ข่าวคราวความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มรักร่วมเพศมีให้ติดตามโดยตลอด ไม่ว่าเรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง จริงหรือไม่ ดังนั้นเราจึงเห็นได้ชัดว่า "กลุ่มรักร่วมเพศปนอยู่ในสังคมเราอย่างแยกเสียไม่ได้"
เคยคิดจะเขียนคอลัมน์เรื่อง "การไม่ยอมรับผู้บริจาคเลือดที่อยู่ในกลุ่มอัตราเสี่ยงหรือรักร่วมเพศ" ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มาจากเว็บเกย์สากลในสหรัฐอเมริกา แต่งานประจำรัดตัวยังไม่ทันจะเขียนก็มีข่าวคราวจากเมืองไทยเข้ามาในเรื่องนี้ คราวนี้ชาน่านิ่งนอนใจอยู่ไม่ได้ประสานงานไปทางเพื่อน ๆ หลายฝ่าย รวมทั้งเพื่อนๆ ชาวสยามสแควร์ ของเว็บสังคมชาวไทย "พันทิป" ตั้งกระทู้ถามไถ่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น จึงได้เป็นไอเดียเพื่อผู้อ่านชาวประชาไท บอกแล้วไงคะว่า..สิ่งไหนที่ชาน่าพอทำได้... "เต็มเหนี่ยวไปเลยเพ่" รักที่จะทำและทำด้วยใจรักฮ่า...
จากการที่หน่วยงานรับบริจาคเลือดได้เสนอและเผยแพร่ข่าวอย่างทั่วถึงว่า จะออกกฏไม่รับบริจาคเลือดจากกลุ่มผู้ที่อยู่ในอัตราเสี่ยง เช่น เกย์ กะเทย รักร่วมเพศทั้งหลาย โดยให้เหตุผลว่าเพื่อต้องการประสิทธิภาพของเลือด ข่าวนี้สร้างความสนใจต่อกลุ่มชาวเราเป็นอย่างมากทีเดียว
ทุกกฏ ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบายต่าง ๆ ที่ออกมามีทั้งด้านดีและด้านเสีย หลายคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องธรรมดา แต่เราต้องยอมรับในความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ตามเหตุและผลนั่นหละถือเป็นทางออกของบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตย แล้วความคืบหน้าในเรื่องนี้ไปถึงไหนเยี่ยงไร
ณ ตอนนี้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบในการรับบริจาคเลือดนั้นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ คนไทยหลายคนสนใจและเกี่ยวข้องด้วยมิใช่น้อย ไม่ว่าคุณจะจัดอยู่ในกลุ่มไหนก็ตาม ชายจริง หญิงแท้ ชาวเรา ชาวเขา ชาวรักร่วมเพศ
ทุกปัญหามีทางออก ตอนนี้เค้าก็ยังไม่ได้ออกกฏหมายบังคับให้เริ่มใช้เมื่อไหร่ เพียงแต่เสนอเรื่องเพื่อเหตุและผลอันจะเกิดขึ้นตามมาหลังจากการรับบริจาคเลือดจากกลุ่มชาวเราแล้วเท่านั้น
หลายฝ่ายให้ความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป เช่น
"ผมถือว่ามันเป็นเรื่องขัดต่อ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่อง ถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้” ความคิดเห็นจากคุณ : มิ๊วๆ แมวพันปี
"ผมเห็นด้วยครับ มันมีหลายเรื่องหลายราว 1. เลือกทหาร กะเทยได้รับการยกแว้น เนื่องจากเป็นความผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่ง (ยกเว้นคุณกะเทยชายแดน) ขนาดแค่กะเทยเรียน นศท. ผมยังสงสารแทน 2. บวชพระ ห้ามผู้ชายที่ตัดอัณฑะ เพราะผิดวินัยสงฆ์ 3. บริจาคเลือด เพราะต้องเข้าใจจิตใจของผู้ที่ได้รับเลือด (แต่ถ้าแยกเลือดบริจาคเป็นของ กระเทย เกย์ ทอม เลสไปเลยน่าจะดีกว่า)” จากคุณ : jonaztial
"ผมเห็นด้วยกับสภากาชาดนะครับ คือเน้นประสิทธิภาพ เพราะถ้าผมเป็นอะไรขึ้นมาแล้วต้องการใช้เลือด ผมเองไม่อยากเสี่ยงครับ เพราะไม่มีระบบใดในโลกสามารถตรวจการเจือปนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม ยังงัยก็ยังมี human error อยู่บ้าง ... ถ้าชาวเกย์อยากที่จะบริจาคจริงๆ น่าจะมีอีกหน่วยงานหนึ่ง ที่รับบริจาคกับชาวเกย์โดยเฉพาะ เพื่อนให้ชาวเกย์ได้ใช้กันนะครับ โดยจะต้องไม่เอามาใช้ทั่วไป แต่คนที่จะไปรับบริจาคเลือดก็คงต้องแจ้งนะครับ ว่าประสงค์ขอรับเลือดชาวเกย์ก็ได้ ถ้าสภากาชาด ไม่สะดวก ทางองค์กร ก็น่าจะจัดหาพนักงานหรือจ้างมา เพื่อการนี้โดยเฉพาะ” จากคุณ : นะนะ
"สงสัยเขาเอาอวัยวะ ที่ใช้เดิน มาคิดเรื่องได้แค่นี้ แต่กลับไม่มองว่า ชายจริง หญิงแท้ ที่เป็นพวกเสี่ยงต่อการแพ้เชื้อ ก็อยู่ไม่น้อย กลับไม่คิด กรรม สังคมไทย” จากคุณ : น้าวัชร-จัดให้
"เราว่าเขาต้องการลดความเสี่ยงน่ะ ก็น่าเห็นใจนะ เพราะได้ยินว่าชุดบริจาคเลือด ตั้งแต่ถุงเก็บเลือด สายยาง ฯลฯ เราต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งหมด เพราะเรายังผลิตไม่ได้เอง ราคาต่อชุดก็ไม่ใช่น้อยนะ (จำได้ว่าประมาณ 750.-)” จากคุณ : เล็กๆ น้อยๆ
แล้วคุณล่ะคะ คิดเห็นเช่นไรบ้าง ลองกลับไปคิดเป็นการบ้านก่อนเจอกันคราวหน้านะฮะ
ขอหยิบข่าวคราวสำหรับใคร(เพศไหนก็ได้เจ้า) ที่สนใจอยากจะไปบริจาคเลือด "หากคุณมีโอกาส" จงรีบทำเสียเถิดค่ะ เพราะบางครั้งเราไม่รู้จริงๆ ว่าวันพรุ่งนี้เราจะมีโอกาสได้ทำในสิ่งที่เราอยากจะทำหรือไม่
ข้อมูลการบริจาคโลหิต
เนื่องจากโลหิตเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ให้อยู่รอด นักวิทยาศาสตร์ได้พยายามค้นคว้ามาเป็นเวลานาน แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จในการหาสารประกอบอื่น ๆ ที่มาทดแทนโลหิตได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องให้โลหิตจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งด้วยการบริจาคนั่นเองการบริจาคโลหิต คือการสละโลหิตส่วนเกินที่ร่างกายไม่จำเป็นต้องใช้เพื่อให้กับผู้ป่วย เป็นสิ่งที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายเลย เพราะร่างกายแต่ละคนจะมีปริมาณโลหิตประมาณ 17-18 แก้วน้ำ ซึ่งร่างกายใช้เพียง 15-16 แก้วเท่านั้น ส่วนที่เหลือนั้นสามารถบริจาคให้ผู้อื่นได้ ผู้บริจาคโลหิตสามารถบริจาคโลหิตได้ทุก 3 เดือน เพราะเมื่อบริจาคโลหิตออกไป ไขกระดูกจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดโลหิตขึ้นมาทดแทนให้มีปริมาณโลหิตในร่างกายเท่าเดิม ถ้าไม่ได้บริจาค ร่างกายจะขับเม็ดโลหิตที่สลายตัว เพราะหมดอายุออกมาในรูปของปัสสาวะ อุจจาระ หรือเหงื่ออยู่แล้ว การบริจาคโลหิตใช้เวลาประมาณ 15 นาที ท่านจะได้รับการเจาะเก็บโลหิตและบรรจุในถุงพลาสติก (BLOOD BAG) ตั้งแต่ 350-450 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้บริจาค
โลหิตคืออะไร
โลหิตมีส่วนที่เป็นน้ำ เรียกว่า น้ำเหลือง มีสีเหลืองอ่อนใสมีโปรตีนและปัจจัยการแข็งตัวของเลือดและส่วนที่เป็นเม็ดโลหิตซึ่งมีเม็ดโลหิตแดง เม็ดโลหิตขาว และเกล็ดโลหิต เป็นของเหลวสีแดงที่ไหลเวียนอยู่ภายในหลอดโลหิตในร่างกาย โดยกำลังสูบฉีดของหัวใจ
อวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่สร้างเม็ดโลหิต คือ ไขกระดูก ซึ่งได้แก่ กระดูกแขน กระดูกหน้าอก กระดูกซี่โครง กระโหลกศีรษะ กระดูกเชิงกราน กระดูกไขสันหลัง เป็นต้น
ในร่างกายของมนุษย์ (ผู้ใหญ่)จะมีโลหิตประมาณ 4,000-5,000 มิลลิลิตร (ซี.ซี.)
หรือสามารถคำนวณง่ายๆ คือ น้ำหนักตัวสุทธิ x 80 = ปริมาณโลหิตที่มีในร่างกายโดยประมาณ ( หน่วยเป็นซี.ซี.)
โลหิต แบ่งได้ 2 ส่วน คือ
1. เม็ดโลหิต จะมีอยู่ประมาณ 45 % ของโลหิตทั้งหมด ซึ่งมี 3 ชนิด คือ
- เม็ดโลหิตแดง มีหน้าที่ในการลำเลียงออกซิเจนเพื่อให้เซลล์ต่างๆ ใช้สันดาปอาหารเป็นพลังงาน อายุการทำงานในกระแสโลหิต ประมาณ 120 วัน
- เม็ดโลหิตขาว ทำหน้าที่ปกป้องและทำลายสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เช่น เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และสารที่เป็นอันตรายอื่นๆ ซึ่งเปรียบเหมือนทหารป้องกันประเทศ เม็ดโลหิตขาวมีอายุการทำงานในกระแสโลหิต ประมาณ 10 ชั่วโมง
- เกล็ดโลหิต ทำหน้าที่ช่วยให้โลหิตแข็งตัวตรงจุดที่มีการฉีกขาดของเส้นโลหิต
มีอายุการทำงานในกระแสโลหิต ประมาณ 5-10 วัน
2. พลาสมา (Plasma )
คือส่วนที่เป็นของเหลวของโลหิตที่ทำให้เม็ดโลหิตทั้งหลายลอยตัว
มีลักษณะเป็นน้ำสีเหลือง จะมีอยู่ประมาณ ร้อยละ 55 ของโลหิตทั้งหมด มีหน้าที่ควบคุมระดับความดันและปริมาตรของโลหิตป้องกันเลือดออก และเป็นภูมิคุ้มกันโรคติดต่อที่จะเข้าสู่ร่างกายพลาสมานี้ประกอบด้วยส่วนที่เป็นน้ำประมาณ 92 % และส่วนที่เป็นโปรตีนประมาณ 8 % ซึ่งโปรตีนที่สำคัญ ได้แก่- แอลบูมิน มีหน้าที่รักษาความสมดุลของน้ำในหลอดเลือดและเนื้อเยื่อ
- อิมมูโนโกลบูลิน มีหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันโรคติดต่อต่างๆ ที่จะเข้าสูร่างกาย
เกร็ดความรู้
ถ้านำเส้นโลหิตทั่วร่างกายมาต่อกัน จะมีความยาวถึง 96,000 กิโลเมตร หรือความยาวเท่ากับ 2 เท่าครึ่งของระยะทางรอบโลก
โดยเฉลี่ยแล้วปริมาณโลหิตในร่างกายจะมี 5-6 ลิตรในผู้ชาย และ 4-5 ลิตรในผู้หญิง และโลหิตจะมีการไหลเวียน โดยผ่านมาที่หัวใจถึง 1,000 เที่ยวต่อวัน
คนหนุ่มสาวจะมีเซลล์เม็ดโลหิตแดงเท่ากับ 35,000,000,000,000 เซลล์ (สามสิบห้าล้าน-ล้านเซลล์ ) อยู่ภายในร่างกายในเวลา 120 วัน เซลล์เม็ดโลหิตแดง จำนวน 1.2 ล้านเซลล์ จะถึงกำหนดหมดอายุขัย ถูกขับถ่ายออกมาขณะเดียวกันไขกระดูกซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกระดูกซี่โครง กะโหลกศรีษะและกระดูกสันหลัง จะช่วยกันผลิตเซลล์ใหม่เท่ากับจำนวนที่ตายไปขึ้นมาแทนที่
*ข้อควรรู้ ก่อนจะบริจาคโลหิต
1. อายุ ระหว่าง 17-60 ปี และสุขภาพสมบูรณ์ (ไม่ใช่ แค่ปกติหรือแข็งแรง) ถ้าอายุน้อยเกินไป จะมีภาวะทางความคิดและร่างกายไม่เหมาะสม กฎหมายไม่อนุญาต ต้องมีผู้ปกครองรับทราบ และยินยอม ถ้าอายุมากเกินไป ก็จะมีปัจจัยสุขภาพเสี่ยงเกินไป เป็นอันตรายต่อผู้บริจาคเอง
2. นอนหลับไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงการนอนหลับ ไม่ควรนอนผิดเวลาจากปกติ ผู้ที่ทำงานเป็นกะ ไม่ควรบริจาค ถ้านอนไม่พอ ถึงบริจาคไปแล้ว ก็เอาไปใช้ไม่ได้ เพราะเลือดจะลอย
3. กินอาหารประจำมื้อเรียบร้อยแล้ว (หรืออย่างน้อย - ก่อนบริจาค 4 ชม.)ก่อนบริจาค ควรกินอาหารมาให้เรียบร้อย แต่ไม่ควรเน้นอาหารที่มีไขมันมาก หรือ งดอาหารมันๆ ก่อนบริจาค 1 วันก็จะดี
4. ท้องเสีย ท้องร่วง ภายใน 7 วัน เป็นผลเสียทั้งต่อผู้บริจาค และ ผู้รับบริจาคอาจติดเชื้อ ( ถ้ามี ) ได้
5. น้ำหนักลด ในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา โดยไม่ทราบสาเหตุ หากเกิดขึ้น มักมีสาเหตุจากโรคภายใน เช่น เบาหวาน ไทรอยด์เป็นพิษ หรือแม้แต่... AIDS หรือ HIV ถ้ากินยาลดน้ำหนัก ก็ไม่ควรบริจาคเช่นกัน แต่ถ้าน้ำหนักลดอย่างสมเหตุสมผล จากการออกกำลังกาย หรือ ควบคุมอาหาร (โดยไม่ใช้ยา) สามารถบริจาคได้
6. กินยาแอสไพริน ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาแก้ปวดข้อ อาจมีผลทำให้ยาไปยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดโลหิต ทำให้โลหิตแข็งตัวช้าลง ไหลแล้วหยุดยาก
7. กินยาแก้อักเสบใน 7 วัน หรือยาอื่นๆ โปรดปรึกษาเจ้าหน้าที่ หากกินแก้อักเสบอยู่อาจหมายถึง ผู้บริจาคได้รับการติดเชื้อ ซึ่งอาจแพร่เชื้อเข้ากระแสโลหิตของผู้รับบริจาคได้นอกจากนี้ ผู้รับบริจาค อาจแพ้ยา ที่ผู้บริจาคกินก่อนมาบริจาคได้
8. เป็นโรคหอบหืด ลมชัก โรคผิวหนังเรื้อรัง ไอเรื้อรัง วัณโรค หรือโรคภูมิแพ้อื่นๆ การเป็นโรคดังกล่าว แล้วมาบริจาค อาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้อาการดังกล่าวกำเริบได้
9. เคยเป็น หรือมีคนในครอบครัวเป็นโรคตับอักเสบผู้ที่เคยเป็น แล้วไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นชนิดใด หรือ ไม่สามารถบอกได้ว่า หายขาด หรือไม่มีเชื้อแล้ว ไม่ควรบริจาคจนกว่าจะได้รับการยืนยันจากแพทย์ ว่าปลอดภัยจากเชื้อตับอักเสบ ผู้ที่สัมผัส ใกล้ชิดผู้ป่วย ก็อาจได้รับเชื้อแล้วเช่นกัน
10. เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ ไต ไทรอยด์ มะเร็ง โลหิตออกง่ายหยุดยาก หรืออื่นๆเพื่อความปลอดภัย หากมีความจำเป็นต้องบริจาค ให้อยู่ในความดูแล และวินิจฉัยจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
11. ทำฟัน ภายใน 3 วันก่อนจะบริจาค เหงือกอาจจะอักเสบ และ หากมีแผลในช่องปาก อาจเป็นทางนำเชื้อโรคสู่กระแสโลหิตได้
12. ท่าน หรือ คู่ของท่าน มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศกับผู้อื่นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์บางอย่าง แสดงอาการให้เห็น แต่บางอย่าง แม้ติดเชื้อแล้ว ก็ตรวจไม่พบในระยะฟักตัว ทั้งๆที่ผู้บริจาคอาจมีเชื้ออยู่แล้ว ดังนั้น...หากไม่แน่ใจใน 6 เดือน ควรไปตรวจที่คลีนิกนิรนามหรือที่โรงพยาบาลก่อนบริจาค
13. ได้รับการผ่าตัดใหญ่ ในระยะ 6 เดือน หรือผ่าตัดเล็ก ใน 1 เดือนการผ่าตัดอาจเสียโลหิตไปส่วนหนึ่ง แผลผ่าตัด ต้องใช้เวลาและสารอาหารในการซ่อมแซม จึงควรงดเว้นในการบริจาคไปก่อน
14. เจาะหู สัก ลบรอยสัก ฝังเข็ม ในระยะ 6 เดือนเข็มเจาะ และรูแผลที่ผิวหนัง มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อโรคติดเชื้อที่มีการส่งต่อทางกระแสโลหิตและน้ำเหลือง และสามารถส่งต่อไปยังผู้รับบริจาคได้อีกด้วย เช่นไวรัส ตับอักเสบ บี , ซี และ AIDS หรือ HIV
15. เคยมีประวัติติดยาเสพติด หรือพ้นโทษในระยะ 3 ปี ผู้ที่เคยมีประวัติติดยาเสพติด หรือเพิ่งพ้นโทษ จะมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อโรคที่มีการส่งต่อทางโลหิตและน้ำเหลือง แม้จะไม่มีการใช้เข็มร่วมกัน หรือแม้เสพย์ทางการกิน หรือสูดดม อาจทำให้มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศภายหลังใช้ยาได้
16. เคยเจ็บป่วยต้องรับโลหิตผู้อื่นในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา เมื่อเคยป่วยและได้รับโลหิตจากผู้อื่น จะมีการสร้างภูมิต้านทานต่อระบบหมู่โลหิตได้ ถึงแม้จะมีการตรวจเพื่อหาหมู่โลหิตหลักที่เข้ากันได้ แต่หมู่ย่อยไม่สามารถหาได้ตรงกันทั้งหมด และยังคงเป็นปัญหากับผู้ป่วยอีกด้วย
17. ฉีดวัคซีนในระยะ 14 วัน หรือ ฉีดเซรุ่มในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา เช่นวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ และ เซรุ่มป้องกันพิษสุนัขบ้า เป็นต้น
18. เข้าไปในพื้นที่ ที่มีเชื้อมาเลเรียชุกชม ในระยะ 1 ปี หรือเคยป่วยเป็นมาเลเรีย ถ้าเคยป่วยแล้วไม่ได้รับการรักษาให้หายขาด เชื้อสามารถแอบแฝงอยู่ในร่างกายได้โดยไม่แสดงอาการ ดังนั้น ผู้ที่จะบริจาคได้ต้องไม่มีอาการซ้ำ เป็นเวลา 3 ปี
19. อยู่ในระหว่างมีรอบเดือน ไม่ควรให้ร่างกายมีการเสียโลหิตซ้ำซ้อนในคราวเดียวกันโดยไม่จำเป็น ควรรอให้หมดรอบเดือนเสียก่อน
20. คลอดบุตร หรือ แท้งบุตร ภายใน 6 เดือนที่ผ่านมา การคลอด หรือ การแท้งบุตร จะมีการเสียโลหิตเป็นจำนวนมาก ร่างกายของผู้บริจาค ต้องใช้เวลาในการปรับตัวเพื่อให้มีการสร้างโลหิตที่มีคุณภาพขึ้นมาใหม่
21. งดบุหรี่ หรือสิ่งมึนเมาใดๆ ก่อนบริจาคโลหิต ถ้าเป็นบุหรี่ ก็ 1 วัน หรืออย่างน้อย 6 ชม. เพื่อให้ปอดได้ฟอกเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพหน่อย
รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ 02-251-3111 , 02-252-4106 ถึง 9 และที่ 02-256-4300 หรือ ที่ http://www.redcross.or.th และ อีเมล์ blood@redcross.or.th http://www.nbc.in.th --- ศูนย์บริการโลหิดแห่งชาติ (National Blood Centre)
สถานที่ที่ท่านสามารถบริจาคโลหิตได้ที่...
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย
- วันจันทร์ - วันพุธ , วันศุกร์ (ไม่หยุดพักกลางวัน) 08.00-16.30 น.
- วันพฤหัสบดี (ไม่หยุดพักกลางวัน) 07.30-19.30 น.
- วันเสาร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ 11.00-15.30 น.
- วันอาทิตย์ 12.00-16.00 น.
*** หน่วยเคลื่อนที่ประจำ ***
- สวนจตุจักร ทุกวันเสาร์ (รถจอดริมถนนพหลโยธิน) 10.00-15.00 น.
- สนามหลวง วันอาทิตย์ (รถจอดบริเวณด้านหน้ากรมศิลปากร) 09.00-14.00 น.
- ตลาดนัดธนบุรี (สนามหลวง 2) ทุกวันอาทิตย์ สัปดาห์สุดท้ายของเดือน (รถจอดหน้าสำนักงาน) 10.00-15.00 น.
- มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก ทุกวันจันทร์และวันอังคาร (รถจอดบริเวณข้างหอสมุดด้านคณะนิติศาสตร์) 10.00-15.00 น.
- สถานีกาชาด 11 "วิเศษนิยม" บางแค ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี (รับบริจาคโลหิตภายในอาคาร ข้างฟิวเจอร์ปาร์ค บางแค) 09.00-15.00 น.
- ห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ทุกวันอาทิตย์สัปดาห์ที่สองของเดือน (รับบริจาคโลหิตภายในอาคารหน้าร้าน S.B. เฟอร์นิเจอร์ ชั้น 2) 13.00-17.00 น.
- ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ทุกวันศุกร์และวันเสาร์สัปดาห์ที่สามของเดือน (รับบริจาคโลหิตบริเวณลานโยโย่ ชั้น 3) 13.00-17.00 น.
- ห้างสรรพสินค้า Big C สาขาบางพลี ทุกวันเสาร์สัปดาห์ที่สองของเดือน (รับบริจาคโลหิตบริเวณด้านหน้าห้าง) 13.00-17.00 น.
- ห้างสรรพสินค้า Big C สาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ ทุกวันเสาร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน (รับบริจาคโลหิตบริเวณชั้น 2 หน้าซุปเปอร์ Big C) 13.00-17.00 น.
- ห้างสรรพสินค้า Big C สาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ ทุกวันเสาร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน (รับบริจาคโลหิตบริเวณชั้น 2 หน้าซุปเปอร์ Big C) 13.00-17.00 น.
- สาขาบริการโลหิตแห่งชาติ รพ.สมเด็จพระปิ่นเกล้า โทร.0-2468-1116-20
- สาขาบริการโลหิตแห่งชาติ สถาบันพยาธิกรมแพทย์ทหารบก รพ.พระมงกุฎเกล้า โทร.0-2245-8154
- สาขาบริการโลหิตแห่งชาติ รพ.ตำรวจ โทร. 0-2252-8111 ต่อ 4146
- สาขาบริการโลหิตแห่งชาติ รพ.รามาธิบดี โทร. 0-2246-1057-87
- สาขาบริการโลหิตแห่งชาติ รพ.ภูมิพลอดุลยเดช โทร.0-2531-1970-99 ต่อ 27109-10
- สาขาบริการโลหิตแห่งชาติ วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล โทร. 0-2243-0151-64
- และสาขาบริการโลหิตแห่งชาติ โรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ (ในวันและเวลาราชการ)
ท่านสามารถสอบถามหน่วยเคลื่อนที่อื่น ๆ ได้ที่ โทรศัพท์ 0-2252-6116,0-2252-1637 ,0-2252-4106-9 ต่อ 113, 157
ตามหลักทางพระพุทธศาสนาแล้วท่านกล่าวว่า “การบริจาคอวัยวะนั้นเป็นบุญธรรมสำคัญและเป็นบุญมาก ตามหลักพระพุทธศาสนานอกจากเป็นบารมีขั้นทานอุปบารมีแล้ว ยังโยงไปหาหลักสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า "มหาบริจาค" คือการบริจาคใหญ่ ซึ่งพระโพธิสัตว์จะต้องปฏิบัติอีก ๕ ประการ คือ บริจาคทรัพย์ บริจาคราชสมบัติ บริจาคอวัยวะ และนัยน์ตา บริจาคตัวเองหรือบริจาคชีวิต และบริจาคบุตรและภรรยา”
“การไม่ยอมรับเลือดของกลุ่มรักร่วมเพศ” นโยบายนี้หากเป็นเรื่องจริง เกย์ กะเทย ทั้งหลายคงเสียใจมิใช่น้อยที่เจตนาจะร่วมบริจาคเสียสละตัวเองเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นแล้วมีเหตุ “ต้องห้าม” เช่นนี้ แล้วคุณจะไม่ลองคิดหน่อยเหรอฮะ ว่าประชากรเกย์ใจดีมีกี่ล้านรายในผืนแผ่นดินสยามแห่งนี้ แล้วเค้าจะบอกกล่าวความจริงหรือไม่ว่า “ผมคือเกย์ กลุ่มเสียงรักร่วมเพศ” ยิ่งเกย์สมัยนี้ดูออกยากแสนคณา ตราบใดไม่มีเครื่องดักจับเกย์ในโลกใบนี้ เอาซี่...
โดยส่วนตัวของชาน่าเวลากลับเมืองไทยจะบริจาคเลือดทุกครั้ง อ้าว.... แล้วคราวนี้ล่ะ
“หนูอยากดูดเลือดดดดดดดดดดดด เอ้ย ปล่าว หนูอยากบริจาคเลือดจัง แต่ดันเป็นเกย์กลุ่มเสี่ยงที่เกิดมาเพื่อป้อจายหลายคน เห้อ....”
ชาน่าอยากฝากไว้สำหรับคนที่คิดว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มอัตราเสี่ยงก็ควรหลีกเลี่ยงทำกรรมดีนี้ ควรทำอย่างอื่นหลากหลายที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้เช่นกัน มีอะไรบ้างหรอคะ ไว้คราวหน้ามาเม้าท์กันใหม่เจ้า... ขอตัวไปเดินแบกให้ต้นสังกัดก่อนวันนี้เรือประจำการทะเลทั้งวัน คลื่นซัด โซเซ ก่อนเข้าฟลอริด้าวันนี้
* ข้อมูลบางส่วน จากคุณ : Phoenixนิลมังกร แห่งเว็บพันทิป
* ปล ของ ปล ขอบคุณเพื่อน ๆ พันทิปห้อง สยามสแควร์เป็นอย่างสูงเอื้อเฟื้อข้อมูลและร่วมแสดงความคิดเห็น
* ภาพประกอบจาก Phoenixนิลมังกร และ ชาน่า