พอพ่อลูกเดินไปถึงสถานีขนส่งช้างเผือก คนก็มองจ้องราวกับกำลังจะมีฉากถ่ายหนังในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า เขากองสัมภาระไว้ข้างเก้าอี้ ลูกชายนั่งเฝ้า เขาเดินไปซื้อตั๋ว คนมองลูกชายพลางมองพ่อไปมา บางคนแอบกระซิบยิ้มหัวขณะสายตามองไปยังลูกชาย
“เชียงดาวสองที่นั่ง” คนเป็นพ่อมองหญิงวัย 40 กว่าๆ ดูสีหน้าแววตาขี้เล่น ใบหน้าลงเครื่องแป้งหนาลบวัยจริง เป็นใบหน้าคอยถามตอบต้อนรับผู้โดยสาร
“ลงที่ไหนจ้าว..วว์” เสียงหวานถามกลับเป็นสำเนียงคำเมืองยืดหางเสียง
คนเป็นพ่อนิ่งคิด ชั่วอึดใจนั้น คนขายตั๋วก็มีสถานที่นำเสนอให้ลง
“สถานีตำรวจมั้ยจ้าว” น้ำเสียงนั้นเจือยิ้มหัวเป็นกันเอง พอให้รู้ว่าเย้าแหย่เล่นหรอกนะ อย่าซีเรียสจริงจังไปเลยพ่อหนุ่ม พ่อของลูกชายรีบตอบกลับไป “น่าจะดี ไปลงสถานีตำรวจสักครั้ง แต่เอ๊ะ มีสถานีอื่นมั้ยที่ไม่ใช่สถานีตำรวจ สถานีขนส่งอย่างในหนังเรื่องเดอะเลสเตอร์มีมั้ยครับ”
เขานึกไปว่า คำพูดตอบน่าจะกลืนไปกับอารมณ์คนขายตั๋วกระมัง
“มีจ้าวๆ เพิ่งสร้างใหม่ ดีกว่าในหนังเสียอีก สีแดงสีเหลืองเห็นแต่ไกลเลยจ้าว จะเตียวไปไหนก่อได้ ไปไหนก่อจ้าว..” คนเป็นพ่อตอบตกลง เตียวคือเดิน โอเค..ช็อกโกแล็ตแซทเทอเดย์สถานีขนส่งเชียงดาว แต่เขาไม่ตอบคำถามว่าจะไปไหนต่อ
“หกสิบบาทจ้าว รถบัสแดงคันที่จอดอยู่นั่นนะจ้าว” ..
ขณะนั่งรอเวลารถออก เด็กหนุ่มนุ่งกางเกงยีนส์เสื้อยืดสวมรองเท้าผ้าใบและเป้สะพายใบเล็ก เพิ่งปลดโทรศัพท์มือถือออกจากหู หันมาถามพ่อของลูกชาย
“ไปเล่นที่ไหนครับ” คนเป็นพ่อยิ้ม “ไปเล่นเพลงให้เด็กๆฟัง”
“กีตาร์ยี่ห้ออะไร ยามาฮ่าหรือเปล่า” เขาคงอยากรู้จริงๆ แต่กีตาร์นอนอยู่ในกล่อง ไม่ทันที่เขาจะตอบ เด็กหนุ่มถามต่ออีกว่า “ราคาเท่าไหร่”
เขานึกอยากเปลี่ยนท่าทีจริงจังให้ดูสบายๆ
“เป็นความลับครับ ช่างเถอะราคาเท่าไหร่ ถ้าชอบจริงอีกหน่อยรู้เอง น้องไปลงไหนเหรอ”
เป็นความลับคำนั้น เขาใช้พูดกับลูกชายอยู่บ่อย จะได้รู้สึกว่าในโลกนี้ เรื่องง่ายๆบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ยากเข้าถึงได้เหมือนกัน เรื่อง่ายๆหลายเรื่องก็ไม่ต่างไปจากเรื่องมักง่าย และเรื่องง่ายๆหลายเรื่องหยาบ ไม่ใส่ใจ ไร้มารยาท ยากชวนสงสัยได้เหมือนกัน
แต่หน้าตาของเด็กหนุ่มดูเพิ่งออกมาจากวัยลูกชายได้ไม่นาน ความอยากรู้อยากเห็นเป็นคุณสมบัติที่ควรพึงมีติดตัววัยกำลังโตเป็นตัวเต็มวัย
“ไปลงฝาง พี่เล่นเพลงบอดี้แสลม สวีทมันเลทได้มั้ย” เขาหมายถึงวงดนตรีร็อคขวัญใจวัยรุ่นกระมัง สรรพนามเรียกพ่อของลูกว่าพี่เต็มปากเต็มคำ
“พี่เล่นเพลงวงชาตรีได้บ้าง วงบรั่นดี วงคีรีบูนได้บางเพลง” เขานึกย้อนถึงเพลงที่เป็นขวัญใจวัยรุ่นยุคนั้น
“โห.. เก่ามากเลยพี่ พ่อผมก็ร้องได้นะ” เขาอ้างไปถึงพ่อ
“พี่เล่นประจำอยู่ที่ไหน”
“เล่นไม่ประจำ เล่นตามแต่ใจ เล่นตามจำเป็นต้องไปเล่น”
เสียงรถสตาร์ทเครื่องดังขึ้น เรากระเด็นออกไปหาที่นั่งบนรถ
ระหว่างรถบัสแล่นผ่านทางคดโค้งเขตป่าเขา เขานึกถึงคำถามของเด็กหนุ่มเมืองฝาง พี่เล่นเพลงอะไร ไปร้องให้ใครฟัง คำถามที่ดูง่าย ไม่ต่างจากไปไหน ไปหาใคร เป็นคำถามที่ตอบเท่าไหร่ก็คลุมเครือ ไม่ชัดเจน มีรายละเอียดที่ต้องอธิบายกันนาน และที่สำคัญนั้น โอกาสจะเป็นคำตอบที่อยู่ในความสนใจหรือพึงพอใจผู้ถาม ก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน
พ่อของลูกนั่งมองลูกชาย ความอ้างว้างจู่โจมเข้ามาในใจอย่างประหลาด มนุษย์อ้างว้างเกิดมาทำอะไร ทำนานแค่ไหน ไปไหน ชั่วชีวิตหนึ่งเราจะตอบตัวเองได้หมดจดตรงใจทุกอย่างหรือไม่ หรือเป็นเพียงคำอ้างข้อแก้ตัว แสร้งเชื่อ ข้ามผ่านเหตุการณ์ครั้งหนึ่งไปได้เรื่อยๆ ไม่ต้องจริงจังอะไร จนกว่าจะหายไปจากโลก
รถบัสแล่นเลื้อยเลาะคู่ขนานไปกับน้ำปิงในร่องหุบเขา เขานึกถึงวันที่เด็กหนุ่มเงาของเขาวัยหน้าใส จับกีตาร์ห่มผ้าเดินขึ้นรถไฟ พร้อมสมุดบันทึก และหนังสือเต็มกระเป๋า ออกเดินไปข้างหน้า คิดถึงเพลงของพอล ไซมอลและการ์ฟังเกล(SIMON AND GARFUNKEL’S) หนุ่มพเนจรของคาราวาน ลมภูเขาพัดข้ามแม่น้ำ พัดลูบใบหน้า เส้นผมปลิว เสียงเพลงอ้างว้างลอยมาวนเวียนรอบตัว
“บนทางชีวิตที่ยาวไกล บนความห่วงใยที่ยาวนานให้ฉันเขียนเพลงขับขาน สานความเข้มแข็งและเชื่อมั่น
วันวันฉันวนซ้ำความฝัน วันวันปั้นความฝันเป็นการงาน
มีวันใดหรือเธอ ฉันจะห่าง
มีวันใดหรือเธอ เธอจะไป...”