Skip to main content

ตลอดห้วงเดือนมกราคมจนถึงกุมภาพันธ์นี้ เมียนมามีมหกรรมแห่งรัฐอันน่าระทึกใจ นั่นคือ กิจกรรมวันชาติของกองกำลังกะเหรี่ยง ไทใหญ่และมอญ กับกิจกรรมวันสหภาพของทางการเมียนมา กิจกรรมประเภทแรกจัดขึ้นเพื่อรำลึกขบวนการปฏิวัติเฉพาะกลุ่มและเชิดชูประวัติศาสตร์ฉบับชาติพันธุ์ชาตินิยม (Ethno-Nationalism) ขณะที่กิจกรรมประเภทหลัง จัดขึ้นเพื่อรำลึกสนธิสัญญาปางโหลงที่ลงนามเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 จนนำไปสู่การรวมตัวกันเป็นสหภาพเอกราชระหว่างดินแดนพม่าแท้กับดินแดนชาติพันธุ์ (หากแต่ก็แฝงเร้นไปด้วยพลังจักรวรรดิชาตินิยมพม่าแท้ที่แผ่ซ่านครอบคลุมผู้คนและแผ่นดินชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในระยะเวลาต่อมา)

การผุดตัวขึ้นมาของมหกรรมรัฐแกนกลางกับรัฐชายขอบทำนองนี้ แม้จะเกิดขึ้นเป็นปกติตามวงรอบประวัติศาสตร์ หากแต่การปะทะตีโต้กันไปมา มักมีผลต่อภูมิทัศน์การเมืองและการจัดระเบียบชายแดนเมียนมาที่ดูจะยุ่งเหยิงซับซ้อน หนึ่งในชนวนปัญหา คือ การอ้างเขตแดนหรือเขตอิทธิพลของกองกำลังต่างๆ ที่มีลักษณะเหลื่อมล้ำตัดสลับกันเป็นห้วงๆ ตัวอย่างสำคัญ ได้แก่ กรณีกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงและพรรคมอญใหม่ โดยตัวแทนขบวนการปฏิวัติกะเหรี่ยง ได้เคยขอดินแดนรัฐใหม่จากรัฐบาลเมียนมาที่ต้องประกอบด้วยพื้นที่ของภาคตะนาวศรี ภาคเอยาวดี รวมถึงย่านอินเซ่งชานเมืองย่างกุ้ง และเขตยุทธศาสตร์อื่นที่อยู่แถบเมืองพะโค (หงสาวดี) และเมืองตองอู จนได้รับการตอบโต้ปฏิเสธจากขบวนการชาตินิยมพม่าซึ่งถือเป็นการวาดภาพดินแดนที่กินลึกทับซ้อนกับถิ่นฐานของชนชาติพม่าในหลายส่วน

แผนที่แสดงจินตภาพเรื่องดินแดนของรัฐกะเหรี่ยงอิสระซึ่งทับซ้อนขัดแย้งกับดินแดนของกลุ่มชาติพันธุ์อื่น โดยเฉพาะ พม่ากับมอญ (ภาพจาก Mikael Gravers: NIAS Press 2016)

นอกจากนั้น จินตนาการภูมิศาสตร์ของรัฐกะเหรี่ยง ยังถือเป็นความพยายามที่จะกินทับหรือผนวกรวมดินแดนรามัญเทศะของอาณาจักรหงสาวดีเดิม ซึ่งทำให้กระบวนการสร้างรัฐกะเหรี่ยงได้รับการคัดค้านจากกลุ่มนักชาตินิยมมอญ ทว่าทางฟากมอญเองนั้น ก็มักหวนรำลึกถึงดินแดนรามัญที่เคยสูญเสียให้แก่จักรวรรดิพม่าโบราณใต้รัชสมัยพระเจ้าอลองพญา จนทำให้เกิดการปฏิวัติเรียกร้องดินแดนคืนที่ทับซ้อนเข้าไปในถิ่นฐานของพวกพม่าแท้และพวกกะเหรี่ยงในเขตปากน้ำเอยาวดีเช่นกัน

ต่อกรณีดังกล่าว จินตภาพเรื่องดินแดนที่ขัดฝืนตีปะทะกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จึงเป็นปฐมบทแห่งความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ โดยเฉพาะการลอบวางกำลังและจัดตั้งชุมชมยุทธศาสตร์ที่มีทั้งการตั้งป้อมหรือจัดแนวชุมชนอยู่ในเขตพื้นที่ฝ่ายตนกับการรุกเข้าไปในพื้นที่ฝ่ายอื่น จนดูเหมือนว่าเมียนมาคือรัฐที่อยู่ในกระบวนการจัดระเบียบดินแดนซึ่งยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์

มหกรรมวันชาติของกองกำลังชาติพันธุ์ มักแสดงให้เห็นถึงการฟื้นคืนดินแดนหรือการวาดภาพเขตแดนตามกระบวนการตีความประวัติศาสตร์ในอดีตของแต่ละฝ่าย ซึ่งมักจบลงด้วยความขัดแย้งที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและการรณรงค์สงครามอันยาวนาน

การเฉลิมฉลองในวันสหภาพ (ที่นำโดยฝ่ายรัฐบาลเมียนมา) เพื่อรำลึกถึงสัญญาปางโหลงพร้อมมีการจัดแสดงระบำชนเผ่าในฐานะนาฏลีลาแห่งรัฐที่สื่อถึงความปรองดองสามัคคีของคนในชาติ มักถูกตีความจากแกนนำกองกำลังชาติพันธุ์ว่าเป็นพฤติกรรมที่สร้างภาพลักษณ์ทางการเมืองมากกว่าสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจที่แท้จริงในหมู่ประชากรเมียนมา โดยเฉพาะการเคารพในสารัตถะข้อตกลงปางโหลง ซึ่งนักชาตินิยมและนักการเมืองไทใหญ่ มักยึดถือว่าเป็นข้อตกลงที่ช่วยค้ำประกันอำนาจปกครองอิสระของรัฐชายแดนภูเขาและปูทางไปสู่การรวมตัวกันระหว่างดินแดนชาติพันธุ์ต่างๆ จนประกอบสร้างขึ้นมาเป็นสหภาพเมียนมาได้ถึงทุกวันนี้ ทว่า นับแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ รัฐบาลกลางเมียนมาก็ไม่เคยกระจายอำนาจปกครองบริหารแบบเที่ยงธรรมให้กับกลุ่มชาติพันธุ์จนทำให้เมียนมามีลักษณะเป็นสหพันธรัฐแบบจอมปลอม (Pseudo-Federation) ที่ตกอยู่ใต้พลังกองทัพจักรวรรดินิยมพม่าเสียมากกว่า

กองทัพทหารพม่า (ภาพจาก Khin Maung Win / AP)

ท้ายที่สุด มหกรรมวันชาติและวันสหภาพใต้การทาบทับของจักรวรรดิชาติพันธุ์และการชิงดินแดนที่เก่าแก่ซับซ้อน ถือเป็นสัญญาณเตือนที่แสดงให้เห็นว่าเมียนมายังคงสภาพเป็นรัฐที่ขาดเสถียรภาพในการจัดอาณาเขตภูมิศาสตร์ชาติพันธุ์ ในการนี้ แม้ปัจจุบันจะมีความพยายามเรื่องสันติภาพและการเจรจาปรองดองระหว่างรัฐบาลเมียนมากับกองกำลังติดอาวุธชนชาติพันธุ์ แต่ทุกวันที่ 27 มีนาคมของทุกปี (ซึ่งถือเป็นวันถือกำเนิดกองทัพเมียนนา) ผู้นำทหารที่กรุงเนปิดอว์มักจัดแสดงการสวนสนามที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรของทัพทหารพม่าพร้อมมีการกล่าวสุนทรพจน์จากผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่มักส่งสัญญาณเตือนให้กองกำลังชาติพันธุ์หวนระลึกถึงเอกภาพชาติและยุติการต่อสู้ทางการเมืองการทหารเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยภายในสหภาพ

ซึ่งแม้ดูผิวเผิน จะดูเป็นเรื่องของอุดมการณ์ความมั่นคงแห่งรัฐทั่วๆ ไป หากแต่เมื่อพินิจวงรอบประวัติศาสตร์ ก็นับเป็นนาฏกรรมรัฐที่แอบซ่อนพลังการขยายตัวของจักรวรรดิชาตินิยมพม่าแท้ที่ยังคงแผ่ซ่านโบกสะบัดอำนาจครอบทับแว่นแคว้นชาติพันธุ์อื่นๆ เฉกเช่นกับในอดีต

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

 

หมายเหตุ: ข้อเขียนนี้ดัดแปลงขยายความต่อจากบทความผู้เขียนเรื่อง "การลงทุนในเมียนมาต้องรอบคอบระมัดระวัง" ซึ่งเผยแพร่ในเพจประชาชาติธุรกิจเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2560

บล็อกของ ดุลยภาค