วิจักขณ์ พานิช
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
หลายเดือนก่อนผมมีโอกาสไปนั่งฟังอ.ณัฐพลใจจริงบรรยายที่สภาคาทอลิกส์แกบรรยายถึงการเมืองไทยช่วงหลังปฏิวัติ ๒๔๗๕ และความลุ่มๆดอนๆของพัฒนาการประชาธิปไตยหลัง ๒๔๙๐ ที่ถูกตัดตอนเรื่อยมาจากการรัฐประหารสลับกับเหตุการณ์ฆ่าประชาชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า
มีประเด็นนึงที่อ.ณัฐพลพูดถึงในวันนั้นแล้วยังสะกิดใจผมจนถึงวันนี้...
อ.ณัฐพลถามว่าเอ๊ะทำไมนะพัฒนาการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทยจึงมีสภาพเป็น "วัฏจักร"?สิ่งเดิมๆเกิดขึ้นวนไปเวียนมาความเสื่อมความเจ็บและความตายซ้ำๆรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญฆ่าเลือกตั้งรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญฆ่า…
การเมืองแบบวัฏจักรเกิดแก่เจ็บตายทำให้คนรู้สึกอยากปลงรู้สึกเบื่อหน่ายหมดศรัทธารู้สึกอยากปล่อยวางกับการเมืองนักการเมืองและการเลือกตั้งทำไมนะเราจึงไม่สามารถมองเห็นอนาคตของประเทศชาติแล้วมุ่งมั่นเคลื่อนสังคมไปด้วยการยืดหยัดต่อหลักการประชาธิปไตย? ทำไมเราจึงไม่สามารถเดินตรงไปด้วยศรัทธาในอำนาจสูงสุดของประชาชนอย่างมีความหวัง?
อ.ณัฐพลให้ข้อสันนิษฐานว่าที่มาของมุมมองแบบวัฏจักรดังกล่าวคืออิทธิพลคำสอนของศาสนาพุทธ การอธิบายสังคมและการเมืองด้วยความเชื่อและโลกทัศน์แบบศาสนาพุทธเป็นศูนย์กลาง ทำให้จิตสำนึกทางการเมืองไทยของคนไทยมีธรรมชาติเป็นวัฏฏะจำนนเวียนวนไม่ก้าวหน้า
ในด้านหนึ่งพุทธธรรมแสดงถึงวิถีของการ “ฝึกตน”มากกว่าความเป็นหลักการหรือศาสนาที่ต้องยึดถือทว่าปัญหาก็เกิดขึ้นครับเมื่อศาสนาพุทธในปัจจุบันไม่ได้เป็นแค่วิถีของการฝึกใจตนที่รู้ได้เฉพาะตนอีกต่อไปแต่กำลังกลายสภาพเป็น"อุดมการณ์ทางการเมือง" โดยสถานะและอำนาจ
คำสอนที่ใช้ในการฝึกใจตนได้ถูกทำให้กลายเป็นส่วนหนึ่งการค้ำจุนโครงสร้างทางการเมืองและวัฒนธรรมที่ไม่มีใครกล้าท้าทายตีความและตั้งคำถามธรรมะถูกพูดตามๆกันจนเฝือและนอกจากจะไม่มีใครปฏิบัติกับใจของตนเองอย่างจริงจังแล้ว คำสอนเหล่านั้นยังถูกใช้แบบยึดมั่นถือมั่นแบบไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของคนอื่นอีกด้วย การยึดถือไม่ได้ถือไว้เพื่อการปฏิบัติให้เห็นผลเฉพาะตนอีกต่อไปแต่เพื่อให้คนอื่นต้องยึดถือและเชื่อแบบเดียวกันกับเราผลคือ คนจำนวนไม่น้อยกำลังเรียกร้องให้คนในสังคมใช้หลักศาสนาพุทธในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางอุดมการณ์อย่างเหมารวมจนกลายเป็นการพยายามแก้ “ปัญหาเชิงหลักการ” โดย “การปล่อยวางหลักการ" จนการเมืองเป็นเรื่องที่ต้อง “ทำใจ” ไปในที่สุด
ประชาธิปไตยไทยจึงกลายเป็นประชาธิปไตยที่ไม่เคยมั่นคงในหลักการเอาซะเลย และเมื่อใดที่ผู้มีอำนาจไม่ยึดมั่นในหลักการก็มักใช้หลักธรรมทางศาสนามาอ้างความชอบธรรมของการกระทำแห่งความดีที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไร้มนุษยธรรมของตนอยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเอยการฆ่าคอมมิวนิสต์เอยการล่าแม่มดเอยกฏหมายอาญามาตรา 112 เอยหรือการสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริงเอย
ข้อคิดเห็นดังกล่าวของอ.ณัฐพลดูมีความน่าสนใจและแจ่มชัดมากยิ่งขึ้นไปอีกครับ เมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยพยายามดันร่างพรบ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ล้างผิดให้กับทุกฝ่ายรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐและผู้สั่งฆ่าประชาชนจนผ่านสภาไปได้แบบไฮสปีด พรรคเพื่อไทยยอมทำลายทุกหลักการเพื่อแลกกับการล้างผิดและพาทักษิณกลับบ้าน โดยอ้างว่านี่คือการ "เซ็ทซีโร่" ที่จะทำให้ประเทศเริ่มต้นใหม่และก้าวไปข้างหน้า
นอกจากจะเสียโอกาสในการช่วยเหลือนักโทษการเมืองการยกระดับจิตสำนึกประชาธิปไตยและการผลักดันให้เกิดการลบล้างผลพวงรัฐประหารอย่างถูกต้องตามหลักการแล้ว ผลที่ตามมาคือร่างพรบ.มั่วซั่วฉบับดังกล่าวได้ผลักทุกสิ่งทุกอย่างให้กลับสู่วังวนเดิมๆอีกครั้งนั่นคือมีเกิดมีแก่มีเจ็บมีตาย ...มีเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วลืมๆกันไปซะเราจะเห็นคำสอนทางศาสนาถูกนำมาใช้ประกอบคำอธิบายให้ประชาชนทำใจกันอย่างผิดบริบท ไม่ว่าจะเป็นคำว่า "ปล่อยวาง" "อโหสิกรรม" หรือ "ให้อภัย" เรียกร้องให้อำนาจของประชาชน “เสียสละ” ต่ออำนาจเหนือรัฐธรรมนูญอีกครั้งเพื่อพาประเทศเดินหน้าต่อไปอย่างไร้เป้าหมายและทิศทาง การรัฐประหารฆ่าอำนาจของประชาชนและการสั่งฆ่าประชาชนสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ
ผลคือโดยจิตสำนึกทางสังคม“การฆ่า” ไม่เคยผิดและไม่เคยต้องสำนึกผิดส่วนประชาชนต้องทำใจเสมอ
กลับมาที่คำถามของอ.ณัฐพลต่อบทบาทของพุทธศาสนาที่มีต่อจินตนาการทางการเมืองจะเป็นไปได้ไหมครับที่พุทธศาสนาจะมีส่วนช่วยให้สังคมไทยหลุดพ้นออกจากวัฏสงสารทางการเมืองนี้ซะที? (หรืออย่างน้อยก็ไม่เป็นอุปสรรคหรือขัดขวาง) จะเป็นไปได้ไหมที่พุทธธรรมจะส่งเสริมให้คนในสังคมมีศรัทธาต่อประชาธิปไตยอย่างมั่นคงในหลักการพุทธธรรมซึ่งสะท้อนถึงการเคารพตนเองและผู้อื่นเคารพความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีมีสติปัญญาคิดเองได้ตัดสินใจเองได้และมีส่วนร่วมในการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมที่เคารพและให้คุณค่าแก่มนุษยธรรม มากกว่าหลักธรรมสูงส่งทางศาสนา
อย่างน้อยที่สุดขอแค่การยึดหลักการพื้นฐานของการไม่ฆ่าและไม่ปล่อยให้การฆ่าทั้งการฆ่ารัฐธรรมนูญฆ่ากระบวนการประชาธิปไตยหรือฆ่าประชาชนเกิดขึ้นได้โดยง่ายเพราะการฆ่าในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่จำต้องทำใจ เพราะมันเป็นเช่นนั้นเอง
อีกคำถามหนึ่งที่สำคัญคือ…
แล้วเราในฐานะชาวพุทธมีอุดมคติหรือความฝันในทางสังคมกันบ้างไหมครับ?
หากจินตนาการและเป้าหมายสูงสุดของศาสนาพุทธคือพระนิพพาน นิพพานจะอยู่บนโลกนี้ อยู่ในสังคมนี้ได้หรือไม่ เรามีศรัทธาในพระนิพพานจนเชื่อมั่นว่ามันจะเกิดขึ้นในชีวิตมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง ในสังคมที่เราอยู่ ร่วมกับคนอื่นๆ ที่ไม่เหมือนเราและคิดต่างจากเราได้ไหมนิพพานจะเป็น “นิพพานที่มีมนุษยธรรม” ได้อย่างไร และเราจะก้าวเดินไปด้วยกันอย่างไรเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายนั้น?
อุปสรรคน่ะมีแน่ แต่เรากล้าที่จะฝันกันหรือไม่?
นึกแล้วก็เสียดายแทนรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยครับ มีเสียงประชาชนสนับสนุนมากขนาดนี้แล้วยังไม่กล้าที่จะฝัน ไม่กล้าที่จะเดินตามความฝันบนหลักการที่ถูกต้อง
ความฝัน ความกล้าหาญ และจินตนาการของการหลุดพ้นจากวัฏสงสาร สะท้อนอยู่ในหลักการและเส้นทางที่เราเลือกเดินเสมอ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม
การเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็เช่นกัน
ไม่เช่นนั้นเราคงต้องเวียน ว่าย ตาย เกิด อยู่ในวัฏฏะทางการเมืองแบบไทยๆ กันต่อไป
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
กลุ่มพุทธศาสน์ของราษฎร
1.