Skip to main content

วิจักขณ์​ พานิช
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

 

ภาพ: banksy


๑) สวนโมกข์กับกล้องวงจรปิด

พุทธทาสจากโลกนี้ไปเกือบ ๒๐ ปีแล้ว ช่วงเวลาภายหลังการตายของธรรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ คือช่วงเวลาที่ยากลำบากช่วงหนึ่งของศิษย์ พวกเขาจะดูแล สานต่อ สืบต่อ ผลงาน คำสอน สิ่งปลูกสร้าง ที่อาจารย์ผู้เป็นที่เคารพรักของพวกเขาริเริ่มสร้างสรรค์ขึ้นอย่างไร พลังแห่งความตื่นที่กว้างขวางและหลากหลายในจิตใจที่รู้แจ้ง จะถูกให้คำนิยาม บทสรุป และการตีความอย่างไร จึงจะสะท้อนถึง integrity ของอาจารย์คนนั้น และให้ภาพแทนที่ตรงกันเป็นภาพเดียว? 

ด้านหนึ่งคือ integrity อีกด้านหนึ่งคือภาพแทน integrity ซึ่งหลายคนอยากให้เป็นภาพเดียว เพื่อจะได้ง่ายต่อการยึดถือ ...น่าเสียดายที่หลายครั้งแนวทางการรักษาสองอย่างนี้ มักจะขัดแย้งกันอยู่เสมอๆ

integrity ของพุทธทาสคืออะไร? นั่นคือคำถามที่หนึ่ง 

integrity ในตัวบุคคลที่เป็นอิสระ จิตใจเปิดกว้าง และรักในเพื่อนมนุษย์ เป็นอะไรที่เข้าใจได้ยาก เพราะมันคือเส้นทางที่แต่ละคนจำเป็นต้องเอาตัวลงมาสัมผัสด้วยตัวเอง บางครั้งมันช่างย้อนแย้ง บางครั้งมันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถวิเคราะห์ หรืออธิบายได้ด้วยคำพูด เขาเผชิญความทุกข์อย่างไร เผชิญปัญหาอย่างไร เผชิญผู้คนอย่างไร ... เขาเผชิญกับสิ่งล่อใจอย่างไร ยศฐาบรรดาศักดิ์อย่างไร คำสรรเสริญเยินยออย่างไร ... เขาฝึกตนอย่างไร ซื่อตรงกับตัวเองอย่างไร

integrity เหล่านี้ ส่วนใหญ่มักส่งต่อผ่านเรื่องเล่า integrity เป็นคำที่มีความหมายที่ยิ่งใหญ่ แต่กลับสะท้อนอยู่ในเหตุการณ์เล็กๆ ในชีวิตประจำวัน มันคือสิ่งที่ศิษย์สังเกตเห็น ประทับใจ สะเทือนใจ สะท้อนใจ มันคือการตักเตือน การถากถาง ความย้อนแย้ง ความสับสน บทเรียน และช่วงเวลาของการเรียนรู้อะไรบางอย่างร่วมกันของครูและศิษย์ ซึ่งสำหรับผม การจะเข้าใจ integrity ของอาจารย์ที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง ยิ่งมีเรื่องเล่าที่หลากหลายมากเท่าไร ยิ่งมีการตีความที่หลากหลายมากเท่าไร ยิ่งมีการเห็นต่าง มองต่าง ตีความต่าง รู้สึกต่าง แชร์ประสบการณ์จากแง่มุมที่แตกต่างมากเท่าไร ก็น่าที่จะทำให้ภาพของ integrity ปรากฏชัดขึ้นในใจเราแต่ละคนมากเท่านั้น 

แต่ไม่ว่าจะพยายามเพียงไร ไอ้ตัว integrity ที่ว่านั้น ก็ยากที่จะสามารถสรุปออกมาเป็นภาพเดียวได้ 

ส่วนภาพแทนพุทธทาสที่คนในสังคมส่วนใหญ่รับรู้นั้น คือ อีกคำถามหนึ่ง

พุทธทาสคือใคร ผลงานท่านมีอะไรบ้าง เราจะเผยแผ่งานของเขาให้กว้างไกลออกไปได้อย่างไร สวนโมกข์มีความน่าสนใจอย่างไร ควรค่าแก่การรักษาให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้อย่างไร เราจะสืบต่อและรักษาสิ่งที่เขาทำไว้อย่างไร ฯลฯ

สำหรับผม นั่นเป็นเรื่องของโลกธรรมทั่วๆไป ที่ต้องการจุดอ้างอิงที่เป็นรูปธรรมบางอย่างให้ยึดถือได้เกี่ยวกับอาจารย์ผู้นั้น การทำให้พลังการตื่นรู้ในตัวบุคคล กลายเป็นอะไรบางอย่างที่จับต้องได้ นิยามได้ ให้บทสรุปได้ ...กระบวนการทำให้แน่นิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง คือ แนวทางการสงวนรักษาที่ง่ายที่สุด 

"สวนโมกข์คืออะไร และพุทธทาส คือใคร?"

ในมุมมองของ integrity มันเป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ มันคือคำถามที่ควรถูกถามซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก จากการศึกษา จากการปฏิบัติ จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ จากการลองด้วยตัวเอง ผ่านการลองผิดลองพลาด จากการคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน รับฟัง เสวนา และโต้แย้งถกเถียงกัน แม้เรื่อง integrity เป็นเรื่องที่เห็นตรงกันได้ยาก ทว่าสวนโมกข์ในทางกายภาพ ในฐานะชุมชนสงฆ์ ก็น่าจะสะท้อนถึง integrity พื้นฐานอะไรบางอย่าง ไม่เช่นนั้น คงยากที่จะรู้สึกว่ามันคือสถานที่ที่สะท้อนถึงความเข้มแข็งของคำว่าสวนโมกข์ในจุดเริ่มต้น 

สองสามอาทิตย์ก่อน ผมเดินเข้าไปที่เคาน์เตอร์ฝั่งวัดสวนโมกข์... ระหว่างทาง ผมเห็นป้ายของทางการตามจุดต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นป้ายสถานที่ท่องเที่ยว ป้ายคำสอนแกะสลัก ป้ายโน่น ป้ายนี่ ... ผมสังเกตความเปลี่ยนแปลงนี้มาหลายปีแล้ว มันอาจเป็นความพยายามในการสานต่อ มันอาจเป็นการริเริ่มในการปรับตัว คิดใหม่ ทำใหม่ ...แต่ผมก็ยังรู้สึกโอเคกับมัน ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องตีโพยตีพายอะไ

จนกระทั่งวันนั้น ผมพบว่า ที่เคาท์เตอร์ฝั่งวัด มีการเปลี่ยนระบบการรับซอง เพื่อตรวจสอบความเป็นไปของเงินบริจาค และที่มากกว่านั้น คือมีการติดกล้องวงจรปิด

ผมมองไปที่กล้องวงจรปิดตัวนั้นอยู่นาน 
พยายามจดจำภาพนั้นเอาไว้ในจิตสำนึก 
...เพราะภาพที่เห็นคือกล้องวงจรปิดตัวแรกในประวัติศาสตร์สวนโมกข์

กล้องวงจรปิดตัวนั้น อาจเรียกได้ว่าเป็น revolution ของสวนโมกข์ในยุค post-พุทธทาส เลยก็ว่าได้ ซึ่งสำหรับผม มันกำลังสะท้อนถึงการสูญเสีย integrity พื้นฐานบางอย่างของศิษย์พุทธทาส อย่างที่ผมรู้สึกว่ามันจำเป็นต้องถูกพูดถึงและเขียนถึง


๒) กล้องวงจรปิด กับ พุทธศาสนาแบบรัฐ 

กล้องวงจรปิดในแง่หนึ่งอาจเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ธรรมดาๆ พิจารณาไปเรื่อยๆ ก็อาจพบความพัง ความเสื่อม และความเป็นอนิจจัง ดังเช่นสิ่งอื่นๆ 

ทว่าในมิติทางสังคม กล้องวงจรปิด สะท้อนถึงนัยยะของการควบคุม จับจ้อง ตรวจตรา อันอิงแอบอยู่กับคราบวาทกรรมของความน่าเชื่อถือ ตรวจสอบได้ ความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อย

ในขณะที่สังคมต่างประเทศ ประชาชนเริ่มตื่นตัวให้ถอดกล้อง cctv ออกจากพื้นที่สาธารณะ ทว่าในสังคมไทยกลับยังรู้สึกเห่อ และตื่นเต้นกับนโยบายการซื้อกล้อง cctv มาติดทั่วบ้านทั่วเมือง ในทุกพื้นที่สาธารณะ คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่ากล้องวงจรปิดหมายถึงความปลอดภัยในทรัพย์สิน หมายถึงกำลังเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าแทรกแซง ตรวจตราผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ กล้องวงจรปิดจึงถูกซื้อมาติดไว้ในทุกที่ ราวกับว่าสถานที่และทรัพย์สินเหล่านั้นปลอดภัยอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของรัฐหรือของทางราชการ 

ความยินยอมให้มีกล้องวงจรปิดทำหน้าที่ของมันในสถานที่หนึ่งๆ อาจหมายถึงความรู้สึกปลอดภัย และมั่นใจว่าจะไม่มีอะไรเล็ดลอดจากการสอดส่องดูแลได้ ทว่าอีกด้านหนึ่ง กล้องวงจรปิด ก็สะท้อนถึงการเชื่อถืออำนาจการตรวจสอบจากภายนอก (รวมถึงภาวะต่างคนต่างอยู่) มากกว่าการช่วยกันสอดส่องดูแลกันเองภายในชุมชน 

ชุมชนสงฆ์ หรือ สังฆะ คือ ชุมชนในอุดมคติ ที่ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม สร้างพื้นที่ของ "เสรีภาพ" ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ความสัมพันธ์ในฐานะเพื่อนร่วมทาง เพื่อนผู้ฝึกฝน สะท้อนอยู่ในวินัยสงฆ์อันมีจิตวิญญาณของการตรวจสอบตนเองเป็นสำคัญ ธรรมวินัยไม่ใช่กฏหมาย ไม่ใช่กฏระเบียบตายตัว ไม่ใช่บทลงโทษให้หลาบจำ ไม่ใช่การเพ่งโทษ ชี้ผิด ชี้ถูก อย่างเป็นภววิสัยนิยม (objectivism) แต่ธรรมวินัยบ่งบอกถึงวิถีและความสัมพันธ์ ทั้งต่อตัวเอง ต่อกันและกัน และต่อการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน ต่างคนต่างตรวจสอบตัวเอง และช่วยกันตักเตือนกันและกันอย่างเป็นมิตร 

พุทธศาสนาแบบรัฐ ได้ทำให้จิตวิญญาณของธรรมวินัยในแง่ของการตรวจสอบตัวเองบิดเบือนไป ความเชื่อถือในตนเองและการอยู่กันเองในชุมชนสงฆ์หายไปหมด ธรรมวินัยแบบพุทธศาสนาของรัฐ ได้ทำหน้าที่ดั่งระเบียบข้อกำหนด กฏหมาย ด้วยจินตนาการการตีความที่คับแคบ ตามแบบอำนาจนิยม ราวกับกฏเกณฑ์เหล่านั้นคือความจริงสูงสุดในตัวมันเอง

ความอ่อนแอของท้องถิ่น แปรผันตรงกับการรวมศูนย์ของอำนาจรัฐ เช่นเดียวกัน ความอ่อนแอของพุทธศาสนาของประชาชน ก็แปรผันตรงกับอำนาจของพุทธศาสนาแบบรัฐด้วย ทุกวันนี้กลายเป็นว่า ชุมชนสงฆ์อ่อนแอจนไม่สามารถตรวจสอบดูแลกันเองได้ พระวัดเดียวกันไม่คุยกัน (เอาแต่เทศน?) ไม่เสวนากัน ไม่เป็นมิตรต่อกัน สายสัมพันธ์ครูศิษย์ สายสัมพันธ์อุปัชฌาย์ถูกตัดขาด ฆราวาสและชุมชนไม่สามารถตักเตือนพระได้ ...พระที่บวชขึ้นตรงกับทางการ โดยมีวินัยสงฆ์แบบรัฐเป็นกฏหมาย หากพบพระรูปใดประพฤติผิด ก็กลายเป็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ไปจับพระสึก หรือเรียกสื่อไปแฉ

นอกจากนั้นแทนที่จะเน้นไปที่ความเรียบง่ายตามวิถีสมณะ และการอยู่ร่วมกันเป็นสังฆะ พุทธศาสนาของรัฐได้กำหนดรูปแบบการปกครองสงฆ์ตามแบบราชการ การชี้แจงงบประมาณ การส่งรายงานการดำเนินงานของวัด ระบบการเงิน การตรวจสอบบัญชีเงินบริจาค และอื่นๆ อีกมากมาย (บางกรณี ถึงขั้นตั้งเจ้าอาวาสมาจากทางการมาให้กับวัดใหญ่ๆในต่างจังหวัดด้วย) ทั้งหมดก็เพื่อทำให้พุทธศาสนามีมาตรฐานเดียว ตรวจสอบได้ เชื่อถือได้ ถูกต้องตาม "ธรรมวินัย" ซึ่งในแง่นี้การศึกษาของสงฆ์แบบทางการ (นักธรรมตรีโทเอก เปรียญธรรม มหาลัยสงฆ์) ก็มีผลมาก เพราะยิ่งทำให้การตีความคำสอนและธรรมวินัย คับแคบจนกลายเป็นแบบเดียวตามที่รัฐต้องการในที่สุด 

ธรรมวินัยตามแบบพุทธศาสนาของรัฐ จึงไม่ต่างอะไรกับ "การวางใจได้" ในแบบกล้องวงจรปิด

มันคือการบิดเบือนจิตวิญญาณความเป็นพุทธ ในแง่ของการวางใจในตนเอง และวางใจกันเอง และยิ่งสะท้อนถึงภาวะแปลกแยกต่างคนต่างอยู่ในชุมชนสงฆ์มากยิ่งขึ้น สงฆ์กลายเป็นองค์กรราชการแบบรวมศูนย์ และมีความเป็นอำนาจนิยมแบบเผด็จการ พึ่งพาอำนาจนอกตัว ขาดความเปิดกว้าง การพูดคุยกัน ความเป็นมิตร การทำความรู้จัก และการดูแลตักเตือนกันและกัน จิตวิญญาณของธรรมวินัย ถูกถอนรากกลายเป็นเพียงกฏระเบียบที่ไร้ชีวิต เป็นกฏหมายที่ถูกตีความความแห้งแล้งอย่างปราศจากจิตวิญญาณใดๆ 

วิธีการควบคุมพุทธศาสนาแบบนี้นี่เอง ที่เป็นเหตุให้พุทธทาสออกมาตั้งสวนโมกข์ ...สวนป่าแห่งเสรีภาพ อันเป็นกำลังแห่งการหลุดพ้นโดยตัวมันเอง ไม่ใช่จากการตรวจตราของรัฐ 

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านความโปร่งใสของการรับบริจาคเงิน หรือเหตุผลอื่นใดก็ตาม กล้องวงจรปิดในสวนโมกข์ สะท้อนการมาถึงของอิทธิพลพุทธศาสนาแบบรัฐที่ครั้งหนึ่งพุทธทาสเลือกที่จะเป็นอิสระจากมัน มากไปกว่านั้นยังสะท้อนถึงความอ่อนแอภายใน การแปลกแยกไม่พูดคุยกัน และการสูญเสีย integrity ของสวนโมกข์จากจุดตั้งต้น

(มีต่อ)

บล็อกของ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร

กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ชาญณรงค์ บุญหนุน กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์  พจนะลาวัณย์ กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร 1.