Skip to main content

 

พม่า-ไทย: แดนสุขาวดีหรือแดนมิคสัญญี !!

เป็นที่ฮือฮาพอสมควรเมื่อรัฐบาลพม่า ประกาศเร่งสำรวจโครงสร้างทางชาติพันธุ์เพื่อจัดทำสำมะโนประชากรตัวใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมเบิกทางอันจะนำไปสู่การจัดการเลือกตั้งและการวางแผนยุทธศาสตร์พัฒนารัฐที่มีความแม่นยำละเมียดละไมมากขึ้น (สำมะโนที่สมบูรณ์ตัวเก่า จัดทำกันตั้งแต่ยุคอาณานิคมอังกฤษในปี ค.ศ.1931)

พร้อมกันนั้น รัฐบาลยังได้ทำการโฆษณาป้าย "Myanmar: Happy Land" หรือ "เมียนมาร์: แดนสุขาวดี" ตามย่านหัวเมืองต่างๆ เพื่อแสดงว่าเหล่าพหุชนชาติที่อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ ต่างร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมายาวนานจนยากที่จะแยกถอนออกจากกัน (ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะเคยรณรงค์กันอย่างคึกคักในสมัยรัฐบาลทหาร)

กระนั้น ถึงแม้ว่า บรรยากาศการปรองดองในพม่าจะดูน่ารื่นรมย์สุขีมากกว่าอดีต แต่รัฐบาลพม่าก็ยังมิอาจจะซุกบาดแผลอันแตกร้าวที่เกิดจากสงครามกลางเมืองและการทะเลาะเบาะแว้งของผู้คนในอดีตได้อย่างแนบสนิท เพราะจริงๆ แล้ว พม่า/เมียนมาร์ ถือเป็นประเทศที่มีความเป็นรัฐพหุชนชาติ (Multi-Ethnic State) อยู่ในระดับสูง

แผนที่แปดชาติพันธุ์หลักในพม่า จาก Nicholas Farrelly

โดยในทางโครงสร้างประชากร ก็มิได้มีแต่เพียงชนชาติพม่า คะฉิ่น ไทใหญ่ มอญ กะเหรี่ยง คะยาห์ ฉิ่น และยะไข่ เท่านั้น หากแต่เหล่าพหุชนชาติล้วนแตกแขนงแยกย่อยออกเป็นอนุเผ่า ซึ่งความหลากหลายทางชาติพันธุ์แบบนี้ เมื่อถูกคละเคล้ากับการแบ่งแยกกีดกันเผ่าพรรคที่แตกต่างจากตน หรือ สภาพความอยุติธรรมในสังคมที่แพร่ระบาดไปทั่วประเทศ กลับทำให้เกิดการก่อตัวของแท่งตะปูขนาดใหญ่ที่ค่อยๆ ตอกลึกทิ่มแทงให้สังคมพม่าต้องพบกับสภาพตีบตันทางชนชาติหรือการออกแบบโครงสร้างการปกครองที่ติดขัดเรื้อรังมายาวนาน

โดยล่าสุด ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าจะให้โครงสร้างการปกครองประเทศออกมาในรูปแบบใด ระหว่างเอกรัฐ (Unitary State) ที่เป็นรัฐรวมศูนย์อย่างเข้มข้นเหมือนสมัยรัฐบาลทหาร หรือสหพันธรัฐ (Federal State) ที่เน้นกระจายอำนาจไปสู่รัฐบาลประจำภูมิภาคอย่างแท้จริง หรือในแบบสหภาพลูกผสม (Hybrid Union) ที่ปนๆ กันระหว่างรัฐเดี่ยว-รัฐรวม ซึ่งก็มีหน้าตาคล้ายๆ กับสหราชอาณาจักร

ซึ่งเรื่องของสถาปัตยกรรมแห่งรัฐนั้น นับเป็นลิ่มที่ตอกทิ่มความเจ็บปวดให้กับสังคมพม่ามาเนิ่นนาน เพราะหากออกแบบผิดพลาดหรือมีช่องโหว่เมื่อไหร่ นั่นอาจหมายถึงการล่มสลายของรัฐที่ไม่ต่างอะไรจากการล่มของสหภาพโซเวียตหรือยูโกสลาเวีย

ในอีกทางหนึ่ง หากเราดู "Political Mapping" ของกลุ่มพลังทางสังคมในพม่า (ที่ใช้แนวมองนอกเหนือไปจากเรื่องพหุชนชาติ) เราอาจพบเห็นภูมิทัศน์การเมืองพม่ายุคปัจจุบันที่เต็มไปด้วยขั้วการเมืองหรือมุ้งอำนาจที่แตกกระจัดกระจายจนไม่มีหลักประกันว่า บ้านเมืองจะสงบสุขอย่างแท้จริงเมื่อไหร่

แผนที่แสดงการชิงไหวชิงพริบของกลุ่มการเมืองต่างๆ ในพม่า จาก Bryan Farrell

เพราะโครงสร้างอำนาจช่วงหลังเลือกตั้งของพม่า ก็เต็มไปด้วยสถาบันการเมืองหรือกลุ่มพลังทางสังคมมากหน้าหลายตาทั้ง รัฐบาลกึ่งพลเรือน สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ กองทัพ ตุลาการ พรรคการเมือง พระสงฆ์ นักศึกษา แรงงาน เกษตรกร กองกำลังแบ่งแยกดินแดน กลุ่มก่อการร้าย และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งบางกลุ่ม ก็ยังแบ่งแยกย่อยออกเป็นพวก splinters อีกมากมายจนนับไม่ถ้วน

ฉะนั้น พม่าจึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของรัฐซ้อนรัฐ (States inside State) หรือ รัฐแห่งการประหัตประหาร (State of Strife) ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เพียงแต่ว่า ณ ตอนนี้ พม่ากลับมีคู่แข่งใหม่ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากพม่า ซึ่งนั่นก็คือ ประเทศไทยของเราที่ทยอยค่อยๆ พอกพูนปัญหามะรุมมะตุ้มเกี่ยวกับการสร้างรัฐสร้างชาติ ไม่ว่าจะเป็น กระแสการพูดถึงเรื่องการแบ่งแยกประเทศที่ตัดออกเป็น ไทยเหนือ ไทยใต้ ประเทศล้านนา ประเทศล้านช้าง ประเทศศรีวิชัย ฯลฯ หรือการแบ่งกลุ่มคนออกเป็น ไทยแดง ไทยเหลือง ไทยขาว ไทยดำ ฯลฯ และขณะเดียวกัน สถาบันการเมืองอย่าง รัฐสภา รัฐบาล ตุลาการ พรรคการเมือง กองทัพ และกลุ่มพลังทางสังคมอื่นๆ ถ้าไม่ง่อยเปลี้ยหรือซัดกันโครมครามจนบริหารประเทศไม่ได้ ก็ล้วนแล้วแต่ถูกแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายจนทำให้องคาพยพทั้งหมดในรัฐเกิดอาการชักกระตุกหรือชะงักงันเป็นพัลวัน

จากโศกนาฏกรรมดังกล่าว จึงน่ากังวลว่าแผนที่รัฐไทยในอนาคต อาจจะถูกผลิตออกมาในสไตล์แผนที่ War Zone หรือ War Game ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการชิงไหวชิงพริบทางยุทธศาสตร์/ยุทธวิธีอย่างเข้มข้นเหมือนกับการเล่นเกมส์สงคราม

คงจะหายากแล้วกระมัง สำหรับการย้อนกลับไปหา Happy Land หรือ The Land of Smile ขออย่าให้เป็นเช่นนั้นเลย "สยามเมืองยิ้ม" แห่งเหล่าพหุชนผู้รักชาติหลายเฉดสี !!

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช
สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา, ธรรมศาสตร์

 


 

บล็อกของ ดุลยภาค