Skip to main content


ขอต่อยาวสาวความยืดถึงน้ามาดบางมุมดูหน้าดุ เวลาเดินเหมือนนุ่นลอยอีกหน่อย อย่างที่บอกไว้ บุรุษไร้นาม(และหนาม)ตามใจคนนี้ อย่าให้นั่งหน้าทับหน้าหนังกลองแล้วกัน ความจืดของหน้าจะถูกขับออกมาอย่างเผ็ดร้อน ไม่เรียบเฉยปล่อยวางอีกแล้ว บางด้านดูดุเทียบได้ใบหน้าเสือจ้องขบ กลับเกลี่ยเสียใหม่ เป็นเสียงทะลวงไส้พุงเร้าใจผิดหน้าผิดหูผิดตาไปทันที


การปรากฏตัวบนเวทีของน้ามาด คนชอบลูกตอดอง(เหนาะ)จิ้มน้ำชุบเท่านั้น จึงจะรู้ว่ารสชาติเป็นอย่างไรหรอยอย่างแรง!!

ชีวิตเขาเล็กดีปลี(พริกขี้หนู) บ้านเกิดอยู่บ้านชายเลนอก อำเภอปากพนังจังหวัดนครศรีธรรมราช บนถนนเลียบริมเลไปทิศใต้ออกสงขลา หรือขึ้นเหนือไปออกสุราษฎร์ธานี

วัยเด็กของเขา เป็นยุคของความอุดมสมบูรณ์ ในนายังข้าว ในน้ำยังปลา ในอากาศยังลูก(มะ)พร้าวกับลูกโหนด อีกฟากหนึ่งของแผ่นดินเป็นเลสาปสงขลา รินน้ำยอกย้อนไปมากับเลเค็มเลนอกอ่าวไทย

ชีวิตปากพนัง ณ ปัจจุบัน ต้อง(ส)บถโหยหาฉากหลงลืมในห้วงอดีตไม่หวนคืน เขาแค่หลับตาก็เห็นภาพเด็กชาย ปีนเสาโรงหนังตะลุง ไปยืนอยู่หลังโรง เฝ้ามองตาเป็นมัน นายหนังจะเชิดรูปไหน รูปตัวตลก ไอ้เท่ง ไอ้ทอง ไอ้หนูนุ้ย ไอ้สะหม้อ ไอ้ดิก ไอ้เนือย ไอ้หลำ รูปเจ้าเมือง รูปฤาษี รูปเทวดา รูปตัวพระตัวนาง ฯลฯ

เขาหลงใหลการวางรูป เงารูปหนัง ลายสลักรูปหนังและดนตรีที่มีไม่กี่ชิ้น
"ตอนนั้นยังแค่ปี่ ซอ ขลุ่ย ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง เท่านั้นแหละ กีตาร์ กลอง เบส ยังไม่มา เพิ่งมาทีหลัง เราเห็นหนังลุงเดิมๆโบราณๆมาก่อน ซึมซับมันมาตลอด"

ยุคสมัยที่เดินทางจากปากพนังโดยทางเรือไปเมืองนครศรีธรรมราช ยุคแม่เฒ่าขุดแห้วขายลิตรละ 2 บาท เป็นช่วงเวลาพิเศษในชีวิตน้ามาด เขามีญาติอยู่นครฯ ช่วยขายปลา ขายของไปตามเรื่อง

ตกกลางคืน เขาไปเฝ้าจอหนัง(ตะ)ลุงจนสว่างคาตา กลับมาถึงบ้าน ยังไม่นอน นั่งวาดรูปหนังลุง แกะออกมาเป็นตัวๆ เสร็จแล้วจึงนอน
นอนกลางวัน เพื่อตื่นกลางคืน ไปแลหนังลุง
ไม่พอเท่านั้น เขายังไปหาถังน้ำมัน(ทุ่ง)ขนาด 200 ลิตร เอามาทำเป็นกลอง ว่างตอนไหน ตีตอนนั้น ตีมันเข้าไปตามจังหวะหนังลุง

ใครไม่ปฏิเสธเสียงตีถังน้ำมันของน้ามาด
"วันวันมันเอาแต่ตีทุ่ง" ..
เขาวาดรูปหนังลุงได้คล่องมือ และมีความสวยงามขึ้นตามลำดับ
"วาดรูปหนังแลกยางเส้น"

สายตาซึมซับเครื่องหนัง ชุบหนังวัวเป็นรูปหนังลุง กลายเป็นลมหายใจของเขา ไม่ว่ามีหนังลุงที่บ้านไหน เขาต้องเดินข้ามถ่อง(ทุ่งนากว้าง)สามสี่ถ่อง ไปให้ถึงโรงหนัง ปีนขึ้นหลังโรง จนผู้ใหญ่ไล่ลงครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ไม่ยอมฟัง

เขาเติบโตมาบนพื้นที่ชีวิตเหล่านั้น
กระทั่งออกไปหาครูบาอาจารย์ที่ได้ชื่อว่าชำนาญเรื่องแกะสลักรูปหนังลุง เขามีอาจารย์ที่เคารพหลายคน หนึ่งในหลายคนนั้นมีชื่ออาจารย์สุชาติ ทรัพย์สินอยู่ด้วย ศิลปินแห่งชาติปี2550 ผู้ที่น้ามาดบอกว่าเป็นสุดยอดของงานแกะรูปหนัง(ตะ)ลุง

การเดินทางของใต้สวรรค์และเหล่าพลพรรคฝูงปลาดุกแถกเหงือก จึงมีรูปหนังติดสอยห้อยตาม เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบฉากแสดงด้วย
คนเชิดรูปหนังไม่ใช่ใคร
น้ามาด!!
ทิ้งทับแล้ววิ่งไปหาจอหนังทันที


การทำงานของเหล่าฝูงปลาดุก จึงต้องแบกจอหนังติดตัวไปด้วยทุกครั้ง ทำโครงเหล็กประกอบกันมาเสร็จสรรพ ขึงจอรอท่าไว้ตั้งแต่หัวมุ้งมิ้ง(หัวค่ำ )
และเจ้าภาพต้องสละต้นกล้วยให้หนึ่งต้นอย่างพออกพอใจทุกครั้ง
เสียบตัวหนัง(ตะ)ลุง
รูปหนังลุงปักไว้บนต้นหยวกกล้วย น้ามาดต้องทำพิธีไหว้ครู อัญเชิญเทวดา ขออนุญาตสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมไปถึงการล่วงเกินวิญญาณตัวหนังทั้งหลาย ให้การแสดงได้ลุล่วงจับใจคนฟังคนชมจนได้

งานเชิดหนังเป็นศิลปะของแสง-เงา ลายแกะสลักนั้นเอง เป็นที่มาของแสงเงาอลังการ เหลือเชื่อ สวยงาม มีเรื่องราวและมีชีวิตขึ้นมา
"รูปตัวตลกราคาของอาจารย์ดังๆ ผมซื้อมาตัวละ 250 บาท รูปหนูนุ้ย เท่ง ทอง อยู่ที่ฝีมืออาจารย์ รูปปลายหน้าบท รูปเจ้าเมือง รูปฤาษี รูปเทวดาทรงโค ราคาตัวหนึ่งเกิน 1,000 บาททั้งนั้น แต่ผมซื้อมาราคาตัวละ 800 กว่า 900 กว่าทั้งนั้น"

ม้ามาดมีรูปหนังลุงอยู่กับตัวตอนนี้ 30 ตัว

 

 

 

บล็อกของ ชนกลุ่มน้อย

ชนกลุ่มน้อย
เพลงรบต่อเนื่องกันมาถึงบันไดขั้นสุดท้าย  ยังมีบันไดอีกหลายขั้นทอดไป  และยังมีบันไดขั้นใหม่ๆทอดข้ามไปมา  ข้ามพรมแดนแปลกหน้าหากันและกัน  ไม่ว่าเพลงจะเกิดขึ้นในถ้ำ  เกิดในศูนย์ลี้ภัย  เกิดตามป่า  เกิดในเมือง  เพลงยังมีชีวิตเดินทางไปตามหาคนฟังต่อไปยามเพลงเดินไปตามไร่ข้าว  ห้างไร่  ออกตามหาคนฟัง  ผมไม่นึกว่าภาพนั้นจะกลายเป็นเรื่องราวอื่นไปได้มากกว่านั้น  คนเกี่ยวข้าวหยุดพัก  ตีวงล้อมเข้ามา  นั่งฟังเพลงคนหนุ่มที่ใช้เวลากับการเล่นเพลง  แต่งเพลง  ร้องฟังกันเองในแค้มป์ผู้ลี้ภัย  เหมือนโลกไม่เคยเห็น …
ชนกลุ่มน้อย
ระหว่างรอความหมายเพลงของเหล่อวา  ซึ่งผมเขียนไว้ว่าจะนำมาขึ้นจอ  แต่เพลงของเขาอยู่ระหว่างทางแปลความหมาย  สัปดาห์ต่อไปน่าจะถึงฝั่งน้ำปิง  นอนรอ  นั่งรอ ... บังเอิญนึกถึงเพลงศิลปินเพลงอีกชุดหนึ่ง  รูปปกเทปดอกกุหลาบแดงพ้อต่อฉื่อโพ  -- กุหลาบน้อย   เป็นชื่อบนปกเทปนานมาแล้วผมเคยเขียนถึง  ผ่านคนบอกเล่า  และคนแปลความหมายเนื้อเพลง  ว่ากันว่า  เป็นงานเพลงที่รวบรวมเอาเพลงอมตะสองฟากฝั่งสาละวิน  เลือกเอาคุ้นหูคนตะเข็บชายแดนมาไว้ในที่เดียวกัน  ผ่านเสียงร้องหวานเศร้าจับใจ  ในโทนเนื้อเสียงใกล้เคียง  นอร่าห์ โจนส์ (Norah…
ชนกลุ่มน้อย
ผมพบเขาครั้งแรกในหน้าหนาวเมื่อหลายปีก่อน  หมู่บ้านเล็กๆ  ใจกลางเทือกถนนธงชัย  เขาไม่ค่อยมองสบตาในช่วงแรกๆ  เงียบเหมือนหิน  ยิ้มยาก  เคร่งขรึมอบอวลอยู่ภายใน  ผมนึกว่าคนจากพื้นล่าง  ขึ้นมารอซื้อของป่า  หรือพูดง่ายๆว่าอาจเป็นพ่อค้าซื้อของป่าสักอย่าง  ซึ่งมักปิดปากเงียบ  ไม่อยากให้รายละเอียดใครต่อใคร  ถึงจุดหมายที่มาของตัวเองต่อคนแปลกหน้าด้วยกัน  และของป่าที่จะซื้อก็ใช่ว่ามันจะเถรตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย  หรือจะพูดอีกอย่างว่า  ได้มาง่าย  ได้มาถูกๆ  ได้ของมาโดยไม่เหมือนคนอื่น …
ชนกลุ่มน้อย
ขณะผมนั่งเขียนต้นฉบับ พระสงฆ์ในพม่าออกมาเดินบนท้องถนนเป็นวันที่แปด คนออกมาร่วมเดินไปตามถนนด้วยนับแสนคน ถนนกลางกรุงร่างกุ้งเชิญชวนให้คนออกมาเดิน ดูท่าคนจะเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆผมเห็นทิวแถวพระสงฆ์เหมือนแม่น้ำใหญ่สาละวินหน้าฝน พร้อมถั่งโถมใส่สิ่งกีดขวางทุกอย่าง หอบลงอันดามันสายตานักรบมองจ้องนักบวช ราวกับจะกินเลือดกินเนื้อ สะท้อนถึงเรื่องใด รัฐบาลเผด็จการทหารจะใช้วิธีสลายผู้ชุมนุมด้วยกระสุนปืนอีกหรือไม่ ล้วนเป็นที่จับตามองจากชาวโลกเย็นนี นักศึกษาพม่ากำลังขมักเขม้นทำเพลง ว่าด้วยโศกนาฏกรรมฆ่าประชาชนกลางกรุงร่างกุ้งเมื่อปี 1988 เกือบยี่สิบปีก่อน เขาเลือกเอาเชียงใหม่เป็นสถานที่ทำเพลง…