุดจบ หากเรายังคงจ่อมจมอยู่กับการแก่งแย่งแข่งขัน เพื่อช่วงชิงอำนาจ ชื่อเสียง เซ็กซ์ และผลกำไร"  

 ---- ติช นัท ฮันห์
(แปลจาก Waking Up from the Nightmare: Buddhist Reflections on Occupy Wall Street by David Loy)

 

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชาญณรงค์ บุญหนุน กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์  พจนะลาวัณย์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร 1.