Skip to main content

.

.

หมายเหตุ: บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อใช้ประกอบการเสวนาหัวข้อ "ศาสนากับโลกทุนนิยมยุคปัจจุบัน" ในวันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2561 เวลา 10.30 น. - 13.30 น. ที่ห้อง 302 อาคารวิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดย Group of Comrades

 

 

ศาสนากับโลกทุนนิยมยุคปัจจุบัน

 

โดย Chotisak Onsoong

 

หากพูดถึงศาสนาในมุมมองมาร์กซิสต์ วรรคทองที่หลายๆคนมักจะนึกถึงเป็นอันดับแรกก็คือ “Religion is the opium of the people.” หรือ “ศาสนาคือฝิ่นของประชาชน” (คำที่มาร์กซ์ใช้จริงๆ ถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษก็คือ “It is the opium of the people.” ซึ่ง It ในที่นี้หมายถึง Religion นั่นเอง)

วรรคทองสั้นๆนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทนำของ A Contribution to the Critique of Hegel’s Philosophy of Right ที่เขียนระหว่างปี 1843-1844, ซึ่งมีเฉพาะส่วนที่เป็นบทนำนี้เท่านั้นที่ได้ตีพิมพ์ในช่วงชีวิตมาร์กซ์, โดยบทนำดังกล่าวเขียนและตีพิมพ์ในปี 1844 หรือเพียงราวๆ 1 ปี ก่อนการเขียนโน้ตสั้นๆอันโด่งดังชิ้นหนึ่ง นั่นคือ Theses On Feuerbach ซึ่งก็ไม่ได้ตีพิมพ์ในช่วงชีวิตมาร์กซ์อีกเช่นกัน

เมื่อพูดถึงประโยค “Religion is the opium of the people.” คนส่วนมาก ไม่ว่าจะเป็นศาสนิกหรืออศาสนิก มักจะมองว่ามาร์กซ์และมาร์กซิสต์มองศาสนาในแง่ลบชนิดสุดขั้ว ที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งอาจจะเพราะมุมมองของคนยุคปัจจุบันที่มีต่อฝิ่นนั้นต่างไปจากยุคก่อน คือฝิ่นในปัจจุบันมีสถานะเป็นยาเสพย์ติด ซึ่งมีโทษภัยและน่ารังเกียจอย่างยิ่ง แต่สำหรับยุคก่อน ฝิ่นก็คือ “ยา” ชนิดหนึ่ง ที่แพทย์จ่ายให้กับผู้ป่วยเพื่อบรรเทาอาการปวดเท่านั้นเอง (บางคนที่แปลประโยคนี้จึงใช้คำว่า “ยาฝิ่น” แทนคำว่า “ฝิ่น” เฉยๆ, หรือบางคนก็แปลว่า “ยาระงับปวด” หรือ “ยาแก้ปวด” ไปเลยก็มี)

อย่างไรก็ตาม แม้จะพูดถึง “ฝิ่น” ในฐานะ “ยา” แต่ก็ยังเป็นการพูดในเชิงลบอยู่ดี (เพียงแต่อาจจะไม่ลบชนิดสุดขั้วอย่างที่หลายๆคนเข้าใจ) เพราะมันคือการวิจารณ์ว่าศาสนาทำได้แค่เพียงระงับความรู้สึกเจ็บปวดหรือทำให้คนป่วยรู้สึกดีขึ้น แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาที่แท้จริงแต่อย่างใดเลย

นอกจากนั้นแล้วมันยังบอกเป็นนัยด้วยว่า ถ้าหากแก้ไขปัญหาที่แท้จริงได้ ความต้องการยาระงับปวดชนิดนี้ก็จะหมดไปเอง ซึ่งเมื่อมาถึงจุดนี้ก็จะมีคนเสนอว่า ดังนั้นแล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องไปวิพากษ์วิจารณ์หรือต่อสู้กับศาสนา เราเพียงแต่ช่วยกัน “แก้ไขปัญหาหาที่แท้จริง” ก็พอแล้ว ซึ่งคนที่เสนอเช่นนี้อาจลืมไปว่า ศาสนาไม่เพียงแต่เป็นผลผลิตของโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองเท่านั้น แต่ในทางกลับกัน ตัวมันเองเมื่อถูกสร้างขึ้นแล้วมันก็ได้ทำหน้าที่ค้ำยันให้กับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองในช่วงนั้นๆด้วย

เมื่อโครงสร้างทางสังคมสร้างบาดแผลและความเจ็บปวดทางจิตใจหรือสร้างความรู้สึกแปลกแยกให้แก่ผู้คน ศาสนาก็จะคอยทำหน้าที่เป็น “ยาฝิ่น” คอยระงับหรือบรรเทาความเจ็บปวดหรือความแปลกแยกเหล่านั้น ซึ่งเมื่อผู้คนรู้สึกดีขึ้นเขาก็กลับไปทำหน้าที่รับใช้โครงสร้างดังกล่าวต่อไป เป็นการพึ่งพาซึ่งกันและกัน ค้ำยันซึ่งกันและกัน ระหว่างโครงสร้างทางสังคมกับศาสนา พูดอีกอย่างก็คือ “ยาฝิ่น” นี้ทำหน้าที่ยับยั้งไม่ให้มนุษย์ผู้ถูกกดขี่ลุกขึ้นมาปฏิวัติล้มโครงสร้างทางสังคมนั่นเอง (หรือหากจะมีกรณียกเว้นบ้าง คือศาสนาเป็นฝ่ายนำผู้คนให้ลุกขึ้นปฏิวัติซะเอง ก็เป็นการปฏิวัติเพื่อพาผู้คนย้อนไปสู่ความล้าหลัง สร้างสังคมที่มอมเมาผู้คนด้วย “ฝิ่น” แทน เท่านั้นเอง)

คนที่เสนอว่าเราไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์หรือต่อสู้กับศาสนา เพียงแต่ “แก้ไขปัญหาที่แท้จริง” คือทำลายโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมืองที่กดขี่ขูดรีด ต้องตอบให้ได้ว่าจะทำลายโครงสร้างอันกดขี่ขูดรีดนั้นได้อย่างไร หากคุณปล่อย “เสาค้ำยัน” ไว้โดยไม่แตะต้องเลย

 

ชาวพุทธบางส่วนอาจปลอบใจตัวเองว่า เหตุที่มาร์กซ์พูดแบบนั้น (“Religion is the opium of the people.”) เป็นเพราะมาร์กซ์ไม่รู้จักศาสนาพุทธ หากมาร์กซ์มีโอกาสเรียนรู้ศาสนาพุทธ มากร์กซ์จะไม่พูดเช่นนั้นแน่นอน

ผมอยากตั้งคำถามต่อชาวพุทธเหล่านี้ว่า ศาสนาพุทธไม่ได้ทำหน้าที่ “ยาฝิ่น” เช่นเดียวกันศาสนาอื่นๆ อย่างนั้นหรือ? ไม่ได้ทำหน้าที่ระงับหรือบรรเทาความเจ็บปวดให้กับชนชั้นผู้ถูกกดขี่ขูดรีดเพื่อให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นพอที่จะไปทำงานรับใช้โครงสร้างทางสังคม อย่างนั้นหรือ?

ศาสนาพุทธไม่ได้ทำหน้าที่ผลิตคำอธิบายเพื่อกล่อมให้ชนชั้นล่างยอมรับการถูกกดขี่ขูดรีด เช่นเดียวกับศาสนาอื่นๆ อย่างนั้นเหรอ? เวลาไพร่ในอาณาจักรอยุธยาต้องไปทำงานรับใช้มูลนาย ถูกมูลนายโขกสับ หรือเวลาคนงานถูกนายขูดรีดค่าแรง ศาสนาพุทธไม่ทำหน้าที่ผลิตคำอธิบายเพื่อกล่อมให้ไพร่หรือแรงงานเหล่านั้นยอมรับชะตากรรม หรือกระทั่งยอมรับว่าสิ่งที่เป็นอยู่นั้นมันดีแล้ว ยุติธรรมแล้ว ไม่ว่าจะด้วยคำอธิบายเรื่องบุญกรรม หรือเรื่องบุญคุณ (ที่อาจไม่เกี่ยวกับชาติปางก่อน) หรืออะไรทำนองนี้ อย่างนั้นหรือ?

เราจะเห็นว่าแม้ในรายละเอียดอาจจะต่าง แต่ในแง่การทำหน้าที่การเป็น “ยาฝิ่น” แล้ว ศาสนาพุทธก็ไม่ได้ต่างจากศาสนาอื่นๆเลยแม้แต่น้อย

 

ความต้องการและความจำเป็นในการ “เสพย์” ศาสนานั้น ไม่ได้มีแต่เฉพาะในหมู่ชนชั้นล่างซึ่งถูกกดขี่ขูดรีดหรือเอารัดเอาเปรียบเท่านั้น แต่แม้แต่ในหมู่ชนชั้นปกครองเองก็มีความต้องการและความจำเป็นด้วยเช่นกัน เพราะชีวิตของชนชั้นปกครองนั้นแม้จะไม่ถูกกดขี่ขูดรีดแต่ก็เผชิญกับความไม่มั่นคงอยู่ตลอดเวลา (เป็นปัญหาที่ชนชั้นปกครองต้องเผชิญเช่นเดียวกันชนชั้นล่าง แม้จะต่างกันในแง่รายละเอียดก็ตาม) คือพวกเขาต้องเผชิญความหวาดกลัวว่าสักวันหนึ่งพวกเขาอาจจะต้อง “ตกสวรรค์” ลงไปคลุกฝุ่นเช่นเดียวกันชนชั้นล่างก็ได้ ศาสนาและความเชื่อในเชิงศาสนาคือสิ่งที่เข้ามาทำหน้าที่คอยปลอบประโลม-ปลอบขวัญ ให้ชนชั้นปกครองสามารถสงบใจลงได้

เราจะเห็นว่าชนชั้นปกครองกลุ่มต่างๆในประเทศนี้ส่วนใหญ่มักมีและให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับความเชื่อทางศาสนา ความเชื่อเรื่องโชคลาง พิธีกรรม หรือไสยศาสตร์ต่างๆ

 

หลายคนมักเชื่อว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจะทำให้ผู้คนเลิกงมงายในศาสนาในที่สุด แต่ในความเป็นจริงเราจะเห็นว่าแม้ในประเทศที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี หรือรัสเซีย ศาสนาก็ยังมีความสำคัญ (กรณีสหรัฐอเมริกา ยังมีคดีฟ้องเพื่อขัดขวางการสอนทฤษฎีวิวัฒนาการหรือเพื่อให้สอนทฤษฎีการสร้างโดยพระเจ้าควบคู่กับทฤษฎีวิวัฒนาการ แม้กระทั่งหลังปี 2000 มาแล้ว, และอาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต)

หรือหากจะดูใกล้ตัวกว่านั้น ในกรณีประเทศไทยเองคนที่ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆจำนวนมากก็หันหน้าเข้าหาศาสนา

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้น คือศาสนาทำหน้าที่เป็น “ยาฝิ่น” คอยบรรเทาเยียวยาความเจ็บปวดและความแปลกแยกในชีวิตของผู้คน เมื่อโครงสร้างทางสังคมยังคอยสร้างบาดแผลและความเจ็บปวดทางจิตใจ หรือสร้างสภาวะแปลกแยก ผู้คนก็ย่อมมีความต้องการ “ยาฝิ่น” ต่อไป ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อาจชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของศาสนา แต่จะมีสักกี่คนที่ใยดีต่อเรื่องดังกล่าว (โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในภาวะเจ็บปวดอย่างสิ้นหวัง) ในเมื่อ “ประโยชน์ใช้สอย” ที่ผู้คนได้จากศาสนาเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่เรื่องข้อเท็จจริง

นั่นแปลว่าคนที่หันหน้าเข้าหาศาสนา และรวมถึงความเชื่อเชิงศาสนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผีสางเทวดาหรือไสยศาสตร์ต่างๆ โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงในเชิงวิทยาศาสตร์ นั่นไม่ใช่เพราะเขาโง่ แต่เพราะเขาสามารถใช้ประโยชน์จากศาสนาหรือความเชื่อเหล่านั้นได้ ต่างหาก

ศาสนาจะยังทรงอิทธิพลต่อไป ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมชนชั้นที่เต็มไปด้วยการกดขี่ขูดรีด ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะทำได้แค่เพียงช่วยลดอิทธิพลดังกล่าวลงบ้างเท่านั้นเอง

 

- - - - - - - - - - - - - - - -

บล็อกของ Chotisak