Skip to main content

วันที่ 14 กรกฎาคม ของปีนี้ เป็นวันครบรอบ 225 ปี ของการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่เช่นเดียวกับการปฏิวัติหลายแห่งในโลก เมื่อมองย้อนกลับไปจากมุมมองปัจจุบัน จะเห็นว่าหลายอย่างยังคงไม่เข้ารูปเข้ารอย ในฝรั่งเศสเองยังถกเถียงกันว่า อุดมการณ์ของการปฏิวัติคืออะไรและการปฏิวัติสิ้นสุดลงหรือยัง? การปฏิวัติได้เปลี่ยนแปลงชาติฝรั่งเศสมากมายแต่ภารกิจของการปฏิวัตินั้นได้สิ้นสุดลงหรือยังในปัจจุบัน? วันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 นั้นเป็นวันที่ชาวปารีสลุกฮือบุกทำลายคุกบาสตีย์ และหมายถึงงานฉลองสหพันธรัฐในวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1790 อันเป็นวันที่กล่าวปฏิญาณต่อ “ชาติ” แบบใหม่ ซึ่งกษัตริย์ยอมอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่สิ่งเหล่านี้เป็น “รากฐาน” ของระบอบสาธารณรัฐที่เราเห็นทุกวันนี้แค่ไหนกัน ทำไมถึงยกสองเหตุการณ์นี้เป็นวันชาติ? ยังมีข้อถกเถียงสำคัญอีกหลายข้อที่ยังไม่ได้ข้อสรุปและอาจจะไม่มีวันได้ข้อสรุป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ทางการเมืองส่วนตัวด้วย เช่น จริง ๆ แล้วจำเป็นต้องประหารชีวิตกษัตริย์หรือไม่? บุคคลสำคัญของการปฏิวัติอย่างโรแบสปิแอร์ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นที่มาของความชั่วร้ายในยุค “สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว” นั้น ควรจะได้รับการสรรเสริญหรือไม่? เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม  เป็นที่แน่ชัดว่า การปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองและสังคมที่เรียกได้ว่าพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เป็นการทำลายสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบเก่า” (Ancien Regime) อย่างถอนรากถอนโคน แม้การเมืองฝรั่งเศสจะพลิกผัน มีการฟื้นคืนระบอบราชวงศ์หรือเปลี่ยนเป็นระบอบจักรวรรดิหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็มาลงเอยที่ระบอบสาธารณรัฐ ในปัจจุบัน ฝรั่งเศสถือเป็นสาธารณรัฐที่ 5 แล้ว เรียกได้ว่าเป็นประเทศที่ผ่านการถกเถียงทางทฤษฎีและผ่านการทดลองในเชิงปฏิบัติในเรื่องรูปแบบการปกครองในอุดมคติอย่างโชกโชน

มรดกตกทอดที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน และที่จะกล่าวถึงในที่นี้ คือเรื่อง “สิทธิโดยธรรมชาติของมนุษย์” ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 17 เหล่านักคิดนักปรัชญาต่างพยายามแสวงคำอธิบายใหม่ให้แก่ต้นตอของความทุกข์ยากทางสังคม ยกตัวอย่างเช่น จอห์น ล็อค (John Locke) เขียนไว้ใน “บทความเกี่ยวกับรัฐบาลพลเรือน” ว่ามนุษย์นั้นสร้างสังคมขึ้นมาเพื่อปกป้องสิทธิทางธรรมชาติของตนเอง อันได้แก่เสรีภาพ กรรมสิทธิ์ ความปลอดภัย ฯลฯ ดังนั้นหากรัฐบาลไม่สามารถปกป้องสิทธิเหล่านี้ได้ ประชาชนก็มีสิทธิล้มรัฐบาลโดยชอบธรรม ต่อมามงเตสกิเออร์ (Montesquieu) เขียน “จิตวิญญาณของกฎหมาย” โดยมีประเด็นหลักประเด็นหนึ่งคือ การแสวงหารูปแบบการปกครองที่ลิดรอนสิทธิทางธรรมชาติของมนุษย์ให้น้อยที่สุด สุดท้ายเขาพบว่า มันคือระบบที่มีการแบ่งแยกอำนาจ เพราะอำนาจที่ไร้ขีดจำกัดและกระจุกตัวนั้น นำมาซึ่งเผด็จการอย่างแน่นอน สำหรับรุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) นั้น เขาเขียนไว้ใน “สัญญาประชาคม” ว่า “มนุษย์เกิดมาเสรี และทุกหนแห่งเขาอยู่ใต้โซ่ตรวน” สิ่งที่เขาพยายามชี้ให้เห็นในที่นี้ คือโซ่ตรวนหรือโครงสร้างทางสังคมนั้น เป็นต้นตอของความทุกข์ยากของประชาชนเนื่องจากว่าเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับธรรมชาติมนุษย์ซึ่งก็คือเสรีภาพ การไม่เคารพหลักธรรมชาติมนุษย์นี้ คือการทำลายความสงบสุขของประชาชน

 ที่ผ่านมาก่อนการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1789 ไม่เคยมีสถาบันทางสังคมใด ๆ ที่รองรับธรรมชาติมนุษย์ที่กล่าวมานี้เลย ดังนั้นหนทางเดียวที่จะทำให้สังคมสงบสุขได้ คือการรื้อระบอบเก่า ซึ่งมนุษย์ส่วนใหญ่เป็นเพียงไพร่ทาสและอยู่ภายใต้ความแร้นแค้น แล้วสร้างระบอบใหม่ซึ่งประชาชนเป็น “มนุษย์” ที่มีสิทธิอย่างแท้จริงโดยมีกฎหมายและสถาบันทางการเมืองที่รองรับ นี่คือที่มาประการหนึ่งของการปฏิวัติฝรั่งเศส และเป็นสาเหตุที่รัฐบาลของระบอบใหม่นั้นรีบประกาศ “ประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง” โดยทันทีตั้งแต่ปี 1789 เห็นได้ว่าเนื้อหาของคำประกาศนั้นชัดเจนเรื่องสิทธิธรรมชาติ โดยระบุไว้ในข้อแรกว่า "มนุษย์เกิดมาและดำรงอยู่อย่างเสรีและเสมอภาคกันในสิทธิ การเลือกปฏิบัติทางสังคมจะกระทำได้ก็แต่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม"

เมื่อธรรมชาติของมนุษย์ได้รับการเคารพ มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน อำนาจอธิปไตยจึงเป็นของประชาชน คนธรรมดา ๆ คือเจ้าของประเทศอย่างเสมอหน้ากัน อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติในช่วงแรกนั้นยังค่อนข้างประนีประนอมกับระบอบเก่า ประชาชนยังถูกแบ่งเป็นกลุ่มที่มีจิตสำนึก (citoyen actif) และกลุ่มที่ไร้จิตสำนึก (citoyen passif) กลุ่มแรกนั้นคือผู้ถือครองทรัพย์สินและสามารถจ่ายภาษีได้ ซึ่งเป็นประชากรจำนวนประมาณ 60% ของประเทศ และคือกลุ่มนี้เท่านั้นที่มีสิทธิเลือกตั้ง นอกจากนี้ เหล่าทาสผิวดำก็ยังคงไร้สิทธิโดยสิ้นเชิง ลักษณะเช่นนี้ตรงกันข้ามกับอุดมคติของสังคมใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น คืออุดมคติเรื่องความเท่าเทียมและการพยายามทำลายระบอบอภิสิทธิ์ต่าง ๆ ดังนั้นในปี 1792 เมื่อโรแบสปิแอร์ (Maximilien Robespierre) ผู้นำคนสำคัญของปีกก้าวหน้าเริ่มขึ้นมามีอำนาจ จึงมีการประกาศให้ผู้ชายทุกคน ทุกชนชั้น สามารถเลือกตั้งได้อย่างเท่าเทียมกัน  

จะเห็นได้ว่า การเลือกตั้งนั้น เชื่อมโยงกับเรื่อง “สิทธิธรรมชาติ” ในแง่ของเสรีภาพและความเสมอภาค อันเป็นรากฐานของอำนาจอธิปไตยของปวงชน การเลือกตั้งคือการแสดงถึงอำนาจของประชาชนในการปกครองตัวเอง รับประกันสิทธิของตัวเอง และได้มาซึ่งสังคมสงบสุขในที่สุด

จนถึงทุกวันนี้ รากฐานความคิดเช่นนี้ เป็นที่ยอมรับในทางสากล ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การพรากสิทธิธรรมชาติของมนุษย์นั้น ไม่สามารถสร้างสังคมที่สงบสุขยั่งยืนได้ (ไม่ว่าจะพยายามคืนความสุขแค่ไหนก็ตาม) ทางเดียวที่จะคืนความสุขให้กับประชาชนและสร้างประเทศที่มีความมั่นคงทางการเมืองและสังคมอย่างยั่งยืนได้นั้น คือการเคารพสิทธิพื้นฐานและธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ อันได้แก่หลักการเสรีภาพและหลักการเสมอเสมอภาค อันแสดงออกผ่านการเลือกตั้งอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันของคนทุกอาชีพทุกชนชั้น

ด้วยเหตุนี้ การที่กลุ่มคนเพียงบางกลุ่มได้เข้ายึดอำนาจบริหารประเทศโดยไม่ชอบธรรม ภายใต้ข้ออ้างการสร้างความสุขและความก้าวหน้าให้กับประเทศนั้น จึงเป็นการหลอกลวงโดยสิ้นเชิง สำหรับกรณีของสังคมไทยนั้น ในปัจจุบันยังคงเป็นต่อสู้ระหว่างประชาชนกับโครงสร้างอนุรักษ์นิยมที่ยังมีอิทธิพลอยู่ การต่อสู้นี้คงจะเป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน ดังเช่นฝรั่งเศสที่สั่งสมรากฐานทางความคิดมานานนับศตวรรษกว่าจะมีการปฏิวัติ แต่อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดแล้วความเปลี่ยนแปลงก็เป็นสิ่งที่หลีกหนีไม่พ้น สังคมไทยจึงน่าจะเรียนรู้บทเรียนทางประวัติศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ ในโลก เช่นฝรั่งเศส เพื่อสั่งสมประสบการณ์และสร้างรากฐานทางความคิดประชาธิปไตยให้มั่นคงต่อไป

(ในภาพคือประติมากรรม "Le triomphe de la République" หรือ "ชัยชนะของสาธารณรัฐ" ตั้งอยู่ที่ลาน Place de la nation ที่ปารีส เป็นงานปั้นที่ได้รับรางวัลอันดับที่ 2 ในการแข่งขันประติมากรรมเฉลิมฉลองสาธารณรัฐฝรั่งเศสตั้งแต่ปี 1878)

บล็อกของ ดิน บัวแดง

ดิน บัวแดง
วันที่ 14 กรกฎาคม 1790 หลังจากเหตุการณ์ทลายคุกบาสตีย์เป็นเวลา 1 ปี มีการเฉลิมฉลอง "สหพันธรัฐ" (Fête de la Fédération) คือการมารวมตัวกันของตัวแทนจากท้องถิ่น เทศบาลและภูมิภาคต่าง ๆ ที่ Champs-de-Mars (ลานหน้าหอไอเฟล) เพื่อประกาศความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความภักดีต่อ "ช
ดิน บัวแดง
วันที่ 14 กรกฎาคม ของปีนี้ เป็นวันครบรอบ 225 ปี ของการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่เช่นเดียวกับการปฏิวัติหลายแห่งในโลก เมื่อมองย้อนกลับไปจากมุมมองปัจจุบัน จะเห็นว่าหลายอย่างยังคงไม่เข้ารูปเข้ารอย ในฝรั่งเศสเองยังถกเถียงกันว่า อุดมการณ์ของการปฏิวัติคืออะไรและการปฏิวัติสิ้นสุดลงหรือยัง?