เกี่ยวกับฮาเมอร์ ซาลวาลา
ฮาเมอร์ ซาลวาลา ถือเป็นผู้สร้างหนังทำหนังทดลองยุคแรกๆ ของไทย ฮาเมอร์ยังเป็นช่างภาพอิสระ ให้กับนิตยสารอย่าง นิตยสารฟิล์มไวรัส, นิตยสารแอล เดคคอ, นิตยสารคลีโอและนิตยสารอิมเมจ ก่อนที่จะหันมาให้ความสนใจในการทำหนัง โดยเขาลงทุนซื้อกล้อง 16 มม. ด้วยเงินของตัวเอง และเริ่มฝึกทำหนังสั้นด้วยตัวเองมาโดยตลอด โดยหนังสั้นเรื่องแรกๆ ของเขา เรื่อง สงครามก่อนสงคราม (War before War) (2532) ได้รับเชิญให้เข้าฉายที่งานเทศกาลภาพยนตร์ The Golden Camera ที่ เมือง Hamburg ประเทศเยอรมนี
ต่อมาในปี 2534 ฮาเมอร์ ได้เข้าร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการภาพยนตร์ทดลองครั้งที่ 1 ที่จัดขึ้นโดยสถาบันเกอเธ่ ร่วมกับหอภาพยนตร์แห่งชาติ โดยในอบรมครั้งนั้น ฮาเมอร์มีได้มีโอกาสสร้างหนังสั้นเรื่อง บุญทิ้ง ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เข้าฉายที่งานเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศมากมาย เช่น เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Melbourne ครั้งที่ 42
ในช่วงหลังเกิดพฤษภาทมิฬ ปี 2535 ฮาเมอร์ได้แสดงออกความคิดเห็นของเขาที่มีต่อเหตุการณ์พฤษภาทมิฬด้วยการสร้างหนังสั้นทดลองเรื่อง ค้างคาวเดือนพฤษภา (Bat of May)
ต่อมา ในปี 2538 ฮาเมอร์ได้เข้าร่วมอบรมหนังทดลองครั้งที่ 2 ของเกอเธ่อีกครั้ง โดยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจะทำหนังยาวเล่าเรื่อง และเน้นการถ่ายทำด้วยฟิล์มภาพยนตร์ มีการทำงานกันเป็นทีม แบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ซึ่งฮาเมอร์ ได้มีโอกาสกำกับหนังสั้นขนาดยาวที่สร้างเสียงฮือฮา เรื่อง เมีย (Wife) ที่ฮาเมอร์ได้รับแรงบันดาลใจจากสกู๊ปในหนังสือพิมพ์ เกี่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งที่สามีไปมีความสัมพันธ์ผู้ชาย (ซึ่งแสดงโดยคาเมล ซาลาวา ดาราละครชื่อดังสมัยนั้น ซึ่งเป็นพี่ชายของฮาเมอร์ด้วย) หนังเรื่องนี้ได้รับเชิญไปฉายที่งานเทศกาลภาพยนตร์สิงคโปร์ครั้งที่ 11
ผลงานหนังสั้นอีกเรื่องของฮาเมอร์ที่ได้รับเสียงตอบรับจากเทศกาลหนังนานาชาติ คือ เรื่อง บอลลูน (Balloon) หนังอนิเมชั่นความยาวเพียง 1 นาที ซึ่งถ่ายโดยฟิล์ม 1 นาที ได้รับเชิญเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์และวิดีโอ เมืองมัลโม ประเทศสวีเดน เทศกาลภาพยนตร์และวิดีโอ Monte Video Biennial เมืองซานติเอโก ประเทศชิลี
ปัจจุบัน ฮาเมอร์ยังคงเป็นช่างภาพอิสระ และมีงานแสดงผลงานภาพถ่ายทั้งในและนอกประเทศ
(ที่มา: http://www.thaishortfilmfestival.com/)
เกี่ยวกับ day4nite
day4nite มาจาก day for night เป็นคำทางการถ่ายทำภาพยนตร์ หมายถึงการถ่ายกลางวันให้เป็นกลางคืน ใช้เมื่อมีฉากกลางคืนในท้องเรื่องเป็นบริเวณกว้าง การที่จะจัดไฟถ่ายหนังในเวลากลางคืนไม่สะดวก หรือแทบเป็นไปไม่ได้ จึงถ่ายทำในเวลากลางวันแทน โดยลดหน้ากล้องลงประมาณ 1-2 stop แล้วเอา filter 85 (สีส้ม) ออกจากกล้องเพื่อให้ฟิล์ม tungsten รับแสงกลางวันโดยตรง มีผลให้ภาพเป็นสีฟ้า ครั้งหนึ่ง ผมเคยใช้ชื่อนี้สำหรับวงดนตรี แต่วงดนครีวงแรกของผมและเพื่อนสมัยม.ปลายชื่อ Anks เราแสดงประกวดในงานโรงเรียนได้ที่2 ต่อมากับเพื่อนอีกกลุ่มชื่อ Jungle เป็นเพราะตอนนั้นพวกเราชอบเที่ยวป่ากัน
(ที่มา: ฮาเมอร์ ซาลวาลา, http://day4nite.wordpress.com/2008/01/24/day4nite/)