พุทธทาสกับความเป็นขบถเสรีภาพในพุทธศาสนาไทย

 



ถ้อยคำล้อรำลึกเนื่องในโอกาสวันล้ออายุพฤษภาคม 2556

วิจักขณ์ พานิช 
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

 

ถ้อยคำล้อรำลึกเนื่องในโอกาสวันล้ออายุ พฤษภาคม 2556

วิจักขณ์ พานิช

เสรีภาพในการตีความคำสอน เป็นสิ่งที่สำคัญมากในจะเคลมว่าตนเป็นศาสนาแห่งปัญญา ทว่ากลับเป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกสนับสนุนให้เกิดขึ้นเลยในการศึกษาพุทธศาสนาในบ้านเรา ช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา พุทธศาสนาแบบรัฐได้มอบชุดการตีความชุดหนึ่ง ที่อ้างอิงอยู่กับตัวบุคคล พระคัมภีร์ และสถานะอันสูงส่งของศาสนาอยู่ตลอดเวลา และการศึกษาศาสนาก็สอนให้ผู้เรียนและผู้ปฏิบัติเกิดความเชื่อถือศรัทธา มากกว่าส่งเสริมให้เกิดการคิดใคร่ครวญและตั้งคำถาม

การไม่ส่งเสริมเสรีภาพในการตีความคำสอน ทำให้ชาวพุทธไทยมีจินตนาการที่คับแคบลงอย่างน่าใจหาย และบ่อยครั้งออกแนวขัดฝืนต่อโลกของความเป็นจริง โดยยึนยันความถูกต้องในแบบของตนด้วยสถานะที่เหนือกว่า  จินตนาการชุดเดียวที่พุทธศาสนาแบบรัฐมอบให้ก็คือ การมองศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงของรัฐ, "ชาติ ศาสน์ กษัตริย์" ที่หล่อหลอมให้คนเชื่อง และเป็นคนดีในแบบที่รัฐต้องการ และจินตนาการดังกล่าวก็ย้อนกลับมามีอิทธิพลต่อการปิดกั้นเสรีภาพและจินตนาการของการตีความคำสอนทางศาสนาเอง 

บุคคลสำคัญที่ต่อสู้ในเรื่องนี้ และเปิดจินตนาการการตีความคำสอนให้กับพุทธศาสนาไทยอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ก็คือท่านพุทธทาส โดยที่เราต้องไม่ลืมว่า การก่อตั้งสวนโมกข์ เกิดขึ้นเพราะการปฏิเสธแนวทาง สถานะ และการตีความคำสอน/ธรรมวินัย ตามแบบพุทธศาสนาของรัฐโดยตรง

ทว่าหลังมรณภาพ ท่านพุทธทาสก็ถูกทำให้กลายเป็นบุคคลสำคัญของรัฐ เป็นปูชนียบุคคล บุคคลดีเด่น บุคคลแห่งชาติไป ...การยกย่องตัวบุคคล ยกย่องคำสอน สวมทับเข้ากับวัฒนธรรมคลั่งไคล้เซเล็บบริตี้ในโลกทุนนิยม ทำให้ความเป็นพุทธทาส (ที่ครั้งหนึ่งถูกมองว่าเป็นขบถ) "ขายได้" และกลับมาสอดรับกับจินตนาการของรัฐอีกครั้ง

งานที่สำคัญที่สุดของท่านพุทธทาส คือ การเปิดจินตนาการ ความบ้า และการปลุกมโนธรรมสำนึกให้คนธรรมดาๆ เห็นความสำคัญของเสรีภาพในการตีความคำสอน และกล้าตั้งคำถามต่อความเชื่อทางศาสนาอย่างถึงราก ไตร่ตรอง ลองผิดลองถูก ตีให้แตก จนการเข้าถึงคุณค่าทางศาสนา กลายเป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของเราเอง ไม่ใช่ถูกยัดเยียดให้เชื่อถือ เพราะสถานะ

 ... พุทธของปุถุชนที่ท่านพุทธทาสเริ่มต้นไว้ ไม่ควรสิ้นสุดลงแค่นั้น

พุทธทาสพอกันทีกับการเรียนบาลีแบบนกแก้วนกขุนทอง และการตีความธรรมวินัยแบบศรีธนญชัยที่เขาพบเห็นในกรุงเทพฯ หลังจากสอบตกประโยค 4 ก็ตัดสินใจเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อขับเคลื่อนงานด้านศาสนาด้วยตนเองจากการสนับสนุนของน้องชายและมิตรสหาย ผลงานแปลอาทิ อริยสัจจากพระโอษฐ์ คัมภีร์เว่ยหล่าง ฮวงโป และที่ลุ่มลึกน่ายกย่องที่สุดก็คือ บทสวดมนต์แปลฉบับสวนโมกข์ และการตีความธรรมวินัยตาม “วิถีสวนโมกข์”

จะว่าไป งานทั้งหมดที่ท่านพุทธทาสทำตลอดทั้งชีวิต ก็คืองานแปลความ การถอดความ ตีความคำสอนพุทธศาสนานั่นเอง ....ในพุทธศาสนาธิเบตเรียกครูบาอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ว่า “The Great Translator“ ในแต่ละยุคแต่ละสมัยผู้สืบทอดสายธรรมมีหน้าที่จะฝึกฝนตัวเองผ่านประสบการณ์ตรง ในลักษณะดังกล่าว เพื่อให้คำสอนไม่ถูกมองเป็นวัตถุสิ่งของอันล้ำค่า ที่ผู้คนหลงผิดว่าสูงส่งและมีอำนาจในตัวมันเอง คำสอนจะต้องเป็นคำสอนที่มีชีวิตและสอดคล้องกับบริบทความทุกข์ทั้งในแง่ปัจเจกและสังคม

แม้พุทธทาสจะพยายามย้อนกลับไปหาราก ความเป็นพระแบบสมณะ ทว่าในอีกด้านหนึ่ง “พุทธศาสนาแบบทางการ” ก็ยังคงครอบงำจินตนาการของชาวพุทธไทยอยู่ตลอดเวลา เปรียบเหมือนอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่อสู้กันระหว่าง อุดมการณ์แบบคณะราษฎร กับอุดมการณ์แบบราชาชาตินิยม  คำว่า “พุทธศาสนา” ก็แทบไม่ต่างกับคำว่า “ประชาธิปไตย” ..เมื่อถูกตีความด้วยอุดมการณ์คนละชุด ก็ย่อมให้ความหมายคนละอย่างโดยสิ้นเชิง ดังนั้นแม้พุทธทาสจะทิ้งเมล็ดพันธุ์แห่งเสรีภาพ ความกล้าหาญ และความเปิดกว้างทางจินตนาการไว้ ทว่าหากการตีความคำสอน ชีวิต และผลงานเหล่านั้น ยังคงถูกกระทำผ่านชุดอุดมการณ์ของพุทธศาสนาแบบรัฐ ซึ่งเน้นที่ความสูงส่ง การยึดติดตัวบุคคล และการปิดกั้นการถกเถียง เสวนา และวิพากษ์วิจารณ์ พุทธทาสในแง่ความเป็นขบถก็อาจถูกทำให้กลายเป็นอำนาจนิยมพุทธทาสไปในที่สุด 

 

ทุกวันนี้ มีคนจำนวนมากมายที่อ้างว่าตนเป็นศิษย์พุทธทาส คำสอนมากมายกลายเป็นวรรคทองที่ใช้กันในหมู่ชาวพุทธไทย เช่น “ตัวกู-ของกู” “จิตว่าง” “คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง” “เผด็จการโดยธรรม” แม้แต่คำว่า “ศิษย์พุทธทาส”หรือ “ศิษย์สวนโมกข์” เองก็ตาม ในสมัยที่พุทธทาสยังมีชีวิตอยู่ คำเหล่านี้ ก็ใช่ว่าจะมีคนเข้าใจและเห็นด้วยมากนัก ทว่าภายในช่วงเวลาไม่กี่สิบปี พุทธทาสได้ถูกกระบวนการทำให้เป็นที่ยอมรับ กระบวนการทำให้ดัง กระบวนการทำให้เป็นบุคคลดีเด่นแห่งชาติ และกระบวนการทำให้เป็นเซเล็บบริตี้ทางจิตวิญญาณ ซึ่งอาจถือว่าเป็นกลไกและเครื่องมือสำคัญของ status quo ในการสะกัดกั้นพลังแห่งการตื่นรู้ การวิพากษ์วิจารณ์ และเสรีภาพในการตั้งคำถามของปัจเจกบุคคล  ใครที่เริ่มทำอะไรใหม่ เริ่มจุดประกายสิ่งที่แตกต่าง เริ่มถีบตัวเองออกจากกลุ่มก้อนทางสังคม เริ่มก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง บุคคลเหล่านั้นก็จะถูกสะกัด ด้วยกระบวนการทำให้ดัง ทำให้มีชื่อเสียง และ “ถูกโหน” …จนหยุดไปต่อ หยุดเดินทางต่อในที่สุด  

ทุกวันนี้ใครๆ ก็อ้างพุทธทาส เพราะคำสอนของพุทธทาส และความเป็นพุทธทาส มีสถานะของการเป็นที่ยอมรับในตัวมันเอง พุทธทาสที่พวกเขาอ้าง สะท้อนความเป็นขบถเล็กๆ ความกล้าแหวกกรอบประเพณีหน่อยๆ การมีความคิดสร้างสรรค์ทำอะไรใหม่ๆ เก๋ๆ แต่ก็เพื่อการเป็นที่ยอมรับของสังคมในวงกว้างด้วย  ที่สำคัญคือพุทธทาส “ขายได้” ในตลาดทุนนิยมสมัยใหม่ หลังจากการเกิดขึ้นของสวนโมกข์กรุงเทพฯ “พุทธทาส” และ “สวนโมกข์” ก็เข้าสู่ตลาดทางจิตวิญญาณอย่างเต็มตัว แน่นอนว่าข้อดีในด้านการเผยแผ่ธรรมะก็มีมาก ทว่าจิตวิญญาณของการท้าทายและตั้งคำถาม passion และความป่า (wild) ของพุทธทาสและสวนโมกข์ก็ถูกลดทอนไปมากด้วยเช่นกัน 

ครั้งหนึ่งสิ่งที่พุทธทาสคิด พูด และทำ เคยถูกกล่าวหาว่าผิดเพี้ยน เขาคือพระที่รับนิมนต์จากปรีดี พนมยงค์ อ่านสังคมศาสตร์ปริทัศน์ และคบหาปัญญาชนหัวก้าวหน้าในยุคสมัยนั้น เขาคือพระที่ครั้งหนึ่งเคยถูกให้ชื่อว่า “พระบ้า” หรือ “พระคอมมิวนิสต์” คำสอนอย่างสุญญตา จิตว่าง หรือ เซน เคยถูกล้อเลียนและเสียดสี บ้างก็ถูกค่อนแคะว่าเป็นพระมหายาน มารศาสนา หรือบิดเบือนพุทธศาสนาของแท้ให้ผิดเพี้ยนบ้าง สิ่งปลูกสร้างในสวนโมกข์แทบไม่มีชิ้นไหนที่ตรงตามที่กำหนดไว้โดยรัฐ บทสวด พิธีกรรม และธรรมวินัย แทบทั้งหมดถูกตีความใหม่โดยพระขบถผู้รักในเสรีภาพทางสติปัญญายิ่งกว่าการเป็นที่ยอมรับทางสังคม แม้แต่วาระสุดท้าย พินัยกรรม ที่พุทธทาสเขียนไว้ ก็ยังคัดง้างกับความคาดหวังของ “ศิษย์พุทธทาส” มากมายที่ดูจะเริ่มหลงทิศหลงทางไปกับความยิ่งใหญ่ของภูเขาพุทธทาสที่พวกเขายึดมั่น จนบดบังไม่ให้เห็นแสงสว่างของความตื่น  

 

มาถึงวันนี้ พุทธทาสจากโลกนี้ไปเกือบ ๒๐ ปีแล้ว…

ศิษย์พุทธทาสมีอยู่มากมายแทบนับไม่ถ้วน

คำสอนพุทธทาสฟุ้งกระจายอยู่ทุกแห่งหน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืด ถ้วยกาแฟ ถุงผ้า หรือเคสมือถือ

 

แต่จะยังมีใครกล้าเดินตามรอยพระบ้า และขบถเสรีภาพคนนี้อยู่อีกหรือไม่?

ความเป็นพุทธทาสแท้ที่จริงแล้วคืออะไร?

ดูเหมือนภารกิจของคนรุ่นนี้ ก็คือการข้ามภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรมในนาม “พุทธทาส” ไปให้ได้ และทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับการกล้าตีความหมายของคนรุ่นใหม่อีกนั่นเอง...



[ตีพิมพ์ครั้งแรกใน จุลสารป๋วย ]