เกมส์ทวิค่าย (Dual Camps) บนสนามการเมืองไทย

 

 

ท่ามกลางสภาวะขมึงเกลียวของการเมืองไทย นักวิเคราะห์ต่างพุ่งเป้าไปที่การประลองยุทธ์ฟาดฟันกันระหว่างสองขั้วอำนาจยักษ์ใหญ่ ซึ่งสามารถแบ่งจำแนกคร่าวๆ ออกเป็น ค่ายของคุณทักษิณ-คุณยิ่งลักษณ์ ที่มีตัวช่วยอย่างคณะรัฐบาลรักษาการณ์ พรรคเพื่อไทย ชนชั้นนำใหม่ คนกึ่งเมืองกึ่งชนบท กองกำลังตำรวจ กองกำลังคนเสื้อแดง และเครือข่ายพันธมิตรนานาชาติ ขณะที่ฝ่ายหลัง จะประกอบด้วยค่ายของคุณสุเทพ-คุณอภิสิทธิ์ ซึ่งมีตัวช่วยอย่างมวลมหาประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ ชนชั้นนำเก่า ชนชั้นกลางในเมืองหลวง องค์กรอิสระและกองทัพ (บางกลุ่มบางส่วน) รวมถึงมรดกเครือข่ายจากคนเสื้อเหลืองและภาค NGOs

โดยถึงแม้จะไม่สามารถวิเคราะห์แบบเหมาเข่งว่าทุกองคาพยพทางการเมืองจะต้องฝักใฝ่ค่ายหนึ่งค่ายใดแบบสุดโต่ง หากแต่สภาพภูมิทัศน์ที่เริ่มเปลี่ยนผ่านจากระบบสองค่ายแบบหละหลวม (Loose Bipolar) เข้าสู่ระบบสองค่ายแบบเข้มงวด (Tight Bipolar) ได้เริ่มทำให้ตัวแสดงอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากสนามแข่งขัน เริ่มถูกบีบรัดดึงโยกให้เข้ามาอยู่ใต้ปริมณฑลของระบบทวิค่ายไม่มากก็น้อย ซึ่งในห้วงเวลาปัจจุบันและอนาคต กรอบการมองแบบทวิลักษณ์เช่นนี้ ย่อมทำให้เราพอมองเห็น Scenario บางอย่างเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไทย โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

ประการแรก หากมองตามหลักดุลแห่งอำนาจ (Balance of Power) การต่อสู้ครั้งนี้ถือเป็นการเล่นเกมส์ถ่วงดุลที่ไม่ต่างอะไรกับยุทธการของสหรัฐและสหภาพโซเวียตในสมัยสงครามเย็น (แม้ไม่เหมือนทั้งหมดก็ตามที) โดยต่างฝ่ายต่างเพิ่มขีดพลังเพื่อรักษาจุดห่างแห่งอำนาจให้อยู่บนระดับที่ใกล้เคียงกัน อาทิ การระดมพลังประท้วงของคุณสุเทพในระยะแรกเริ่ม ซึ่งถือเป็นการเขยิบระยะห่างเชิงอำนาจให้ใกล้เคียงกับฝั่งรัฐบาล หรือ การที่รัฐบาลรักษาการณ์มักงัดกลยุทธ์ตีมึนพร้อมเก็บแต้มสนามเลือกตั้งเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งก็ถือเป็นศิลปะการรักษาสถานภาพ (Status Qua) เพื่อต่อรองกับฝ่ายตรงข้าม

ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายต่างพยายามโฆษณาชวนเชื่อเพื่อแสวงหาแนวร่วมบริวารให้มากที่สุด พร้อมทำสงครามข้อมูลข่าวสารและโจมตีสาดโคลนกันไปมาเพื่อลดความน่าเชื่อถือของคู่ปรปักษ์ พร้อมยังมีรูปลักษณ์ที่ซ้อนทับกับสงครามตัวแทน (Proxy War) ในบางมิติ เช่น การกระจุกตัวของเครือข่ายอำนาจอันมหึมาที่ซ่อนตัวอยู่เบื้องหลังเงาสลัวของคู่ชกที่พยายามต่อสู้กันอยู่บนหน้าจอทีวีในปัจจุบัน

โดยสภาวะรั้งตรึงแบบสองค่ายเช่นนี้ อาจทำให้เกิดวิวัฒนาการของฉากทัศน์แบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น สภาวะดุลแห่งความหวาดกลัว (Balance of Terror) ที่ต่างฝ่ายต่างเร่งสะสมอาวุธทางการเมืองจนเกิดความน่าสะพรึงกลัว ซึ่งผลที่ออกมา คือ การที่แต่ละฝ่ายต่างไม่กล้าที่จะชิงโจมตีก่อนเพราะอาจรับไม่ได้กับการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับฝั่งตนหากเกิดการโต้กลับขนานใหญ่จากฝ่ายตรงข้าม (Retaliation)

หรือในทางกลับกัน อาจเกิดการผุดตัวขึ้นมาของค่ายการเมืองใหม่ (ที่อยู่นอกเหนือจากแนวคิดหรือโซนผลประโยชน์ของสองขั้วแรก) จนก่อเกิดเป็นระบบสามก๊กหรือระบบไตรภาคี (Tri-Polar) อันทรงกำลังวังชา เพียงแต่ว่ากระบวนการดังกล่าว อาจจะต้องใช้เวลาฟูมฟักอีกพอสมควร

ประการที่สอง หากมองแบบสงครามกลางเมือง รัฐไทยอาจกำลังมีสภาพเป็น "หนึ่งประเทศ สองระบบบริหาร" หรือ "One Country Two Administrations" โดยการเคลื่อนวงอำนาจของทวิค่ายจะทำให้เกิดการแบ่งโซนบริหารรัฐกิจตามเขตภูมิศาสตร์การเมือง หรือ ตามฐานอำนาจของชนชั้นนำ เช่น กลุ่มประชาธิปไตยนิยม-เลือกตั้งนิยม-ประชานิยม (คลุมพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคกลางบางส่วน) กับกลุ่มกึ่งประชาธิปไตยนิยม-ธรรมาภิบาลนิยม-อนุรักษ์นิยม (คลุมพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพและภาคใต้)

ซึ่งถึงแม้ว่า การจำแนกดังกล่าวจะไม่สามารถบ่งชี้ความแตกต่างทางภูมิภาคได้ทั้งหมด เช่น แกนนำคนเสื้อแดงระดับแถวหน้า ที่ส่วนใหญ่มีพื้นเพมาจากภาคใต้ แต่กลับมีกระดานอำนาจแผ่ไปที่ภาคเหนือกับภาคอีสาน แต่กระนั้น สภาวะแยกขั้วแบบสองค่ายหลักอย่างที่เป็นอยู่ ก็ทำให้บางคนอาจอดจินตนาการไม่ได้ที่จะนำไปเปรียบเทียบกับ สัมพันธภาพระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับฮ่องกงและมาเก๊า หรือ การมีผู้นำสองคนที่แย่งกันถือดาบเอ็กคาลิเบอร์อย่างกรณีของฮุนเซ็นและเจ้ารณฤทธิ์ในกัมพูชายุคหลังสงครามกลางเมือง

ในอีกแง่มุมหนึ่ง การสะสมกำลังมากขึ้นของมวลชนคนเสื้อแดง ก็อาจผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนคู่ขัดแย้งที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะระหว่างกองกำลังเสื้อแดง (เน้นสาย Hardcore) กับกองทัพ (เน้นสาย Conservative-Royalist) เพราะโดยทางภูมิยุทธศาสตร์นั้น พื้นที่การเคลื่อนไหวหลักของคนเสื้อแดงทั้งที่ทิศอุดรและทิศอีสานล้วนแล้วแต่เป็นฐานปฏิบัติการเก่าของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งก็นับเป็นประเด็นที่สะกิดใจชนชั้นนำทหารสายอนุรักษ์นิยมอยู่มิใช่น้อย

โดยแม้จะไม่สามารถเหมารวมได้ทั้งหมดว่าคนเสื้อแดงจะมีแนวคิดหรือท่วงทำนองการต่อสู้เช่นนั้น แต่ก็อาจเป็นไปได้อยู่บ้างที่โลกทรรศน์ของคนบางกลุ่มอาจมองการต่อสู้ทางการเมืองไทยในแบบที่ละม้ายคล้ายคลึงกับยุทธการป่าล้อมเมืองของเหมาเจ๋อตุงเพื่อโค่นล้มอำนาจกลุ่มจีนคณะชาติเจียงไคเช็ค หรือ การปฏิวัติบอลเชวิคเพื่อล้มล้างราชวงศ์โรมานอฟแล้วสถาปนารัฐโซเวียต

ประกอบกับ ธรรมชาติของกองทัพในเอเชียอาคเนย์บางรัฐก็มักมีความหวาดระแวงคอมมิวนิสต์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เช่น การบดขยี้พรรคคอมมิวนิสต์พม่าในเขตที่ราบสูงฉานของนายพลเนวิน ซึ่งมีทั้งพวกธงขาวและธงแดงสายฮาร์ดคอร์ หรือ การกวาดล้างคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่ในอินโดนีเซียสมัยนายพลซูฮาร์โต และแม้แต่ยุทธการผาเมืองเผด็จศึกของกองทัพภาคที่สามเพื่อปราบคอมมิวนิสต์ตรงเขตเทือกเขาเพชรบูรณ์ และความช่ำชองของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในการลดบทบาทคอมมิวนิสต์ผ่านการดำรงตำแหน่งอดีตแม่ทัพภาคที่สองและความคุ้นเคยกับสภาวะยุทธศาสตร์ของเทือกเขาภูพาน ตรงเขตรอยต่อเมืองสกลนคร

ฉะนั้นแล้ว จึงมีความเป็นไปได้พอสมควร ที่อาจเกิดการผ่าโซนประเทศไทยออกเป็นโซนสีเขียวกับโซนสีแดง ซึ่งก็นับเป็นอีกหนึ่งฉากทัศน์ที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากนำไปจับกับกรอบสงครามกลางเมือง สงครามจรยุทธ์และสงครามปฏิวัติ

อาณาจักรสามก๊กในเมืองไทย มองผ่านเลนส์นักวาดการ์ตูนชาวกัมพูชา ที่มา: sourphorn.blogspot

นอกจาก Scenario แบบทวิค่ายที่กล่าวมาเบื้องต้นแล้ว เราอาจขยายมุมวิเคราะห์ให้ครอบคลุมมิติอื่นๆ ที่มีนัยสำคัญทางการเมืองได้อีก อาทิ การขยับเลนส์ผ่านสายสัมพันธ์ทหาร-พลเรือน ซึ่งก็ทำให้เรามองเห็นว่ารัฐไทยในปัจจุบัน ยังคงมีสภาพไม่ต่างอะไรจากโครงสร้างรัฐขุนศึก (Praetorian State) ทั่วไปในกลุ่มประเทศโลกที่สาม ที่องค์กองทัพยังคงมีบทบาทเสมอในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม

เพียงแต่ว่า สภาพเงื่อนไขทางการเมืองที่แตกต่างจากปี 2549 บวกกับอิทธิพลของค่ายทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ที่ค่อยๆ เจาะเกราะแทรกซึมเข้าไปในปริมณฑลทหาร รวมถึงท่าทีของพันธมิตรยุทธศาสตร์ที่สนับสนุนประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา ก็กลับทำให้ กองทัพยังมิสามารถจะก่อรัฐประหารแบบเต็มรูปได้ แต่ก็อาจจะเคลื่อนตัวมาในรูปของการทำกึ่งปฏิวัติเงียบ เช่น การคงบังเกอร์ 176 แห่งตามจุดยุทธศาสตร์สำคัญของกรุงเทพ การขยับอำนาจผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และการเพิ่มแต้มอำนาจเพื่อขึ้นเป็น องค์เจรจาไกล่เกลี่ยอย่างเต็มพิกัด ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น อันเป็นผลจากการแผ่วเบาของม็อบคุณสุเทพ และการทยอยสูญเสียความชอบธรรมของรัฐบาลอันเป็นผลจากการพิพากษาคดีนโนบายประชานิยมโดยองค์กรอิสระ

ขณะเดียวกัน แนวมองในเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ ก็อาจเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะความฟอนเฟะแตกร้าวทางการเมืองไทยที่อาจช่วยกระตุ้นให้มหาอำนาจทางการเมืองโลกอย่างสหรัฐอเมริกา กวาดสายตามาสู่ท่ายุทธศาสตร์ชายทะเลทางแถบอ่าวไทยอย่างอู่ตะเภา สัตหีบและแหลมฉบัง หรือ โซนภาคพื้นทวีปตรงเขตภาคเหนือไทย ซึ่งล้วนแล้วแต่สอดคล้องกับการเพิ่มกำลังรบทางทะเลของสหรัฐในย่านเอเชียแปซิฟิก รวมถึงยุทธวิธีตีตรอกจีนในเขตลุ่มน้ำโขงเพื่อสกัดมิให้จีนกระทำการเคลื่อนลงใต้จากยูนนานมาอาเซียนได้โดยสะดวก

ประกอบกับ ทิศทางการปลดปล่อยอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองของจีนผ่านแนว North South Economic Corridor และการปลดปล่อยพลังของญี่ปุ่นผ่านสาย East West Economic Corridor ก็ล้วนแล้วแต่มีจุดตัดทางโลจิสติกส์อยู่ตรงรัฐไทยแทบทั้งสิ้น ซึ่งประเด็นดังกล่าว ถือเป็นการเดินหมากระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับท่าทีทางการเมืองและการทูตของระบบทวิค่ายในเมืองไทย เพียงแต่ก็เป็นที่น่าสังเกตที่ค่ายของคุณทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ล้วนมี connection กับมหาอำนาจอย่างสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น หรือ รัฐเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างกัมพูชาและพม่า มากกว่าค่ายของคุณสุเทพและแนวร่วมอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด หากแต่การเปิดไพ่สำรับชาตินิยมและการต่อต้านอิทธิพลต่างชาติของฝ่ายหลัง ก็อาจกลายเป็นอาวุธสำรองที่พอใช้ยันพลังฝ่ายตรงข้ามบ้างในบางห้วงสถานการณ์

จากกรณีฉากทัศน์แบบทวิค่ายที่นำเสนอไปเบื้องต้น อาจทำให้เราพอวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยได้บางมิติ ซึ่งจริงๆ แล้ว เราสามารถมองภูมิทัศน์การเมืองได้อีกหลายระนาบ เช่น การใช้กรอบพีระมิดเพื่อแสดงการแบ่งช่วงชั้นของสังคมผ่านทฤษฏีชนชั้นนำ ซึ่งจะได้ภาพความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบกษัตริย์-อำมาตย์-มวลชน หรือแม้แต่การมองอะไรที่มากกว่าสองค่าย แต่ขยับขึ้นมาเป็นสามค่ายหรือพหุค่าย (Multi Camps)

หรือแม้แต่การมองแบบอนุภูมิภาคนิยม (Sub-Regionalism) ที่ย่อมทำให้เลนส์วิเคราะห์ว่าด้วยการแบ่งโซนบริหารัฐกิจ อาจมิได้อยู่เพียงแค่โทนเหลืองแดง หรือ โทนแดงเขียว หากแต่อาจกลายเป็นพหุโทนที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วภูมิภาคต่างๆในบ้านเรา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวิถีการเมืองการปกครองท้องถิ่นย่อมมีความซับซ้อนละเอียดอ่อนกว่าฐานคะแนนนิยมทางการเมืองอยู่มาก เช่น ประชาชนในสามจังหวัดภาคใต้ที่อาจไม่นิยมการคว่ำบาตรการเลือกตั้งเหมือนแนวร่วมมวลมหาประชาชนในภาคใตัอีกหลายจังหวัด หรือ พื้นที่ภาคเหนืออย่างแม่ฮ่องสอน ที่อาจมิได้ตกอยู่ใต้เฉดโทนสีแดงหากนำไปเปรียบกับบางจังหวัดอย่างเชียงรายหรือพะเยา

โดยประเด็นที่กล่าวมา ล้วนแล้วแต่เป็นข้อเตือนใจที่จะทำให้เราสามารถมองปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยได้อย่างรอบคอบและละเมียดละไมสืบต่อไป

 

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช
สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ธรรมศาสตร์