Skip to main content
 ไม่มองซ้ายขวาหน้าหลัง  เดินเข้าไปหาแล้วโอบกอด  
"ได้กลิ่นมั้ย" ผมถาม
"เหมือนน้ำมัน" เขาตอบ
"ใช่  ในตัวเขามีน้ำมัน" ..
 บทสนทนาระหว่างโอบกอด  เป็นเช่นนี้จริงๆ

"ถ้ามันมีกลิ่นแสดงว่ามันไม่ล้มง่ายใช่มั้ย" โดนประโยคสงสัยเข้าเต็มๆ
"ล้มยากหรือล้มง่าย  มีกลิ่นหรือไม่มีกลิ่น  มันก็น่าโอบกอด"


สองคนกอดต้นไม้คนละต้น 
"นิ่มมั้ย" ผมถาม
"แข็งจะตาย"
"แต่ต้นนี้นิ่มมากๆ"..
วิชาสัมผัส  ทั้งสัมผัสนอกและสัมผัสใน  ออกจะเป็นเรื่องเข้าใจยาก  แต่วิชาโอบกอด  กลับง่ายดายเหลือเกิน 

"กอดต้นไม้"
ผมได้ยินครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน   ถึงขบวนการเคลื่อนไหวโอบกอดต้นไม้ในแถบเทือกเขาหิมาลัย ประเทศอินเดีย  ปกป้องต้นไม้ด้วยการโอบกอดต้นไม้  ให้รอดพ้นจากคมเลื่อยคมมีดของผู้รุกราน
เรียกกันในชื่อขบวนการชิปโก้ และคำขวัญของเขา
"หากขวานฟันลงมา  ขอให้ฟันลงมาที่ร่างกายเรา  ก่อนที่ต้นจะถูกโค่น"
ขบวนการที่ได้รับอิทธิพลจากมหาตมะ คานธี  เคยกล่าวไว้ว่า "มนุษย์จะต้องใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ  หากไม่ต้องการเดินทางไปสู่หายนภัย"
เป็นความรักและความศรัทธา  ที่จะให้ความเขียวชะอุ่มอยู่บนโลก

หลายปีต่อมา  เด็กชายในบ้านคาบข่าวมาบอก  พูดตาโตๆว่า วันนี้นะ คุณครูพาเด็กๆไปกอดต้นไม้  โรงเรียนนั้นชื่อหมีน่ารัก (
kiddy bear)  ขบวนการคิดดี้แบร์โอบกอดต้นไม้  นำเด็กนักเรียนไปกอดต้นไม้กลางเมืองเชียงใหม่   ทั้งกอด  ทั้งนอนดูกิ่งก้านใบ สื่อสารของความรู้สึก    ทั้งวาดรูปติดมาด้วย 
มันตราตรึงใจเจ้าตาโตๆ  ภูมิใจกับการกอดต้นไม้ตลอดมา
และนับแต่นั้น  การกอดต้นไม้ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา 

มีโอกาสไปใกล้ต้นไม้เมื่อไหร่  เราชวนกันไปกอดต้นไม้   ครั้งแล้วครั้งเล่า  เริ่มต้นจากไม้ใกล้บ้าน  ไม้ไกลบ้าน  จนถึงไม้กลางป่า  ถามไถ่ความรู้สึกกัน  ถ่ายเทสัมผัสภายในให้กัน

"พ่อได้ยินมันยืนร้องไห้"
ผมพูดแล้วเด็กชายรีบถาม  เพราะอะไรเหรอ
"ถนนขยายกว้างออกไป  ต้องตัดมันทิ้ง" 
"ถ้าเรามีถนนใหญ่ขึ้น  แสดงว่าต้นไม้ร้องไห้"  เจ้าเด็กชายพูดชัดถ้อยชัดคำ

นานวัน   ผมยิ่งรับรู้ว่า  ภาวะโอบกอด  ช่างเต็มไปด้วยพลังชีวิต  ออกไปจากชีวิตของเรา  ไปสู่ชีวิตอื่น  เห็นดวงตาผู้อื่น  เห็นสรีระผู้อื่น  และทัศนียภาพในการมองเห็นก็เปลี่ยนไปด้วย
"หลับตา  ให้รู้ว่า  เรากำลังโอบกอดสิ่งที่ดีที่สุด ให้รู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน 


ผมยังได้ยินเสียงตื่นเต้นดีใจของเด็กชายในบ้านด้วย  โดยเฉพาะยามเจอแมลงแปลกๆ  หนอน  ซากงู  ซากจักจั่น  มดแมงตามเปลือกไม้ 

ต้นไม้กลางป่าต้นหลังสุดที่เด็กชายโอบกอดก็คือต้นสนสามใบ 
ผมบอกเขาว่า  ต้นสนหนึ่งต้น  มีอีกหลายชีวิตอยู่ในตัวมัน  ทุกอย่างเติบโตออกมาจากหนึ่ง  เป็นสอง สาม สี่ ห้า ต่อเนื่องเรื่อยไป

เขาหลับตาพริ้ม  ฟังเสียงภายในต้นสน

 

 

บล็อกของ ชนกลุ่มน้อย

ชนกลุ่มน้อย
เพลงรบต่อเนื่องกันมาถึงบันไดขั้นสุดท้าย  ยังมีบันไดอีกหลายขั้นทอดไป  และยังมีบันไดขั้นใหม่ๆทอดข้ามไปมา  ข้ามพรมแดนแปลกหน้าหากันและกัน  ไม่ว่าเพลงจะเกิดขึ้นในถ้ำ  เกิดในศูนย์ลี้ภัย  เกิดตามป่า  เกิดในเมือง  เพลงยังมีชีวิตเดินทางไปตามหาคนฟังต่อไปยามเพลงเดินไปตามไร่ข้าว  ห้างไร่  ออกตามหาคนฟัง  ผมไม่นึกว่าภาพนั้นจะกลายเป็นเรื่องราวอื่นไปได้มากกว่านั้น  คนเกี่ยวข้าวหยุดพัก  ตีวงล้อมเข้ามา  นั่งฟังเพลงคนหนุ่มที่ใช้เวลากับการเล่นเพลง  แต่งเพลง  ร้องฟังกันเองในแค้มป์ผู้ลี้ภัย  เหมือนโลกไม่เคยเห็น …
ชนกลุ่มน้อย
ระหว่างรอความหมายเพลงของเหล่อวา  ซึ่งผมเขียนไว้ว่าจะนำมาขึ้นจอ  แต่เพลงของเขาอยู่ระหว่างทางแปลความหมาย  สัปดาห์ต่อไปน่าจะถึงฝั่งน้ำปิง  นอนรอ  นั่งรอ ... บังเอิญนึกถึงเพลงศิลปินเพลงอีกชุดหนึ่ง  รูปปกเทปดอกกุหลาบแดงพ้อต่อฉื่อโพ  -- กุหลาบน้อย   เป็นชื่อบนปกเทปนานมาแล้วผมเคยเขียนถึง  ผ่านคนบอกเล่า  และคนแปลความหมายเนื้อเพลง  ว่ากันว่า  เป็นงานเพลงที่รวบรวมเอาเพลงอมตะสองฟากฝั่งสาละวิน  เลือกเอาคุ้นหูคนตะเข็บชายแดนมาไว้ในที่เดียวกัน  ผ่านเสียงร้องหวานเศร้าจับใจ  ในโทนเนื้อเสียงใกล้เคียง  นอร่าห์ โจนส์ (Norah…
ชนกลุ่มน้อย
ผมพบเขาครั้งแรกในหน้าหนาวเมื่อหลายปีก่อน  หมู่บ้านเล็กๆ  ใจกลางเทือกถนนธงชัย  เขาไม่ค่อยมองสบตาในช่วงแรกๆ  เงียบเหมือนหิน  ยิ้มยาก  เคร่งขรึมอบอวลอยู่ภายใน  ผมนึกว่าคนจากพื้นล่าง  ขึ้นมารอซื้อของป่า  หรือพูดง่ายๆว่าอาจเป็นพ่อค้าซื้อของป่าสักอย่าง  ซึ่งมักปิดปากเงียบ  ไม่อยากให้รายละเอียดใครต่อใคร  ถึงจุดหมายที่มาของตัวเองต่อคนแปลกหน้าด้วยกัน  และของป่าที่จะซื้อก็ใช่ว่ามันจะเถรตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย  หรือจะพูดอีกอย่างว่า  ได้มาง่าย  ได้มาถูกๆ  ได้ของมาโดยไม่เหมือนคนอื่น …
ชนกลุ่มน้อย
ขณะผมนั่งเขียนต้นฉบับ พระสงฆ์ในพม่าออกมาเดินบนท้องถนนเป็นวันที่แปด คนออกมาร่วมเดินไปตามถนนด้วยนับแสนคน ถนนกลางกรุงร่างกุ้งเชิญชวนให้คนออกมาเดิน ดูท่าคนจะเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆผมเห็นทิวแถวพระสงฆ์เหมือนแม่น้ำใหญ่สาละวินหน้าฝน พร้อมถั่งโถมใส่สิ่งกีดขวางทุกอย่าง หอบลงอันดามันสายตานักรบมองจ้องนักบวช ราวกับจะกินเลือดกินเนื้อ สะท้อนถึงเรื่องใด รัฐบาลเผด็จการทหารจะใช้วิธีสลายผู้ชุมนุมด้วยกระสุนปืนอีกหรือไม่ ล้วนเป็นที่จับตามองจากชาวโลกเย็นนี นักศึกษาพม่ากำลังขมักเขม้นทำเพลง ว่าด้วยโศกนาฏกรรมฆ่าประชาชนกลางกรุงร่างกุ้งเมื่อปี 1988 เกือบยี่สิบปีก่อน เขาเลือกเอาเชียงใหม่เป็นสถานที่ทำเพลง…