Skip to main content

ฉันน้ำตาไหลเลยหลังจากอ่านข่าวสรุปถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ที่ส่งสารตรงถึงประชาชนชาวเนเธอร์แลนด์ เมื่อค่ำวันจันทร์ที่ ๑๖ มีนาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นในรอบห้าสิบปี หลังจากที่ครั้งสุดท้ายนายกฯเขาต้องออกมาพูดกับประชาชนทั่วประเทศอย่างนี้คือครั้งวิกฤติน้ำมันปี ๑๙๗๐

มันคือน้ำตาของความอับอาย อัดอั้น และสงสารตัวเองและเพื่อนร่วมประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเอามาเปรียบกับสิ่งที่ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยและผู้บริหารรัฐนาวานี้จะพายพาเราไปไหนไม่รู้

นายกรัฐมนตรีชาวดัตช์ มาร์ค รุตเตอร์ ซึ่งเรียกกันว่าเป็น Most wanted bachelor คือเป็นนายกฯ หนุ่มโสดเนื้อหอม เขากล่าวถึงยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลจะดำเนินการ เนเธอร์แลนด์ใช้ยุทธศาสตร์ “การควบคุมสูงสุด” เพื่อจัดการกับการแพร่ของโคโรน่าไวรัส  เป้าหมายคือพยายามทอดระยะเวลาก่อนจะมีการระบาดสูงให้นานออกไป ซึ่งจะทำให้มีเวลาเพียงพอที่สังคมจะสร้างภูมิคุ้มกัน นั่นหมายถึงว่าโรงพยาบาลและหน่วยดูแลผู้ป่วยหนัก (ไอซียู) จะไม่ต้องแบกภาระหนักเกินและมีศักยภาพที่จะช่วยคนที่จำเป็น

สิ่งที่รัฐบาลนำเสนอนี้คือการพยายามหยุดยั้งไวรัส และให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุและคนที่สุขภาพไม่ดี นายกฯกล่าวด้วยว่า “ผมเข้าใจดีว่าท่านกังวล”

“สิงที่สำคัญสำหรับเราคือการการทำให้ความเสี่ยงของคุณน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้”

“เราทุกคนมีคำถามว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อปกป้องตัวเราและคนรอบข้าง เราควรจะยังจัดงานวันเกิดหรือไม่ หรือ งานแต่งงานล่ะ และทำไมหนึ่งประเทศต้องมีกฎเดียวกัน และ คำถามอื่น ๆ อีกมาก”

คำตอบคือ เราเริ่มต้นด้วยความรู้และประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ มันสำคัญอย่างยิ่งที่เราต้องดำเนินการด้วยวิทยาศาสตร์ คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญนำมาซึ่งการตัดสินใจตั้งแต่เมื่อเริ่มเกิดสถานการณ์ขึ้นในเนเธอร์แลนด์ เขายังย้ำว่า “และมันสำคัญที่เราจะยังคงขับเคลื่อนต่อไปโดยมีความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้เป็นเข็มทิศนำ”

เขาอธิบายถึงการเลือกยุทธศาสตร์ให้เข้าใจร่วมกันว่า

ภูมิคุ้มกัน

“จะมีคนจำนวนมากในเนเธอร์แลนด์ที่จะสัมผัสกับไวรัสในช่วงหลังจากนี้ และคนจำนวนมากขึ้นที่จะมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งก็ทำให้ลดโอกาสที่จะแพร่ไปสู่ผู้สูงอายุและคนที่สุขภาพอ่อนแอ”

“จะต้องใช้เวลาหลายเดือนในการทำให้เกิดขึ้น และในระหว่างนี้เราต้องปกป้องผู้คน ทางเลือกของเราคือการยกระดับการควบคุมสูงสุด เพื่อชลอให้นานที่สุดก่อนการระบาดไปถึงจุดสูงสุด ระหว่างนั้นคนของเราก็จะค่อยสร้างภูมิคุ้มกัน และไม่ทำให้ภาระงานของโรงพาบาลล้นเกิน รวมไปถึงแผนกที่ต้องดูแลผู้ป่วยหนัก”

อีกทางเลือกหนึ่งคือปล่อยให้การระบาดเกิดขึ้นเร็วๆ ซึ่งจะทำให้เกิดภาระหนักเกินกับหน่วยบริการสุขภาพ “เราต้องทำทุกวิถีทางไม่ให้เป็นเช่นนั้น” เขาบอกกับผู้ชมทางโทรทัศน์ด้วยว่า ทางเลือกที่สามคือปิดประเทศและพยายามสกัดมันออกไป ซึ่งจะใช้เวลาหลายเดือนหรือนานกว่านั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบกับพวกเราทุกคน

กฎกติกา

“ระยะเวลาของการใช้มาตรการซึ่งอาจจะต้องขยายออกไปถ้าจำเป็น ขึ้นอยู่กับว่าไวรัสมีปฏิกิยาโต้กลับอย่างไร” กฎบางข้ออาจจะทำให้ยืดหยุ่นไว้ เราคงต้องเฝ้าระวังให้ดีในหลายเดือนที่กำลังมาถึง “เราจะบังคับใช้มาตรการเท่าที่จำเป็น และให้เราได้ดำเนินชีวิตปกติมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้”

รุตเตอร์ยังกล่าวตรงไปตรงมาถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการต้องปิดบริการ “คนจำนวนมากกังวลกับงาน ธุรกิจมากมายอยู่ในสภาพหลังชนฝา”

“ผมอยากจะส่งสารไปยังคนทำงานในเนเธอร์แลนด์ว่ารัฐบาลจะทำทุกอย่างเพื่อให้ธุรกิจทั้งหลายไม่ล้ม และคุณไม่ต้องตกงาน มันเป็นเรื่องที่ยาก แต่เราจะไม่ทำให้คุณผิดหวัง”

“ในท้ายนี้ผมขอขอบคุณทุกคนในเนเธอร์แลนด์ที่ปฏิบัติตามกฎ และให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”

“ขอให้พวกเราติดตามและปฏิบัติตามคำแนะนำ แม้ว่าคุณจะสุขภาพแข็งแรงดี ฟังผู้เชี่ยวชาญ เป็นการช่วยที่คุณทำได้ นี้คือเวลาที่เราต้องช่วยกัน เพื่อให้ความจำเป็นร่วมคือความจำเป็นของเรา”

“คนทำความสะอาด, พยาบาล และแพทย์ในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่รถพยาบาลและผู้ปฏิบัติงานในหน่วยฉุกเฉินอื่น ๆ หรือ ผู้ที่ประจำในหน่วยบริการ ในโรงเรียน, ศูนย์ดูแลเด็ก และซุปเปอร์มาร์เก็ต ผมอยากจะบอกว่าพวกคุณกำลังทำงานที่สุดยอดมาก และขอขอบคุณ”

“ความท้าทายที่เรากำลังเผชิญนี้ใหญ่หลวงและเราจะผ่านช่วงเวลายากลำบากนี้ไปด้วยกัน ดูแลซึ่งกันและกัน ผมไว้ใจพวกคุณ”

คุยกับคนที่เนเธอร์แลนด์ เขาบอกว่าปฏิกิริยาจากสังคมตอบรับดีมาก คนเข้าใจและรู้สึกว่าสอดคล้องกับความเป็นจริง รวมทั้งเขาสามารถดึงอารมณ์ร่วมกันของคนในสังคม ด้วยการกล่าวแถลงอย่างเต็มไปด้วยความรู้สึก

ความเข้าใจที่เกิดขึ้นจากสารของนายกฯนี้

• คนรับรู้ว่าในอีกหลายเดือนจากนี้ไป คนในเนเธอร์แลนด์กว่าครึ่งจะได้รับผลกระทบหรือติดเชื้อ และคนจำนวนมากที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา เมื่อคนในสังคมมีภูมิคุ้มกันมากเพียงพอก็จะเป็นเกราะป้องกันที่จะลดการนำเชื้อไปสู่คนที่มีความเสี่ยง อย่างผู้สูงอายุ และคนที่มีปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ

• ทรัพยากรทางสาธารณสุขจะถูกนำไปใช้ในการปกป้องดูแลกลุ่มเสี่ยงสูงในสังคม ปัจจุบัน(๑๖ มี.ค.๖๓)มีตรวจพบว่าติดเชื้อทั้งหมด ๑,๔๑๓ คน เสียชีวิตแล้ว ๒๔ คน โดยคนที่เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในวัยเฉลี่ย ๗๙ ปี และคนที่มีโรคหอบหืด

• ทุกคนควรจะจำกัดการพบปะ โดยให้อยู่ที่บ้านเป็นหลัก หากเป็นหวัด และมีอาการรุนแรงขึ้น มีอาการเข้าข่ายการติดไวรัสโคโรน่า ขอให้ติดต่อแพทย์ประจำ (ที่เนเธอร์แลนด์มีระบบแพทย์ทั่วไปที่เป็นแพทย์ประจำตัวของแต่ละคน)

• หากเป็นหวัด หรือไข้หวัดใหญ่ธรรมดาสามารถที่จะอยู่ที่บ้าน ดูแลอาการตัวเองได้

• รัฐบาลพร้อมจะทุ่มงบประมาณจำนวนมากเพื่อพยุงภาคเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบ

สารที่สื่อตรงถึงประชาชน ให้ข้อมูล ให้คำอธิบาย บอกถึงทางเลือก และความคิดเบื้องหลังที่เลือก และให้ความมั่นใจในการดูแลทุกข์สุขประชาชน มันคือสิ่งที่แสดงถึงการให้คุณค่ากับชีวิตของคน, การเคารพในสิทธิของประชาชนที่จะได้รับรู้/มีส่วนในการตัดสินใจ และแสดงออกถึงความไว้วางใจประชาชน และแน่นอนรัฐบาลเช่นนี้จึงเหมาะควรที่จะได้รับความไว้วางใจและเชื่อมันจากประชาชนตอบแทน

 

Source: https://www.dutchnews.nl
 

บล็อกของ จีรนุช เปรมชัยพร

จีรนุช เปรมชัยพร
26 มิถุนายน 2552 เป็นอีกวันที่ต้องตื่นเช้า เพื่อเตรียมพบกับประสบการณ์ใหม่ การรายงานตัวที่สำนักงานอัยการตามนัดหมายการสั่งคดี หลังจากที่เจ้าพนักงานสอบสวน(ตำรวจกองปราบ) ได้นัดหมายส่งสำนวนคดีให้กับอัยการเมื่อวันทีี่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา ประสบการณ์การรายงานตัวเพื่อรับฟังการสั่งคดี รวดเร็วเสร็จสิ้นภายในเวลาไม่ถึง 5 นาที เนื่องด้วยอัยการได้สั่งสอบข้อมูลเพิ่มเติม จึงได้เลื่อนการสั่งคดีออกไปเป็นวันที่ 29 กรกฎาคม แทน (เร็วชนิดที่เพื่อนๆที่จะตามมาเป็นเพื่อนมาให้กำลังใจมากันไม่ทันค่ะ เลยต้องเปลี่ยนเป็นการกินอาหารเช้าร่วมกันแทน) ในฐานะที่ตกเป็นผู้ต้องหา และต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม…
จีรนุช เปรมชัยพร
สวัสดีค่ะ (*_*)ถือฤกษ์รัฐบาลประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงมาทักทายทุกท่าน พร้อมกับยกป้ายคำเตือนตัวโตๆสีดำ      "ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน"  ออกไปด้วยแล้ว คงช่วยลดความรำคาญใจของผู้อ่านและเพื่อนสมาชิกเว็บบอร์ดลงไปบ้าง นับย้อนหลังไปเกือบห้าปี..หลายคนคงไม่รู้ว่ากว่าจะมาเป็น 'ประชาไท' ในโลกของสื่อใหม่ (์New Media) กรรมการและทีมงานถกเถียงกันอยู่นานว่าจะตั้งชื่อ 'สื่อใหม่' ที่หวังให้เป็นสื่อทางเลือกว่าอะไรดีจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้ก่อตั้งคนสำคัญนำเสนอชื่อ 'ประชาไท' ขึ้นมา ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของทีมงานส่วนใหญ่ เหตุผลที่ขัดแย้งก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าความรู้สึกว่า "มันเชย…