Skip to main content

 

 

ใต้เงามืดอันอึมครึมที่แผ่ปกคลุมรัฐไทย ระคนกับเสียงร่ำไห้กรีดร้องอันเกิดจากการสังเวยชีวิตของผู้บริสุทธิ์เพื่อเซ่นสรวงการชิงโค่นอำนาจทางการเมือง สังคมไทยกำลังเคลื่อนคล้อยเข้าสู่ 'กาฬยุค' ซึ่งเต็มไปด้วยความเศร้าโศกอาดูรและการเข่นฆ่าผู้คนที่มีแนวคิดหรือผลประโยชน์ทางการเมืองที่แตกต่างกัน

โดยสภาวะไร้ระเบียบหักโค่นแบบราพณาสูรเช่นนี้ ได้ทำให้มิคสัญญีอนาธิปไตย (Anarchy) เริ่มก่อรูปสำแดงตนอย่างแจ่มชัดจนกลายเป็นฉากทัศน์หลักแห่งความโกลาหลของบ้านเมือง พร้อมกดดันให้คนไทยต้องเลือกระหว่างความวุ่นวายอลหม่านจนอาจนำมาซึ่งการล่มสลายแห่งรัฐ หรือ ความเป็นระเบียบมีเสถียรซึ่งทำให้รัฐสามารถพยุงร่างกายและได้รับการสืบชะตาชีวิตต่อไป

จากสภาวการณ์ดังกล่าว นักรัฐศาสตร์ที่สนใจทฤษฏีการเมืองสายสกุลสัจนิยม (Realism) คงอาจจะนึกถึงวรรณกรรมการเมืองชิ้นคลาสสิกของ โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) เรื่อง 'ลีเวียธัน' (Leviathan) ที่กล่าวถึงการปรากฏตัวขององค์อธิปัตย์ (Sovereign) ที่เต็มไปด้วยความโหดเหี้ยมเฉียบขาดและพละกำลังอันศักดิ์สิทธิ์จนมิมีผู้ใดท้าทายหรือเทียบชั้นได้เสมอเหมือน โดยจากมุมมองของฮอบส์ นิสัยมนุษย์มักจะถูกครอบด้วยความเห็นแก่ตัวและการต่อสู้แย่งชิงอำนาจเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์และความอยู่รอด

ขณะเดียวกัน มนุษย์โดยธรรมชาติแล้ว มักกลัวการตายโหง (Violent Death) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากต้องเผชิญกับการสังหารหมู่หรือการปล้นสดมภ์ที่แพร่ระบาดกระจัดกระจายไปทั่วทุกแห่งหน ซึ่งภาวะมิคสัญญีไร้ขื่อไร้แปเช่นนี้ ได้เร่งเร้าให้มนุษย์ต้องยอมจำนนศิโรราบต่อกฎระเบียบอันเข้มงวดพร้อมเต็มใจที่จะมอบอำนาจถวายแด่องค์อสูรอธิปัตย์ผู้เกรียงไกร เพื่อให้พระผู้ทรงฤทธิ์ตนนั้นได้ปลดปล่อยพละกำลังอันมหาศาลพร้อมกวาดไล่ปราบปรามพวกโจรล่องหน (Roving Bandit) ที่คอยเอาแต่ซุ่มยิงลอบฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก

รูปภาพองค์อธิปัตย์ลีเวียธันตามทฤษฏีของฮอบส์ (ภาพจาก www.davidicke.com)

ซึ่งแม้ว่าองค์อธิปัตย์จะมีนิสัยใจคอโหดร้ายดุดันไม่ต่างอะไรจากพญาอสูรหรือพญาโจร พร้อมถือครองอาวุธอันทรงอานุภาพ เช่น ปืน กองทัพและการลงทัณฑ์ที่เหี้ยมเกรียม แต่กระนั้น สุดท้ายแล้ว เหล่ามนุษย์ก็ต้องยอมที่จะตกอยู่ใต้อาณัติของพญาโจรเสถียร (Stationary Bandit) มากกว่าที่ต้องร้องขอชีวิตต่อพวกอนุโจรพเนจรซึ่งไม่พบเห็นตัวตนที่แน่ชัดแถมยังแอบเขย่าความมั่นคงแห่งรัฐที่อาจนำมาซึ่งการสูญสลายของบ้านเมืองจนไม่เหลือแม้แต่ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินส่วนบุคคล

จากทฤษฎีของฮอบส์ในเบื้องต้น นักรัฐศาสตร์ที่เกาะติดการเมืองเอเชียอาคเนย์ ได้พยายามนำแนวคิดว่าด้วยเรื่องลีเวียธันเข้ามาอธิบายการเถลิงอำนาจขององค์อธิปัตย์ท่ามกลางโครงสร้างรัฐที่เต็มไปด้วยความแตกร้าวระส่ำระส่าย พร้อมยกตัวอย่างประกอบมากมายเกี่ยวกับการสำแดงตนขององค์ปีศาจอสูรที่ผ่านพิภพเข้ามาปราบยุคเข็ญของบ้านเมือง หากแต่ก็มักแฝงเร้นไปด้วยกลอุบายมารยาเพื่อคอยค้ำยันให้ตนได้ครองอำนาจอย่างยืนยงสืบต่อไป

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การประท้วงของมวลมหาประชาชนพม่าเพื่อโค่นล้มระบอบคณาธิปไตยเนวินในปี ค.ศ.1988 โดยในช่วงนั้น ทั้งนักศึกษา พระสงฆ์ ประชาชนและข้าราชการบางส่วน ต่างเคลื่อนพลเข้ายึดสถานที่ราชการพร้อมเข้าต่อสู้ตะลุมบอนกับเจ้าหน้าที่ทหาร กระนั้น ความบ้าคลั่งของฝูงชนและพลังเรียกร้องประชาธิปไตยจากเหล่าประชาราษฎร ก็มิอาจจะหักโค่นบัลลังก์อำนาจอันทรงฤทธานุภาพของรัฐบาลได้ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการโต้กลับของรัฐบาล คือ กระบวนการปรับยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของกองทัพพม่าที่ตัดสินใจถอนกำลังออกจากท้องถนนเพื่อลดต้นทุนในการสลายฝูงชนที่ยังคงเกาะกลุ่มขับไล่รัฐบาลกันอย่างเหนียวแน่น

ขณะเดียวกัน รัฐบาลทหารกลับปล่อยตัวนักโทษฆาตกรออกจากคุกคุมขังพร้อมส่งเสริมให้มีการปล้นสดมภ์ชิงทรัพย์สินประชาชนกันอย่างเดือดพล่าน ซึ่งนักโทษผู้หิวโหยเหล่านี้ได้เดินทางแทรกซึมเข้าไปทำร้ายราษฎรตามหัวเมืองสำคัญต่างๆ จนแม้แต่การ์ดของผู้ชุมนุมเองก็ยังมิอาจจะคุ้มครองชีวิตของคนบริสุทธิ์หรือป้องกันการตายโหงของราษฎรเหล่านั้นไว้ได้

แรงบีบคั้นทางการเมืองเช่นนี้ ได้ทำให้ประชาชนพม่าต้องเลือกเอาระหว่าง ประชาธิปไตยที่อาจนำมาซึ่งสภาวะบ้านแตกสาแหรกขาดและการพังครืนของบ้านเมือง กับพลังเผด็จการที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเฉียบขาดแต่ก็นำมาซึ่งเสถียรภาพและการดำรงอยู่ของรัฐ

ท้ายที่สุด ชาวพม่าต่างพร้อมใจกันเลือกเอาองค์เผด็จอธิปัตย์ (Dictator) ขึ้นมาเถลิงอำนาจแทนที่องค์อนาธิปัตย์ (Anarchist) พร้อมยอมรับอำนาจปกครองรักษาความสงบเรียบร้อยของกองทัพแห่งชาติ ผลที่ตามมาคือการทยอยถอนตัวออกจากการชุมนุมของประชาชนพร้อมเปิดทางให้กองทัพเข้ามากระชับอำนาจเพื่อยุติความระส่ำระส่ายของบ้านเมือง โดยนับแต่นั้นเป็นต้นมา รัฐพม่าจึงตกอยู่ใต้การปกครองขององค์อสูรอธิปัตย์มาเป็นเวลายาวนานถึงกว่าสองทศวรรษ

ตัวอย่างที่น่าสนใจอีกกรณีหนึ่ง ได้แก่ ภาวะโกลาหลของรัฐอินโดนีเซียก่อน (และระหว่าง) การสถาปนาระบอบซูฮาร์โต (Suharto) โดยความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกองทัพกับพรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้การบริหารของรัฐบาลซูการ์โน (Sukarno) ได้ทำให้เกิดการชิงไหวชิงพริบและชิงมวลชนเพื่อสร้างแนวร่วมทางการเมืองกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเอนตัวเข้าถือหางพวกคอมมิวนิสต์อย่างออกนอกหน้าของซูการ์โน ได้ทำให้ตราชั่งแห่งอำนาจสามขาเกิดอาการขาดสมดุล จนกองทัพต้องตัดสินใจเดินหน้าดึงกลไกรัฐคืนกลับจากซูการ์โน

ซึ่งราวๆ ปี ค.ศ.1965-1966 นายพลซูฮาร์โตได้ทยอยเคลื่อนกำลังทหารเข้าไปประจำการตามจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ พร้อมประกาศว่ามีเพื่อนนายพล 6 นาย ถูกลอบสังหารในเหตุการณ์ที่เรียกว่าการพยายามก่อรัฐประหารโดยพวกคอมมิวนิสต์

ขณะเดียวกัน ได้เกิดกิจกรรมรณรงค์ขนานใหญ่จากซูฮาร์โตเพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกคอมมิวนิสต์คือภัยคุกคามต่อเอกภาพแห่งชาติ รวมถึงมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครอง การแบ่งแยกดินแดนและการทำลายความสามัคคีของคนในชาติ ผลที่ตามมา คือ ประชาชนอินโดนีเซียจำนวนมาก ทั้งชนเชื้อสายชวาหรือเชื้อสายอื่นๆ ต่างยินยอมจำนนศิโรราบต่อกองทัพพร้อมอวยยศขยับฐานะกองทัพจากองค์รักษ์ผู้คำจุนรัฐขึ้นสู่องค์อสูรอธิปัตย์อันศักดิ์สิทธิ์และเต็มพิกัด พร้อมสมยอมให้ทหารถือครองกฎเหล็กเพื่อลงทัณฑ์ปราบปรามกบฏคอมมิวนิสต์ให้สิ้นซากไปจากรัฐภาคพื้นสมุทรแห่งนี้

ท้ายที่สุดเมื่อซูฮาร์โตได้กระชับอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จแล้ว กองทัพอินโดนีเซียได้เร่งปฏิบัติการกวาดล้างกลุ่มคอมมิวนิสต์และผู้สนับสนุนครั้งใหญ่ซึ่งทำให้มีคนตายโหงกันเกลื่อนกลาดไม่น้อยกว่าห้าแสนคน โดยมีกองอำนวยการฟื้นฟูระเบียบและความสงบเรียบร้อย (Kopkamtib) ทำหน้าที่เป็นจักรกลสำคัญในการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็น การดำเนินคดีอย่างเฉียบขาดหรือแม้แต่การเก็บในที่ลับและสังหารในที่โล่ง ซึ่งก็นับเป็นระเบียบใหม่ (New Order) แห่งองค์เผด็จอธิปัตย์ที่ทำให้รัฐอินโดนีเซียสามารถพยุงความมั่นคงอยู่ได้อย่างมีเสถียร หากแต่ก็เป็นเสถียรที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อและคราบน้ำตาของประชาชนผู้สูญเสียอีกเป็นจำนวนมาก

สำหรับกรณีของรัฐไทยนั้น แม้บริบททางการเมืองจะมิเหมือนกันโดยแนบสนิทกับรัฐพม่าเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้วหรือรัฐอินโดนีเซียเมื่อเกือบห้าสิบปีที่แล้ว โดยเฉพาะบทบาทที่พุ่งสูงขึ้นของสื่อเสรีในยุคโลกาภิวัฒน์ ตลอดจนบทบาทของภาคประชาสังคมและการผุดตัวขึ้นมาของกลุ่มพลังการเมืองมากหน้าหลายตา (ซึ่งก็ทำให้องค์อธิปัตย์ที่โหดร้ายเกรี้ยวกราดไม่สามารถจะถือจุติขึ้นได้ในสนามการเมืองไทย)

แต่ถึงอย่างนั้น การแพร่ระบาดของสภาวะตายโหงที่เกิดจากน้ำมือโจรล่องหนจนทำให้ฝูงชนเริ่มเกิดอาการขวัญผวาไร้สติ ผสมผสานกับความรุนแรงของประเด็นเชือดเฉือนทางการเมืองที่มีทั้งเรื่องวิบากกรรมชาวนา และเรื่องรัฐบาลพลัดถิ่นกับการแบ่งแยกประเทศ ก็กลับทำให้แสงจันทราแห่งการเมืองไทย เริ่มริบหรี่มืดบอดลงพร้อมค่อยๆ เปิดทางให้องค์ราหูอ้าพระโอษฐ์เข้าอมเขมือบจนอาจต้องมีชะตาชีวิตที่ขัดฝืนกล้ำกลืนไม่ต่างอะไรจากภาวะมิคสัญญีในรัฐพม่าหรืออินโดนีเซียยุคสงครามเย็น

โดยขณะที่รัฐบาลรักษาการณ์เพื่อไทยกำลังพยายามจัดวางสมดุล (Balancing) ระหว่างกองทัพกับมวลชนคนเสื้อแดงเพื่อรักษาอัตราจังหวะทางการเมือง พร้อมแสดงตนเป็น 'องค์อธิปัตย์อาโนเนะ' ที่ทำตัวน่ารักกระจุ๋มกระจิ๋มและพร้อมพูดคุยเจรจากับหลายๆ ฝ่าย ซึ่งดูๆ ไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรจากสายสัมพันธ์ของซูการ์โน-กองทัพและกลุ่มคอมมิวนิสต์ในรัฐอินโดนีเซีย (แม้จะไม่เหมือนทั้งหมดก็ตามที)

โดยหากอาการโยกเอียงเข้าหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของรัฐบาลดูโจ่งแจ้งมากเกินไปในแต่ละห้วงสถานการณ์ นั่นก็อาจนำมาซึ่งความรู้สึกน้อยใจหรือความหวาดระแวงของอีกฝ่าย จนหนีไม่พ้นที่จะต้องเกิดการสะสมกำลังเพื่อเตรียมเพิ่มขีดพลังในการสัประยุทธ์กับคู่ปรปักษ์ให้ทันท่วงที ซึ่งยังคงถือเป็นประเด็นที่ยากต่อการทำนายทายทักและต้องจับตาดูกันต่อไป

เพียงแต่ว่า การเริ่มโน้มตัวเข้าหากันมากขึ้นระหว่างรัฐบาลกับฐานมวลชนที่เริ่มเข้าไปเกี่ยวพันโยงใยกับประเด็นเรื่องความมั่นคงและเอกภาพแห่งชาติกันอย่างพัลวัน ก็อาจเป็นตัวเร่งเร้าที่ทำให้กองทัพตัดสินใจเข้ายึดกลไกอำนาจรัฐจากรัฐบาลรักษาการณ์เพื่อจัดระเบียบความมั่นคงภายใน (ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการที่ซูฮาร์โตเคยริบอำนาจจากซูการ์โน) โดยตัวแปรดังกล่าวอาจทำให้กองทัพไทยสถาปนาตนขึ้นเป็น 'องค์อัศวอธิปัตย์' ที่จำแลงแปลงกายมาเป็นชายบนหลังม้า (The Man on Horseback) เพื่อเข้ามาปราบยุคเข็ญกู้วิกฤติการณ์ของบ้านเมือง

ซึ่งหากมิได้มาให้รูปแบบการทำรัฐประหาร ก็อาจจะกระชับอำนาจผ่านพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (พ.ร.บ.ความมั่นคง 2551) เพื่อเข้าดำเนินการทางจิตวิทยาและทางกำลังในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานซึ่งเป็นฐานกำลังสำคัญของกลุ่มแนวร่วมคนเสื้อแดง

อย่างไรก็ตาม ดาบเอ็กคาลิเบอร์ที่กองทัพจะใช้ฟาดฟันเพื่อลงทัณฑ์ฝ่ายตรงข้าม ก็อาจมิได้มีความคมกริบมันวาวอะไรมากนัก ทั้งนี้เพราะขุนทหารยังจำเป็นที่จะต้องพูดคุยประนีประนอมกับรัฐบาลรักษาการณ์อยู่ต่อไปพร้อมต้องหมั่นเจรจาต่อรองสร้างความเข้าใจกับมวลชนเสื้อหลากสีเพื่อรักษาจังหวะจะโคนทางอำนาจให้มั่นคงยั่งยืน

ประกอบกับเอกภาพในเรื่องการบังคับบัญชาของกองทัพไทยที่ไม่ได้มีความกระชับมากนัก (แตกต่างจากกองทัพพม่าซึ่งมีความหนักแน่นในการลงทัณฑ์ฝ่ายต่อต้านอย่างดุดัน) หรือแม้แต่ สภาพการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของขุนทหารอันเป็นผลพวงจากความพยายามของชนชั้นนำเก่าและชนชั้นนำใหม่ในการกุมบังเหียนระบอบสนามม้า (Jockey Club Regime) ก็ล้วนแล้วแต่เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้องค์อัศวอธิปัตย์ของไทย ไม่สามารถที่จะเพิ่มขีดพลังจนถึงขั้นระดับขององค์ลีเวียธันตามทรรศนะทางการเมืองของฮอบส์ได้

เพราะฉะนั้นแล้ว ไม่ว่าสนามการเมืองจะมีความผันผวนเช่นไร รัฐฏาธิปัตย์ที่ก้าวขึ้นมายึดกุมอำนาจรัฐไทย ก็คงมิสามารถจะแสดงบทเป็นองค์อสูรที่โหดร้ายไร้ความปรานีได้อีกต่อไป แต่ในทางกลับกัน อาจมีความเป็นไปได้อยู่บ้างที่จะเกิดเงาสลัวแห่งองค์อธิปัตย์ลูกผสมตามสายพันธุ์จอมเทวา-อสุรา ที่มีทั้งพระเดชและพระคุณในการรักษาเอกภาพแห่งรัฐควบคู่ไปกับการพัฒนาบ้านเมืองให้โปร่งใสโดยไม่ปล่อยให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นกันอย่างอล่างฉ่าง

ซึ่งการผุดตัวขึ้นมาขององค์ลีเวียธัน (Leviathan) พันธุ์ผสมนี้ ก็พอมีให้เห็นอยู่บ้าง เช่น ระบอบมหาเธร์ในมาเลเซียหรือระบอบลีกวนยูในสิงคโปร์ ที่รัฐมุ่งทำหน้าที่พัฒนาประเทศให้ทันสมัยและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง (แต่ก็ยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางการเมืองวัฒนธรรม) พร้อมส่งเสริมให้กองทัพมีเกียรติอย่างสูงส่ง หากแต่ต้องจำกัดวงให้อยู่แต่เพียงการป้องกันรัฐจากอริศัตรูภายนอก

นี่กระมัง! ที่น่าจะเป็นโมเดลหนึ่งที่อาจช่วยปลดล็อกให้คนไทย ได้พบกับแสงสว่างหรือพอมีลู่ทางขึ้นมาบ้างในการขจัดเงารัตติกาลเพื่อให้เราได้สัมผัสกับแสงอรุณและชีวิตใหม่การเมือง!

 


ดุลยภาค ปรีชารัชช
สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา, ธรรมศาสตร์

.................................................

แหล่งอ้างอิง

ศุภชัย ศุภผล. สัญญะและความหมายที่ซ่อนอยู่บนหน้าปกหนังสือลีเวียธันของโทมัส ฮอบส์. รายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการ (Proceedings): การนำเสนอผลงานวิชาการและการนำเสนอผลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตวิทยาลัยครั้งที่สาม, 8-9 ธันวาคม พ.ศ.2554, คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หน้า 72-88.

Slater, Dan. Ordering Power: Contentious Politics and Authoritarian Leviathans in Southeast Asia. New York: Cambridge University Press, 2010.

Ferrara, Federico. “Why Regimes Create Disorder: Hobbes’s Dilemma During a Rangoon Summer.” Journal of Conflict Resolution 47: 2003, P. 302-325.

Hobbes, Thomas. Leviathan. Edited by C.B. Macpherson. London: Penguin, 1985.

 

 

บล็อกของ ดุลยภาค