Skip to main content

 

‘การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ.2435-2458’ พิมพ์ครั้งที่ 2, พ.ศ. 2548 โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผลงานประพันธ์ชิ้นเอกของ เตช บุนนาค อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศและที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ โดยปรับปรุงจากงานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ที่เสนอต่อมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดเมื่อปี พ.ศ.2511

ซึ่งหากจะนำไปเปรียบเทียบกับ "กำเนิดสยามจากแผนที่ :ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ (SIAM MAPPED: A HISTORY OF THE GEO-BODY)" ของธงชัย วินิจจะกูล ที่วิเคราะห์ปัจจัยอันนำไปสู่การรักษาเอกราชสยามในยุคอาณานิคมผ่านนวัตกรรมการทำแผนที่สมัยใหม่และการปรับเปลี่ยนโลกทรรศน์ของชนชั้นนำสยามเกี่ยวกับเรื่องเขตแดน งานวิชาการของเตช บุนนาค กลับให้ภาพการรักษาเอกราชของสยาม ผ่านการปฏิรูปการปกครองแบบรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง (Centralization) เพื่อโยงหัวเมืองภูธรรอบนอกให้เข้ามากระชับแน่นอยู่กับดินแดนแกนกลางอย่างนครหลวงกรุงเทพ

‘กำเนิดสยามจากแผนที่ :ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ (SIAM MAPPED: A HISTORY OF THE GEO-BODY)’ ของธงชัย วินิจจะกูล

หนังสือเล่มนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากความปรารถนาของผู้เขียนที่จะสืบสาวเรื่องราวการปรับปรุงสยามให้ทันสมัยผ่านการขยายบทบาทด้านการปกครองของกระทรวงมหาดไทยอันมีสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดี พร้อมมุ่งสำรวจลักษณะการปกครองหัวเมืองโบราณสยาม ตลอดจนนวัตกรรมการปกครองท้องถิ่น-ภูมิภาคแบบรวมศูนย์ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ "ระบบเทศาภิบาล"

นอกจากนั้น หากใครอยากรู้ว่า "มณฑล" คืออะไร และมีจังหวัดหรือเมืองใดบ้างที่ถูกจัดกลุ่มให้เข้าไปอยู่ในแต่ละมณฑลตามภูมิภาคต่างๆ เช่น เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน-ลำพูน ที่ขึ้นกับมณฑลพายัพ ศรีโสภณ พนมสก เสียมเรียบ พระตะบอง ที่ขึ้นกับมณฑลบูรพา และ นครชัยศรี สมุทรสาคร สุพรรณบุรี ที่ขึ้นกับมณฑลนครชัยศรี หรือ หากใครอยากทราบว่าหัวเมืองภูธรในเขตชนบทหรือชายแดนในสมัยรัชกาลที่ห้า มีโครงสร้างสำมะโนประชากรและแบบแผนการปกครองผ่านระบบเจ้าเมืองหรือเจ้าผู้ครองนครท้องถิ่น เป็นเช่นไร หนังสือเล่มนี้จะช่วยไขข้อข้องใจให้กับผู้อ่านได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

พร้อมกันนั้น หากใครที่อยากจะเปรียบเทียบบริบทแวดล้อมที่ทำให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงทุ่มความพยายามอย่างเต็มกำลังเพื่อกระชับดินแดนเข้าสู่ศูนย์กลางอันนำมาซึ่งการก่อตัวของสยามในฐานะรัฐชาติสมัยใหม่ ขณะที่ ชนชั้นนำมหาดไทยบ้านเราในปัจจุบัน กลับส่งข้อความเรื่องแยกกันอยู่ทางการเมืองอันเป็นที่มาของวาทกรรมแบ่งแยกดินแดน หนังสือเล่มนี้ย่อมถือเป็นปฐมบทที่น่าสนใจเพื่อตอบข้ออภิปรายดังกล่าว

ฉะนั้นแล้ว หากใครที่หลงใหลในประวัติศาสตร์การเมืองเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Political History) หนังสือเล่มนี้นับว่าเป็นยอดสมบัติที่คออุษาคเนย์หรือคอการเมืองไทยอย่างเราไม่ควรปล่อยคลายให้หลุดลอยไป!

 

ดุลยภาค ปรีชารัชช

บล็อกของ ดุลยภาค