Skip to main content

มิเชล ฟูโกต์, อิหร่าน, และพลังของจิตวิญญาณ: บทสัมภาษณ์ในปี 1979 ที่ไม่เคยเผลแพร่มาก่อน*

 

เอกสารที่น่าทึ่งชิ้นนี้ถูกค้นพบในหอสมุดแห่งชาติ กรุงปารีส เมื่อปีที่แล้ว เป็นบทสัมภาษณ์โดยหนังสือพิมพ์ Obs เมื่อปี 1979 ที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน ในบทสัมภาณ์นี้ มิเชล ฟูโกต์อธิบายความสนใจของเขาในเรื่องการปฏิวัติอิหร่าน และเรื่อง “จิตวิญญาณ” ในฐานะพลังทางการเมือง

            บทความหลายชิ้นที่มิเชลฟูโกต์เขียนเกี่ยวกับการปฏิวัติอิหร่านเมื่อปี ค.ศ. 1978 และ 1979 นั้น เป็นบทความที่ได้รับการถกเถียงโต้แย้งมากที่สุด สี่สิบปีที่ผ่านมานี้ เขาถูกกล่าวหาว่าเพิกเฉยต่อความชั่วร้ายของรัฐอิสลาม ความจริงก็คือว่า ฟูโกต์นั้นหลงไหลในมิติด้านศาสนาของการลุกฮือครั้งนั้น ในรายงานข่าวของ Nouvel Observateur ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 1978 ฟูโกต์นั้นถึงขั้นสรรเสริญยกย่อง “การเมืองแบบจิตวิญญาณ” ซึ่งภายหลังเขาก็จะขีดเขียนเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

            เอกสารที่ l’Obs นำมาตีพิมพ์ในวันนี้ จะสร้างความกระจ่างในประเด็นนี้ เอกสารพิมพ์ดีดนี้มาจากบทสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1979 และถูกค้นพบเมื่อฤดูร้อนปีที่แล้ว ในกล่องที่ 50 ของเอกสารจดหมายเหตุมิเชล ฟูโกต์ ที่หอสมุดแห่งชาติ ประเทศฝรั่งเศส หลังจากนั้นหนังสือพิมพ์ของเราก็ได้รับอนุญาตจากผู้ถือลิขสิทธิ์ของเมเชล ฟูโกต์ให้นำเอกสารนี้มาเผยแพร่ ณ ที่นี้

            ความน่าสนใจของเรื่องนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ในเชิงความรู้เท่านั้น แต่เมื่อเราอ่านบทสัมภาษณ์นี้ เราจะรู้สึกราวกับว่ามันเพิ่งถูกเขียนขึ้นเมื่อวาน ในเมื่อหัวใจของการถกเถียงในปัจจุบันนั้น ยังอยู่ในเรื่องของอิสลาม มิเชล ฟูโกต์ตอบคำถามอย่างมีพลังเช่นเคย และคำตอบของเขามีทั้งแง่มุมที่น่าวิจารณ์และแง่มุมที่น่าประทับใจ สิ่งที่น่าวิพากษ์ก็คือฟูโกต์นั้นประเมินความเสี่ยงของการยึดอำนาจของเหล่าอุลามะฮ์ (Mollahs) ต่ำเกินไป ฟูโกต์นั้นปล่อยให้ความชื่นชมและกระตือรือร้นครอบงำตัวเอง เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นบ่อยๆ กับเขาในประเด็นอื่นๆ ส่วนแง่มุมที่น่าประทับใจ ก็คือการนำเสนอในสิ่งที่เรียกว่าเป็นหัวใจที่ชี้นำงานทุกชิ้นของฟูโกต์: เมื่อเราเผชิญหน้ากับอำนาจอันทรงพลัง เราต้องเริ่มจากการฟังเสียงกลุ่มคนที่เห็นต่าง ที่กระทำการต่อต้านขัดขืน และทำการลุกฮือ

            เมื่อจิตวิญญาณถูกนำมาใช้ต่อต้านอำนาจ มันก็กลายเป็นพลังในการเห็นต่างและขัดขืน ดังที่เห็นได้ในกรณีของนิกายชีอะฮ์ในอิหร่าน ในการเลือกพระสันตปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ หรือในกรณีของความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับนิเวศวิทยา มีตัวอย่างมากมายของ “แรงผลักดันทางจิตวิญญาณ” อันเป็นวิธีการ “ปฏิเสธโลก” ซึ่งเราไม่ควรไปประณาม แต่ควรต้อนรับและ “ดูว่าเราจะใช้มันอย่างไรได้บ้าง” ดังนั้น สำหรับฟูโกต์แล้ว ประเด็นจิตวิญญาณควรจะมีที่ทางในการถกเถียงสาธารณะ จุดยืนเช่นนี้ เมื่อพิจารณาจากมุมมองปัจจุบัน คือผ่านไป 40 ปี เป็นจุดยืนที่มีความเสี่ยงจะถูกต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์

            เอกสารจดหมายเหตุของมิเชล ฟูโกต์นั้นมีเอกสารสำคัญอยู่มากมาย สัปดาห์นี้สำนักพิมพ์ Gallimard ตีพิมพ์ “คำสารภาพของกายเนื้อ” (Les Aveux de la Chair) อันเป็นเล่มที่สี่ในชุดหนังสือเรื่อง “ประวัติศาสตร์ของเพศสภาวะ” ซึ่งฟูโกต์เขียนเอาไว้จนกระทั่งไม่กี่วันก่อนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1984 ในเล่มนี้ แม้ว่าจะมองผ่านมุมมองเรื่องเพศ แต่ก็เป็นการมองในกรอบของความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับวิถีปฏิบัติของศาสนา

อีริค ไอซ์ชีมาน (Eric Aeschimann)

 

Le Nouvel Observateur: มิเชล ฟูโกต์ คุณได้เขียนใน “le Nouvel Observateur” ในรายงานข่าวเรื่องอิหร่าน ว่าประเทศนี้กำลังแสวงหาสิ่งที่ชาวตะวันตกสูญเสียไปตั้งแต่ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการและยุควิกฤติของคริสตศาสนา สิ่งนั้นคือสิ่งที่คุณเรียกว่า “การเมืองแบบจิตวิญญาณ” ดูเหมือนว่า การเสนอมโนทัศน์นี้ สร้างประหลาดใจให้กับคนจำนวนมาก ผมคิดว่าคุณควรจะขยายความเรื่องนี้เพิ่มสักหน่อย

มิเชล ฟูโกต์: ผมขอโยนเรื่องนี้ให้คนอื่นตอบดีกว่า ผมจะเล่าเกร็ดเล็กๆ ให้ฟัง เมื่อตอนผมไปอิหร่าน หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ฉบับของคุณ ส่งนักข่าวคนหนึ่งมาเขียนรายงาน ในรายงานนั้นลงท้ายแบบเดียวกันกับทุกรายงานที่เกี่ยวข้องกับอิหร่าน ก็คือลงท้ายด้วยการเน้นย้ำว่าขบวนการศาสนานั้นได้ครอบงำการเคลื่อนไหวของชาวอิหร่านทั้งหมดแล้ว ผมอ่านรายงานนั้นก่อนที่นักข่าวคนนั้นจะส่งกลับไปที่ปารีส หลังจากรายงานนั้นตีพิมพ์ที่ปารีส บรรณาธิการได้เพิ่มคำคุณศัพท์ “คลั่งศาสนา” เข้าไป ดังนั้น มันจะดีกว่าไหม ที่คุณจะให้คนเหล่านี้ ที่พยายามตอกย้ำว่าการเคลื่อนไหวในอิหร่าน เป็นการเคลื่อนไหวเชิงศาสนาหรือเชิงจิตวิญญาณ มาตอบคำถามของคุณ? คนเหล่านี้ที่วิพากษ์วิจารณ์ด้วยท่าทางที่รุนแรงไม่ใช่หรือ ที่ควรจะอธิบายว่าด้วยเหตุผลอะไรพวกเขาจึงต่อต้านขบวนการนี้นัก?

Le Nouvel Observateur: เอาเป็นว่า เราก็สนใจวิเคราะห์ทั้งสองมุมมอง แต่คำถามก็คือ สำหรับตัวคุณเองแล้ว เมื่อคุณใช้คำว่า “การเมืองแบบจิตวิญญาณ” ดูเหมือนมันจะตีความได้หลายอย่าง อย่างน้อยสำหรับคำว่า “จิตวิญญาณ” คุณกำลังหมายถึงอะไร หรือมโนทัศน์ดังกล่าวนี้จะมีประโยชน์เพียงแค่ใช้บรรยายเหตุการณ์เท่านั้น?

มิเชล ฟูโกต์: ผมพยายามจะหาคำตอบ ว่าอะไรเคยเป็นพลัง และยังเป็นพลังอยู่ทุกวันนี้ ที่ทำให้ประชาชนมือเปล่า ไร้อาวุธ ลุกขึ้นมาต่อสู้กับระบอบอันชั่วร้าย โหดเหี้ยม และแข็งแกร่งอย่างมาก เนื่องจากระบอบนั้นมีกองทัพ มีตำรวจที่ใหญ่คับฟ้าหนุนหลังอยู่ ผมไม่รู้ว่าประชาชนมีอาวุธไหม แต่ถ้ามีก็แสดงว่าพวกเขาซ่อนมันไว้เป็นอย่างดี หรือไม่ก็มีไม่มาก เพราะพวกเขาไม่เห็นจะใช้มัน ในขณะที่ทุกวันมีประชาชนเสียชีวิตหลายสิบคน ดังนั้นอะไรเล่า ที่เป็นพลังให้พวกเขา เป็นแรงผลักดันอันรุนแรง ดื้อรั้นต่อเนื่อง และเสริมสร้างขึ้นมาใหม่ได้ทุกวัน เป็นพลังที่ทำให้คนลุกฮือและยอมรับการเสียสละ ซึ่งเป็นการเสียสละของปัจเจกเหล่านั้นเอง และยอมรับความตาย?

คำตอบไม่ได้อยู่ที่พลังของอุดมการณ์ทางการเมืองแบบมาร์กซิสต์ หรือพลังของอุดมการณ์ปฏิวัติ ในความหมายแบบตะวันตก เราต้องหาคำตอบจากที่อื่น

Le Nouvel Observateur: ข้อสมมุติฐานที่ได้รับการยอมรับกันในยุโรปเกี่ยวกับวิกฤติในอิหร่าน คือการเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ที่รวดเร็วเกินไป

มิเชล ฟูโกต์: แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น ชาวอิหร่านก็สามารถพูดอย่างง่ายๆ ไม่ใช่หรือ ว่า ”พวกเราไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ ระบอบนี้บังคับการพัฒนาที่รวดเร็วเกินไป และบังคับโครงสร้างทางการเมืองที่พวกเรารับไม่ได้ พวกเราไม่ต้องการจ่ายราคาเหล่านี้” หากแต่ว่า พวกเขาไม่ได้พูดเช่นนั้นเลย

ผมขอพูดนิดหน่อยเกี่ยวกับการไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ (modernisation) สิ่งที่อิหร่านกำลังปฏิเสธ ซึ่งตรงกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในตุรกีในช่วงสัปดาห์นี้ ไม่ใช่ความเป็นสมัยใหม่ แต่เป็นการปฏิเสธสิ่งโบราณคร่ำครึ ซึ่งเรียกว่า “เคมาลนิยม” (kemalnisme) ในที่นี้หมายถึงการประกอบสร้างสังคมอิสลามที่หยิบยืมรูปแบบบางส่วนจากตะวันตก ซึ่งถูกกำหนดมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 โดยเคมาล อตาเติร์ก (Kemal Atatürk) ราชวงศ์ปาห์ลาวีในอิหร่านนั้นอ้างถึงรูปแบบนี้อย่างโจ้งแจ้งจนถึง ค.ศ 1938 – 1940 และอ้างถึงโดยอ้อมตลอดมา

ความจริงก็คือ สำหรับประชากรส่วนใหญ่ของอิหร่าน ตั้งแต่ปัญญาชนจนถึงกรรมกรในโรงงานของเมืองอาบาดาน (Abadan) ตั้งแต่พ่อค้าในตลาดกรุงเตหะรานจนถึงชาวนาในแคว้นตะวันออกของอิหร่านอันห่างไกลที่สุดจากศูนย์กลาง พวกเขาเหล่านี้สนับสนุนคนอย่างโคมัยนี และโดยทั่วไปแล้ว ก็สนับสนุนผู้นำทางศาสนาและศาสนาอิสลาม พวกเขาเรียกร้องรูปแบบการใช้ชีวิตอีกแบบ ที่ไม่ใช่รูปแบบโบราณอันต่างจากรูปแบบสมัยใหม่ แต่เป็นรูปแบบการใช้ชีวิตที่จำเพาะและผูกโยงกับศาสนา

ผมคิดว่ามันคือความจริง และเราปฏิเสธมันไม่ได้ ผมก็ไม่เห็นว่าจะมีใครที่กลับจากอิหร่านแล้วพูดในทางตรงกันข้าม

เพราะฉะนั้น ปัญหาก็คือ เราต้องตอบให้ได้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงภาพลวงตาที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกตัวเองและพวกเขาเพียงไขว่คว้าแสวงหาคุณค่าทางศาสนา หรือในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาเพียงแค่ใช้ศัพท์แสงง่ายๆ ที่พวกเขามี เพื่ออธิบายสถานการณ์ที่เป็นอยู่

Le Nouvel Observateur: คุณคิดว่า สิ่งที่คุณได้สังเกตเห็นในอิหร่าน สามารถนำมาตั้งสุมมัติฐานอย่างกว้างๆ ไหม ว่าทุกวันนี้ ศาสนาในบางสถานการณ์ได้กลายเป็นพื้นที่สำหรับผู้ที่ต่อต้านและไม่เห็นด้วยกับรัฐ หรือตัวแทนของรัฐในอิหร่าน?

มิเชล ฟูโกต์: [ขีดฆ่า: เป็นคำถามที่ดี เพราะคำถามนี้นำไปสู่การอธิบายเรื่องความแตกต่างระหว่างจิตวิญญาณกับศาสนา ซึ่งผมยังไม่ได้มีเวลาอธิบาย กล่าวคือ เวลาผมพูดว่าจิตวิญญาณ ผมไม่ได้กำลังพูดถึงศาสนา และเราต้องแยกแยะมันออกจากกันให้ชัดเจน ผมมักจะทึ่งเวลาคนเอาเรื่องจิตวิญญาณ จิตวิญญาณนิยม และศาสนามาผสมปนเปเป็นเรื่องเดียวกัน มันเป็นไปไม่ได้! จิตวิญญาณเป็นสิ่งที่คุณสามารถ] [วงกลม: พบได้ในศาสนา แต่ก็พบได้นอกศาสนาด้วย คุณสามารถพบได้ในพุทธศาสนา ซึ่งเป็นอเทวนิยม พบได้ในเอกเทวนิยม แต่ก็พบได้ในอารยธรรมกรีกด้วย ดังนั้นแล้ว จิตวิญญาณจึงไม่ได้เกี่ยวโยงกับศาสนาเสมอไป แต่ศาสนาส่วนใหญ่นั้นประกอบไปด้วยมิติทางจิตวิญญาณ]

อะไรคือจิตวิญญาณ? ผมเชื่อว่ามันคือวิถีปฏิบัติที่ทำให้มนุษย์ก้าวข้าม เปลี่ยนแปลง แตกหัก และปฏิเสธสภาวะปัจเจกของตัวเอง ปฏิเสธสถานะผู้อยู่ใต้บงการ (sujet) ของตนเอง มันไม่ใช่หมายถึงการเป็นผู้ถูกกระทำของอำนาจทางการเมือง อย่างที่เราเชื่อกันถึงทุกวันนี้ เพียงอย่างเดียว หากแต่หมายถึงการต้องขึ้นต่อความรู้ ประสบการณ์ และความเชื่อด้วย สำหรับผม ดูเหมือนว่าความเป็นไปได้ที่จะลุกฮือขึ้นมาจากตำแหน่งผู้อยู่ใต้บงการ ที่ถูกกำหนดโดยอำนาจทางการเมือง อำนาจศาสนา กฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดต่างๆ ความเชื่อ ความเคยชิน โครงสร้างทางสังคม ฯลฯ นั้นคือเรื่องของจิตวิญญาณ กล่าวคือ เราได้กลายเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเราเองอีกต่อไป เป็นที่รู้กันว่า ศาสนาทั้งหลายนั้นมีโครงสร้างที่เปิดรับรูปแบบและปฏิบัติการทางจิตวิญญาณที่หลากหลาย แต่ขณะเดียวกันมันก็มีข้อจำกัด ศาสนานั้นกำหนดชัดว่าเราจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเราให้กลายเป็นอะไร เพื่อไปสู่จุดไหน เพื่อมีสถานะแบบไหน ฯลฯ ความจริงก็คือ ศาสนานั้นกำหนดขอบเขตกฎเกณฑ์ของจิตวิญญาณ

Le Nouvel Observateur: ถ้าอย่างนั้น คุณก็กำลังบอกว่า ชีอะฮ์ที่อิหร่านนั้น นอกจากจะเป็นพื้นที่สำหรับการต่อต้านรัฐแล้ว ก็มีข้อจำกัดในตัวมันเองด้วยเช่นกัน

มิเชล ฟูโกต์: ทุกการเปลี่ยนแปลงในโลกนี้ ไม่ว่าจะทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรม ไม่สามารถจะมีที่ยืนในประวัติศาสตร์ได้ หากไม่มีการเคลื่อนไหวทางจิตวิญญาณ เมื่อพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นช่วงปลายยุคกลางในยุโรป ก็จะเห็นว่าตั้งแต่ยุคกลางไปจนถึงปลายคริสตศตวรรษที่ 16 ยุโรปนั้นสั่นสะเทือนไปด้วยขบวนการที่มีความสำคัญหรือสำคัญกว่า ช่วงเวลาที่เรามักเรียกกันว่าช่วงปฏิวัติ คือปลายคริสตศตวรรษที่ 18 ถึง 19 เสียอีก

ทุกอย่างในช่วงนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางความเชื่อ วิถีชีวิต ความสัมพันธ์ทางสังคม รูปแบบของการเชื่อฟังในทางการเมือง ชนชั้นทางสังคม วิถีปฏิบัติทางด้านเศรษฐกิจ ทุกอย่างนั้นมีการปรับเปลี่ยนทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ก็ได้ชี้ให้เห็นแล้ว ว่าความเคลื่อนไหวทั้งหลายในคริสตศตวรรษที่ 15 ถึง 16 นั้น ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้ศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่ภายใต้ขบวนการทางจิตวิญญาณ ที่ได้ทำลายโครงสร้างอันมีชนชั้นต่ำสูงของศาสนาต่างหาก มันคือการเผชิญหน้ากันระหว่างศาสนากับศาสนา!

ไม่ว่าจะเป็นขบวนการถือสันโดษ (mouvements ascetiques) ในแคว้นแฟลนเดอส์ในคริสตศตวรรษที่ 15 หรือจะเป็นรูปแบบชุมชนศาสนาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในเยอรมันในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับขบวนการของลูเธอร์ อย่างเช่น ขบวนการอนาแบปทิสต์ (Anabaptistes) เป็นต้น หรือจะเป็นอังกฤษในศตวรรษที่ 17 ที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของกลุ่มศาสนาอันนำมาสู่การกำจัดกลไกลของสถาบันกษัตริย์อังกฤษและนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าเป็นการปฏิวัติครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุโรป ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นเป็นอย่างดี ว่าจิตวิญญาณนั้นสามารถถือได้ว่าเป็นรากฐานของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและวัฒนธรรมครั้งใหญ่ๆ ทั้งหมด และแสดงให้เห็นว่าศาสนานั้นมีบทบาทชี้ขาดในขบวนการเหล่านี้ อันเป็นขบวนการทางจิตวิญญาณ ไม่ใช่ขบวนการทางศาสนา

Le Nouvel Observateur: คุณก็รู้ใช่ไหม เวลาเราสอนกันในมหาวิทยาลัย เรามักจะจัดกลุ่มศาสนาทั้งหลายซึ่งเป็นพลังที่ทำให้ปัจเจกลุกฮือขึ้นมาต่อต้านผู้กดขี่ ให้มีลักษณะเหมือนโฟม คือเป็นโครงสร้างส่วนบนลอยๆ ไม่เคยพิจารณามันในฐานะที่เป็นปรากฎการณ์ที่มีความเฉพาะและลดทอนมิได้  ผมจำได้ว่าสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมศึกษาเรื่องสงครามครูเสดแล้วต้องเขียนรายงานเรื่องนี้ ถ้าผมอธิบายว่าพวกครูเสดเหล่านั้นเดินทางจากเมืองเนอแวร์ไปเยรูซาเล็มเพื่อปลดปล่อยหลุมศพของพระเยซู ผมจะได้คะแนนที่แย่ แต่ถ้าผมอธิบายว่าเขานั้นเป็นพี่ชายคนโตในครอบครัว และสมัยนั้นมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรในตะวันตกจนพวกเขาแทบไม่มีอะไรจะกิน พูดอีกอย่างก็คือผมต้องอธิบายว่าเขาเดินทางไปเพื่อขยายตลาดและหาตลาดใหม่สำหรับผลผลิตที่ล้นเกินในตะวันตก พวกอาจารย์ถึงจะยอมรับคำอธิบายนี้

มิเชล ฟูโกต์: ปัญหาก็คือ แบบนี้เราควรจะให้คะแนนแย่ๆ กับพวกอาจารย์ไหม! ผมเชื่อว่านักประวัติศาสตร์มีนิสัยที่แย่อย่างนึง คือจะยอมรับสาเหตุทางประวัติศาสตร์ (causualité) ได้ก็ต่อเมื่อมีปัจจัยบางอย่างที่แน่นอนและจำเพาะ โดยพร้อมที่จะปฏิเสธทุกคำอธิบาย ที่ไม่เข้ากรอบวิเคราะห์ความสัมพันธ์แบบมีลำดับชั้น ซึ่งหยิบยืมมาจากเศรษฐศาสตร์การเมืองแบบคลาสสิคหรือจากมาร์กซิสต์ แต่ความสำคัญของประเด็นนี้ ไม่ได้อยู่ที่ตรงนั้น มันไม่ได้อยู่ที่การบอกว่าปัจจัยนั้นปัจจัยนี้มันไม่มีอยู่ในเรื่องที่เรากำลังวิเคราะห์ แต่มันอยู่ที่ว่าเราจะพิจารณารูปแบบที่ปัจเจกตอบสนองต่อความโดดเดี่ยว ความยากจน หรือการหลุดพ้นออกจากเครือข่ายทางสังคม ได้อย่างไร

นี่แหละคือปัญหา เพราะกรอบการวิเคราะห์แบบเดิม ก็ได้แต่คำตอบแบบเดิม ธรรมชาติของการวิเคราะห์แบบนี้ทำให้เรามองไม่เห็นความจำเพาะของสถานการณ์ การขบคิดเรื่องความยากจน การเป็นพี่ชายคนโตในครอบครัว โครงสร้างของระบอบศักดินา ฯลฯ เพื่อจะบอกว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้ปัจเจกบางคนกลายเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์หรือไร้ประโยชน์ในสังคมยุคกลาง ไม่มีวันที่จะอธิบายได้ว่า เพราะเหตุใดคนเหล่านี้จึงไปร่วมสงครามครูเสดโดยคิดแต่เพียงว่า ต้องการจะไปปลดปล่อยหลุมศพของพระเยซู ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่เฉพาะสำหรับพวกเขา แต่สำหรับคริสตจักรทั้งหมด

สิ่งที่ผมต้องการจะบอกก็คือ แน่นอนว่าประชาชนชาวอิหร่านนั้นประสบกับความลำบากทางเศรษฐกิจ การกดขี่ของระบอบตำรวจ การปล้นสะดมทรัพยากรธรรมชาติต่อหน้าต่อตาพวกเขาทั้งโดยกลุ่มคนที่อยู่ในอำนาจและโดยพวกอเมริกัน แต่สิ่งที่เราสนใจก็คือ อะไรคือรูปแบบที่ชาวอิหร่านใช้ตอบสนองต่อสิ่งเหล่านี้ เป็นที่แน่ชัดว่าศาสนาอิสลามในขณะนี้เป็นสิ่งเดียวที่เข้ามาหนุนเสริมความต้องการเชิงจิตวิญญาณของพวกเขา นั่นหมายถึงความต้องการที่จะเป็นอย่างอื่นที่ตัวเองไม่ได้เป็น คือเป็นรูปแบบที่เป็นรูปธรรม แน่ชัด และจัดระบบเป็นขบวนการทางการเมืองได้

Le Nouvel Observateur: คุณคิดว่าสิ่งที่คุณสังเกตเห็นในอิหร่านสามารถเอามาอธิบายปรากฎการณ์อื่นๆ ในสังคมร่วมสมัยได้ไหม

มิเชล ฟูโกต์: ผมเชื่อว่าได้ ลึกๆ แล้ว อาจจะมีการปฏิวัติที่ไร้จิตวิญญาณ แต่ก็คงจะเป็นข้อยกเว้น

Le Nouvel Observateur: ยกตัวอย่างหน่อยได้ไหม

มิเชล ฟูโกต์: อาจจะการปฏิวัติฝรั่งเศส หากพิจารณาพัฒนาการของขบวนการและการอธิบายสร้างความชอบธรรมต่างๆ ผมคิดว่านั่นอาจจะเป็นครั้งเดียวที่การลุกฮือของคนที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นอะไรที่ตัวเองไม่ได้เป็นและต้องการจะยุติสภาวะใต้บงการ (sujet) ในทุกความหมายของคำนี้ ไม่ได้หยิบยิบอะไรเลยจากมโนทัศน์เรื่องจิตวิญญาณแบบดั้งเดิม

Le Nouvel Observateur: เพราะเหตุนี้ ทุกวันนี้เราจึงยังถือกันว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการแตกหัก

มิเชล ฟูโกต์: มันเป็นการจัดระบบสังคมใหม่ โดยที่ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถออกกฎหมายที่สมบูรณ์แบบและตรวจสอบได้ มันเป็นการปฏิวัติเพียงอันเดียว ที่มีการคิดถึงรูปแบบของระบอบตัวแทนในรัฐสภาที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ เป็นการปฏิวัติเดียวที่ผลิตนักปรัชญาที่มีเหตุมีผลและเหมาะสม ที่เป็นแรงผลักให้คนหลุดออกจากสภาวะใต้บงการที่เขาเป็นอยู่ โดยมาอยู่ใต้ระบอบเหตุผลที่เป็นสากลแทน

Le Nouvel Observateur: ซึ่งตรงกันข้ามกับการปฏิวัติอังกฤษและอเมริกา

มิเชล ฟูโกต์: วิกฤติในสมัยคริสตศตวรรษที่ 16 เป็นวิกฤติทางจิตวิญญาณ ลองนึกถึงรัสเซียในสมัยคริสตศตวรรษที่ 19 สิ! ไม่คิดหรือว่า ลึกๆ แล้วสิ่งที่เตรียมพร้อมสังคมรัสเซียสู่การปฏิวัติในปี ค.ศ. 1917 คือขบวนการทางจิตวิญญาณ และความกระตือรือร้นของมวลชน ซึ่งต่อมาพวกบอลเชวิคก็เอามาใช้ประโยชน์นั้น ลึกๆ แล้วก็มีลักษณะที่เป็นจิตวิญญาณ ในความหมายที่ผมกำลังพูดถึง ก็คือไม่ได้ต้องการให้สถานการณ์หรือปัจจัยอะไรมีการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น แต่คือการรับรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายนี้ ต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงตนเองเสียก่อน ทั้งสองอย่างนี้เป็นเรื่องเดียวกัน และการ “กลายเป็นอื่น” นี่แหละ คือหัวใจหลักของแรงผลักดันในการปฏิวัติ

ผมขอเพิ่มเติมอะไรนิดหน่อย มันมีประโยคหนึ่งของราโบ-แซง-เอเตียน (Rabaut-Saint-Etienne) ที่โด่งดังมากและก็สรุปสิ่งที่ผมอยากจะพูดได้ดี เขาพูดว่า “ต้องเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงโลก เปลี่ยนแปลงความคิด เปลี่ยนแปลงคำศัพท์ ต้องเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง…ต้องทำลายทุกอย่างและสร้างใหม่ทุกอย่าง” ส่วนแรกของประโยคนี้ มันคือเรื่องจิตวิญญาณ การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างนั้น จะต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อนโดยการกลายเป็นอื่น แม้ลึกๆ แล้วจะไม่รู้หรอกว่าความเป็นอื่นนั้นคืออะไร แต่ประเด็นสำคัญมันคือความต้องการอันยิ่งยวดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นอื่น

และเมื่อราโบ-แซง-เอเตียนกล่าวว่า “ต้องทำลายทุกอย่างและสร้างใหม่ทุกอย่าง” เขากำลังพูดถึงจิตสำนึกเชิงปรัชญาซึ่งแตกหักกับสถาบันทางสังคม และสร้างมันขึ้นมาใหม่ภายใต้ระบอบเหตุและผล ส่วนแรกของประโยค คือส่วนของจิตวิญญาณ ส่วนที่สอง คือส่วนของการปฏิวัติทางปรัชญา ซึ่งถูกนำมาปรับใช้กับส่วนแรก การปฏิวัติฝรั่งเศส คือการปฏิวัติครั้งแรกและครั้งเดียว ที่ยอมรับจิตวิญญาณด้านนี้

Le Nouvel Observateur: สำหรับสถานการณ์ในอิหร่าน ความต้องการเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นอื่น ให้ไม่อยู่ใต้บงการอีกต่อไปนั้น เกิดจากการรื้อฟื้นวิถีปฏิบัติและการโหยหาศาสนาในส่วนที่ฝังรากลึกมากที่สุดและที่ดึงเอามาใช้ได้มากที่สุด ดังนั้น เราจะอธิบายการกลับไปสู่วิถีปฏิบัติแบบดั้งเดิมเหล่านี้อย่างไร? มันเป็นไปได้อย่างไร ที่อายะตุลลอฮ์ โคมัยนี สามารถสั่งให้มีการทำลายโรงภาพยนตร์ ปฏิเสธการทำให้สังคมเป็นตะวันตก เพื่อจะกลับไปสู่ระบอบเทวาธิปไตยแบบดั้งเดิม?

มิเชล ฟูโกต์: ขบวนการจิตวิญญาณเหล่านี้ เขาก็หยิบใช้เครื่องมือที่เขามีในมือ ปัญหามันไม่ใช่การพยายามหาว่า เครื่องมือเหล่านั้นมันเป็นเรื่องของศาสนาหรือไม่ แต่คือการพยายามหาคำตอบว่า คุณค่าของเครื่องมือนั้นคืออะไร โดยสัมพันธ์กับความต้องการของประชาชน

Le Nouvel Observateur: เราจะบอกได้ไหม ว่ารายงานข่าวทั้งหลายที่เกี่ยวกับอิหร่าน รวมถึงของคุณเองด้วยนั้น กำลังพูดถึงการต่อต้านทางจิตวิญญาณ แบบเดียวกับที่คุณกำลังพูดนี้ และคุณจะอธิบายปรากฎการณ์ที่มีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์คุณด้วยความคลางแคลงใจว่าอย่างไร

มิเชล ฟูโกต์: ที่ผ่านมา ผมก็คิดอย่างสุดโต่งว่ามันคือความโง่ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องความโง่หรอก ผมจะยกตัวอย่างเรื่องส่วนตัวนิดหน่อย ผมรู้สึกแปลกใจ ที่คนมักจะแปลกใจ ว่าผมได้รับแรงบันดาลใจจากบลองโช (Blanchot) และบาตาย (Bataille) พวกเขานั้นคือผู้นำทางความคิดของผมโดยแท้ ผมบอกได้เลยว่าสิ่งที่เรียกว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิดของผมสมัยเป็นวัยรุ่นนั้น คือการได้อ่านบทความเรื่องซาร์ท (Satre) ที่เขียนโดยบาตาย ผมคิดว่าความไม่เข้าใจของซาร์ทที่มีต่อบาตายนั้น เป็นอะไรที่สำหรับผม เป็นจุดแตกหักที่รักษาไม่ได้ และสุดท้ายก็เป็นจุดชี้วัดอะไรบางอย่างที่สำคัญในยุคสมัยนั้น

สิ่งที่สำคัญสำหรับปรัชญา การเมือง และสำหรับมนุษย์ทุกคน สำหรับบาตายคือสิ่งที่เรียกว่าการทดลอง (expérience) อันหมายถึงอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่การยืนยันความต่อเนื่องของสภาวะใต้บงการ มันคือการแตกหักและความเสี่ยงที่ผู้อยู่ใต้บงการยอมรับ เพื่อจะแปลงกลาย ปรับเปลี่ยน ทำลายความความสัมพันธ์ของเขาต่อสิ่งต่างๆ ต่อคนอื่นๆ ต่อความจริง ต่อความตาย ฯลฯ สิ่งนี้แหละที่เรียกว่าการทดลอง มันคือการเสี่ยงที่จะไม่เป็นตัวเองอีกต่อไป สิ่งที่ผมทำก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการอธิบายสิ่งที่เรียกว่าการทดลองนี้

อะไรคือประวัติศาสตร์ของความบ้า หากไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของการทดลอง ที่โลกตะวันตกเสี่ยงที่จะสร้างสถานะใหม่ สถานะนั้นก็คือสถานะของเหตุผลในฐานะขององค์ประธานที่เผชิญหน้ากับความบ้า ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ถูกควบคุมได้ในฐานะวัตถุสำหรับการเรียนรู้ เพราะฉะนั้น ผมก็ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่านี้เลย อะไรเล่าคือวิทยาศาสตร์ตะวันตก หากไม่ใช่การทดลองที่สร้างแบบอันบริสุทธิ์และเต็มไปด้วยตรรกะขึ้นมา ที่เป็นวาทกรรมอันสามารถอธิบายได้ทุกอย่าง และทุกสิ่งในโลกก็สามารถมาอยู่ภายใต้การทดลองได้ สุดท้าย “ความจริง” นั้นเป็นเพียงแค่ตอนหนึ่งของประวัติศาสตร์จิตวิญญาณ

Le Nouvel Observateur: มีอยู่ยุคสมัยหนึ่งที่ปัญญาชนฝรั่งเศสเห็นใจขบวนการร้องคริสตศาสนาแบบดั้งเดิมในโซเวียต แต่พวกฝ่ายซ้ายก็ตั้งคำถามกับมิติด้านศาสนาของขบวนการนั้น พอมาสมัยนี้บรรยากาศมันเปลี่ยนไป สิ่งที่เกิดขึ้นในอิหร่านกลับกลายเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม การกลับไปสู่ศาสนาของโคมัยนีกลายเป็นสิ่งที่ดีงาม ความจริงแล้วเราแสวงหาแต่มิติด้านจิตวิญญาณที่ปลุกเร้าให้ผู้ค้นลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐโดยบอกว่ามันคือสิ่งดีงาม แต่หลงลืมไปว่าลึกๆ แล้วมันคือศาสนาหรือเปล่า?

มิเชล ฟูโกต์: อย่ามาถามผมเลยว่าคนร่วมสมัยผมคิดยังไง แค่พยายามตอบว่าตัวผมเองคิดยังไงก็ยากแล้ว จะให้ตอบว่าทำไมคนอื่นคิดไม่เหมือนผม ยิ่งยุ่งเข้าไปใหญ่! แต่ที่แน่ๆ มันมีปรากฎการณ์ที่ผิวเผินอะไรบางอย่าง ที่เมื่อเวลามีเหตุการณ์อะไรที่เกียวข้องกับประเทศมุสลิม พวกเขาจะพากันสนับสนุน แต่หากขบวนการจิตวิญญาณแบบนี้ เกิดกับกลุ่มชาวยิว พวกเขาก็จะพากันไม่ไว้ใจ ความจริงเรายังมีการถกเถียงกันน้อยในเรื่องนี้ อย่างเช่นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศพุทธศาสนา เป็นต้น

 ผมคิดว่าการใช้จิตวิญญาณมาเป็นแนวทางในการลุกฮือของผู้ถูกกดขี่นั้นเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัยอยู่เหมือนกัน มันสะท้อนความล้มเหลวของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ เป็นความล้มเหลวของการสถาปนารัฐที่มีเหตุมีผลและรับประกันความสุขของปัจเจกชน นี่คือเหตุผลที่คนแสวงหาจิตวิญญาณ และถ้าขบวนการต้องหยิบใช้อะไรสักอย่าง พวกเขาก็หยิบใช้ศาสนา

Le Nouvel Observateur: มันไม่ใช่ความเสี่ยงอันใหญ่หลวงหรอกหรือ ที่ปล่อยให้คนหยิบใช้อะไรก็ได้มาต่อสู้กับรัฐ? แน่นอนว่าสิ่งที่เห็นคือมีเผด็จการ อย่างกษัตริย์ ที่มีตำรวจเป็นเครื่องมือ มีการทรมานผู้คน เรือนจำทั้งหลายก็เต็มไปด้วยนักโทษ แต่การเคลื่อนไหวต่อต้านสิ่งเหล่านี้โดยพึ่งพาชีอะฮ์ มันจะไม่มีความเสี่ยงเลยหรือที่สุดท้ายแล้วจะนำไปสู่เผด็จการที่กดขี่กว่าเดิม?

มิเชล ฟูโกต์: ลองกลับมาดูสิ่งที่ผมเขียนในประเด็นนี้ ผมจำได้ดีว่าผมเน้นย้ำว่า ในบรรดาสิ่งที่ชาวอิหร่านแสดงออก มันก็มีหลายสิ่งที่น่ากังวลและดูจะอันตราย แต่ในขณะเดียวกัน เราก็เห็นความเชื่อมโยงกันอยู่ ระหว่างอันตรายของรูปแบบการปกครองที่ได้รับแรงบันดาลใจจากตะวันตก กับรูปแบบการปกครองแบบศาสนา ยกตัวอย่างเช่น หากเราตั้งคำถามว่า “รัฐบาลอิสลามของคุณ จะจัดการประเด็นเรื่องชนกลุ่มน้อยทางศาสนาอย่างไร” คำตอบที่ได้ก็จะเป็นคำตอบที่คลาสสิคและอันตราย คือคำตอบแบบศตวรรษที่ 18 เขาจะตอบว่า “อ้อ ก็เสียงส่วนใหญ่ยังไงล่ะ ที่จะเป็นคนร่างกฎหมายและนิยามสถานะของชนกลุ่มน้อย” เราก็รู้กันดีว่าผลลัพธ์ที่ออกมา มันเป็นอย่างไร คนเหล่านี้เวลาพูดถึงกลุ่มที่นับถือศาสนาอื่น เขาก็จะพูดในเชิงว่าคนเหล่านั้นนับถือสิ่งที่ผิด เชื่อถือไม่ได้ และพวกเขาไม่จำเป็นต้องอดกลั้นต่อคนเหล่านั้น

ดังนั้น คุณจะเห็นว่าลึกๆ แล้ว ความคิดแบบตะวันตก อันมีเหตุมีผล แบบประชาธิปไตยจาโคบีน (Jacobine) นั้นเข้าไปเสริมสร้างความอันตรายของพวกศาสนาแบบมูลฐานนิยม (intégrisme) อันตรายเช่นนี้ เป็นภัยต่อการเคลื่อนไหวในอิหร่าน เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวในที่อื่นๆ

ในเรื่องนี้ ชาวอิหร่านตระหนักดี แม้จะมีบางคนที่ผมต้องไปถกเถียงด้วยเป็นเวลานาน ความท้าทายคือพวกเขาจะสามารถหยิบใช้ศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นประเพณี เป็นรูปแบบของจิตสำนึกแห่งชาติ เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ และเป็นหลักการในการลุกฮือ โดยหลีกเลี่ยงภัยดังกล่าวได้หรือไม่

ดังนั้นแล้ว ผมคิดว่าการไปวิจารณ์พวกเขาในทำนองว่า “ก็พวกคุณปิดกั้นตัวเองให้อยู่ในกรอบของอิสลามที่มีความเสี่ยงจะนำไปสู่การคลั่งศาสนาเองนี่ แถมยังเป็นศาสนาเอกเทวนิยมที่ไม่ต้อนรับความหลากหลาย ฯลฯ” จะมีประโยชน์อะไร พวกเขาไม่ได้คลั่ง แต่มีความเสี่ยงจริงที่จะคลั่งหากขบวนการนี้ตั้งใจจะสร้างรัฐศาสนาหรือให้มีศาสนาแห่งชาติ

แม้ว่าในที่นี้ผมจะพูดถึงกรณีอิหร่าน แต่ว่าในโลกทุกวันนี้ ก็มีความท้าทายคือ ภายใต้ความตกต่ำของอุดมการณ์ปฏิวัติ เราจะทำอะไรได้บ้างกับแรงผลักดันทางจิตวิญญาณ ที่โผล่ขึ้นมาให้เห็น บ้างก็ในรูปแบบของอิสลาม บ้างก็ในรูปแบบของคริสตศาสนา

Le Nouvel Observateur: อย่างกรณีการเลือกตั้งสันตปาปาชาวโปแลนด์?

มิเชล ฟูโกต์: ก็เป็นไปได้ หรือไม่ก็ในขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ฯลฯ คุณจะเห็นว่ามีรูปแบบมากมายที่ดูจะไร้เหตุผล บางทีก็น่ากังวล บางทีก็น่าประทับใจ บางทีก็ช่างไร้เดียงสา บางทีก็แหลมคม แต่ก็เป็นรูปแบบที่มีพลังที่เกิดขึ้นทั่วทุกที่ในโลกปัจจุบัน

Le Nouvel Observateur: แล้วพวกลัทธินิกายทั้งหลายล่ะ?

มิเชล ฟูโกต์: ก็แล้วยังไง? แทนที่เราจะประณามผลงานที่ยิ่งใหญ่ในเชิงจิตวิญญาณเหล่านี้ เราเอามันมาดูว่าเราใช้มันได้อย่างไรบ้างไม่ดีกว่าหรือ นี่คือความหมายของมโนทัศน์เรื่องการจดจ่อทางจิตวิญญาณ (préoccupation de spiritualité) ซึ่งบาตายได้เสนอเรื่องนี้ไว้ 20 ปีมาแล้ว และผมก็ยังรู้สึกว่ายังสามารถนำมาใช้ได้ในปัจจุบัน และนี่คือสิ่งที่ผมต่อสู้อยู่

Le Nouvel Observateur: แล้วเราเอามาใช้ทำอะไรได้บ้าง? เราจะหยิบยืมมาใช้อย่างไร? เราต้องใช้เครื่องมืออะไรในการหยิบจับสิ่งเหล่านี้ ในการคิด หรือการเปิดรับมัน?

มิเชล ฟูโกต์: มันต้องใช้เวลากว่าสองศตวรรษ เพื่อให้มีจิตวิญญาณแบบคริสเตียนที่ต่อต้านศาสนจักร ซึ่งสุดท้ายแล้วก็นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงอันมหาศาลของโลกตะวันตก เพราะฉะนั้นปัจจุบันนี้ ผมไม่คิดว่าเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงภายใน 10-15 ปีหรอก ช่วงเวลาของนิกาย “พี่น้องผู้ใช้ชีวิตร่วมกัน” (Frères de la vie commune) ช่วงเวลาของอนาแบปทิสต์ ช่วงเวลาของกลุ่มตาโบริท (Taborites) กำลังจะเริ่มขึ้นใหม่อีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ใช่ในรูปของศาสนา แม้จะพบรูปแบบศาสนาประปรายบ้างก็ตาม สิ่งเหล่านี้คือการทดลองอันเข้มข้นซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งศตวรรษ

Le Nouvel Observateur: เราก็ต้องรอ?

มิเชล ฟูโกต์: ไม่ใช่รอ แต่เราต้องทำ ต้องปฏิบัติ! การลุกฮือนั้นต้องเกิดจากการปฏิบัติ ผมหมายถึงการปฏิเสธสถานะของการเป็นผู้อยู่ใต้บงการที่เรานั้นเป็นอยู่ การปฏิเสธอัตลักษณ์ การปฏิเสธลักษณะที่คงทนถาวร การปฏิเสธสิ่งที่เราเป็น สิ่งเหล่านี้คือเงื่อนไขขั้นแรกในการปฏิเสธโลก

 

*แปลโดย ดิน บัวแดง จากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส "Michel Foucault, l'Iran et le pouvoir du spirituel: l'entretien inédit de 1979" ของ Eric Aeschimann

บทความต้นฉบับเผยแพร่ครั้งแรกในเว็ปไซต์ BibliObs วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 (เข้าถึงได้จาก https://bibliobs.nouvelobs.com/idees/20180207.OBS1864/michel-foucault-l-iran-et-le-pouvoir-du-spirituel-l-entretien-inedit-de-1979.html) และตีพิมพ์ฉบับย่อในนิตยสาร L'obs ฉบับวันที่ 8-14 กุมภาพันธ์ 2561

บล็อกของ ดิน บัวแดง

ดิน บัวแดง
วันที่ 14 กรกฎาคม 1790 หลังจากเหตุการณ์ทลายคุกบาสตีย์เป็นเวลา 1 ปี มีการเฉลิมฉลอง "สหพันธรัฐ" (Fête de la Fédération) คือการมารวมตัวกันของตัวแทนจากท้องถิ่น เทศบาลและภูมิภาคต่าง ๆ ที่ Champs-de-Mars (ลานหน้าหอไอเฟล) เพื่อประกาศความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความภักดีต่อ "ช
ดิน บัวแดง
วันที่ 14 กรกฎาคม ของปีนี้ เป็นวันครบรอบ 225 ปี ของการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่เช่นเดียวกับการปฏิวัติหลายแห่งในโลก เมื่อมองย้อนกลับไปจากมุมมองปัจจุบัน จะเห็นว่าหลายอย่างยังคงไม่เข้ารูปเข้ารอย ในฝรั่งเศสเองยังถกเถียงกันว่า อุดมการณ์ของการปฏิวัติคืออะไรและการปฏิวัติสิ้นสุดลงหรือยัง?