Skip to main content
เมื่อเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว (2550) ช่างภาพชาวรัสเซียผู้หนึ่ง อ้างว่าหลังจากไปเดินเล่นที่ท่าเรือในทะเลแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของอเมริกาอยู่ดีๆ เขาก็เห็นแสงส่องลงมาจากฟ้าซึ่งมีก้อนเมฆเคลื่อนตัววนไปมาแปลกๆ จากนั้นไม่นานก็เกิดพายุงวงช้างพุ่งลงทะเล เขาได้นำสองภาพนี้มาแปะไว้ในเวบบล็อก ที่ชื่อ www.englishrussia.com ซึ่งมีผู้ชมมาวิจารณ์กันว่า นี่เป็นเพียงภาพที่ถูกตกแต่งด้วยโปรแกรม Photoshop เท่านั้นเอง ไม่ใช่ภาพที่จะถ่ายได้จริงๆ หากแต่ช่างภาพรัสเซียนั้นอธิบายว่านี่เป็นภาพที่สร้างจำลองขึ้นจากสถานที่จริงและวินาทีที่เขาได้พบจริงๆ


19_8_01 19_8_02

ถึงไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า แต่พออ่านเจอเรื่องนี้เลยอดคิดไม่ได้ว่า ก่อน  “พายุ” จะเกิดนี้ จะมีสัญญาณบอกเหตุอะไรบ้างไหมนะ ในเมื่อกระแสลม อากาศ อูณหภูมิที่สัมพันธ์กันทั้งหมด วูบนั้นผู้เขียนนึกถึงตอนเด็กๆ ที่น้ำท่วมบ้านบ่อยจนพ่อวิตกกับฟ้าฝนเป็นพิเศษ จึงมักจะสอนให้สังเกตท้องฟ้าว่า ถ้าท้องฟ้าเป็นสีแดงส้มหรือแดงเพลิง นั่นเป็นลางไม่ดีนัก อาจจะมีพายุเร็วๆ นี้ แม้ไม่มีคำอธิบายมากนัก แต่ก็จำมาโดยตลอด

ในเวบไซต์ของ
www.swohioweather.org ซึ่งเป็นเวบไซต์อากาศของ Ohio ได้เขียนบทความเกี่ยวกับ “สัญญาณของอากาศ” ซึ่งข้อสังเกตเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเตือนให้สังเกตสิ่งรอบๆ ซึ่งอาจเป็นที่มาของความแปรปรวนทางอากาศ นั่นหมายถึง ฝนจะตก ฟ้าจะคะนอง และอาจรวมถึงพายุกำลังจะมาด้วย

สีของท้องฟ้าและอากาศ
ลองสังเกตว่าท้องฟ้ามีสีแดงในตอนกลางคืน ตอนเช้า หรือตอนกลางวันหรือไม่ โดยเฉพาะแสงสีแดงที่ไม่ได้เกิดจากพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก ด้วยว่าการแสดงผลลัพธ์ของสีแดงที่มากผิดปกตินั้น หมายถึงเป็นแสงที่ผ่านความชื้นในอากาศหรือการแปรผันที่ผิดปกติ มักแสดงว่าในวันนั้นหรือวันถัดไปจะมีพายุฝน

19_8_3
ภาพท้องฟ้าสีแดง ที่เผยแพร่โดย Patricia Cochran ถ่ายจาก Omaha 
และระบุไว้ใน
Omaha News ว่าเป็นท้องฟ้าก่อนเกิดพายุ

บางครั้ง อาจพบว่ามีแสงวงแหวนรอบพระอาทิตย์หรือรอบพระจันทร์ ที่บ้านเราเรียกว่า "ทรงกลด"  ซึ่งอธิบายว่าเกิดจากการหักเหของแสงจากความชิ้นระดับสูง และเคลื่อนที่ไปยังระดับที่ต่ำลง หากเกิดรอบพระอาทิตย์แสดงถึงความเย็นของอากาศที่จะมีการเปลี่ยนแปลงใน 18-36 ชั่วโมง ซึ่งอาจจะใช้บอกเหตุได้ส่วนหนึ่งเช่นกัน


19_8_4
ภาพพระอาทิตย์ทรงกลด โดย Wing-Chi Poon

ในเรื่องของอากาศ มีคำแนะนำให้ลองจับดูบนพื้นหญ้าหรือดินดูว่ามีน้ำค้างหรือหยดน้ำ ทั้งที่ไม่มีฝนตกหรือไม่ เพราะหมายถึงความชื้นในอากาศที่สูงและถูกถัดมาก่อนที่ฝนจะมาอีกด้วย


นอกจากนี้ ให้ลองฟังเสียงในอากาศว่ามีเสียงรบกวนบางอย่าง ดังๆ รัวๆ สั่นสะเทือนก่อนฝนจะมาหรืออาจจะดังไปพร้อมกับฝนที่เริ่มตก นั่นแสดงถึงการสะท้อนและขยายของอากาศนั่นเอง และหากมีลมพัดแรง ลองเอามือยื่นออกไปสัมผัสว่าทิศทางลมมาจากไหน ส่วนใหญ่บอกว่าหากเป็นลมจากทิศตะวันออกหมุนเคลื่อนย้ายมาทางตะวันตก นั่นเป็นการบอกเหตุว่าอากาศอาจจะแย่ลงได้

เสียงและสัตว์
      

สัตว์ทั้งหลายยังเป็นสัญญาณบอกเหตุได้ทุกยุคทุกสมัย เป็นต้นว่า มีนกที่ร้องดังมากๆ ผิดปกติ หรือห่าน นกนางนวล เป็ด ฯลน  ที่พยายามบินๆ ลงๆ แบบผิดสังเกต เพราะว่าพวกมันรู้สึกได้ถึงความดันในอากาศและรู้สึกหายใจลำบาก ส่วนสุนัข บางครั้งก็ร้องออกมาโดยไม่ทราบสาเหตุเช่นกัน


ในเวลา 8-12 ชั่วโมงก่อนหน้าที่พายุฝนจะโจมตีรุนแรง อาจจะพบยุง แมลงวันสีดำ หรือฝูงแมลงต่างๆ เข้ามาในบ้าน จนรู้สึกว่าถูกกัดมากกว่าวันปกติเลยทีเดียว และยังรวมไปถึงเจ้าหิ่งห้อยตัวน้อยๆ ที่บินมาในที่แปลกถิ่น แถมยังปล่อยแสงสว่างมากกว่าผิดปกติ หรือบินวนเวียนรอบๆ บ้านอีกด้วย นั่นเพราะหิ่งห้อยจะปล่อยแสงออกมามาก ถ้ารู้สึกว่าในอากาศมีความชื้นสูงนั่นเอง


เมฆและสี
เรื่องราวของ “ก้อนเมฆ” ยังเป็นตัวแจ้งเหตุอย่างที่ทุกคนคงรู้ดี เช่น ท้องฟ้าสลัว มีเมฆมากคล้ายจะมีฝนตก เมฆมีการรวมตัวกันอย่างรวดเร็วมาก และมีลักษณะเหมือนพายุ ซึ่งหากประกอบกับอากาศร้อนที่อบอ้าว ลมสงบติดต่อกันหลายวัน รวมถึงการสังเกตว่ามีลมพัดกระโชกเป็นครั้งคราว แต่พอมองไปยังฟ้าก็เห็นเมฆอยู่เต็ม แล้วเห็นฟ้าแล่บในระยะไกลๆ ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดพายุ อย่างที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกมาเตือนบ่อยๆ  นั่นเอง

19_8_5 19_8_06


ในเวบไซต์ของไมค์ (
Mike Hollingshead) ชาวอเมริกาที่สนใจถ่ายภาพพายุเป็นชีวิตจิตใจและใช้เวลากว่า 10 ปีไล่ล่าพายุ จนเรียกได้ว่ารู้จักมันเป็นอย่างดี ได้ยกตัวอย่างการเคลื่อนตัวของพายุเพื่อการฝึกสังเกต ว่ามีทั้งส่วนใจกลาง(Tornado) ส่วนผนังของเมฆ(Wall Cloud) และส่วนของหางเมฆ(Tail Cloud) เพื่อใช้เป็นทางหนีทีไล่หรือวิเคราะห์ทางไปของมัน  นอกจากนี้ ในบ้านเกิดของเขาเองที่มลรัฐ Nebraska ของอเมริกา ไมค์ถ่ายรูปสิ่งที่เขาเห็นเกือบทุกวัน จนพบเรื่องน่าแปลกใจอีกเรื่องหนึ่ง นั่นคือ “สีบนท้องฟ้า”

ไมค์บอกว่า ในเดือนพฤศจิกายน  2004 คืนหนึ่งเขาเห็นสีสันแปลกตาบนท้องฟ้าเหนือแม่น้ำ Missouri มันมีสีม่วง เขียว และน้ำเงิน เขาถ่ายเก็บไว้ไม่ได้คิดอะไร แต่หลังจากนั้น 6 เดือน คือ พฤษภาคม 2005  ได้เกิดพายุเทอร์นาโดที่รุนแรงมากใน Nebraska ทำให้เมืองทั้งเมืองมืดมิด

19_8_8
ภาพบน : สีบนท้องฟ้าเหนือแม่น้ำ Missouri ในรัฐ Nebraska วันที่ 8 พฤศจิกายน 2004
ภาพล่าง : ภาพทอร์นาโดในรัฐ Nebraska วันที่ 10 พฤษภาคม 2005


ถัดจากวันนั้นมาอีก 4 วันคือวันที่ 14 พฤษภาคม 2005 เขาเห็นสีแปลกๆ บนท้องฟ้าอีกครั้งจึงเฝ้าถ่ายรูปตั้งแต่ค่ำจนไปถึงเช้าอีกวันหนึ่ง  ท้องฟ้าค่อยๆ เป็นสีเขียวแล้วตามด้วยสีชมพูจัดและสีม่วง ซึ่งเขาเองก็ไม่เข้าใจว่าคืออะไรกันแน่ หลังจากนั้นอีก 7 เดือน เมืองของเขาก็ได้รับพายุหิมะที่ถือว่ารุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในวันที่ 27-29 พฤศจิกายน

จากนั้นเมื่อไมค์สังเกตท้องฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ ในเดือนธันวาคม ปีถัดมา คือ 2006 เขาและเพื่อนมองเห็นสีแดงจัดอีกครั้ง ในตอนกลางคืนวันที่ 14 ธันวาคม และถัดจากนั้นแค่สิบกว่าวัน คือวันที่ 29-31 ธันวาคม เมืองของเขาก็เจอกับพายุฤดูหนาวและความเย็นจัดที่มีทั้งลูกเห็บ และทำให้ทุกอย่างกลายเป็นน้ำแข็งพื้นที่กว้างขวางและเสียหายอย่างมาก

19_8_11
ภาพบน : ซ้าย - สีบนท้องฟ้า ในรัฐ Nebraska 14 พค.2005 / ขวา-พายุหิมะ 27-29 พย 2006
ภาพล่าง : ซ้าย-สีของท้องฟ้า ในรัฐ Nebraska 14 ธค.2006 / ขวา- พายุฤดูหนาว 29-31 ธค.2006


อย่างไรก็ตาม แม้ปรากฏการณ์สีของท้องฟ้าและการเกิดพายุจะยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนนัก เป็นแค่การสังเกตอย่างหนึ่งเท่านั้นที่ต้องรอการศึกษาต่อไปเรื่อยๆ แต่หากเจอแสงแปลกๆ บนท้องฟ้าก็คงต้องเดาๆ ไว้ก่อนว่าอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งก็เป็นได้ค่ะ

ทิ้งท้ายด้วยวิธีการเตรียมรับมือกับพายุก็คือ ซ่อมแซมบ้านแต่เนิ่นๆ ให้แข็งแรง หากเจอพายุตอนอยู่นอกบ้านก็อย่าหลบใต้ต้นไม้ใหญ่เด็ดขาด เพราะเสี่ยงจะโดนฟ้าผ่า ควรหลบไปในอาคาร หรือในรถยนต์แล้วปิดกระจกแน่นๆ แต่อย่าไปยืนแตะถังตัวรถเพราะอาจโดนฟ้าผ่าได้เช่นกันค่ะ
 


ข้อมูลอ้างอิง

www.friends-without-borders.org
www.ryt9.com/news
www.sfphotorama.com/labels/view.html

www.Wikipedia.com
www.swohioweather.org
www.englishrussia.com


บล็อกของ dinya

dinya
ใครกำลังรู้สึกเหมือนฉันไหมว่า ความรุนแรงและมหันตภัยไร้ระเบียบ กำลังรอถล่มเราอยู่? ไม่รู้จะพูดเกินเหตุไปไหมนะ ไม่ถึงกับหวาดผวา แต่ว่าหวั่นนิดๆ หลังจากเกิดพายุนาร์กิสถล่ม แผ่นดินไหวที่จีน น้ำท่วมต่อมา แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น แล้วตอนนี้ยังมีพายุที่ฟิลิปปินส์อีก เชื่อว่าตัวเลขผู้เสียชีวิต 87,000 คนและสูญหายอีก 5 ล้านคนจากแผ่นดินไหวที่จีน ยังเป็นเรื่องที่ช็อกเราอยู่ จนน่าตั้งคำถามว่า ก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวนั้น มีอะไรเตือนล่วงหน้ากันบ้างไหม ? ว่ากันว่า ลางสังหรณ์ หรือ Omen ก่อนหน้าเหตุการณ์นั้น เป็นสิ่งที่ใครหลายๆ คนที่จีน ใช้เป็นข้อเสนอให้มีการหยุดงานเพื่อเตรียมรับมือกับธรณีพิบัติ…